|
|
มาตรการทางกฎหมายในการควบคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้ง (ตอนจบ) 26 กันยายน 2553 19:43 น.
|
5. ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายของการควบคุมโพลเลือกตั้งไทย
ในรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ผู้เขียนได้วิเคราะห์ปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของมาตรการควบคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งทั้งหมดที่เคยใช้อยู่ในประเทศไทย แม้ว่ามาตรการบางอย่างจะสิ้นสภาพบังคับไปแล้วก็ตาม แต่ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอเฉพาะมาตรการที่ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ ณ วันที่ 20 ธันวาคม 2550 เท่านั้น ดังต่อไปนี้
5.1 การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งท้องถิ่นสูงสุด 120 วัน
ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การห้ามประกาศ โฆษณา หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นที่เข้าใจว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้คะแนนเท่าใด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2546 ในส่วนที่ห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. ณ ปัจจุบันถือว่าสิ้นสภาพบังคับไปแล้วโดยปริยายโดยผลของกฎหมายมาตรา 150 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 อย่างไรก็ดี ณ ปัจจุบัน ประกาศฉบับนี้อีกส่วนหนึ่งยังคงใช้บังคับสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยมีผลเป็นการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นระยะเวลาสูงสุดถึง 120 วัน สำหรับกรณีการเลือกตั้งท้องถิ่นอันเนื่องมาจากการครบวาระการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากประกาศฉบับนี้ได้ห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นเวลา 60 ก่อนวันครบวาระการดำรงตำแหน่ง จนถึงเวลา 15.00 น. ของวันลงคะแนนเลือกตั้งด้วย
ผู้เขียนเห็นว่า ประกาศ กกต. ที่ห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งท้องถิ่นเป็นเวลาสูงสุดถึง 120 วันเป็นการจำกัดเสรีภาพที่มิได้กระทำโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพสื่อมวลชน และเสรีภาพทางวิชาการตามมาตรา 45, 46 และ 50 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 จึงขัดต่อมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ
อนึ่ง ประกาศฉบับนี้ยังมีประเด็นที่สมควรวิเคราะห์เพิ่มเติมคือ การอ้างมาตรา 57ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 เป็นบทอาศัยอำนาจในการออกประกาศ เนื่องจาก มาตรา 57 ได้กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการจูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัคร ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อป้องปรามมิให้มีการใส่ร้ายป้ายสีกันในการเลือกตั้ง โดยมิได้มีเจตนารมณ์ให้ครอบคลุมถึงการเผยแพร่โพลเลือกตั้งที่ทำขึ้นด้วยเจตนาบริสุทธิ์และถูกต้องตามหลักวิชาการแต่ประการใด จึงเห็นว่า เป็นการอ้างบทอาศัยอำนาจที่ไม่ถูกต้องอีกด้วย(31)
5.2 การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้ง ส.ส. ส.ว. เป็นเวลา 7 วัน
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 มาตรา 150 ห้ามเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้งหรือโพลเลือกตั้ง ในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง โดยผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรการนี้เป็นการจำกัดเสรีภาพโดยอาศัยอำนาจแห่งกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ เพื่อทำให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมอันถือเป็นความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนในลักษณะหนึ่ง รวมทั้งเป็นมาตรการที่มีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป อีกทั้งยังมิได้เป็นการห้ามอย่างเด็ดขาดหรือเป็นระยะเวลายาวนานจนกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพ อย่างไรก็ดี ยังคงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งในช่วง 7 วันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการเลือกตั้งในวันออกเสียงนั้นมีลักษณะเป็นการจำกัดเสรีภาพที่เกินจำเป็นและขัดต่อหลักความได้สัดส่วนหรือไม่ โดยจะวิเคราะห์เกี่ยวกับความเหมาะสม ความจำเป็น และความสมเหตุสมผลของมาตรการนี้ไปพร้อม ๆ กับเหตุผลที่มักจะใช้กล่าวอ้างในการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวโดยลำดับ(32)
(1) เพื่อป้องกันมิให้โพลเลือกตั้งมีอิทธิพลครอบงำการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งจนกระทบต่อความสุจริตเที่ยงธรรมของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย(33) ผู้ที่สนับสนุนการห้ามการเผยแพร่โพลเลือกตั้งในประเทศไทยล้วนแล้วแต่ยกเหตุผลว่า โพลเลือกตั้งมีส่วนสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเห่อตามกระแส (Bandwagon Effect) โดยอ้างว่า คนไทยมีความรู้น้อย ชอบตัวเลข ชอบการแข่งขัน และชอบอยู่กับฝ่ายชนะ ทั้งที่ ๆ เป็นเพียงการคาดคะเน โดยไม่ได้มีการศึกษาอย่างจริงจังว่า โพลเลือกตั้งของไทยส่งผลดังว่ามานั้นจริงหรือไม่ เนื่องจาก ผลการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้ เท่าที่ปรากฏ ไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันผลข้อนี้ที่เกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทยได้อย่างชัดเจนเพราะมีปัญหาเกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยที่ใช้ในการสำรวจเสียเอง หรือแม้แต่ในประเทศที่มีประสบการณ์การทำโพลมาอย่างยาวนานเช่น แคนาดา ก็ไม่สามารถพิสูจน์ถึงผลข้อนี้ได้อย่างชัดเจน
ตัวอย่างเช่น การสำรวจความเชื่อถือผลโพลเลือกตั้งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน กทม. ของขนิษฐา ไชยสัตย์ ระบุว่า คนกรุงเทพฯ อายุ 18 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่ร้อยละ 57.8 ไม่แน่ใจว่าจะเชื่อผลโพลหรือไม่ ในขณะที่ร้อยละ 22.6 เชื่อถือ ร้อยละ 0.8 เชื่อถือมาก ก็มีปัญหาต้องพิจารณาต่อว่า คนที่ตอบว่าผลโพลเชื่อถือได้จำนวนร้อยละ 22.6 นั้น จะตัดสินใจลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้ผู้สมัครรายได้ตามผลโพลนั้นหรือไม่ เป็นอัตราเท่าใด เพราะว่า ผู้ที่เชื่อถือในผลโพลอาจจะตัดสินใจเลือก/ไม่เลือกเพราะเหตุอื่นเช่น เพราะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองของผู้สมัครอยู่แล้ว เพราะพ่อแม่บอกให้เลือก เพราะเชื่อข้อมูลที่ได้จากคอลัมน์นิสต์ในหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ก็ได้(34)
การสำรวจของสำนักงาน กกต. หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 ที่ถามว่า ผลโพลของผู้สมัคร ส.ส.มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจออกเสียงเลือกตั้งหรือไม่ ปรากฏว่า มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครร้อยละ 37.21 และไม่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัครร้อยละ 62.79(35) คำถามนี้ก็มีจุดอ่อนที่ทำให้แปรผลการสำรวจได้ผิดพลาด เพราะคำถามมีความหมายหลายนัย เป็นต้นว่า บางคนตอบว่า ผลโพลมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเพราะเห็นว่า เป็นปัจจัยหนึ่งที่นำมาพิจารณาประกอบการเลือก-ไม่เลือก แต่บางคนจะตอบว่า ผลโพลมีผลต่อการตัดสินใจก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นจะเลือก-ไม่เลือกโดยมีผลโพลเป็นปัจจัยชี้ขาด หรือแม้แต่การสำรวจของเอแบคโพล ที่ทำขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ระบุว่า มีผู้ตัดสินใจเลือกพรรคพลังประชาชนเพราะผลโพลร้อยละ 9.9 เลือกพรรคประชาธิปัตย์เพราะผลโพลร้อยละ 9.8 และเลือกพรรคอื่น ๆ เพราะผลโพลร้อยละ 10.3 ก็มีปัญหาในการตั้งคำถามและประมวลผลเพราะนำปัจจัยหลายอย่างไปรวมในคำถามเดียวกันและถามเกี่ยวกับแหล่งข้อมูลที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในประกอบการตัดสินใจหลายแหล่ง อาทิเช่น คนในครอบครัว เพื่อน พระ นักวิชาการ ผู้นำท้องถิ่น หัวคะแนน ผู้สมัคร หัวหน้าพรรค ฯลฯ
เป้าหมายของการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งในประเด็นนี้จึงไม่มีข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นเพียงพอ จึงไม่อาจใช้เป็นมาตรวัดความเหมาะสมของมาตรการที่ใช้และเป้าหมายที่ต้องการให้บรรลุผลได้ อย่างไรก็ตาม สมมุติว่า เรายอมรับเป้าหมายของการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นเวลา 7 วันที่ว่า เพื่อป้องกันมิให้โพลเลือกตั้งมีอิทธิพลครอบงำการตัดสินใจของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ให้เป็นเป้าหมายที่ถูกต้องเหมาะสม (Legitimate Purpose) ก็ยังคงมีปัญหาตามมาว่า การห้ามเป็นเวลา 7 วันนั้นกระทำเท่าที่จำเป็นหรือไม่ เนื่องจาก หากประสงค์ที่จะไม่ให้โพลเลือกตั้งมีผลต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ดังเช่นที่กำหนดไว้ในกฎหมายของหลายประเทศที่มีมาตรการให้ประชาชนมีวันที่สามารถคิดตัดสินใจเลือก-ไม่เลือกใครได้โดยสงบ ปลอดจากการแทรกแซง ปลอดจากการหาเสียง ที่เรียกกันว่า Day of Reflection นั้น การกำหนดไว้เพียง 1 วันก็น่าจะเป็นการเพียงพอ และกฎหมายไทยก็ปรากฏหลักการข้อนี้เช่น การกำหนดว่า ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งจนสิ้นสุดวันเลือกตั้ง เป็นช่วงเวลาห้ามหาเสียง(36)
ดังนั้น หากต้องการลดทอนอิทธิพลของโพลเลือกตั้งจริง การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง และตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้าซึ่งมักจะจัดขึ้นในวันเสาร์และอาทิตย์ของสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งจริง รวมเป็นระยะเวลาห้ามเผยแพร่ประมาณ 3 วัน น่าจะเป็นมาตรการที่เหมาะสมมากกว่าสิ่งที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมิได้ป้องกันอิทธิพลของโพลเลือกตั้งที่จะมีต่อผู้ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าเลยแม้แต่น้อย ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่าง ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นของการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นเวลา 7 วันและผลกระทบคือการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพสื่อมวลชน และเสรีภาพทางวิชาการแล้ว เห็นว่า ไม่ได้เป็นการจำกัดเสรีภาพที่สมเหตุสมผลเลย
อนึ่ง แม้ผู้เขียนจะยอมรับว่า โพลเลือกตั้งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของประชาชนในระดับหนึ่ง ซึ่งคงต้องมีการพิสูจน์ถึงระดับความมากน้อยกันอีกครั้ง แต่ก็กลับเห็นว่า ในสังคมประชาธิปไตยนั้น โพลเลือกตั้งถือได้ว่าเป็นแหล่งข้อมูลอย่างหนึ่งที่ประชาชนสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจควบคู่ไปกับข้อมูลที่ได้จากแหล่งอื่น ๆ เช่น ข่าว บทความ คอลัมน์ รายการสัมภาษณ์ ฯลฯ ในประเด็นนี้ ดร. นพดล กรรณิกา เห็นว่า โพลเลือกตั้งเป็นการสร้างสมดุลของข้อมูล มิเช่นนั้น ความเห็นของสังคมจะถูกครอบงำโดยชนชั้นกลาง-สูงที่มีโอกาสออกสื่อเช่น นักวิชาการ นักการเมือง คอลัมน์ ซึ่งเป็นคนเพียงหยิบมือเดียว ในขณะที่โพลจะสะท้อนความคิดเห็นของคนในระดับอื่น ๆ ได้และกระจายตัวมากกว่า(37)
ดังนั้น จึงเห็นว่า การห้ามเผยแพร่เป็นเวลา 7 วัน เป็นการจำกัดสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่นานจนเกินไป ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายในการป้องกันอิทธิพลของโพลที่จะครอบงำการตัดสินใจของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและพฤติกรรมการออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่อย่างใด
(2) โพลเลือกตั้งของไทยไม่มีความน่าเชื่อถือ เพราะใช้ระเบียบวิธีวิจัยไม่ถูกต้อง ไม่เคร่งครัดต่อระเบียบวิธีวิจัย และถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมือง ในเบื้องต้น เห็นว่า เป็นเป้าหมายที่ถูกต้องเหมาะสมเพราะหากมีการเผยแพร่ผลโพลที่ทำขึ้นโดยไม่ถูกต้อง ก็เท่ากับเป็นการให้เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้องแก่ประชาชน และเพียงเท่านี้ก็น่าจะเป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้ว ยิ่งไปกว่านั้น หากประชาชนนำข้อมูลเหล่านั้นไปประกอบการตัดสินใจจริง ก็จะส่งผลต่อความสุจริตและเที่ยงธรรมของการเลือกตั้งได้ จากนั้น เมื่อพิเคราะห์ความเหมาะสมของมาตรการกับเป้าหมายดังกล่าวแล้ว เห็นว่า มาตรการห้ามเผยแพร่โพล 7 วัน เป็นมาตรการที่ทำให้บรรลุเป้าหมายนี้ได้
อย่างไรก็ดี ยังคงมีมาตรการอื่นที่รุนแรงน้อยกว่าแต่สามารถให้บรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน พร้อมกันนั้น ยังเป็นการฝึกฝนให้ประชาชนรู้จักบริโภคข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ คือ การกำหนดให้ผู้เผยแพร่ผลโพลเลือกตั้งต้องให้ข้อมูลอื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กับการเผยแพร่ผลโพลด้วย เป็นต้นว่า ชื่อผู้ว่าจ้างทำโพล ชื่อผู้ทำโพล ระยะเวลาที่ทำโพล จำนวนตัวอย่าง วิธีการสุ่มตัวอย่าง กลุ่มประชากร เขตพื้นที่ที่ทำการสำรวจ คำถามที่ใช้ และค่าความคลาดเคลื่อนที่อาจเกิดขึ้นได้ เป็นต้น และเมื่อให้ข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ไปพร้อมกับผลโพลแล้ว ประชาชนก็สามารถใช้สติปัญญาพิจารณาได้เองว่า สมควรที่จะเชื่อผลโพลที่เผยแพร่ไปนั้นหรือไม่(38) นอกจากนี้ หากมีเจตนาทำโพลหรือเผยแพร่โพลเพื่อทุจริตเลือกตั้งเช่น สร้างข่าวปั่นทอนกำลังใจของคู่แข่ง หรือจงใจใช้โพลปั่นกระแสนิยมของตน ใช้โพลลวง โพลปลุกระดมทำลายคู่แข่ง ก็อาจจะกำหนดมาตรการในการตรวจสอบคุณภาพของผลโพลและการทำโพลเช่น กำหนดให้ผู้ทำโพลต้องส่งรายงานสรุปผลโพลที่ให้ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการทำโพล ระเบียบวิธีวิจัย ฯลฯ ให้แก่ กกต. การกำหนดให้ กกต. สื่อมวลชน พรรคการเมืองหรือบุคคลทั่วไปมีสิทธิเข้าตรวจสอบข้อมูลและกระบวนการการทำโพลได้ ดังเช่นที่กฎหมายของหลายประเทศกำหนดไว้ หรือแม้แต่การกำหนดบังคับให้ผู้เผยแพร่โพลต้องเผยแพร่ความไม่ถูกต้องความผิดพลาดของผลโพลในสื่อที่เคยเผยแพร่ผลโพลไปแล้วก่อนหน้านั้นเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของสาธารณชนก็ได้ มาตรการเหล่านี้ น่าจะช่วยทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้อนี้ได้ดีกว่าการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเสียอีก และที่สำคัญ กฎหมายเลือกตั้งเองก็มีบทบัญญัติเฉพาะซึ่งสามารถนำมาใช้จัดการกับผู้มีเจตนาไม่สุจริตดังกล่าวได้ นั่นก็คือ มาตรา 53 ที่ห้ามกระทำอันมีลักษณะจูงใจให้ประชาชนเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เลือกหรือไม่เลือกผู้สมัครหรือพรรคการเมือง
ด้วยเหตุนี้ จึงเห็นว่า การห้ามเผยแพร่เป็นเวลา 7 วัน มิใช่มาตรการเท่าที่จำเป็นเพื่อการป้องกันมิให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และป้องกันการใช้โพลเป็นเครื่องมือทางการเมืองใส่ร้ายทำลายคู่แข่ง เนื่องจากมีมาตรการอื่นที่รุนแรงน้อยกว่าแต่ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ได้เช่นเดียวกัน อีกทั้งกฎหมายเลือกตั้งยังได้กำหนดมาตรการเฉพาะไว้แล้วด้วย
(3) เพื่อป้องกันมิให้นำโพลเลือกตั้งไปใช้ในการซื้อเสียงและพนันผลการเลือกตั้ง เห็นได้ว่า เป็นเป้าหมายที่ถูกต้องเหมาะสมสอดคล้องกับกฎหมายเลือกตั้งและรัฐธรรมนูญเพราะทั้งการซื้อเสียงและการพนันผลการเลือกตั้งย่อมกระทบต่อความสุจริตเที่ยงธรรมของการเลือกตั้ง โดยเฉพาะการซื้อเสียงเป็นปัญหาเรื้อรังของการเมืองไทย อย่างไรก็ดี มาตรการห้ามเผยโพลเลือกตั้งนี้กลับมิใช่มาตรการที่เหมาะสมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว เนื่องจาก แม้จะมีการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้ง แต่นักการเมืองที่จะใช้โพลประกอบการซื้อเสียงก็สามารถว่าจ้างสำนักโพลให้ทำโพลได้เอง อีกทั้งการเผยแพร่โพลเลือกตั้งที่ผ่านมา ก็ไม่ได้ระบุเฉพาะเจาะจงว่า ผู้สมัครรายใดมีคะแนนนิยมดีในเขตตำบลหมู่บ้านใด แต่มักจะเผยแพร่รวม ๆ ว่าเช่น เขตเลือกตั้งที่ 1 กรุงเทพมหานคร ใครน่าจะชนะเลือกตั้ง คะแนนนิยมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละเท่าไหร่ ดังนั้น การเผยแพร่โพลเลือกตั้งต่อสาธารณะกลับมิได้เอื้อประโยชน์ต่อการซื้อเสียงของผู้สมัครที่ทุจริตเท่าใดนัก ส่วนเรื่องการพนันนั้น จริงอยู่ที่ ผลโพลเลือกตั้งถูกนำไปใช้ในการกำหนดอัตราต่อรอง แต่ในความเป็นจริง นักการเมืองที่ต้องการใช้การพนันเพื่อซื้อเสียงทางอ้อมต่างหากที่เป็นผู้กำหนดอัตราต่อรอง เพราะหากเห็นว่า ตนเองกำลังคะแนนตามคู่แข่ง ก็จะกำหนดอัตราต่อรองฝ่ายของตนให้สูง เพื่อล่อใจให้ประชาชนแทง และไปเลือกตนในวันเลือกตั้ง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนเห็นว่า ประเด็นการพนันนั้นมีอิทธิพลไม่มากนักทั้งในแง่การใช้เป็นวิธีการซื้อเสียงอย่างหนึ่งและในแง่การพนันเลือกตั้งโดยทั่วไป ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปว่า การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งต่อสาธารณะหาได้มีผลเป็นการป้องกันการซื้อเสียงหรือเล่นพนันได้ไม่ และที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ กฎหมายเลือกตั้งได้กำหนดมาตรการในการป้องกันและปราบปรามผู้ซื้อเสียง ผู้ขายเสียง และผู้เล่นพนันผลการเลือกตั้งไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ถึงขนาดให้เป็นความผิดที่มีโทษทางอาญา(39) จึงไม่มีความจำเป็นต้องห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเพื่อป้องกันการซื้อเสียงและการพนันอีก
ดังนั้น การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งจึงไม่ใช่มาตรการที่เหมาะสมเพื่อบรรลุเป้าหมายในการป้องกันปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงและการพนันผลการเลือกตั้ง
จากเหตุผลต่าง ๆ ข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า การห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นเวลา 7 วัน เป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพสื่อมวลชน และเสรีภาพในทางวิชาการที่ขัดต่อหลักความได้สัดส่วนทั้งในแง่ความเหมาะสม ความจำเป็น และความสมเหตุสมผลตามมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550
5.3 ห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งที่จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม
มาตรา 53 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 ที่ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการจูงใจให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนหรือไม่ลงคะแนนให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ด้วยการจูงใจให้ประชาชนเข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด และมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ที่ห้ามมิให้จูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดเกี่ยวกับผู้สมัคร ซึ่งอาจตีความรวมถึงเรื่องคะแนนนิยมของผู้สมัครด้วยก็ได้นั้น มาตรการนี้แม้ว่าจะมีผลเป็นจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่ก็เป็นมาตรการที่กระทำโดยกฎหมาย เพื่อการรักษาความสุจริตและเที่ยงธรรมในการเลือกตั้ง และการที่กำหนดไว้เช่นนี้สามารถช่วยป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งได้ จึงเป็นมาตรการที่เหมาะสม ข้อสำคัญ มาตรการนี้ห้ามเฉพาะการจูงใจให้เข้าใจผิด หรืออีกนัยหนึ่ง ห้ามเฉพาะผู้ที่มีเจตนาทุจริตเท่านั้น แต่ไม่ได้มีผลเป็นการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งที่กระทำโดยสุจริตแต่ประการใด อีกทั้งยังมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ดังนั้น จึงเป็นการจำกัดเสรีภาพที่ไม่ขัดต่อมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่อย่างใด
6. ข้อเสนอแนะ
จากปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของมาตรการควบคุมโพลเลือกตั้งของไทยและแนวทางในการควบคุมโพลเลือกตั้งของรัฐประชาธิปไตยอื่น ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้
6.1 มาตรการเฉพาะหน้า
(1) ยกเลิกประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง การห้ามประกาศ โฆษณา หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เป็นที่เข้าใจว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใดได้คะแนนเท่าใด ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2546 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2546
(2) ผ่อนปรนการบังคับใช้ข้อห้ามการเปิดเผยหรือเผยแพร่ผลโพลเลือกตั้ง ในระหว่างเวลาเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้งจนถึงเวลาปิดการลงคะแนนเลือกตั้ง ตามมาตรา 150 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 กับผู้เปิดเผยหรือเผยแพร่ผลโพลเลือกตั้งโดยสุจริต แม้อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าวก็ตาม
6.2 มาตรการระยะยาว
(1) แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 150 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 โดยห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้ง และตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันก่อนวันเลือกตั้งล่วงหน้า
(2) เพิ่มบทบัญญัติใหม่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550 และพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการทำและการเผยแพร่โพลเลือกตั้งและเอ็กซิทโพลที่ทำขึ้นหรือเผยแพร่ในช่วงเวลานับแต่วันที่มีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งสำหรับกรณีที่มีการยุบสภา หรือ 60 วันก่อนวันเลือกตั้งสำหรับกรณีที่สภาอยู่ครบวาระ โดยนำมาตรการควบคุมคุณภาพการทำโพลและเผยแพร่ผลโพลและการตรวจสอบภายหลังการเผยแพร่มาใช้บังคับ เช่น การกำหนดให้แจ้งกกต. หรือกกต. จังหวัดก่อนทำการสำรวจเอ็กซิทโพล การกำหนดให้ต้องเผยแพร่ข้อมูลบางอย่างที่บ่งชี้ถึงคุณภาพและความเชื่อถือของโพลไปพร้อม ๆ กับการเผยแพร่ผลโพลด้วย หรือการกำหนดให้ผู้ทำโพลต้องเก็บข้อมูลดิบในการทำโพลไว้เป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อการตรวจสอบของผู้มีส่วนได้เสีย แต่ทั้งนี้ ต้องระวังมิให้มาตรการดังกล่าวมีผลเป็นการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกในทำนองเดียวกันกับการตรวจก่อนเผยแพร่ (Censor) หรือสร้างภาระความยุ่งยากแก่ผู้ทำโพลหรือผู้เผยแพร่โพลเกินสมควร อันอาจเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญในอีกรูปแบบหนึ่งได้(40)
เชิงอรรถ
31. เช่นเดียวกับการห้ามเผยแพร่โพลเลือกตั้งเป็นเวลา 60 วันตามข้อ 4.1.3 แต่สำหรับกรณีดังกล่าว บทบัญญัติกฎหมายที่อ้างอิงยังมีความชัดเจนมากกว่า โปรดเทียบ มาตรา 44 (5) ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 ที่ว่า ... จูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใด ในขณะที่มาตรา 57 ของพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 บัญญัติไว้ว่า ...จูงใจให้เข้าใจผิดในเรื่องใดอันเกี่ยวกับผู้สมัครใด
32. โปรดดู คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้และความเห็นของคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน ตามกติการะหว่างประเทศว่าสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ในบทที่ 5 หน้า 79-85 คำพิพากษาฎีกาฟิลิปปินส์ในบทที่ 5 หน้า 89-92 คำพิพากษาฎีกาฝรั่งเศสในบทที่ 3 หน้า 46-49 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำพิพากษาศาลสูงสุดของแคนาดา ในบทที่ 4 หน้า 60-65.
33. โปรดดู บทที่ 1 โพลเลือกตั้ง หน้า 18-20.
34. ขนิษฐา ไชยสัตย์, เรื่องเดิม, หน้า 55.
35. สำนักนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, รายงานเบื้องต้นการประเมินผลการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548, อ้างแล้วในเชิงอรรถที่ 49 ของบทที่ 1.
36. โปรดดู มาตรา 58 และ 147 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550
37. นพดล กรรณิกา, กลโกงโพลล์เลือกตั้ง: ใครได้-ใครเสีย, กรุงเทพฯ: สหมิตรพริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่ง, 2550, 93-94.
38. อย่างไรก็ตาม มีผู้รู้หลายท่าน วิเคราะห์ว่า โดยลักษณะนิสัยของคนไทย คงมีน้อยมากที่จะไปอ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการทำโพล และส่วนใหญ่จะดูเฉพาะตัวเลขคะแนนโพลเท่านั้น จึงมีผู้โต้แย้งว่า มาตรการนี้ไม่เหมาะสมและไม่ได้ผลในสังคมไทย อย่างไรก็ตาม โปรดดู เหตุผลของศาลสูงสุดของแคนาดาในคดี Thomson Newspapers Co. v. Canada (Attorney General), [1998] 1 S.C.R. 877. ซึ่งวิเคราะห์ประเด็นนี้ไว้อย่างดี
39. โปรดดู มาตรา 53, 77, 137, 152, และ 156 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2550
40. ผู้สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเสนอแนะในเรื่องมาตรการควบคุมการทำและเผยแพร่โพลเลือกตั้งของผู้เขียน โปรดดู รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์
บรรณานุกรม
ขนิษฐา ไชยสัตย์, ทัศนคติของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครที่มีต่อการสำรวจประชามติ : ศึกษาเฉพาะกรณีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 17 พฤศจิกายน 2539, วิทยานิพนธ์ วารสารศาสตรมหาบัณฑิต (สื่อสารมวลชน), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2540.
จรัส สุวรรณเวลา, ความเป็นอิสระของมหาวิทยาลัยไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551.
เจริญศรี หงษ์ประสงค์, การสำรวจความคิดเห็นทางการเมืองของสวนดุสิตโพลในการนำไปใช้อ้างอิงทางวิชาการ, วิทยานิพนธ์ วารสารศาสตรมหาบัณฑิต (สื่อสารมวลชน),มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2543.
ธัญลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ์, วรรณกรรมโพล วิทยาศาสตร์ ความจริงและโวหารของการวิจัยเชิงสำรวจ, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิภาษา, 2543
นิยม รัฐอมฤต, มติมหาชนกับประชาธิปไตย, กรุงเทพฯ: กิ่งจันทร์การพิมพ์, 2530, หน้า 117.
นพดล กรรณิกา, คุณภาพโพลในไทยกับกรณี กกต. ห้ามทำโพลสำรวจ, มติชนรายวัน, 27 พฤษภาคม 2547, หน้า 7.
นันทวัฒน์ บรมานันท์, ประเทศไทยควรมีกติกาการทำโพลหรือยัง ใน Public Law Net วันศุกร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2547 ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2544 ใน http://www.pub-law.net/
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่มหนึ่ง วิวัฒนาการทางปรัชญาและลักษณะของกฎหมายมหาชนยุคต่าง ๆ, กรุงเทพฯ: วิญญูชน, พิมพ์ครั้งที่ 6, 2546.
บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 3: ที่มาและนิติวิธี, กรุงเทพฯ, นิติธรรม, 2538.
บรรเจิด สิงคะเนติ, หลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามรัฐธรรมนูญ, กรุงเทพฯ: วิญญูชน พิมพ์ครั้งที่ 2, 2547
พิชิต พิทักษ์เทพสมบัติ, โพลและสังคม, กรุงเทพฯ: คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2543.
สวัสดิ์ สุคนธรังษี, ประชาธิปไตยกับการวัดมติมหาชน, กรุงเทพฯ : ดวงกมล, 2518
สวัสดิ์ สุคนธรังษี, มติมหาชนกับการบริหารและการเมือง, กรุงเทพฯ : เคล็ดไทย, 2517
สวัสดิ์ สุคนธรังษี, อิทธิพลของมติมหาชนต่อองค์กรภาครัฐ, กรุงเทพฯ : สำนักวิจัยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, 2537
วรเจตน์ ภาคีรัตน์, เงื่อนไขการตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน : มาตร ในการควบคุมตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย, วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 30 ฉบับที่ 2, 2543, หน้า 181-193.
อรรถพร กงวิไล, ความรู้เท่าทันสื่อมวลชนในการเปิดรับรายงานผลการสำรวจประชามติของประชาชนในเขตกรุงเทพมหานคร, รายงานวิจัยโดยได้รับทุนอุดหนุนจากทบวงมหาวิทยาลัย, 2545.
Anthony M. Barlow, Restricting Election Day Exit Polling: Freedom of Expression vs. the Right to Vote, University of Cincinnati Law Review, Vol. 58, 1990, pp. 1003-1021.
Article 19 Global Campaign for Free Expression, Comparative Study of Laws and Regulations Restricting the Publication of Electoral Opinion Polls, London: 2003, p 7. downloaded from http://www.article19.org/pdfs/publications/opinion-polls-paper.pdf
Barry J. Kay, Reviewed Work: Polls and the Media in Canadian Elections: Taking the Pulse by Guy Lachapelle, Canadian Journal of Political Science, Vol. 27, No. 4. (Dec., 1994), pp. 805-806.
Blake D. Morant, Electoral Integrity: Media, Democracy, and the Value of Self-Restraint, Alabama Law Review, Vol. 55 Fall, 2003, pp. 1-62.
Claire Durand, The 2000 Canadian Election and Poll Reporting under the New Elections Act, Canadian Public Policy, Vol. 28, No. 4. (Dec., 2002), pp. 539-545.
Claude Emery, PUBLIC OPINION POLLING IN CANADA, Political and Social Affairs Division, Parliament of Canada, January 1994, p. 10,
downloaded from http://www.parl.gc.ca/information/library/PRBpubs/bp371-e.htm
Colin C.J. Feasby, Public Opinion Poll Restrictions, Elections, and the Charter, University of Toronto Faculty of Law Review, Vol. 55, 1997, pp. 241-267.
Constitutional Court of Korea, The First ten Years of Korean Constitutional Court, 2001, downloaded http://www.ccourt.go.kr/home/english/download/decision_10years.pdf
Cristine de Clercy, and Peter A. Ferguson, The 2000 Election and the New Elections Act Poll Reporting Provision: Contra Professor Durand, the Law Has Merit, Canadian Public Policy, Vol. 29, No. 3. (Sep., 2003), pp. 367-372.
David Feldman, Civil Liberties and Human Rights in England and Wales, Oxford: Oxford University Press, 2nd edition, 2002
Election Canada, Strengthening the Foundation: Canada’s Electoral System: Annex to the Report of the Chief Electoral Officer of Canada on the 35th General Election, presented for tabling in the House of Commons, February 29, 1996.
Election Canada, Modernizing the Electoral Process: Recommendations from the Chief Electoral Officer of Canada following the 37th General Election, presented for tabling in the House of Commons, March, 2001.
Elissa A. Okoniewski, Yahoo!, Inc. v. LICRA: The French Challenge to Free Expression on the Internet, American University International Law Review, Vol. 18, 2002, pp. 295-339.
Erik Barnouw et al. eds., International Encyclopedia of Communications, NewYork: Oxford University Press, 1989.
Exit Polls And The First Amendment, Harvard Law Review, Vol. 98, 1985, pp. 1927-1945.
Frits Spangenberg, The Freedom to Publish Opinion Poll Results: Report on the World Update, Amsterdam: Foundation for Information and World Association for Public Opinion Research, 2003. downloaded from www.unl.edu/WAPOR/Opinion%20polls%202003%20final%20version.pdf
Guy Lachapelle, Polls and the Media in Canadian Elections: Taking the Pulse. Ottawa: Royal Commission on Electoral Reform and Party Financing, 1991.
Human Rights Committee established under article 28 of the International Covenant on Civil and Political Rights, Communication No. 968/2001 : Republic of Korea. 23/08/2005.
Inter American Press Association, Press Freedom in the Americas, 2000 Annual Report, 2001.
Jairo E. Lanao, Legal Challenges to Freedom of the Press in the Americas, University of Miami Law Review, Vol. 56, January, 2002, pp. 347-376.
James R. Robertson, Bill C-2: The Canada Election Act, Legislative Summary, Law and Government Division, Parliament of Canada, 15 October 1999, Revised 9 March 2000.
downloaded from http://www.parl.gc.ca/common/bills_ls.asp?lang=E&ls=C2&Parl=36&Ses=2
Joseph Dunner ed., Dictionary of Political Science, New York: Philosophical Library, 1964.
Karis Muller, Problem of European Citizenship Rights at the Periphery, Australian Journal of Politics and History, Vol. 45, No. 1, 1999, pp. 35-51.
Kathleen Sullivan and Gerald Gunther, First Amendment Law, New York: Foundation Press, 2nd edition, 2003.
Kyu Ho Youm, Freedom of Expression and the Law: Rights and Responsibilities in South Korea, Stanford Journal of International Law, Vol. 38, 2002, pp. 123-151.
Mahar Mangahas, Election survey freedom in the Philippines, International Journal of Market Research, Vol. 46, 2004 (Quarter 1), pp. 103-107.
Mary A. Doty, Clearing CBS, Inc. v. Smith from the Path to the Polls: A Proposal to Legitimize States'' Interests in Restricting Exit Polls, Iowa Law Review, Vol. 74, 1989, pp. 737-753.
Nahal Jayawickrama, The Judicial Application of Human Rights Law (National, Regional and International Jurisprudence), Cambridge: Cambridge University Press, 2002.
Nowak and Rotunda, Constitutional Law, Minnesota: West Publishing, 5th edition, 1995.
Peter A. Ferguson, and Cristine de Clercy, Regulatory Compliance in Opinion Poll Reporting during the 2004 Canadian Election, Canadian Public Policy, Vol. 31, No. 3. (Sep., 2005), pp. 243-257.
Robert Brett Dunham, Defoliating the Grassroots: Election Day Restrictions on Political Speech, Georgetown Law Journal, Vol. 77, 1989, pp. 2137-2195.
S. Ansolabehere & S. Iyengar, "Of Horseshoes and Horse Races: Experimental Studies of the Impact of Poll Results on Electoral Behavior", Political Communication, Vol. 11, 1994, pp. 413-437.
Tong Whan Park, South Korea in 1997: Clearing the Last Hurdle to Political-Economic Maturation, Asian Survey, Vol. 38, No. 1, (1998), p. 1-11.
Wade & Forsyth, Administrative Law, Oxford: Oxford University Press, 8th edition, 2000.
_____________________________
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1514
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:05 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|