กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) ตอนที่ 2 (หน้าที่ 2)

27 กุมภาพันธ์ 2554 22:37 น.

       (๒) ช่วงที่สองของคำวินิจฉัย    ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ “วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น”  และการคัดค้านของผู้ร้อง(นายทะเบียนพรรคการเมือง)  หน้า ๑๐ - ๑๔  รวม ๔ หน้า
        
        ◊◊ ก่อนการไต่สวน  ผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ “วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น” [หมายเหตุ    ศาลไม่ได้ระบุว่า  คำร้องของผู้ถูกร้อง  ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ “วินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้น” ได้กระทำโดย “ เอกสารหมายใด” และ “ลงวันที่ใด” ]  ;  
       คำร้องขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชปง)  มี ๒ ประการ(หน้า ๑๑ - ๑๒) อาจสรุปสั้น ๆ ได้  ดังนี้
        
       • ประการที่ (๑)   คำร้องของผู้ร้อง(นายทะเบียน)  เป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนและมิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้  ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องเป็นคดีนี้ได้  ส่งผลให้มติของคณะกรรมการการเลือกตั้งขัดต่อกฎหมาย
             ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) เห็นว่า   มาตรา ๙๓ (พรบ.ฯ พ.ศ. ๒๕๕๐) บัญญัติเกี่ยวกับ “ผู้มีอำนาจทำความเห็น” ในการยุบพรรคการเมืองไว้  คือ นายทะเบียนเท่านั้น  ที่มีอำนาจวินิจฉัยว่า มีเหตุสมควรจะยุบพรรคการเมืองหรือไม่ เช่นเดียวกับบทบัญญัติ  มาตรา ๖๗ พรบ.ฯ พ.ศ. ๒๕๔๑ และ มาตรา ๙๕ พรบ.ฯ พ.ศ. ๒๕๕๐ ;  คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่มีอำนาจทำความเห็นในเรื่องดังกล่าวได้  เพียงแต่มีหน้าที่ให้ “ความเห็นชอบ”แก่นายทะเบียนพรรคการเมืองเท่านั้น  
             แม้ว่า “ประธานกรรมการเลือกตั้ง” จะได้เข้าร่วมประชุม ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓  แต่ก็เป็นการประชุมในฐานะที่เป็นกรรมการการเลือกตั้งคนหนึ่ง  มิใช่ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ;  ประเด็นกฎหมายข้อนี้ ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว  ดังปรากฎในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑-๒ /๒๕๕๐  และ คำวินิจฉัยที่ ๓ - ๕ / ๒๕๕๐ [ไม่ได้ระบุว่า  เป็นคดีระหว่าง “ใคร กับ ใคร” และมีประเด็นชี้ขาดในด้วยปัญหาข้อกฎหมายใด”]  
        •ประการที่ (๒)  ผู้ร้อง(นายทะเบียน) ไม่มีอำนาจยื่นคำร้องในคดีนี้  เพราะไม่ได้ดำเนินการภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  
              ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) เห็นว่า   ตาม พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๕๐  ให้ถือว่า  การใช้เงินจากกองทุนะพื่อการพัฒนาพรรคการเมอืง  เป็น “ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง” ซึ่งต้องร้องคัดค้านภายใน ๑๘๐ วัน นับแต่วันประกาศผลเลือกตั้ง  กรณีข้อกล่าวหาของผู้ร้องก็เช่นเดียวกัน  ก็ต้องยกขึ้นสืบสวนสอบสวนภายใน ๑๘๐ วัน  ส่วนเมื่อสอบสวนแล้ว ผลการพิจารณาจะใช้เวลาเท่าใด  ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 
            นอกจากนี้  กกต. ได้ตรวจสอบการใช้การใช้จ่ายเงินของ ปี ๒๕๘๘ ว่ามีความถูกต้องแล้ว  และสำนักงาน กกต.ได้เสนอผลการตรวจสอบรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมือง ให้ กกต.ทราบในการประชุม วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๕๐ ;  หาก กกต.มีเหตุอันควรสงสัย ก็ต้องกระทำภายใน ๑๘๐ วันเช่นเดียวกัน ; ด้วยเหตุผลดังกล่าว  ผู้ร้อง(นายทะเบียน)จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องในคดีนี้ 
        ◊◊ ผู้ร้อง(นายทะเบียน) ได้ยื่นคำร้อง  คัดค้านคำร้องขอให้ “วินิจฉัยชี้ขาดเปื้องต้น”   [หมายเหตุ    ศาลไม่ได้ระบุว่า  คำร้องคัดค้าน โดยผู้ร้อง  ได้กระทำโดย “ เอกสารหมายใด” และ “ลงวันที่ใด” ];  คำร้องคัดค้านของผู้ร้อง(นายทะเบียน)  มี ๒ ประการ(หน้า ๑๒ - ๑๔)  อาจสรุปได้ ดังนี้ 
        • ประการที่หนึ่ง  คณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่า ความเห็นของประธานกรรมการการเลือกตั้งหรือนายทะเบียนพรรคการเมือง เป็นไปตาม มาตรา ๙๓ วรรคสอง แล้ว (หน้า ๑๓)
              เมื่อกรมสอบสวนคดีพิเศษและนายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ ได้แจ้งเหตุต่อผู้ร้อง(นายทะเบียน)ทราบ   เพื่อความรอบคอบและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย  คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเห็นชอบให้แต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องคัดค้านฯ คณะที่ ๑๐  เป็น  “คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง” เพื่อประกอบการพิจารณาของผู้ร้อง 
               ต่อมาในการประชุมวันที่  ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ คณะกรรมการการเลือกตั้งได้พิจารณาความเห็นของ “คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง” ตามที่นายประพันธ์ นัยโกวิท สั่งให้นำเข้าที่ประชุม   ประกอบกับกรณีดังกล่าวนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้ให้ความเห็น ตามมาตรา ๙๕   คณะกรรมการการเลือกตั้งเสียงข้างมากจีงมีมติให้ส่งเรื่องให้ “นายทะบียน(ผู้ร้อง)” พิจารณา ข้อกล่าวหาทั้งสองประเด็นก่อน  
             หลังจากนั้น  ผู้ร้อง(นายทะเบียน)ได้แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบ” เพื่อให้ตรวจสำนวนของคณะกรรมการสอบสวนอีกครั้งหนึ่ง ;  และเมื่อผู้ร้อง (นายทะเบียน) ได้พิจารณาแล้ว มีความเห็นให้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  และในการประชุมวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๒  คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง  และมีเสียงข้างมากให้ดำเนินการตามมาตรา ๙๕  ทั้ง ๒ ข้อกล่าวหา โดยมีกรรมการเสียงข้างน้อย ๒ เสียง(ซึ่งรวมประธานกรรมการหรือนายทะเบียน)  เห็นว่าให้ดำเนินการตามข้อกล่าวหากรณีนี้ (กรณีที่สอง ตาม มาตรา ๙๓ วรรคสอง
              แต่เมื่อความปรากฎต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า     ผู้ร้อง(นายทะเบียน)  ได้มีความเห็น(ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๒) ให้กรณีข้อกล่าวหาที่ ๒  ดำเนินการตาม มาตรา ๙๓ ( มิใช่มาตรา ๙๕)คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงได้มีการประชุมอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓  เห็นชอบ “ตามความเห็นของผู้ร้อง (นายทะเบียน)  เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ “
                ดังนั้น   จึงเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วย มาตรา ๙๓ วรรคสอง ชอง พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา ๙๓ วรรคสองแล้ว (หน้า ๑๔) 
       • ในประเด็น เรื่อง การใช้จ่ายเงินกองทุนพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ;   ผู้ร้อง(นายทะเบียน)เห็นว่า  การใช้จ่ายเงินกองทุนฯในกรณีนี้  เป็นการฝ่าฝืน มาตรา ๘๒ แห่ง พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ. ๒๕๕๐  (หรือ มาตรา ๖๒ แห่ง พรบ.ฯ พ.ศ.. ๒๕๔๑)  ซึ่งเป็นเหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง ตาม มาตรา ๙๓ แห่งพรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ. ๒๕๕๐ (หรือ มาตรา ๖๕ แห่ง พรบ. ฯ พ.ศ. ๒๕๔๑)   มิใช่เป็น “กรณีคัดค้านค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง”  ตาม มาตรา ๑๑๔  แห่ง พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซี่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๐  (หรือ  มาตรา ๙๔ แห่ง  พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา   พ.ศ. ๒๕๔๑)  
              และกรณีการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมืองโดยไม่ชอบหรือโดยไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง  เป็นกรณีที่ไม่มีอายุความ  เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพบเหตุหรือมีความปรากฎ  คณะกรรมการฯสามารถหยิยยกเรื่องขึ้นพิจารณาได้ ตาม มาตรา ๑๒ ของ แห่งพรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง  พ.ศ. ๒๕๕๐ หรือตาม มาตรา ๒๓๖ (๕) ตามรัฐธรรมนูญได้
        
        ◊◊ ไม่ปรากฎในคำวินิจฉัย  ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้ “สั่ง” ประการใด  ในประเด็นที่ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) ขอให้มีการวินิจฉัยเบื้องต้นในข้อกฎหมายแต่อย่างใด  (?)  (หน้า ๑๔) 
        --------------------------------------------------------------------------
        (๓)ช่วงที่สามของคำวินิจฉัย  (การไต่สวนและการนำสืบ)  หน้า ๑๕ - ๒๐  รวม ๔ ๑/๒ หน้า
                 “ความสรุป” ของคำวินิจฉัยในช่วงนี้    ผู้เขียนจะนำไปกล่าวใน  “ส่วนที่สามการวิเคราะห์ปัญหาทั่วไป”)”  ในหัวข้อสุดท้าย(หัวข้อ ที่ ๔)  ว่าด้วยการวิเคราะห์  “ความเห็นในการวินิจฉัยคดี - ส่วนตน” ของตุลาการแต่ละท่าน   
                 [หมายเหตุ :  ผู้เขียนขอเรียนว่า  “สาระ”ในช่วงที่สาม (การไต่สวน และการนำสืบของ คู่กรณี)นี้  จะมีความสำคัญอย่างมากสำหรับการวิเคราะห์พฤติกรรมของตุลาการ   ถ้าหากศาลรัฐธรรมนูญ จะได้พิจารณาวินิจฉัยใน ประเด็น “สาระ” ของเรื่อง  ว่า  ผู้ถูกร้องพรรคประชาธิปไตย  ได้กระทำผิดจริงหรือไม่  (คือ ใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ถูกต้องหรือไม่  และทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน   ตรงตามความจริงหรือไม่)
                  แต่โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญ  ได้วินิจฉัยให้ยกคำร้อง โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นสาระของเรื่อง   ดังนั้น  ผู้เขียนจึงจะยังไม่นำ “สาระ” ของคำวินิจฉัยในตอนนี้ (ซึ่งผู้เขียนได้สรุปสาระไว้แล้ว) มากล่าวในส่วนที่สองนี้    ทั้งนี้  เพื่อมิให้ท่านผู้อ่านสับสนด้วยการอ่าน “ข้อเท็จจริง” ที่ยังไม่จำเป็นสำหรับการวิเคราะห์ คำวินิจฉัยที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ;   แต่ผู้เขียนจะนำความสรุปคำวินิจฉัยในช่วงนี้ ไปกล่าวใน  “ส่วนที่สามการวิเคราะห์ปัญหาทั่วไป”)”  ในหัวข้อสุดท้าย(หัวข้อ ที่ ๔)  ว่าด้วยการวิเคราะห์  “ความเห็นในการวินิจฉัยคดี - ส่วนตน”  เพราะในความเห็นส่วนตนดังกล่าว  ท่านตุลาการทุกท่านได้วินิจฉัยไปถึง”ประเด็น” ว่า  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) ได้กระทำความผิดจริงตามที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ ด้วย   ซึ่งท่านผู้อ่านจะได้อ่านเปรียบเทียบไปได้พร้อม ๆ กัน
                การเปรียบเทียบ  “ประเด็นและข้อเท็จจริง”  ที่ปรากฎในการไต่สวนและการนำสืบในคดีนี้ ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนรวม ได้เขียนไว้ใน “คำวินิจฉัยกลาง ”  กับ สาระที่ตุลาการแต่ละท่าน ที่ได้เขียนไว้ใน  “ความเห็นส่วนตน”    ดูจะเป็นสิ่งที่น่าสนใจในทางวิชาการ สำหรับการตรวจดู “พฤติกรรม” ของตุลาการ (ที่แสดงออกให้เห็นได้จากการเขียนให้เหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี) ;  และ ดังนั้น ผู้เขียนจึงได้ตั้งไว้เป็น “หัวข้อ”หนึ่งโดยเฉพาะสำหรับการวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้ในบทความนี้   และจะค่อย ๆ เขียนต่อไป ]
        --------------------------------------------------------------------------
       (๔ ) ช่วงที่สี่ของคำวินิจฉัย   (ข้อเท็จจริงที่คู่กรณีรับกัน และฟังเป็นที่ยุติ)  หน้า ๒๐ - ๒๘  รวม  ๘ ๑/๒ หน้า
                ความในช่วงที่ ๔ นี้   แยกได้เป็น ๒ ตอน  คือ  ตอนแรก  เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องอำนาจของ “นายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาติ)”   ซึ่งส่วนใหญ่  เป็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการดำเนินการของนายทะเบียนพรรคการเมืองและการประชุมของ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง”   ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่แน่ชัดทางราชการ      และตอนที่สอง  เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่เกี่ยวกับ การใช้จ่ายเงินของผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) ตามโครงการจัดทำป้าย  (รายการเช็ค จำนวน ๕ ฉบับ)   
          
       ◊◊   ตอนที่ ๑ เป็น “ข้อเท็จจริง” ที่เกี่ยวกับประเด็นเรื่องอำนาจของ “นายทะเบียนพรรคการเมือง (นายอภิชาติ)” (หน้า ๒๐ - ๒๗  รวม ๖ /๑๒ หน้า)  มีความว่า
       • นายทะเบียนพรรคการเมือง ได้รับจดทะเบียนพรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมือง ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ (เอกสาร หมาย ร ๑)  และ ผู้ถูกร้องเป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนตามกฎหมาย
             - สิงหาคม ๒๕๔๗  ผู้ถูกร้องได้จัดทำโครงการและแผนงานเพื่อขอรับ(การ)สนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง  โดยมีโครงการและแผนงานการใช้จ่ายในการเลือกตั้งอยู่ด้วย  ๔ โครงการ และในส่วนที่ถูกกล่าวหาเป็นคดีนี้  มี ๒ โครงการ คือ (๑) โครงการทำป้ายริมทางหลวง(บิลล์บอร์ด) จำนวน ๑๐ ป้าย วงเงิน ๑๔ ล้านบาท ขอรับเงินสนันสนุน ๗ ล้านบาท  และ (๒) โครงการทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ (ฟิวเจอร์บอร์ด) (๑.๓๐ เมตร คูณ ๒.๔๐ เมตร) จำนวน ๑๐๐.๐๐๐ ป้าย ป้ายละ ๓๐๐ บาท  วงเงิน ๓๐ ล้านบาท ขอรับเงินสนับสนุน ๑๕ ล้านบาท
              - พฤศจิกายน ๒๕๔๗ (วันที่ ๑๙)  คณะกรรมการกองทุนฯ อนุมัติสนับสนุนตามโครงการและแผนงานของผู้ถูกร้อง จำนว๒๑ โครงการ   วงเงิน ๖๘.๗ ล้านบาท
              - มกราคม ๒๕๔๘ (วันที่ ๔) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โอนเงินกองทุนให้ พรรค ปชป. ๕๕.๗ ล้านบาท (รวมโครงการ ที่ถูกกล่าวหา ๒ โครงการ) (เอกสาร ร ๔)
              - มกราคม ๒๕๔๘ (วันที่ ๖) มี พรฎ กำหนดให้มี “การเลือกตั้งทั่วไป” (เอกสาร ถร ๘๑)
              - มกราคม ๒๕๔๘ (วันที่ ๑๐) พรรค ปชป. ขอปรับปรุงโครงการ คือ (๑) โครงการทำป้ายริมทางหลวง(บิลล์บอร์ด) จาก ๑๐ ล้านบาท(?)  เหลือ ๒ ล้านบาท และนำ ๘ ล้านบาทมาเพิ่มในโครงการที่สอง ; (๒) โครงการป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ จากเดิม ๑๙ ล้าน เป็น ๒๗ ล้านบาท  ซึ่งฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการกองทุนแจ้งการอนุมัติของคณะกรรมการทราบ ในวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๔๘  (เอกสาร ร ๕, ร ๑๑๑,  ร ๑๑๒, ถร ๔๗, ภร ๔๙ )
              -  มีนาคม  ๒๕๔๙ (วันที่ ๒๘)  ผู้ถูกร้องโดยนายอภิสิทธิ (ศาลไมได้ระบุตำแหน่งของนายอภิสิทธิ) ได้รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ในรอบปี ๒๕๔๘ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง
                -พฤษภาคม ๒๕๕๑ (วันที่ ๒๖)  สิบตำรวจเอก ทชภร พรหมจันทร ยื่นหนังสื่อร้องทุกข์กล่าวโทษ  ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ  สอบสอนผู้ถูกร้อง(พรรค ปชบ.) กรณีรับเงินจากบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด(มหาชน)  โดยผ่านทางบริษัทเมซไซอะ ฯ (นายคณาปติ หรือนายประจวบสังขาว กรรมการผู้จัดการ) ทำทีเป็นสัญญาว่าจ้างทำการประชาสัมพันธ์ และนำเงินที่ได้ไปโอนให้ผู้ใกล้ชิด ฯ  (เอกสาร ร. ๑๘)
                - มีนาคม ๒๕๕๒ (วันที่ ๑๗)  กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหนังสือลับ ถึงผู้ร้อง(นายทะเบียน)  เรื่องกรณีพรรคการเมืองฝ่าฝืน พรบ. พรรคการเมือง พาดพิงถึงผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.)  ๒ กรณี คือ   (๑) กรณีรับเงินบริจาก จาก บริษัท ทีพีไอ  โพลินฯ  โดยทำสัญญาว่าจ้างเป็น “นิติเกรรมอำพราง” เพื่อหลีกเลี่ยงการรายงานการรับเงินบริจาคตามกฎหมาย  และ (๒) กรณีการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ไม่เป็นไปตามกฎหมาย  และการจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน  ไม่ถูกต้องตรงตามความจริง  (เอกสาร ร ๘)
                -มีนาคม ๒๕๕๒  (วันที่ ๒๖) นายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์  ส.ส.พรรคเพื่อไทย มีหนังสือถึง ผู้ร้อง(นายทะเบียนขอให้ตรวจสอบผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) และคณะกรรมการบริหารพรรค กระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง (เอกสาร ร ๙)
         
       • คณะกรรมการการเลือกตั้ง (หน้า ๒๔)  แต่งตั้ง “คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน”  และมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง  เพื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมการสืบสวนสอบสอน  อีก ๓ ครั้ง รวมเป็น  ๔ ครั้ง  ดังนี้
              - เมษายน ๒๕๕๒ (วันที่ ๓๐)  ที่ประชุมเห็นว่า   เมื่อมีความปรากฎต่อ กกต.  เพื่อให้ได้ข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณา  จึงได้มีมติแต่งตั้ง  ให้คณะอนุกรรมการวินิจฉัยเรื่องคัดค้าน คณะที่ ๑๐  ( นายอิศระ หลิมศิริวงษ์ เป็นประธาน )  เป็น “คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน”  เพื่อเสนอความเห็นต่อ กกต. ภายใน ๓๐ วัน (เอกสารหมาย ร ๑๐ และ ถร ๒๐)
              - สิงหาคม ๒๕๕๒ (วันที่ ๒๕)  ที่ประชุมพิจารณารายงานของ “คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน”   ซึ่งมีความเห็นในข้อกล่าวหากรณ๊ที่ ๑ (การรับเงินจากบริษัททีพีไอ โพลีน ฯ )  โดยเสียงข้ามมาก  ว่า ไม่ปรากฎมูลความผิด  และเห็นควรยุติเรื่อง  และมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ในข้อกล่าวหากรณ๊ที่ ๒ (การใช้จ่ายเงินสนับสนุน) ว่า  ไม่พบมูลความผิด  และเห็นควรยุติเรื่อง   ;  และที่ประชุมเห็นว่า  การสอบสวนบุคคลและการตรวจสอบเอกสารที่เกี่ยวข้องยังไม่ครบถ้วน จึงให้”คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน” ดำเนินการให้ครบถ้วนทุกประเด็น ภายใน ๓๐ วัน (เอกสารหมาย ร ๑๐๒ และ ถร ๒๑)
              - พฤศจิกายน ๒๕๕๒ (วันที่ ๑๐) ที่ประชุมพิจารณารายงาน(เพิ่มเติม)ของ “คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน” ซึ่งยืนยันตามความเห็นเดิมทั้ง ๒ กรณี ; ที่ประชุม มีมติซ้ำ ให้คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน” เชิญบุคคลมาให้ถ้อยคำ และสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ ๒ ภายใน ๓๐ วัน (เอกสารหมาย ร ๑๘๐ และ ถร ๒๑)
                 -ธันวาคม ๒๕๕๒ (วันที่ ๑๗) ที่ประชุมพิจารณารายงาน(เพิ่มเติม( ครั้งที่ ๒ ) ของ “คณะกรรมการสืบสวนสอบสวน” ซึ่งยังคงยืนยันตามความเห็นเดิมทั้ง ๒ กรณี  ที่ประชุมมีมติด้วย “เสียงข้างมาก” ให้ส่งให้ “นายทะเบียนพรรคการเมือง” พิจารณาตามมาตรา ๙๕ (พรบ. พรรคการเมือง)  ทั้งสองกรณี  ;  โดยเสียงข้างมาก ได้แก่ นายประพันธ์ นัยโกวิท, นางสดศรี สัตยธรรม, และ นายสมชัย จึงประเสริฐ ; และ เสียงข้างน้อย ได้แก่  นายอภิชาต สุขัคคานนท์ (ประธานกรรมการเลือกตั้งและนายทะเบียน)  ซึ่งเห็นควรยกทั้ง ๒ กรณี  และนายวิสุทธิ์  โพธิแท่น  ซึ่งเห็นควรส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในกรณีที่ ๑ (การรับเงินจากบริษัททีพีไอ โพลีน ฯ )  และยกคำร้องในกรณีที่ ๒ (การใช้จ่ายเงินสนับสนุน) (เอกสารหมาย ร ๒๒๗ และ ถร ๒๑)
        
       •  นายทะเบียนพรรคการเมือง(หน้า ๒๕)  แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบ” และมีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้งอีก  ๒ครั้ง  ดังนี้
               -ธันวาคม ๒๕๕๒ (วันที่ ๒๙)  นายทะเบียนพรรคการเมือง  แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจสอบ” (ม.ล. ........   เป็นประธาน)  (เอกสารหมาย ร ๑๒ และ ร๒๒๘)
               -เมษายน  ๒๕๕๓ (วันที่ ๑๒)  คณะกรรมการตรวจสอลทำรายงานเสนอต่อนายอภิชาตในฐานะนายทะเบียน  และนายอภิชาตในฐานะนายทะเบียนได้มีบันทึกความเห็น (ท้ายรายงานของคณะกรรมการตรวจสอบ) ว่า  “พิจารณาแล้ว เห็นว่า  ...... อาจมีการกระทำตามมาตรา ๙๔ (?)  แห่ง พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญอันควรสู่การพิจารณามีมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง .......” ; และ นายอภิชาต (ในฐานะประธานกรรมการการเลือกตั้ง)  เรียกประชุม กกต. ในวันเดียวกัน  พิจารณารายงานของ “คณะกรรมการตรวจสอบ (เอกสาร ร ๑๓)
                 -เมษายน ๒๕๕๓ (วันที่ ๑๒) ที่ประชุม มีมติเอกฉันท์ให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์  และโดยเสียงข้างมาก มีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองแจ้งต่ออัยการสูงสุด  เพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๙๕ (โดยเสียงข้างน้อย  ๒ เสียง  ได้แก่  (๑) นายอภิชาติ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง มีความเห็น(ส่วนตน)ว่า “ให้นายทะเบียนฯยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน ๑๕ วัน ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง และ(๒)นายวิสุทธิ์  โพธิแทน เห็นว่า  สมควรส่ง (กรณีนี้) ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย (โดยไม่อ้าง มาตรา  (?))  เพราะมีข้อเท็จจริงบางอย่างเพิ่มเติมมา  คือ การรายงานการใช้จ่ายที่ไม่ตรงความเป็นจริง (เอกสาร ร..๑๔ และ ร ๒๒๙)
        
                 -เมษายน ๒๕๕๓ (วันที่ ๒๑) ที่ประชุมเห็นว่า   เมื่อนายอภิชาต(ประธานกรรมการการเลือกตั้งมีความเห็นว่า “ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายใน ๑๕ วัน ตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง” (มิใช่ตาม มาตรา ๙๕ ตามที่ ที่ประชุมได้เคยมีมติ ในวันที่ ๑๒ เมษายน) จึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมในข้อกล่าวหาข้อที่ ๒ (การใช้จ่ายเงินสนับสนุนของผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.))    และที่ประชุมได้มีมติเป็นเอกฉันท์  ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตาม มาตรา ๙๓ วรรคสอง
          เมษายน ๒๕๕๓ (วันที่  ๒๖)  ผู้ร้อง(นายทะเบียน) ยื่นคำร้องเป็นคดีนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ
       ◊◊  ตอนที่สอง   “ข้อเท็จจริง” เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองที่เป็น “การกระทำความผิดตามกฎหมายการเมือง”    (หน้า ๒๗ - ๒๘ รวม ๑ ๑/๒ หน้า)
            ความในตอนนี้  ไม่มีสาระประการใด   เพราะแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะกล่าวว่า  เป็นข้อเท็จจริงที่ “เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินในการดำเนินการตามโครงการจัดทำป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ “ฟิวเจอร์บอร์ด” ของผู้ถูกร้อง ปรากฎเอกสารหลักฐาน  ดังนี้”    แต่เอกสารในคำวินิจฉัย ก็มีแต่  เฉพาะรายการ “เช็ค” ของผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) ที่จ่ายให้แก่บริษัทต่าง ๆ   รวมทั้งหมด  ๕ ฉบับ  และไม่มีเอกสาร(สำคัญ) อื่น  เช่น ใบเสร็จรับเงิน /ใบแจ้งหนี้ / ฯ  หรือบัญชีการเงินประจำปีของบริษัทที่รับจ้างทำป้าย  ฯลฯ
            เช็คจำนวน ๕ ฉบับดังกล่าว  เป็นเช็คที่ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘   จำนวน ๔  ฉบับ และ เป็นเช็คลงวันที่ ๑๒  มกราคม  ๒๕๔๘  อีกหนึ่งฉบับ ดังนี้
        (๑) เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่ บริษัท เมซไซอะ  ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  (จำนวนเงิน ๒๓.๓ ล้านบาท)  ;  บริษัทอออก ใบแจ้งหนี้ / ต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน / ต้นฉบับใบกำกับภาษี  ของบริษัท  ทั้ง ๓ ฉบับ  ลงวันที่  ๗  มกราคม ๒๕๔๘  และใบสำคัญรับเงิน ของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  จำนวนเงิน ๒๓.๙ ล้านบาท (เอกสารหมาย ร ๘๔, ร ๙๓, ร ๑๑๑, ร๑๑๔ และ ถร ๔๒)
       (๒) เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่ บริษัท เกิดเมฆ แอ๊ดเวอณืไทซิ่ง   ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ ;   บริษัทออกใบเสร็จรับเงิน / ใบกำกับภาษี  ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๕๓  และใบสำคัญรับเงิน ของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘   (เอกสารหมาย ร ๑๑๔ และ ถร ๔๖)
       (๓)เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่ บริษัท ป๊อปปูล่า อินเตอร์พลาส  ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ ;  บริษัทออกต้นฉบับใบกำกับภาษี / ใบส่งของ ลงวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๗   และต้นฉบับใบเสร็จรับเงิน วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  (เอกสารหมาย ร ๑๑๔  และ ถร ๔๔)
        (๔) เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่ บริษัทอุตสาหกรรม อีโคพลาส ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘ ; บริษัทออก ใบกำกับภาษี / ใบเสร็จรับเงิน / ใบส่งสินค้า / สำเนาใบกำกับภาษี  ลงวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๔๗  ทั้ง ๔ ฉบับ  และใบสำคัญรับเงิน ของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ลงวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๘  (เอกสารหมาย ร ๑๑๔ และ ถร ๔๓)
       (๕) เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่  บริษัท วินสันสกรีน  ลงวันที่ ๑๒  มกราคม ๒๕๔๘ ;  บริษัทออกใบเสร็จรับเงิน วันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๘  ระบุว่าเป็นการชำระหนี้ตามใบส่งของ ๑๔ ฉบับ (ไม่มีรายละเอียดของ ใบส่งของ)  และใบสำคัญรับเงิน ของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) วันที่ ๑๒  มกราคม ๒๕๔๘  (เอกสารหมาย ร ๔๔ และ ถร ๔๕)
       (๕)  เช็คผู้ถูกร้อง(พรรคปชป.)  จ่ายให้แก่ บริษัทวินสกรีน จำกัด  ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๘ ;  บริษัทออกใบเสร็จรับเงิน ๑๑ มกราคม ๒๕๔๘  (!)(!)   ระบุเป็นการชำระหนี้ตามใบส่งของ  ๑๔ ฉบับ  และใบสำคัญรับเงินของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๘
        --------------------------------------------------------------------------
          (๕)ช่วงที่ห้าของคำวินิจฉัย   (การตั้งประเด็น และ การพิจารณา/ วินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ )  หน้า ๒๙ - ๔๑  รวม ๑๒  หน้า
                 โดยที่“สาระ”ในช่วงนี้ของคำวินิจฉัย(อย่างเป็นทางการ) ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓   เหมือนกัน สาระของ คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ)” ทั้งฉบับ [ หมายเหตุ โดยมีข้อความที่เปลี่ยนแปลงไป เพียง “ประโยค”เดียว ซึ่งไม่มีสาระสำคัญแต่อย่างใด ]  เว้นแต่  ในตอนสุดท้าย  ที่เป็น “ข้อยุติ” ของคำวินิจฉัยที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ (หน้า ๔๑)  ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เขียนเพิ่มเติมขึ้น จากข้อความเดิม        
       • โดยข้อความเดิมมีว่า  “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (๔ ต่อ ๒) ว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  กรณีไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่นต่อไป  ให้ยกคำร้อง”  แต ข้อความที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เขียนพิ่มเติมขึ้นจาก “คำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการ”  มีดังนี้  [หมายเหตุ  โดยผู้เขียนได้ปรับ ”การเขียนย่อหน้า”จากต้นฉบับคำวินิจฉัยของศาลเล็กน้อย  เพื่อให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น ]
                “ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยโดยเสียงข้างมาก (๔ ต่อ ๒) ว่า กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
              (ผู้เขียนย่อหน้าให้) โดยฝ่ายข้างมาก ๑ ใน ๔ เสียง ให้เหตุผลว่า  คดีนี้ถือว่า  ความปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองและคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ให้ความเห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมืองยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ แล้ว การยื่นคำร้องตามข้อกล่าวหาคดี  จึงพ้นระยะเวลาสิบห้า (๑๕) วันตามที่กฎหมายกำหนด
           ส่วนฝ่ายข้างมาก ๓ ใน ๔ เสียง ให้เหตุผลว่า ความไม่ปรากฎต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่ามีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายอันจะเป็นเหตุให้ต้องยุบพรรคผู้ถูกร้อง  และนายทะเบียนพรรคการเมืองยังมิได้มี “ความเห็น” ว่า มีเหตุให้ต้องยุบพรรคผู้ถูกร้องตามมาตรา ๙๓ วรรคสอง ทั้งนายทะเบียนพรรคการเมืองก็ยังมิได้เสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่อย่างใด  สำหรับ“ความเห็น”ของประธานกรรมการการเลือกตั้งในการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓  มิใช่การทำ”ความเห็น”ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง  กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคการเมือง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
                อาศัยเหตุผลดังกล่าว  ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยยกคำร้อง ”
       =========================================
        
       ตอนที่ ๓   สรุป(โครงสร้าง)ของ “ความเห็นในการวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการแต่ละท่าน
                ก่อนอื่น  ผู้เขียนคงต้องขอถามท่านผู้อ่านก่อนว่า  ท่านผู้อ่านเคยรู้สึกประหลาดใจบ้างหรือไม่  ว่า เมื่อท่านอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญจบลง  และทราบว่าในการวินิจฉัยของศาลนั้น มี “เสียงข้างมาก” และ “เสียงข้างน้อย”  แต่ท่านไม่สามารถทราบได้ว่า  ตุลาการเสียงข้างมาก / เสียงข้างน้อยนั้น คือ “ใคร”  ;  และท่านจะต้องไปเปิดอ่านตอนท้ายของ “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการ   ที่จัดพิมพ์อยู่ใน “ราชกิจจานุเบกษาเล่มเดียวกัน  จนครบองค์คณะทุกคนแล้ว   ท่านจึงจะทราบว่า  ตุลาการเสียงข้างมาก / เสียงข้างน้อย ได้แก่ ตุลาการท่านใด บ้าง  ;  แต่นี่ ก็คือ  “มาตรฐานการเขียนคำวินิจฉัย” ของศาลรัฐธรรมนูญ   ที่เป็นศาลสูงสุดของประเทศไทย  และเราทำกันมาเช่นนี้  นับเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว 
                  ในคำวินิจฉัย ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓  ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ (แต่เขียนเสร็จ และเผยแพร่ ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ หลังการอ่านคำวินิจฉัยอย่างไม่เป็นทางการไปแล้ว ๙ วัน)  คดีระหว่าง นายทะเบียนพรรคการเมือง  vs  พรรคประชาธิปัตย์   มี “เสียงข้างมาก / เสียงข้างน้อย” ในการวินิจฉัยชี้ขาด    ดังนี้
       •  ตุลาการฝ่ายข้างมาก  ๔ ท่าน   ที่ วินิจฉัยให้ “ยกคำร้อง”ของนายทะเบียนพรรคการเมือง  ได้แก่  นายจรัล ภัคดีธนากุล  นายนุรักษ์ มาปราณีต  นายสุพจน์ ไข่มุกด์ และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
              โดยตุลาการเสียงข้างมากมีความเห็น แยกกันเป็น  ๒ เหตุผล คือ   ตุลาการ ๓ ท่าน   ให้ยกคำร้อง เพราะเหตุนายทะเบียนไม่ได้ทำ “ความเห็น” ก่อนเสนอเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาได้แก่  นายจรัล ภัคดีธนากุล ,  นายนุรักษ์ มาปราณีต,  นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ; และ ตุลาการ ๑ ท่าน ที่เห็นให้ยกคำร้อง  เพราะเหตุนายทะเบียน “ไม่ได้ยื่นคำร้อง” ภายในกำหนดเวลา ๑๕ วัน   ได้แก่  นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี
       • ตุลาการฝ่ายข้างน้อย  ๒ ท่าน ที่วินิจฉัยให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์  ได้แก่ นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ    และนายบุญส่ง กุลบุบผา
               โดย นายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ   ให้ (๑) ตัดสิทธิการจดแจ้งหรือมีส่วนร่วมในการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ (ของผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ในขณะนั้น) มีกำหนด ๕ ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรค)   (๒) ตัดสิทธิการเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง (ของผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค ในขณะนั้น) มีกำหนด ๕ ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรค และ (๓) ให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ๒ คน คือ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และนายประดิษฐ ภัทรประสิทธิ มีกำหนด ๕ ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรค
               นายบุญส่ง กุลบุบผา  ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  ให้ (๑) ตัดสิทธิการขอจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่  (ของผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารพรรค ปชป.ในขณะนั้น) มีกำหนด ๕ ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองต้องยุบ   และ (๒) สิทธิการเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่  (ของผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารพรรค ปชป.ในขณะนั้น) มีกำหนด ๕ ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองต้องยุบ , คำขออื่นของผู้ร้อง(นายทะเบียน)  ให้ยก
            อันที่จริง  โดยปกติ  นอกเหนือจากการอยากทราบข้อเท็จจริง ว่า  “ใคร” คือ ตุลาการเสียงข้างมากและเสียงข้างน้อยในการวินิจฉัยแล้ว  ““คำวินิจฉัย -ส่วนตน” ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ”   ก็ดูเหมือนว่า   จะเป็น “เอกสารที่ไม่คุ้มค่าของเวลา”ที่จะอ่าน   และผู้เขียนก็เชื่อว่า  คงเกือบไม่มีบุคคลภายนอกหรือนักวิชาการคนใด  ที่สนใจจะอ่าน “คำวินิจฉัย - ส่วนตน”(ของตุลาการ)   เพราะ”เหตุผล”ของการวินิจฉัยคดี  ก็รู้ ๆ กันอยู่แล้วจากการอ่านคำวินิจฉับกลาง  ;  ตุลาการบางท่านก็เขียน คำวินิจฉัย -ส่วนตนยาว  บางท่านก็เขียนสั้น   ทั้งนี้แล้วแต่สำนวนความของตุลาการแต่ละท่าน  และตุลาการบางท่านก็เขียนความเห็นส่วนตน  ยาวนับเป็นร้อยหน้า ;  และ ”ข้อความ” ส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในคำวินิจฉัย -ส่วนตนของตุลาการ  ก็จะซ้ำกัน    และบางท่านก็เอาสาระของคำวินิจฉัยกลางมาเขียนโดยสลับปรับเปลี่ยนสำนวนเสียใหม่ เพื่อให้ดูแตกต่างกับคำวินิจฉัยกลาง ฯลฯ  ;    แต่  ข้อที่สำคัญ   ก็คือ   ผู้ที่อ่านคำวินิจฉัย -ส่วนตนของตุลาการดังกล่าว ใม่สามารถทราบได้ว่า ข้อความส่วนใด(ในคำวินิจฉัย -ส่วนตน)  ที่เป็น “เหตุผล” ที่มีความสำคัญเป็นพิเศษและเป็นความเห็นโดยเฉพาะ ของท่านตุลาการเจ้าของคำวินิจฉัย - ส่วนตน   ที่แตกต่างไปจาก  เหตุผล(รวม)ที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัยกลาง  (และก็คงไม่มีนักวิชาการหรือผู้ที่สนใจผู้ใด  จะเสียเวลาอ่านไปค้นหา)
           แต่ถ้าจะพิจารณาในทางวิชาการ  ผู้เขียนเห็นว่า   “คำวินิจฉัย - ส่วนตน” มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการตรวจสอบ “พฤติกรรม”ของตุลาการ (ที่แสดงออกให้เห็นได้จากการเขียนให้เหตุผลในการวินิจฉัยชี้ขาดคดี)   และผู้เขียนเองเคยคิดจะทำการวิเคราะห์มาหลายครั้งแล้ว  แต่ก็ไม่ได้ทำ  ด้วย “เหตุ”ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  คือ ใช้เวลาเขียนมากและได้ประโยชน์น้อยไม่คุ้มค่าของเวลาที่เสียไป  (คือ  คนอ่านทั่วไปมองไม่เห็น “ประโยชน์”  ที่จะได้จาก“การวิเคราะห์”) เมื่อเปรียบเทียบกับการเอาเวลาไปเขียนบทความเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง ที่เป็นสิ่งสำคัญกว่าและเร่งด่วนมากกว่า ไม่ได้
                 ในส่วนที่สองนี้  ผู้เขียนจะขอสรุปเฉพาะ  โครงสร้าง ของ “ความเห็นในการวินิจฉัย - ส่วนตน” ของตุลาการแต่ละท่านในคดีนี้   พอให้ท่านผู้อ่านพอมองเห็น “รูปร่างของความคิด”  ของตุลาการเจ้าของคำวินิจฉัย - ส่วนตน ;   แต่สำหรับการวิเคราะห์ เพื่อตรวจสอบ พฤติกรรม ของตุลาการ ( ที่แสดงให้เห็นได้จากสาระที่อยู่ในคำวินิจฉัย -ส่วนตน  ซึ่งได้แก่  วิธีการบรรยายและความสมบูรณ์ของการอธิบาย “เหตุผล” ในการวินิจฉัยชึ้ขาดคดีของตุลาการแต่ละท่าน) นั้น   ผู้เขียนได้ลองตั้ง “หัวข้อ” ไว้เขียนโดยเฉพาะ (หัวข้อที่ ๔ ของส่วนที่ ๓) ซึ่งผู้เขียนก็ยังไม่ทราบว่า  เมื่อเขียนออกมาแล้ว  จะมีความยาวสักเพียงใด  และจะทำให้สั้นและทำให้อ่านเข้าใจง่าย ๆ  ได้อย่างไร  (คงต้องค่อย ๆ คิดไป - เขียนไป)
                         คำวินิจฉัย - ส่วนตน ของตุลาการทุกท่าน  เริ่มต้นด้วย การกำหนด “ประเด็นวินิจฉัย” ไว้ ๕ ประเด็น (ตรงตามที่กำหนดไว้ ในคำวินิจฉัยกลาง) ;  และ ในการสรุปประเด็น ๕ ประเด็นนี้   ผู้เขียนจะแยกประเด็น ๕ ประเด็นนี้  ออกเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มหนึ่ง  เป็นประเด็นกลุ่มที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการวินิจฉัยแล้ว (ได้แก่ ประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สอง)  และอีกกลุ่มหนึ่ง  เป็นกลุ่มที่ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้วินิจฉัย  (ได้แก่ ประเด็นที่สาม / ที่สี่ / ที่ห้า)  ซึ่งน่าจะเป็นประเด็นที่ควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ(สำหรับการตรวจสอบพฤติกรรมของตุลาการ)   โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ประเด็นที่สามและประเด็นที่สี่   ว่าด้วย  พรรคประชาธิปัตย์ ใช้จ่ายเงินที่ได้รับกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ไปอย่างไร และได้เงินมาจากที่ใด    
               ในที่นี้  ผู้เขียนจะขอสรุปโดยเริ่มจาก ความเห็นของท่านตุลาการที่เป็น “เสียงข้างมาก”ที่ยกคำร้องของนายทะเบียนฯ  ก่อน ;   ทั้งนี้ โดยขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบในเบื้องต้น  ว่า   ตุลาการเสียงข้างมากทุกท่าน ( ๔ ท่าน) ที่ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง   ก็จะมีความเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กระทำผิด  และตุลาการเสียงข้างน้อยทุกท่าน (๒ ท่าน) ที่ให้รับเรื่องไว้พิจารณา  ก็จะมีความเห็นว่า  พรรคประชาธิปัตย์กระทำผิด
       ◊◊ (ก)  ความเห็นส่วนตน - ตุลาการเสียงข้างมาก ๔ ท่าน (ที่ให้ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง)
       •   ตุลาการเสียงข้างมาก  (ที่ให้ยกคำร้อง  เพราะเหตุที่นายทะเบียนไม่ได้ทำ “ความเห็น”เสนอ ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง)  จำนวน  ๓ ท่าน  มีดังนี้
       (๑)ความเห็นส่วนตน ของนายจรัญ ภักดีธนากุล   ยาว ๑๖ หน้า   
                ประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สอง (หน้า ๒ - ๙ รวม ๘ หน้า)เห็นควรพิจารณาประเด็นที่สองก่อนประเด็นที่หนึ่ง  และมีความเห็นดังนี้ :   ประเด็นที่สอง(หน้า ๒)  เห็นว่า   ในส่วนสารบัญญัติในคดีนี้  ต้องใช้ พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุฯ  แต่ในส่วนที่เป็นวิธีสบัญญัติ จะต้องใช้ พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย    ;  ประเด็นที่หนึ่ง(หน้า ๙)  เห็นว่า  การให้ความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน  เป็นการกระทำที่ผิดขั้นตอนของกฎหมายในส่วนสาระสำคัญ  จึงไม่มีผลตามกฎหมายที่จะให้นายทะเบียนพรรคการเมืองมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคผู้ถูกร้องได้
                  ประเด็นที่สาม / ที่สี่ / ที่ห้า มีความเห็น ดังนี้ :  ประเด็นที่สาม  (ผู้ถูกร้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนฯ เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติหรือไม่ )  หน้า๙ - ๑๔  ยาว  ๓ ๑/๒ หน้า  นายจรัล ได้กำหนด “ประเด็นย่อย” เพื่อพิจารณาไว้หลายประเด็น โดยพิจารณาเป็นรายประเด็น [ หมายเหตุ หากมีเวลา ผู้เขียนจะได้นำไปวิเคราะห์ ใน ส่วนที่สาม] และอาจสรุปความเห็นได้ว่า  ผู้ถูกร้องได้ใช้จ่ายที่ได้รับการสนับสนุนเป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว;ประเด็นที่สี่ (หน้า ๑๔ - ๑๕ ยาว ๑ หน้า) เห็นว่า  ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป. ได้จัดทำรายงานการใช้เงินสนับสนุน ถูกต้องตามความเป็นจริง แล้ว ;    ประเด็นที่ห้า(หน้า ๑๕) เห็นว่า เมื่อได้วินิจฉัยแล้วว่า  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) มิได้กระทำผิดตาม มาตรา ๖๒ แห่ง พรบ.ฯ พ.ศ. ๒๕๔๑ แล้ว  จึงไม่มีเหตุให้กรรมการบริหารพรรคผู้ถูกร้องในขณะนั้น ต้องถูกห้ามกิจกรรมทางการเมือง ตาม มาตรา ๖๙
        (๒)  ความเห็นส่วนตน ของนายสุพจน์ ไข่มุกด์  ยาว  ๑๕ หน้า   
                  ประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สอง หน้า ๕ -รวมหน้า (โดยหน้า ๒ -๔  เป็นบทบัญญัติของกฎหมาย)  เห็นควรพิจารณาประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สองรวมกัน  มีความเห็นดังนี้ (หน้า ๙):     กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง  ไม่ชอบด้วย   พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑  และ พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐   จึงไม่อาจยุบพรรคผู้ถูกร้องตามคำร้องของผู้ร้อง(นายทะเบียน) ได้
               ประเด็นที่สาม / ที่สี่ / ที่ห้า  มีความเห็นดังนี้  : ประเด็นที่สาม (หน้า ๑๐- ๑๔  ยาว ๔ ๑/๒ หน้า)   เห็นว่า(หน้า ๑๔)  พรรคผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.)ใช้จ่ายเงินที่ได้รับจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง ....เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุมติจากผู้ร้อง (นายทะเบียน) แล้ว ;  ประเด็นที่สี่  (หน้า ๑๔)  เห็นว่า  การที่ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป. ) ได้จัดส่งรายงานที่ผ่านการตรวจสอบและการรับรองจาก”ผู้สอบบัญชีอนุญาต (ตามกฎหมายว่าด้วยสภาการบัญชี  อันเป็นเรื่องที่มีการยอมรับกันเป็นสากล   และผู้ร้อง(นายทะเบียน)ได้ให้การรับรองแล้ว  จึงถือได้  ผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ได้จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนของพรรคการเมือง ในปี ๒๕๔๘  ถูกต้องตรงตามความจริง ;   ประเด็นที่ห้า (หน้า ๑๕) เห็นว่า กรณีไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นนี้
        (๓) ความเห็นส่วนตน ของนายนุรักษ์  มาปราณีต  ยาว ๙ หน้า   
                 ประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สอง (หน้า ๒ - ๖  รวม ๔ ๑/๒ หน้า)เห็นควรพิจารณาประเด็นที่สองก่อนประเด็นที่หนึ่ง  มีความเห็นดังนี้  :  ประเด็นที่สอง (หน้า ๖ - ๗  ยาว ๑  ๑/๒ หน้า)  เห็นว่า(หน้า ๒)   กรณียุบพรรค ปชป. ต้องพิจารณาตาม พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓  ; ประเด็นที่หนึ่ง  เห็นว่า(หน้า ๖)  การที่(ที่)ประชุมของคณะกรรมการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๕๓ มีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองฟ้องเป็นคดีนี้   ไม่ชอบตาม พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๙๓ วรรคสอง   ผู้ร้อง(นายทะเบียน) จึงยื่นคำร้อง ขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง  โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ; 
                ประเด็นที่สาม / ที่สี่ / ที่ห้า มีความเห็นดังนี้ ประเด็นที่สาม หน้า ๖ - ๗  ยาว ๑ ๑/๒ หน้า)เห็นว่า(หน้า ๗)  ผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน ฯ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๘  เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติแล้ว ;  ประเด็นที่ ๔ (หน้า ๘ ยาว ๑ หน้า)  เห็นว่า(หน้า ๘)   ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)  จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๘  ถูกต้องตามความจริง ;  ประเด็นที่ห้า (หน้า ๘)  เห็นว่า  เมื่อผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.)มิได้กระทำผิด  จึงไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นข้อนี้  
       •  ตุลาการเสียงข้างมาก  (ที่ยกคำร้อง  เพราะเหตุที่นายทะเบียน “ไม่ได้ยื่นคำร้อง” ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด ๑๕ วัน) จำนวน  ๑ ท่าน
       - ความเห็นส่วนตน ของนายอุดมศักดิ์ นิติไมตรี  ยาว ๒๕ หน้า  
              ประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สอง (หน้า ๒ - ๑๓  รวม  ๑๒ หน้า)  เห็นควรพิจารณาประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สองรวมกัน  มีความเห็นดังนี้:  เห็นว่า(หน้า ๘)  ในกรณีนี้  มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาถึง “ระยะเวลาในการดำเนินการของผู้ร้อง(นายทะเบียน)”  ตาม พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐  มาตรา ๙๓  วรรคสอง อันเป็นกฎหมายที่บังคับใช้ในคดีนี้    และ  เห็นว่า(หน้า ๑๓)   วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติเสียงข้างมากในการประชุมที่พิจารณารายงานของ “คณะกรรมการสืบสวนสืบสวน” (ชุดนายอิศระฯ เป็นประธาน) เป็นครั้งแรก  ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒  ถือว่าเป็น “วัน” ที่ความปรากฎต่อนายทะเบียน  และดังนั้น  เมื่อผู้ร้อง(นายทะเบียน) ยื่นคำร้องในคดีนี้ในวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ จึงพ้นระยะเวลา ๑๕ วันตามที่กฎหมายกำหนด ;  กระบวนการยื่นคำร้อง ขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย   
                 ประเด็นที่สาม / ที่สี่ / ที่ห้า  โดยพิจารณาประเด็นที่สามและประเด็นที่สี่ รวมกัน  มีความเห็นดังนี้: ประเด็นที่สาม(การใช้จ่ายเงินสนับสนุน ฯ ) และประเด็นที่สี่ (การจัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนฯ)  หน้า ๑๔ - ๒๕  ยาว ๑๑ ๑/๒ หน้า  เห็นว่า(หน้า ๒๕)  ผู้ถูกร้อง(พรรค ปชป.) ใช้จ่ายเงินที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมืองในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นไปตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ  และได้(ทำ)รายงานการใช้จ่ายเงิน  ถูกต้องตามความเป็นจริง  ตาม พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑     มาตรา ๖๒   กรณีจึงไม่มีเหตุให้ยุบสภา :  ประเด็นที่ห้า เห็นว่า (หน้า ๒๕)  ไม่จำเป็นต้องพิจารณา
        
       ◊◊ (ข) ความเห็นส่วนตน - ตุลาการเสียงข้างน้อย  ๒ ท่าน (ที่รับเรื่องไว้พิจารณา)
       (๑)  ความเห็นส่วนตน  ของนายชัช ชลวร ประธานศาลรัฐธรรมนูญ  ยาว ๒๒ หน้า 
               ประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สอง  (หน้า ๒ - ๘   ยาว  ๗  หน้า) เห็นควรพิจารณาประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สองรวมกัน    และมีความเห็นดังนี้  :  ประเด็นที่หนึ่ง (หน้า ๒ - ๓)   เห็นว่า  พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐  (มาตรา ๙๓) ได้บัญญัติเพิ่มเติม พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑  ในส่วนวิธีสบัญญัติ ที่เกี่ยวกับกระบวนการยื่นคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมืองต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคการเมือง  ให้ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน ( ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองพรรคการเมือง)   การกระทำของผู้ร้อง(นายทะเบียน) จึงอยู่ในบังคับแห่ง พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐  ;   ประเด็นสอง  (หน้า ๓ - ๘ )  เห็นว่า(หน้า ๗ - ๘)   ตามมาตรา ๙๓ ของ พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่มีกฎหมายกำหนดการได้มาของข้อเท็จจริงของนายทะเบียนพรรคการเมือง  ประกอบกับในทางไต่สวน  ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงใดอันควรทำให้เชื่อได้ว่า  การดำเนินการของนายทะเบียน / หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง / หรือคณะกรรมการสืบสวนสอบสวน / หรือคณะกรรมการตรวจสอบ มี ”การกระทำ”อันก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมอย่างแจ้งชัดต่อผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) หรือ มี “การกระทำ” ที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายอันเป็นการทำลายหลักประกันขั้นพื้นฐานของพรรคผู้ถูกร้องแต่อย่างใด   และข้อกล่าวหาที่เกี่ยวกับ การรับเงินบริจาค  และ การทำรายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุนพรรคการเมือง  เป็นกรณีที่อยู่ภายไต้บังคับของ พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ มิได้เป็น “การร้องคัดค้านเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ตาม พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฯ  พ.ศ. ๒๕๕๐
                 ประเด็นที่สาม / ที่สี่ / ที่ห้า มีความเห็น  ดังนี้:  ประเด็นที่สาม  (หน้า ๘ - ๑๕  ยาว  ๖ ๑/๒ หน้า )  เห็นว่า (หน้า ๑๕)   การกระทำของผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ไม่เป็นการใช้เงินที่ได้รับการสนับสนุนของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง ในปี ๒๕๔๘  ตามที่ได้รับอนุมัติตาม มาตรา ๘๒  แห่ง  พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐  ; ประเด็นที่สี่ (หน้า ๑๕ - ๑๗  ยาว ๒ หน้า )  เห็นว่า(หน้า ๑๗)  ฟังได้ว่า ผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) ไม่จัดทำรายงานการใช้จ่ายเงินให้ถูกต้องตามความจริง ตามมาตรา๘๒  แห่ง  พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐    กรณีจึงมีเหตุที่จะสั่งยุบพรรคผู้ถูกร้อง ตาม มาตรา ๙๓  แห่ง  พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐    ; ประเด็นที่ห้า (หน้า ๑๗ - ๒๓  ยาว ๖ หน้า ) เห็นว่า (หน้า ๒๓)  ให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคผู้ถูกร้อง(ในขณะที่มีการจ่ายเงินสนับสนุนไม่ถูกต้อง)  จะจดแจ้งหรือมีส่วนร่วมในการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง  อีกไม่ได้   ทั้งนี้  ภายในกำหนด ๕ ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรตผู้ถูกร้องตาม มาตรา ๙๗   และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน และ นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ (มีกำหนด ๕ ปีนับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรตผู้ถูกร้อง)  ตาม มาตรา ๙๘ 
        (๒)  ความเห็นส่วนตน  ของนายบุญส่ง กุลบุบผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ยาว ๒๐ หน้า
              ประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สอง (หน้า ๒ - ๑๑   ยาว ๑๐ หน้า)  เห็นสมควรรวมพิจารณาประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สอง  ในคราวเดียวกัน    และมีความเห็นดังนี้ :  ประเด็นที่หนึ่ง (หน้า ๔)  เห็นว่า  พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ (มาตรา ๖๒ และ มาตรา ๖๕)  ใช้ (บังคับ) ในการวินิจฉัยคดีนี้ในส่วนที่เป็นกฎหมายสารบัญญัติ  และ พรบ. ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ ใช้บังคับในส่วนที่เป็นกฏหมายวิธีสบัญญัติ ;  ประเด็นที่สอง (หน้า ๕ - ๑๑)  เห็นว่า(หน้า ๑๐)  กระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง  เป็นไปตามกฎ ระเบียบ และข้อกฎหมาย โดยชอบแล้ว  และเห็นว่า (หน้า ๑๑)  การยื่นคำร้องของนายทะเบียนในกรณีนี้  มิได้มีบทบัญญัติกำหนดในเรื่องระยะเวลาไว้ชัดเจนว่า   จะให้สิ้นสุดการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินกองทุนของพรรคการเมืองเมื่อใด
                 ประเด็นที่สาม / ที่สี่ / ที่ห้า   เห็นสมควรให้พิจารณาประเด็นที่สามและประเด็นที่สี่ ( ที่เป็นปัญหาข้อเท็จจริง) รวมกัน  มีความเห็น ดังนี้ :  ประเด็นทีสามและประเด็นที่สี่  (หน้า ๑๑ - ๑๘  ยาว ๘ หน้า)  เห็นว่า(หน้า ๑๘)   ข้อเท็จจริงได้ความว่า กรณีที่พรรคผู้ถูกร้องจ่ายเงินให้บริษัท เมซไซอะ ฯ เป็นค่าจ้าง จำนวน ๒๓.๓ ล้านบาท  โดยที่บริษัท เมซไซอะ ฯ ไม่ได้ทำป้าย(ให้ตามที่ผู้ถูกร้องจ่ายค่าจ้าง) จริง  ดังนั้น  การที่ผู้ถูกร้อง (พรรค ปชป.) “รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน ฯ “ โดยใช้เอกสารหลักฐานที่บริษัท เมซไซอะทำขึ้น  ย่อมเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง  มีผลให้รายงานดังกล่าวเป็นรายงานเท็จ หรือไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง   เป็นการฝ่าฝืน มาตรา ๖๒ แห่ง พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑  โดยไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย กรณีการว่าจ้างนางสาววาศินี  (จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ผู้ถูกร้อง ตามพรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๕ วรรคสอง ประกอบด้วย มาตรา ๖๙)    ; ประเด็นที่ห้า  (หน้า ๑๘ - ๒๐  ยาว ๑ ๑/๒ หน้า)  เห็นว่า  ประเด็นนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติ พรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๔๑   ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นคุณ กว่าพรบ.ประกอบ รธน. ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ (มาตรา ๘๒ ประกอบด้วย มาตรา ๙๓)  ให้ยุบพรรคผู้ถูกร้อง (ตาม พรบ. ประกอบ รธน. พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา ๖๕ ประกอบด้วย มาตรา ๖๙)   และให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ต้องยุบไป  จะขอจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่   หรือเป็นกรรมการบริหารของพรรคการเมืองตาม มาตรา ๘  (พรบ.ฯ ๒๕๔๑ ) อีกไม่ได้  ภายในกำหนด ๕ ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองต้องยุบไป ;   คำขออื่นของผู้ร้องให้ยก 
        
                    เป็นอันว่า จบ “ส่วนที่สอง” ของบทความ  ซึ่งเป็นการสรุป “สาระสำคัญ” ของ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  ทั้งคำวินิจฉัยที่ไม่เป็นทางการ และคำวินิจฉัย(ที่เป็นทางการ) ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ (แต่เขียนเสร็จ และเผยแพร่ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ หลังจากการอ่านคำวินิจฉัยมาแล้ว ๙ วัน)
               ผู้เขียนขอทบทวนกับท่านผู้อ่านอีกครั้งหนึ่ง ว่า  ผู้เขียนได้กล่าวไว้ในส่วนที่หนึ่ง แล้วว่า  ผู้เขียนได้สอนนักศึกษากฎหมายไว้ว่า   เราไม่สามารถทราบได้ว่า  ผู้พิพากษา(หรือตุลาการ) ที่เขียนคำพิพากษา เป็น คนเก่งหรือไม่เก่ง  หรือเป็นคนสุจริต(ใจ)หรือไม่สุจริต  ได้ด้วยเพียงการอ่าน “คำพิพากษา” ที่ปรากฎอยู่ในคำพิพากษาตามที่ผู้พิพากษาได้เขียนไว้(ในคำพิพากษา) ;  แต่เราจะทราบได้ว่า  ผู้พิพากษา(หรือตุลาการ) เป็น คนเก่งหรือไม่เก่ง  หรือสุจริต(ใจ)หรือไม่  ต่อเมื่อเราอ่านคำพิพากษาจาก “ข้อความที่ไม่ปรากฎในคำพิพากษา” (โดยเป็นข้อความที่ “ควร”ปรากฎ  แต่ไม่ปรากฎเพราะผู้พิพากษาไม่ได้เขียนไว้)  
                 ดังนั้น  เมื่อท่านผู้อ่าน ได้ “อ่าน” ส่วนที่สองของบทความ นี้จบลง  หมายความว่า ท่านผู้อ่านได้ทราบแล้วว่า  “ข้อความที่ปรากฎอยู่ในคำวินิจฉัย ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓” ตามที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องการให้เราอ่านนั้น  มีอย่างไร     
                 ต่อไปนี้  จะเป็นส่วนที่สาม (ว่าด้วย  การวิเคราะห์คำวินิจฉัยเพื่อตรวจสอบ “พฤติกรรม” ของตุลาการที่เขียนคำวินิจฉัย   ซึ่งเป็นส่วนที่  ทั้งท่านผู้อ่านและผู้เขียน  จะต้อง“อ่าน” คำวินิจฉัย ที่ ๑๕ / ๒๕๕๓ จาก “ข้อความที่ไม่ปรากฎ”ในคำวินิจฉัย  เพื่อจะตรวจดูว่า  ในการวินิจฉัยกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นั้น   มีข้อความที่ “ควร” จะต้องปรากฎในการวินิจฉัย  แต่ไม่ปรากฎในคำวินิจฉัยฉบับนี้  อยู่มากน้อยเพียงใด  
        
          (จบ ส่วนที่สอง   บทความนี้ ยังมีต่อ)
            ๑๐  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔
        
        
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1561
เวลา 23 พฤศจิกายน 2567 00:38 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)