|
|
บทวิเคราะห์การยุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสอง (ตอนที่ 1) 19 ธันวาคม 2553 17:17 น.
|
แม้ว่าที่ผ่านมามีพรรคการเมืองเพียง 3 พรรค อันได้แก่ พรรคมัชฌิมาธิปไตย พรรคชาติไทย และพรรคพลังประชาชน[1] เท่านั้น ที่ถูกยุบไปเพราะเหตุที่ได้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือ กฎเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่ออกโดย กกต. ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่า พรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามมาตรา 237 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ มาตรา 103 วรรคสองของกฎหมายเลือกตั้ง และมาตรา 94 (2) ของกฎหมายพรรคการเมือง[2] แต่เหตุยุบพรรคข้อนี้ก็นำมาซึ่งข้อถกเถียง ทั้งทางวิชาการและทางปฏิบัติ และทั้งทางนิติศาสตร์และทางรัฐศาสตร์ ในสังคมวงกว้างอย่างมาก[3] จึงเห็นสมควรหยิบยกขึ้นมาศึกษาและวิเคราะห์ไว้ในบทความนี้
1. หลักเกณฑ์การยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง
องค์ประกอบข้อแรกของเหตุยุบพรรคข้อนี้ คือ ต้องมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง หรือระเบียบหรือประกาศของ กกต. ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อาทิ การจ้างพรรคเล็กให้ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และการรับจ้างเพื่อกระทำการดังกล่าว[4] การซื้อเสียง ไม่ว่าจะซื้อเพื่อตนเอง ซื้อเพื่อผู้สมัครร่วมพรรครายอื่น[5] ซื้อเพื่อพรรคที่ตนสังกัด หรือแม้แต่ซื้อเพื่อไม่ให้เลือกพรรคหรือผู้สมัครคู่แข่ง ไม่ว่าในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตหรือการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ทั้งที่ซื้อกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเอง[6] หรือซื้อผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้าน[7] ต่างก็ถือเป็นการกระทำผิดที่นำไปสู่การยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุข้อนี้ได้ทั้งสิ้น นอกจากนั้นแล้ว ยังมีข้อห้ามอื่น ๆ ในกฎหมายเลือกตั้งอีก 22 มาตราที่อาจนำมาซึ่งการยุบพรรคตามเหตุข้อนี้ได้[8] แต่ทั้งนี้ ยังตกหล่นมิได้นับรวมข้อห้ามอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในระเบียบหรือประกาศ กกต. ซึ่งน่าจะมีอีกหลายสิบข้อทีเดียว
องค์ประกอบอีกข้อหนึ่งคือ ผู้กระทำนั้น ต้องเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ว่าจะกระทำผิดฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งด้วยตนเอง ก่อ ใช้ จ้างวาน หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำผิด และแม้ขณะเวลาที่กระทำผิดยังมิได้ยื่นใบสมัครกับ กกต. ก็ตาม หากต่อมาได้สถานะเป็น ผู้สมัคร แล้ว ก็ถือว่าเข้าองค์ประกอบนี้[9]
นอกจากนั้น สถานะของผู้สมัครในพรรคการเมืองก็ถือว่าสำคัญมาก เพราะหากผู้สมัครที่กระทำผิดเป็นหัวหน้าหรือกรรมการบริหารพรรคเสียแล้ว ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งในวาระปกติหรือดำรงตำแหน่งในฐานะรักษาการ[10] ศาลรัฐธรรมนูญย่อมถือว่า กรณีดังกล่าวต้องด้วยเหตุยุบพรรคตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 237 วรรคสองโดยอัตโนมัติ[11] พรรคการเมืองและกรรมการบริการพรรคการเมืองคนอื่นไม่สามารถโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ เพราะในกรณีเช่นนี้ แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่มีดุลพินิจที่จะสั่งเป็นอย่างอื่น[12] มีทางเลือกเดียวคือ ต้องยุบพรรคเท่านั้น
ในทางตรงกันข้าม หากผู้สมัครที่กระทำผิดมิใช่ผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ก็อาจมีการโต้แย้งได้ว่า พรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคมิได้มีส่วนรู้เห็น มิได้ปล่อยปละละเลย หรือเมื่อทราบการกระทำดังกล่าว ได้พยายามยับยั้งหรือแก้ไขแล้ว ซึ่งกรณีเช่นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญย่อมมีดุลพินิจที่จะรับฟังข้อเท็จจริงตามมาตรา 237 วรรคสอง และอาจไม่สั่งยุบพรรคการเมืองนั้นก็ได้[13] และแม้พรรคการเมืองอ้างว่า ได้กระทำการต่าง ๆ หลายอย่างเช่น ให้ผู้สมัครลงชื่อให้สัญญากับพรรคว่า จะปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามกฎหมายเลือกตั้ง ได้ออกประกาศคำสั่งหลายฉบับกำชับให้ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือหัวหน้าพรรคได้กล่าวปราศรัยห้ามประชาชนขายเสียง แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็เห็นว่า ถ้าผู้กระทำผิดเป็นกรรมการบริหารพรรคเองเสียแล้ว แม้ศาลท่านจะ เห็นใจ แต่ก็ไม่อาจรับข้ออ้างเหล่านั้นเพื่อให้ ไม่ สั่งยุบพรรคการเมืองนั้น ๆ ได้[14]
นอกจากนั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องมีการ กระทำการ ก่อ หรือสนับสนุนให้ผู้อื่นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน กฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ดังนั้น เงื่อนไขข้อหนึ่งก่อนการพิจารณาสั่งยุบพรรคการเมืองตามเหตุข้อนี้ก็คือ ต้องมีการวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นที่ยุติแล้วว่า ได้มีการกระทำผิดอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง[15] จึงจะดำเนินคดียุบพรรคการเมืองได้[16] ไม่ว่าจะเป็นกรณีวินิจฉัยการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งโดย กกต. ซึ่งผ่านการปรึกษาหารือกับคณะกรรมการตรวจสอบ[17] หรือหลังประกาศผลการเลือกตั้ง อันจะอยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลฎีกาในการพิจารณาวินิจฉัย[18] โดยศาลรัฐธรรมนูญถือว่า ข้อเท็จจริงต่าง ๆ เกี่ยวกับการกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งกรณีการวินิจฉัยก่อนและหลังการประกาศผลการเลือกตั้ง ย่อมเป็นอันยุติตามนั้น ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และวินิจฉัยข้อเท็จจริงให้เป็นอย่างอื่นได้[19]
ท้ายที่สุด เมื่อกรณีครบด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ ตามมาตรา 237 วรรคสองแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็มีอำนาจที่จะสั่งยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้ทันที เพราะรัฐธรรมนูญ ให้ถือว่าพรรคการเมืองนั้นกระทำการเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ตามมาตรา 68 ในการนี้ ศาลยังให้เหตุผลโดยการจำแนกคดียุบพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ (1) การยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 68 เพียงลำพัง และ (2) การยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 237 วรรคสองประกอบกับมาตรา 68 ซึ่งในกรณีหลังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งยุบพรรคการเมืองได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องสั่งให้พรรคการเมืองเลิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายและรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 วรรคสาม ก่อนแต่อย่างใด[20]
อนึ่ง เมื่อมีการสั่งยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 237 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 103 วรรคสองของกฎหมายเลือกตั้งแล้ว ย่อมส่งผลให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทุกคนเป็นเวลา 5 ปี โดยอัตโนมัติ เพราะศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ศาลไม่มีดุลพินิจที่จะสั่งเป็นอย่างอื่นได้ แตกต่างจากกรณีการยุบพรรคตามมาตรา 94 (2) ของกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งศาลมีดุลพินิจที่จะรับฟังข้อเท็จจริง และสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเป็นราย ๆ ไปได้[21]
2. ข้อควรพิจารณา
2.1 เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ: เพื่อแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอันเป็นปัญหาเรื้อรังในระบบการเมืองไทย
หลักการยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งและส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมนี้ได้รับการบัญญัติขึ้นเป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อจัดการกับพรรคการเมืองที่ทุจริตเลือกตั้ง โดยเฉพาะการซื้อเสียง อันเป็นสาเหตุของการคอร์รั่ปชั่น และเป็นวงจรอุบาทในระบบการเมืองไทย จึงจำเป็นต้องกำหนดสภาพบังคับไว้อย่างเข้มงวดเด็ดขาด เพื่อป้องปรามการกระทำความผิด[22] ดังเช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญให้อรรถาธิบายไว้ในหลายคดีว่า
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มีเจตนารมณ์ที่จะให้การเลือกตั้งของประเทศเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีบทบัญญัติป้องกันการทุจริตการเลือกตั้งด้วยการใช้เงินหรือทรัพย์สินอื่นใดซื้อสิทธิซื้อเสียงของประชาชนเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้งอันเป็นวิธีการที่นักการเมืองส่วนหนึ่งใช้กันมานานจนเป็นความเคยชินแล้วกลายเป็นจุดเปราะบางทางการเมืองที่นักการเมืองผู้กระทำไม่รู้สำนึกว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง ทำให้การเมืองและประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่พัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักการเมืองเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่อำนาจแล้ว ย่อมใช้อำนาจหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงโดยไม่มีความละอาย เพื่อเตรียมไว้สำหรับใช้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเพื่อให้ได้อำนาจสำหรับแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบต่อไป เป็นวัฏจักรที่เลวร้ายอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ จึงได้กำหนดมาตรการป้องกันและกำหนดวิธีการลงโทษไว้อย่างชัดเจนและเข้มงวดเพื่อป้องกันนักการเมืองที่ไม่สุจริตเหล่านี้ ไม่ให้มีโอกาสเข้ามาก่อให้เกิดความเสื่อมเสียทางการเมือง และเพื่อส่งเสริมนักการเมืองที่ตั้งมั่นอยู่ในสุจริตธรรมให้ได้มีโอกาสทำภารกิจอันเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนมากยิ่งขึ้น... [23]
2.2 ลักษณะเฉพาะของพรรคการเมืองไทย
ด้วยเหตุที่พรรคการเมืองไทยส่วนใหญ่ยังมิใช่ สถาบันทางการเมือง ที่มุ่งสร้างเจตนารมณ์ทางการเมืองของประชาชนและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองเพื่อให้บรรลุซึ่งเจตนารมณ์ดังกล่าว หากแต่เป็นเพียงที่รวมกลุ่มของบุคคลซึ่งมีผลประโยชน์ทางการเมืองร่วมกัน เพื่อแข่งขันในการเลือกตั้งโดยมุ่งหวังเข้าไปเป็นรัฐบาล[24] ดังเช่นที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านหนึ่งระบุไว้ในความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตนว่า
...ปัญหาของพรรคการเมืองไทยมิได้เกิดจากการมีอุดมการณ์ร่วมกันของประชาชนอย่างแท้จริง การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ของบุคคลภายในพรรค โดยเฉพาะบุคคลที่เป็นหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค เมื่อมีการเลือกตั้งบุคคลเหล่านี้ก็จะสนับสนุนทุกวิถีทางเพื่อให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคได้รับเลือกตั้งให้มากที่สุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งเป็นรัฐบาลเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง ... ดังนั้น การกระทำใด ๆ ของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรคการเมือง ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์โดยรวมของพรรคการเมืองนั้น...[25]
ด้วยเหตุนี้ ตุลาการรัฐธรรมนูญหลายท่านจึงเห็นว่า แม้ว่าในทางหลักการ พรรคการเมืองอันเป็นสถาบันพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยไม่สมควรที่จะยุบได้ง่ายก็ตาม ...แต่หากเป็นพรรคการเมืองที่เข้มแข็งในทางทุจริตแล้ว ย่อมเป็นการทำลายพรรคการเมืองที่สุจริตและการปกครองระบอบประชาธิปไตย... [ดังนั้น - เพิ่มโดยผู้เขียน] การยุบพรรคการเมืองที่กระทำผิด จึงเป็นการปลูกฝังการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อันจะเป็นคุณประโยชน์แก่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง... [26]
2.3 กฎหมายต่างประเทศ
ในการศึกษาเปรียบเทียบกฎหมายพรรคการเมืองของกว่า 70 ประเทศ พบว่า มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่กำหนดไว้โดยตรง ให้เพิกถอนพรรคการเมืองออกจากทะเบียนพรรคการเมืองหรือให้ยุบพรรคการเมืองเพราะเหตุที่มีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ได้แก่ ประเทศกัวเตมาลาและประเทศเคนย่า[27] ทั้งนี้ ประเทศส่วนใหญ่จะถือว่าการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเป็นการกระทำเฉพาะตัวผู้สมัคร และแม้จะเป็นการกระทำผิดเพื่อประโยชน์ของพรรคโดยกรรมการบริหารพรรค แต่ก็จะเอาผิดเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเท่านั้น หาได้ถือเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคการเมืองนั้นแต่อย่างใดไม่
3. บทวิเคราะห์วิจารณ์การใช้และการตีความเหตุยุบพรรคข้อนี้
ด้วยเหตุที่เหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองเพราะกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง ส่งผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมเป็นหลักการที่บัญญัติไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ จึงไม่มีประเด็นให้ต้องพิจารณาปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่กระนั้นก็ดี ผู้เขียนยังคงมีข้อสังเกตุเกี่ยวกับการใช้และการตีความบทบัญญัติดังกล่าว ดังต่อไปนี้
3.1 การวินิจฉัยให้พรรคการเมืองต้องรับผิดในการกระทำที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลมิได้ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไป
ในการวินิจฉัยคดียุบพรรคการเมืองทั้งสามพรรคดังกล่าวนั้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ปฏิเสธข้อต่อสู้ของพรรคที่ว่า พรรคการเมืองไม่จำต้องรับผิดในการกระทำของผู้สมัครรับเลือกตั้ง และแม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น ๆ ก็ตาม แต่การดำเนินการในฐานะพรรคการเมือง ต้องกระทำโดยคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง มิใช่ กรรมการบริหารพรรคแต่เพียงคนหนึ่งคนใด ยกเว้นเฉพาะกรณีที่กฎหมายกำหนดให้หัวหน้าพรรคการเมืองเป็นผู้แทนของพรรคในกิจการต่าง ๆ อันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกเท่านั้น ซึ่งกรณีเช่นนี้ กรรมการบริหารคนอื่นจะกระทำการแทนหัวหน้าพรรคและมีผลผูกพันพรรคได้ ก็ต่อเมื่อมีการมอบหมายเป็นหนังสือจากหัวหน้าพรรคเท่านั้น[28] โดยศาลรัฐธรรมนูญให้เหตุผลไว้ว่า การยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุข้อนี้เป็นไป ในทำนองเดียวกันกับหลักความรับผิดของนิติบุคคลทั่วไปที่ว่า ถ้าผู้แทนของนิติบุคคลหรือผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลไปกระทำการใดที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของนิติบุคคลนั้น แล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น นิติบุคคลจักต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของผู้แทนหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลนั้นด้วย จะปฏิเสธความรับผิดชอบมิได้[29]
เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญยกขึ้นกล่าวไว้ข้างต้นนั้นสอดคล้องกับแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาไทยและหลักกฎหมายของหลาย ๆ ประเทศในส่วนที่เกี่ยวกับหลักความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล[30] ซึ่งผู้กระทำผิดเป็นผู้แทนนิติบุคคล หรือเป็นผู้รับมอบอำนาจจากผู้แทนนิติบุคคล และแม้ว่าผู้กระทำผิดจะเป็นเพียงลูกจ้างธรรมดา ๆ ของนิติบุคคลนั้น ๆ ก็ตาม ก็ยังคงมีหลักความรับผิดทางอาญาในการกระทำของบุคคลอื่น[31] ซึ่งอาจนำมาพิจารณาประกอบได้ โดยเฉพาะในกรณีที่นิติบุคคลเป็นผู้รับใบอนุญาตต่าง ๆ อาจต้องรับผิดในทางอาญาเพราะการกระทำของลูกจ้างที่กระทำลงในทางการที่จ้าง[32] นอกจากนั้น ยังสอดคล้องกับหลักความรับผิดทางแพ่งของนิติบุคคล[33] และหลักความรับผิดทางแพ่งในการกระทำของบุคคลอื่น[34] ซึ่งในทางกฎหมายปกครองก็อนุโลมใช้หลักการเดียวกันนี้ ตัวอย่างเช่น หากลูกจ้างของโรงงานปล่อยน้ำเสียออกจากโรงงาน ไม่ว่าเจ้าของโรงงานจะรู้เห็นด้วยหรือไม่ เบื้องต้น โรงงานแห่งนั้นคงไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดในทางแพ่งได้[35] และอาจต้องรับผิดในทางปกครอง เช่น ต้องโทษปรับทางปกครอง ถูกพักใช้ใบอนุญาต หรือแม้แต่อาจต้องรับโทษในทางอาญา หากไม่สามารถพิสูจน์เป็นอย่างอื่นได้
อนึ่ง เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลที่โดยสภาพแล้วย่อมมีวัตถุประสงค์จะเข้าสู่อำนาจรัฐผ่านกระบวนการเลือกตั้ง[36] ดังนั้น หากมีการทุจริตในกระบวนการเลือกตั้งโดยผู้สมัครของพรรค ซึ่งแน่นอนว่า คงไม่มีพรรคการเมืองใดระบุไว้ชัด ๆ ว่าจะกระทำการทุจริตเลือกตั้งในเอกสารหรือกิจกรรมที่เป็นทางการ และพรรคการเมืองก็ได้รับประโยชน์จากการกระทำผิดนั้นคือ ทำให้พรรคการเมืองได้หรือ จะ ได้ ส.ส. เพิ่มขึ้น[37] ก็ย่อมถือว่าเป็นการกระทำที่อยู่ในขอบวัตถุประสงค์ของพรรคการเมืองแล้ว[38] ส่วนปัญหาว่า เมื่อมีผู้สมัครของพรรคการกระทำผิดไปแล้ว สมควรจะถือเป็นเหตุให้มีการยุบพรรคการเมืองดังกล่าวหรือไม่นั้น จะได้วิเคราะห์ไว้ในหัวข้อต่อไป
3.2 การสั่งยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งนั้น ไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วน[39]
แม้ได้วิเคราะห์ไว้ว่า การกำหนดให้พรรคการเมืองต้องร่วมรับผิดในการกระทำของหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค ไม่ขัดกับหลักความรับผิดของนิติบุคคลก็ตาม หากแต่ความรับผิดดังกล่าวก็ต้องตกอยู่ภายใต้หลักความได้สัดส่วนซึ่งถือเป็นหลักกฎหมายทั่วไปที่มีค่าบังคับระดับรัฐธรรมนูญ[40] จริงอยู่ ผู้เขียนตระหนักและยอมรับว่า ความผิดในการทุจริตซื้อสิทธิซื้อเสียงในการเลือกตั้ง เป็นความผิดที่มีลักษณะพิเศษที่ผู้กระทำจะใช้วิธีการอันแยบยลยากที่จะจับได้ และ เป็นความผิดที่ร้ายแรงและเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของประเทศ [41] แต่ลำพังการทุจริตโดยผู้สมัครหรือกรรมการบริหารพรรคเพียงแค่คนเดียว สอง หรือสามคนในเขตเลือกตั้งของตน แต่กลับส่งผลรุนแรงถึงขนาดพรรคการเมืองดังกล่าวต้องถูกยุบไป ทำให้ผู้สมัครรายอื่นของพรรคซึ่งได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องไปหาสังกัดพรรคใหม่ มิเช่นนั้น ย่อมพ้นจากสมาชิกภาพ ส.ส.[42] และมีผลเป็นการริดรอนเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของบรรดาสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น อีกทั้งยังนำไปสู่การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ ที่อาจมิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำผิดด้วยเลยแม้แต่น้อย ก็ย่อมเป็นการตีความและบังคับใช้กฎหมายที่เกินกว่าเหตุ กล่าวคือ
ในการพิเคราะห์ตามนิติวิธีหลักความได้สัดส่วนนั้น จะเริ่มต้นจากมิติความสอดคล้องเหมาะสมของมาตรการกับเป้าหมายว่าจะทำให้บรรลุผลเช่นที่ต้องการได้จริงหรือไม่ และแน่นอนว่า การยุบพรรคการเมืองย่อมเป็นหนึ่งในบรรดาหลาย ๆ มาตรการที่มีผลเป็นการยับยั้งป้องปราม (Deterrent Effect) มิให้มีการทุจริตเลือกตั้งซ้ำอีกได้[43]
ต่อมาจึงพิจารณาในมิติการเลือกใช้มาตรการที่หนัก - เบาตามระดับความจำเป็น ตรงจุดนี้เองที่ศาลรัฐธรรมนูญมิได้พิเคราะห์ให้แจ้งชัดว่า ที่ผ่านมา มาตรการอื่น ๆ ที่กำหนดไว้ในกฎหมายเลือกตั้ง ทั้งในทางแพ่งโดยการเรียกให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้งใหม่ และในทางอาญาซึ่งมีทั้งโทษปรับ จำคุก และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น[44] มิได้ทำให้บรรลุเป้าหมายอันชอบธรรมดังกล่าวได้อย่างไร อันจะสะท้อนถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการยุบพรรคเท่านั้นจึงจะแก้ไขปัญหาที่ว่ามาได้ คงอธิบายเพียงแต่ว่า นักการเมืองส่วนหนึ่งใช้การซื้อเสียงกันมานาน จนเป็นความเคยชินแล้วกลายเป็นจุดเปราะบางทางการเมืองที่นักการเมืองผู้กระทำไม่รู้สำนึกว่าเป็นการกระทำความผิดที่ร้ายแรง...รัฐธรรมนูญ... จึงกำหนดมาตรการป้องกันและกำหนดวิธีการลงโทษไว้อย่างชัดเจนและเข้มงวด[45] และการทุจริตเลือกตั้งกระทำด้วยวิธีการที่แยบยล จับกุมผู้กระทำผิดได้ยาก ทั้งนี้ เหตุผลในประการหลังเป็นเครื่องบ่งชี้ในตัวเองว่า ปัญหาส่วนหนึ่งเป็นเรื่องกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่า มีหลักฐานข้อมูลทางสถิติที่ได้จากการวิจัยเชิงประจักษ์ (Empirical Research) รองรับการให้เหตุผลเช่นนี้หรือไม่ เช่นเดียวกับข้อมูลสนับสนุนในเรื่องความไร้ประสิทธิภาพของมาตรการลงโทษทางแพ่งและทางอาญาดังกล่าวมาข้างต้น
อนึ่ง แม้ว่าจะมีหลักฐานข้อมูลทางสถิติยืนยันการให้เหตุผลดังกล่าวก็ตาม แต่มาตรการยุบพรรคการเมืองก็ยังคงมิใช่มาตรการที่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพน้อยที่สุด เพราะการยุบพรรคการเมืองนั้นกระทบต่อเสรีภาพในการดำรงอยู่ของพรรคการเมืองและเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองของบรรดาสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น ๆ ซึ่งมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยเลย แต่ทั้งนี้ สมมุติเรายอมรับว่า มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้มาตรการที่รุนแรง ขจัดการซื้อสิทธิขายเสียง และต้องลงโทษกรรมการบริหารพรรคเพราะปล่อยปละละเลยไม่ทำหน้าที่ควบคุมกันเองก็ตาม เป้าหมายดังกล่าวก็อาจทำให้บรรลุได้ด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคเหล่านั้น โดยไม่ต้องสั่งยุบพรรคการเมือง[46] ซึ่งสมาชิกทุกคนของพรรคย่อมได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น การยุบพรรคการเมืองในกรณีนี้ จึงไม่สอดคล้องกับหลักความได้สัดส่วนเพราะมิได้มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่รุนแรงเช่นนั้น
และที่สำคัญ เมื่อพิจารณาในมิติความสัมพันธ์ระหว่างด้านหนึ่งคือ พฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำทุจริตเลือกตั้งโดยผู้สมัครรายเดียวหรือสองราย ทำการทุจริตในเขตเลือกตั้งเดียว ซึ่งแม้อาจจะกระทบต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมในผลการเลือกตั้งทั้งในระบบแบ่งเขตและระบบสัดส่วนสำหรับคะแนนเสียงที่มาจากเขตเลือกตั้งนั้น ๆ ก็ตาม[47] หรือแม้พรรคการเมืองจะได้ประโยชน์จากการที่มี ส.ส. มากขึ้นอีกหนึ่งหรือสองคนก็ตาม กับอีกด้านหนึ่งคือ ผลกระทบที่มีต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคล คือ นิติบุคคลพรรคการเมืองที่ต้องถูกยุบไป และบุคคลต่าง ๆ ที่ประกอบกันเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมืองซึ่งต้องถูกยุบการรวมกลุ่มทางการเมืองไป ทั้ง ๆ ที่สมาชิกเหล่านั้นมิได้กระทำผิดและมิได้มีหน้าที่ในการควบคุมมิให้ผู้สมัครของพรรคกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งแล้ว[48] จะเห็นได้ว่า เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับพฤติการณ์และความเกี่ยวข้องกับกระทำความผิด
3.3 การตีความให้กรรมการบริหารพรรคมีความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่นโดยไม่อาจโต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้นั้น ไม่สอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ
ด้วยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวางหลักไว้ว่า เมื่อมีกรณีต้องยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 237 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ และมาตรา 103 วรรคสองของกฎหมายเลือกตั้งแล้ว ย่อมส่งผลให้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามไปด้วย เพราะถือว่าเป็นบทบังคับเด็ดขาดที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่อาจวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นได้[49] ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิเคราะห์ต่อไปอีกว่า การตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญให้มีผลในลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐหรือไม่[50]
ตามหลักนิติธรรมและนิติรัฐ[51] บุคคลซึ่งมีสิทธิเสรีภาพอยู่แล้วตามสภาพธรรมชาติและตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ย่อมไม่ต้องรับผิดทางกฎหมายในการกระทำของบุคคลอื่น[52] ซึ่งตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับการกระทำดังกล่าว ทั้งในทางแพ่ง ทางปกครอง หรือทางอาญา[53] ทั้งนี้ เว้นแต่
ประการแรก เป็นกรณีที่ต้องด้วยหลักความรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น ซึ่งในระบบกฎหมายต่าง ๆ ต่างถือเป็นข้อยกเว้น มิได้ใช้บังคับเป็นหลักทั่วไป[54] หากแต่จะใช้เฉพาะกรณีที่บุคคลเหล่านั้นมีความสัมพันธ์พิเศษบางอย่างระหว่างกัน ไม่ว่าจะโดยสัญญาเช่น นายจ้าง - ลูกจ้าง[55], ตัวการ - ตัวแทน[56], หรือตามสถานะหรือตำแหน่งของบุคคลนั้น ๆ เช่น บิดามารดา - บุตรผู้เยาว์[57], ผู้บังคับบัญชา - ผู้ใต้บังคับบัญชา[58] ซึ่งจะเห็นได้ว่า เป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่บางอย่างในความสัมพันธ์ของบุคคลเหล่านั้นระหว่างกันไว้ และมีพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นได้ว่า ปล่อยปละละเลยหรือไม่ใส่ใจในหน้าที่ จนนำมาซึ่งการกระทำผิด/ละเมิดของบุคคลอื่นอันเป็นเหตุให้ต้องร่วมรับผิดดังกล่าวด้วย
และประการที่สอง เป็นกรณีองค์กรกลุ่ม (Collective Body) หรือคณะบุคคล กล่าวคือ บุคคลธรรมดาที่ประกอบกันเป็นกรรมการหรือสมาชิกในองค์กรหรือคณะบุคคลนั้นอาจต้องรับผิดร่วมกัน สำหรับการกระทำของกรรมการหรือสมาชิกคนอื่น ๆ ทั้งในการกระทำที่แสดงออกในรูปมติคณะกรรมการ หรือแม้แต่ในการกระทำอย่างอื่นของกรรมการหรือสมาชิกคนอื่น หากเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบร่วมกันไว้ เช่น กรรมการบริษัท[59] หรือกรรมการบริษัทมหาชน[60] อาจต้องรับผิดร่วมกันในความเสียหายที่เกิดแก่ตัวบริษัทเอง แก่ผู้ถือหุ้น หรือแก่เจ้าหนี้ของบริษัท หรือแม้แต่อาจต้องรับผิดในทางอาญา โดยกฎหมายได้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ากรรมการทุกคนต้องร่วมรับผิด[61]
แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณีแรกหรือกรณีที่สอง กฎหมายก็จะเปิดช่องให้มีการปฏิเสธความรับผิดได้เช่น เมื่อบิดามารดาพิสูจน์ได้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น หรือเมื่อผู้รับใบอนุญาตพิสูจน์ได้ว่า การกระทำของลูกจ้างนั้น เป็นการสุดวิสัยที่ตนจะล่วงรู้หรือควบคุมได้[62] ก็อาจถือเป็นเหตุให้ไม่ต้องรับผิดในการกระทำของบุตรผู้เยาว์หรือลูกจ้าง แล้วแต่กรณีได้ หรือในกรณีกรรมการในคณะกรรมการต่าง ๆ ก็สามารถพิสูจน์ได้ว่า มิได้รู้เห็นหรือยินยอมด้วยกับการกระทำผิดดังกล่าว มิได้มีส่วนรู้เห็นในการกระทำความผิด หรือ ได้คัดค้านในที่ประชุมโดยปรากฎในรายงานการประชุม หรือทำเป็นหนังสือยื่นต่อประธานที่ประชุมภายในสามวันนับแต่สิ้นสุดการประชุมแล้ว[63] ฯลฯ และยิ่งถ้าเป็นความรับผิดทางอาญา ศาลก็ยิ่งจะต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเพื่อพิเคราะห์ถึง เจตนา ในการกระทำความผิดของกรรมการเป็นราย ๆ ไป[64]
ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่า การตีความให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นที่มิใช่ผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและเป็นสาเหตุของการยุบพรรคการเมืองดังกล่าว[65] ต้องถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามไปด้วย โดยมิได้คำนึงถึงพฤติการณ์และข้อเท็จจริงเฉพาะรายของบุคคลนั้น ๆ ซ้ำร้ายยังไม่เปิดโอกาสให้บุคคลดังกล่าวพิสูจน์หักล้างเป็นอย่างอื่นได้[66] ย่อมถือเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ กล่าวโดยเจาะจงก็คือ หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลอย่างรุนแรง
แต่กระนั้นก็ดี อาจมีผู้โต้แย้งว่า การตีความของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิใช่กรณีที่กรรมการบริหารพรรคการเมืองต้องรับผิดในการกระทำของคนอื่น หากแต่เป็นกรณีที่กรรมการบริหารพรรคต้องรับผิดในการ ละเว้น กระทำการของตนเอง เนื่องจากกฎหมายพรรคการเมืองได้กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคมีหน้าที่ต้องควบคุมไม่ให้ผู้ซึ่งพรรคการเมืองส่งเข้าสมัครรับเลือกตั้งกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญและกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมอยู่แล้ว[67] ดังนั้น กรณีนี้จึงไม่อาจอ้างอิงหลักกฎหมายต่าง ๆ ที่อธิบายมาข้างต้นได้
อย่างไรก็ดี ไม่ว่ากรณีจะเป็นเช่นใดก็ตาม ผู้เขียนก็ยังเห็นว่า การปฏิเสธไม่พิจารณาข้อเท็จจริงเฉพาะราย และไม่เปิดโอกาสให้พิสูจน์หักล้างเป็นอย่างอื่นได้นั้น ย่อมขัดต่อหลักนิติธรรมและหลักนิติรัฐ ดังตัวอย่างง่าย ๆ ต่อไปนี้
สมมุติว่า กรรมการบริหารพรรคชาติไทยคนหนึ่งนอนป่วยไม่ได้สติอยู่ในห้อง ICU ตั้งแต่ก่อนมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้ง และตลอดระยะเวลาที่มีการทุจริตเลือกตั้ง กรณีเช่นนี้ ไม่อาจมีทั้ง กระทำการ และ ละเว้นกระทำการ ได้เป็นแน่[68] หากแต่เมื่อกรรมการบริหารพรรคคนนี้ ฟื้นขึ้นมา ก็ต้องถูกตัดสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี โดยไม่อาจพิสูจน์โต้แย้งเป็นอย่างอื่นได้ และศาลก็ให้คำอธิบายง่าย ๆ ว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบังคับตามกฎหมาย... ซึ่งศาลไม่อาจใช้ดุลพินิจสั่งเป็นอื่นได้...[69] เช่นนี้ ถือเป็นการตีความกฎหมายที่เป็นธรรมหรือไม่ วิญญูชนทุกท่านย่อมวินิจฉัยได้
นอกจากนี้ หากลองเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญของต่างประเทศที่มีบทบัญญัติรองรับการยุบพรรคการเมืองเป็นการเฉพาะ ก็อาจช่วยให้อนุมานได้ว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของไทยน่าจะเป็นมาตรการที่รุนแรงและที่สำคัญขัดต่อหลักนิติธรรมด้วยเหตุที่ไม่พิจารณาถึงข้อเท็จจริงเฉพาะราย ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญตุรกีบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า สมาชิกพรรคการเมืองและผู้ก่อตั้งพรรคการเมืองซึ่งการกระทำหรือคำพูดของบุคคลนั้นเป็นสาเหตุให้มีการยุบพรรคการเมืองดังกล่าวอย่างถาวร ต้องห้ามมิให้เป็นผู้ก่อตั้ง สมาชิก กรรมการ หรือผู้บริหารในพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใดเป็นระยะเวลา 5 ปี...[70] กรณีเช่นนี้ เห็นได้ว่า รัฐธรรมนูญจะจำกัดสิทธิในการเข้าไปมีส่วนร่วมในพรรคการเมืองเฉพาะบุคคลผู้ที่เป็นสาเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองเท่านั้น หาได้จำกัดตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคเป็นการทั่วไปแต่อย่างใดไม่ อีกทั้งยังได้จำกัดเฉพาะเสรีภาพในการเข้าร่วมพรรคการเมือง หาได้ขยายไปถึงขนาดการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งดังเช่นกรณีของไทยไม่
[1] คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย - ศร. ที่ 18/2551 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 [รจ. ล. 126 ต.16ก (19 มีนาคม 2552) น. 1 - 78]; คดีพรรคชาติไทย - ศร. ที่ 19/2551 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 [รจ. ล. 126 ต.16ก (19 มีนาคม 2552) น. 79 - 155]; คดีพรรคพลังประชาชน - ศร. ที่ 20/2551 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2551 [รจ. ล. 126 ต.20ก (31 มีนาคม 2552) น. 1 - 82]
[2] แต่ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 237 วรรคสอง ประกอบมาตรา 68 วรรคสี่ ตามรัฐธรรมนูญ เป็นคนละกรณีกับการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 98 ของกฎหมายพรรคการเมือง; โปรดดู คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 19; คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 100; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 26.
[3] คณะกรรมการในภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ชุด อันได้แก่ คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งรัฐสภาที่ 17/2552 ที่มี ส.ว. ดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน และคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 9 มิถุนายน 2553 นั้น ต่างก็เสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในประเด็นมาตรา 237 นี้ โปรดดูข้อมูลเกี่ยวกับ (1) คณะกรรมการชุดสมบัติ ที่ (2) คณะกรรมการชุดดิเรก ที่
[4] พรป. การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550, ม. 54; คดีพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย - ศร. ที่ 3 - 5/2550 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 [รจ. ล. 124 ต.33ก (13 กรกฎาคม 2550) เล่ม 1 (น. 1 - 417) เล่ม 2 (น. 1 - 365)] เล่ม 1 น. 95 - 98.
[5] อย่างไรก็ดี นายนุรักษ์ มาประณีต ตุลาการเสียงข้างน้อยในคดีพรรคชาติไทยเห็นว่า หากเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้สมัครเอง มิใช่ของผู้สมัครรายอื่นอันจะทำให้พรรคได้รับประโยชน์ ไม่เข้าองค์ประกอบข้อนี้ โปรดดู ความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตนใน คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 133.
[6] พรป. การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550, ม. 53; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 2; และคดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 80 - 83.
[7] คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 2 - 5; ซึ่งอ้างถึงคำสั่งศาลฎีกาที่ 5019/2551 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551.
[8] นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามและฐานความผิดอื่น ๆ ซึ่งแม้เนื้อความตามตัวบทจะไม่เกี่ยวกับ ผู้สมัคร แต่ผู้สมัครก็อาจเข้าไปเกี่ยวข้องในฐานะผู้ใช้หรือผู้จ้างวาน เช่น ใช้ให้มีการเล่นพนันขันต่อเกี่ยวกับผลการเลือกตั้ง หรือจ้างให้ประชาชนทำลายบัตรเลือกตั้ง ฯลฯ
[9] คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 10 และ น. 22; และน่าคิดเหมือนกันว่า หากมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมาย และต่อมาได้ยื่นใบสมัครแล้ว แต่ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือกกต. และศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม จึงไม่ใช่ผู้สมัคร ทั้งกรณีที่ไม่ประกาศให้เป็นผู้สมัครมาตั้งแต่ต้น หรือประกาศแล้วแต่มาร้องขอให้ศาลฎีกาให้เพิกถอนการสมัครในภายหลัง เช่นนี้ จะเข้าองค์ประกอบข้อนี้ของเหตุยุบพรรคนี้หรือไม่; โปรดดู พรป. การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550, ม. 37 - 45.
[10] หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย คือนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ลาออกจากตำแหน่ง จึงส่งผลให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่น ๆ พ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่ข้อบังคับพรรคระบุให้กรรมการบริหารต้องทำหน้าที่ต่อไปจนกว่านายทะเบียนจะตอบรับการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ ดังนั้น แม้ขณะกระทำผิดจะดำรงตำแหน่งรักษาการ แต่พรรคก็ปฏิเสธความรับผิดไม่ได้; โปรดดู คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 18.
[11] ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธแนวทางการตีความมาตรา 237 วรรคสอง ที่ว่า หากผู้กระทำผิดเป็นกรรมการบริหาร ต้องมีกรรมการบริหารพรรคคนอื่นร่วมรู้เห็น ปล่อยปละละเลย ด้วยอีกอย่างน้อย 1 คน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ต้องมีผู้สมัคร 1 คน และกรรมการอีก 1 คน จึงจะครบองค์ประกอบตามมาตรา 237 วรรคสอง; โปรดดู คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 99; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 17; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 24.
[12] ในการนี้ ศาลตีความว่า ในเมื่อสมาชิกทั่วไปกระทำผิดและกรรมการบริหารพรรครู้เห็น ก็ยังส่งผลให้ยุบพรรคการเมืองนั้น ฉะนั้นแล้ว เมื่อกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดเสียเอง ก็ต้องยุบพรรคอย่างแน่นอน เพราะ เมื่อกฎหมายห้ามกระทำสิ่งชั่วร้ายใดไว้ สิ่งที่ชั่วร้ายมากกว่านั้นย่อมถูกห้ามไปด้วย ซึ่งตรงกับสามัญสำนึกของสุจริตชนทั่วไป และตรงกับตรรกะที่ว่า ยิ่งต้องเป็นเช่นนั้น; โปรดดู คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 99; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 16 - 17; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 24.
[13] ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ (กลาง) ทั้ง 3 คดี มิได้เขียนไว้ชัดเจนเช่นนั้น แต่ก็สามารถอนุมานจากเนื้อความคำวินิจฉัยได้ แต่โปรดดู ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรีซึ่งจำแนกกรณีทั้งสองไว้ชัดเจนมาก; คดีพรรคชาติไทยเรื่องเดิม, น. 153 - 154.
[14] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 93 (คำชี้แจงของผู้ถูกร้อง) และ น. 99 (ข้อวินิจฉัยของศาล). คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 16 - 17 (คำชี้แจงของผู้ถูกร้อง) และ น. 25 (ข้อวินิจฉัยของศาล); ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเล็ก ๆ ว่า ศาลท่านระบุ เห็นใจ คำชี้แจงของพรรคชาติไทย แต่ไม่เห็นใจพรรคพลังประชาชนเลย.
[15] โปรดเทียบคดีพรรคไทยรักไทย ซึ่ง ณ ขณะเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคไปนั้น ยังมิได้มีการดำเนินคดีอาญากับพลเอกธรรมรักษ์ อิสรางกูร ณ อยุธยา รองหัวหน้าพรรคผู้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็อ้างอิงถึงคดีการสั่งเพิกถอนการจัดการเลือกตั้งวันที่ 2 เมษายน 2549 - ศร. ที่ 9/2549 ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2549 [รจ. ล. 123 ต.71ก (12 กรกฎาคม 2549) น. 1 - 352]; แต่ทั้งนี้ เนื้อความในกฎหมายที่ใช้เป็นฐานในการยุบพรรคแตกต่างจากการยุบพรรคตามมาตรา 237 นี้
[16] อย่างไรก็ดี อาจมีผู้โต้แย้งว่า กกต. อาจเริ่มกระบวนการยุบพรรคเพราะกระทำฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้งตามมาตรา 237 วรรคสองได้ ก่อนที่กระบวนการวินิจฉัยความผิดจะเป็นอันยุติ เช่น ในกรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว กกต. พบเหตุทุจริต จึงเสนอเรื่องต่อศาลฎีกาเพื่อสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร และในขณะเดียวกันก็เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อดำเนินคดียุบพรรคการเมืองไปพร้อม ๆ กัน แต่ทั้งนี้ ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับมุมมองดังกล่าว ดังจะได้อธิบายและวิเคราะห์ไว้ในบทที่ X กระบวนการและผลของการยุบพรรคการเมืองต่อไป
[17] รัฐธรรมนูญ, ม. 239 วรรคหนึ่ง; และพรป. การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550, ม. 103, และ ม. 105; ซึ่งได้แก่ คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 96 - 97; และคดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 14 - 15.
[18] รัฐธรรมนูญ, ม. 239 วรรคสอง; และพรป. การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550, ม. 111; ซึ่งได้แก่ คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 21 - 22.
[19] โปรดดู คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 96 - 97; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 15 - 16; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 20 - 21; อย่างไรก็ดี การยึดถือตามข้อเท็จจริงจากการวินิจฉัยของ กกต. ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งนั้น ถูกวิจารณ์อย่างมากว่า ชอบด้วยหลักกฎหมายและนิติวิธีการตีความกฎหมายหรือไม่; โปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และคณะ, แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 6, ข้อ 9. และหัวข้อ 3.6 ในบทนี้ และในบทที่ X กระบวนการและผลของการยุบพรรคการเมือง
[20] คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 18; แต่กระนั้นก็ดี แม้จะเป็นการดำเนินคดียุบพรรคการเมืองตามมาตรา 68 ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่จำต้องสั่งให้มีการเลิกกระทำการอันเป็นการได้มาซึ่งอำนาจโดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญก่อน จึงจะสั่งยุบพรรคการเมืองได้แต่อย่างใด; โปรดเทียบ คดีพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย, เรื่องเดิม, เล่ม 1 น. 94 - 98.
[21] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 100; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 19; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 26; ถ้อยคำในบทบัญญัติดังกล่าว อ่านได้ความเช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายไว้จริง แต่ก็มีข้อสงสัยว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจในการตีความบทบัญญัติดังกล่าวเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการตีความนั้นจะสอดคล้องกับหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร; โปรดดู วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และคณะ, แถลงการณ์ของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 6, ข้อ 3, และ 4. และหัวข้อ 3.6 ในบทนี้
[22] โปรดดู บันทึกเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 237 และรายงานการประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 34/2550 (เป็นพิเศษ) วันอังคารที่ 26 เดือนมิถุนายน พุทธศักราช 2550 ใน สมคิด เลิศไพฑูรย์, การยุบพรรคการเมืองในประเทศไทย หนังสือที่ระลึก 68 ปี รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์เดือนตุลา, 2552) น. 43 - 59; แต่ทั้งนี้ มีข้อสังเกตุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับรับฟังความคิดเห็น (คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 26 เมษายน 2550) ไม่ปรากฎเนื้อหาการยุบพรรคการเมืองและการตัดสิทธิเลือกตั้งตามมาตรา 237 นี้.
[23] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 96; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 14; คดีพรรรพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 20.
[24] โปรดดู 1. กนก วงศ์ตระหง่าน, พรรคการเมืองไทย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2536), น. 44 - 45.
2. วิทยา นภาศิริกุลกิจ และสุรพล ราชภัณฑารักษ์, พรรคการเมืองและกลุ่มผลประโยชน์, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ประชาชน, 2524), น. 6.
3. โกสินทร์ วงศ์สุรวัฒน์, พรรคการเมือง, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2521), น. 2.
4. สุขุม นวลสกุล และคณะ, การเมืองการปกครองไทย, (กรุงเทพฯ: หจก. ป. สัมพันธ์พาณิชย์, พิมพ์ครั้งที่ 6, 2528), น. 211-212.
[25] ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 153, คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 75; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 80.
[26] ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน นายจรัญ ภักดีธนากุล ในคดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 37; ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญท่านอื่นแม้มิได้ระบุไว้ชัดในคำวินิจฉัย แต่ก็อนุมานความคิดของท่านเช่นนั้นได้.
[27] Guatemala: Elections and Political Parties 1985 Decree 1-85, art. 93 a; Kenya: Act No. 10 of 2007 - Political Parties Act, art. 26 (1) (d); แต่ทั้งนี้ ไม่แน่ว่า อาจมีประเทศอื่นที่กำหนดเหตุยุบพรรคการเมืองเรื่องนี้ไว้ในกฎหมายฉบับอื่น ๆ เช่น กฎหมายเลือกตั้ง ก็ได้
[28] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 89; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 11; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 17; นอกจากนี้ ในความเป็นจริง คงไม่มีหัวหน้าพรรคคนใดทำหนังสือมอบหมายให้กรรมการบริหารพรรคไปดำเนินการทุจริตเลือกตั้งแน่ ปัญหานี้ ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ในคดีพรรคพัฒนาชาติไทย พรรคแผ่นดินไทย และพรรคไทยรักไทย - ศร. ที่ 3 - 5/2550, เรื่องเดิม, น. 85.
[29] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 98; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 16; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 23.
[30] สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2553) น. 69 - 79.
[31] จิตติ ติงศภัทิย์, คำอธิบายประมวลกฎหมายอาญา ภาค 1, (กรุงเทพฯ : บริษัทกรุงสยามพริ้นติ้งกรุ๊ฟ จำกัด, 2536) น. 477 - 488; และ เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, กฎหมายอาญา ภาค 1 บทบัญญัติทั่วไป, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ พลสยาม พริ้นติ้ง, 2551) น. 308 - 310.
[32] โปรดดู สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล, ความรับผิดทางอาญาในการกระทำของบุคคลอื่น: การศึกษาทางกฎหมายเปรียบเทียบเกี่ยวกับความรับผิดของนายจ้างและผู้ถือใบอนุญาตโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับประเทศไทย, วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2532, น. 15 - 33, และ 76 - 99.
[33] โปรดดู ป.พ.พ., ม. 70, ม. 76, ม. 77, ม. 797, และ ม.820 - 823; โสภณ รัตนากร, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท, (กรุงเทพฯ: นิติบรรณการ, พิมพ์ครั้งที่ 11, 2551) น. 388 - 395; ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, คำอธิบายกฎหมายลักษณะละเมิด จัดการงานนอกสั่ง ลาภมิควรได้, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, พิมพ์ครั้งที่ 2, 2552) น. 109 - 117.
[34] โปรดดู ป.พ.พ., ม. 425 - 427, และ ม. 429 - 431; ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์, เรื่องเดิม, น. 153 - 187.
[35] เช่น ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อการบำบัดน้ำเสีย แต่เจ้าของโรงงานก็สามารถไล่เบี้ยเอากับลูกจ้างผู้กระทำละเมิดได้; ป.พ.พ., ม. 426.
[36] โปรดดู พรป. พรรคการเมือง 2550, ม. 4 - บทนิยามคำว่า พรรคการเมือง, ม. 38 - 39, และ ม. 91 (2).
[37] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 98; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 16 - 17; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 23 - 24; คำว่า จะ ข้างต้น ผู้เขียนเพิ่มเข้าไปเอง ไม่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาล เพราะกรณีที่ กกต. สั่งให้เลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครก่อนประกาศผลนั้น พรรคการเมืองยังไม่ทันจะได้รับประโยชน์เลย เช่น กรณีพรรคชาติไทยและพรรคมัชฌิมาธิปไตย ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นพ้องด้วยกับคำอธิบายของศาล; อย่างไรก็ดี ตุลาการท่านหนึ่งคือ นายนุรักษ์ มาปราณีต จำแนกองค์ประกอบเรื่องการได้รับประโยชน์นี้ออกเป็นสองกรณีคือ ซื้อเสียงเพื่อตนเอง กับซื้อเสียงให้พรรค และเห็นว่า จะเฉพาะกรณีหลังเท่านั้นที่จะถือเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองดังกล่าว; โปรดดู ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน; คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 132 - 133; เทียบคดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 53 - 54; และคดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 59.
[38] เทียบจากกรณีลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง; โปรดดู สุรศักดิ์ ลิขสิทธิ์วัฒนกุล, เรื่องเดิม, น. 76 - 77; เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง, การยุบพรรคการเมืองเนื่องจากการกระทำผิดกฎหมาย เลือกตั้งของผู้บริหารพรรคการเมืองเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย, เว็ปไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย - www.pub-law.net เผยแพร่ครั้งแรก 14 กันยายน 2551
[39] อาจเรียกในอีกชื่อหนึ่งว่า หลักความพอสมควรแก่เหตุ; โปรดดู บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน พิมพ์ครั้งที่ 2, 2547), น. 32 - 33.
[40] โปรดดู รัฐธรรมนูญ, ม. 29; เทียบ Donald P. Kommers, Germany: Balancing Rights and Duties, ใน Jeffrey Goldsworthy, Interpreting Constitutions - A Comparative Study, (New York: Oxford University Press, 2007) น. 201.
[41] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 98 และ 100; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 16 และ 17; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 23 และ 25; ผู้สนใจเกี่ยวกับเทคนิคการโกงเลือกตั้ง โปรดดู พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, ระบบการทุจริตเลือกตั้ง (กรุงเทพฯ: ศูนย์วิจัยและผลิตตำรา สถาบันเทคโนโลยีสังคม (เกริก), 2537); พรพล เอกอรรถพร, เปิดโปงกลโกงเลือกตั้ง, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ขอคิดด้วยคน, 2548)
[42] รัฐธรรมนูญ, ม. 106 (8)
[43] โปรดดู ความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตน นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 110; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 29; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 39.
[44] พรป. การเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. 2550, ม. 113, ม. 137 ฯลฯ.
[45] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 96; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 14; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 20.
[46] โปรดดู ข้อเสนอข้อ 6 ของคณะกรรมการชุดที่มีศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เป็นประธาน ซึ่งเสนอให้ ให้ยกเลิกการยุบพรรคการเมืองอันเนื่องมาจากการทุจริตในการซื้อสิทธิขายเสียงในการเลือกตั้ง แต่ให้เปลี่ยนบทลงโทษผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ทุจริตการเลือกตั้ง โดยตัดสิทธิเลือกตั้งห้าปี ส่วนกรรมการบริหารพรรคที่รู้เห็น ตัดสิทธิเลือกตั้งสิบปี และหัวหน้าพรรคการเมืองที่รู้เห็นตัดสิทธิเลือกตั้งสิบห้าปี โดยถือว่าเป็นความผิดเฉพาะบุคคล
[47] คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย - กกต. สั่งงดการประกาศผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดปราจีนบุรี และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัคร 1 รายคือ นายสุนทร วิลาวัลย์; คดีพรรคชาติไทย - กกต. สั่งงดการประกาศผลการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ 1 จังหวัดชัยนาท และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัคร 2 รายคือ นายมณเฑียร และนางนันทนา สงฆ์ประชา; คดีพรรคพลังประชาชน - ศาลฎีกาสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งที่ 3 จังหวัดเชียงรายของผู้สมัคร 2 รายคือ นายยงยุทธ และนางสาวละออง ติยะไพรัช แต่ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเฉพาะนายยงยุทธ ซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดเท่านั้น; โปรดดู คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 80 - 84; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 2 - 3; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 2 - 5.
[48] กฎหมายพรรคการเมือง มาตรา 18 วรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องควบคุมพฤติกรรมของผู้สมัครของพรรคมิให้กระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง แต่มิได้กำหนดหน้าที่นี้ไว้แก่สมาชิกทั่วไปของพรรคการเมือง
[49] คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 100; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 19; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 26.
[50] อันที่จริงคำสองคำนี้มีความแตกต่างกันในหลายมิติ; โปรดดูบทวิเคราะห์ความเหมือนและความแตกต่างของสองคำนี้ใน วรเจตน์ ภาคีรัตน์, หลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม, เว็ปไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย - www.pub-law.net, เผยแพร่ครั้งแรก 31 มกราคม 2553
และ N. W. Barber, The Rechtsstaat and the Rule of Law, University of Toronto Law Journal, (Vol. 53, No. 4, Autumn, 2003), น. 443 - 454.
[51] อนึ่ง ผู้เขียนตั้งใจใช้คำทั้งสองคำคู่กัน เพราะไม่ว่าจะหลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ ก็ล้วนแล้วแต่มีหลักการปลีกย่อย ๆ เดียวกันว่า บุคคลต้องรับผิดทางกฎหมายเฉพาะแต่ในการกระทำของตนเท่านั้น หรือตีความกลับกัน บุคคลไม่จักต้องรับผิดในการกระทำของบุคคลอื่น เพียงแต่ขอบเขตและข้อยกเว้นของหลักทั้งสองอาจมีความลึกความกว้างแตกต่างกันออกไป
[52] แนวความคิด ความผิดเฉพาะบุคคลผู้กระทำ (Personal Guilt) เป็นความยุติธรรมพื้นฐานของหลักนิติธรรม (Due process of Law); Mark Noferi, Towards Attenuation: A New Due Process Limit on Pinkerton Conspiracy Liability, ใน American Journal of Criminal Law, (Vol. 33, Spring 2006, น. 91 - 156) น. 107; และโปรดดู John Rawls, A Theory of Justice, (Oxford: Oxford University Press, 1999) น. 206 - 213; ซึ่งอธิบายว่าหลักความยุติธรรมนั้นเป็นของคู่กับหลักนิติธรรม.
[53] โปรดดู บรรเจิด สิงคะเนติ, เรื่องเดิม, น. 34 - 35.
[54] ศึกษาพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับความรับผิดทางอาญาในการกระทำของบุคคลอื่นในแต่ละระบบกฎหมายได้ใน สืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล, เรื่องเดิม, น. 6 - 14; เฉพาะของระบบกฎหมายอเมริกัน โปรดดู Mark Noferi, เรื่องเดิม, น. 92 - 120.
[55] เช่น ป.พ.พ., ม. 425; พรบ. ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ 2525, ม. 19 วรรคสอง.
[56] เช่น ป.พ.พ., ม. 427; พรบ. ประกันชีวิต 2535, ม. 70/1.
[57] เช่น ป.พ.พ., ม. 429; พรบ. คุ้มครองเด็ก 2546, ม. 26 (3) ประกอบ ม. 78; โปรดดู ความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตนของนาย วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ; คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 141; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม,น. 62; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 67.
[58] เช่น พรบ. ระเบียบข้าราชพลเรือน 2551, ม. 87.
[59] ป.พ.พ., ม. 1168; โปรดดู ประภาศน์ อวยชัย, คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท, (กรุงเทพฯ : กรุงสยามการพิมพ์, 2530) น. 310 - 314; แต่ก็จำกัดไว้แต่เฉพาะหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 นี้ เท่านั้น กรรมการบริษัทที่มิใช่ผู้จัดการและไม่มีหน้าที่จัดการธุรกิจของบริษัทไม่ต้องร่วมรับผิดกับกรรมการผู้จัดการในกรณีจงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้บริษัทเสียหาย หากกิจการนั้นเป็นการจัดการธุรกิจของบริษัทซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการและมิได้อยู่ในข้อใดข้อหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1168 คำพิพากษาฎีกาที่ 1980/2519 อ้างถึงใน ทิพย์ชนก รัตโนสถ, คำอธิบายเรียงมาตรากฎหมายลักษณะห้างหุ้นส่วนและบริษัท, (กรุงเทพฯ : โครงการตำราและเอกสารประกอบการสอน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2550) น. 309.
[60] พรบ. บริษัทมหาชนจำกัด 2535, ม. 91, ม. 92 และ ม. 94; โปรดดู ทิพย์ชนก รัตโนสถ, เรื่องเดิม, น. 309 - 311; และ สหัส สิงหวิริยะ, คำอธิบายกฎหมายว่าด้วย บริษัทมหาชน จำกัด, (กรุงเทพฯ: นิติบรรณการ, 2550) น. 156 - 161.
[61] เช่น พรบ. ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542, ม. 9; พรบ. โรงงาน 2522, ม. 63; พรบ. การกู้ยืมเงินอันเป็นการฉ้อโกงประชาชน 2527, ม. 15; โปรดดู โสภณ รัตนากร, เรื่องเดิม, น. 426 - 427; อนึ่ง มีตุลาการท่านหนึ่งอธิบายความรับผิดของกรรมการบริหารพรรคการเมืองในกรณีนี้โดยเทียบเคียงกับหลักความรับผิดชอบร่วมกันของคณะรัฐมนตรี; โปรดดู ความเห็นในการวินิจฉัยส่วนตน คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 121 - 122; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 43; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 49 - 50; และโปรดดู Patricia Leopold, O. Hood Phillips & Jackson: Constitutional and Administrative Law, (London: Sweet & Maxwell, 8th ed., 2001) น. 351 - 355; ซึ่งไม่แน่ใจว่า เป็นการอธิบายที่สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความรับผิดทางการเมืองเช่น การถูกอภิปรายและลงมติไม่ไว้วางใจ และแนวคิดความรับผิดทางกฎหมายหรือไม่
[62] ป.พ.พ., ม. 425; พระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ. 2525, ม. 19 วรรคสอง.
[63] พรบ. บริษัทมหาชนจำกัด 2535, ม. 92 และ ม. 94; พรบ. ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542, ม. 9.
[64] โปรดดู คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คดีหมายเลขแดงที่ 7/2552 (คดีกล้ายาง) และที่ อม. 10/2552 (คดีหวยบนดิน).
[65] โปรดเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญตุรกี: Constitution of the Republic of Turkey, November 7, 1982 (As amended on October 17, 2001), art. 69 para. 8.
[66] นอกจากนั้น ยังขัดกับหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติ (Natural Justice) ในเรื่องสิทธิที่จะได้รับการรับฟัง (Right to be heard) หรือหลักฟังความทุกฝ่าย (Audi Alterem Partem) และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาอย่างธรรม (Right to a Fair Trial) ซึ่งรับรองไว้ในพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะได้วิเคราะห์ต่อไปในบทที่ X ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการและผลของการยุบพรรคการเมืองต่อไป.
[67] พรป. พรรคการเมือง 2550, ม. 18 วรรคสอง; อนึ่ง ข้อโต้แย้งข้างต้น ผู้เขียนสมมติขึ้น เพราะศาลรัฐธรรมนูญมิได้อธิบายไว้เช่นนี้โดยตรง.
[68] กรณีเช่นนี้ ไม่รู้สำนึก จึงไม่มี การกระทำ อันเป็นองค์ประกอบของกฎหมาย โปรดดู จิตติ ติงศภัทิย์, เรื่องเดิม, น. 145; เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์, เรื่องเดิม, น. 72; คณิต ณ นคร, กฎหมายอาญาภาคทั่วไป, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, พิมพ์ครั้งที่ 3, 2551) น. 172 - 173.
[69] โปรดดู คดีพรรคชาติไทย, เรื่องเดิม, น. 98; คดีพรรคมัชฌิมาธิปไตย, เรื่องเดิม, น. 16; คดีพรรคพลังประชาชน, เรื่องเดิม, น. 23; แต่ทั้งนี้ อาจมีผู้แย้งว่า การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น มิใช่ความรับผิด หากแต่เป็นมาตรการบังคับของกฎหมายในทำนองเดียวกันกับการพักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาต มิใช่โทษตามกฎหมาย แต่อย่างไรก็ดี ผู้เขียนกลับมิได้เห็นเช่นนั้น โปรดดูคำอธิบายในบทที่ X ปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการและผลของการยุบพรรคการเมือง หน้า X-XX.
[70] Constitution of the Republic of Turkey, November 7, 1982 (As amended on October 17, 2001), art. 69 para. 8.
The members, including the founders of a political party whose acts or statements have caused the party to be dissolved permanently cannot be founders, members, directors or supervisors in any other party for a period of five years...
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1539
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:40 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|