กรณีศึกษา - case study คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์) (หน้าที่ 1)

16 มกราคม 2554 21:15 น.

       บทนำ   
                 ในทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณึการยุบพรรคประชาธิปัตย์(การใช้จ่ายเงิน กองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง  ๒๘ ล้านบาทเศษ )  ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓   โดยศาลรัฐธรรมนูญ ได้วินิจฉัยให้ “ยกคำร้อง” ของนายทะเบียนพรรคการเมือง  โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้วินิจฉัยในประเด็น”สาระ”ของเรื่อง ว่า พรรคประชาชาธิปัตย์ใด้นำ “เงินอุดหนุนพรรคการเมือง” ไปใช้โดยผิดกฎหมายหรือไม่  ก็ปรากฎว่า ได้มีปฎิกริยาของสังคมไทยที่ไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นมากมาย  ทั้งในวงการวิชาการ สื่อมวลชน พรรคการเมืองที่มีส่วนได้เสียรวมทั้งได้มีการเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ และนักการเมืองบางคนได้มีความเห็นไปไกลถึงกับว่าให้ยกเลิก“ศาลรัฐธรรมนูญ” ให้เหลือเพียงศาลยุติธรรมเพียงศาลเดียว  ทั้งนี้โดยไม่นับรวม “กรรมการ” บางคนในคณะกรรมการการเลือกตั้งเอง ก็ยังมีความสงสัยในมาตรฐานการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นเสียงข้างมากในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว    
                  เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้  ทำให้ผู้เขียนคิดว่า ผู้เขียนน่าจะนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้(การร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์)นี้ มาวิเคราะห์เป็น  กรณีศึกษา - case study  เพื่อตรวจสอบพฤติกรรมของตุลาการผู้ที่ทำคำวินิจฉัย ;   อันที่จริง  ในอดีตผู้เขียนได้เคยวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลในลักษณะของกรณึศึกษามาบ้าง  แต่ก็นาน ๆ ครั้ง  และเป็นเวลานานมาแล้วที่ผู้เขียนไม่ได้ทำ กรณีศึกษา - case studyในคำพิพากษาของศาล
                 [ หมายเหตุ  เท่าที่จำได้  คือ การเขียนวิเคราะห์คำพิพากษาของ “ศาลยุติธรรม”  เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๖   ซึ่งเป็น “คำพิพากษาชุด” จำนวนหลายฉบับ  เริ่มต้นด้วยของคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ ๙๑๒ / ๒๕๓๖  ที่วินิจฉัยให้ “คืนทรัพย์สิน”ที่นักการเมืองได้มาโดยมิชอบที่ไม่สามารถพิสูจน์ “ที่มา” ได้และถูกยึดให้ตกเป็นของแผ่นดิน ตามความเห็นของ “คณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ”;  คำพิพากษาดังกล่าวเป็นที่น่าสนใจ  เพราะเป็นคำพิพากษาที่เป็นการวินิจฉัยโดยมติของ “ที่ประชุมใหญ่” ที่มีจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมดในขณะนั้นร่วมกันเป็น “องค์คณะ”  ประมาณเกือบ ๘๐ท่าน ( ดูเหมือนจะเป็น ๗๖ ท่าน)  ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่า เป็น “องค์คณะ(วินิจฉัยคดี)” ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลกและคำพิพากษานี้เขียนโดยตุลาการจำนวน ๓ ท่าน (นายเกียรติจาตนิลพันธุ์ / นายสกล เหมือนพะวงศ์ / นายอุระ หวังอ้อมกลาง)   ;  ผู้เขียนได้ทำกรณีศึกษาเรื่องนี้ ในการสัมมนาของคณะนิติศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าใจว่า ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๖   นั้นเอง  แต่ผู้เขียนไม่ได้มีเผยแพร่ให้มากไปกว่านั้น  เนื่องจากเห็นว่า  ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์กาลเวลาในขณะนั้น (ซึ่งเป็นเวลาที่ “กฎหมายมหาชน”ยังไม่เป็นที่รับรู้กันทั่วไป)   และก็เป็นที่น่าเสียดายที่บทความวิเคราะห์เรื่องนี้  เมื่อผู้เขียนจะนำมาเผยแพร่ในระยะหลัง   ผู้เขียนก็หาต้นฉบับไม่พบ และได้ขอให้อาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บางท่านช่วยหาให้  แต่ก็หาไม่พบ ]
                 แม้ในระยะหลัง ๆ นี้  จะได้มี “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” และ”คำวินิจฉัยของศาลปกครอง”อยู่หลายเรื่อง ที่น่าจะนำมาศึกษาวิเคราะห์ เป็นกรณีศึกษา - case study ได้ แต่ผู้เขียนก็ไม่ค่อยมีเวลาว่างมาเขียน  ; ผู้เขียนให้ความสำคัญแก่การ “การปฏิรูปการเมือง” (การเขียนรัฐธรรมนูญ กำหนด form of government)  มากกว่าจะทำ case studyในคำพิพากษาของศาล  (ซึ่งต้องทำเป็นเรื่อง ๆ เป็นการเฉพาะคดี)  เพราะผู้เขียนเห็นว่า การปฏิรูปการเมือง เป็น “วิธีการ” ที่ใช้แก้ปัญหาการเมืองของประเทศในปัจจุบันได้โดยตรง และเป็นเรื่องที่สำคัญเร่งด่วน  มากกว่าการวิเคราะห์ “พฤติกรรม” ของผู้พิพากษาหรือตุลาการเป็นรายคดี   ;  ดังนั้น  บทความของผู้เขียนในระยะปัจจุบัน  จึงจะเป็นบทความที่มุ่งหมายจะนำพื้นฐานความรู้ทางวิชาการ  ที่เกี่ยวกับ วิวัฒนาการของ form of government ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศที่พัฒนาแล้ว ในช่วงระยะเวลา ๒๐๐ ปีที่ผ่านมา มาให้ท่านผู้อ่านได้รับรู้
                  แต่ในครั้งนี้  คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (กรณีร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์)เรื่องนี้   ดูจะเป็นเรื่องสำคัญ ที่เป็นที่สนใจและก่อให้เกิดปฏิกริยาของผู้ที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการจำนวนมาก  ทำให้ผู้เขียนคิดว่า ผู้เขียนน่าจะต้องหาเวลามาเขียนเรืองนี้เป็น กรณีศึกษา - case study ขึ้นเป็นกรณีพิเศษ  เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้นำไปพิจารณาดู
        
                การทำกรณีศึกษา- case study ในคำพิพากษา(หรือคำวินิจฉัย)ของศาล  ได้ประโยชน์อะไร ;  ท่านผู้อ่านคงทราบอยู่แล้วว่า  “ประเด็น”ที่ผู้เขียนสนใจและเขียนบทความไว้หลายบทความ  ก็เพื่อตรวจสอบดูว่า “มาตรฐานความรู้และความเข้าใจในวิธีคิดทางกฎหมาย(มหาชน)”  ของวงการวิชาการกฎหมายของเรา จะมีความแตกต่าง(ต่ำกว่า)ประเทศที่พัฒนาแล้ว  มากน้อยเพียงใด” ;   การนำคำพิพากษาของศาล  มาเป็น  กรณีศึกษา - case study  ก็เช่นเดียวกัน  คือ   มีความมุ่งหมายเพื่อตรวจดูมาตรฐานความรู้และความเข้าใจใน “วิธีคิดทางกฎหมาย(มหาชน)”  โดยอาศัย “พฤติกรรม” ของตุลาการหรือผู้พิพากษา  ที่แสดงออกให้เห็นได้จากการเขียนให้เหตุผลในการวินิจฉัยคดี  ; และแน่นอนว่า  ผู้เขียนคงจะไม่สามารถและไม่อยู่ในฐานะที่จะบอกได้ว่า  ตุลาการในศาลของเราท่านใด  (ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลใด ๆ)  มี “คุณภาพ” เทียบได้หรือเทียบไม่ได้  กับตุลาการของประเทศที่พัฒนาแล้ว   ผู้เขียนเพียงแต่จะให้ความเห็นของผู้เขียน  เป็นการเพิ่มเติมหรือแตกต่างไปจากการวินิจฉัยของตุลาการผู้ที่ชี้ขาดคดีเท่านั้น    และต่อไป ก็คงเป็นเรื่องของท่านผู้อ่านเอง ที่จะต้องใช้วิจารณญาณของท่านผู้อ่าน และมีความเห็นเป็นของตัวท่านเอง
        
           ถ้าท่านผู้อ่านติดตามบทความของผู้เขียน   ท่านผู้เขียนคงจำได้ว่า ผู้เขียนได้กล่าวไว้แล้วว่า  “วิธีคิดทางกฎหมาย (นิติปรัชญา)ทางกฎหมายมหาชน” ในยุคปัจจุบัน  แตกต่างไปจากความคิดในสมัยของ Montesquieu  ที่อยู่ในตำราเรียนและตำรากฎหมายที่นักศึกษาของเราท่องจำอยู่ทุก ๆ วันในขณะนี้  เพราะ Montesquieu ได้ตายไปแล้วกว่า ๒๕๐ ปี คือ ตายตั้งแต่ค.ศ. ๑๗๕๕  
             ระยะเวลา “การเริ่มต้น” ของระบอบประชาธิปไตย ได้ผ่านพ้นและหมดไปนานแล้ว  และนักกฎหมายในปัจจุบัน  มิใช่มีหน้าที่เพียงเขียนกฎหมาย   เพื่อให้เป็น “ประชาธิปไตย”(โดยมีการเลือกตั้ง)  หรือ เพื่อ “ให้ประชาชนโดยส่วนร่วม” (โดยไม่รู้จักองค์ประกอบทางสังคมวิทยาของ “ประชาชน” และโดยไม่รู้ “จุดหมาย”ของการปกครองระบอบประชาธิปไตย) ;   ตามหลักนิติปรัชญาในยุคปัจจุบัน  ทุกคนทราบอยู่แล้วว่า   นักกฎหมายจะต้องทำหน้าที่เป็น “วิศกรสังคม - social engineer”  คือ  นักกฎหมายมีหน้าที่ที่จะต้องทำให้ “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย” มีประสิทธิภาพ และทำให้ “นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง” ต้องใช้อำนาจรัฐเพื่อประโยชน์ส่วนรวม (ไม่ใช่แอบหาประโยชน์)
               ในฐานะ ที่เป็นวิศกรสังคม - social engineer”  นักกฎหมายจะมีบทบาทในสังคมอยู่  ๒ ประการ   ประการแรก  คือ นักกฎหมายในฐานะที่เป็นนักเทคนิคทางกฎหมาย มีหน้าที่ต้อง “ร่าง(ออกแบบ)กฎหมาย” เพื่อให้การบริหารประเทศ(ในระบอบประชาธิปไตย) มีประสิทธิภาพ  ไม่ว่าจะเป็นการเขียนรัฐธรรมนูญ  คือ กำหนดระบบสถาบันการเมือง  - form of government)  หรือเขียนบทกฎหมาย (พระราชบัญญัติ) อื่น ๆ   เช่น  กำหนดรูปแบบของ”กระบวนการยุติธรรม” ในกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ตำรวจ / อัยการ / ผู้พิพากษา) ฯลฯ  ;  นักกฎหมายจะต้องออกแบบ (design)กฎหมาย ให้มีระบบการถ่วงดุลในการใช้อำนาจรัฐ และป้องกันมิให้“นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง”(และเจ้าหน้าที่ของรัฐ)  บิดเบือนการใช้อำนาจ - abuse of power  แอบแฝงหาประโยชน์โดยมิชอบ  ด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น และเอาที่ดินหรือทรัพยากรของส่วนรวมไปเป็นของตนเอง  ;  และ ประการที่สอง คือ นักกฎหมาย  (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นตุลาการหรือผู้พิพากษาที่เป็นผู้ชี้ขาดคดี)มีหน้าที่จะต้องใช้บังคับกฎหมาย (ตีความ)  ให้ตรงตามเจตนารมณ์ของบทกฎหมาย  และยิ่งกว่านั้น  ในกรณีที่บทกฎหมาย (ลายลักษณะอักษร) มีช่องว่าง  นักกฎหมายก็มีหน้าที่ที่จะต้องอุดช่องว่างของกฎหมายโดยอาศัย “หลักกฎหมายทั่วไป - general principle of law”  (ซึ่งเป็นหลักการที่สังคมรับรู้กันอยู่)  เพื่อให้เกิดเป็นกฎเกณฑ์มาตรฐานของสังคม  แม้จะไม่มีการเขียนไว้เป็นลายลักษณอักษร   
              ปัญหามีอยู่ว่า   วงการนักกฎหมายของเรา มีมาตรฐานความรู้และความเข้าใจในกฎหมายมหาชน และมี “ศักยภาพ” พอที่จะบังคับใช้กฎหมาย ในฐานะที่เป็น วิศกรสังคม - social engineer”  ตามหลักนิติปรัชญาในยุคปัจจุบัน ได้ดีเพียงใด    
        
              เราลองมาทบทวนเหตุการณ์ที่เป็น  “ความเป็นจริง” ที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบัน ว่า นักกฎหมายของเรา (ใน ฐานะ ที่เป็นวิศกรสังคม - social engineer”) กำลังทำอะไรกันบ้าง    
       
             ประการแรก ถ้าเราดู  บทบาทของนักกฎหมายของเราในด้านการออกแบบกฎหมาย   เราก็จะพบว่า  นักกฎหมายของเราได้ออกแบบ  “ รูปแบบของรัฐบาล - form of government” และเขียนรัฐธรรมนูญให้คนไทย เป็น “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา - parliamentary system ”  ซึ่งเป็นประเทศเดียวในโลก   
             นักกฎหมายของเราไม่รู้และสังวรณ์ว่า  ทำไมวงการวิชาการทั่วโลกเขาจึงไม่ใช้ระบบนี้  และ ต่อมา ก็ปรากฎว่า  ผลที่เกิดจากการใช้ “ระบบ”นี้ของประเทศไทย(ประเทศเดียวในโลก)    ได้ทำให้นายทุนของเรารวมทุนกันตั้ง “พรรคการเมือง” และอาศัยการเลือกตั้ง(โดยการซื้อเสียงและการใช้อิทธิพล ในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ)   เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ  แสวงหาความร่ำรวย(โดยมิชอบ)จากทรัพยากรของชาติ และทำการคอร์รัปชั่นทั้งทางตรงและทางนโยบายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน  นอกจากนั้น ยังแย่งกัน “จับขั้วกันเอง (ระหว่างนายทุนเจ้าของพรรคการเมือง)”  ด้วยการแข่งกันแสวงหาพรรคพวกและหาคะแนนเสียงเลือกตั้ง  ด้วยการใช้ “นโยบาย populist ลด/แลก/แจก/แถม”   จนคนไทยกลายเป็นคนที่เห็นแก่ได้  และแตกแยกกันออกเป็นฝักเป็นฝ่าย  เป็นเสื้อเหลืองเสื้อแดง ฯลฯ  ดังที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน  
                และขณะนี้ ก็เป็นที่ประจักษ์ว่า บรรดานายทุนเจ้าของพรรคการเมืองเหล่านี้ พยายามอ้างการ “ปรองดอง” (ระหว่างนายทุนกันเอง)  เพื่อที่จะรักษา“ระบบการผูกขาดอำนาจรัฐโดยพรรคการเมืองนายทุน” ตามรัฐธรรมนูญนี้ไว้  และไม่ยอมให้มี “การปฏิรูปการเมือง” ด้วยการพยายามบิดเบือนความหมายของการปฏิรูปการเมือง  ด้วยการพูดให้คนทั่วไปหลงประเด็น และเอาเรื่องอื่น ๆ เข้ามากลบเกลื่อนความสำคัญของการปฏิรูปการเมือง
        
               ผู้เขียนเชื่อว่า  ระบบนี้ จะนำความเสื่อมสลายมาสู่ประเทศไทยและคนไทยในที่สุด เพราะนักการเมืองนายทุนของเราต่างคนต่างเห็นแก่ “ประโยชน์ของตนเอง”  มุ่งหมายที่จะเข้ามาผูกชาดอำนาจรัฐ (และแอบแสวงหาความร่ำรวยให้แก่ตนเอง)   โดยไม่คิดถึงประโยชน์ของชาติในระยะยาว   
             สิ่งที่ผู้เขียนในฐานะนักวิชาการ  ไม่สามารถยอมรับได้ ก็คือ การที่นักการเมืองของเราพยายามลวงคนไทยทั้งประเทศ  และพยายามให้คนไทยเรียก “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา - parliamentary system ” ประเทศเดียวในโลกของเรานี้ ว่า เป็น “ระบอบประชาธิปไตย”  ทั้งที่ หลักการของระบอบประชาธิปไตยของทุกประเทศทั่วทั้งโลก  คือ  “ส.ส. ต้องเป็น อิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรม - consciousของตนเอง  และต้องไม่อยู่ภายไต้อาณัติหรือการมอบหมายใด ๆ”
             ในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. ๒๕๕๓)  แม้แต่ “นายกรัฐมนตรี”(นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)ของเราเอง  เคยถึงกับบอกกับคนไทยทั้งประเทศว่า  ระบอบรัฐสภาของเรา  เหมือนกับระบบรัฐสภาของประเทศอังกฤษ  และในต้นปีใหม่นี้ (พ.ศ. ๒๕๕๔)  นายกรัฐมนตรีของเรา ก็ยังยืนยันที่จะบริหารประเทศ ภายไต้ “ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุน ในระบบรัฐสภา” (ประเทศเดียวในโลก)นี้ต่อไป  โดยอ้างว่า  เป็น “ระบอบประชาธิปไตย”    
       [หมายเหตุ  ในที่นี้  ผู้เขียนจะยังไม่กล่าวถึง  บทบาทของนักกฎหมายของเราใน“การออกแบบกฎหมาย ที่เป็นพระราชบัญญัติ”   เพราะจะทำให้บทความนี้ยาวเกินไป   แต่ผู้เขียนเชื่อว่า ท่านผู้อ่านคงจำเหตุการณที่เพิ่งผ่านมาในระยะ ๒ - ๓ ปีนี้ได้  เช่น  “ปัญหาการขัดแย้งระหว่าง คตส. กันพนักงานอัยการสุงสุด”  ในเรื่องการไม่ยอมฟ้องคดีเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมือง  หรือ “ปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”  ที่เราไม่สามารถตั้ง “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ”ได้  เป็นเวลานานเกือบปี  : ปัญหาเหล่านี้ แสดงให้เห็นถึงข้อบกพร่องของตัวบทกฎหมายของเรา  และขณะเดียวกัน ก็แสดงให้เห็น “สภาพคุณภาพของวงการนักกฎหมายของเรา” ในด้านการออกแบบกฎหมาย(ในฐานะที่เป็นวิศวกรสังคม)  อันเป็น “ความเป็นจริง - reality” ที่เห็นได้ในปัจจุบัน ]
        
              ประการต่อมา  เราลองมาดู  “บทบาทของนักกฎหมายของเรา”  ในฐานะที่เป็นวิศวกรสังคมในด้านการบังคับใช้กฎหมายและการวินิจฉัยคดีดูบ้างว่า  เป็นอย่างไร  ; ในประเด็นนี้  ผู้เขียนเชื่อว่า ถ้าท่านผู้อ่านย้อนความจำดู  ก็คงจะพบว่ามีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาบางฉบับหรือหลายฉบับที่ยังค้างคาใจท่านผู้อ่านอยู่  เป็นต้นว่า    คำวินิจฉัย ที่ ๓๖ / ๒๕๔๒ วันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๒   คดีระหว่าง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน ๑๒๕ คน  กับ นายเนวิน ชิดชอบ  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ปัญหาการพ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรี ในกรณี “ต้องคำพิพากษาให้จำคุก”  ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐) และ คำวินิจฉัย ที่ ๒๐ / ๒๕๔๔ วันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ (คดีซุกหุ้น)  คดีระหว่าง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กับ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  (กรณีจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน ฯ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ)   เป็นต้น [ หมายเหตุ เพื่อประโยชน์สำหรับท่านผู้อ่านในการเปรียบเทียบกับคดีนี้ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์)    ผู้เขียนจะได้นำเอา “สาระสำคัญ - feature” ของคดีทั้งสองนี้  ไปเขียนใว้ให้ท่านผู้อ่านพิจารณา ใน ภาคผนวก ]
                 ปัญหามีอยู่ว่า   เรา(คนไทยทั่ว ๆ ไป) จะทราบได้อย่างไร ว่า ตุลาการหรือผู้พิพากษาของเรา  มีความสามารถทำหน้าที่ใน “บทบาท”นี้ ได้ดี  เพียงใด
        
             การที่จะกล่าวว่า  มาตรฐาน “ความรู้และความเข้าใจทางกฎหมายมหาชน” ของผู้พิพากษาหรือของตุลาการของเรา เป็นอย่างไร นั้น   เราคงไม่สามารถพูดได้ง่าย ๆ โดยการอาศัย “ความรู้สึก(ว่า)”  แม้ว่าผู้เขียนจะมี“ความรู้สึก”อยู่ก็ตาม  เพราะในทางวิชาการ  การที่เราจะสามารถพูดเช่นนี้ได้  เราจะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นได้จาก “ตัวอย่าง”ของจริง และยิ่งกว่านั้น  ถ้าเราต้องการที่จะ “พูด”อย่างหนักแน่น    เราก็ต้องมี “ตัวอย่าง” หลายตัวอย่าง   เพราะการทำศึกษาวิเคราะห์ - case study  เพียงคดีหนึ่งหรือสองคดี  เป็นเรื่องที่อาจถูกโต้แย้งได้ง่ายว่า  เป็นเรื่องของ “ตุลาการเป็นรายบุคคล” ที่เป็นส่วนน้อยไม่กี่คน  และไม่สามารถนำไปสู่ผล “สรุป” ให้เป็นภาพรวม (สภาพคุณภาพของตุลาการส่วนใหญ่ของประเทศ) ได้
        
              สำหรับผู้เขียน  ผู้เขียนได้เรียนให้ท่านผู้อ่านทราบแล้วว่า ผู้เขียนไม่ค่อยได้นำ “คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาล”มาทำการศึกษาวิเคราะห์ - case study   เพราะผู้เขียนไม่ค่อยมีเวลา และถ้าจะพูดไปแล้ว  การทำการศึกษาวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลแต่ละคดี  เป็นเรื่องที่เสียเวลามาก แต่ได้ผลน้อย  คือ ยากที่จะทำให้สังคมหรือคนทั่วไปได้มองเห็น “ปัญหา(พฤติกรรม)ของผู้พิพากษาหรือตุลาการ(โดยรวม)” ของประเทศ  (เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เวลาสำหรับการเขียนบทความเรื่อง การปฏิรูปการเมือง)  ทั้ง ๆ ที่  อันที่จริง แล้ว   บทบาทของนักกฎหมายในการบังคับใช้กฎหมาย - law enforcement   และ การวิเคราะห์  “พฤติกรรม” ของผู้พิพากษา(ที่แสดงออกให้เห็น  จากการเขียนให้ “เหตุผล” ในคำพิพากษา)   เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดสภาพบังคับของกฎหมาย  อันเป็นวินัยของสังคมของการอยู่ร่วมกัน
             แต่โดยที่กรณีนี้ (คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ - กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์)  เป็นเรื่องที่มีผู้สนใจมาก   ผู้เขียนจึงคิดว่า  น่าจะคุ้มค่าถ้าหากจะใช้เวลามาทำการศึกษาวิเคราะห์ดู  เพื่อจะได้เป็น “ตัวอย่าง”สักตัวอย่างหนึ่ง    ส่วนการที่ท่านผู้อ่านจะทราบหรือสำนึก (realize)หรือไม่ ว่า  ปัญหานี้ เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ  ที่“ซ่อน” อยู่ในความบกพร่องหรือความพิการของกฎหมายว่าด้วยกระบวนการยุติธรรมของเรา    ก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านจะพิจารณาเอาเอง
        
               ในการวิเคราะห์ “คำวินิจฉัยของของศาลรัฐธรรมนูญ”ในกรณีนี้   ผู้เขียนจะขอทำการศึกษาวิเคราะห์  ตาม “หลักการ” ที่ผู้เขียนได้เคยสอนนักศึกษาไว้ในการบรรยายในมหาวิทยาลัย  
                  ผู้เขียนได้สอนนักศึกษาไว้ว่า   เราไม่สามารถทราบได้ว่า  ผู้พิพากษาผู้ที่เขียนคำพิพากษา เป็นบุคคลที่เก่งหรือไม่เก่ง สุจริต(ใจ)หรือไม่สุจริต  ด้วยการอ่านเพียง  “คำพิพากษา” ที่ผู้พิพากษาเขียนไว้ในคำพิพากษา แต่จะต้องอ่านจาก “ข้อความที่ไม่ปรากฎ” ในคำพิพากษา
             ผู้เขียนอธิบาย “เหตุผล” ให้นักศึกษาฟังอย่างง่าย ๆ  คือ ในการเขียนคำพิพากษา  ผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษาจะเป็นผู้ที่ทำใช้อำนาจหลาย ๆอย่างด้วยตนเอง  กล่าวคือ  ผู้พิพากษาจะเป็นผู้ฟังพยานและสรุป “ข้อเท็จจริง”ในคดีด้วยตนเอง / เป็นผู้กำหนด “ประเด็น”ในการวินิจฉัยด้วยตนเอง /  เป็นผู้ที่เขียนให้”เหตุผล”ในคำวินิจฉัย เอง (ตามประเด็นที่ตนเองกำหนด) /และในที่สุด ก็เป็นผู้ชี้ขาดเป็น“ข้อยุติ” เอง ;  ความเป็นจริงมีอยู่ว่า  โดยพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน   ผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษา ย่อมจะไม่เขียนข้อความหรือสาระใด ๆ  ที่ขัดกับ “ข้อยุติ”ของตนเองไว้ในคำพิพากษา
               ดังนั้น  ถ้าเราอยากจะทราบว่า  ผู้พิพากษา(ที่เขียนคำพิพากษา)ท่านใด  เป็นคนเก่งหรือไม่เก่ง สุจริต(ใจ)หรือไม่สุจริต   เราจึงต้องอ่านคำพิพากษา จาก“ข้อความที่ไม่ปรากฎ” ในคำพิพากษา
              
               ผู้เขียนได้สอนนักศึกษาไว้ว่า  ถ้าคำพิพากษาใด มีข้อความที่ “ควร” จะต้องปรากฎในการพิพากษา  ปรากฎอยู่ในคำพิพากษาครบถ้วน  ไม่ตกหล่น  เราก็สามารถพูดได้ว่า  ผู้พิพากษาที่เขียนคำพิพากษาดังกล่าว  เป็นผู้พิพากษาที่ดี มีความสามารถ และสุจริต  ; และ ในทางตรงกันข้าม  ถ้าคำพิพากษาใด  มีข้อความที่ “ควร” จะต้องปรากฎในการพิพากษา  ตกหล่นมากกว่าที่พึงคาดหมายด้จากผู้พิพากษา(ที่ถือว่าเป็นผู้เชียวชาญกฎหมาย)แล้ว  เราก็สามารถ “รู้” ได้ว่า  คำพิพากษานั้น  (ซึ่งในการสอนนักศึกษากฎหมาย  ผู้เขียนเรียกว่า)  เป็น “คำพิพากษาที่ผิดปกติ”  ;  และ“ผู้พิพากษา”ที่ทำคำพิพากษาที่ผิดปกตินั้น  ก็จะตกอยู่ในกรณีใดกรณีหนึ่ง  คือ  เป็นผู้ที่มี“ความรู้”ไม่ถึงมาตรฐานของการเป็นผู้พิพากษา    หรือ มิฉะนั้น  ก็เป็นผู้มีความรู้ถึงมาตรฐาน  แต่ไม่สุจริต(ใจ)
              แต่แน่นอนว่า  ผู้ที่จะสามารถ “อ่าน” คำพิพากษาตามที่กล่าวมาแล้วได้ จะต้องมี “ความรู้”และมี “ความสามารถ”  พอที่จะทราบได้ว่า  ข้อความใดที่ “ควร”จะต้องปรากฎในคำพิพากษา  แต่ข้อความนั้นบังเอิญมิได้ปรากฎ (ในคำพิพากษา) ; ทั้งนี้  นอกเหนือไปจาก การที่ผู้ที่ทำการวิเคราะห์คำพิพากษาฯ จะต้องสามารถเข้าถึ - access ข้อเท็จจริงในสำนวนคดี  ได้ครบถ้วนตามสมควร อีกด้วย
                ถ้าศาลของประเทศใด มีตุลาการหรือผู้พิพากษาที่มี”คุณภาพ”    สถาบันศาลก็จะเป็นสถาบันที่ผ่อนคลายปัญหาของสังคมและ เสริมสร้าง “ประสิทธิภาพ“การใช้บังคับของบทกฎหมาย(ที่เป็นลายลักษณอักษร)”   แต่ในทางตรงกันข้าม  ถ้าศาลของประเทศใด มีตุลาการหรือผู้พิพากษาที่ด้อยในคุณภาพ  ขาดการพัฒนาในพื้นฐานวิธีคิดทางนิติปรัชญา  คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลในประเทศนั้น  ก็จะสร้าง“ปัญหา”ให้แก่สังคม  เป็นคำพิพากษาที่ “ยั่วยุ”ให้บุคคลการกระทำความผิด  และหาทางหลบหลีกจากความรับผิด โดยอาศัยความเป็น “ศรีธนญชัย” ในการเล่นสำนวนความ  ดังเช่นในนิทานบางเรื่องที่อ้างว่าพระจันทรมี ๒ ดวง  คือ  เป็นการ(พยายาม)อธิบายให้คนเชื่อว่า    เมื่อ“เงาพระจันทร” ที่อยู่ในน้ำ  มีลักษณะเหมือนกับพระจันทร์ที่อยู่บนฟ้าได้ โดยไม่ผิดเพี้ยน(ฉันใด)   ดังนั้น  ก็ย่อมถือได้ว่า พระจันทรมี ๒ ดวง(ฉันนั้น )
        
            แน่นอน ตามที่กล่าวมาแล้วว่า ผู้เขียน คงมิใช่ผู้ที่จะบอกแก่ท่านผู้อ่านว่า  คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของศาลในคดีใด  เป็น “คำพิพากษาที่ผิดปกติ” หรือไม่  หรือบอกว่า ตุลาการของศาล (ไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลใด ๆ) ของเรา  มี”คุณภาพ”อย่างไร  เทียบได้หรือเทียบไม่ได้กับตุลาการของศาลในประเทศที่พัฒนาแล้ว   ; ในการเขียนบทความวิเคราะห์ คำพิพากษา เป็น case study นี้  ผู้เขียนเพียงแต่จะให้ข้อคิดเห็นของผู้เขียน  ที่เพิ่มเติมหรือแตกต่างไปจาก “เหตุผล”ของตุลาการที่ทำการวินิจฉัยคดีเท่านั้น    และก็เป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่าน  จะต้องใช้วิจารณญาณของท่านและมีความเห็นของท่านเอง
       
        
       บทความนี้  จะมีสาระแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน   ดังต่อไปนี้
       
       ส่วนที่หนึ่ง  เป็นส่วนที่เป็นการรวบรวม “ข้อเท็จจริง”  อันเป็นปฏิกริยาของสังคมไทย ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ  (หลังจากที่ ตุลาการของศาลรัฐธรรมนูญ ได้อ่านคำวินิจฉัย(อย่างไม่เป็นทางการ) ในวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ แล้ว)
       
       ส่วนที่สอง เป็นการ “สรุปสาระ” ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (โดยในการสรุปนี้  จะไม่มีข้อวิจารณ์หรือความเห็นของผู้เขียนปะปนอยู่ด้วยแต่ประการใด)  แยกออกเป็น ๒ ตอน  
       
       
       
          ตอนที่ ๑ การสรุปสาระสำคัญ ของ “คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ)” ของศาลรัฐธรรมนูญ (เผยแพร่โดยศาลรัฐธรรมนูญ ใน www.constitutionalcourt.or.th  หลังจากที่ตุลาการอ่านคำวินิจฉัย ในวันที่  ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓)    
          ตอนที่ ๒ การสรุปสาระ ของ “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓   ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓  (แต่เผยแพร่ โดยศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ ใน www.constitutionalcourt.or.th  )   
       
       
       ส่วนที่สาม  เป็นความเห็นเชิงวิเคราะห์ของผู้เขียน  ซึ่งจะแบ่งเป็น ๒ ตอน
       
       
            ตอนที่ ๑  เป็นการวิเคราะห์สาระของ “คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ ๑๕/๒๕๕๓   ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ” รวมทั้ง คำวินิจฉัย (อย่างไม่เป็นทางการ) ของศาลรัฐธรรมนูญ  
            ตอนที่  ๒ เป็นความเห็นเชิงวิเคราะห์ทั่วไปเกี่ยวกับ “กระบวนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ” โดยรวม
       
       สรุป เราจะทำอย่างไร กับ มาตรฐานและคุณภาพของ“นักกฎหมายมหาชน” ของประเทศไทย
        
        [และภาคผนวก :  สรุปสาระสำคัญ - feature  ของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (บางคดี)  สำหรับการศึกษาวิเคราะห์ “พฤติกรรม” ของผู้พิพากษา (ที่แสดงออกให้เห็นได้ จากการเขียนให้ “เหตุผล” ในคำพิพากษา)   
        
                ================================================
        
       ส่วนที่หนึ่ง  ปฏิกริยาของสังคมไทย ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (กรณียุบพรรคประชาธิปัตย์)
             ศาลรัฐธรรมนูญ  ได้อ่านคำวินิจฉัยคดีนี้  เมื่อบ่ายวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๓  ซึ่งเป็นการอ่านคำวินิจฉัยในทันทีหลังจากการแถลงปิดคดีด้วยวาจา โดยผู้ร้อง(นายทะเบียนพรรคการเมือง) และผู้ถูกร้อง(พรรคประชาธิปัตย์) ในเช้าวันเดียวกัน  ; และสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น  ก็คือ  คำวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก  ทั้งจากบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และจากวงการวิชาการ
            เพื่อประโยชน์ในทางวิชาการและเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์    ผู้เขียนเห็นสมควรที่จะเก็บรวบรวม “ข้อเท็จจริง” ที่มีสาระสำคัญ (เท่าที่ผู้เขียนได้อ่านมา)ไว้ในบทความนี้ด้วย  โดยจะแยกเป็น ๒ หัวข้อ  คือ  (๑) ”ข้อเท็จจริง” ที่เป็นปฏิกริยาและเป็นการโต้ตอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง(ตามที่ปรากฎในสื่อมวลชน)  และ (๒) “ความเห็น” ของนักวิชาการ
        
        
       (๑)“ข้อเท็จจริง” ที่เป็นปฏิกริยาและเป็นการโต้ตอบของผู้ที่เกี่ยวข้อง (ตามที่ปรากฎในสื่อมวลชน) 
              สาระที่อยู่ในหัวข้อ นี้  จะเป็นข้อความที่ผู้เขียนลอกมาจากหนังสือพิมพ์บางฉบับ  โดยเลือกเอาจากฉบับที่มี “ข้อเท็จจริง”มีรายละเอียดที่อาจเป็นประโยชน์ในทางวิชาการ หรือ เป็น “ข้อเท็จจริงเพิ่มเติม” นอกเหนือไปจากเรื่องที่เรารู้กันอยู่ทั่ว ๆ ไป  และในการคัดลอกนี้   ผู้เขียนจะใช้ “ถ้อยคำ”ตามที่ปรากฎอยู่ในสื่อมวลชน โดยไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติม ; และ “ ผู้ที่เกี่ยวข้อง”ในที่นี้จะมีอยู่ ๓ ฝ่ายด้วยกัน   คือ  พรรคการเมืองฝ่ายค้าน  / กรรมการการเลือกตั้งและนายทะเบียนพรรคการเมือง /  และตุลาการ(บางท่าน)ที่เป็นผู้พิจารณาและทำคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๑๕/๒๕๕๓   โดยจะกล่าวเรียงตามลำดับ ดังนี้
        
       (ก)ความเห็นของ พรรคเพื่อไทย (พรรคการเมืองฝ่ายค้าน)
             โฆษกพรรคเพื่อไทย (ซึ่งเป็นพรรคการเมืองฝ่ายค้านและเป็น ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในคำวินิจฉัยนี้) (ข่าววันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓)  แถลงว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีนัยสำคัญอยู่  ๗ ประเด็น  คือ
               (๑) คำวินิจฉัยขัดแย้งกันเองในประเด็นสาระสำคัญ  คือ คำวินิจฉัยส่วนต้น  เห็นว่านายทะเบียนมิได้ทำ”ความเห็น”ให้ยุบพรรค ปชป. จึงถือว่า  คำร้องมีความไม่ถูกต้อง ทำให้คำร้องไม่ชอบ ;  แต่คำวินิจฉัยอีกส่วนหนึ่ง  กลับบอกว่า การยื่นคำร้องให้ยุบพรรคตาม  พ.ร.บ.พรรคการเมือง   กฎหมายมิได้บัญญัติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองต้องเสนอความเห็นว่า  พรรคใดมีเหตุต้องถูกยุบหรือไม่   ดังนั้น นายทะเบียนจะเสนอความเห็นหรือไม่ จึงไม่ใช่สาระสำคัญ 
              (๒) ระยะเวลา ๑๕ วันตามที่บัญญัติไว้ ตามที่บัญญัติไว้ตาม มาตรา ๙๓ วรรคสอง ของ พ.ร.บ.พรรคการเมือง  มิใช่ “อายุความฟ้องคดี”  เป็นเพียงกำหนดเวลาที่มีเจตนารมณ์ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง เร่งรัดการดำเนินการ ;  เมื่อศาลรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว  จะมาอ้างเหตุดังกล่าวเพื่อยกคำร้องอีกไม่ได้ ;   อีกทั้งคู่กรณีก็มิได้ยกประเด็นดังกล่าวมาเป็นข้อโต้แย้ง
              (๓) “ระยะเวลา ๑๕ วันนับแต่วันที่ความปรากฎต่อนายทะเบียนนั้น  ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วว่า หมายถึงวันที่นายทะเบียนมีความเห็นให้ยุบพรรค   คดีนี้  กกต.มีมติให้นายทะเบียนยื่นคำร้องวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓   เมื่อนายทะเบียนยื่นคำร้องวันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓ จึงไม่เกินกำหนดเวลา ;  คำวินิจฉัย(นี้)จึงขัดแย้งกับคำวินิจฉัยเดิม 
                (๔) ที่ระบุว่านายทะเบียนยื่นคำร้องเกิน ๑๕ วัน มีเพียง ๑ เสียง  จึงไม่สามารถนำมาเป็นเหตุผลในการเขียนไว้ในคำวินิจฉัยกลางได้ 
                 (๕) การเอาเรื่อง กำหนดเวลา ๑๕ วัน มาเป็นข้ออ้างในการยกคำร้อง   ทั้งที่ข้อเท็จจริงในคำร้อง  เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและงบประมาณ ;  เสียโอกาสที่จะดำเนินคด๊อาญาและคดีแพ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้อง 
                  ( ๖) ความเห็นของนายทะเบียนไม่มีกฎหมายกำหนด รูปแบบและวิธีการไว้  ดังนั้น การที่นายทะเบียนเสนอความเห็นต่อ กกต. เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จึงถือว่านายทะเบียนมีความเห็นแล้ว  สอดคล้องกับความเห็นของศาลรัฐธรรมนูญส่วนหนึ่งที่ระบุไว้ในคำวินิจฉัย ; ดังนั้น ที่ระบุว่านายทะเบียนยังไม่มีความเห็นเป็นเหตุยกคำร้อง   จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่สมเหตุสมผล  และ
              (๗) การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามข้อกำหนดข้อ ๕๐ กำหนดให้ต้องวินิจฉัยทุกประเด็นที่ศาลกำหนดไว้  แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเฉพาะประเด็นที่หนึ่งและประเด็นที่สองเท่านั้น   อีก ๓ ประเด็นที่เป็นเนื้อหาคดี  กลับไม่วินิจฉัย
        
             เจ้าหน้าที่ในคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย (ข่าว วันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓)  กล่าวว่า  ฝ่ายกฎหมายของพรรคจะประชุมเพื่อหารือว่า  สมควรดำเนินการอย่างไรต่อไป ;  ช่องทางยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา ๒๗๐ - ๒๗๕  คงพอมีทางอยู่ ; คำวินิจฉัยครั้งนี้  สร้างรอยด่างแก่กระบวนการยุติธรรมและวงการนิติศาสตร์อย่างมาก
        
        (ข)ความเห็นของ กรรมการการเลือกตั้ง ๓ ท่าน (นางสดศรี สัตยธรรม / นายสมชัย จึงประเสริฐ / นายอภิชาติ สุขัคคานนท์)
        
       ๑)นางสดศรี สัตยธรรม (กกต .ด้านกิจการพรรคการเมือง) (ข่าววันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓)  ให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์ (ทีเอ็นเอ็น ๒๔)ว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองเคยออกความเห็น ในการประชุม กกต เมื่อวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒ ให้ยกคำร้องคดีดังกล่าว    ที่ประชุม กกต.ได้สอบถามแล้วว่า  เป็นความเห็นนายทะเบียนพรรคการเมืองหรือไม่   โดยนายอภิชาตยืนยันว่า  เป็นการออกความเห็นในฐานะประธาน กกต. และให้ตั้งกรรมการตรวจสอบของนายทะเบียนพรรคการเมืองเพิ่มเติม   ใช้เวลาสอบ ๓ เดือน จนถึงวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ จึงสอบเสร็จและเสนอกลับมาว่าสมควรให้มีการยุบพรรค ปชป. 
                นางสดศรีกล่าวว่า นายทะเบียนพรรคเห็นว่า เป็นเรื่องสำคัญ  จึงเสนอให้ กกต.ลงมติร่วมกัน    ดังนั้น น่าจะถือว่าวันที่๑๒ เมษายน ๒๕๕๓  เป็นวันที่นายทะเบียนพรรคให้ความเห็น   กกต.ไม่ได้ละเลยเรื่องกำหนดเวลา ; นอกจากนี้ กกต.ยังยึดคำวินิจฉัยยุบ ๓ พรรค (พรรคธัมมาธิปไตย พรรคพลังธรรม พรรคธรรมชาติไทย) ของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี ๒๕๕๐ มาเป็นแนวทางในการพิจารณาด้วย  ดังนั้นทั้ง ๕ คนไม่จำเป็นต้องลาออกเพื่อรับผิดชอบ 
                 ส่วนคดีบริจาค ๒๕๘ ล้านบาทจากบริษัท ที พี ไอ โพ ลินจำกัด(มหาขน)  นางสดศรีกล่าวว่า เป็นความผิดคนละมาตรา ;  คดี ๒๕๘ ล้านบาทเป็นความผิดมาตรา ๙๕ พ.ร.บ.พรรคการเมือง ๒๕๕๐ ที่ไม่มีเงืjอนไขเวลา  เป็นเรื่องที่กกต.ต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด  ไม่ได้ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ   การยื่นเรื่องของ กกต.ยังอยู่ในกำหนด ๓๐ วันในการยื่นคำร้องต่อศาล
               นอกจากนั้น ในหนังสือพิมพ์บางฉบับ  นางสดศรี สัตยธรรม (กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง)กล่าวว่า   ในวันที่ ๑๗ ธันวาคม  นั้น ความยังไม่ปรากฎ   แต่ในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓  ตรงนี้มีความเห็นที่ครบถ้วนในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ประธาน กกต  และกกต. ซึ่ง ๓ องค์ประกอบนี้   จึงได้มีมติให้ส่งเรื่องไปในวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ ;  และถ้าหากนับตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน จนถึง วันที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๕๓  ซึ่งหากจะนับ  ก็ไม่เกิน ๑๕ วัน
        
          ๒) นายสมชัย จึงประเสริฐ ( กกต.ด้านกิจการสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย) (ข่าววันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓) กล่าวที่สำนักงาน กกต.ว่า  กรณีนายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งถือว่าดำรงตำแหน่งประธาน กกต.ด้วยนั้น  ได้มีมติหรือความเห็นชอบออกมาเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๓ เพื่อให้ส่งคดีดังกล่าวไปที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว  จึงถือว่านายทะเบียนพรรคการเมืองมีความเห็นชอบในวันนั้นแล้ว  ........
        
           ๓) นายอภิชาต สุขัคคานนท์ (นายทะเบียนพรรคการเมืองและประธานกรรมการการเลือกตั้ง) (ข่าววันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓) ;   รายงานข่าวแจ้งว่า ในวันเดียวกันนี้(วันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๓)  ได้มีการประชุม กกต.ตามปกติ หลังมีกระแสข่าวกดดันภายในให้นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง แสดงความรับผิดชอบ  โดยระหว่างการประชุม  นายอภิชาตพูดต่อที่ประชุมตอนหนึ่งว่า “ไปลงข่าวได้อย่างไรว่า กกต.จะปลดผมออก ....... แต่ผมยังเห็นว่าคงต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการก่อนภายใน ๑๐ วัน   ดังนั้น จึงพูดอะไรขณะนี้ไม่ได้”
             รายงานข่าวแจ้งต่อไปว่า  กกต.บางคนขอให้นายอภิชาตแถลงข่าว  เพื่อชี้แจงให้สังคมรับทราบ เพราะเห็นว่าสังคมยังคงไม่เข้าใจคำวินิจฉัยของศาล  เพราะยังคงเข้าใจว่า  เมื่อมีผลออกมาเช่นนี้  กกต.ทั้งหมดควรแสดงความรับผิดชอบ ;  แต่นายอภิชาติกลับเห็นว่า  ไม่ควรที่จะชี้แจงคำวินิจฉัยของศาลในช่วงนี้  ควรรอให้ศาลมีคำวินิจฉัยกลางอย่างเป็นทางการออกมาก่อน  เพราะหากชี้แจงช่วงนี้  จะเป็นการโต้แย้งคำวินิจฉัยศาลได้
        
       (ค)คำชี้แจง ของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (นายจรัล ภักดีธนากุล) 
        
              เรื่องวิจารณ์ศาลคลาดเคลื่อน (ข่าววันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓  )   นายจรัญ ภักดีธนากุล (ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) ได้ กล่าวในรายการ “เก็บตกจากเนชั่น” ทางสถานีโทรทัศน์ ฯ ว่า  การวิพากษ์วิจารณ์เรื่องระยะเวลา ๑๕ วันนั้น  ถือว่าเป็นความคลาดเคลื่อนของข้อมูล  การวิพากษ์ของสังคมต้องตั้งอยู่บนฐานข้อมูลที่ถูกต้องก่อน ;  ต้องเรียนว่าตุลาการเสียงข้างมาก ๔ คนเห็นตรงกันว่า คำร้องที่ยื่นมาไม่ถูกต้อง โดยดูจากพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงแล้ว  จึงเห็นควรให้ยกคำร้อง  แต่เหตุมีอยู่ ๒ เหตุผล คือ  (๑) เป็นของตุลาการ ๓ คน เห็นว่า  นายทะเบียนยังไม่ได้ให้ “ความเห็น”ในฐานะนายทะเบียนว่ามีการกระทำผิดและควรให้ยุบพรรค   ที่ กกต.ประชุมกันคล้ายกับว่าเป็นขั้นตอนของกฎหมายที่กำหนดไว้  ยังไม่ครบขั้นตอน ;  และ (๒) เหตุผลระยะเวลา ๑๕ วันนั้น เป็นของตุลาการ ๑ เสียง โดยให้ถือวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๒   (กกต.)มีมติแล้ว  ดังนั้น จึงเกิน ๑๕ วัน จึงยกคำร้อง
               นายจรัลกล่าวว่า ในคำวินิจฉัยใน ๑๐ หน้าแรก(แบบไม่เป็นทางการ)  ให้ความเห็นไว้ชัดเจน ทั้งประเด็นข้อเท็จจริงที่ละเอียดและข้อกฎหมาย  โดยข้อกฎหมายของตุลาการ ๓ คนของเสียงข้างมากเห็นว่า  นายทะเบียนต้องมี “ความเห็น”ก่อนว่าควรให้ยุบพรรค  จากนั้นนายทะเบียนจึงมาขอ “ความเห็นชอบ”จากที่ประชุม กกต.;  ความเห็นของนายทะเบียนแยกออกต่างหากจาก ความเห็นของ กกต.และความเห็นของประธาน กกต. ซึ่งอยู่ในฐานะสมาชิกท่านหนึ่งใน กกต.  ด้วยเหตุนี้ จะนำความเห็นของประธาน กกต. มาเป็นความเห็นของนายทะเบียนนั้น  ไม่ถูกต้อง ; ตรงนี้เป็นเหตุของตุลาการ ๓ คน
             เมื่อถามว่า  ความเห็นของตุลาการ ๓ คนของเสียงข้างมาก  ไม่ได้ดูเงื่อนไขเรื่องระยะเวลา   นายจรัลกล่าวว่า “ไม่ใช่ครับ” ; เมื่อถามย้ำว่า  ถือว่าเกินระยะเวลา ๑๕ วันหรือไม่  นายจรัลกล่าวว่า ไม่ใช่ครับ  แต่เห็นว่า ยังไม่ได้เริ่มต้นนับ ๑๕ วัน  และเห็นว่ายังไม่ครบองค์ประกอบ   เพราะยังไม่มี”ความเห็น”ของนายทะเบียนพรรคการเมือง
             “กฎหมายได้แยกภาระหน้าที่ของนายทะเบียน  ประธาน กกต. และ กกต.ไว้ชัด ;  ประธาน กกต.ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของ กกต   .ออกเสียงลงมติในที่ประชุม กกต.  ไม่ใช่ทำหน้าที่ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง   เพียงแต่ว่ามันยาก  เพราะสองตำแหน่งนี้สวมอยู่ในคนคนเดียวกัน ; ในทางปฏิบัติ เราก็แยกว่า  ในขณะนั้นได้สวมหมวกอะไร  ทำหน้าที่อะไร  ก็ถือว่า ทำหน้าที่ในตำแหน่งนั้น” นายจรัลกล่าว
        
          นายจรัลกล่าวว่า  การพิจารณาคดีนี้  คณะตุลาการทั้ง ๖ คน  ได้ทำการบ้านมาทุกประเด็น  แต่ตัวตุลาการทั้ง ๖ คน  ไม่มีใครรู้ธงคำตอบของตุลาการแต่ละคนมาก่อนล่วงหน้า  และมาเปิดกันครั้งแรก  ตอนที่มีการลงมติในวันตัดสินคดีประมาณบ่ายโมงเศษ ๆ ;   เมื่อลงมติกัน  ก็ได้ลงมติกันทีละประเด็น   แต่เมื่อประเด็นข้อกฎหมายไม่ผ่าน  การลงมติในข้ออื่น ๆ ในทางปฏิบัติไม่ทำ   เพราะฉะนั้น ในคำวินิจฉัยกลางจึงจบแค่นั้น
        
       การรัองเรียน ต่อ ป.ป.ช.   อนึ่ง ในตอนปลายเดือนธันวาคม (วันที่ ๒๐ และ ๒๑ ธันวาคม)  มีข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยปรากฎเป็นข่าวในสื่อมวลขน ๒ - ๓ ฉบับ ว่า  ได้มีบุคคลของพรรคการเมืองบางพรรคหรือบุคคลบางกลุ่ม  ร้องเรียนกล่าวหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก (ที่เห็นควรให้ยกคำร้องของนายทะเบียน)  ๔ ท่าน ต่อ ป.ป.ช.  ว่า   ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง  ๔ ท่าน ได้วินิจฉัยให้ยกคำร้องคดียุบพรรค ปชป. โดยให้เหตุผลที่ผิดพลาดอย่างชัดแจ้ง  ซึ่งอาจเข้าข่าย  เป็นการใช้อำนาจหรือปฏิบัติเหน้าที่โดยมิชอบ    เพราะได้ปรากฎข้อเท็จจริงว่า  ตุลาการทั้ง ๔ ท่านนี้ ได้เคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๔-๕/๒๕๕๓ เมื่อวันที่  ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๓ (กรณียุบพรรคพลังเกษตรกร) นี้เอง ;  โดยข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าว   การทำความห็นของนายอภิชาติ  สุขขัคคานนท์ ในการยุบพรรคพลังเกษตรกร   นายอภิชาติก็ได้ทำความเห็นเพียงว่า “นำเข้าที่ประชุม กกต.”เท่านั้น  และก็ทำใน “ฐานะประธาน กกต.” โดยมิได้ระบุว่าเป็น “ความเห็นของนายทะเบียนพรรคการเมือง” เช่นเดียวกับในคดีนี้ ;  แต่ในคดีนั้น  ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยให้ยุบ “พรรคพลังเกษตรกร”   ซึ่งเอกสารดังกล่าวก็ยังอยู่ในสำนวนคดีของศาลรัฐธรรมนูญ  ;   ในการพิจารณาคดีนั้น  ศ่าลรัฐธรรมนูญ มิได้หยิบยกประเด็นเรื่อง  “นายทะเบียนพรรคการเมืองยังไม่ทำความเห็น” ขึ้นมาพิจารณาแต่อย่างใด  และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้ง ๔ ท่านนี้ ก็ได้ร่วมวินิจฉัยอยู่ในคดีนั้นด้วย  แต่พอมาในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์  นายอภิชาตได้ทำความเห็นทั้งในฐานะประธาน กกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง  ตุลาการทั้ง ๔ ท่าน กลับวินิจฉัยไปอีกทาง .........ทั้งที่คดีเดิมนั้น เพิ่งตัดสินไปเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๓ ( ๘ เดือน) นี้เอง
       
       
       
        
       [หมายเหตุ   ข้อสังเกตของผู้เขียน   ผู้เขียนคงจะไม่ให้ “ข้อคิดเห็น” ใด ๆ ในส่วนนี้  เพราะส่วนนี้เป็นส่วนของการเก็บ “ข้อมูล”ไว้สำหรับการวิเคราะห์เท่านั้น  แต่ผู้เขียน(ในฐานะนักวิชาการ)เพียงแต่แปลกใจอยู่บ้าง  เพราะตาม”ข้อเท็จจริง”ที่ปรากฎข้างต้นนี้  ดูเหมือนว่า  คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่รู้ตัวหรือไม่ได้ระแวงมาก่อน  ว่า  ศาลรัฐธรรมนูญจะนำ “ประเด็น” ที่ว่า นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องทำ “ความเห็น”มาก่อนที่จะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง  มาเป็น “เหตุ” ยกคำร้องของนายทะเบียนพรรคการเมือง  และดังนั้น   คำถามมีว่า  เพราะเหตุใด จึงเป็นเช่นนั้น   เกิดอะไรผิดพลาดขึ้นใน “กระบวนวิธีพิจารณาความ” ของศาลรัฐธรรมนูญ  (?) (?)]
        
        อ่านต่อหน้า 2


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1546
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:38 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)