บทสัมภาษณ์ ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง วันที่ 17 พฤษภาคม 2544

16 ธันวาคม 2547 16:17 น.

       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ขอทราบบทบาทและหน้าที่ของสำนักงานศาลปกครอง
       
       ดร.ชาญชัย ฯ : สำนักงานศาลปกครองเป็นหน่วยธุรการของศาลปกครองซึ่งมีสถานภาพเป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญที่มีรูปแบบเป็นส่วนราชการ องค์กรอิสระอื่นๆ เช่น กกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็จะมีหน่วยธุรการซึ่งมีรูปแบบเป็น 2 รูปแบบ คือ รูปแบบหนึ่งเป็นส่วนราชการกับรูปแบบที่เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่ใช่ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ สำนักงานศาลปกครองเป็นรูปแบบที่เป็นส่วนราชการ เมื่อเป็นส่วนราชการ บุคลากรก็เป็นข้าราชการ วิธีการทำงานเป็นระบบราชการ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญบัญญัติให้สำนักงานศาลปกครองมีอิสระในเรื่องการบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล และการบริหารทั่วไป
       สำนักงานศาลปกครองในวาระเริ่มแรกก็มีการจัดโครงสร้างของสำนักงานเป็นส่วนราชการระดับกรม มีการแบ่งส่วนราชการงานภายในออกเป็นสำนัก 24 สำนักและ 1 กอง โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสำนักที่ทำงานด้านบริหารและด้านวิชาการต่างๆกับกลุ่มสำนักงานศาลซึ่งได้แก่ สำนักงานศาลสูง สำนักงานศาลกลาง และสำนักงานศาลภูมิภาค อีก 16 สำนัก
       ในส่วนของบุคลากรของสำนักงานศาลปกครองก็จะแยกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
       (1) ประเภทแรกเป็นข้าราชการ เรียกว่า "ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง" เป็นข้าราชการประเภทใหม่ซึ่งมี "คณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง" (กขป.) ทำหน้าที่แทน ก.พ. และข้าราชการฝ่ายศาลปกครองอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของเลขาธิการศาลปกครอง ข้าราชการฝ่ายศาลปกครองนั้นยังแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
       (ก) กลุ่มแรกเป็นข้าราชการสายสนับสนุนทั่วๆไปเหมือนส่วนราชการอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล เจ้าหน้าที่ธุรการ
       (ข) กลุ่มที่ 2 เรียกว่า "เจ้าหน้าที่ศาลปกครอง" ก็จะเป็นตำแหน่งงานที่เป็นสายสนับสนุนที่ต้องใช้ความรู้ทางวิชาการระดับปริญญาตรีขึ้นไป เช่น เจ้าหน้าที่ศาลปกครองที่ทำงานด้านการเจ้าหน้าที่ ทำงานด้านนโยบายและแผน
       (ค) กลุ่มที่ 3 ก็จะเป็นตำแหน่งที่เรียกว่า "พนักงานคดีปกครอง" ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือตุลาการเจ้าของสำนวนและปฏิบัติหน้าที่อื่นในสำนักงานฯตามที่เลขาธิการฯมอบหมาย ผู้ซึ่งเป็นหรือเคยเป็นพนักงานคดีปกครองในระดับที่คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองกำหนดก็จะมีคุณสมบัติที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นตุลาการศาลปกครองชั้นต้นต่อไปได้ พนักงานคดีปกครองมีหน้าที่ช่วยแสวงหาข้อเท็จจริง ช่วยสรุปรวบรวม และช่วยกลั่นกรองงานให้กับตุลาการเจ้าของสำนวน
       (2) บุคลากรประเภทที่ 2 ของสำนักงานฯได้แก่ ลูกจ้างประจำ เช่น พนักงานขับรถ และ ลูกจ้างชั่วคราว เช่นเดียวกับส่วนราชการอื่นๆ
       (3) บุคลากรประเภทที่ 3 เป็นบุคลากรประเภทใหม่ซึ่งกำหนดเพิ่มเติมขึ้นมา คือ " พนักงานศาลปกครอง" ซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้างที่หากผ่านการประเมินงาน ก็จะได้รับการจ้างต่อและมีการขึ้นเงินเดือนด้วย มีเงินเดือนขั้นต่ำจนกระทั่งเงินเดือนสูงสุด
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : แล้วมีสวัสดิการและอย่างอื่นอีกหรือไม่ครับ?
       
       ดร.ชาญชัยฯ :
ไม่มีสวัสดิการเช่นเดียวกับข้าราชการ แต่ก็จะมีการประกันสังคม
       ขอย้อนกลับไปในส่วนของข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง ว่าน่าเอากฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือนมาใช้โดยอนุโลมทั้งในเรื่องระดับตำแหน่งและเรื่องระดับเงินเดือน
       สำหรับงานของสำนักงานศาลปกครองนั้นอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
       (1) งานกลุ่มแรก คือ งานบริหารและงานธุรการศาล งานบริหารก็เช่นเดียวกับเป็นงานบริหารของส่วนราชการทั่วๆไป การบริหารงานบุคคล การจัดซื้อจัดจ้าง งานธุรการศาลก็ได้แก่ งานจ่าศาล งานรับฟ้อง งานออกหมาย
       (2) งานกลุ่มที่ 2 คืองานสนับสนุนงานด้านคดีให้แก่ตุลาการศาลปกครองและการบังคับคดี งานสนับสนุนงานศาลด้านคดีก็คือ การช่วยงานตุลาการโดยพนักงานคดีปกครอง ส่วนงานบังคับคดี คือกฎหมายกำหนดว่า เมื่อศาลปกครองมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว หากมีคำบังคับแล้ว ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามคำบังคับไม่ปฏิบัติตาม การบังคับคดีให้เป็นไปตามคำบังคับคำพิพากษาของศาลนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงานศาลปกครองที่จะทำในลักษณะเดียวกับที่กรมบังคับคดีดำเนินการในเรื่องของคดีแพ่ง
       (3) งานกลุ่มที่ 3 เป็นงานวิชาการ ดังนี้ งานวิชาการที่สำนักงานทำนั้นก็จะมี 3-4 ประเภทใหญ่ๆ
       (ก) สำนักงานฯ มีหน้าที่ศึกษาค้นคว้าแนวคำวินิจฉัยคดีปกครองของศาลปกครองและหลักกฎหมายปกครองของต่างประเทศ แนวคำพิพากษาศาลฎีกา คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์หรือองค์กรวินิจฉัยคดีปกครองต่างๆของไทย ตลอดจนตำรับตำราต่างๆเพื่อเป็นข้อมูลให้กับตุลาการศาลปกครอง ตลอดจนสนับสนุนทางด้านข้อมูลทางวิชาการต่างๆ
       (ข) เผยแพร่คำพิพากษาของศาลปกครอง และคำแถลงการณ์ของ "ตุลาการผู้แถลงคดี" (ซึ่งเป็นตุลาการซึ่งมีหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อองค์คณะพิจารณาพิพากษาก่อนที่จะมีการลงมติวินิจฉัย) ถ้าเป็นคำพิพากษาทั่วไปก็จะมีการปิดประกาศคำพิพากษาไว้ที่ศาลฯ แต่ถ้าเป็นคำพิพากษาที่น่าสนใจมากขึ้นก็จะมีการนำไปลงพิมพ์วารสารหรือลงเว็บไซต์ต่างๆเพื่อให้ผู้ที่สนใจได้นำไปศึกษาและเป็นการพัฒนานักวิชาการทางกฎหมายปกครองต่อไป
       (ค) จัดฝึกอบรมพัฒนาความรู้ให้กับตุลาการศาลปกครอง เจ้าหน้าที่ศาลปกครอง ตลอดจนเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายปกครองและกฎหมายมหาชนโดยทั่วๆไป
       (ง) อำนาจหน้าที่สุดท้ายที่เป็นงานวิชาการ ก็คือ การศึกษาวิเคราะห์เหตุแห่งการฟ้องคดีปกครอง ก่อนที่จะพูดเรื่องนี้ต่อไป ขอย้อนกลับมาพูดถึงบทบาทของศาลปกครองเสียก่อนว่า บทบาทโดยตรงของศาลปกครอง ก็คือ การพิจารณาพิพากษาคดีซึ่งจะเป็นการแก้ไขเยียวยาทุกข์แก่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นรายคดีไปซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงของศาลปกครองแล้ว บทบาทในทางอ้อมของศาลปกครองก็คือ คำพิพากษาของศาลปกครองจะทำให้เกิดบรรทัดฐานในเรื่องของกฎหมายปกครองและการบริหารราชการแผ่นดิน ในกรณีที่ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานของรัฐมีความเข้าใจที่แตกต่างกัน มีปัญหาข้อพิพาทขึ้นสู่ศาล ศาลก็ตัดสินวินิจฉัยออกมาแล้วว่าเป็นอย่างนี้ ก็จะนำไปเป็นหลักเป็นแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดินในกรณีที่มีปัญหาในเรื่องการตีความตัวบทกฎหมาย ในกรณีที่ตัวบทกฎหมายเกิดช่องว่างช่องโหว่ ศาลปกครองก็มีหน้าที่ในการวางหลักเสริมขึ้นมา บบาทในทางอ้อมของศาลปกครองอีกประการหนึ่งก็คือ บทบาทในเชิงจิตวิทยาให้ประชาชนได้รับรู้รับทราบและเกิดความอุ่นใจว่า ถ้าหากมีปัญหาข้อพิพาทกับหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้วประชาชนมีที่พึ่งพิงได้ว่า ถ้าหากเขาไม่ได้รับความเป็นธรรม เขาก็สามารถมาพึ่งศาลปกครองในเรื่องปัญหาข้อพิพาททางปกครอง ในแง่ของหน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็จะต้องเพิ่มความระมัดระวังในเรื่องการทำงานให้มากขึ้นว่า ถ้าหากทำอะไรไปโดยไม่ถูกต้องตามอำเภอใจ ก็อาจจะถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ซึ่งบทบาทของศาลปกครองในประการสุดท้ายนี้เปรียบเสมือนบทบาทของพนักงานจราจรสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ว่า ถ้าหากรู้ว่ามีพนักงานจราจรคอยดูอยู่ ก็จะไม่ฝ่าฝืนกฎจราจร แต่ถ้าหากรู้ว่าไม่มีพนักงานจราจร ก็จะทำให้คนฝ่าฝืนกฎจราจรมากขึ้น
       บทบาททางวิชาการของสำนักงานศาลปกครองอีกบทบาทหนึ่ง ก็คือการนำเอาเรื่องที่ มีการฟ้องคดีมาวิเคราะห์ว่าเหตุแห่งการฟ้องคดีเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากตัวบทกฎหมายบกพร่อง ไม่เป็นธรรม มีช่องโหว่ หรือถ้าเกิดจากหนังสือเวียน หนังสือสั่งการของหน่วยงานของรัฐมีปัญหา ก็จะเสนอแนะไปยังรัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าให้แก้ไขตัวบทกฎหมาย หนังสือเวียน หนังสือสั่งการให้ชัดเจนหรือแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรม เหตุแห่งการฟ้องคดีเช่นนั้นก็จะไม่เกิดขึ้นอีก ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นบทบาทในเชิงคุณภาพ
       (จ) บทบาททางวิชาการประการสุดท้ายของสำนักงานศาลปกครองก็คือ การป้องกันหรือการลดจำนวนข้อพิพาททางปกครอง โดยสำนักงานได้เล็งเห็นว่าทุกข์ร้อนของประชาชนมีจำนวนมาก ศาลปกครองคงไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาไปได้หมดในระยะเวลาสั้น หากไม่ไปแก้ไขปัญหาในเชิงรุก หรือถ้าหากเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างเดียว รอให้คดีขึ้นมาสู่ศาล ก็จะมีคดีขึ้นมาสู่ศาลเป็นจำนวนมากเพราะเหตุว่า การฟ้องคดีปกครองนั้นวิธีพิจารณาคดีที่ทำได้โดยสะดวก เรียบง่าย ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล ไม่ต้องมีทนายความ และก็ยื่นฟ้องทางไปรษณีย์ได้ เป็นต้น ก็จะทำให้มีคดีขึ้นสู่ศาลเป็นจำนวนมาก สำนักงานศาลปกครองเห็นว่าความสำเร็จของการทำงานคงไม่ได้อยู่ที่ว่าจะทำให้มีจำนวนคดีมากขึ้น แต่จะ พยายามเน้นงานในเชิงคุณภาพให้มากขึ้น แนวทางการทำงานต่อไป คงจะใช้เวลาในการเริ่มต้นพยายามทำความเข้าใจให้แก่ประชาชนว่าคดีปกครองคืออะไร เรื่องอะไรที่มาฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้และฟ้องอย่างไร ถ้าหากทั้งประชาชน หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าใจบทบาทภาระหน้าที่ที่แท้จริงของศาลปกครองแล้ว ก็จะเกิดความร่วมมือ เข้าใจถูกต้องตรงกัน สำนักงานศาลปกครองอยากทำงานในการเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างบุคคลสองกลุ่ม คือประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน และในส่วนของเจ้าหน้าที่ของรัฐก็จะพยายามให้มีการดำเนินงานให้มีการฝึกอบรมหรือว่าจัดสัมมนาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าทำตนอย่างไรที่จะไม่ให้ผิดกฎหมายและถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครอง และเมื่อถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วจะทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาได้ อะไรที่สามารถแก้ไขปัญหาทางบริหารได้ ก็ควรแก้ไขไปไม่ใช่มุ่งที่จะสู้คดีแต่เพียงอย่างเดียว แล้วก็ในเรื่องของการชี้แจงกรณีเป็นคดีขึ้นสู่ศาลแล้ว จะทำอย่างไรจะให้เรื่องสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อาจารย์มีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษากฎหมายของเรา
       
       ดร.ชาญชัยฯ :
กฎหมายแบ่งออกเป็น 2 สาขาใหญ่ๆคือ กฎหมายเอกชนกับกฎหมายมหาชน กฎหมายเอกชนเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับกับความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันซึ่งมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมายโดยเอกชนต่างก็ดูแลประโยชน์ส่วนตัวของตน ความสัมพันธ์ทางกฎหมายจะเกิดขึ้นได้จึงต้องมีความยินยอมพร้อมใจกันทั้งสองฝ่าย แต่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ กับเอกชนนั้น ในบางกรณีก็สามารถนำกฎหมายเอกชนมาใช้ได้ ในกรณีที่ประโยชน์ส่วนตัวของเอกชนและประโยชน์ส่วนรวมของรัฐนั้นสอดคล้องต้องกัน แต่หากประโยชน์ส่วนรวมของรัฐไม่สอดคล้องกับประโยชน์ส่วนตัวของเอกชนแล้ว หากมีแต่กฎหมายเอกชนอย่างเดียว ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ ในกรณีที่ประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์ส่วนรวมขัดแย้งกันรัฐก็จำเป็นต้องมีอำนาจบังคับเอกชนซึ่งเป็นส่วนน้อยของสังคมให้ยอมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม ก็เป็นที่มาของการมีหลักกฎหมายมหาชนแตกต่างจากหลักกฎหมายเอกชน แต่ความเข้าใจอย่างนี้ในประเทศไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนกฎหมายยังเข้าใจไม่ชัดเจนกันนัก และที่ผ่านมามีปัญหาในเรื่องของเหตุผลและความจำเป็นในการเรียนการสอนกฎหมาย โดยต้องคำนึงถึงการประกอบวิชาชีพและตลาดแรงงานที่จะรองรับด้วย ที่ผ่านมาการเรียนการสอนกฎหมายมุ่งเน้นไปที่กฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญาเป็นหลัก แต่ละเลยกฎหมายปกครองไป ทั้งๆที่กฎหมายส่วนใหญ่เป็นกฎหมายปกครองเนื่องจากกฎหมายปกครองเป็นกฎหมายที่ก่อตั้งหน่วยงานของรัฐและก็ให้อำนาจหน้าที่แก่หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายบริหารในอันที่จะดำเนินการต่างๆนานาที่จะกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าหากจำแนกดูแล้ว จะเห็นได้ว่า บรรดากฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติซึ่งมีอยู่กว่า 600 กว่าฉบับ เนื้อหากฎหมายส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นกฎหมายปกครอง ส่วนที่เป็นกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญานั้นเนื้อหาคงมีเป็นส่วนน้อย ซึ่งจะมีอยู่ในประมวลแพ่ง ประมวลอาญาและสอดแทรกอยู่ในพระราชบัญญัติต่างๆบ้างเป็นบางส่วน แต่กฎหมายส่วนใหญ่แล้วจะเป็นกฎหมายปกครองทั้งสิ้นที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตของผู้คนตั้งแต่เกิดจนตาย ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ซึ่งเป็นกฎหมายปกครองทั้งสิ้น แต่หลักสูตรการเรียนการสอนกฎหมายนั้นมุ่งเน้นการผลิตนักกฎหมายสำหรับกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งและทางอาญา และการประกอบวิชาชีพทนายความ โดยหลักสูตรการศึกษากฎหมายมิได้เตรียมการผลิตนักกฎหมายมหาชนภาครัฐซึ่งมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายปกครองต่างๆให้มีความรู้ความเข้าใจในหลักกฎหมายปกครองมาเท่าที่ควร ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากการที่ผู้พิพากษาอัยการได้รับค่าตอบแทนสูงกว่าข้าราชการประเภทอื่นของสายงานกฎหมายก็เป็นแรงดึงดูดที่สำคัญต่อการเรียนการสอนกฎหมายด้วย กล่าวคือ หลักสูตรการเรียนการสอนวิชากฎหมายในประเทศไทยจะเน้นในด้านการผลิตบุคลากรเพื่อป้อนกระบวนการยุติธรรมทางแพ่งทางอาญา เพราะฉะนั้นการเรียนการสอนกฎหมายมหาชนจึงถูกละเลยตลอดมา แต่บัดนี้เมื่อมีศาลปกครองขึ้นมาเป็นอีกระบบศาลหนึ่งซึ่งต้องการตุลาการศาลปกครองซึ่งมีคุณสมบัติแตกต่างไปจากผู้พิพากษาศาลยุติธรรมซึ่งโดยระบบการเรียนการสอน การไปอบรมเพิ่มเติมที่สำนักอบรมเนติบัณฑิตยสภาหรือว่าการฝึกอบรมผู้พิพากษา อัยการก็แล้วแต่ จะเน้นความรู้ทางกฎหมายแพ่ง อาญา วิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา แต่ในเรื่องของศาลปกครองนั้นกฎหมายกำหนดคุณสมบัติเอาไว้ว่าจะต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเข้าใจในกฎหมายปกครองและก็มีความเข้าใจในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน คุณสมบัติก็เลยหลายหลายนอกเหนือจากมีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์แล้วก็ยังมีวุฒิทางด้านรัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ กว้างขวางขึ้น และก็มีประสบการณ์หลากหลาย ไม่จำกัดว่าต้องเป็นผู้พิพากษาหรืออัยการ อาจจะเอาคนที่เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือนไม่ต่ำกว่าระดับ 8 อาจารย์มหาวิทยาลัย ทนายความ หรือคนที่จบปริญญาโททางกฎหมายมหาชน ปริญญาเอกทางกฎหมายมหาชน มีคุณสมบัติที่เข้ามารับคัดเลือกเป็นตุลาการศาลปกครองได้ ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นการเกื้อหนุนการพัฒนาของการเรียนการสอนวิชากฎหมายมหาชนโดยตรงเพราะจะทำให้คนที่เรียนกฎหมายมหาชนมีโอกาสได้มีตลาดแรงงานหรือวิชาชีพที่ไม่ได้ด้อยหรือยิ่งหย่อนไปกว่าการเป็นผู้พิพากษาศาลยุติธรรมหรืออัยการ
       ประเด็นดังกล่าวผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เมื่อมีศาลปกครองขึ้นมาแล้ว จัดตั้งแล้ว เปิดทำการแล้ว ก็เป็นหน้าที่โดยตรงของสถาบันการศึกษาต่างๆที่จะปรับหลักสูตรการเรียนการสอนวิชากฎหมายมหาชนให้สอดคล้องกับการมีระบบศาลใหม่ขึ้นมา ทำไมในระดับปริญญาตรีจึงไปมุ่งเน้นถึงวิชากฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา วิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา เรียนลงไปในรายละเอียด เรียนถึงขนาดวิชากฎหมายล้มละลายหรือเอกเทศสัญญา ซึ่งบางอย่างเรียนไปแล้ว ทั้งชีวิตอาจจะไม่มีโอกาสได้ใช้ ในขณะที่กฎหมายมหาชนซึ่งเป็นกฎหมายหลัก กฎหมายรัฐธรรมนูญก็ดี กฎหมายปกครองซึ่งผมได้เรียนให้ทราบแล้วเมื่อสักครู่นี้ว่าเป็นกฎหมายที่ใช้ในชีวิตประจำวันของผู้คน มีการเรียนการสอนน้อยมาก เรียนไปเพราะถูกบังคับให้เรียนขั้นต่ำตามหน่วยกิตที่กำหนดไว้ ก็ไม่มีเวลาที่จะศึกษาในรายละเอียดอะไรได้มากมาย แต่คนที่จบกฎหมายออกมาแล้วเวลาที่จะไปทำงานต่อไป แม้จะเป็นผู้พิพากษาอัยการก็ต้องมีความรู้ทางด้านกฎหมายปกครอง เป็นทนายความก็คงไม่ได้ว่าความหรือให้คำปรึกษาเกี่ยวข้องกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา เท่านั้น คงจะต้องมีความรู้ทั้งในเรื่องการให้คำปรึกษาลูกความในเรื่องกฎหมายปกครอง หรือว่าต่อไปก็ต้องว่าความหรือให้คำแนะนำในเรื่องกระบวนการยุติธรรมทางปกครองแก่ลูกความด้วย จึงต้องมีความรู้ทางด้านนี้ด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่จบกฎหมายหรือไม่เอาคนจบกฎหมายแต่ถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นผู้ทำหน้าที่ ใช้บังคับกฎหมายปกครองที่มีจำนวนมากตามที่ได้เรียนให้ทราบแล้ว ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมายปกครอง แม้นว่าจะไม่ได้เป็นผู้จบกฎหมายมาก็ตาม แต่ปลัดอำเภอ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานต่างๆใช้กฎหมายปกครองทั้งสิ้น ซึ่งคนเหล่านี้ถ้าสำเร็จการศึกษามาจากหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรีที่ยังไม่มีการเรียนการสอนวิชากฎหมายปกครองมากเท่าที่ควรและวิธีพิจารณาคดีปกครองก็ไม่มีการเรียนการสอน ก็จะเป็นปัญหา ทำให้โอกาสที่มีความรู้ในการฟ้องคดีและการต่อสู้คดีไม่ได้รับความรู้มากเท่าที่ควร นอกจากนี้ในเรื่องของการทำงานในภาครัฐ คือการมีศาลปกครองจะมีผลในการที่จะทำให้คนที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมายมหาชน กฎหมายปกครอง มีโอกาสได้ทำงานมากขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้กำหนดให้มีการจัดตั้งศาลใหม่ขึ้นมา 2 ระบบศาล คือ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และองค์กรต่างๆซึ่งต้องใช้บุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมายมหาชน การจัดตั้งองค์กรต่างๆขึ้นมาก็จำเป็นต้องอาศัยบุคลากรอาจจะเป็นคนที่ทำงานที่อื่นอยู่แล้วรับโอนมาหรือเป็นคนที่บรรจุใหม่ ก็คงมีคนมาจากสองส่วน ส่วนหนึ่งเป็นคนที่สำเร็จการศึกษามาแล้วเข้ามาทำงาน อีกส่วนหนึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว
       เมื่อครู่ผมพูดค้างอยู่ถึงว่าในเรื่องการเรียนการสอน สถาบันการศึกษาต่างๆต้องปรับหลักสูตรขนานใหญ่ให้สอดคล้องกับการเปิดทำการศาลปกครอง เพิ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาคดีปกครองหรือกฎหมายปกครองต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตรงนี้เป็นสิ่งที่สำนักงานศาลปกครองก็พยายามรณรงค์ในเรื่องนี้อยู่และก็ได้พยายามมีข้อเสนอแนะไปยังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงให้พิจารณาปรับหลักสูตรโดยให้เพิ่มวิชาศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเป็นวิชาบังคับและวิชาอื่นๆที่เกี่ยวข้องเป็นวิชาเลือก ซึ่งก็ได้เสนอไปหลายเดือนแล้ว ก็ได้รับแจ้งว่ายังอยู่ในงานร่างการพิจารณาของคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องเพราะการเพิ่มวิชาบังคับเข้าไปนั้นจะมีผลกระทบกระเทือนต่อวิชาที่มีอยู่เดิม ซึ่งตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่ทางคณะก็ต้องไปดูว่าจะปล่อยให้นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปแล้วและจะต้องมาหางานทำ ไม่ว่าจะเข้ารับราชการก็ดีหรือทำงานเป็นทนายความก็ดีต้องเสียเปรียบสถาบันการศึกษาอื่นอย่างเช่น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมีการปรับหลักสูตรโดยเพิ่มเนื้อหาของกฎหมายปกครองมากขึ้น เตรียมคนให้มีความพร้อมในด้านนี้มากขึ้น ที่ผมกล่าวถึงคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เพราะเห็นว่าเป็นสถาบันที่ผลิตนักกฎหมายในแต่ละปีออกมาเป็นจำนวนมาก ก็เลยพยายามเริ่มในส่วนนี้ก่อน
       ทีนี้ในแง่หน่วยงานของรัฐ กระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ก็จะมีข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ ของตนซึ่งทำงานอยู่แล้ว บุคลากรเหล่านี้แม้ว่าตอนเรียนไม่ได้เรียนกฎหมายมหาชน กฎหมายปกครองมา แต่ในการทำงานจริง ก็ต้องมีความรู้ ก็มีแนวทาง แผนงานอยู่ที่สำนักงานศาลปกครองจะจัดสัมมนาเพื่อชี้ให้หน่วยงานโดยเฉพาะหน่วยงานที่ทำหน้าที่ฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีความรู้ความเข้าใจ ได้เห็นปัญหาว่า ควรจะต้องมีการปรับหลักสูตรการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับการเปิดทำการของศาลปกครองเพื่อประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งทำงานอยู่แล้ว เช่น หลักสูตรอบรมต่างๆที่สำนักงาน ก.พ.จัดขึ้นเป็นประจำ ก็ได้เสนอในหลายวาระว่าควรจะต้องเพิ่มเติมหรือสอดแทรกวิชาทางด้านกฎหมายมหาชน ศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเข้าไปด้วย ไม่ว่าผู้ปฏิบัติงานจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วก็ต้องเกี่ยวข้องกับศาลปกครองไม่ทางหนึ่งก็ทางใด นั่นก็เป็นสิ่งที่พยายามจะดำเนินการอยู่ในเรื่องของการพัฒนากฎหมายมหาชนและนักกฎหมายมหาชน ในส่วนสำนักงานศาลปกครองเป็นหน่วยงานใหม่ซึ่งมีกรอบอัตรากำลังข้าราชการขั้นต้นใน วาระเริ่มแรกประมาณพันกว่าคนสำหรับปฏิบัติงาน เท่ากับว่าขณะนี้สำนักงานศาลปกครองเป็นหน่วยงานภาครัฐที่จ้างคนเข้าทำงานเป็นจำนวนมากหน่วยงานหนึ่ง เพราะว่าองค์กรต่างๆที่เกิดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญไม่ว่าองค์กรเดิมหรือองค์กรใหม่ก็แล้วแต่ ที่ผ่านมาหน่วยงานที่อยู่ในฝ่ายบริหารมีแต่ลดกำลังคน เพราะฉะนั้นคนที่สำเร็จการศึกษาใหม่ๆที่อยากทำงานในภาครัฐ หน่วยงานที่เป็นหน่วยงานจ้างงานรายใหญ่รายหนึ่งก็คือสำนักงานศาลปกครองนั่นเอง ซึ่งสำนักงานศาลปกครองก็พยายามเปิดรับคนที่มีวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ โดยมุ่งเน้นคนที่มีความรู้ความเข้าใจทางด้านกฎหมายปกครองเป็นสำคัญ นี่ก็เป็นโอกาสที่ทำให้คนที่สนใจเรียนทางด้านกฎหมายปกครองจะได้ใช้ความรู้และเมื่อได้เข้ามาร่วมงานในสำนักงานศาลปกครองแล้ว ก็มีโอกาสจะทำงานเป็นพนักงานคดีปกครองและพัฒนาตนเองเป็นตุลาการศาลปกครองต่อไป
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ผมขอถามอาจารย์ต่อในเรื่องการศึกษานะครับว่า จากเวลาประมาณปีเศษที่ตั้งสำนักงานศาลปกครองขึ้นมา ก็ได้มีนิสิตนักศึกษาทางด้านกฎหมายที่เข้ามาทำงาน อาจารย์คิดว่าคนเหล่านั้นมีข้อด้อยทางด้านกฎหมายมหาชนเยอะมากหรือไม่ครับ
       
       ดร.ชาญชัยฯ :
คนที่รับเข้ามาทำงานแล้วในตำแหน่งพนักงานคดีปกครองซึ่งรับทั้งวุฒินิติศาสตร์ และ วุฒิรัฐศาสตร์ พบว่าบางคนที่จบวุฒิรัฐศาสตร์จากบางสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนกฎหมายปกครอง เช่น มหาวิทยาลัยสงขลาฯ ก็มีความรู้ค่อนข้างดี บางสถาบันจบนิติศาสตร์มาแท้ๆแต่ความรู้ทางด้านกฎหมายปกครองอาจจะไม่ค่อยลึกซึ้งเท่าที่ควร เราก็รับมาโดยมีกระบวนการในการคัดเลือกคนเข้ามาก็จะมีการสอบข้อเขียนสำหรับระดับต้นและก็มีการสอบสัมภาษณ์ ถ้าเป็นในระดับกลางหมายความว่าระดับ 6 ,7, 8 นอกเหนือจากการสอบข้อเขียน เราจะมีการประเมินผลงานเพื่อที่จะมาดูว่ามีประสบการณ์ในการทำงานมากน้อยแค่ไหนยังไง แล้วก็มีการสัมภาษณ์ คนที่ผ่านการคัดเลือกตามกระบวนการที่ว่ามาแล้วเข้ามาทำงานแล้ว ตอนคัดเลือกเข้ามาก็พบว่าคนที่เข้ามาสอบแข่งขันและผ่านการสอบสัมภาษณ์เข้ามาส่วนหนึ่งไม่ได้เรียนวิชากฎหมายปกครองมาเท่าที่ควร


       STRONG>รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : อันนี้พูดถึงปริญญาตรีใช่หรือไม่ครับ
       
       ดร.ชาญชัยฯ : ครับปริญญาตรี บางคนก็อาศัยว่ามาเตรียมตัวสอบ มาอ่านหนังสือเอาทีหลังหาความรู้เพิ่มเติมเข้ามา อันนี้เป็นระดับปริญญาตรี เมื่อเข้ามาแล้วเราก็จะมีการจัดหลักสูตรอบรมเจ้าหน้าที่ของสำนักงานศาลปกครองเพื่อเพิ่มพูนความรู้ ถ้าเป็นผู้ที่จบระดับปริญญาโท สำนักงานฯก็ได้พยายามสนับสนุนคนที่จบปริญญาโทด้านกฎหมายมหาชนเป็นพิเศษ ก็จะมาดูว่าจบจากมหาวิทยาลัยไหน ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนด้านปริญญาโททางด้านกฎหมายมหาชนไม่ว่าจะเป็น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,จุฬาฯ ,มหาวิทยาลัยรามคำแหง, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ก็จะพยายามพิจารณาเป็นพิเศษ ซึ่งถ้าผู้ที่มาสมัครได้ปริญญาโทแล้ว มีคุณภาพที่รับได้ ก็จะรับเป็นส่วนใหญ่ แต่บางคนแม้จบปริญญาโททางกฎหมายมหาชนแต่ดูแล้วยังหลวมๆยังไม่ค่อยรู้จริง ก็อาจจะไม่รับเข้ามา และเมื่อรับเข้ามาแล้ว ก็พบว่าส่วนหนึ่งมีความรู้เพียงพอ แต่อีกส่วนหนึ่งอาจจะมีความรู้ไม่มากเท่าที่ควรก็มี อย่างเช่น หลายคนที่จบปริญญาโทกฎหมายมหาชนมาจากจุฬาฯ ก็มาลองทดสอบความรู้ดูปรากฏว่าบางความรู้ยังไม่แน่นนัก ก็ถือโอกาสนี้เรียนให้อาจารย์นันทวัฒน์ ฯทราบด้วย แต่ก็ถือว่าบุคคลเหล่านี้มีความรู้พื้นฐาน มีศักยภาพเพียงแต่ว่าในเรื่องของวิชากฎหมายปกครอง ศาลปกครอง อาจจะเรียนไปแล้ว ลืมไปแล้ว หรือว่าอะไรก็แล้วแต่ ตรงนี้เราก็ดูแต่คิดว่าเมื่อมีการอบรมเพิ่มเติมและเข้ามาทำงานจริง มาอยู่ในหน่วยงานที่ต้องใช้ความรู้ทางกฎหมายปกครอง มีบรรยากาศเหล่านี้ก็คงจะช่วยเขาพัฒนาตนเองขึ้นมาหรือรื้อฟื้นความทรงจำในเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาได้ดีขึ้น
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ: อาจารย์ครับ ย้อนกลับไปถึงเรื่องเดิมนิดหนึ่งครับตอนนิสิต นักศึกษาระดับปริญญาโทมาสมัครงาน ได้ยินว่ามีการพิจารณาให้ความสำคัญกับวิทยานิพนธ์ด้วย เพราะวิทยานิพนธ์สาขากฎหมายมหาชนบางเล่มอาจจะไปทำเรื่องอื่นที่ไม่ใช่มหาชนแท้ๆ เช่น กฎหมายปกครองหรือรัฐธรรมนูญ ผมอยากทราบแนวความคิดในเรื่องดังกล่าว
       
       ดร.ชาญชัยฯ:
ตรงนี้ก็จริงอย่างที่อาจารย์นันทวัฒน์ฯกล่าว คือว่า การเรียนปริญญาโทมันมีการเรียนcourse work และก็ทำวิทยานิพนธ์ซึ่งก็พยายามเอามาไล่ดูว่าได้เรียนมาอะไรมาบ้าง แล้วก็การทำวิทยานิพนธ์ก็ดู คือบางคนอาจจะจบรุ่นแรกๆไม่มีการแบ่งสาขาด้วยซ้ำไป ก็ต้องมาดูวิทยานิพนธ์เพื่อเป็นตัวชี้ว่าเขาจบกฎหมายมหาชนหรือไม่ คนที่จบปริญญาโทรุ่นที่มีกฎหมายมหาชนมาโดยแท้ ก็มาดูวิทยานิพนธ์ ถ้าเป็นวิทยานิพนธ์ในด้านอื่นๆที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้อง เราก็ดูนะครับไม่ได้มีข้อจำกัดอะไรแต่คนที่ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวข้องกับกฎหมายปกครองโดยตรงก็จะได้เปรียบและเป็นคนที่เรารับเข้ามาทำงานได้ด้วยความสนิทใจ เพราะบางคนไปทำวิทยานิพนธ์ทางด้านอื่นต่างๆนานา ซึ่งอาจจะไม่ค่อยรู้ในเรื่องกฎหมายปกครองลึกซึ้งมากนัก แต่อย่างไรก็ตามเราก็ยังมีการรับเข้ามาจำนวนหนึ่ง แล้วต่อไปผมคิดว่า คือในขณะนี้ได้มีการประสานเป็นการภายในกับคณะที่ได้มีการจัดการเรียนการสอนระดับบัณฑิตศึกษาไม่ว่าจะเป็นประกาศนียบัตรบัณฑิตหรือว่าปริญญาโทว่าให้พยายามปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับการทำงานที่แท้จริง เพราะบางทีถ้าสอนทางวิชาการโดยไม่มีการประยุกต์หรือเอาเรื่องจริงเข้ามาประยุกต์หรือปรับสอน ก็จะทำให้ผลิตบัณฑิตออกมาไม่ตรงกับตลาดแรงงานที่มีอยู่ ในเรื่องของปริญญาโท ก็มีการประสานงานกัน คนที่เรียนปริญญาโท ก็มักจะหาหัวข้อทำวิทยานิพนธ์ ถ้าทำวิทยานิพนธ์ที่ตรงกับความต้องการกับการใช้งานจริงๆของศาลปกครองหรือสำนักงานศาลปกครอง ก็จะเป็นประโยชน์ร่วมกัน ตรงนี้ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็มีการประสานกันอย่างนี้อยู่แล้ว ของจุฬาฯก็คงอย่างที่อาจารย์นันทวัฒน์ฯสอบถาม ก็คงจะไม่ว่าคนที่เรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยไม่ว่าจะทำงานที่ไหนก็แล้วแต่ หากทำวิทยานิพนธ์ในหัวข้อวิทยานิพนธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของสำนักงานศาลปกครองก็จะเป็นแต้มต่อในเวลาที่ว่าจะมาสมัครเข้ามาทำงานหรือจะโอนมาก็จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ แล้วก็ในเรื่องความร่วมมือทางวิชาการ ผมคิดว่าwebsiteที่อาจารย์นันทวัฒน์ฯ ทำอยู่นี้ก็เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องความสนใจในเรื่องของกฎหมายมหาชน ยิ่งตอนนี้มีข้อมูลว่าวรรณกรรมของกฎหมายมหาชนมีอะไร แนวคำวินิจฉัยขององค์กรที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชนมีอะไรบ้าง จะมีส่วนช่วยเหลือว่าคนที่มีความสนใจแต่ไม่มีโอกาสเข้ามาศึกษาในมหาวิทยาลัยหรือไม่ได้อยู่ในส่วนกลาง ก็อาจจะมีข้อเสียเปรียบเพราะบางคนต้องไปทำงานหรือไปศึกษาหรือไปพำนักต่างจังหวัด แต่มีความสนใจ ก็เสียเปรียบคนที่อยู่ในส่วนกลาง แต่ถ้าหากว่ามีข้อมูลโดยwebsiteหรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เข้าถึงข้อมูล ก็จะเป็นประโยชน์มากขึ้นและก็การทำงานในเรื่องการเผยแพร่ความรู้ไม่ว่าจะเป็นวารสารหรืออะไรก็แล้วแต่ทางสำนักงานฯก็พยายามจะทำอยู่
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : อาจารย์ครับ รอบแรกอาจารย์รับบุคลากรครบทั้งหมดแล้วตามจำนวนที่ขอจากทาง กพ.หรือยังครับ
       
       ดร.ชาญชัยฯ :
ยังครับ ก็คงได้ซัก 60-70% รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : ตอนนี้พอทราบจำนวนแน่หรือไม่ครับว่าคนจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกทางด้านนิติศาสตร์มีกี่คน เฉพาะส่วนของสำนักงานฯ ครับ และยังต้องการรับปริญญาโท ปริญญาตรี อีกกี่คนเผื่อคนที่เข้ามาใช้บริการ website จะได้ทราบด้วยครับ ดร.ชาญชัยฯ : จบปริญญาตรี 178 คน ปริญญาโท 23 คน ปริญญาเอก 1 คน ส่วนในเรื่องกรอบอัตรากำลัง โดยระบบมันคงต้องเพิ่มเติมเข้ามาเพราะเหตุว่าวิธีพิจารณาคดีปกครองเป็นระบบไต่สวน มีคำฟ้องแผ่นเดียวที่มีรายการครบตามที่กฎหมายกำหนดอ่านแล้วเข้าใจได้ว่าต้องการอะไร และถ้าพิจารณาแล้วเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่รับพิจารณาได้ การดำเนินงานต่อจากนั้นเป็นอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองที่จะแสวงหาข้อเท็จจริง ระบบไต่สวนอย่างนี้จำเป็นต้องมีตุลาการที่จะต้องมาออกแรงทำงานในส่วนนี้ค่อนข้างมาก แต่มีข้อจำกัด คือ การมีตุลาการเพิ่มขึ้นก็มีผลกระทบต่องบประมาณเพราะเหตุว่าตุลาการมีอัตราเงินเดือนที่สูงกว่าข้าราชการอื่นๆ กฎหมายก็เลยกำหนดว่าให้สำนักงานศาลปกครองมีพนักงานคดีปกครองทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยตุลาการ ขณะนี้กรอบอัตรากำลังที่กำหนดไว้เป็นเพียงขั้นต่ำ คือ ตุลาการหนึ่งคนมีพนักงานคดีปกครองช่วยหนึ่งคน ซึ่งเมื่อเริ่มเปิดศาลก็มีภาวะตึงตัวนะครับเพราะว่าไม่พอเพียงกับงานที่เข้ามา เปิดศาลมาพักหนึ่งก็มีคดี 1,800 กว่าเรื่องแล้ว ถัวเฉลี่ยเป็นรายคน ตุลาการบางคนก็รับผิดชอบคดี 20 คดี เป็นต้น พนักงานคดีปกครองก็เช่นเดียวกัน ก็กำลังพยายามที่จะคัดสรรข้าราชการให้มาเต็มตามกรอบ แล้วก็จะเสนอขอเพิ่มกรอบอัตรากำลังให้เพียงพอกับงานที่เพิ่มมากขึ้นจะได้สามารถพิจารณาพิพากษาคดีได้ด้วยความรวดเร็วมีประสิทธิภาพ ต่อไปก็คงจะมีการรับสมัครและคัดเลือกบุคลากรเป็นระยะๆต่อไป เข้าใจว่าคงเป็นระยะเวลาอีกหลายปีนะครับกว่าจะอิ่มตัว
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ: สมัยที่ผมเคยทำงานกับอาจารย์อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อาจารย์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการหาทุนให้นิติกรไปเรียนต่างประเทศจำนวนหลายคน ไม่ทราบว่าปัจจุบัน คนเหล่านี้กลับมาครบหมดแล้วหรือยังครับ
       
       ดร.ชาญชัยฯ :
ยังครับ ยังเรียนอยู่หลายคน
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ฯ : มีจำนวนกี่คนครับที่อาจารย์ดูแลเรื่องทุนที่ไปเรียนต่างประเทศ
       
       ดร.ชาญชัย :
คือเนื่องจากว่าระบบศาลปกครองอิงมาจากต่างประเทศ โครงสร้างศาลปกครองอิงมาจากเยอรมัน ส่วนวิธีพิจารณาคดีปกครองและหลักกฎหมาย แนวคิด ก็เอามาจากฝรั่งเศสและเยอรมันผสมกัน เพราะฉะนั้นนำไปสู่คำตอบว่าเนื่องจากการเรียนการสอนในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นระดับปริญญาตรี ปริญญาโทยังไม่สามารถสนองความต้องการดังกล่าวได้อย่างเพียงพอ ก็มีจำเป็นต้องให้คนไปเรียนศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ ก็ได้พยายามทำมาตั้งแต่อยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อมีการจัดตั้งสำนักงานศาลปกครอง กฎหมายบอกให้โอนคนในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาฝ่ายร้องทุกข์มานะครับ ผมก็ได้พยายามให้โอนคนทั้งที่ศึกษาอยู่ในต่างประเทศ ซึ่งในจำนวนที่ได้โอนมาแล้วก็มีส่วนหนึ่งที่ได้สำเร็จการศึกษามาแล้วบางส่วนยังศึกษาอยู่ เป็นคนที่ได้รับโอนมาจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาจำนวนหนึ่ง ไม่ได้มากมายอะไร แล้วก็ได้มีความพยายามที่จะขอทุนศึกษาเพิ่มเติม ทั้งที่เป็นทุนของรัฐบาลหรือสถาบันต่างประเทศกับที่เป็นทุนของรัฐบาลไทยก็ได้ขอได้อะไรอยู่ ก็ได้มาบ้างส่วนหนึ่ง ไม่ได้มากอะไร ทุนรัฐบาลไทยก็ได้ทางสาขากฎหมายปกครองมา 1 ทุน ก็มีการคัดเลือกคนที่จะไปเรียน ทุนรัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้มาเพียง 1 ทุน ปีนี้ก็ได้มาเพียง 2 ทุน อย่างนี้เป็นต้น ก็พยายามที่จะจัดสรรหาทุนให้ไปเรื่อยๆนะครับ กำลังพิจารณาอยู่ว่าถ้าหากสามารถใช้งบประมาณของสำนักงานศาลปกครองได้เอง กำลังศึกษากันตรงนี้อยู่จะจัดสรรทุนศึกษาต่างประเทศเพิ่มขึ้นซึ่งมันใช้เงินค่อนข้างสูง แต่สำหรับเรื่องที่สนับสนุนให้คนศึกษาปริญญาโทหรือบัณฑิตศึกษากฎหมายมหาชนในประเทศไทยก็ทำอยู่แล้วโดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาที่มีการสอนทางด้านนี้
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์: ในสำนักงานศาลปกครองมีนักกฎหมายมหาชนที่สำเร็จกฎหมายมหาชนมาจำนวนเท่าไหร่ครับ
       
       ดร.ชาญชัย :
จริงๆแล้วที่สำเร็จมาโดยตรงจากต่างประเทศก็มีไม่กี่คน แต่ถ้าจบในประเทศก็มีจำนวนหนึ่ง
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ : ปริญญาโทใช่หรือไม่ครับ
       
       ดร.ชาญชัย :
ครับ ปริญญาโท คงอย่างน้อย 30 คนขึ้นไปครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ : อาจารย์คิดว่าควรจะมีจำนวนมากกว่านี้ไหมครับ
       
       ดร.ชาญชัย :
ควรจะมีมากกว่านี้ คือขณะนี้ก็รับคนถ้าจบปริญญาโทแล้ว ก็พอใช้ได้ ก็จะรับ และคนที่เข้ามาแล้ว ไม่ได้จบปริญญาโทหรือไม่ได้จบบัณฑิตศึกษาก็จะสนับสนุนให้ไปเรียนต่อ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ : ที่ว่าสนับสนุนให้ไปเรียน อาจารย์สนับสนุนให้ความช่วยเหลือทางด้านไหนบ้างครับ
       
       ดร.ชาญชัย :
ในแง่ที่ว่าประสานงานกับสถาบันการศึกษาช่วยพิจารณารับ แต่คงไม่ถึงขนาดเป็นโควต้าก็คือ ขอให้พิจารณาเป็นพิเศษ เพราะว่าสำเร็จการศึกษาไปแล้วก็จะเกิดผลโดยตรงต่อการทำงาน ก็กำลังเตรียมการจัดทุนให้ สนับสนุนทุนการศึกษาให้ส่วนหนึ่ง
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ : แล้วอย่างคนที่ทำงานนี้ เวลาไปเรียนโททางสำนักงานได้ขอหรือได้กำหนดหรือเปล่าครับว่าวิทยานิพนธ์ควรทำเป็นเรื่องอะไรจะได้เกิดประโยชน์กับทางสำนักงานฯ
       
       ดร.ชาญชัย :
ช่วงต้นนี้ยังครับ ก็ยังรอดูอยู่ว่าใครบ้างที่ไปสมัครแล้วและได้รับการคัดเลือกให้เข้าเรียนหลังจากนั้นก็คงจะมาคุยกับเขาอีกทีหนึ่ง ว่าควรจะเรียนทางด้านไหนแต่ก็คงไม่ปล่อยให้เขาเรียนตามอิสระ ต้องมีการพิจารณาให้เป็นประโยชน์ต่องานของสำนักงานฯ ด้วย
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ : ในฐานะที่อาจารย์เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน อาจารย์มองกฎหมายมหาชนหลังรัฐธรรมนูญมีขึ้น ว่ามีการเปลี่ยนแปลงเป็นยังไงบ้างและก็ในอนาคตควรจะมีการเพิ่มเติมหรือปรับปรุงในส่วนไหนบ้าง หมายถึงสภาพทั่วๆไปหลังจากมีรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันครับ
       
       ดร.ชาญชัย :
ก็มีการตื่นตัวครับ มีการเปลี่ยนแปลงแน่นอน ทำให้บุคลากรภาครัฐตลอดจนสาธารณชนตื่นตัวขึ้นมาและให้การยอมรับ เมื่อหลายปีก่อนถ้ามีปัญหาต่างๆนานา ก็จะไปถามนักวิชาการอื่นๆ แต่หลังๆถ้าเป็นปัญหาสำคัญๆทั้งที่เป็นปัญหากฎหมายและเป็นปัญหาการเมือง จะเห็นได้ว่า ผู้สื่อข่าว จะสอบถามความคิดเห็นของนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชน สะท้อนให้เห็นแล้วว่าเกิดการยอมรับ ยอมรับรู้และก็นักกฎหมายมหาชนที่ผ่านมาจะมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับนักกฎหมายเอกชนแต่ก็ได้แสดงให้เห็นว่าเท่าที่มีอยู่ ก็ได้มีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมืองหรือปฏิรูประบบราชการ หรือผลักดันในเรื่องต่างๆ เพราะฉะนั้น ตรงนี้ผมคิดว่ามีการเปลี่ยนแปลงแล้วก็ในเรื่องกฎหมายมหาชนเรื่องที่สำคัญก็คือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ได้มีแนวความคิดใหม่ๆทางด้านกฎหมายมหาชนเข้ามาจำนวนมาก ในแง่ของกฎหมายระดับพระราชบัญญัติคงมีกฎหมายปกครองที่สำคัญๆหลายฉบับ ทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องตื่นตัวขึ้นมา ยอมเล็งเห็นความสำคัญของกฎหมายปกครอง อาจจะคิดว่าเป็นภาระหน้าที่ไม่ค่อยชอบใจนัก แต่ก็ต้องตื่นตัวขึ้นมาเรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นกฎหมายข้อมูลข่าวสารของทางราชการ กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กฎหมายความรับผิดทางละเมิด และเดี๋ยวนี้เมื่อมีศาลปกครองเกิดขึ้นมาแล้ว ก็จะเป็นกฎหมายสำคัญที่กระตุ้น ทำให้คนที่เมื่อก่อนบอกว่าจะทำอะไรยังไงก็ได้ต้องหันมาดูมาอ่านว่ากฎหมายเหล่านี้เป็นเรื่องอะไรยังไง


       รศ.ดร.นันทวัฒน์ : เกี่ยวเนื่องนะครับ อย่างสมัยก่อนตอนกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองออกใหม่ๆทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาส่งเจ้าหน้าที่ออกไปให้ความรู้ตามหน่วยงานต่างๆ ผมไม่ทราบว่าแล้วทางสำนักงานศาลปกครองมีความคิดที่จะดำเนินการในลักษณะแบบนี้หรือไม่ คือไปให้ความเข้าใจกับหน่วยงานต่างๆถึงตัวกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
       
       ดร.ชาญชัย :
อันนี้อยู่ในแผนงาน ขอเรียนอย่างนี้ว่าเนื่องจากสำนักงานศาลปกครองเป็นหน่วยงานตั้งใหม่ตามกฎหมาย ซึ่งหน่วยงานตั้งใหม่ก็มีข้อจำกัดต่างๆโดยในชั้นแรกก็จะต้องหาบุคลากรเข้ามาร่วมงาน จากนั้นก็มีการดำเนินการต่างๆจนกระทั่งมีการคัดเลือกตุลาการศาลปกครอง และในปัจจุบันมีการเปิดทำการศาลไปแล้ว งานที่ทางสำนักงานฯ จะต้องกระทำต่อไปเป็นงานอย่างที่อาจารย์ นันทวัฒน์ฯ ถามมา คือ ทำยังไงให้เรื่องกฎหมายศาลปกครอง วิธีพิจารณาคดีปกครองเป็นที่ รับรู้เข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง ก็ได้เริ่มประชาสัมพันธ์ผ่านทางสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์และสิ่งพิมพ์ให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าใจ แต่การอธิบายว่ากฎหมายศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองเป็นอย่างไรนะครับก็ตระเตรียมการกันอยู่ที่จะดำเนินการโดยให้มีการประชุมชี้แจงแก่ผู้บริหารระดับสูงในเรื่องของกฎหมายศาลปกครอง เป็นแผนงานอยู่ กำลังตระเตรียมการอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาก็ไปเร่งการฝึกอบรมตุลาการและเจ้าหน้าที่สำนักงานในหัวข้อเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาก็จะมีผู้ที่ให้ความสนใจมาขอสัมภาษณ์ เชิญตุลาการหรือผู้บริหารของสำนักงานศาลปกครองไปให้สัมภาษณ์หรือไปออกวิทยุโทรทัศน์ และก็เชิญไปบรรยายบ้างก็มีอยู่แต่เป็นลักษณะที่เป็นเค้าขอมา แต่ที่สำนักงานเป็นผู้จัดเอง ยังเป็นแผนงานอยู่ ยังตระเตรียมการอยู่ และก็จะเริ่มทำต่อไปโดยจะเริ่มทำในส่วนกลาง หลังจากนั้นก็จะไปทำในภูมิภาคในภาคที่จะไปเปิดศาลปกครองภูมิภาค ซึ่งเป็นแผนงานอยู่แล้วครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ในส่วนตัวของอาจารย์ที่อาจารย์เป็นคนที่ทำงานวิชาการออกมาเยอะพอสมควรคนหนึ่งไม่ทราบว่า ขณะนี้อาจารย์ยังพอมีเวลาที่จะทำงานวิชาการอยู่หรือไม่ครับ
       
       ดร.ชาญชัยฯ :
ก็คงต้องบริหารเวลาครับ เพราะว่าผมคิดว่าการทำงาน คือ อยากทำ 1. ด้วยใจรัก 2. คิดว่าจะทำเป็นตัวอย่าง คือว่า บางทีถ้าไม่ลองทำให้ดู คนก็ไม่เห็นภาพ ก็เลยจะลองทำให้ดู และก็หวังจะกระตุ้นหรือเชิญชวนให้บุคคลต่างๆที่โดยภาระหน้าที่ควรจะต้องมีผลงานออกมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการได้ทำตรงนี้ ซึ่งก็ยังมีความยินดีที่ระยะหลังๆนักวิชาการที่ไปศึกษาต่างประเทศกลับมา ได้นำความรู้ที่ได้รับมาเผยแพร่หรือมีผลงานทางวิชาการออกมาจำนวนหนึ่งรวมถึงอาจารย์ นันทวัฒน์ฯ ด้วย ที่ยังทำต่อไปก็เพื่อชี้ให้เห็นว่าข้ออ้างของนักวิชาการคือมีงานมาก คุมสอบ อะไรต่างๆนานา จึงไม่มีเวลาเขียน ผมอยากจะแสดงให้เห็นว่า ผมเองงานในหน้าที่ประจำของผมก็มีอยู่มากพอสมควร ผมยังมีเวลาไปบรรยายพิเศษ ผมยังมีเวลาขีดเขียนหนังสือหนังหาออกมา แม้ว่าคุณภาพจะเป็นอย่างไรก็เรื่องหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็แสดงให้เห็นว่า ถ้าหากมีความตั้งใจ มีความพยายาม ก็ยังทำได้อยู่ เรื่องเวลาก็ต้องแล้วแต่แต่ละคนจะไปบริหารเวลาและใช้เวลานอกเวลาราชการ เวลาในวันหยุดบ้างอะไรบ้าง
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ : นักวิชาการในศาลปกครองที่เห็นมีผลงานทางวิชาการออกมาเข้าใจว่ามี ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ เพียงคนเดียวเองครับอาจารย์
       
       ดร.ชาญชัยฯ :
คนที่เป็นนักวิชาการของสำนักงานฯ ที่ร่ำเรียนมาทางด้านนี้โดยตรงและมีศักยภาพส่วนหนึ่งไปเป็นตุลาการศาลปกครองและก็ที่ผ่านมาก็มัวแต่ไปทำงานด้านอื่นๆ เช่น งานวางระบบ ร่างระเบียบ อะไรต่างๆ ตรงนี้ต่อไปเมื่อมีเวลามากขึ้น ก็คงจะมีผลงานตรงนี้ออกมา
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ : อาจารย์ครับผมย้อนกลับไปประเด็นเรื่องหน่วยธุรการนิดนึงครับ คือหน่วยธุรการรุ่นปัจจุบันโดยมากมักจะเป็นหน่วยธุรการทางด้านวิชาการ อย่างสมัยอดีตหน่วยธุรการก็จะทำหน้าที่รับผิดชอบธุรการอย่างเดียว หน่วยธุรการที่รับผิดชอบทางด้านวิชาการมีความจำเป็นที่จะต้องการคนมากกว่าหน่วยธุรการที่รับผิดชอบแต่ทางด้านธุรการเพียงอย่างเดียวนะครับ อันนี้ผมไม่แน่ใจว่านโยบายรัฐบาล หรือทาง ก.พ.ให้ความสำคัญกับทางจุดนี้หรือเปล่าครับ
       
       ดร.ชาญชัยฯ :
ก็เท่าที่สัมผัสนะครับ โดยรวมรัฐบาลก็คงจะพูดเป็นทางการว่ารัฐบาลสนับสนุนศาลปกครอง แต่ในทางปฏิบัติต้องมาดูว่ารัฐบาลในระดับไหน ถ้าเป็นระดับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงบประมาณก็มีข้อวิตกในเรื่องการของบประมาณ อย่างศาลปกครองต้องมีการเปิดทำการศาลปกครอง 16 ศาล ก็ต้องใช้งบประมาณพอสมควรทีเดียว ซึ่งก็มีข้อจำกัดตรงนี้อยู่ ในส่วนของสำนักงาน ก.พ.ในเรื่องบุคลากรเรื่องอะไร พวกนี้ก็ได้รับการสนับสนุนอยู่แต่ว่าเข้าใจว่า อาจารย์นันทวัฒน์ฯ อยากจะถามว่ามีการให้ความสำคัญกับบุคลากรของสำนักงานฯในเรื่องค่าตอบแทนหรือว่าอะไรเป็นพิเศษใช่หรือไม่
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : ใช่ครับ เพราะเมื่อสักครู่ที่อาจารย์พูดว่าพนักงานคดีปกครองเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยธุรการซึ่งแตกต่างจากหน่วยธุรการอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ศาลรัฐธรรมนูญหรือสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เขาจะไม่มีในกฎหมายว่าจะต้องมีคนที่ทำแบบนี้ พอมีความจำเป็นที่ต้องมีคนแล้วทาง ก.พ.ให้คนเท่าที่เราต้องการและมีค่าตอบแทนพิเศษเพื่อไม่ให้คนเหล่านี้หนีออกจากระบบไปรึเปล่า
       
       ดร.ชาญชัย ฯ :
ในเรื่องการกำหนดอัตรากำลัง เนื่องจากสำนักงานศาลปกครองไม่ได้อยู่ภายใต้รัฐบาลก็ไม่ได้อยู่ภายใต้คณะกรรมการกำหนดกำลังคนภาครัฐ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำหนดของสำนักงาน ก.พ. แต่มีคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายศาลปกครองของตนเอง ซึ่งตอนต้นๆสำนักงบประมาณก็ไม่ได้เข้าใจเช่นนี้ แต่ตอนหลังก็เป็นที่ยอมรับแล้ว ก็กำหนดกรอบอัตรากำลังได้เอง ส่วนจะได้รับงบประมาณสอดคล้องกับกรอบอัตรากำลังหรือไม่นั้นก็เป็นอีกปัญหาหนึ่ง ในเรื่องการให้ค่าตอบแทนอะไรเป็นพิเศษ ก็อยู่ที่กฎหมาย กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองบอกว่าข้าราชการสำนักงานศาลปกครองนั้นได้รับเงินเดือนเช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือน เพราะฉะนั้นเงินเดือนทั่วไปเหมือนกัน แต่ก็มีบทบัญญัติที่อาศัยกฎหมายข้าราชการพลเรือนคือเรื่องเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งมาตรา 33 ก็ได้มีกฎหมาย ก.พ.ให้ ก.พ. กับกระทรวงการคลังร่วมกันออกระเบียบกำหนดตรงนี้ได้ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเคยทำมาแล้ว สำนักงานศาลปกครองก็เดินตามตรงนี้ก็มีการขอกำหนดเงินเพิ่มพิเศษประจำตำแหน่งแก่พนักงานคดีปกครอง เงินเพิ่มก็ได้เช่นเดียวกับนักกฎหมายกฤษฎีกา คือ ถ้าเป็นนักกฎหมายระดับ 5-6 ได้เพิ่มจากอัตราเงินเดือน 3,000 บาท ระดับ 7-8 ได้ 5,000 บาท แต่ตรงนี้ได้มาในเรื่องของระเบียบซึ่งกว่าที่กระทรวงการคลังจะยอมตรงนี้ก็ใช้เวลานึง แต่ขณะนี้จริงๆแล้วต้องรอคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง หรือ ก.ศป. ที่จะมากำหนดเรื่องพนักงานคดีปกครอง เพราะพนักงานคดีปกครองกฎหมายเขียนว่า พนักงานคดีปกครองระดับอะไรจะมีคุณสมบัติอย่างไรให้ ก.ศป.เป็นผู้กำหนด เมื่อขณะนี้ยังไม่มี ก.ศป.ครบองค์ประกอบเรื่องพนักงานคดีปกครองก็ยังไม่เกิด
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : นักกฎหมายมหาชนในใจของอาจารย์ อาจารย์ชื่นชมใครเป็นพิเศษครับ
       
       ดร.ชาญชัย ฯ :
ก็จะมีเป็น 2 รุ่น นะครับ ถ้าเป็นผู้ที่บุกเบิกในเรื่องกฏหมายมหาชนก็จะได้แก่ ท่าน ศ.ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสูงในการจุดประกายให้เกิดความตื่นตัวในเรื่องของกฎหมายมหาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านกฎหมายปกครอง ท่านก็ได้สร้างและได้ทำอะไรไว้มากพอสมควร แต่เมื่อท่านพ้นภาระหน้าที่จากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาไปแล้ว ท่านก็ไปดำเนินการในเรื่องปฏิรูปการเมือง ซึ่งท่านมีส่วนสำคัญ ท่านยังเป็นครูบาอาจารย์ที่นักกฎหมายมหาชนอ้างอิงและระลึกถึงอยู่ ถ้าเป็นรุ่นถัดรองลงมา ผมคิดว่าคนที่มีบทบาทสำคัญมาก ก็จะมี อาจารย์ ดร. โภคิน พลกุล ซึ่งมีบทบาทสำคัญในสมัยที่เข้าไปเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนะครับ ท่านก็ได้เอาวิชาความรู้ที่มีอยู่ แล้วก็เอาความรู้ความสามารถในการทำงานทางการเมืองผลักดันแนวคิด แล้วก็เป็นกฎหมายมหาชนที่สำคัญๆออกมาหลายฉบับนะครับ ซึ่งมีแนวคิดที่ผ่านมาแต่ว่าสำเร็จออกมาเป็นกฎหมายได้ก็ตอนที่ท่านอาจารย์โภคินฯ ไปเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาล 2 รัฐบาล ทั้ง 2 ท่านก็เป็นคนที่ผมให้ความเคารพนับถือทั้งในเรื่องของความรู้และในเรื่องของความสามารถในการชี้แจง โน้มน้าวและก็ผลักดัน ได้สำเร็จนะครับ นอกจากนั้นก็จะมีท่านอื่นๆ อาจารย์บวรศักดิ์ฯ ก็จะมีบทบาทสูงในเรื่องของการร่าง รัฐธรรมนูญ และก็ถ้าเป็นนักวิชาการทางด้านกฎหมายปกครองก็มีอาจารย์วรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ซึ่งมีความรู้ความสามารถเป็นนักวิชาการทางด้านกฎหมายปกครองซึ่งผมก็ให้ความเคารพนับถือในเรื่องความรู้ความสามารถ นอกจากนี้ยังมีท่านอื่นอีกหลายท่านซึ่งก็มีความรู้ความเข้าใจทางด้านนี้นะครับแล้วก็อาจารย์นันทวัฒน์ฯเองก็ได้มีผลงานทางวิชาการทางด้านนี้ออกมานะครับ ก็คงจะเอ่ยชื่อได้ไม่หมดครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ ฯ : คำถามสุดท้ายนะครับ มีปัญหาหรืออุปสรรคในเรื่องงานเรื่องอะไรบ้างหรือไม่ครับ หมายถึงว่าในภาพรวมทั่วๆไปที่อาจารย์ยังคิดว่าน่าจะมีอะไรดีกว่านี้ครับ
       
       ดร.ชาญชัยฯ :
ปัญหาอุปสรรคคิดว่าคงต้องใช้เวลาในการเสริมสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล นักการเมือง และก็หน่วยงานต่างๆตลอดทั้งประชาชนว่าศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่ที่แท้จริงอย่างไร ขณะนี้คนยังเข้าใจผิดคิดว่าศาลปกครองมีหน้าที่ลงโทษเจ้าหน้าที่ที่ทำไม่ถูก ถ้าให้เกิดความเข้าใจตรงนี้และก็เล็งเห็นว่าศาลปกครองทำอะไร ช่วยเหลือประชาชนและหน่วยงานของรัฐทั้งสองด้านได้มาก ก็จะได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ขณะนี้ยังไม่มีผลงานอะไรออกมาที่เป็นรูปธรรมเพราะเพิ่มเปิดทำการศาลได้เพียง 2 เดือน ยังไม่มีการตัดสินคดีอะไรออกมาจริงๆจังๆนะครับ ก็คือเป็นช่วงที่ต้องใช้เวลาทำตรงนี้อยู่ ปัญหาอุปสรรคนอกเหนือจากความรู้ความเข้าใจของผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว คนที่จะมาทำงานในศาลปกครองเองและสำนักงานศาลปกครองก็คงจะต้องเป็นผู้ที่มีทั้งความรู้ คุณธรรม ความรู้ความสามารถและคุณธรรมควบคู่กัน ตามความเป็นจริงคนอยากได้ตำแหน่งมีอยู่ในสังคมไทย เวลามีการเปิดรับตำแหน่งอะไรต่างๆก็อยากไปสมัคร แต่ก็ต้องดูด้วยว่าท่านเหล่านั้นท่านมีความรู้ความเข้าใจตรงนั้นเพียงพอเหมาะสมที่จะเป็นหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ของศาลปกครองก็มีบุคลากรที่มาดำรงตำแหน่งนี้ที่มีความรู้ความสามารถเหมาะสมจำนวนหนึ่ง แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะทำงานได้ อุปสรรคมันคงมีหลายๆอย่าง อุปสรรคในเรื่องงบประมาณ อุปสรรคในเรื่องการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ ซึ่งก็คงเป็นอุปสรรคเช่นเดียวกับหน่วยงานปกติธรรมดาทั่วๆไป แต่ว่าอุปสรรคที่จะเป็นระดับสำนักงานก็คงจะเป็นว่าเมื่อหน่วยงานตั้งใหม่ ต้องมีการจัดวางระบบใหม่ สร้างอะไรขึ้นมาใหม่หลายๆอย่างและคัดสรรคนที่เข้ามาร่วมงาน ความยากลำบากคือทำอย่างไรถึงจะมั่นใจว่าคนที่เข้ามาร่วมงานจะมีความรู้ความสามารถเพียงพอ มีอุดมการณ์ร่วมกัน และเมื่อเข้ามาแล้ว ทำอย่างไรถึงจะให้เขาอยู่ร่วมกันได้ด้วยดี คือ ไม่เข้ามาเกิดปัญหาความขัดแย้งกันก็คิดว่าเป็นงานที่ท้าทายอยู่ และก็ทำสิ่งที่คิดว่าไม่ถึงกับเป็นอุปสรรค เพียงแต่ว่าเวลาที่จะทำให้มันสำเร็จเป็นรูปธรรมออกมาบางสิ่งบางอย่าง มันต้องใช้เวลา เป็นแต่เพียงผู้มาทำหน้าที่ในเวลาระยะเริ่มต้น คงไม่สามารถดลบันดาลสิ่งต่างๆให้เป็นไปตามที่ต้องการได้ อุปสรรคสำคัญที่จริงๆในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตนเองก็คือ โดยกฎหมายกำหนดขั้นตอนในเรื่องต่างๆไว้ค่อนข้างมาก การดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง กฎหมายกำหนดว่าให้ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้แต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง กว่าจะมีประธานศาลปกครองสูงสุดใช้เวลานานพอสมควร เมื่อมีประธานแล้ว ณ จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มี ก.ศป.ครบองค์ประกอบ เพราะฉะนั้น ก็ต้องรักษาการในตำแหน่งเลขาธิการตลอดมา ในแง่ของความมั่นคงหรืออะไรในทางส่วนตัวคงไม่เป็นปัญหา แต่ในแง่จะสร้างความมั่นใจให้กับคนที่จะมาร่วมงานว่าจะชักจูงคนหรือจะเชิญชวนคนมาร่วมงาน เขาต้องเกิดความมั่นใจ เพราะนอกเหนือจากเรื่องหน่วยงานน่าสนใจแล้ว คงต้องมีความเชื่อถือในตัวของผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าหน่วยงานด้วย ซึ่งตราบใดที่ตรงนี้ยังไม่มีความชัดเจน ไม่มีความแน่นอน ก็คือเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งในการทำงาน และเมื่อตัวเลขาธิการก็ยังรักษาการอยู่ ระดับรองลงไปก็เช่นเดียวกัน ตรงนี้ก็ยังมีผลในทางปฏิบัติอยู่เหมือนกันในเรื่องการสร้างความมั่นให้กับคนมาร่วมงาน เรื่องการทำงานต่างๆ น้ำหนักมันจะต่างกันนะครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ : อาจารย์มีอะไรจะฝากไปถึงนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่บ้างหรือไม่ครับ
       
       ดร.ชาญชัย :
ให้ระลึกว่าในการทำงานคงต้องมีหลายๆอย่างประกอบกัน คือ ความสนใจ และก็ความชอบ ซึ่งอยากจะฝากว่าแต่นี้ไป ถ้าคนที่สนใจและชอบด้านกฎหมายมหาชน มีความหวังแล้วว่า คงไม่ต้องเอาเรื่องการทำงานเรื่องอาชีพมาเป็นจุดที่ทำให้ต้องเบี่ยงเบนไปจากเดิม เพราะต่อไปหากมีพัฒนาการอย่างที่อธิบายให้ฟังแล้ว นักกฎหมายมหาชนก็จะมีโอกาสทำงานตรงกับความสนใจของตน และก็อาจจะไม่ได้ย่อหย่อนหรือเสียโอกาสด้อยไปกว่าคนที่เรียนทางด้านสาขากฎหมายเอกชน ผมก็อยากจะฝากไว้เท่านี้และก็ให้ติดตามกันต่อไป ขอบคุณครับ
       
       รศ.ดร.นันทวัฒน์ : ขอขอบคุณอาจารย์ที่ได้กรุณาสละเวลาให้สัมภาษณ์ในครั้งนี้ครับ


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=161
เวลา 24 พฤศจิกายน 2567 18:27 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)