คดีปราสาทพระวิหารและหมายเหตุท้ายคำพิพากษา

5 มิถุนายน 2554 19:36 น.

       บทย่อ
       คดีปราสาทพระวิหาร (ระหว่างกัมพูชากับไทย) ขั้นเนื้อหา
       คำพิพากษาศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๖๒
        
       ศาลตีกรอบคำพิพากษา (หน้า ๖ - ๑๔, คำแปลหน้า ๑ - ๑๘)
       ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศสรุปกระบวนพิจารณาคดีและกล่าวทวนคำแถลงสรุปของกัมพูชาและไทย โดยในหน้า ๑๔ ย่อหน้าสุดท้าย (คำแปลหน้า ๑๖ ย่อหน้าสุดท้าย) ศาลอ้างถึงคำอธิบายประเด็นแห่งคดีที่ศาลเคยสรุปไว้ว่า กัมพูชากล่าวอ้างว่าไทยได้ละเมิด “อำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหารและเขตที่เกี่ยวข้อง” (sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its precincts) และศาลก็ย้ำกรอบ (confined) ประเด็นแห่งคดีตามคำสรุปดังกล่าวซ้ำดังเดิมแต่ละคำว่า “เขตที่เกี่ยวข้อง” (precincts) ออกไป (คำนี้ตีความหมายได้หลายทาง โปรดดูหมายเหตุ). ศาลสรุปว่า การที่คู่ความอ้างถึงแผนที่และข้อต่อสู้ที่เกี่ยวเนื่องกับแผนที่นั้น ศาลจะพิจารณาเพียงเท่าที่จำเป็นต่อการหาเหตุผล (reasons) มาวินิจฉัยประเด็นพิพาทแห่งคดี (settle the sole dispute) ที่จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหารประเด็นเดียวเท่านั้น.
       ศาลระบุข้อกฎหมาย (หน้า ๑๕ - ๑๖, คำแปลหน้า ๑๘ - ๑๙)
       ศาลสรุปข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร (ย่อว่า “ปราสาทฯ”) และปฏิเสธที่จะนำข้อต่อสู้เชิงประวัติศาสตร์ ศาสนาและโบราณคดีมาประกอบการพิจารณา. ศาลกล่าวถึงข้อพิพาทในคดีว่าเป็นเรื่องที่สืบจากการตกลงเรื่องเขตแดน (boundary settlement) ระหว่างสยามและฝรั่งเศสเมื่อช่วง ค.ศ. ๑๙๐๔ - ๑๙๐๘ ซึ่งต่อมากัมพูชาได้รับเอกราชและสืบสิทธิต่อจากฝรั่งเศส. ศาลระบุว่าการวินิจฉัยคดีย่อมเป็นไปตาม (depends upon) หนังสือสัญญาเรื่องเขตแดนระหว่างสยามและฝรั่งเศส วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔ (ย่อว่า “อนุสัญญาฯ”) ซึ่งมีใจความสำคัญสองข้อ คือ
       ข้อ ๑. กำหนดให้ “พรมแดน” (frontier) ระหว่างไทยและฝรั่งเศสบริเวณปราสาทฯเป็นไปตามสันปันน้ำ (follows the watershed); และ
       ข้อ ๓. กำหนดให้มีคณะกรรมการสองชุดทำงานผสมกัน (Mixed Commissions - อนุสัญญาฯใช้รูปพหูพจน์) ระหว่างไทยและฝรั่งเศส เพื่อทำหน้าที่ปักปันพรมแดนต่างๆ (delimitation of the frontiers) ทั้งนี้ให้คณะกรรมการผสมดังกล่าวดำเนินงานเกี่ยวกับพรมแดนที่อนุสัญญาฯ ข้อ ๑. กำหนดไว้ (the work will relate to the frontier determined by [Article I]).
       ศาลอธิบายข้อกฎหมาย (หน้า ๑๖ - ๑๗, คำแปลหน้า ๑๙ - ๒๐)
       ศาลอธิบายถึงอนุสัญญาฯ ไว้สามประการ.
       ประการแรก เมื่ออนุสัญญาฯ มิได้ระบุถึงปราสาทฯไว้ ศาลจึงจำเป็นต้องตรวจสอบ (examine) ว่าเส้นพรมแดน (frontier line) คือเส้นใด เพื่อศาลสามารถวินิจฉัย (give a decision) ได้ว่ากัมพูชาหรือไทยมีอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทฯ (the Temple area).
       ประการที่สอง แม้อนุสัญญาฯ ข้อ ๑. จะกำหนดให้พรมแดนเป็นไปตามเส้นสันปันน้ำ แต่แนวพรมแดนที่ชัดเจน (exact course) นั้นต้องปักปันตามอนุสัญญาฯ ข้อ ๓. ซึ่งให้มีคณะกรรมการผสมฝรั่งเศส-ไทย (Franco-Siamese Mixed Commission - ศาลใช้รูปเอกพจน์ ) เป็นผู้ปักปัน.
       ประการที่สาม แม้การดำเนินการปักปันตามอนุสัญญาฯ ข้อ ๓. จะมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้น (prima facie) ว่าต้องกระทำตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาฯ ข้อ ๑. (อาศัยสันปันน้ำ) แต่ศาลเห็นว่าเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของอนุสัญญาฯ ก็เพื่อทำให้มีเส้นพรมแดนที่เป็นผลมาจากการปักปันตามความเป็นจริง (establish the actual line of the frontier) เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการปักปันนั้นไม่มีผลทางกฎหมาย (invalid).
       (กล่าวโดยสังเขป คำว่า “ปักปัน” หรือ delimitation นั้นศาลน่าจะหมายถึงการตกลงเส้นเขตแดนบนแผนที่หรือเอกสาร ซึ่งศาลเห็นว่าชัดเจนกว่าการตกลงนิยามเบื้องต้น เช่น ตกลงพรมแดนให้อาศัยสันปันน้ำ - โปรดดูหมายเหตุ)
       ศาลสรุปข้อเท็จจริงและเหตุผลที่คู่ความยกขึ้นต่อสู้ (หน้า ๑๗ - ๒๑, คำแปลหน้า ๒๐ - ๒๗)
       ศาลสรุปข้อเท็จจริงว่า ไทยและฝรั่งเศสได้ตั้งคณะกรรมการผสม (Mixed Commission - เอกพจน์) ขึ้นหนึ่งคณะแต่มีสองแผนก คือแผนกไทยและแผนกฝรั่งเศสโดยแต่ละแผนกมีประธานกรรมการของตน (กล่าวคือศาลเรียกคณะกรรมการผสมตามอนุสัญญาฯ ข้อ ๓. ที่เป็นพหูพจน์ให้เป็นเอกพจน์แทน - ต่อไปนี้ย่อว่า “คณะกรรมการผสมฯ” - โปรดดูหมายเหตุ). ศาลสรุปว่า แม้คณะกรรมการผสมฯจะไม่ได้บันทึกข้อสรุปเรื่องการปักปันพรมแดนบริเวณปราสาทฯไว้ แต่สันนิษฐานจากหลักฐานว่าได้มีการสำรวจและกำหนดพรมแดนแล้ว (surveyed and fixed) แต่โดยใครหรือโดยวิธีการใดนั้นศาลเห็นว่าไม่ชัดเจน.
       ต่อมาไทยกับฝรั่งเศสได้ทำหนังสือสัญญาอีกฉบับใน ค.ศ. ๑๙๐๗  และตั้งคณะกรรมการผสมชุดที่สองขึ้นอีกชุดเพื่อปักปันพรมแดนบริเวณอื่นที่ไม่ได้ดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๐๔ อีกทั้งหนังสือสัญญา ค.ศ. ๑๙๐๗ ยังมีพิธีสาร (protocol) กำหนดให้งานของคณะกรรมการชุดที่สองรวมไปถึงบริเวณที่ปราสาทฯตั้งอยู่ แต่คณะกรรมการชุดที่สองก็มิได้ปักปันบริเวณปราสาทฯ ศาลจึงสันนิษฐานว่าคณะกรรมการผสมฯชุดแรกตามอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๐๔ ได้ทำการสำรวจและปักปันพรมแดนบริเวณปราสาทฯเสร็จแล้ว แต่ผลออกมาเป็นเช่นใดนั้นศาลไม่ทราบ. 
       ศาลอธิบายว่าขั้นตอนสุดท้ายของการปักปันพรมแดนคือการทำแผนที่ ไทยซึ่งไม่ชำนาญด้านแผนที่ได้ขอให้ฝรั่งเศสจัดทำแผนที่ ทั้งนี้ มีหลักฐานที่ไทยเคยกล่าวถึง “คณะกรรมการปักปันพรมแดนผสม (Mixed Commission - เอกพจน์) และคำขอของกรรมการฝ่ายไทย (Siamese Commissioners) ที่ขอให้กรรมการฝ่ายฝรั่งเศส (French Commissioners) ทำแผนที่พรมแดนต่างๆ (maps of various frontiers)” (ผู้ย่อตีความจากบริบทว่าศาลพูดถึงคณะกรรมการผสมฯชุดแรกที่ศาลเรียกว่ามีแผนกไทยและแผนกฝรั่งเศส). ฝรั่งเศสจึงให้เจ้าหน้าที่ของตน ๔ คน (๓ คนเป็นอดีตสมาชิกคณะกรรมการผสมฯ ชุดแรก) ทำแผนที่ทั้งสิ้น ๑๑ ฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือแผนที่ภาคผนวก ๑ ต่อท้ายคำฟ้องกัมพูชา หรือ Annex I Map (“แผนที่ฯ”) ซึ่งกัมพูชานำมาอ้างว่าปราสาทฯตั้งอยู่ในเขตกัมพูชา.
       ศาลสรุปข้อต่อสู้ของไทยเกี่ยวกับแผนที่ฯ สามข้อ ดังนี้.
       (๑) แผนที่ฯไม่ใช่ผลงานการปักปันโดยคณะกรรมการผสมฯ จึงไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย;
       (๒) เส้นพรมแดนที่แท้จริงต้องเป็นไปตามสันปันน้ำ (ตามอนุสัญญาฯ ข้อ ๑.) ซึ่งย่อมทำให้ปราสาทฯตั้งอยู่ในเขตไทย แต่เมื่อแผนที่ฯกลับลากเส้นที่ไม่ใช่เส้นสันปันน้ำในบริเวณนั้น (in this vicinity - หน้า ๒๑) เนื้อหาแผนที่ฯ จึงผิดพลาดชัดเจน และไม่สามารถถือเป็นการใช้อำนาจหรือดุลพินิจของคณะกรรมการผสมฯที่ถูกต้องได้; และ
       (๓) ไทยไม่เคยยอมรับแผนที่ฯหรือเส้นพรมแดนตามแผนที่ฯ หรือแม้หากไทยเคยยอมรับ ก็เพราะไทยเข้าใจผิดในข้อสำสัญว่าเส้นแผนที่ฯได้เป็นไปตามเส้นสันปันน้ำอย่างถูกต้อง.
       ศาลเห็นว่าแผนที่ฯ ไม่ผูกพันไทย แต่เป็นผลจากการสำรวจจริง (หน้า ๒๑ ย่อหน้าสุดท้าย, คำแปลหน้า ๒๗ ย่อหน้าสุดท้าย)
       ศาลเห็นในขั้นแรกว่า แผนที่ฯ ณ ขณะที่ทำขึ้นย่อมไม่ผูกพันไทยในทางกฎหมาย เพราะฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียวและไม่มีหลักฐานแสดงว่าคณะกรรมการผสมฯ ได้มอบหมายหรือรับรองการทำแผนที่ฯ. อย่างไรก็ดี ศาลเชื่อว่าแผนที่ฯถูกทำขึ้นโดยอาศัยการสำรวจบริเวณที่ปราสาทฯตั้งอยู่จริง และเมื่อไทยเป็นฝ่ายร้องขอให้ฝรั่งเศสทำขึ้น แผนที่ฯจึงมีลักษณะที่เป็นทางการ อีกทั้งเห็นว่าแผนที่ฯมีความน่าเชื่อถือในทางเทคนิคโดยชัดแจ้ง.
       ศาลเห็นว่าไทยได้ยินยอมและยอมรับแผนที่ฯ ในช่วง ค.ศ. ๑๙๐๘ - ๑๙๐๙ (หน้า ๒๒ - ๒๗, คำแปลหน้า ๒๘ - ๓๖)
       ศาลอธิบายต่อว่า ในเมื่อไทยยอมรับเองว่าแผนที่ฯไม่ใช่ผลจากการปักปันโดยคณะกรรมการผสมฯ ศาลจึงมองว่าการที่คณะกรรมการผสมฯ จะได้ปักปันพรมแดนและรับรองแผนที่ฯโดยถูกต้องหรือโดยมีอำนาจหรือไม่นั้น ย่อมไม่ใช่ประเด็นที่แท้จริง แต่ประเด็นพิจารณาที่สำคัญคือ ในที่สุดแล้วไทยและฝรั่งเศสในฐานะภาคีอนุสัญญาฯได้ถือเอา (adopt) แผนที่ฯ ให้เป็นผลจากการปักปันพรมแดนบริเวณปราสาทฯ (as representing the outcome of the work of delimitation) อันส่งผลให้แผนที่ฯมีสถานะทางกฎหมายหรือไม่? ศาลไม่เห็นด้วยกับข้อต่อสู้ของไทยว่า ไทยเพียงแต่แสดงท่าทีนิ่งเฉย (passive attitude) และไม่เคยเป็นฝ่ายยินยอม (consenting party) ให้เปลี่ยนแปลงเส้นสันปันน้ำตามอนุสัญญาฯ. ศาลพิจารณาถึงการประพฤติปฏิบัติระหว่างไทยและฝรั่งเศสเกี่ยวกับแผนที่ฯ ดังต่อไปนี้
       -                    ชุดแผนที่ทั้ง ๑๑ ฉบับ (หนึ่งในนั้นคือแผนที่ฯที่กัมพูชาอ้าง) ถูกนำไปเผยแพร่อย่างกว้างขวางกว่า ๑๖๐ ชุด ในหลายประเทศ;
       -                    อัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส ได้ทำหนังสือแจ้งรัฐบาลไทยโดยใช้ถ้อยคำว่า “สำหรับเรื่องเกี่ยวกับคณะกรรมการปักปันพรมแดนผสม (Mixed Commission - เอกพจน์) และคำขอของกรรมการฝ่ายไทยที่ขอให้กรรมการฝ่ายฝรั่งเศสทำแผนที่พรมแดนต่างๆ บัดนี้กรรมการฝ่ายฝรั่งเศสได้ทำแผนที่เสร็จแล้ว”
       -                    เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยและกรรมการฝ่ายไทยในคณะกรรมการผสมฯเองรับทราบถึงแผนที่ฯดังกล่าวโดยมิได้ทักท้วง อีกทั้งกรรมการฝ่ายไทยเองก็มิได้แสดงให้เห็นว่าแผนที่ฯมิได้เป็นไปตามการปักปันโดยคณะกรรมการผสมฯ;
       -                    หน้าแผนที่ฯปรากฏชื่อชัดว่า “ดงรัก - คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างอินโดจีนและสยาม” (Dangrek - Commission of Delimitation between Indo-China and Siam - โปรดสังเกตว่า Commission ทั้งในภาษาฝรั่งเศสตามแผนที่ฯและในภาษาอังกฤษตามคำพิพากษาล้วนเป็นคำเอกพจน์ ต่างจาก Commissions ซึ่งเป็นคำพหูพจน์ในอนุสัญญาฯ - ดูภาพแผนที่ฯได้ที่เว็บไซต์ผู้ย่อ); และ 
       -                    เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยได้ขอให้ฝรั่งเศสทำสำเนาแผนที่ฯเพิ่มเติมอีก ๑๕ ฉบับเพื่อนำไปแจกจ่ายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดของไทยต่อไป.
       ศาลพิจารณาว่าการประพฤติปฏิบัติเหล่านี้โดยที่ไทยรับแผนที่ฯโดยไม่ทักท้วง ไม่ว่าจะในเวลานั้นหรือต่อมาเป็นเวลาหลายปี กฎหมายถือว่าเข้าลักษณะการยินยอมจากการนิ่งเฉยในการที่ควรปฏิบัติ (held to have acquiesced) ศาลจึงเห็นว่าไทยได้ยอมรับ (accept) แผนที่ฯให้เป็นผลจากการปักปันพรมแดนบริเวณปราสาทฯแล้ว.
       ศาลกล่าวถึงข้อต่อสู้ของไทยที่ว่า ณ เวลาที่ได้รับแผนที่ฯมานั้น ไทยไม่ทราบเกี่ยวกับตัวปราสาทฯ จึงไม่ได้ใส่ใจเกี่ยวกับตัวปราสาทฯ ศาลพิจารณาว่าฟังไม่ขึ้นเพราะไทยได้ยอมรับเองว่าคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ค้นพบปราสาทฯอีกครั้งตั้งแต่ ค.ศ. ๑๘๙๙. ศาลกล่าวต่อว่า ไทยจะยกข้อต่อสู้ว่าไทยเข้าใจแผนที่ฯผิดไม่ได้ เพราะเส้นแผนที่ฯไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นชัดว่าปราสาทฯตั้งอยู่ในเขตกัมพูชา แต่ยังแสดงให้เห็นอีกว่าการลากเส้นมิได้เป็นไปตามตามแนวขอบหน้าผา แต่กลับลากเหนือขึ้นไปจากชะโงกผาที่ปราสาทฯตั้งอยู่อย่างชัดเจน. ศาลกล่าวว่าฝ่ายไทยย่อมต้องสงสัยได้ทันทีว่าแผนที่ฯแสดงเส้นตามแนวสันปันน้ำหรือไม่ แต่ไทยเองเป็นฝ่ายวางใจขอให้ฝรั่งเศสทำแผนที่ฯและรับมาโดยไม่ตรวจสอบ ดังนั้น เมื่อกฎหมายไม่อนุญาตให้ฝ่ายที่ผิดพลาดอ้างความผิดพลาดของตนเองมาลบล้างความยินยอม ข้อต่อสู้ของไทยเรื่องความเข้าใจผิดจึงฟังไม่ขึ้น.
       ศาลเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ ยืนยันว่าไทยเคยยอมรับแผนที่ฯ และไทยเสียสิทธิที่จะปฏิเสธ (หน้า ๒๗ - ๓๓, คำแปลหน้า หน้า ๓๖ - ๔๖) 
       ศาลพิจารณาการประพฤติปฏิบัติของไทยหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ ต่อไปนี้
       -                    ไทยไม่ยกประเด็นปราสาทฯขึ้นเจรจากับฝรั่งเศส แม้มีโอกาสในช่วงการเจรจาหนังสือสัญญาอื่นในปี ค.ศ. ๑๙๒๕ และ ๑๙๓๗ แต่ในทางกลับกัน ไทยและฝรั่งเศสกลับมีท่าทียืนยันพรมแดนที่ได้ตกลงไปแล้วเมื่อ ค.ศ. ๑๙๐๔;
       -                    ไทยได้สำรวจดินแดนบริเวณปราสาทฯด้วยตนเองช่วง ค.ศ. ๑๙๓๔ - ๑๙๓๕  จากนั้นใน ค.ศ. ๑๙๓๗  ไทยได้ทำแผนที่เพื่อใช้เองในประเทศ แต่แผนที่ฉบับดังกล่าวกลับระบุให้ปราสาทฯอยู่ในกัมพูชาโดยแผนที่มิได้อธิบายหรือสงวนข้อความประการใด;
       -                    ไทยอ้างว่าไทยได้ใช้อำนาจทางปกครองแสดงความมีอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทฯ แต่ศาลกล่าวในหน้า ๓๐ ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเพียงในระดับท้องถิ่นและภูมิภาคอันไม่ชัดเจนว่าเกี่ยวข้องกับยอดเขาพระวิหารและบริเวณปราสาทฯ (the summit of Mount Preah Vihear and the Temple area) หรือเป็นที่อื่นในบริเวณใกล้กัน (in the vicinity);
       -                    ไทยนำแผนที่อีกฉบับมาแสดงในระดับระหว่างประเทศเมื่อ ค.ศ. ๑๙๔๗ โดยแผนที่ฉบับดังกล่าวระบุให้ปราสาทฯอยู่ในกัมพูชา;
       -                    ผู้แทนประเทศไทยเคยใช้ถ้อยคำในการประชุมระดับระหว่างประเทศใน ค.ศ. ๑๙๕๘ ซึ่งถ้อยคำชี้ให้เห็นว่าไทยได้ปราสาทฯ กลับคืนมาเพียงแค่ช่วงหลัง ค.ศ. ๑๙๔๐ (สมัยที่ไทยเคยครอบครองดินแดนบางส่วนของกัมพูชาชั่วคราว) ซึ่งสอดคล้องกับเอกสารราชการไทยที่ใช้คำว่าได้ปราสาทฯ “กลับคืนมา” (retaken) แม้ไทยจะอ้างว่าพิมพ์ผิด; และ
       -                    ไทยมีท่าทีที่ไม่ชัดเจนเกี่ยวกับปราสาทฯเมื่อได้รับหนังสือสอบถามจากฝรั่งเศสและกัมพูชา จนกัมพูชานำคดีมาสู่ศาลในปี ค.ศ. ๑๙๕๙.
       นอกจากนี้ ศาลกล่าวถึงกรณีที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อดีตเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยซึ่ง ณ เวลานั้นเป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวกับโบราณสถาน ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ไทยให้เสด็จเยี่ยมปราสาทฯเมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๐ และเมื่อข้าหลวงฝรั่งเศสให้การต้อนรับพร้อมชักธงฝรั่งเศสเหนือปราสาทฯ ฝ่ายไทยกลับไม่ทักท้วงทั้งที่กรณีเสด็จเยี่ยมดังกล่าวมีลักษณะกึ่งทางการ. ศาลกล่าวต่อในหน้า ๓๑ (คำแปลหน้า ๔๒ - ๔๓) ว่า หากพิจารณาการเสด็จเยี่ยมปราสาทฯโดยรวม (taken as a whole) ดูได้ว่า (it appears) ไทยได้รับรองว่ากัมพูชามีอธิปไตยเหนือปราสาทฯโดยปริยาย (tacit recognition) และข้อที่น่าจะชัด (what seems clear) คือ ไทยไม่คิดว่าตนเป็นเจ้าของปราสาทฯ หรือไม่ (either…or) ไทยก็ยอมรับการอ้างสิทธิโดยฝรั่งเศส หรือไม่ไทยก็ยอมรับเส้นพรมแดนตามที่ปรากฏบนแผนที่ฯ อย่างใดอย่างหนึ่ง.
       ศาลพิจารณาการประพฤติปฏิบัติของไทยหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ เป็นต้นมา และสรุปในหน้า ๓๒ (คำแปลหน้า ๔๒ - ๔๓) ว่า ไม่ว่าไทยจะได้ยอมรับเส้นพรมแดนตามที่ปรากฏบนแผนที่ฯหรือไม่ ไทยย่อมเสียสิทธิ (precluded) ที่จะปฏิเสธการประพฤติปฏิบัติของตนที่ต่อเนื่องมาเป็นเวลา ๕๐ ปี. ศาลเห็นว่าไทยเองก็ได้อ้างและรับประโยชน์จากการมีพรมแดนที่มั่นคง (stable frontier) และไม่อาจปฏิเสธความยินยอมผูกพันของตนได้.
       จากนั้น ในย่อหน้าสุดท้ายของหน้า ๓๒ ไปถึงต้นหน้า ๓๓ (คำแปลหน้า ๔๕) ศาลได้กลับไปอาศัยสิ่งที่ศาลเคยกล่าวไว้เกี่ยวกับช่วง ค.ศ. ๑๙๐๘ - ๑๙๐๙ (หน้า ๒๗ - ๓๓ หรือคำแปลหน้า ๓๖ - ๔๖) เป็นเหตุผลสำคัญในการพิจารณา (The Court however considers) ว่า ด้วยเหตุที่ไทยได้ยอมรับ (accept) แผนที่ฯให้เป็นผลจากการปักปันพรมแดนบริเวณปราสาทฯนั้น ไทยย่อมได้รับรอง (recognized) เส้นตามแผนที่ฯว่าเป็นเส้นพรมแดน เหตุดังกล่าวจึงส่งผลให้ปราสาทฯตั้งอยู่ในอาณาเขตกัมพูชา. ศาลกล่าวเพิ่มว่าการประพฤติปฏิบัติของไทยต่อมาหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ เป็นข้อที่ยืนยันและสืบเนื่อง (confirms and bears out) จากการที่ไทยได้ยอมรับแผนที่ฯ ไปก่อนหน้านั้น.
       ศาลกล่าวต่ออีกว่า การที่ไทยอ้างว่าตนเข้าใจแผนที่ฯผิดนั้น ฟังไม่ขึ้นในสองระดับ. ในระดับแรกหากไทยเชื่อว่าเส้นบนแผนที่ฯคือเส้นสันปันน้ำจริง ไทยก็ย่อมต้องไม่เคยอ้างการกระทำใดๆในบริเวณปราสาทฯ เพราะเส้นตามแผนที่ฯแสดงชัดว่าปราสาทฯอยู่ในเขตกัมพูชา แต่เมื่อในคดีนี้ไทยกลับอ้างถึงการกระทำของไทยในบริเวณปราสาทฯ ข้อต่อสู้ที่ขัดแย้งกันเองของไทยจึงฟังไม่ขึ้น. ในระดับต่อมา แม้หากในหลักการ (in principle) ไทยจะอ้างได้ว่าเข้าใจผิดว่าจริง ไทยก็คงจะอ้างได้ถึงช่วงหลัง ค.ศ. ๑๙๓๔ - ๑๙๓๕ ซึ่งเป็นตอนที่ไทยได้ทำการสำรวจดินแดนบริเวณปราสาทฯด้วยตนเอง แต่จะนำมาอ้างต่อศาลในบัดนี้ไม่ได้ (กัมพูชาฟ้องคดีนี้เมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๙).
       ศาลอธิบายว่าแผนที่ฯ ไม่ขัดกับอนุสัญญาฯ (หน้า ๓๓ - ๓๕, คำแปลหน้า หน้า ๔๗ - ๕๐, ดูประกอบกับหน้า ๑๖ - ๑๗, คำแปลหน้า ๑๙ - ๒๐) 
       ศาลเห็นว่าศาลจำเป็นต้องอธิบาย (finds it necessary to deal) เกี่ยวกับอนุสัญญาฯและแผนที่ฯว่า ไม่ว่าแผนที่ฯจะลากเส้นตรงกับเส้นสันปันน้ำตามที่อนุสัญญาฯ ข้อ ๑. กำหนดไว้หรือไม่ แผนที่ฯก็ไม่ขัดต่ออนุสัญญาฯ เพราะไทยและฝรั่งเศสได้ถือเอาการตีความ (adopted an interpretation) ว่าแผนที่ฯคือผลของการปักปันเขตแดนตามอนุสัญญาฯ ข้อ ๓. ดังนั้น แผนที่ฯจึงเข้าสู่ความตกลง (enter the treaty settlement) และกลายมาเป็นส่วนเดียวกัน (integral part) กับอนุสัญญาฯ และส่งผลให้เส้นตามแผนที่ฯมีสถานะสูงกว่า (prevails) ข้อกำหนดเรื่องสันปันน้ำ.
       ศาลกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้หากศาลจะต้องพิจารณาคดีโดยอาศัยการตีความสนธิสัญญาโดยปกติ (solely of ordinary treaty interpretation) ศาลก็สามารถตีความโดยพิจารณาวัตถุประสงค์สำคัญ (primary object) ของอนุสัญญาฯ ซึ่งวิธีนี้ก็จะทำให้ศาลได้ข้อสรุปเดียวกันกับการตีความแบบแรก. ศาลอธิบายว่าวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของไทยและฝรั่งเศสในช่วง ค.ศ. ๑๙๐๔ - ๑๙๐๙ ก็คือการตกลงเรื่องพรมเแดนให้มั่นคงแน่นอนและเป็นที่ยุติ (stability, certainty and finality) ดังจะเห็นได้ว่าการทำข้อตกลงเรื่องพรมแดนนั้น ไทยและฝรั่งเศสจะตกลงว่าให้ใช้สันปันน้ำกำหนดพรมแดนเพียงขั้นตอนเดียวเท่านั้นก็ย่อมทำได้ แต่เมื่อไทยและฝรั่งเศสกลับตกลงให้มีคณะกรรมการผสมฯเป็นผู้ปักปันพรมแดนอีกขั้นตอน แสดงว่าไทยและฝรั่งเศสมองว่าสันปันน้ำมีความไม่ชัดเจน. ศาลอธิบายต่ออีกว่า ประเด็นการตกลงเรื่องพรมเแดนในช่วง ค.ศ. ๑๙๐๔ - ๑๙๐๙ ได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศสมีปัญหากระทบกระทั่งและนำมาสู่ “ความตึงเครียดที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ”. ศาลอธิบายว่าหากปล่อยให้เส้นพรมแดนไม่ชัดเจนแล้ว นอกจากจะทำให้เกิดกระบวนการโต้แย้งกันที่ไม่จบสิ้น ยังจะทำให้เกิดสถานการณ์สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่ง.
       ศาลอธิบายต่อว่า วัตถุประสงค์สำคัญดังกล่าวยังเห็นได้จากเจรจาหนังสือสัญญาใน ค.ศ. ๑๙๐๗, ค.ศ ๑๙๒๕ และ ค.ศ. ๑๙๓๗ ซึ่งไทยและฝรั่งเศสต่างให้ความสำคัญต่อการตกลงเรื่องพรมแดนให้เป็นที่ยุติ. ศาลมองว่าการที่อนุสัญญาฯ ข้อ ๑. กล่าวถึงสันปันน้ำไว้ ก็เพื่อความสะดวกในการอธิบายบริเวณพรมแดนที่ต้องการให้มีการปักปันเท่านั้น อีกทั้งศาลก็ไม่พบหลักฐานว่าไทยและฝรั่งเศสให้ความสำคัญพิเศษกับสันปันน้ำแต่อย่างใด.
       ดังนั้น เมื่อแผนที่ฯสามารถทำให้การปักปันพรมแดนแน่นอนและเป็นที่ยุติ ศาลจึงตีความว่าไทยและฝรั่งเศสได้ยอมรับแผนที่ฯเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์สำคัญของอนุสัญญาฯดังกล่าว และไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาว่าเส้นแผนที่ฯเป็นไปตามเส้นสันปันน้ำที่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร.
       ศาลย้ำกรอบคำพิพากษา (หน้า ๓๖; คำแปลหน้า ๕๐ - ๕๑) 
       ศาลย้ำสิ่งที่ศาลได้กล่าวไว้แล้วในหน้า ๑๔ ว่า การที่กัมพูชาขอให้ศาลวินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของแผนที่ฯและเส้นพรมแดนนั้น ศาลเพียงรับฟังในฐานะเหตุผล (grounds) ประกอบการวินิจฉัยคดีเท่านั้น มิใช่ในฐานะประเด็นพิพาท (claims) ที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา. ส่วนเรื่องที่กัมพูชาขอให้วินิจฉัยว่าไทยต้องคืนบรรดาวัตถุที่นำออกไปจากปราสาทฯนั้น ถือเป็นส่วนหนึ่งของประเด็นอธิปไตยเหนือปราสาทฯ ศาลจึงรับมาวินิจฉัยได้.
       บทปฏิบัติการของคำพิพากษา (หน้า ๓๖ - ๓๗; คำแปลหน้า ๕๑ - ๕๒) 
       ศาลโดยมติข้างมากจึงวินิจฉัยว่า
       (๑) ปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตใต้อธิปไตยของกัมพูชา; และจากเหตุดังกล่าว (in consequence)
       (๒) ไทยจึงต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทฯหรือบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ (in its vicinity) บนอาณาเขตของกัมพูชา; และ
       (๓) ไทยจึงต้องคืนบรรดาวัตถุที่นำออกไปจากปราสาทฯ หรือบริเวณปราสาทฯ (the Temple area) ตามที่กัมพูชาสามารถระบุได้.
        
       หมายเหตุท้ายคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร
       คำพิพากษาอาจเป็นที่สิ้นสุดในทางกฎหมาย แต่ความชอบธรรมนั้นใคร่ครวญได้ไม่สิ้นกาลเวลา
       A judgment may be final in law; its legitimacy is another matter in time.
        
       การอ่านคำพิพากษาที่แยบยล เช่น คดีปราสาทพระวิหาร ควรอ่านเชิงวิเคราะห์โดยประมวลใจความคำพิพากษาทั้งฉบับ มิเพียงเรียงบรรทัดแต่พึงถอดรหัส. บทย่อและหมายเหตุคำพิพากษา (ซึ่งควรอ่านประกอบกัน) ทำขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านเห็นเหตุผลโดยรวมของมติเสียงข้างมากอันเป็นเพียงแค่ข้อพิจารณาหลักส่วนหนึ่ง แต่การศึกษาคำพิพากษาให้สมบูรณ์นั้นอย่างน้อยต้องพิจารณาทั้งบรรทัดที่ปรากฏและไม่ปรากฏ ทั้งจากคำพิพากษา ความเห็นผู้พิพากษา บันทึกกระบวนการพิจารณาและคำคู่ความ.
       แม้คำพิพากษาจะมีอายุเกือบครึ่งศตวรรษและมีคำแปลภาษาไทยพอให้ศึกษา แต่ก็ยังมีผู้กล่าวอ้างถึงเนื้อหาของคำพิพากษาแตกต่างกันไปหลายทาง บ้างก็ว่าศาลได้ตัดสินว่าไทยต้องยอมรับผูกพันตามแผนที่ภาคผนวก ๑ ที่กัมพูชานำมาอ้าง ไทยจึงสมควรยอมรับเส้นเขตแดนในแผนที่ฯตามที่กัมพูชาเรียกร้อง บ้างก็ว่าคำพิพากษาตัดสินเฉพาะตัวปราสาทฯเท่านั้น บ้างก็ว่าปราสาทฯยังเป็นของไทยและไทยมีสิทธิเอาคืนมาได้ บ้างก็ว่าไทยถูกกฎหมายปิดปากเพราะปฏิบัติยอมรับแผนที่ฯเองตลอด ๕๐ กว่าปีและจะมาปฏิเสธแผนที่ฯในวันนี้ไม่ได้ ฯลฯ เกรงว่าคำกล่าวทั้งหลายนี้อาจทำให้เกิดความสับสน จึงทำหมายเหตุท้ายคำพิพากษาดังต่อไปนี้.
       ๑.     เรื่องตัวปราสาทพระวิหาร
       ตัวปราสาทฯเป็นของกัมพูชาตามคำพิพากษา แม้ไทยจะไม่เห็นด้วยแต่ในฐานะอารยประเทศผู้มีสัจจะและเคารพกฎหมาย ไทยก็เคารพคำพิพากษาและปฏิบัติตามโดยดี. ประชาชนคนไทยควรจะภาคภูมิใจ เพราะยังมีประเทศมหาอำนาจในโลกที่เรียกตนว่าเป็นผู้นำแต่เมื่อศาลโลกพิพากษาไม่ตรงความคาดหวัง ก็กลับเมินเฉยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา. ส่วนที่มีผู้กล่าวว่าไทยสงวนสิทธิเอาปราสาทฯคืนมาได้นั้น ย่อมกระทำได้และควรกระทำอย่างแยบยล การสงวนสิทธิในทางกฎหมายระหว่างประเทศไม่ใช่แค่เรื่องการขอให้ศาลทบทวนคำพิพากษาหรืออายุความเพียงอย่างเดียว แต่สามารถสงวนอย่างทั่วไป ต่อเนื่อง และไม่มีระยะเวลาจำกัด หลายประเทศในโลกที่เชี่ยวชาญกฎหมายระหว่างประเทศไม่เพียงแต่นิยมสงวนสิทธิเท่านั้น แต่กลับประท้วงปฏิเสธอย่างเอิกเกริกจนเกิดคำศัพท์ที่มีนัยสำคัญว่า “persistent objector” (ซึ่งล้วนมีบริบทแตกต่างกันไป). แม้จะไม่มีหลักประกันใดว่าการสงวนสิทธิจะก่อให้เกิดสิทธิ ฉันใดก็ฉันนั้น รัฐย่อมพึงระวังสงวนสิทธิไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการรักษาผลประโยชน์ในอนาคตอย่างแยบยล หากแต่มิใช่เป็นเงื่อนไขที่ขัดขวางโอกาสสร้างประโยชน์ร่วมกันในปัจจุบัน.
       ๒.   เรื่องบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ
       บริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯเป็นของกัมพูชาตามคำพิพากษา แต่ศาลมิได้ระบุให้แน่ชัดว่า “บริเวณใกล้เคียง” (in the vicinity) ดังกล่าวมีความหมายว่าอย่างไร. ไทยเองเคยทำรั้วรอบปราสาทฯเพราะเห็นว่า “บริเวณใกล้เคียง” ดังกล่าวมีอยู่จำกัดและไม่รวมถึงพื้นที่บนยอดเขาพระวิหารทั้งหมด ซึ่งกัมพูชาไม่เห็นด้วย. ในเดือนเมษายน ๒๕๕๔ กัมพูชาได้ขอให้ศาลตีความคำพิพากษาและแม้อาจจะหวังผลในเรื่องเกี่ยวกับ “บริเวณใกล้เคียง” แต่ใจความสำคัญของคำร้องขอ (Application) ของกัมพูชากลับมิได้ขอให้ศาลตีความคำว่า “บริเวณใกล้เคียง” โดยตรง แต่เป็นการพยายามขอให้ศาลตีความอย่างกว้างไปในทางว่า “บริเวณใกล้เคียง” ดังกล่าวย่อมต้องพิจารณาตามแผนที่ฯ. สุดท้ายแล้วศาลจะรับตีความหรือไม่อย่างไรย่อมขึ้นอยู่กับข้อพิจารณาสำคัญหลายประการซึ่งเมื่อคดียังไม่เสร็จสิ้นก็มิควรจะกล่าวไว้อย่างละเอียดในที่นี้ อย่างไรก็ดี หากเราต้องการทราบในเบื้องต้นว่า “บริเวณใกล้เคียง” นั้นศาลอาจหมายความว่าอย่างไร เราสามารถ “ถอดรหัส” ถ้อยคำในคำพิพากษาได้ดังต่อไปนี้.
       (๑.)      ผู้คนทั่วไปมักพยายามหาคำตอบโดยแปลถ้อยคำว่า “in the vicinity” ที่ศาลกล่าวไว้ในบทปฏิบัติการท้ายคำพิพากษาในหน้า ๓๗ (คำพิพากษาฉบับฝรั่งเศสใช้คำว่า “dans ses environs” ซึ่งต้องพิจารณาประกอบฉบับภาษาอังกฤษที่ศาลยึดเป็นหลักในคดีนี้) แต่คำดังกล่าวทั้งในภาษาอังกฤษและฝรั่งเศสก็แปลทั่วไปได้ว่า “บริเวณใกล้เคียง” หรือ “บริเวณรอบๆ” ตัวปราสาทฯ. หากเราอาศัยการเทียบเคียงคำว่า “vicinity” ในจุดอื่นของคำพิพากษา เช่น ในหน้า ๒๑ หรือ ๓๕ ก็จะพบว่าศาลใช้อย่างกว้างๆเพื่อกล่าวถึง “บริเวณเดียวกัน”. เช่นเดียวกับคำว่า “region” ก็ถูกนำมาใช้หลายครั้งซึ่งมิอาจตีความเทียบกับบริบทของบริเวณรอบปราสาทฯได้โดยชัดได้. ที่สำคัญ ศาลใช้คำว่า “vicinity” ในหน้า ๓๐ เพื่ออธิบายถึงละแวกอื่นที่ไม่ได้อยู่บริเวณเดียวกับตัวปราสาทหรือยอดเขาพระวิหาร ดังนั้น “vicinity” ในหน้า ๓๐ ดังกล่าวจึงมิอาจนำมาเทียบเคียงกับ “vicinity” ในบทปฏิบัติการณ์ในหน้า ๓๗ ได้. คำว่า “vicinity” จึงมีความหมายที่ไม่แน่นอนในตัวเอง.  
       (๒.)    แท้จริงแล้วคำรหัสที่อาจสำคัญมากกว่าคำว่า “vicinity” กลับเป็นคำที่ปรากฏอยู่ในย่อหน้าแรกของคำพิพากษาหลังที่ศาลได้ทบทวนคำแถลงสรุปของไทยและกัมพูชา นั่นก็คือถ้อยคำว่า “and its precincts” ในหน้า ๑๔ ซึ่งศาลทวนข้อสรุปของศาลเองที่สรุปไว้ว่า กัมพูชากล่าวอ้างว่าไทยได้ละเมิด “อำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหารและเขตที่เกี่ยวข้อง” (sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its precincts). คำว่า “precincts” ที่ปรากฏในคำพิพากษานี้แปลอย่างเป็นกลางได้ว่า “เขตที่เกี่ยวข้อง” แต่มีนัยที่สำคัญยิ่งกว่านั้นอย่างน้อยสี่ระดับ.
       (ก.)       นัยระดับแรก คำว่า  “precincts” นั้นเป็นศัพท์ที่เข้ารหัสเฉพาะได้หลายทาง. หากถอดรหัสตามนัยรัฐศาสตร์ คำนี้หมายถึงเขตการปกครองหรือเขตบริหารที่แบ่งตามพื้นที่ เช่น ในเมืองแห่งหนึ่งอาจมี เขตสถานีตำรวจ หรือ เขตเลือกตั้ง แบ่งออกเป็นเขต (precincts) ต่างๆ. แต่หากถอดรหัสตามนัยศาสนาหรือโบราณคดีแล้ว จะแปลว่าบริเวณทั้งหลายที่ถือรวมเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่เดียวกัน เช่น เราอาจเรียก เจดีย์ อุโบสถ ศาลาและลานวัดทั้งหลายที่ตั้งอยู่ในกำแพงวัด ว่าเป็น precincts ของวัด โดยการใช้ลักษณะนี้มักใช้รูปพหูพจน์. การถอดรหัสคำว่า precincts ในคำพิพากษาต้องแปลจากบริบทที่ศาลกล่าวว่า “sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its precincts”. คำถามคือศาลอธิบายถึง precincts ของ “region” (บริเวณ) หรือ ของ “Temple” (ตัวปราสาทฯ) เพราะหากเป็นกรณี “Temple” เราอาจตีความได้ว่าศาลกำลังพูดถึงบริเวณบันไดนาค โคปุระ บ่อน้ำ หรือรอยกำแพงรอบๆตัวปราสาทฯที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทพระวิหารเท่านั้น. แต่หากมองว่าศาลกำลังพูดถึง “region” ก็อาจมีผู้มองว่าศาลกำลังกล่าวถึงเขตการบริหารปกครองต่างๆ ที่กัมพูชาอาจแบ่งได้ในบริเวณเขาพระวิหารหรือไม่. การตีความโดยเน้นที่ “region” นี้อาจรับฟังได้ยาก เพราะศาลกล่าวถึงคำว่า precincts เป็นพหูพจน์ ยากที่จะฟังว่ากัมพูชาจะแบ่งเขตในพื้นที่รอบปราสาทฯเป็นหลายเขต. อีกทั้งในคำพิพากษาฉบับภาษาฝรั่งเศสศาลยังได้ใช้คำว่า “environs” ซึ่งจะได้กล่าวถึงต่อไป.
       (ข.)       นัยระดับที่สอง วิธีที่ศาลกล่าวถึงคำว่า precincts นี้สื่อรหัสพิเศษ เพราะในย่อหน้าแรกศาลใช้คำนี้โดยการยกถ้อยคำ (quote) มาจากคำพิพากษาอีกฉบับในคดีเดียวกัน นั่นคือคำพิพากษาเรื่องเขตอำนาจ (jurisdiction) ลงวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ค.ศ ๑๙๖๑ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าศาลมีอำนาจรับคดีปราสาทพระวิหารไว้พิจารณาในขั้นเนื้อหาต่อไปได้ (ซึ่งประมาณเกือบ ๑ ปีต่อมาศาลก็ได้ทำคำพิพากษาอีกฉบับในขั้นเนื้อหาที่ถูกกล่าวถึงในหมายเหตุฉบับนี้).  วิธีการกล่าวของศาลมีนัยพิเศษเพราะ ในย่อหน้าแรกศาลยกถ้อยความมาอ้างว่า กัมพูชากล่าวอ้างว่าไทยได้ละเมิด “อำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหารและเขตที่เกี่ยวข้อง” (sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear and its precincts) แต่ย่อหน้าถัดมาในหน้าเดียวกัน ศาลได้อธิบายย้ำถึงกรอบของคดีโดยใช้ถ้อยคำซ้ำดังเดิม แต่ละคำว่า “precincts” ออกไป กล่าวคือศาลกล่าวว่า ประเด็นแห่งคดีนี้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่อง “อำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร” (sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear). การที่กล่าวถึงคำว่า “precincts” ในตอนแรกและละคำทิ้งในย่อหน้าถัดมาจะตีความอย่างไรนั้น มองได้หลายทาง. อย่างไรก็ดี หากคำว่า “precincts” ไม่ได้เป็นคำที่คำว่า “ปราสาทพระวิหาร” กินความถึงอยู่แล้ว ก็แสดงว่าศาลเผลอยกข้อความขัดกันเองโดยมิได้อธิบายไว้ หรืออาจผิดพลาดพิมพ์ตกไป ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงความละเอียดของศาลแล้ว มิน่าเป็นเช่นนั้น. เหตุที่เป็นไปได้ข้อหนึ่ง ก็คือศาลละคำว่า “precincts” เพราะคำว่า “the region of the Temple of Preah Vihear” ชัดเจนพอแล้ว จึงไม่ต้องกล่าวซ้ำ ซึ่งย่อมหมายความว่า “precincts” คือบริเวณในทางโบราณคดีที่เป็นส่วนหนึ่งของปราสาทฯนั่นเอง.
       (ค.)       นัยระดับที่สาม การที่ศาลอ้างถึง “precincts” และละคำนี้จากประโยคที่ซ้ำกันในย่อหน้าถัดไปนั้น สมควรต้องอ่านรหัสควบคู่ไปกับสิ่งที่ศาลกล่าวต่อมาในหน้าถัดไป โดยในหน้า ๑๕ ศาลกล่าวสรุปว่า ศาลปฏิเสธที่จะนำข้อต่อสู้เชิงประวัติศาสตร์ ศาสนาและโบราณคดีมาประกอบการพิจารณาคดี. การกล่าวเช่นนี้ตีความได้หลายทาง ทางหนึ่งคือเป็นเครื่องยืนยันว่า “precincts” ถูกกล่าวถึงในบริบทเชิงศาสนาและโบราณคดี (แต่เมื่อศาลเลือกละคำๆนี้ออก ย่อมมีทางตีความที่แตกต่างกันไปได้อีก).
       (ง.)        นัยระดับที่สี่ คำว่า “precincts” ในหน้าที่ ๑๔ นี้ ศาลใช้คำภาษาฝรั่งเศสว่า “environs” ซึ่งก็เป็นคำแปลคำเดียวกันกับคำว่า “vicinity” ในบทปฏิบัติการหน้า ๓๗. แม้คำพิพากษาจะกำหนดให้ใช้ฉบับภาษาอังกฤษเป็นหลักก็ตาม แต่การเลือกคำแปลเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ผู้พิพากษาและนักกฎหมายที่ดีทุกคนต่างตระหนัก หากหน้าที่แพทย์คือการจับชีพจร หน้าที่ของนักกฎหมายก็คือการจับถ้อยคำ และผู้ทำหมายเหตุก็มิได้คิดว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องบังเอิญที่มีการใช้คำแปลฝรั่งเศสตรงกัน.
       (๓.)     นอกจากการถอดรหัสเรื่องคำว่า “vicinity” โดยอาศัยคำว่า “precincts ข้างต้นแล้ว การถอดรหัสคำว่า “vicinity” ย่อมทำได้โดยการตีความจากบริบทโดยรวมของบทปฏิบัติการทั้งสามข้อในหน้า ๓๖ - ๓๗. สมควรจะกล่าวทบทวนถ้อยคำที่ศาลใช้มีใจความดังนี้
       (๑) ศาลเห็นว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่ในอาณาเขตใต้อธิปไตยของกัมพูชา; และจากเหตุดังกล่าว (in consequence)
       (๒) ไทยจึงต้องถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทฯหรือในบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ (in its vicinity) บนอาณาเขตของกัมพูชา (on Cambodian territory); และ
       (๓) ไทยจึงต้องคืนบรรดาวัตถุที่นำออกไปจากปราสาทฯ หรือบริเวณปราสาทฯ (the Temple area) ตามที่กัมพูชาสามารถระบุได้.
       เราจะเห็นว่าบทปฏิบัติการข้อแรกมุ่งไปที่ตัวปราสาทฯอย่างเดียว คำที่เป็นปัญหาคือคำว่า “vicinity” ในข้อที่ ๒ นั้น สามารถถอดรหัสโดยการอ่านรหัสควบคู่กับคำว่า “in consequence” และ”Temple area”. ในทางหนึ่งกล่าวได้ว่าการที่ศาลใช้คำว่า “vicinity” ในข้อ ๒ และใช้คำว่า “Temple area” ในข้อ ๓ ทั้งที่ก็เป็นเรื่องผลที่ตามมาจากข้อ ๑ เหมือนกันแสดงให้เห็นว่าในบริบทโดยรวมศาลก็หมายถึง บริเวณที่ใกล้ชิดหรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวปราสาทฯ (precincts). ยิ่งไปกว่านั้น คำว่า “in consequence” สื่อให้เห็นว่าการที่ไทยต้องถอนเจ้าหน้าที่ออกจากปราสาทฯหรือในบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯเป็นผลที่ตามมา หมายความว่าศาลกำลังเน้นไปที่เหตุเกี่ยวกับตัวปราสาทฯเป็นสำคัญ. ถามว่าอะไรคือสาระสำคัญของตัวปราสาทฯที่ทำให้ไทยต้องถอนเจ้าหน้าที่ออกจากบริเวณใกล้เคียงตัวปราสาทฯ ตอบได้หลายอย่าง แต่วิธีตอบวิธีหนึ่งคือการกลับไปอ่านรหัสถ้อยคำของศาลในหน้า ๑๕ ที่อธิบายเกี่ยวกับปราสาทฯไว้ว่า ในปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๐๕) ปราสาทฯยังคงถูกใช้เป็นที่สำหรับ “การจาริกแสวงบุญ” (is still used as a place of pilgrimage). เมื่อปราสาทฯเป็นของกัมพูชาและศาลเชื่อว่าชาวกัมพูชาหรือผู้ใดยังเดินทางไปจาริกแสวงบุญได้ หากไทยจะส่งกองทหารหรือตำรวจไปยืนประชิดสถานที่จาริกแสวงบุญดังกล่าว ก็คงเป็นผล (consequence) ที่มิเหมาะสมนัก. การถอดรหัสคำว่า vicinity ลักษณะนี้จึงเป็นการเน้นเพื่อมิให้ไทยแทรกแซงหรือก่อกวนการใช้ปราสาทฯจากบริเวณใกล้เคียง มิได้หมายถึงบริเวณอื่นรอบๆ หรือตามแผนที่ฯแต่อย่างใด.
       (๔.)     คำรหัสสำคัญอีกคำหนึ่งที่ควรเน้นถึงก็คือคำว่า “บริเวณปราสาทฯ” (Temple area) ซึ่งมิได้ปรากฏอยู่แต่ในบทปฏิบัติการข้อ ๓. เท่านั้น แต่เป็นคำที่ศาลใช้บ่อย เช่นในหน้า ๑๕, ๑๗, ๑๙, ๒๑, ๒๒, ๒๙, ๓๐, ๓๓ และ ๓๖. หากเราเทียบเคียงจากบริบทในบทปฏิบัติการว่า “Temple area” ต้องเป็นบริเวณที่มีโบราณวัตถุที่สามารถถูกเคลื่อนย้ายได้ ก็ย่อมสนับสนุนการตีความว่า “Temple area” นั้นต้องหมายถึง “precincts” ในเชิงศาสนาและโบราณคดีเท่านั้น และไม่สามารถรวมไปถึงบริเวณพื้นที่รอบๆตัวปราสาทอย่างอื่นได้. ข้อสรุปนี้จะสำคัญพิเศษหากพิจารณาถึงคำว่า “Temple area” ที่ศาลใช้ในหน้า ๑๗ ซึ่งตีความได้ว่าศาลต้องการจำกัดประเด็นพื้นที่ให้อยู่เฉพาะสิ่งที่ถือเป็นส่วนหนึ่งของปราสาทฯเท่านั้น.
       (๕.)     นอกจากนี้ หากเราพิจารณาบริบทโดยรวมของคำพิพากษา เราจะเห็นว่าศาลเขียนคำพิพากษาด้วยความระมัดระวังอย่างยิ่งว่าศาลไม่ได้วินิจฉัยเรื่องเรื่องเส้นพรมแดนและแผนที่ฯแต่อย่างใด (หัวข้อนี้จะอธิบายต่อไปในหมายเหตุฉบับนี้) ซึ่งย่อมสอดคล้องกับแนวการตีความคำว่า “vicinity” ว่ามิอาจรวมไปถึงบริเวณอื่นๆโดยกว้างได้.
       (๖.)      จากรหัสที่ถอดมาข้างต้น อาจสรุปได้ว่า คำว่า “บริเวณใกล้เคียง” (vicinity) สามารถตีความเทียบเคียงได้กับ “precincts” หรือ “Temple area” ซึ่งย่อมส่งผลให้คำพิพากษาจำกัดพื้นที่ของกัมพูชาว่าได้แก่บริเวณที่ถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของตัวปราสาทฯเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงก็คงต้องฟังนักโบราณคดีของแต่ละฝ่ายอธิบายว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นอย่างไร. อนึ่ง ด้วยเวลาอันจำกัด ผู้ทำหมายเหตุได้เลือกกล่าวถึงเฉพาะรหัสที่ปรากฏให้เห็นชัดบางรหัส สิ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงข้อพิจารณาส่วนหนึ่งที่ยังถกเถียงได้ อีกทั้งยังมีวิธีการอื่นบางวิธีที่กัมพูชาเองก็อาจนำมาใช้ถอดรหัสเพื่อตีความไปอีกทาง แต่ผู้ทำหมายเหตุพึงเก็บไว้กล่าวภายหลังคดีสิ้นสุด. ในฐานะผู้ที่พอมีประสบการณ์ช่วยทำคดีในศาลโลก ไม่เป็นที่สงสัยว่าบรรดานักกฎหมายทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างได้ศึกษาคำเหล่านี้แล้ว อีกทั้งถ้อยคำอื่นๆ ทั้งในเชิงศัพทมูลวิทยา อัครวิเคราะห์ บริบทวิเคราะห์ ทั้งในคำพิพากษาฉบับอังกฤษและฝรั่งเศสและคำคู่ความทั้งฉบับอักษรและวาจา ประกอบกับการประพฤติปฏิบัติของคู่พิพาท แนวการวินิจฉัย และหลักการตีความอื่นซึ่งมีอีกหลายวิธี. สมควรเน้นเพิ่มว่า ไม่ว่าคู่พิพาทในคดีจะสงวนชั้นเชิงและท่าทีตามความจำเป็นอย่างไร แต่สำหรับผู้ที่มีใจเป็นธรรมและเชื่อมั่นในระบบยุติธรรมนั้น สิ่งที่ไม่ควรหลีกหนีก็คือความจริง.
       ๓.    เรื่องเส้นพรมแดนและแผนที่ฯ
       ขอกล่าวให้ชัดว่าเรื่องเดียวที่ศาลวินิจฉัย (adjudge) คือเรื่องบริเวณตัวปราสาทฯ ศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าแผนที่ฯผูกพันไทยหรือไม่ และศาลไม่ได้วินิจฉัยว่าเส้นพรมแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาคือเส้นใด ที่สำคัญ ศาลไม่ได้อาศัยแผนที่ฯเป็นเหตุผลหลักในการวินิจฉัยคดี. มักมีผู้เข้าใจผิดว่าแผนที่ฯคือเหตุผลหลักที่ศาลใช้วินิจฉัยว่าปราสาทฯและบริเวณใกล้เคียงเป็นของกัมพูชา เกรงว่าเหตุผลสำคัญที่ศาลใช้ก็คืออนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๐๔ ที่ไทยตกลงเขตแดนกับฝรั่งเศส (ศาลเพียงตีความอนุสัญญาฯโดยอาศัยแผนที่ฯ - ชอบธรรมหรือไม่จะได้กล่าวต่อไป) แผนที่ฯจึงไม่ใช่ประเด็นที่ศาลวินิจฉัยและไม่ใช่เหตุผลโดยตัวเอง (per se) ที่ศาลใช้วินิจฉัยคดี ดังนั้น สาระสำคัญของคำพิพากษาไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมมิได้เป็นเรื่องแผนที่ฯ เส้นพรมแดนตามแผนที่ฯที่กัมพูชาอ้างจึงไม่ผูกพันไทยโดยผลของคำพิพากษา. ข้อสรุปดังกล่าวถอดรหัสอธิบายได้ดังนี้.
       (๑.)      ช่วงต้นของคำพิพากษาในหน้า ๑๔ ย่อหน้าสุดท้าย ศาลตีกรอบว่าประเด็นพิพาทแห่งคดีจำกัดอยู่เฉพาะ (confined to) เรื่อง “อำนาจอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทพระวิหาร” (sovereignty over the region of the Temple of Preah Vihear) และกล่าวต่อว่าศาลจะพิจารณาแผนที่และข้ออ้างที่เกี่ยวเนื่อง (ซึ่งย่อมหมายถึงเรื่องเส้นพรมแดน) เพียงเท่าที่จำเป็นต่อการหาเหตุผล (reasons) มาวินิจฉัยประเด็นพิพาทแห่งคดี (settle the sole dispute) ที่จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องอำนาจอธิปไตยเหนืออาณาบริเวณปราสาทพระวิหารประเด็นเดียวเท่านั้น.
       (๒.)    ศาลอธิบายข้อกฎหมายในหน้า ๑๖ - ๑๗ ว่า การวินิจฉัยคดีย่อมเป็นไปตาม (depends upon) อนุสัญญาฯ แต่เมื่ออนุสัญญาฯ มิได้ระบุถึงปราสาทฯไว้ ศาลจึงมีความจำเป็นต้องตรวจสอบ (examine) ว่าเส้นพรมแดน (frontier line) คือเส้นใด เพื่อศาลสามารถพิจารณาวินิจฉัย (give a decision) ได้ว่ากัมพูชาหรือไทยมีอธิปไตยเหนือบริเวณปราสาทฯ (the Temple area).
       (๓.)     ในหน้า ๒๑ ศาลกล่าวว่าแผนที่ฯ ณ ขณะที่ทำขึ้นย่อมไม่ผูกพันไทยในทางกฎหมาย เพราะฝรั่งเศสทำขึ้นฝ่ายเดียวและไม่มีหลักฐานแสดงว่าคณะกรรมการผสมฯ ได้มอบหมายหรือรับรองการทำแผนที่ฯ.
       (๔.)     จากนั้นในหน้า ๒๒-๓๓ ศาลจึงตั้งประเด็นการพิจารณา (ไม่ใช่ประเด็นคดีที่ศาลวินิจฉัย) คือ ไทยและฝรั่งเศสได้ถือให้แผนที่ฯเป็นผลจากการปักปันพรมแดนบริเวณปราสาทฯ (as representing the outcome of the work of delimitation) ตามที่อนุสัญญาฯข้อ ๓ กำหนดไว้หรือไม่ ศาลพิจารณาการประพฤติปฏิบัติต่างๆของไทยและเห็นว่าไทยได้ยอมรับให้เส้นแผนที่ฯ เป็นผลการปักปันตามอนุสัญญาฯ ข้อ ๓ แล้ว.
       (๕.)     แต่ทั้งนี้ ในหน้า ๓๓ - ๓๕ ศาลกล่าวว่ามีความจำเป็นต้องอธิบายข้อกฎหมายว่าแผนที่ฯได้เข้าสู่ความตกลง (enter the treaty settlement) และกลายมาเป็นส่วนเดียวกัน (integral part) กับอนุสัญญาฯ และส่งผลให้เส้นแผนที่ฯมีสถานะสูงกว่า (prevails) ข้อกำหนดเรื่องสันปันน้ำ. ศาลย้ำอีกครั้งว่าเรื่องเกี่ยวกับแผนที่ฯนั้น ศาลพิจารณาในลักษณะการตีความอนุสัญญาฯ (as a matter of treaty interpretation).
       (๖.)      ช่วงท้ายของคำพิพากษาในหน้า ๓๖ ศาลย้ำสิ่งที่กล่าวไว้แล้วในหน้า ๑๔ ว่า การที่กัมพูชาขอให้ศาลวินิจฉัยสถานะทางกฎหมายของแผนที่ฯและเส้นพรมแดนนั้น ศาลเพียงรับฟังในฐานะเหตุผล (grounds) ประกอบการวินิจฉัยคดีเท่านั้น มิใช่ในฐานะประเด็นพิพาท (claims) ที่ศาลจะต้องวินิจฉัยในบทปฏิบัติการของคำพิพากษา.
       ๔.    อนุสัญญาฯและแผนที่ฯ อาจพิจารณาด้วยกันแต่ไม่ใช่สิ่งเดียวกันในทางกฎหมายระหว่างประเทศ
       คำอธิบายเรื่อง อนุสัญญาฯ-แผนที่ฯ ข้างต้นอาจมีผู้ทักท้วงว่าเป็นการตีความแบบ “หัวหมอ” ที่ยกโยงเหตุผลเพื่อสรุปว่าไทยไม่ต้องผูกพันตามแผนที่ฯตามคำพิพากษา ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วศาลโลกก็รู้ดีแก่ใจว่าไทยได้ยอมรับผูกพันตามแผนที่ฯไปเรียบร้อยแล้ว. ผู้ทำหมายเหตุไม่แน่ใจว่าลำพังความ “หัวหมอ” นั้นจะเพียงพอต่อการอธิบายเชิงวิเคราะห์ข้างต้นหรือไม่ กระนั้นก็ดี เกรงว่าผู้ที่มี “หัวกฎหมาย” (legal mind) ก็คงจะอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้.
       (๑.)      ในขั้นแรกต้องเข้าใจเสียก่อนว่า “ศาลโลก” ที่เรานิยมเรียกกันติดปากแท้จริงหาได้เป็นศาลแห่งโลก หรือ ศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีรัฐบาลทั่วโลกไม่ ชื่อจริงของศาลโลกคือ “ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” ซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจจำกัดและอาศัยความยินยอมของรัฐเป็นหลัก การที่รัฐ เช่น ประเทศไทยหรือประเทศกัมพูชาจะนำคดีให้ศาลโลกพิจารณานั้น โดยปกติต้องตกลงกันเสียก่อนว่าทั้งสองฝ่ายจะขอให้ศาลวินิจฉัยเรื่องอะไร เพราะ
       (ก.)       โครงสร้างของกฎหมายระหว่างประเทศยุคปัจจุบันนั้นแตกต่างจากระบบกฎหมายภายในประเทศที่เรามักคุ้นเคย. สังคมระหว่างประเทศแม้จะมีองค์กรที่บังคับกฎหมายให้เป็นไปตามคำพิพากษาได้ในบางกรณี เช่น คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แต่ก็ไม่มีสภาโลกที่ตราหรือแก้กฎหมาย ไม่มีกองทหารหรือตำรวจหรือเจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำพิพากษา อีกทั้งทรัพยากรของศาลโลกก็มีอย่างจำกัด. ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องสงวนอำนาจอธิปไตยที่จะดำเนินการแก้ไขปัญหาของประเทศด้วยตนเอง เช่น การถ้อยทีถ้อยอาศัย การเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ไปจนถึงการใช้กำลังยามจำเป็น. หากมีประเด็นที่รัฐแก้ไขเองไม่ได้จริงๆ จึงจะระบุประเด็นให้ชัดเพื่อให้ศาลโลกพิจารณา ลักษณะทางกฎหมายของศาลโลกจึงสะท้อนความเป็นจริงของสังคมระหว่างประเทศ.
       (ข.)       อีกข้อสำคัญก็คือเรื่องความชอบธรรมในทางประชาธิปไตย. รัฐบาลอาจมาจากการเลือกตั้งที่ยึดโยงกับประชาชนแต่ผู้พิพากษาศาลโลกมาจากการเลือกตั้งโดยองค์กรในสหประชาชาติอันประกอบขึ้นจากหลายประเทศ ซึ่งย่อมมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนประเทศอื่นเป็นหลัก ไทย หรือ กัมพูชา หรือประเทศใดย่อมไม่ต้องการให้เรื่องสำคัญที่กระทบต่อประชาชนถูกตัดสินโดยองค์กรภายนอกประเทศ. แม้ศาลในประเทศตนเองประชาชนบางประเทศยังรู้สึกว่าเชื่อมโยงถึงไม่ได้ จึงไม่มีหลักประกันว่าศาลโลก ณ กรุงเฮก จะเข้าใจหรือใยดีต่อชาวกันทรลักษณ์หรือจอมกระสานต์ได้มากไปกว่าผู้นำประเทศของประชาชนเหล่านั้น.
       (ค.)       หากศาลใช้อำนาจตามกฎหมายอย่างระมัดระวัง รัฐก็ย่อมเชื่อถือวางใจใช้กลไกศาลแก้ไขปัญหา. ปรากฏชัดว่ากว่า ๖๐ ปีที่ผ่านมารัฐมีแนวโน้มนำคดีมาสู่ศาลมากขึ้นและศาลก็ได้ช่วยคลายปัญหาโดยสันติวิธีในหลายคดี เช่น หลายประเทศในแอฟริกาได้ทิ้งมีดวางปืนมาจับปากกาเพื่อขอให้ศาลช่วยลากเส้นเขตแดนที่อดีตเจ้าอาณานิคมทิ้งปริศนาไว้ ประเทศยุโรปที่เคยแย่งกันลากอวนจับกุ้งหอยบัดนี้ก็รู้ได้ว่าทะเลส่วนไหนเป็นของใคร และมิใช่เรื่องเขตแดนเท่านั้น เช่น เมื่อประเทศเพื่อนบ้านในอเมริกาใต้ตกลงกันไม่ได้หลังฝ่ายหนึ่งใช้เครื่องบินพ่นยาฆ่าวัชพืชช่วยเกษตรกรของตนแต่ลมกลับพัดสารเคมีไปที่อีกประเทศ ทั้งสองก็ขอศาลให้พิจารณาว่าจะกำจัดวัชพืชอย่างไรให้ยุติธรรม หรือ ล่าสุดญี่ปุ่นและออสเตรเลียก็มีคดีในศาลเกี่ยวกับกรณีการล่าวาฬในมหาสมุทรแอนตาร์กติก เป็นต้น.
       (๒.)    ด้วยเหตุนี้ ในคดีปราสาทพระวิหารศาลโลกจึงระมัดระวังเรื่องการใช้อำนาจของตนมากและไม่ทำหน้าที่มากไปกว่าสิ่งที่ไทยและกัมพูชาได้ตกลงให้วินิจฉัย. ศาลก็ได้รับฟังการอธิบายขอบเขตประเด็นพิพาทหลายครั้ง ซึ่งในขั้นแรกทั้งไทยและกัมพูชาก็จำกัดข้อต่อสู้หลักอยู่ที่เรื่องบริเวณปราสาทฯ จนกระทั่งเวลาผ่านไปเกือบ ๒ ปีกว่า กัมพูชาถึงตั้งประเด็นเรื่องแผนที่ฯอย่างชัดแจ้ง. หากศาลรับประเด็นแผนที่มาวินิจฉัยแล้วย่อมเกิดปัญหาอย่างน้อยสองประการ. ประการแรกคือศาลอาจกระทำเกินอำนาจที่ไทยและกัมพูชาให้ความยินยอมวินิจฉัยคดีมาแต่ต้น และระบบยุติธรรมระหว่างประเทศก็จะเสียความน่าเชื่อถือในที่สุด หรือประการที่สอง แม้ไทยอาจไม่เคยคัดค้านประเด็นแผนที่ฯออกไป แต่ไทยเองก็อาจจะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างไม่เป็นธรรม เพราะตลอดเวลาสองปีกว่าที่ผ่านมา กัมพูชาอาจได้ดักเตรียมที่จะต่อสู้เรื่องแผนที่ไว้แล้วโดยที่ไทยไม่มีโอกาสเตรียมตัวต่อสู้อย่างเต็มที่ ความยุติธรรมระหว่างคู่พิพาทในการสู้คดีก็ย่อมเสียไป. ศาลจึงมีความจำเป็นต้องควบคุมไม่ให้ประเด็นแผนที่ฯ หรือประเด็นอื่นๆถูกวินิจฉัยเพิ่มเติมอย่างไม่เป็นธรรม.
       (๓.)     นอกจากเรื่องการรักษาความยุติธรรม ศาลเองยังจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ควบคุมศาลด้วย ซึ่งกฎหมายนี้โดยหลักก็คือ “ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” ซึ่งแม้ชื่อจะเรียกว่าธรรมนูญ (Statute) แต่แท้จริงแล้วเป็นสนธิสัญญาที่ทั้งไทย กัมพูชาและสมาชิกองค์การสหประชาชาติทั้งหลายทั่วโลกต่างเป็นภาคี. การเป็นภาคีธรรมนูญศาลฯมิได้หมายความว่ารัฐภาคีจะต้องตกอยู่ใต้อำนาจการพิจารณาคดีของศาลเสมอไป ในทางกลับกัน ธรรมนูญศาลฯ คือข้อตกลงระหว่างประเทศที่จำกัดอำนาจของศาล เช่น หากศาลจะพิจารณาคดีใหม่ ศาลต้องได้รับความยินยอมจากรัฐ เป็นต้น. สำหรับเรื่องว่าด้วย อนุสัญญาฯ-แผนที่ฯ นั้น ธรรมนูญศาลฯ ข้อ ๓๘ (ซึ่งนักเรียนกฎหมายระหว่างประเทศทุกคนย่อมท่องได้ขึ้นใจ) ได้จำกัดอำนาจในการพิจารณาคดีของศาลไว้ชัดเจนว่าศาลต้องวินิจฉัยคดีไปตาม
       (ก.)       สนธิสัญญาที่คู่พิพาทยอมรับผูกพัน
       (ข.)       จารีตประเพณีระหว่างประเทศที่ยึดถือปฏิบัติเป็นกฎหมายโดยทั่วไป
       (ค.)       หลักกฎหมายทั่วไปอันเป็นที่ยอมรับโดยนานาอารยชาติ
       นอกจากนี้ ธรรมนูญศาลฯ ข้อ ๓๘ ยังกำหนดอีกว่า ศาลอาจนำคำวินิจฉัยตุลาการหรือคำสอนของผู้ทรงคุณวุฒิสูงสุดจากนานาชาติมาประกอบการพิจารณากฎหมาย. ส่วนการจะวินิจฉัยคดีโดยการอาศัยเพียงหลักความเป็นธรรมหรือวินิจฉัยตามธรรมนองคลองธรรม (ex aequo et bono) นั้น ธรรมนูญศาลฯกำหนดว่าศาลจะต้องอาศัยความยินยอมของคู่พิพาทต่อการนั้นเป็นการเฉพาะ. ดังนั้น เมื่อแผนที่ฯ มิได้เป็นหนึ่งในสิ่งที่กฎหมายอนุญาตให้ศาลนำมาใช้วินิจฉัยคดี อีกทั้งไทยและกัมพูชาก็ไม่เคยยินยอมให้ศาลวินิจฉัยโดยดูเพียงแผนที่ฯให้เป็นไปตามธรรมนองคลองธรรม ศาลจึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยว่า ตัวแผนที่ฯและเส้นพรมแดนฯนั้นผูกพันไทยหรือไม่ และตัวแผนที่ฯเองย่อมไม่สามารถเป็นเหตุผลหลักที่ศาลใช้วินิจฉัยคดีได้.
       (๔.)     อาจมีผู้โต้แย้งต่อไปว่า ก็ในเมื่อศาลบอกเองว่า แผนที่ฯได้กลายมาเป็นส่วนเดียวกันกับอนุสัญญาฯ (integral part) แถมยังกล่าวด้วยว่าเส้นในแผนที่ฯนั้นมีค่าบังคับสูงกว่า (prevails) เส้นสันปันน้ำ ไทยก็ย่อมมีหน้าที่ต้องเคารพผูกพันแผนที่ฯมิใช่หรือ? ข้อนี้ตอบได้ว่า ไทยย่อมต้องเคารพปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๐๔ แต่การปฏิบัติตามอนุสัญญาฯในวันนี้เป็นเรื่องของการตีความอนุสัญญาฯตามหลักกฎหมายในวันนี้ ซึ่งก็คือ อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๖๙ (ไม่ว่าวันนี้ไทยจะเป็นภาคีหรือไม่ บางส่วนของอนุสัญญาฯนี้ก็ผูกพันไทยในฐานะกฎหมายจารีตประเพณี). หากพิจารณาหลักกฎหมายในอนุสัญญากรุงเวียนนาฯ การตีความอนุสัญญาฯในวันนี้มิใช่ว่าจะต้องเป็นไปตามแผนที่ฯ แต่ยังมีข้อสำคัญประการอื่นที่ทั้งไทย (และกัมพูชา ซึ่งเป็นภาคีเรียบร้อยแล้ว) ต้องนำมาประกอบการตีความ เช่น การประพฤติปฏิบัติภายหลังระหว่างไทยและกัมพูชา (subsequent practice) และข้อตกลงภายหลังอื่นๆระหว่างไทยและกัมพูชา (subsequent agreement) ที่เกี่ยวข้องกับการตีความอนุสัญญาฯ ที่เคยมีมาตั้งแต่มีอนุสัญญาฯ มิใช่แค่ช่วง ค.ศ. ๑๙๐๔ หรือ ช่วงที่มีคำพิพากษา แต่ต้องพิจารณาทุกสิ่งที่มีมาจนถึงปัจจุบัน เช่น สมมติว่าเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๓ ไทยและกัมพูชาเคยทำข้อตกลงเกี่ยวกับหลักเขตแดนทางบก หากไทยพิสูจน์ได้ว่าข้อตกลง พ.ศ. ๒๕๔๓ แสดงให้เห็นว่าไทยกับกัมพูชามีเจตนาจะร่วมกันสำรวจและทำแผนที่ฉบับใหม่ขึ้นมาใช้แทนที่แผนที่ทั้งหลายที่มีมาก่อนหน้านี้ ไทยย่อมอาศัยข้อตกลง พ.ศ. ๒๕๔๓ ดังกล่าวมาตีความอนุสัญญาฯค.ศ. ๑๙๐๔ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ได้ว่า แผนที่ฯที่กัมพูชาอ้างต่อศาลโลกเมื่อกว่า ๕๐ ปีที่แล้ว แม้ตอนนั้นศาลจะมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของอนุสัญญาฯ แต่การกระทำและการตกลงระหว่างไทยและกัมพูชาตลอดเวลาที่ผ่านมาได้พิสูจน์ว่า ณ วันนี้แผนที่ฯ มิได้มีสาระสำคัญสำหรับไทยและกัมพูชาดังที่ศาลเห็นในอดีตอีกต่อไป เป็นต้น. ฉันใดก็ฉันนั้น กัมพูชาก็อาจนำข้อตกลงใน พ.ศ. ๒๕๔๓ มาอ้างตีความในทางตรงกันข้ามได้.
       
       ๕.    สยามมิใช่ผู้ที่ถูกปิดปาก
       นอกจากความเข้าใจผิดเรื่องแผนที่ฯแล้ว มักมีผู้กล่าวว่าศาลได้อาศัยหลัก estoppel หรือ “กฎหมายปิดปาก” มาวินิจฉัยว่าไทยจะ “อ้าปาก” ปฏิเสธแผนที่ฯ ไม่ได้. เกรงว่าผู้ที่กล่าวเช่นนั้นอาจต้องด้วยกฎหมายปิดปากเสียเอง. ประการแรก คำพิพากษาส่วนหลักที่ศาลลงมตินั้นมิได้อาศัยหลักกฎหมายปิดปากดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งผู้พิพากษาชาวอังกฤษเสียงข้างมากในคดีนี้ คือ Sir Gerald Fitzmaurice ได้อธิบายถึงลักษณะของหลักกฎหมายปิดปากว่าไม่เหมาะกับคดีปราสาทพระวิหารที่อาศัยพื้นฐานความยินยอมตามข้อตกลง (ICJ Reports 1962, หน้า 63) อีกทั้งต่อมาศาลเดียวกันในคดี North Sea Continental Shelf Cases ก็ได้กล่าวถึงหลักกฎหมายปิดปากในทางระหว่างประเทศว่า ฝ่ายที่ถูกปิดปากมักประพฤติปฏิบัติในทางลวงหรือทำให้อีกฝ่ายหลงชื่อและเสียประโยชน์. ดังนี้ เมื่อพระมหากษัตริย์และบรรพชนชาวสยามได้เจรจาเขตแดนกับมหาอำนาจเรือปืนอย่างเปิดเผย อาจหาญ และเยือกเย็น เราจึงสมควรร่วมรณรงค์มิให้อนุชนผู้หวังดีหลงใช้คำว่า “กฎหมายปิดปาก” โดยรู้เท่าไม่ถึงการ.
       ๖.     หลักการตีความสนธิสัญญา
       แท้จริงแล้วหลักกฎหมายสำคัญที่ศาลใช้วินิจฉัยคดีก็คือหลักการตีความสนธิสัญญา แม้มีผู้อธิบายได้ไม่บ่อย แต่มีข้อสังเกตดังนี้.
       (๑.)      ศาลได้อาศัยหลักการตีความเจตนาโดยอาศัยบริบทการประพฤติปฏิบัติประกอบกับวัตถุประสงค์สำคัญมาปรับเปลี่ยนถ้อยคำตัวอักษรในอนุสัญญาฯ. ศาลให้ความสำคัญกับการประพฤติปฏิบัติของไทยกว่า ๕๐ ปี คือตั้งแต่ช่วง ค.ศ. ๑๙๐๔ ก่อนไทยได้รับแผนที่ฯมา จนกัมพูชานำคดีมาสู่ศาล เมื่อ ค.ศ. ๑๙๕๙ โดยศาลอาศัยเหตุการณ์สำคัญหลายประการมาสรุปว่าไทยได้ยอมรับ (accept) แผนที่ฯ และยินยอมโดยนิ่งเฉยในการที่ควรปฏิบัติ (acquiesced) หรือรับรองโดยปริยาย (tacit recognition) หรือเสียสิทธิ (precluded) ทั้งนี้ศาลอธิบายประมาณ ๑๑ จาก ๓๗ หน้า. หลักเหล่านี้มิได้เป็นเรื่องประหลาด ศาลเองก็ได้นำหลักลักษณะเดียวกันหรือใกล้เคียงกันไปใช้ในคดีอื่น เช่น ในคดีพิพาทพรมแดนกรณี Canada/United States of America (ICJ Reports 1984) หรือ กรณี El Salvador/Honduras (ICJ Reports 1992) เป็นต้น.
       (๒.)    การกล่าวถึงการประพฤติปฏิบัติไทยตลอดกว่า ๕๐ ปีในทางหนึ่งมองได้ว่าเป็นข้อดีของตุลาการที่ใส่ใจรายละเอียด แม้ในรายละเอียดอาจเต็มไปด้วยการสันนิษฐาน แต่สิ่งที่น่าตกใจคือศาลให้ความสำคัญกับหลักการที่ใหญ่กว่าไว้น้อยนิด นั่นคือหลักการตีความสนธิสัญญาตามถ้อยคำตัวอักษร ซึ่งศาลกล่าวไว้อย่างไม่ชัดเจนเพียง ๒ หน้ากระดาษกว่า คือเบื้องต้นในหน้า ๑๗ และต่อมาในหน้า ๓๓ - ๓๕ ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งที่ศาลกล่าวทำนองว่า การวินิจฉัยคดีนี้ศาลมิได้กระทำไปโดยการตีความปกติ (solely of ordinary treaty interpretation) ซึ่งอันที่จริงสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ศาลควรจะได้กระทำตั้งแต่แรก. ในคดีนี้ศาลไม่เพียงแต่ก้าวข้ามเข้ามาปรับถ้อยคำตัวอักษรโดยเปลี่ยน “สันปันน้ำ” จากหลักเกณฑ์ให้กลายมาเป็นเพียงความสะดวกในการอ้างอิง แต่ยิ่งกว่านั้นศาลยังลบถ้อยคำตัวอักษรคือ “คณะกรรมการผสมฯ” ให้กลายเป็นกลไกที่ประหนึ่งไม่มีความจำเป็น คือสุดท้ายแล้วคณะกรรมการผสมฯจะทำหน้าที่ผิดถูกอย่างไร ก็อนุโลมให้ใช้แผนที่ฯซึ่งฝ่ายเดียวทำขึ้นก็ได้. ศาลอาศัยการประพฤติปฏิบัติมาเดาใจไทยและฝรั่งเศสว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานั้นคือการตกลงให้มีเส้นกำหนดพรมแดนให้ชัดเจน ทั้งที่ในความเป็นจริง การตกลงพรมแดนอาจเป็นเรื่องที่ฝ่ายหนึ่ง ณ เวลานั้น ไม่เคยแม้แต่คิดอยากจะตกลงเพราะ “ดินแดนแบบเดิม” ที่เคยมีอยู่ก็อาจปกติสุขดีอยู่แล้ว เพียงแต่จำใจต้องตกลงกับอีกฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดที่แท้จริงของฝ่ายนั้นอาจเป็นการยืนหยัดอย่างอดทน แยบยลและเยือกเย็นเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติที่มิมีพละกำลังจะสู้อีกฝ่าย เมื่อวัดกันที่กำลังหรือการกระทำมิได้ ถ้อยคำตัวอักษรบนแผ่นกระดาษจึงเป็นเพียงหลักประกันชิ้นเดียวที่รับรองความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมกันภายใต้กฎหมาย.
       (๓.)     หลักการตีความโดยยึดถ้อยคำตัวอักษรเป็นใหญ่นี้ปรากฏชัดตามอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยกฎหมายสนธิสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๖๙ ซึ่งกำหนดให้ตีความสนธิสัญญาโดยสุจริตและอาศัยความหมายตามปกติของถ้อยคำตัวอักษรที่ปรากฏในบริบท พร้อมคำนึงถึงวัตถุประสงค์และความมุ่งหมาย ทั้งนี้การประพฤติปฏิบัติระหว่างภาคีสนธิสัญญาเป็นเพียงข้อที่ต้องพิจารณาประกอบ (taken into account). อาจมีผู้สงสัยว่าเหตุใดศาลจึงมิได้อธิบายถึงหลักการตีความดังกล่าว. ศาลมิได้อ้างถึงหลักกฎหมายดังกล่าวและก็อ้างถึงโดยตรงมิได้ เพราะในขณะที่วินิจฉัยคดีนั้น อนุสัญญากรุงเวียนนายังเป็นเพียงรายงานร่างพิจารณาในชั้นต้นอีกทั้งเรื่องการตีความก็มิได้เป็นหัวข้อที่ได้รับการพิจารณาเป็นลำดับแรกในการร่าง อย่างไรก็ดีหลักการตีความดังกล่าวมิได้ถูกประดิษฐ์ขึ้น ณ กรุงเวียนนาเมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๙ ในบัดดล แต่เป็นหลักที่สะท้อนกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศเรื่องการตีความสนธิสัญญาที่ยึดถือมาอย่างยาวนาน. ผู้พิพากษาบางท่านในคดีนี้ก็ย่อมทราบดีเพราะเคยดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการที่มีส่วนสำคัญในการยกร่างรายงานที่นำมาสู่อนุสัญญาดังกล่าว. ฉะนั้น การตรวจสอบความชอบธรรมของคำพิพากษาจึงต้องพิจารณาว่ากฎหมายจารีตประเพณีในช่วงเวลาที่เกี่ยวข้องมีเนื้อเช่นใด.
       (๔.)     แต่หากวันนี้เราจะลองตรวจสอบความชอบธรรมของคำพิพากษาโดยอาศัยหลักกฎหมายที่เป็นสากลในปัจจุบัน จุดเริ่มต้นย่อมมิใช่ประเด็นว่าไทยได้ประพฤติปฏิบัติกว่า ๕๐ ปีอย่างที่ศาลว่าจริงหรือไม่ แต่ต้องเริ่มพิจารณาจากถ้อยคำตัวอักษรในอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๐๔ อย่างละเอียดเสียก่อนว่าศาลได้อธิบายถึงปัญหาถ้อยคำตัวอักษรของอนุสัญญาฯโดยกระจ่างหรือไม่ว่าตัวอักษรไม่ชัด หรือ มีปัญหา หรือปฏิบัติไม่ได้อย่างไร อีกทั้งศาลได้ให้ความสำคัญต่อถ้อยคำตัวอักษรกับบริบทการประพฤติปฏิบัติอย่างสมดุลหรือไม่ ที่สำคัญต้องใคร่ครวญว่าการที่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดทำแผนที่ให้อีกฝ่าย ทั้งที่รู้ถึงความไม่ชำนาญในแผนที่ของอีกฝ่าย ทั้งที่ทราบดีถึงความตึงเครียดทางการทหารที่ตนได้เปรียบอีกฝ่าย ซ้ำยังทำแผนที่โดยลดประโยชน์ทางดินแดนของอีกฝ่ายอันต่างไปจากตัวอักษรที่ร่วมตกลงกันและผิดไปจากภูมิศาสตร์ปกติอย่างเห็นได้ชัด เยี่ยงนี้จะถือว่าจะตีความให้เกิดความผูกพันในทางที่สุจริตได้หรือไม่? หากเราสามารถตอบคำถามเหล่านี้ว่า “ไม่” ประเด็นการยอมรับแผนที่ฯ (acceptance) ก็ดี การยินยอมจากการนิ่งเฉยในการที่ควรปฏิบัติ (acquiescence) ก็ดี การเสียสิทธิ (preclusion) ก็ดี หรือการรับรองโดยปริยาย (tacit recognition) ที่ศาลกล่าวมาทั้งหมดก็ดีนั้น ย่อมปราศจากมูลฐานในสนธิสัญญา เป็นการวินิจฉัยกฎหมายที่ข้ามขั้นตอน น่ากังขาในความชอบธรรม และล้มครืนได้โดยแท้.
       ๗.    การตีความการประพฤติปฏิบัติ
       ไม่ว่าศาลจะตีความถ้อยคำในอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๐๔ ถูกต้องหรือไม่ เราก็ไม่ควรสรุปโดยง่ายว่าศาลได้อาศัยการประพฤติปฏิบัติต่างๆของไทยกว่า ๕๐ ปีมาเป็นหลักฐานมัดว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ฯแล้ว. คนไทยจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าไทยเองเป็นฝ่ายมีท่าทียอมรับแผนที่ฯชัดเจนอย่างต่อเนื่องและเป็นเวลานาน แต่เกรงว่ายังมีข้อสำคัญอีกไม่น้อยที่น้อยคนได้พินิจถึง ดังนี้.
       (๑.)      หากเราอ่านคำพิพากษาส่วนที่มีการลงมติเสียงข้างมากแล้ว เราจะพบว่าศาลกล่าวถึงการประพฤติปฏิบัติของไทยแยกเป็นสองช่วง ช่วงแรกคือ ค.ศ. ๑๙๐๘ - ๑๙๐๙ ซึ่งไทยได้รับแผนที่ฯมา และช่วงที่สองคือ หลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ มาจนกระทั่งก่อนกัมพูชาฟ้องคดีใน ค.ศ. ๑๙๕๙. หากเราถอดรหัสคำพิพากษา จะพบว่าศาลใช้ถ้อยคำและภาษาที่แตกต่างกันระหว่างช่วงเวลาทั้งสองอย่างมีนัยสำคัญ ดังต่อไปนี้.
       (ก.)       ในช่วงแรก ศาลใช้ถ้อยคำอธิบายหลักฐานหรือการประพฤติปฏิบัติที่ผูกมัดไทยชัดเจน เพื่อสรุปว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ฯ เช่นในหน้า ๒๒-๒๓ ศาลใช้ถ้อยคำว่า “It is clear” (เห็นได้ชัดว่า) ถึงสามครั้ง หรือต่อมาในหน้า ๒๓-๒๔ ศาลใช้คำว่า “is clear from” (เห็นได้ชัดจาก), “in a very definite way” (ในลักษณะชัดแจ้ง), “must be held to” (ต้องถือว่า), “not merely” (ไม่ใช่แค่เพียง), “must necessarily have known” (ย่อมจำต้องทราบ), “this could only have been because” (ข้อนี้จะต้องเป็นเพราะว่า), “is shown by” (เห็นได้จาก), “further evidence” (หลักฐานเพิ่มเติม) หรือต่อมาในหน้า ๒๖ ศาลใช้คำว่า “make it obvious” (ทำให้เห็นชัดว่า) หรือ “must be presumed to have known” (ต้องถือว่าได้ทราบ) เป็นต้น.
       (ข.)       ในทางกลับกัน สำหรับหลักฐานหรือการประพฤติปฏิบัติของไทยในช่วงหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ นั้น ศาลใช้ถ้อยคำอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ผูกมัดความแน่ใจของศาล ดังจะเห็นได้จากการถ้อยคำที่ไม่เด็ดขาด เช่น ศาลใช้ถ้อยคำ “finds it difficult” (แปลอย่างหลวมคือ แม้ศาลเห็นว่าข้อต่อสู้ไทยยากที่จะเห็นด้วย แต่มิปักใจว่าเป็นไปไม่ได้) ถึงสองครั้งในหน้า ๒๗ และ ๓๐ หรือใช้ถ้อยคำเชิงอนุมาน “inference” (กล่าวอย่างหลวมคือ ศาลเดาสรุปอย่างมีเหตุผล แต่มิอาจสรุปโดยตรงจากข้อเท็จจริง)  ถึงสองครั้งในหน้า ๒๘ และ ๒๙  หรือต่อมาในหน้า ๓๐-๓๑ ศาลใช้คำว่า “it appears” (ดูได้ว่า) และ “What seems clear” (ข้อที่น่าจะชัด) อีกทั้งศาลยังใช้รูปประโยค “either…or” (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เพื่ออธิบายใจความตอนสำคัญ คือศาลไม่สรุปให้ชัดว่าการปฏิบัติของไทยเป็นเพราะ (either) ไทยยอมรับผูกพันตามแผนที่ฯ หรือ (or) เพราะสาเหตุอื่นอย่างใดอย่างหนึ่ง.
       (ค.)       การเข้ารหัสถ้อยคำที่แตกต่างกันทั้งสองช่วงปรากฏให้เห็นชัดเจนในหน้า ๓๒ โดยสำหรับกรณีหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ เป็นต้นมานั้นศาลเลือกใช้ถ้อยคำที่ครอบคลุม (even if) เพื่อสรุปผลโดยมิพึงต้องเข้าระบุเหตุให้ชัด คือกล่าวไม่ว่าไทยจะยอมรับแผนที่ฯหรือไม่ ไทยก็เสียสิทธิที่จะปฏิเสธการยอมรับแผนที่ฯ ซึ่งก็สอดคล้องกับย่อหน้าถัดไปที่ศาลกลับไปเน้นถึงการประพฤติปฏิบัติของไทยในช่วงก่อน ค.ศ. ๑๙๐๙ ว่านั่นคือจุดที่ไทยยอมรับแผนที่ฯ ส่วนสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจาก ค.ศ. ๑๙๐๙ มานั้นเป็นเครื่องยืนยันการยอมรับแผนที่ฯของไทย. การถอดรหัสข้อความส่วนนี้ต้องโยงกับข้อความในหน้า ๒๑ ตั้งแต่ช่วงแรก ซึ่งศาลใช้รูปประโยค “either…or” เพื่อแสดงว่าศาลยังไม่แน่ใจโดยชัดว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ฯไปตั้งแต่ก่อนหรือหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙.
       (๒.)    การตีความถ้อยคำในคำพิพากษาเกี่ยวกับกรณีก่อนและหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ ที่กล่าวมานี้เป็นการอาศัยการถอดรหัสเพียงทางหนึ่งจากหลายทาง ผู้ทำหมายเหตุเองในฐานะนักกฎหมายผู้ถอดรหัสก็พอจะโต้แย้งตัวเองกลับได้ เช่น รูปประโยค either…or เป็นการเพิ่มความเป็นไปได้ในการหักล้างข้อต่อสู้ของไทย หรือ “finds it difficult” เป็นการเน้นจุดอ่อนของข้อต่อสู้ของไทย หรือมีผู้พิพากษาที่ร่วมเขียนคำพิพากษาคนละช่วงโดยมีเอกลักษ์การเขียนที่ต่างกัน ฯลฯ ฉันใดก็ฉันนั้น ประเด็นคำว่า “it appears” และ “What seems clear” ที่ยกมา แม้จะในโลกของนักถอดรหัส (ซึ่งก็มิปราศจากอคติ) ก็ตาม อาจจบลงที่ว่า “what seems clear, it appears!” (อะไรที่น่าจะชัด นั่นเราเห็น!).
       (๓.)     แต่หากเราเห็นด้วยกับการถอดรหัสข้างต้น ก็ย่อมตีความต่อได้ว่า
       (ก.)       การปฏิบัติของไทยหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ เป็นต้นมาเป็นเพียงข้อพิจารณาประกอบการยอมรับแผนที่ฯของไทยที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้น (เพียง ๑-๒ ปี) แต่จะถือว่าสิ่งอื่นที่ไทยปฏิบัติต่อมาประมาณ ๕๐ ปีผูกมัดไทยชัดแจ้งด้วยตัวเองหรือไม่นั้น คำพิพากษามิได้กล่าวไว้ชัดเจน.
       (ข.)       ดังนั้น หากเราจะตรวจสอบความชอบธรรมของ “การยอมรับแผนที่ฯ” ตามที่ศาลอธิบาย เราจึงต้องเน้นพิจารณาสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาสั้นๆ คือ ค.ศ. ๑๙๐๘ - ๑๙๐๙ ที่ไทยได้รับแผนที่ฯมา หากเราพิเคราะห์ได้ว่าเหตุการณ์ในช่วงเวลาอันสั้นนี้ไม่เพียงพอต่อการสรุปว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ฯมาแล้วไซร้ การประพฤติปฏิบัติอื่นๆอีก ๕๐ ปีให้หลังที่ศาลกล่าวมาทั้งหมดก็ย่อมขาดน้ำหนัก เพราะศาลก็ย่อมมิอาจอ้างเหตุผลประกอบการยอมรับแผนที่ฯ หากไม่มีการยอมรับแผนที่ฯ มาแต่แรก.
       (ค.)       เรื่องความชอบธรรมของ “การยอมรับแผนที่ฯ” ในช่วง ค.ศ. ๑๙๐๘ - ๑๙๐๙ นี้สมควรจะกล่าวถึงไว้เบื้องต้นบางประเด็น เรื่องแรกได้แก่คำว่า “Mixed Commissions” พหูพจน์ในอนุสัญญาฯ ข้อ ๑. ที่ศาลกลับถือเอาเองว่าให้เรียกเป็นเอกพจน์ (Mixed Commission) แต่มีสองแผนก ซึ่ง ต่อมาศาลก็กล่าวถึงชื่อคณะกรรมการที่เป็นเอกพจน์อย่างมีนัยสำคัญอีกอย่างน้อยสองกรณี กรณีแรกคือคำที่ปรากฏในหนังสือจากอัครราชทูตไทย ณ กรุงปารีส (คำพิพากษาหน้า ๒๓) และคำที่ปรากฏบนหน้าแผนที่ฯ (หน้า ๒๔) ซึ่งทั้งสองเป็นหลักฐานสำคัญที่ศาลนำมาอ้างว่าไทยได้ยอมรับแผนที่ฯให้ประหนึ่งเป็นผลงานของคณะกรรมการผสมฯ (Mixed Commissions - พหูพจน์ตามอนุสัญญาฯ) แต่ทั้งนี้ คำที่อัครราชทูตไทยอ้างถึงก็ดี หรือที่ปรากฏบนหน้าแผนที่ฯก็ดี ล้วนเป็นคำเอกพจน์ และจะถือว่าแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญกับคำว่า “Mixed Commissions” ที่อนุสัญญาฯกำหนดให้เป็นพหูพจน์ หรือไม่อย่างไรนั้นศาลมิได้อธิบาย. ฝ่ายไทยอาจชอบที่จะเข้าใจว่าแผนที่ฯ คือเป็นผลงานของคณะกรรมการผสมฝ่ายฝรั่งเศส (Commission - เอกพจน์) เพียงฝ่ายเดียวโดยแท้ก็เป็นได้ แต่ศาลมิได้อธิบายถึงเช่นกัน. หากหลักฐานสำคัญทั้งสองกรณีพิจารณาอย่างหละหลวมแล้วไซร้ ความชอบธรรมของ “การยอมรับแผนที่ฯ” ในช่วง ค.ศ. ๑๙๐๘ - ๑๙๐๙ นี้ก็ย่อมล้มครืน.
       (ง.)        ไม่ว่าคำพิพากษาจะล้มครืนเพราะศาลสับสนในเอกพจน์-พหูพจน์หรือไม่ อีกประเด็นที่กังขาอยู่ก็คือมาตรฐานที่ศาลใช้วัดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงของไทย (สยามในเวลานั้น) เกี่ยวกับระบบแผนที่แบบตะวันตกในบริบทที่ไม่ปกติ. ศาลกล่าวในหน้า ๒๖-๒๗ ฟังประหนึ่งว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเมื่อรับแผนที่ฯมาก็ควรจะได้ตรวจสอบและเห็นความผิดปกติอย่างเด่นชัดในทันที อย่างไรก็ดี หากเรานึกย้อนไปถึงช่วง ค.ศ. ๑๙๐๘ - ๑๙๐๙ ไทยมิได้เพียงแต่ขาดความชำนาญและอาศัยความเชื่อใจฝรั่งเศสเท่านั้น แต่บริบทของกรอบเวลาอันสั้นนั้นเป็นเวลาที่ผู้เกี่ยวข้องต่างใจจดใจจ่อกับเรื่องในภาพใหญ่ คือดินแดนที่มิใช่เฉพาะบริเวณเทือกเขาดงรักแต่เกือบทั้งแนวพรมแดน ทั้งตามอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๐๔ และหนังสือสัญญาใน ค.ศ ๑๙๐๗ เรื่องแผนที่เป็นเพียงข้อพิจารณาส่วนหนึ่งแต่ก็มิใช่ทั้งหมด อีกทั้งแผนที่ก็ทำขึ้นพร้อมกัน ๑๑ ฉบับ มิใช่ฉบับที่เป็นปัญหาเท่านั้น. จึงยังเป็นที่กังขาอยู่ว่าศาลได้มีความละเอียดอ่อนต่อความไม่พร้อมอันชอบธรรมตามความเป็นจริงในส่วนของฝ่ายไทยมากน้อยเพียงใด. อนึ่ง ผู้ทำหมายเหตุเองก็ได้มีโอกาสกางแผนที่ฯดูด้วยตนเองที่บ้าน (ในจอภาพความละเอียดสูงขนาด ๔๒ นิ้ว) และก็ขอสารภาพอย่างตรงไปตรงมาว่าตนเองก็มิได้สังเกตเห็นสัญลักษณ์ปราสาทพระวิหารโดยชัดและทันทีดังที่ศาลกล่าวไว้ในคำพิพากษา ทั้งนี้ ผู้อ่านที่สนใจสามารถเปิดดูภาพแผนที่ฯและทดสอบทักษะตนเองได้ที่เว็บไซต์ของผู้ทำหมายเหตุ (https://sites.google.com/site/verapat/temple/annex-i-map).
       (จ.)       สมมติว่ารูปเอกพจน์-พหูพจน์ของ “คณะกรรมการผสมฯ” ไม่ทำให้เกิดปัญหา และสมมติว่าไทยเป็นฝ่ายเลินเล่ออ่านแผนที่ฯผิดพลาดเองก็ดี อีกประเด็นที่ยังกังขายิ่งนักก็คือเรื่องการทำพรมแดนให้ชัดเจนเป็นที่สิ้นสุด ซึ่งศาลอ้างไว้ในหน้า ๑๗ ประกอบกับหน้า ๒๐ และ หน้า ๓๔-๓๕. ศาลอธิบายทำนองว่าสันปันน้ำไม่ชัดเจนและเป็นเพียงวิธีอ้างอิงที่สะดวก ไทยจึงตกลงยอมรับแผนที่ฯเพื่อ “ปักปัน” พรมแดนให้ชัดเจน. ปัญหาในขั้นแรกที่กล่าวมาแล้วคือ ศาลไม่ได้อธิบายว่ามีข้อเท็จจริงใดที่พิสูจน์ว่าสันปันน้ำไม่ชัดเจน นอกไปจากการเดาใจภาคีอนุสัญญาฯ. ปัญหาต่อมาคือศาลดูจะเข้าใจคำว่า “ปักปัน” ว่าต้องอาศัยแผนที่ฯ. การใช้ศัพท์เทคนิคเกี่ยวกับพรมแดนนี้เป็นเรื่องที่ทั้งนักกฏหมาย วิศวกรและผู้เชี่ยวชาญอื่นๆได้ถกเถียงกันมานาน. โดยทั่วไป “การปักปัน” หรือ delimitation หมายถึงการอธิบายเส้นเขตแดนบนเอกสาร เช่น การลากเส้นบนแผนที่ การปักปันมักอาศัยการเจรจาและการสำรวจพื้นที่แต่ก็ไม่เสมอไป. การปักปันนั้นต่างกับการตกลง “บทนิยาม” (definition) ซึ่งหมายถึงการใช้ถ้อยคำอธิบายว่าเขตแดนนั้นเป็นอย่างไร อาจอาศัยธรรมชาติมาช่วยนิยาม เช่น แม่น้ำ ภูเขา หรือสันปันน้ำ หรืออาศัยสิ่งอื่น เช่น ทางรถไฟ หรือแนวกำแพงโบราณ ฯลฯ. การปักปันนั้นต่างกับ “การปักเขต” หรือ demarcation ซึ่งมักใช้วัตถุปักลงบนพื้นดิน หรืออาจใช้วิธีอื่น เช่น อาศัยร่องน้ำลึกตามธรรมชาติก็เป็นได้. หากกล่าวพอเป็นตัวอย่าง วิธีจัดทำเขตแดนรูปแบบหนึ่ง อาจเริ่มจากการที่สองประเทศตกลง “บทนิยาม” ในสนธิสัญญาก่อน จากนั้นจึงมีคณะกรรมการไปสำรวจพื้นที่เพื่อ “ปักปัน” โดยลากเส้นบนแผนที่ จากนั้นจึงส่งเจ้าหน้าที่ไป “ปักเขต” ในพื้นที่ตามเส้นในแผนที่ เป็นต้น แต่ข้อสำคัญคือบางประเทศอาจใช้วิธีอื่นที่ไม่เหมือนกันเลยและอาศัยขั้นตอนหรือชื่ออื่นๆ ก็เป็นได้ เช่น allocation, fixation, delineation, abornement, administration ฯลฯ หรือจะเรียกทุกขั้นรวมกันว่า delimitation ก็เป็นได้ (ผู้สนใจ โปรดดู Rushworth, IBRU Boundary and Security Bulletin (1997), 61). ดังนั้น การที่ศาลสรุปทำนองว่าการยอมรับแผนที่ฯเป็นขั้นตอนสำคัญของการปักปันพรมแดนในช่วง ค.ศ. ๑๙๐๘ - ๑๙๐๙ นั้น เป็นที่กังขาว่าศาลได้อธิบายข้อสรุปส่วนนี้ไว้หนักแน่นเพียงใด.
       ๘.    พระนามเต็ม หรือ ชื่อเต็ม
       สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หมายถึง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ. หนังสือสัญญาเรื่องเขตแดนระหว่างสยามและฝรั่งเศส วันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๔  หมายถึง อนุสัญญาระหว่างสยามกับฝรั่งเศส แก้ไขเพิ่มเติมข้อบทแห่งสนธิสัญญาฉบับลงวันที่ ๓ ตุลาคม รัตนโกสินทรศก ๑๑๒ ว่าด้วยดินแดนกับข้อตกลงอื่น ๆ ฉบับลงนาม ณ กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ รัตนโกสินทรศก ๑๒๒. หนังสือสัญญาอีกฉบับใน ค.ศ. ๑๙๐๗  และพิธีสาร หมายถึง สนธิสัญญาระหว่างพระเจ้าแผ่นดินสยามกับประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฉบับลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕ กับพิธีสารว่าด้วยการปักปันเขตแดนแนบท้ายสนธิสัญญา ฉบับลงวันที่ ๒๓ มีนาคม รัตนโกสินทรศก ๑๒๕.
       ๙.     คำแปลคำพิพากษา
       ผู้ทำหมายเหตุยังไม่มีโอกาสได้ตรวจสอบความถูกต้องของคำแปลคำพิพากษาฉบับที่เผยแพร่โดยสำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๐๕ อย่างไรก็ดี มีข้อสังเกตเบื้องต้นดังนี้.
       (๑.)      มีข้อความที่ขาดไปจากคำแปล เช่น ในคำพิพากษาหน้า ๒๖ มีย่อหน้าสั้นที่มีใจความว่า “แผนที่แสดงให้เห็นชัดว่าปราสาทพระวิหารตั้งอยู่บนฝั่งกัมพูชา โดยมีสัญลักษณ์บ่งบอกตัวปราสาทและทางบันไดพอสังเขป” แต่คำแปลช่วงเดียวกันในหน้า ๓๕-๓๖ ไม่ปรากฏใจความดังกล่าว หรือ คำพิพากษาหน้า ๒๗ ปรากฎการขึ้นย่อหน้าที่ไม่ตรงกับคำแปลหน้า ๓๗.
       (๒.)    เรื่องการเลือกใช้ถ้อยคำนั้น นอกจากกรณีคำว่า precincts หรือ vicinity ที่กล่าวไว้ในหมายเหตุนี้แล้ว ยังมีคำแปลอื่นอีกมากที่มีนัยสำคัญ เช่น คำแปลหน้า ๑๖ ย่อหน้าสุดท้ายแปล “region” ว่า “อาณาบริเวณ” ซึ่งมีนัยสำคัญต่างจากคำว่า คำว่า “บริเวณ” หรือ คำแปลหน้า ๔๒ ย่อหน้าสุดท้ายได้แปล “it appears” ว่า  “ก็เท่ากับเป็น” และ แปล “What seems clear” ว่า “สิ่งที่ปรากฏชัด” แต่หากอาศัยการถอดรหัสคำพิพากษาที่กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อนและหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ อย่างแตกต่างกัน เราอาจพิจารณาใช้คำแปลที่ผูกมัดศาลน้อยลง. นอกจากนี้ คำแปลแปล “frontier” ว่า “เขตแดน” แต่บทย่อใช้คำว่า “พรมแดน” ส่วนคำว่า “boundary” ทั้งคำแปลและบทย่อใช้คำว่า “เขตแดน” เหมือนกัน คำเหล่านี้อาจมีนัยสำคัญที่ต่างกันในทางพิจารณาของศาล แม้อนุสัญญาฯภาษาไทยจะใช้คำว่า เขตแดน และคำคู่ความของไทยจะใช้คำว่า “boundary line” แต่ในคำพิพากษาศาลกลับใช้คำว่า “frontier line” แทบทั้งหมด จึงเป็นอีกจุดที่สมควรพิจารณา.
       (๓.)     ผู้ทำหมายเหตุไม่ทราบว่าคำพิพากษาภาษาอังกฤษจากเว็บไซต์ศาลในปัจจุบันมีข้อความตรงกับฉบับที่ผู้แปลได้รับเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ หรือไม่ แต่สิ่งที่สัมผัสทราบได้จากคำแปล คือความทุ่มเทตั้งใจของผู้ทำคำแปลที่สามารถเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชนได้เพียงภายใน ๑๕ วันหลังศาลมีคำพิพากษาและมีคุณค่าแก่การศึกษาถึงทุกวันนี้. จึงขอฝากกำลังใจไปยังนักกฎหมายกระทรวงการต่างประเทศและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องหากจะร่วมกันเริ่มต้นจากการชำระคำแปลเอกสารประวัติศาสตร์สำคัญฉบับนี้ อีกทั้งข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็เพื่อประโยชน์ของอนุชนสืบไป.
       ๑๐.  กฎหมายระหว่างประเทศ
       
       การแก้ไขปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชาให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศมิได้ยึดติดอยู่กับเพียงคำพิพากษาหรือข้อตกลงบางฉบับเท่านั้น แต่ยังมีหลักการและกลวิธีที่เกี่ยวข้องอีกมาก เช่น หลักทั่วไปตามข้อ ๗๔ แห่งกฎบัตรสหประชาชาติหรือมติสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ ๒๖๒๕ เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๑๙๗๐ หรือการประยุกต์กลไกในระบบสนธิสัญญาแอนตาร์กติก ค.ศ. ๑๙๕๙ ที่ทุกฝ่ายต่างได้ เพราะทุกฝ่ายต่างยอม.
       (จบหมายเหตุท้ายคำพิพากษา)
       หมายเหตุ หมายเหตุท้ายคำพิพากษาฉบับนี้อ้างถึงคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหารขั้นเนื้อหาส่วนหลักฉบับภาษาอังกฤษ (ยังไม่รวมความเห็นเอกเทศและความเห็นแย้งของผู้พิพากษา) จากรายงานคำพิพากษา ICJ Reports 1962 (เลขหน้ามุมบน).
       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1595
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 15:37 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)