ครั้งที่ 264

8 พฤษภาคม 2554 18:44 น.

       ครั้งที่ 264 
       สำหรับวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2554
        
       “ยุบสภาผู้แทนราษฎร”
        
                 แม้ผมจะไม่อยู่ประเทศไทยหนึ่งเดือนแต่เมื่อเดินทางกลับมาก็พบว่าทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิม ก่อนเดินทางไปประเทศฝรั่งเศสเมื่อตอนต้นเดือนเมษายน ข่าวเรื่องนายกรัฐมนตรีจะยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นข่าวเด่น หนึ่งเดือนผ่านไปข่าวดังกล่าวก็ยังเป็นข่าวเด่นที่พาดหัวหนังสือพิมพ์ต่าง ๆ แต่ขณะที่เขียนบทบรรณาธิการนี้ (6 พ.ค.) ก็ยังไม่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรครับ
                 ผมโชคดีที่กลับมาทันได้อ่านข่าวของการประชุมคณะรัฐมนตรีนัดสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา อ่านจากหนังสือพิมพ์ทราบว่ามีวาระการประชุม 206 วาระ ประชุมกันตั้งแต่เช้าข้ามไปจนถึงตี 3 ของอีกวันหนึ่งซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีมนุษย์พันธุ์ไหนทำได้ ! ต้องดูเรื่องถึง 200 กว่าเรื่องซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของประเทศเกี่ยวข้องกับงบประมาณกว่าแสนล้านบาท ทำได้อย่างไรก็ไม่ทราบนะครับ ขนาดผมอยากได้นาฬิกาเรือนหนึ่งยังคิดแล้วคิดอีก วางแผนการใช้จ่ายเงินอย่างรัดกุมที่สุด กว่าจะตัดสินใจซื้อได้ก็เป็นอาทิตย์ สงสัยชีวิตนี้คงเป็นรัฐมนตรีไม่ได้แน่ ๆ นะครับเพราะขาดคุณสมบัติสำคัญคือคิดไวทำไวครับ
                 ผมไม่มีข้อสงสัยอะไรทั้งนั้นเกี่ยวกับการประชุมคณะรัฐมนตรี 2 - 3 ครั้งสุดท้ายที่มีการอนุญาต อนุมัติต่าง ๆ มากมาย ก็มาตรา 181 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันกำหนดไว้ชัดเจนว่า เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร  คณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เช่นหากจะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหากจะอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน รวมไปถึงการห้ามอนุมัติงานหรือโครงการและการกระทำที่มีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรียุคต่อไปด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าการที่นายกรัฐมนตรีประกาศล่วงหน้ามาเป็นเวลานานเกินกว่าหนึ่งเดือนว่าจะยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็เลยทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นข้อห้ามตามรัฐธรรมนูญที่ไม่สามารถทำได้ภายหลังการยุบสภาผู้แทนราษฎร เกิดขึ้นก่อนการยุบสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด
                 ต้องถามนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีดู สมมติกันเล่น ๆ ว่า หากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นอีกอย่างหนึ่งคือ การดำเนินการต่างๆ ตามมาตรา 181 แห่งรัฐธรรมนูญดังที่กล่าวไปแล้ว ห้ามทำ 1 เดือนก่อนยุบสภา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการประชุมคณะรัฐมนตรี 3 ครั้งสุดท้ายจะถือว่าขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181 หรือไม่
                 ถ้าตอบว่าขัด ผมไม่ทราบว่าเราจะเรียกการกระทำที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนที่ผ่านมาว่าอย่างไร จะเรียกว่าการทุจริตเชิงนโยบายได้หรือไม่ สิ่งนี้ก็คงต้องขอให้อดีต คตส. ที่มีส่วนสำคัญในการจัดการกับ “ระบอบทักษิณ” ช่วยตอบด้วยว่า การกระทำทั้งหลายนั้น “แตกต่าง” กับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในประเทศไทยหรือไม่และเราควรทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันครับ !!!
                 อ่านจากหนังสือพิมพ์ งบประมาณกว่าหกแสนล้านบาท ถูกใช้ไปในการประชุมคณะรัฐมนตรี 3 ครั้งสุดท้ายครับ !!!
                 กลับมาดูเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎรกันดีกว่า แม้ว่าผมจะไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรครั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ผมนำเสนอไปแล้วในบทบรรณาธิการหลาย ๆ ครั้งก่อนหน้านี้ แต่เนื่องจากเหตุผลของผมเป็นเพียงเหตุผลทางวิชาการแต่เหตุผลของนายกรัฐมนตรีเป็นเหตุผลทางการเมือง การยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องเกิดขึ้นเพราะนายกรัฐมนตรีรับปากไว้เป็นแม่นมั่นแล้วว่า อย่างไรก็ต้องยุบสภาผู้แทนราษฎรต้นเดือนพฤษภาคมแน่ ๆ ครับ !!
                 การยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ หากไปดูประวัติของการยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยก็จะพบว่าเกิดขึ้นมาแล้ว 12 ครั้งแล้ว ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2481 โดยมีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนครั้งสุดท้าย นายกรัฐมนตรีผู้ใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรในปี พ.ศ. 2549 คือ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร
                 การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา มีขึ้นเพื่อให้ฝ่ายบริหารสามารถ “ควบคุม” การทำงานของสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยเหตุผลดั้งเดิมของการยุบสภาผู้แทนราษฎรก็เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นในการทำงานระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภาหรือระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรด้วยกันเอง แต่อย่างไรก็ตาม เท่าที่ทราบไม่เคยมีรัฐธรรมนูญของประเทศไทยฉบับใดเลยที่กำหนดถึง “เหตุ” ที่นายกรัฐมนตรีจะนำมาใช้เพื่อเป็น “ฐาน” ในการยุบสภา คงบัญญัติไว้คล้าย ๆ กันคือพระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เท่านั้นเอง ซึ่งในต่างประเทศก็เป็นไปในทำนองเดียวกัน เพราะฉะนั้น การยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นดุลพินิจของฝ่ายบริหาร เป็นเครื่องมือที่ฝ่ายบริหารใช้ในการควบคุมการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้พรรคร่วมรัฐบาลสามัคคีกันอีกด้วย
                 ในทางทฤษฎีของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภานั้น แต่เดิมการยุบสภาผู้แทนราษฎรจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสภาผู้แทนราษฎรไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่น ทะเลาะกันเอง ขาดประชุมบ่อยจนทำให้เกิด “สภาล่ม” หรือมิเช่นนั้นก็ไม่ยอมออกกฎหมายที่รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้ ทำให้รัฐบาลทำงานไม่ได้ เหตุผลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุผลที่ถูกนำมาใช้เพื่อเป็นเหตุแห่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรในอดีตที่ผ่านมาทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบัน เหตุแห่งการยุบสภาผู้แทนราษฎรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การยุบสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นด้วยเหตุผลอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งเกิดการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง
                 ในสมัยที่พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 โดยปรากฏเหตุผลอยู่ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรว่า จำเป็นต้องยุบสภาผู้แทนราษฎรเพราะอาจเกิดความขัดแย้งและความรุนแรงอันเนื่องมาจากวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบใหม่ เช่นเดียวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 โดย พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ให้เหตุผลของการยุบสภาไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 ว่า “...ต่อมาได้เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น ซึ่งแม้ระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่าจะมีการเผชิญหน้าจนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย และอาจมีการสอดแทรกฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองจุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวายสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ครั้นใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลอย่างเข้มงวดหรือแม้แต่รัฐบาลได้พยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกันทั้งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้างจนอาจเกิดการปะทะกันได้ สภาพเช่นว่านี้ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา และความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะในขณะนี้ ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดอง การดูแลรักษาสภาพของบ้านเมืองที่สงบร่มเย็นน่าอยู่อาศัยน่าลงทุน และการเผยแพร่ความวิจิตรอลังการ ตลอดจนความดีงามตามแบบฉบับของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลายและยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ ครั้นจะดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชนโดยประการอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบแล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยก็ทำได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทยคือการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมืองกลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป”
                 จากตัวอย่างทั้งสอง การยุบสภาผู้แทนราษฎรในประเทศไทยจึงมิได้จำกัดเฉพาะข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภาหรือข้อขัดแย้งภายในรัฐสภาเท่านั้น แต่การยุบสภาผู้แทนราษฎรอาจเกิดขึ้นได้จากเหตุผลร้อยแปดที่ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับรัฐบาลและรัฐสภาเลยก็ว่าได้ครับ
                 ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือฝรั่งเศส หลาย ๆ ครั้งเกิดการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อหาทางออกให้กับปัญหาทางการเมือง
                 เพราะฉะนั้น การยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นการกระทำที่ “ไม่มีเหตุผลเฉพาะ” กำหนดเอาไว้ที่ใดเลย เป็นเพียงประเพณีทางการเมือง ซึ่งประเพณีทางการเมืองก็เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ในวันนี้ จึงเกิดการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ปัญหาทางการเมืองหรือการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมืองขึ้น
                 การยุบสภาผู้แทนราษฎรจะมี “ข้อดี” หรือไม่ผมไม่ทราบ ต้องถามนายกรัฐมนตรีว่าประสงค์ต่อผลเช่นไรจึงยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่สำหรับผมนั้น การยุบสภาผู้แทนราษฎรเกิดผลกระทบอย่างมากต่อประเทศชาติเพราะทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารย่อมไม่สามารถทำงานใด ๆ ได้เช่นปกติ  และนอกจากนี้แล้ว การเลือกตั้งแต่ละครั้งก็ต้องใช้งบประมาณมากถึง 4 พันล้านบาท เกิดความสิ้นเปลืองต่องบประมาณของประเทศโดยไม่จำเป็นครับ
                 ส่วนผลที่เกิดขึ้นจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น ในทางทฤษฎี หากการยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปเพื่อหาทางออกให้กับข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎรหรือระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่ละกลุ่มแต่ละพรรค แน่นอนว่าประชาชนจะเป็นผู้ชี้ว่า ข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นใครถูกใครผิด เพราะหากประชาชนเห็นด้วยกับฝ่ายใดก็เลือกฝ่ายนั้นเข้ามาใหม่ แต่ถ้าหากการยุบสภาผู้แทนราษฎรเกิดขึ้นด้วยเหตุผลอื่นเช่นเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกันกับคำกล่าวที่ว่า นี่คือคืนอำนาจให้กับประชาชน เพราะในฐานะประชาชนผมก็ไม่แน่ใจว่าจะเลือกฝ่ายใดเข้ามาเพราะมองไม่เห็นข้อขัดแย้งใด ๆ ที่เกิดขึ้นจนนำไปสู่การยุบสภาผู้แทนราษฎร ตรงกันข้ามกลับรู้สึกเสียดายเงินหลายพันล้านบาทที่ประเทศชาติต้องเสียไปกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่ยังไม่ถึงเวลาครับ !!!
                 จากที่กล่าวไปทั้งหมด เห็นได้ว่า การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นอำนาจดุลพินิจของฝ่ายบริหารที่กว้างมาก มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน ทั้งนี้ เนื่องมาจากประเพณีปฏิบัติทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปและการที่รัฐธรรมนูญมิได้กำหนดเหตุผลของการยุบสภาผู้แทนราษฎรเอาไว้ว่าสามารถทำได้ในกรณีใดบ้าง
                 จึงมาสู่คำถามที่สำคัญคือ “ควรมีข้อจำกัดในการใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่” ครับ !!!
                 ในส่วนตัวแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าควรมีข้อจำกัดในการใช้อำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรหรือไม่ เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องใหญ่และต้องใช้เวลาศึกษาวิเคราะห์เปรียบเทียบ การเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ “ตายตัว” ว่านายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรในกรณีใดได้บ้าง แม้จะมี “ส่วนดี” คือมีการกำหนดกติกาไว้อย่างชัดเจน อย่างน้อยก็เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเอง  แต่ “ส่วนเสีย” ก็มีอยู่ เพราะหากเกิดข้อขัดแย้งที่หาทางออกใด ๆ ไม่ได้ เช่นข้อขัดแย้งทางการเมืองที่ประชาชนต้องการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่แต่ “เหตุผล” ของประชาชนไม่สอดคล้องกับ “เหตุผล” ของการยุบสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ “ทางตัน” ก็จะเกิดขึ้นและหากหาทางออกจาก “ทางตัน” ดังกล่าวไม่ได้ ความโกลาหลวุ่นวายครั้งใหญ่ก็จะตามมา
                 แต่ผมคิดว่า ควรมีมาตรการบางอย่างสำหรับนำมาใช้ประกอบกับอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร เช่น ก่อนใช้อำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรีต้องปรึกษาหารือกับประธานวุฒิสภาหรือประธานศาลรัฐธรรมนูญก่อนเพื่อความรอบคอบ   หรือในกรณีที่หากมีการกำหนดเหตุผลของการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ในรัฐธรรมนูญ ก็อาจกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญด้วยว่าต้องส่งร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบก่อนว่าเหตุผลในการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นเป็นเหตุผลที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่  ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อ “ประโยชน์” ของผู้มีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎรแต่ผู้เดียวครับ !!!
                
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 4 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของอาจารย์โชต อัศวลาภสกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่เขียนเรื่อง "ระบบศาลไทย" บทความที่สอง คือบทความเรื่อง "การร้องทุกข์ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนเยอรมัน" ที่เขียนโดยคุณคนันท์ ชัยชนะ นักกฎหมายกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา บทความที่สามเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "มองจีน มองไทย" และบทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณไกรพล อรัญรัตน์ นิสิตชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เขียนเรื่อง "ความเป็นอิสระขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กับมาตรการกำกับดูแลฝ่ายบริหารของเทศบาล ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พุทธศักราช 2496" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทุกบทความครับ   
        
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2554
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1586
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 14:18 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)