ครั้งที่ 258

13 กุมภาพันธ์ 2554 20:49 น.

       ครั้งที่ 258
       สำหรับวันจันทร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ ถึงวันอาทิตย์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2554
        
       “Unfinished Constitution : รัฐธรรมนูญที่ไม่เสร็จ”
        
                   เมื่อวันศุกร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รัฐสภาได้ผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใน 2 เรื่องสำคัญ ๆ คือ เรื่องการเปลี่ยนระบบเลือกตั้งและเรื่องกระบวนการทำสนธิสัญญา ทุกอย่างเป็นไป “ตามคาด” ของทุก ๆ ฝ่ายว่า อย่างไรเสียรัฐสภาก็คงต้องผ่านร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าว แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีข่าวออกมามากมายว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยก็ตาม ในวันนี้จึงต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นหลังจากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมมีผลใช้บังคับแล้วเพราะนายกรัฐมนตรีได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้หลายครั้งว่าจะยุบสภา ซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้เองที่ผมวิตกกังวลมากเพราะโดยปกติทั่ว ๆ ไปแล้ว เมื่อรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ก็จะต้องมีการแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับวิธีการเลือกตั้งใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เรื่องดังกล่าวรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ได้บัญญัติวิธีการไว้ในมาตรา 7 วรรคแรกว่า ให้รัฐสภาดำเนินการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม ในวรรคสองของมาตราดังกล่าวกลับกำหนดบทยกเว้นการบังคับใช้มาตรา 7 วรรคแรกเอาไว้อย่างไม่สมควรอย่างยิ่งคือ ให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จะประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อใช้บังคับกับการเลือกตั้งในกรณีที่รัฐสภาไม่สามารถจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญได้ทันการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยในมาตรา 7 วรรคสองตอนท้ายยังได้ระบุต่อไปอีกว่า ให้ข้อกำหนดตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งดังกล่าวใช้บังคับแทนบทบัญญัติแห่งกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในส่วนที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งก็หมายความว่า ประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่จัดทำโดยคนเพียง 5 คน มีศักดิ์ “เทียบเท่า” พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่จัดทำโดยรัฐสภาที่มีคน 630 คน และมีกระบวนการจัดทำที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และในตอนท้ายที่สุดต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยด้วย
                 เป็นไปได้อย่างไรครับกับการเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้ ผมว่านี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ “กฎหมาย” ระดับสูงถูกย่ำยีและถูกทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของกระบวนการจัดทำที่ต้องผ่านตัวแทนของประชาชนและต้องผ่านการตรวจสอบก่อนที่จะมีผลใช้บังคับ ที่ถูกเมื่อรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ ควรให้รัฐสภารีบจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เสร็จโดยเร็ว ไม่ยากครับเพราะมี “แบบ” อยู่แล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ก็เคยใช้ระบบนี้มาแล้ว ไม่ใช่ผมไม่ไว้ใจคณะกรรมการการเลือกตั้งนะครับ ผมมองดูปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตต่างหาก ผมไม่แน่ใจว่าหากประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกมามีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือปัญหาอื่นเกิดขึ้น ใครจะเป็นผู้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งครับ ศาลปกครองจะตรวจสอบได้ไหมเพราะการออกประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ หรือจะเป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะตรวจสอบครับ ?? ผมไม่อยากให้เกิดปัญหาที่ไม่มีทางออกขึ้นอีกเพราะจะทำให้การเลือกตั้งมีตำหนิครับ ก็ขอฝากประเด็นนี้ไว้กับรัฐบาลและรัฐสภาด้วยนะครับ ถ้าอยากเลือกตั้งเร็วก็ต้องใช้วิธีเดียวเท่านั้นคือรีบจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เสร็จหรือโดยเร็วครับ !!!
                 การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ผมมีคำถามอยู่หลายคำถามด้วยกัน คำถามแรกก็คือ ใครได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ครับ !!!
                 คำตอบของผมมีอยู่แล้ว ไม่ใช่ประเทศชาติและไม่ใช่ประชาชนอย่างแน่นอนที่ได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คนที่ได้ประโยชน์เต็ม ๆ คือนักการเมืองครับ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้านต่างก็เป็นผู้ได้ประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้
                 ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น คงจำได้นะครับว่าในช่วงเวลาก่อนที่ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา มีนักการเมืองจำนวนมากออกมาแสดงความเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแบ่งเขตเลือกตั้งและการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อว่า ระหว่าง 400 : 100 กับ 375 : 125 แบบไหนจะดีกว่ากัน ข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อและการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ออกมาจากปากของนักการเมืองแต่ละคนล้วนแล้วแต่ “คำนวณ” มาเป็นอย่างดีแล้วว่า หากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น “สูตรไหน” จะทำให้ตนเองหรือพรรคการเมืองของตน “มีโอกาส” เข้าสู่สภาได้มากที่สุด และ “มีทาง” ได้เป็นรัฐบาล ผมยังไม่เคยได้ยินใครพูดเลยว่า “สูตรไหน” จะทำให้เรา “ได้คนดีกว่าที่เป็นอยู่” เข้าสภาเพื่อผลิตกฎหมายที่ดีที่สุดออกมาครับ !!!
                 เป็นเวลานานมากแล้วที่ “คนไทย” สับสนหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภา ถ้าจะพูดกันตามทฤษฎีแล้ว หน้าที่หลักที่สำคัญที่สุดของรัฐสภาก็คือการ “ผลิตกฎหมาย” ออกมาให้รัฐบาลใช้ในการบริหารประเทศ กับอีกหน้าที่หนึ่งก็คือ “ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน” ไม่ทราบว่าผมเข้าใจเช่นนี้ถูกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาผมเห็นการทำ “อีกหน้าที่หนึ่ง” ของสมาชิกรัฐสภาโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดู “เป็นคนสำคัญเหลือเกิน” ของสังคม แม้ว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อ “ผลิตกฎหมาย” อันเป็นหน้าที่หลักของสภาผู้แทนราษฎรจะ “ล่ม” บ่อยครั้ง แม้ว่าสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างกฎหมายได้ “ช้า” จนไม่ทันกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม แต่ “อีกหน้าที่หนึ่ง” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนหนึ่งก็ดำเนินการไปได้อย่างดีและไม่มีปัญหา นั่นคือการเป็นตัวแทนประชาชน “ในแบบ” ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร “บางคน” และประชาชน “บางคน” ต้องการ ผมคงพูดมากไม่ได้เพราะ “เสี่ยง” เกินไป แต่เข้าใจว่าทุกคนคงพอมองเห็นภาพของการเป็นตัวแทนประชาชน “ในแบบ” ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้นะครับ !!!
                 ปัญหาที่เกิดขึ้นน่าจะมาจาก “ความไม่รู้หน้าที่” และ “อำนาจ” มากกว่า สังคมไทยเราไป “เกรงกลัว” และ “เกรงใจ” กับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง มีประเทศจำนวนมากในโลกที่สมาชิกรัฐสภาของเขาไม่มีอำนาจพิเศษอะไรเลย ไปไหนมาไหนก็เหมือนพลเมืองปกติทั่ว ๆ ไป ติดต่อราชการก็มิได้มีสิทธิพิเศษอะไรที่แตกต่างไปจากพลเมืองอื่น ๆ จะมีแตกต่างกันบ้างก็เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่และการใช้อำนาจหน้าที่ในการทำงานในสภาเท่านั้น ออกมานอกสภาคนเหล่านั้นก็เป็นพลเมืองเหมือนเราครับ การเป็นผู้แทนประชาชนของเขาก็คือการเข้าไปดูแลกฎหมายที่จะออกมาใช้บังคับไม่ให้ลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือมีผลกระทบต่อพลเมือง ผลิตกฎหมายดี ๆ ออกมาให้กับประชาชน เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพหรือกฎหมายเกี่ยวกับการให้สวัสดิการในรูปแบบต่าง ๆ กับประชาชน  รวมทั้งยังมีหน้าที่ในการควบคุมตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหารเพื่อให้ฝ่ายบริหารทำงานได้อย่างถูกต้องที่สุด แต่ของไทยเรากลับไม่เป็นเช่นนั้น เอาแค่พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่ทุกคนก็รู้กันอยู่ว่าเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของประชาชน กฎหมายนี้ออกมาโดยนายกรัฐมนตรีที่เกลียดกันเหลือเกิน แต่จนป่านนี้ก็ยังไม่เห็นรัฐสภาของเราคิดที่จะแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เลยครับ ปล่อยให้รัฐบาลเอากฎหมายมาใช้บังคับกับประชาชนอยู่ได้ปีละไม่รู้กี่ครั้งทั้ง ๆ ที่เป็นกฎหมายที่ไม่สมควรนำมาใช้เป็นอย่างยิ่งในประเทศที่เข้าใจกันว่าเป็นประชาธิปไตยมากว่า 70 ปีแล้ว เช่นเดียวกับกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องการชุมนุมสาธารณะที่ควรจะต้องมีมานานกว่า 10 ปีแล้ว จนวันนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นอีกเช่นกัน  เพราะฉะนั้น การดูแลประชาชนในฐานะเป็น “ผู้แทนของประชาชน” ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยเราจึงแตกต่างไปจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของต่างประเทศอย่างสิ้นเชิงเพราะเราถนัดดูแลกันเป็น “ส่วนตัว” มากกว่าดูแลผลประโยชน์ของประชาชนในฐานะ “ส่วนรวม” ครับ !!!
                 ในเมื่อสังคมไทยเรายังคงเวียนว่ายอยู่กับ “ความสับสนในหน้าที่” ทั้งโดยสมาชิกรัฐสภาบางคนและประชาชนบางคน การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบไหน การกำหนดจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งประเภทเขตเลือกตั้งและประเภทบัญชีรายชื่อ จึงไม่เกิดประโยชน์อะไรต่อประเทศชาติและประชาชนเลยในภาพรวม แม้จะเกิดการยุบสภาและมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาใหม่ เราก็คงไม่ได้อะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
                 การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จึงเป็นการแก้ที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนเลยครับ
                 เมื่อใดเราจึงจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ?  เป็นคำถามที่สองที่ผมเพียรพยายามถามมาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่มีคำตอบ !!!
                 คงจำกันได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 เป็นรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่า “ดีเหลือเกิน” เป็นรัฐธรรมนูญที่บางคนเรียกว่า“รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ได้อย่างเต็มปาก เป็นรัฐธรรมนูญที่ทำให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐขึ้นในประเทศไทย จริงอยู่แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จะไม่สามารถ “ปราบ” คนโกงได้อย่างสิ้นซาก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ไปได้อย่างสวยงาม  แต่ต่อมา เมื่อเกิดการรัฐประหารขึ้นในวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 คณะรัฐประหารก็ฉีกรัฐธรรมนูญของประชาชนทิ้งโดยไม่ให้เหตุผลใด ๆ เลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ไม่ดีตรงไหน !!!  หากเรามองดูด้วยใจเป็นธรรม ในสายตาของนักวิชาการ แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จะมีตำหนิอยู่หลายส่วน แต่ก็เป็นตำหนิที่แก้ไขได้ การกำหนดให้วุฒิสภามีอำนาจแต่งตั้งบุคคลเข้าไปสู่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐและการกำหนดให้วุฒิสภาเป็นหนึ่งในองค์กรที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐทำให้ “การเมือง” พยายามเข้าไป “ครอบงำ” วุฒิสภา เริ่มตั้งแต่การเข้าสู่ตำแหน่งไปจนถึงการปฏิบัติหน้าที่ต่าง ๆ  ส่วนนี้เองที่เป็น “ตำหนิใหญ่” ของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน แต่เป็นตำหนิที่สามารถแก้ไขได้ไม่ยากหากคิดจะแก้ไข  เพราะฉะนั้น การที่คณะรัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540     ทั้งฉบับ จึงเป็นการกระทำที่ “ขาดตรรกะ” ของการแก้ปัญหาของประเทศอย่างถูกต้อง ซึ่งตรรกะของการแก้ปัญหาของประเทศอย่างถูกต้องนี้คงไม่มีอยู่ใน “ความคิด” ของคณะรัฐประหารเลยก็ว่าได้ เพราะเมื่อคณะรัฐประหารวางกลไกของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การ “คัดคน” เข้าไปเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญก็ “สะท้อน” ให้เห็นถึงการ “ขาดตรรกะ” ของการแก้ปัญหาของประเทศอย่างยั่งยืนเช่นกัน
                 จริงอยู่ที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 “บางคน” มีความรู้ความสามารถ “เพียงพอ” ที่จะเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำมาใช้กับคน 60 กว่าล้านคน แต่เมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จ มาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ก็ได้ “ทำลาย” คุณค่าของทั้งผู้ร่างรัฐธรรมนูญและคุณค่าของความเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศไปจนหมดสิ้น ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงเกิดเสียงพูดออกมาจากหลาย ๆ ฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายผู้ร่างรัฐธรรมนูญเองที่กล่าวว่า“รับไปก่อน แก้ทีหลัง” ซึ่งก็หมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านการออกเสียงประชามตินั้น น่าจะเป็น “รัฐธรรมนูญที่ไม่เสร็จ” เพราะยังต้องถูกแก้ไขอีกภายหลังจากที่ผ่านการออกเสียงประชามติและมีผลใช้บังคับไปแล้ว
                 แต่ประเด็นสำคัญก็คือ “แก้ทีหลัง” ที่ว่านี้จะต้องไปแก้เรื่องใดบ้าง และแก้เพื่ออะไร เรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีคำตอบที่เป็นรูปธรรมจากฝ่ายใด คงมีความเห็นประปรายหลากหลายจากนักวิชาการบ้าง จากสื่อมวลชนบ้างในบางเรื่อง รวมทั้งข้อเสนอให้ “ตัด” มาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญออกไปด้วย  แต่เมื่อไม่มีใครเสนอว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใด  รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จึงยังคงใช้บังคับอยู่เสมือนหนึ่งว่า “ไม่มีตำหนิ” อะไรเลย ผู้คนพากันลืมไปหมดว่า “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” คืออะไร จนกระทั่งเกิดการแก้รัฐธรรมนูญครั้งแรกเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาที่รัฐบาลพยายามให้ข้อมูลในตอนต้นว่า เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสมานฉันท์ในประเทศ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเมือง แต่ถ้าหากเราพิจารณาอย่างเป็นกลางแล้วก็จะพบว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 2 ประเด็นนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการสร้างความสมานฉันท์หรือเรื่องปฏิรูปการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้นเลยครับ
                 “ทำอย่างไรเราจึงจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ?” จึงเป็นคำถามที่สามที่เป็นสิ่งซึ่งนักวิชาการจำนวนหนึ่งรวมทั้งผมด้วย “ถามหา” อยู่ตลอดครับ !!!
                 การมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราทราบปัญหาที่แท้จริงของประเทศและกำหนดทิศทางของประเทศอย่างชัดเจนสำหรับอนาคตครับ !!!
                 มีหลายเรื่องที่จะทำให้เราสามารถแก้ปัญหาของประเทศที่เกิดจาก “รัฐธรรมนูญ” และเป็นปัญหาที่“สะสม” มาตั้งแต่สมัยที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 มีผลใช้บังคับได้  เรื่องแรกเป็นเรื่องที่ผมพยายามพูดมาหลายครั้งแล้วเพราะคิดว่านี่คือปัญหาและอุปสรรคสำคัญประการหนึ่งของระบบการบริหารประเทศคือเรื่องขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ในทุกวันนี้ดูยังไงส่วนใหญ่แล้วก็ “ยังไม่ใช่” อยู่ดี เพราะโดยปกติทั่ว ๆ ไปแล้ว คุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้าไปอยู่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องทำหน้าที่ “ตรวจสอบ” การใช้อำนาจรัฐจะต้องมีความ “โดดเด่น” กว่าบุคคลอื่น ๆ ในอาชีพเดียวกัน มีตัวอย่างที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ได้เชิญตุลาการรัฐธรรมนูญจากประเทศฝรั่งเศสคนหนึ่งชื่อ Jean Claude Colliard มาบรรยาย ตุลาการรัฐธรรมนูญผู้นี้เป็นอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Paris I  มีผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมากมาย การเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญของเขาจึงเป็นสิ่งที่ถูกต้องตรงกับความถนัดของตน  ในขณะที่บ้านเรานั้น ผมไม่แน่ใจว่ามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดบ้างที่เคยแสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญและเจนจัดทางด้านรัฐธรรมนูญมากกว่าคนอื่น ๆ หรือไม่ก็เคยเขียนตำราหรือหนังสือทางวิชาการเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ “ก่อน” ที่จะเข้าไปดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่  เรื่องคุณสมบัติของบุคคลคงไม่จำกัดอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญแต่เพียงแห่งเดียว เพราะทุกวันนี้ในทุกองค์กรตรวจสอบที่ต้องใช้ “นักกฎหมาย” เข้าไปทำงาน เราก็จะพบแต่“นักกฎหมาย” ที่มาจาก “ศาล” หรือ “อัยการ” ซึ่งถนัดในการใช้ “กฎหมายเอกชน” เพราะ “ใช้กฎหมายเอกชน” ในการทำงานมาเป็นสิบ ๆ ปี จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมในบางครั้ง “ผลงาน” จึงออกมาแปลก ๆ และขัดกับ “หลักกฎหมายมหาชน” ครับ
                 การได้คนที่มีความสามารถที่สุดในประเทศ มีความเจนจัดที่สุดในประเทศในแต่ละด้านที่เกี่ยวข้องกับงานในหน้าที่ของตนโดยตรง เข้ามาทำงานในองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่จะทำให้กลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของเรามีความสมบูรณ์ขึ้นครับ  เมื่อกลไกการตรวจสอบใช้ได้ผลดี เราก็จะได้คนดีเข้าสู่รัฐสภา เราก็จะได้คนดีเข้ามาบริหารประเทศ คนเหล่านั้นก็จะเข้ามาช่วยทำให้กฎหมายเป็นกฎหมาย เป็นสิ่งที่ใช้กับทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน เมื่อถึงวันนั้น ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติและสองมาตรฐานจะหมดไป ความปรองดองและสมานฉันท์ก็จะกลับมาสู่สังคมของเราครับ
                 การกำหนดทิศทางของประเทศอย่างชัดเจนเพื่อแก้ปัญหาสำคัญของประเทศเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐธรรมนูญของเรายังขาดอยู่ เมื่อรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ  ชินวัตร เอาภาษีอากรจำนวนมากมาใช้ในการสร้างระบบประชานิยม รัฐบาลต่อ ๆ มาก็ทำตาม รัฐบาลปัจจุบันก็ทำตาม ทุกรัฐบาลให้ข้อมูลกับประชาชนเหมือนกันหมดว่าเป็นโครงการของรัฐบาล เป็นนโยบายของรัฐบาล แต่จริง ๆ แล้วโครงการเหล่านี้ใช้เงินของประเทศที่มาจากภาษีอากรหรือจากการกู้ยืม การให้ข้อมูลด้านเดียวกับประชาชนว่าเป็นโครงการของรัฐบาลจึงเป็นการสร้างคะแนนนิยมให้กับตนเองอย่างไม่ถูกต้อง  ทุกวันนี้ในเมื่อประชาชนเคยชินกับประชานิยมและประชาชนต้องการสวัสดิการต่าง ๆ เท่าที่รัฐจะให้ได้ จึงเป็นการดีหากเราจะกำหนดทิศทางของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของความเป็นรัฐสวัสดิการไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยการเป็นรัฐสวัสดิการนี้หมายความว่า ในรัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดประเภทของสวัสดิการที่รัฐจะให้กับประชาชนไว้อย่างชัดเจน รวมทั้งกำหนดที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในการจัดทำสวัสดิการเหล่านั้นด้วย ซึ่งก็หมายความว่ารัฐธรรมนูญจะต้องกำหนดประเภทของภาษีที่จะต้องเรียกเก็บเอาไว้ให้ชัดเจน เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินส่วนที่เกินความจำเป็น เป็นต้น และเพื่อให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วควรมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่จัดทำแผนและขั้นตอนการให้สวัสดิการแก่ประชาชนโดยหน่วยงานนี้จะต้องจัดทำหลักเกณฑ์ในการให้สวัสดิการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดและร่างกฎหมายเกี่ยวกับการเก็บภาษีประเภทใหม่ ๆ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อนำมาใช้ในการจัดทำสวัสดิการเอาไว้ ไม่ว่าใครมาเป็นรัฐบาลก็จะมีภารกิจเดียวกันคือ เก็บภาษีตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเพื่อนำมาจัดทำสวัสดิการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้แก่ประชาชน  หากเป็นเช่นนี้ รัฐบาลหรือพรรคการเมืองก็จะไม่สามารถมาทวงบุญคุณกับประชาชนได้ว่าเป็นนโยบายของตนเองดังเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
                 เกี่ยวเนื่องกับเรื่องดังกล่าว หลายประเทศมีกฎหมายงบประมาณ 2 ฉบับ กฎหมายงบประมาณทั่วไปสำหรับการบริหารประเทศและกฎหมายงบประมาณเกี่ยวกับการให้เงินอุดหนุนสวัสดิการสังคมที่จะต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มงวดโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้มั่นใจว่างบประมาณถูกต้อง ไม่รั่วไหลและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
                 นอกจากนี้แล้ว หากเราสามารถทำให้คนที่จะเข้ามาเป็นสภาชิกรัฐสภามีความหลากหลายมากขึ้นและเป็นตัวแทนจากประชาชนที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ มากขึ้น ก็จะทำให้เราได้กฎหมายต่าง ๆ ออกมาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในวงกว้างมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน  อาจต้องคิดถึงการปรับคุณสมบัติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใหม่ให้มีที่มาจากตัวแทนสาขาวิชาชีพดูก็ได้ครับ หากทำได้สำเร็จเราก็จะได้คนที่เป็นตัวแทนของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างแท้จริงเข้ามาช่วยผลิตกฎหมายซึ่งน่าจะเป็นกฎหมายที่ดีกว่ากฎหมายที่ผลิตโดยนายทุนของบรรดาพรรคการเมืองที่เข้ามาครับ !
                 ทั้ง 2 เรื่องที่กล่าวไปนี้เป็นสองเรื่องที่หากนำไปปรับปรุง “รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540” แล้วก็จะทำให้เราได้องค์กรตรวจสอบที่มีความสามารถและได้รัฐธรรมนูญที่มีการกำหนดทิศทางของประเทศอย่างชัดเจน พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไปครับ
                 อย่างไรก็ตาม  ไม่ใช่แค่เพียง 2 เรื่องที่กล่าวไปข้างต้นนี้จะทำให้เราได้รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยครับ  ยังมีประเด็นอื่นอีกมากมายที่ยังต้องค่อย ๆ คิดต่อไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีการได้มาซึ่งบุคคลที่จะเข้าไปอยู่ในองค์ตามรัฐธรรมนูญที่แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จะพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวแล้วแต่ก็ยัง “ทำไม่สำเร็จ” ปัญหาของความล่าช้าไม่ทันการของกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ “ในบางเรื่อง” จนทำให้เกิดคำว่า “สองมาตรฐาน” ขึ้นในสังคมไทย ปัญหาเกี่ยวกับที่มาและอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาว่า สมควรให้มีอำนาจหน้าที่ในการ “ตรวจสอบ” ฝ่ายบริหารอยู่หรือไม่หรือควรยกอำนาจหน้าที่ดังกล่าวให้ “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ไปทำหน้าที่เพราะมีความเหมาะสม รวมถึง “ศาลปกครอง” ที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมายัง “สับสน” กับอำนาจหน้าที่ของตนในบางเรื่องจนทำให้มีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันมากว่า เป็นอุปสรรคของการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่าแก้ไขข้อขัดข้องของการบริหารราชการแผ่นดิน  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องศึกษาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ หาทางแก้ไขและนำไปบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อความชัดเจนครับ !!!
                 ก่อนเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมนั่งฟังเพลง Unfinished Symphony หมายเลข 8 ของ Schubert นั่งคิดเปรียบเทียบระหว่างเพลงกับรัฐธรรมนูญก็เห็นว่ามีอะไรคล้าย ๆ กัน คือแม้ผู้แต่งเพลงจะตายไปก่อนแต่งเพลงเสร็จ  แต่เพลงก็มีคุณค่าและสามารถนำมาเล่นได้แถมยังเพราะเสียด้วย  ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ของเราก่อนที่จะมีผลใช้บังคับ ก็มีผู้บอกว่า“รับไปก่อน แก้ทีหลัง” ซึ่งก็หมายความว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังเขียนไม่เสร็จเหมือนกัน แต่ก็ถูกนำมาใช้อยู่ได้หลายปี  อย่างไรก็ตาม เมื่อเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้จบและพยายามมองปัญหาของประเทศอย่างลึกซึ้งก็พบว่า น่าจะเปลี่ยนชื่อบทบรรณาธิการใหม่ให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยชื่อใหม่น่าจะเป็น “Unbegun Constitution : รัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้เริ่มเขียน” ชื่อใหม่นี้น่าจะสอดคล้องกับเหตุการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันมากกว่า เพราะแม้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 จะพยายามแก้ปัญหาของประเทศที่มีมาตั้งแต่การใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 แต่ก็ทำไม่สำเร็จ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาของประเทศที่มีอยู่ได้เลย  ฉะนั้น หากจะทำรัฐธรรมนูญที่ดีและต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญถาวรสำหรับประเทศไทยในระยะยาว การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับน่าจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศไทยเพราะการตั้งต้นใหม่จะสามารถแก้ปัญหาของประเทศได้ดีกว่าการแก้รัฐธรรมนูญทีละประเด็นสองประเด็นที่นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์อะไรมากมายแล้ว  การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบก็เกิดขึ้นได้ยากอีกด้วยครับ !!!
                 ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว คือ บทความเรื่อง "คณะรัฐมนตรีของประเทศฝรั่งเศส (ตอนที่ 1)" บทความดังกล่าวเป็นบทความที่ตัดมาจากส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่อง "เขตอำนาจของมติคณะรัฐมนตรี : ศึกษากรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" ที่ผมและคณะได้จัดทำขึ้นและเสนอต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปเมื่อปีที่ผ่านมาครับ 
       
                 พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2554
       
                 ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1556
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:59 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)