|
|
ครั้งที่ 4 13 ธันวาคม 2547 15:19 น.
|
"การพิจารณาคดี ซุกหุ้น"
สองสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวการพิจารณาคดี ซุกหุ้น ของนายกรัฐมนตรีดูจะเป็นประเด็นที่ร้อนที่สุดสำหรับประเทศไทย ผมเข้าใจว่าหลายๆคนคงจะติดตามข่าวดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและอาจมีบางคนที่มีโอกาสได้ดูการถ่ายทอดกระบวนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยศาลรัฐธรรมนูญด้วย
สำหรับผู้เป็น นักกฎหมายมหาชน โดยจิตวิญญาณคงจะ แปลกใจ กับกระบวนพิจารณาคดีดังกล่าว ความ ไม่เข้าใจ ในระบบกฎหมายมหาชนยังแผ่กระจายอยู่รอบๆตัวเรา ข้าพเจ้าไม่สามารถกล่าวได้ว่า ทุกคน ต้องมีความรู้หรือมีความเข้าใจกฎหมายมหาชน แต่อยากจะกล่าวแต่เพียงว่าผู้ที่ต้องเกี่ยวข้องกับ ระบบกฎหมายมหาชน น่าจะเป็นผู้มีความ เชี่ยวชาญ ทางด้านกฎหมายมหาชนอย่างพอเพียงเพราะระบบกฎหมายมหาชนนั้นแตกต่างจากระบบกฎหมายเอกชนอย่างสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นระบบพิจารณาคดีที่ใช้ระบบไต่สวน ตุลาการที่ จะต้อง มีความรู้ทางด้านกฎหมายมหาชนอย่างถ่องแท้และทนายความที่ไม่ควรเป็นทนายความในระบบกฎหมายเอกชนที่ รู้จัก วิธีพิจารณาแบบ กล่าวหา ที่ใช้กันมาเป็นเวลานานหลายสิบปี
สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการ pub-law.net. คงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในข่าวเล็กน้อย คือ ผมได้บรรจุ คำชี้แจง ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับบทสัมภาษณ์ผมเรื่อง องค์กรอิสระคนมีปัญหาถอดได้ คำวินิจฉัยผิดพลาดจะทำเช่นไร ไว้ใน
pub-law.net. เป็น วาระด่วน เพื่อให้ผู้ใช้บริการซึ่งได้อ่านบทสัมภาษณ์ผมได้รับทราบ ข้อท้วงติง จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญควบคู่ไปด้วย
หลายๆคนสอบถามผมว่าจะ ตอบ ข้อท้วงติงของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนบางคนก็ ยุ ให้ผมตอบ
ถึงแม้ผมจะมองเห็น ประเด็น ที่จะตอบได้อย่างดี แต่บังเอิญมี ปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชน คนหนึ่งซึ่งได้อ่านบทความ บทสัมภาษณ์และคำชี้แจงจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแล้วเห็นว่า ควรจะเป็นผู้ วิจารณ์ เรื่องดังกล่าวมากกว่าผม
ดังนั้น ผมเจ้าจึง ไม่ตอบ คำชี้แจงของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญและขอให้ผู้สนใจรอฟัง
คำวิจารณ์ จากปรมาจารย์ด้านกฎหมายมหาชนผู้นั้นจะดีกว่า
ผมรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักกฎหมายจากหลายหน่วยงานให้ความสนใจเข้าใช้บริการ pub-law.net มากขึ้น เสียงวิจารณ์ทั้งในทางบวกและในทางลบจะเป็นแรงบันดาลใจให้ทีมงานเร่งปรับปรุงและพัฒนา pub-law.net เพื่อประโยชน์แก่นักกฎหมายมหาชนไทย
การเปลี่ยนแปลงในรอบนี้คงลบเสียงวิจารณ์ว่า pub-law.net เป็น nantawat.com ไปได้บ้างเพราะเราได้บทความคุณภาพจาก ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ แห่ง
สำนักงานศาลปกครอง เรื่อง ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างศาลปกครองกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ มานำเสนอ พร้อมทั้งยังมีการแนะนำหนังสือใหม่ของ ดร.บรรเจิดฯ อีกสองเล่มคือ หลักความเสมอภาค และหลักพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไว้ใน หนังสือ-ตำรา ดังนั้น สองสัปดาห์ต่อจากนี้ pub-law.net ก็จะถูกขนานนามว่าเป็น banjerd.com แทน nantawat.com
เมื่อพูดถึง ดร.บรรเจิดฯ ก็ทำให้ผมนึกถึงศาลปกครอง ผมรู้สึกดีใจมากเนื่องจากในบรรดาองค์กรอิสระหลายๆองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่นั้น แม้จะจัดตั้งขึ้นมาหลังสุดแต่สำนักงานศาลปกครองก็ประกอบไปด้วยนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากซึ่งผู้ใช้บริการสามารถ พิสูจน์ ได้จากงานของ ดร.บรรเจิดฯ ใน pub-law.net นี้ ในวันข้างหน้าผมจะพยายามหาข้อเขียนจากนักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่เหล่านั้นมานำเสนอให้ผู้อ่านต่อไป
พบกันใหม่ในวันที่ 30 เมษายน 2544
รองศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=15
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 10:04 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|