ครั้งที่ 249

10 ตุลาคม 2553 20:56 น.

       ครั้งที่ 249
       สำหรับวันจันทร์ที่ 11 ตุลาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 24 ตุลาคม 2553
        
       
       “ทำไมประเทศไทยจึงมีปัญหาคอร์รัปชันมากนัก”
       
                   เมื่อสองสามวันก่อน ได้เห็นภาพของเพื่อนกลุ่มหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์ เมื่อได้อ่านคำบรรยายใต้ภาพจึงทราบว่า เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเป็นนักธุรกิจและเป็นเศรษฐี เป็นเจ้าภาพเลี้ยงแสดงความยินดีกับเพื่อนตำรวจ เพื่อนทหาร และเพื่อนข้าราชการพลเรือน ที่ได้รับตำแหน่งสูงขึ้นจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่ผ่านมา
                 ข่าวสังคมลักษณะนี้มีให้เห็นบ่อย ๆ ทุกครั้งที่มีการแต่งตั้งโยกย้าย ก็จะต้องมีข่าว “โฆษณา” ให้คนทั่วไปทราบถึง “ความใกล้ชิด” ของผู้จัดเลี้ยงและ “ความก้าวหน้า” ของผู้ได้รับเลี้ยง แต่ไม่เห็นมีใครพูดกันเลยว่า คนเหล่านั้น “ก้าวหน้า” ขึ้นมาถึงจุดนั้นได้อย่างไร เป็นคนมีความรู้ความสามารถหรือไม่ โชคช่วยหรือไม่ หรือวิ่งเต้นจนได้ดิบได้ดี และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมีบางคนที่ขึ้นมาถึงระดับนั้นได้ด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ก็หมายความว่าในขณะเดียวกันต้องมีคนอื่นที่ดีกว่า เก่งกว่า เหมาะสมกว่า แต่ถูก “ข้ามหัว” ไปด้วยความไม่ถูกต้องเช่นกัน คนประเภทหลังนี้ไม่เห็นมีใครเลี้ยงปลอบใจให้ทั้ง ๆ ที่เป็นคนที่น่าจะได้รับเลี้ยงมากที่สุด และคนประเภทนี้ก็มีจำนวนมากเสียด้วย ยิ่งบางรายที่กระโดด “ข้ามหัว” คนอื่นด้วยพลังแรงสูง ก็หมายความว่า 1 ตำแหน่งของตนเองที่ได้ไปกระทบกับคนอีกเป็นร้อยเป็นพันก็มีคนที่ถูกข้ามหัวไปก็จะมีจำนวนมากอย่างไม่น่าเชื่อ นี่คือสภาพของสังคมไทย สภาพของสังคมอุปถัมภ์ที่เรารับทราบกันอยู่ คนมีตำแหน่งและมีอำนาจเท่านั้นที่จะได้รับความสนใจ ได้รับการยอมรับและได้รับการยกย่องจากสังคมครับ !!!
                 ในช่วงเวลา 1-2 เดือนที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาของการโยกย้ายข้าราชการทุกประเภท ที่เป็นข่าวอื้อฉาวที่สุดก็คือ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจและข้าราชการกระทรวงมหาดไทยที่มีทั้งข่าวออกมาในเชิงลบและมีการร้องเรียนโดยผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย ข่าวที่ออกมามีลักษณะคล้าย ๆ กันคือ ข้าราชการที่ได้รับการ “อุ้มชู” จากนักการเมืองก็จะ “ได้ดี” กันเป็นแถว แม้บางคนจะมีชนักติดหลังอยู่ก็ยังได้ดี บางคนถึงขนาดทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแย่ลงก็ยังได้ดี บางคนอาจทำให้พรรคการเมืองแตกได้ก็ยังได้ดี รวมความแล้วการ “ได้ดี” ของคน “บางคน” เป็นการ “ได้ดี” เฉพาะตัวเองและผู้แต่งตั้ง แต่อาจไม่เกิด “ผลดี” อะไรต่อประเทศชาติและสังคมเลยก็เป็นได้หากคนที่ได้ดีเหล่านั้นต้อง “ตอบสนอง” ผู้แต่งตั้งอันเนื่องมาจาก “บุญคุณ” ที่ทำให้ตนเองได้รับตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ควร ก็เป็นไปได้
                 หากจะว่าไปแล้ว เรื่องประเภทดังกล่าวมีอยู่ทุกยุคทุกสมัย เป็นเรื่องที่พูดกันมานานแสนนาน การรัฐประหารหลาย ๆ ครั้งก็เกิดจากการแต่งตั้งโยกย้ายหรือที่เกิดจากการกลัวการแต่งตั้งโยกย้ายก็เคยมีมาแล้ว มีข้าราชการกลุ่มหนึ่งที่เป็นอย่างนี้ทุกยุคทุกสมัยซึ่งไม่ว่ากาลเวลาจะเปลี่ยนไป สภาพสังคมจะเปลี่ยนไป แต่ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำก็ไม่เคยเปลี่ยนไป ตราบใดก็ตามที่ระบบข้าราชการยังเป็นระบบ “ปิรามิด” และตราบใดก็ตามที่นักการเมืองยังเป็นผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย ความพยายามที่จะก้าวไปสู่ยอดปิรามิดด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยตลอดเวลาที่ผ่านมาและจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
                 นอกเหนือจากข่าวของความไม่เป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่กล่าวไปแล้ว ก็ยังมีข่าว “อดีตข้าราชการ” บางคนที่แม้จะเกษียณอายุราชการไปแล้วแต่ก็ยังให้ความ “สนใจ” ในปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการที่ไม่เป็นธรรม ออกมาให้สัมภาษณ์เชิงวิพากษ์วิจารณ์การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม พร้อมกับชักชวนให้ข้าราชการและทุกภาคส่วนของสังคมร่วมกันต่อต้านการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรมของนักการเมือง
                 ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีปัญหาประเภทนี้เกิดขึ้นหลายครั้งและทุก ๆ ครั้งก็จบลงในสภาพเดียวกันคือ “เงียบ” เพราะการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเป็น “อำนาจบังคับบัญชา” ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงสุดของหน่วยงาน แม้จะมีความพยายามในการวางเกณฑ์กันในบางกระทรวงโดยหวังที่จะเห็นการแต่งตั้งโยกย้ายที่เป็นธรรม แต่ความพยายามเหล่านั้นก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ต้องดูอื่นไกล ที่ผ่านมามีข่าวว่า กระทรวงหนึ่งต้องการได้ผู้ดำรงตำแหน่งสูงสุดด้วยวิธีการที่ดี โปร่งใส เป็นธรรม อุตส่าห์ตั้งคณะกรรมการสรรหาซึ่งประกอบด้วยผู้หลักผู้ใหญ่ของประเทศ เมื่อคณะกรรมการสรรหาได้คนที่ดีที่สุดมาแล้วก็เสนอให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง แต่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งกลับแต่งตั้งอีกคนหนึ่งที่ไม่ได้รับการสรรหา แล้วอย่างนี้จะทำอย่างไรกันดีครับ ก็ต้องขอแสดงความ “สงสาร” และ“เห็นใจ” คณะกรรมการสรรหาที่อุตส่าห์ทำงานกันแทบตาย แต่ในที่สุด “นักการเมือง” ก็คือ “นักการเมือง” มองคนที่ตัวเองต้องการว่าเป็นคนที่ดีที่สุด !!!
                 สภาพปัญหาการโยกย้ายข้าราชการในปัจจุบันคงไม่แตกต่างไปจากในอดีตที่ผ่านมานัก ในวันนี้ เรามีนายกรัฐมนตรีที่ไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญที่สุดของประเทศได้เพราะนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง เนื่องจากต้องพึ่งพาเสียงจากพรรคการเมืองอื่นที่มาร่วมรัฐบาลและจากทหาร “ผู้พิทักษ์” แม้ว่าจะมีนักการเมืองหรือข้าราชการบางคน “พัวพัน” กับการทุจริตดังที่มีข่าวออกมาตลอดเวลาแต่สิ่งที่เราได้รับทราบจากปากของนายกรัฐมนตรีก็คือ “เรื่องเหล่านี้ต้องมีคนรับผิดชอบ” แค่นั้นเองที่เราได้ยินจากปากของนายกรัฐมนตรีของเรา ไม่เคยมีการพบคนรับผิดชอบ ไม่มีการลงโทษ รวมทั้งไม่มีการปลดออกใด ๆ ทั้งนั้นตามมาครับ
                 ทำไมการแต่งตั้งโยกย้ายจึงมีความสำคัญกับนักการเมืองมากมายนัก คงเป็นเรื่องผลที่จะตามมามากกว่า ไม่ว่าจะเป็น “ฐานเสียง” ในอนาคต หรืออาจเป็น “กระเป๋าสตางค์” ก็ได้ ผมไม่ได้มองนักการเมืองในแง่ร้าย แต่จากประสบการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมานักการเมืองพยายามที่จะ “วาง” คนของตนเองเอาไว้ในที่ ๆ ตนเอง “ได้ประโยชน์” ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ในรูปแบบใดก็ตาม การวางคนของตนเองในลักษณะดังกล่าวกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่นักการเมืองทุกคน “ต้องทำ” และก็ส่งผลทำให้ข้าราชการจำนวนหนึ่ง “เข้าหา” นักการเมืองโดยมุ่งหวังที่จะ “ถีบตัวเอง” ให้เข้าไปสู่จุดที่ตัวเองต้องการได้ง่าย ๆ โดยอาศัยมือของนักการเมือง สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้นก็เป็นสิ่งที่ทุกคนทราบกันดีก็คือการตักตวงครับ !!!
                 ข้าราชการกับนักการเมืองสามารถ “ร่วมงาน” กันได้เป็นอย่างดี เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐมีจำนวนมากมายมหาศาล การจัดซื้อจัดจ้างเป็น “บ่อเกิด” ของการทุจริตคอร์รัปชันที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ในเมื่อการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของข้าราชการ นักการเมืองจึงต้องหาทาง “ดูแล” หรือ “เป็นเจ้าของ” ผู้มีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อ “หาประโยชน์” ให้กับตนเอง
                 กระบวนการสำคัญจึงเริ่มจากการแต่งตั้งโยกย้ายที่จะต้องเอาคนของตัวเองเข้าไปสู่ตำแหน่งก่อน จากนั้นคนของตัวเองก็จะเข้าไปดำเนินการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งของตนเองและของ “เจ้านาย”
                 ทำไมประเทศไทยจึงมีปัญหาคอร์รัปชันมากนัก เป็นคำถามที่ต้องมีคำตอบและต้องมีการแก้ไข เป็นปัญหาสำคัญเป็นปัญหาเร่งด่วนของประเทศ แต่ก็อย่างที่ทราบ การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็น “จุดจบ” ของเรื่อง ซึ่งการแก้ปัญหาตรงจุดจบก็สามารถทำได้ แต่ปัญหาก็ได้เกิดขึ้นไปแล้ว ที่ดีและถูกต้องควรแก้ตั้งแต่ “จุดเริ่มต้น” มากกว่า จุดเริ่มต้นที่ว่านี้คือการเข้าสู่ตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง ดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น หากเรายังแก้ปัญหานี้ไม่ได้ การทุจริตคอร์รัปชันซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการตอบแทนการเข้าสู่ตำแหน่งก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป
                 ผมเข้าใจว่า มีความพยายามอย่างมากจากหลายภาคส่วนที่จะแก้ปัญหาการทุจริต     คอร์รัปชัน แต่ยังไม่ตรงจุดเสียทีเดียวก็เลยยังแก้ไม่ได้ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ผมจะขอลองเสนอเล่น ๆ ดูสัก 3 มาตรการด้วยกันโดยมุ่งหวังว่า หากมาตรการของผมน่าสนใจหรือพอมีทางเป็นไปได้ ก็ขอให้ผู้อ่านที่มีบุญญาบารมีช่วยกันผลักดันให้เป็นรูปธรรมต่อไปครับ
                 มาตรการแรกที่จะเข้าไปแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้คือ การล้มระบบอุปถัมภ์ ทุกวันนี้หลาย ๆ คนก็ทราบกันดีว่า ก็เพราะระบบอุปถัมภ์นี่เองที่ทำลายประเทศไทย ระบบอุปถัมภ์ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีของสังคมไทยที่มีมานานถูกนำมา “บิดเบือน” ใช้จนกลายเป็น “สิ่งชั่วร้าย” ของสังคม สิ่งหนึ่งที่ผมพบและเข้าใจว่าเป็นโรคระบาดในหมู่ข้าราชการและพ่อค้านักธุรกิจก็คือการเข้าอบรมหรือเรียนหลักสูตรพิเศษต่าง ๆ ที่หน่วยงานของรัฐจำนวนมากจัดขึ้น หลักสูตรสำหรับผู้บริหารเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่สร้างระบบอุปถัมภ์ขึ้นในสังคมไทยเรา เข้าหลักสูตรเดียวกันเป็นพวกเดียวกันต้องช่วยเหลือกันกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนระดับหนึ่งในสังคมพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม ภาครัฐภาคเอกชนเข้าไปอยู่ด้วยกันในช่วงเวลาหนึ่ง สร้างความคุ้นเคยกัน นำไปสู่ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นและเมื่อต้องการความช่วยเหลือ ทุกสิ่งทุกอย่างก็ดูง่ายดายและเป็นไปได้อย่างดี ราบรื่น ระบบอุปถัมภ์ลักษณะนี้จึงเป็นสิ่งที่ต้อง “กำจัด” ออกไปจากสังคมไทยครับเพราะนอกจากผู้เข้าอบรมหรือผู้เข้าเรียนจะไม่ได้รับความรู้อะไรมากมายนักเพราะส่วนใหญ่จ้องจะเข้ามาหา “เพื่อน” ร่วมรุ่นแล้ว ยังเป็นการสูญเสียงบประมาณบางส่วนของประเทศชาติอีกด้วย
                 มาตรการต่อมาคือมาตรการทางกฎหมาย อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในแต่ละปีมีจำนวนมาก การจัดซื้อจัดจ้างเป็นช่องทางสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่ระดับล่าง เงินจำนวนน้อย ๆ ไปจนถึงระดับสูง เงินจำนวนมหาศาล ทุกวันนี้ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐอยู่ภายใต้ “ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535” ระเบียบนี้เก่าและมีช่องโหว่มาก มีปัญหามาก การทุจริตคอร์รัปชันส่วนมากก็เป็นเพราะช่องโหว่ของระเบียบนี้ ผมแปลกใจมากที่ไม่ว่าจะมีการทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นมากมายเพียงใดก็ตาม แต่กลับไม่มีใครพูดถึง “เครื่องมือ” ที่เอื้อประโยชน์ต่อการทุจริตคอร์รัปชัน จริง ๆ แล้วกติกาของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐควรเป็นกฎหมายระดับสูงและควรแก้ไขปรับปรุงได้ตลอดเวลาให้ทันกับวิธีการในการทุจริตคอร์รัปชันที่พัฒนาไปมากในแต่ละวัน ระเบียบที่ออกในปี พ.ศ. 2535 เกือบ 20 ปีมาแล้วคงไม่สามารถป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้เต็มร้อยอย่างแน่นอนครับ สมควรที่จะมีการสังคายนาระเบียบฉบับนี้เสียใหม่และทำเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ วางกลไกในการจัดซื้อจัดจ้างเสียใหม่ให้เป็นระบบ มีบทกำหนดโทษที่รุนแรงอยู่ในกฎหมายและถ้าเป็นไปได้ หน่วยงานของรัฐทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือหน่วยงานของรัฐประเภทอื่น ๆ ก็ควรใช้เกณฑ์เดียวกัน หากเรามี “เครื่องมือ” ที่ดี การทุจริตคอร์รัปชันก็คงลดลงไปเองครับ
                 มาตรการสุดท้าย คือ การ “ต่อต้าน” การแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม มาตรา 64 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเปิดช่องเอาไว้แล้วให้ข้าราชการตั้งสหภาพได้ เรื่องนี้ผมเคยเขียนไว้แล้วครั้งหนึ่งในบทบรรณาธิการ ครั้งที่ 182  ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่ข้าราชการจะต้องรวมตัวกันต่อสู้กับการแต่งตั้งโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม ต่อสู้กับนักการเมืองที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ต่อสู้กับข้าราชการที่ชอบวิ่งเต้น หากเราได้ข้าราชการที่ดี เข้าสู่ตำแหน่งด้วยความสามารถของตัวเอง ความสัมพันธ์ระหว่างนักการเมืองกับข้าราชการประจำก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งคือ เป็นแบบที่ไม่มีบุญคุณต่อกัน เมื่อไม่มีบุญคุณ การเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันก็ลดลงไปเอง
        
                 ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของ อาจารย์ปีดิเทพ อยู่ยืนยง อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เรื่อง “ศาลสิ่งแวดล้อมเปรียบเทียบ : ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อมในประเทศอังกฤษ” บทความที่สองเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ(Deliberative Democracy) คือทางออกประเทศไทย” ส่วนบทความที่สามคือบทความของคุณนิธินันท์  สุขวงศ์ อัยการจังหวัดประจำกรม สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด เรื่อง   “เป็นที่สุด กับ ถึงที่สุด  ของศาลปกครอง” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามด้วยครับ
                
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 25 ตุลาคม 2553
        
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์  บรมานันท์
        


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1518
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 11:10 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)