|
|
วิจารณ์ร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯ 14 สิงหาคม 2554 18:20 น.
|
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2554 ที่ผ่านมาได้มีการจัดเวทีวิชาการเล็กๆขึ้นมา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่มีผลตอบรับกลับมาเป็นวงกว้างเป็นอย่างยิ่งไม่ว่าจะเป็นประชาชนชาวเชียงใหม่เองหรือประชาชาวจังหวัดอื่นซึ่งล้วนแล้วแต่เห็นด้วยในความคิดเช่นว่านี้ แต่จากภาคราชการมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย พวกที่เห็นด้วยก็บอกว่าถึงเวลาแล้ว โลกเราต้องก้าวไปข้างหน้าเหมือนนานาอารยประเทศเขา ส่วนพวกที่ไม่เห็นด้วยก็อ้างว่าจะนำมาซึ่งการแตกความสามัคคี
การจัดเวทีในวันนั้นประเด็นสำคัญอยู่ที่การนำเสนอร่าง พรบเชียงใหม่มหานครฯที่ยกร่างโดยผมในฐานะ ประธานเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น ซึ่งมีหลักการใหญ่คือการยกเลิกราชการส่วนภูมิภาคแล้วให้เหลือเพียงราชการส่วนกลางกับส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ แล้วเปิดให้มีการวิจารณ์ร่างโดยนายพงศ์โพยม วาศภูติ อดีต คปร.และอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ไชยยันต์ รัชชกุล จากมหาวิทยาลัยพายัพ ศ.ดร.เธนศว์ เจริญเมือง จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และผู้เข้าร่วมเวทีอีกหลายคน
การจัดเวทีครั้งนี้จัดโดยคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ร่วมกับโครงการบูรณาการเชียงใหม่จัดการตนเอง ซึ่งผลสรุปที่ได้จากการเปิดเวทีในครั้งนั้นสรุปได้ว่ารัฐธรรมนูญปี 50 ได้รับรองสิทธิ์ การยกฐานะของพื้นที่ที่มีความพร้อมในการดูแลปกครองตนเองให้เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่และรับรองการมีส่วนร่วมของประชาชนไว้ในบทบัญญัติดังกล่าวตามมาตรา 281-284
ภายใต้บังคับมาตรา 1 รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำบริการสาธารณะ และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ปัญหาในพื้นที่ท้องถิ่นใดมีลักษณะที่จะปกครองตนเองได้ ย่อมมีสิทธิ์จัดตั้งเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการรับรองว่าการยกระดับจังหวัดให้เป็นหน่วยการปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ เป็นเรื่องที่ทำได้ มิใช่การแบ่งแยกการปกครองแต่อย่างใด
การจัดรูปแบบการปกครองของเชียงใหม่มหานครฯตามร่าง พรบ.ฉบับนี้ จะทำให้ราชการส่วนภูมิภาคในจังหวัดเชียงใหม่หมดไป ซึ่งก็หมายความว่าจะไม่มีการแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดไปจากส่วนกลางอีกต่อไป แต่อาจจะแปรสภาพเป็นผู้ตรวจการฯอย่างเช่นประเทศฝรั่งเศส เพราะอย่างไรเสียส่วนกลางก็ต้องมีผู้คอยประสาน(หากจะมี) อำนาจหน้าที่เดิมที่เคยเป็นของผู้ว่าราชการจังหวัดและอำนาจหน้าที่ที่เพิ่มขึ้นตาม พรบ.เชียงใหม่มหานครฯก็จะเป็นของหัวหน้าฝ่ายบริหารซึ่งอาจเรียกว่าผู้ว่าราชการจังหวัดหรือไม่ก็ได้(ถ้าหวงชื่อนี้นัก) แต่ในชั้นยกร่างนี้ยังคงชื่อเดิมนี้ไว้อยู่
ในส่วนของการปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีการจัดรูปแบบเป็นสองระดับซึ่งแตกต่างจากกรุงเทพมหานครซึ่งมีระดับเดียวคือระดับจังหวัดเท่านั้น แต่ร่าง พรบ.เชียงใหม่มหานครฯจัดรูปแบบเป็นสองระดับ คือ ระดับบนเป็นระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน วาระ 4 ปี เป็นหัวหน้า ส่วนระดับล่างมีเทศบาลโดยมีนายกเทศมนตรีเป็นหัวหน้าเหมือนกัน ไม่ต้องแยกเป็น เทศบาลหรือ อบต.ให้ยุ่งยากเหมือนในปัจจุบันในตำบลเดียวกันเช่น ต.ช้างเผือก มีตั้ง 2 นายกคือนายกเทศมนตรีและนายกอบต.การมีทั้งจังหวัดและเทศบาลนี้ไม่ได้หมายความว่าจังหวัดจะเป็นผู้บังคับบัญชาของเทศบาลนะครับ ต่างฝ่ายต่างมีความเป็นอิสระในรูปแบบของการปกครองท้องถิ่นเป็นของตัวเอง เพียงแต่แบ่งหน้าที่กันทำให้ชัดเจนว่าใคร ทำอะไร
ในส่วนขององค์การบริหารส่วนจังหวัดหรือ อบจ.ก็หมดไปกลายเป็นจังหวัดที่เป็นส่วนท้องถิ่นเต็มพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านก็ยังคงอยู่ดังเช่น กทม.แต่ไม่ได้เป็นราชการส่วนภูมิภาคแล้ว บทบาทก็จะเนั้นไปในด้านการรักษาความสงบเรียบร้อย ในฐานะผู้ช่วยเจ้าพนักงาน
ประเด็นสำคัญที่สอบถามกันมากก็คือ แล้วข้าราชการส่วนภูมิภาคจะไปไหน คำตอบก็คือ ก็ยังคงอยู่แต่เปล่ยนสังกัดจากกระทรวงทบวงกรมเดิม มาสังกัดท้องถิ่นที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้บังคัฐบัญชาโดยตรง (ซึ่งดึเสียอีกจะได้ไม่ถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายออกนอกพื้นที่)ซึ่ก็รวมข้าราชหารส่วนกลางซึ่งในปัจจุบันทำตัวเป็นผู้ที่ผู้ว่าฯแตะต้องไม่ได้ก็ต้องมาฝากการดูแลต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้ง (ซึ่งก็หมายความไมได้ห้ามส่วนกลางที่จะมาตั้งสำนักงานในจังหวัด แต่หน่วยงานนั้นควรจะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางวิชาการ การวิจัย ฯลฯ แต่ต้องฝากการกำกับดูแลกับผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ดี)
การปฏิรูปโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นระดับจังหวัดเชียงใหม่ให้มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินนโยบาย เพื่อดูแล ส่งเสริม พัฒนาคุณภาพชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม การสร้างมาตรการคุ้มครองสิทธิ์ สวัสดิการของบุคคล และชุมชน มีทิศทาง นโยบายที่กำหนดได้เองระดับจังหวัด มีหน่วยงานระดับจังหวัดเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หลัก โดยการยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค ให้บุคลากร การบริหารจัดการและงบประมาณ ย้ายจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น มีการบริหารเหมือนการย่อขนาดกระทรวงต่างๆให้มาอยู่ในจังหวัด ครอบคลุมในเรื่องเหล่านี้
ความปลอดภัย หน่วยงานตำรวจเป็นหน่วยงานระดับจังหวัด มีหน้าที่การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน อำนาจการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน การเรียน การสอบ การฝึกฝน ทักษะ เป็นภาระหน้าที่ของจังหวัด และมีกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจโดยประชาชน นอกจากนั้ก็มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ/การศึกษา มีหน่วยงานระดับจังหวัดรับผิดชอบการดำเนินงานด้านการศึกษา ครอบคลุม 4 เรื่อง คือ การจัดการบุคลาการขึ้นตรงต่อเชียงใหม่ การบริหารจัดการ งานวิชาการ และงบประมาณ
การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัวและการรักษาพยาบาล / การคมนาคม การพัฒนาระบบขนส่ง และการคมนาคม ระดับชุมชน จังหวัด มีวิศวกรรมจราจร /การท่องเที่ยว /สวัสดิการ การพัฒนาระบบสวัสดิการ ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร ตั้งแต่เกิดจนตาย และสร้างความมั่นคงในชีวิต/การจัดผังเมือง จังหวัดมีอำนาจในการกำหนดขอบเขต การใช้ประโยชน์ แบ่งโซนผังเมือง การสร้างสิ่งก่อสร้าง ควบคุมอาคาร/การพาณิชย์ของเชียงใหม่มหานคร ฯลฯ
โดยจะไม่ดำเนินการใน 4 เรื่องหลัก คือ การทหาร การต่างประเทศ เงินตรา และศาล ซึ่งถือว่าเป็นภารกิจของส่วนกลาง
ในส่วนของการที่มาของรายได้นั้นมาจากการจัดเก็บภาษีอากรจากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เช่น สรรพากร สรรพสามิต ภาษีมูลค่าเพิ่ม ฯลฯ มิใช่ภาษึท้องถิ่นจิ๊บจ๊อยเช่นในปัจจุบัน เมื่อเก็บได้แล้วก็นำส่งส่วนกลาง 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วเก็บไว้บริหารจัดการในพื้นที่ 70 เปอร์เซ็นต์ เช่น ประเทศญี่ปุ่น เป็นต้น
นอกจากนั้นยังมีการจัดตั้งลูกขุนพลเมือง (Civil Juries)ในส่วนของบทบาทภาคพลเมืองก็จะมีในส่วนของการจัดตั้งคณะลูกขุนพลเมือง(Civil Juries)นอกจกนนยงมกรขึ้นมาทำหน้าที่ถ่วงดุลส่วนวิธีการที่ได้มาและอำนาจหน้าที่จะมีมากน้อยแค่ไหนเพียงใดเป็นที่จะต้องถกแถลงกันต่อไป
รายละเอียดคงต้องถกกันอีกมาก แต่อย่างน้อยก็เป็นก้าวย่างที่เล็กๆแต่ยิ่งใหญ่ เพราะจุดมุ่งหมายของการร่าง พรบ.ฉบับนี้ก็คือการเสนอร่างโดยภาคประชาชนในปี 2555 ที่จะถึงนี้
โลกพัฒนาไปมากแล้ว ผู้ที่ติดยึดกับอดีตโดยไม่ลืมหูลืมตา จะถูกกระแสของพัฒนาการกวาดตกเวทีที่ตนเองยึดว่าเป็นของตัวไปอย่างช่วยไม่ได้
-------------------
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1621
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:20 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|