ครั้งที่ 246

29 สิงหาคม 2553 21:44 น.

       ครั้งที่ 246
       สำหรับวันจันทร์ที่ 30 สิงหาคมถึงวันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน 2553
       
       “รัฐบาลผสมกับการปรองดองแบบขี้ขลาด”
       

       ในระบอบประชาธิปไตยที่เป็นอยู่ หลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปก็จะถึง “วาระสำคัญ” ที่ทุกคนรอคอยคำตอบคือ พรรคการเมืองพรรคใดจะเป็นพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อทราบคำตอบดังกล่าวก็คงพอมองเห็นว่า ใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปเพราะโดยธรรมเนียมปฏิบัติที่เป็นอยู่นั้น หัวหน้าพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรก็จะต้องรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
       อะไรจะเกิดขึ้นหากไม่มีพรรคการเมืองพรรคใดได้เสียงข้างมากเกินครึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร เป็นที่เข้าใจกันว่า พรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดอาจตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยหรืออาจจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากโดยไป “ชักชวน” พรรคการเมืองอื่นให้มาเข้าร่วมกับตนเองจัดตั้ง “รัฐบาลผสม” ขึ้นมาก็ได้ ซึ่งโดยทั่วไปแล้ว วิธีการแรกจะเป็นวิธีการที่ “มีความเสี่ยง” มากกว่าวิธีการหลัง เพราะรัฐบาลเสียงข้างน้อยเป็นรูปแบบของรัฐบาลที่มักจะมีอายุสั้น เมื่อไรก็ตามที่ต้องมีการใช้ “เสียง” ของสภาผู้แทนราษฎรก็หมายความว่าอายุขัยของรัฐบาลเสียงข้างน้อยก็มักจะสิ้นสุดลงไปด้วยครับ ส่วนรัฐบาลผสมนั้นเกิดขึ้นจากการที่พรรคการเมืองหนึ่งไม่มีโอกาสได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเพียงพอที่จะจัดตั้ง “รัฐบาลพรรคเดียว” ได้ โดยมารยาท พรรคการเมืองที่มีเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรก็จะไปชักชวนพรรคการเมืองอื่นให้เข้ามาร่วมกับตนเพื่อให้มีเสียงข้างมากเกินกว่าครึ่งในสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการนี้ พรรคการเมืองผู้ชักชวนก็จะเป็น “แกนนำ” ในการจัดตั้งรัฐบาล
       ในต่างประเทศ รัฐบาลผสมไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ เพราะอย่างน้อยการที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งจะไปร่วมกับพรรคการเมืองอีกพรรคหนึ่งได้ก็ต้องมีแนวความคิดและนโยบายทางการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคมที่ไม่แตกต่างกันมากนักและสามารถร่วมงานกันได้โดยไม่กระทบต่อนโยบายหลักของพรรคการเมืองที่เข้าร่วม เพราะหากพรรคการเมืองต่าง ๆ มีแนวความคิดแตกต่างกัน แม้จะสามารถรวมกันเข้าเป็นรัฐบาลได้แต่คงไม่สามารถดำเนินการใด ๆ ตามนโยบายของพรรคการเมืองของตนได้ ดังนั้น การเข้าร่วมกันของพรรคการเมืองต่าง ๆ จึงขึ้นอยู่กับ “นโยบาย” ของพรรคการเมืองเหล่านั้นที่ต้องมีความสอดคล้องใกล้เคียงกัน
       70 กว่าปีของระบอบประชาธิปไตยในประเทศไทยให้ประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบของรัฐบาลในบ้านเราครบทุกรูปแบบ เราเคยมีรัฐบาลที่เกิดจากพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวมาแล้ว เราเคยมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยมาแล้ว แต่ทั้งสองรูปแบบก็เกิดขึ้นไม่มากเมื่อเทียบกับรัฐบาลส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่เกิดขึ้นด้วยวิธีการรวบรวมพรรคการเมืองต่าง ๆ เข้าด้วยกันเพื่อจัดตั้งเป็น “รัฐบาลผสม”
       
ในประเทศไทย การเกิดขึ้นของรัฐบาลผสมดูจะเป็นเรื่องปกติเสียแล้วสำหรับ “คอการเมือง” เพราะแทบจะเรียกได้ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีพรรคการเมืองพรรคใดมีเสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ดังนั้น เมื่อผ่านวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บรรดาสื่อมวลชนจึงสนใจที่จะไปทำข่าวตามบ้านของหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดกลางกันมากกว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เพราะพรรคการเมืองขนาดกลางจะเป็น “ตัวชี้” ว่า พรรคการเมืองขนาดใหญ่พรรคใดจะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล
       รัฐบาลผสมในประเทศไทยเกิดขึ้นมาภายใต้บริบทที่แตกต่างไปจากรัฐบาลผสมในต่างประเทศดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ด้วยเหตุที่บรรดาพรรคการเมืองของไทยแทบจะทุกพรรคการเมืองต่างก็มี “นโยบาย” ที่เรียกได้ว่า “ใกล้เคียงกัน” และก็มีนโยบายที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ “สามารถเข้าร่วมกับใครก็ได้” การเกิดขึ้นของรัฐบาลผสมในประเทศไทยจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับนโยบายของพรรคการเมืองเป็นสำคัญ แต่จะไปขึ้นอยู่กับเรื่องอื่น ๆ เช่น ตำแหน่งในรัฐบาล กระทรวงที่จะรับผิดชอบ และแม้กระทั่งผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับตามมาจากการเข้าร่วมรัฐบาล หากการตกลงร่วมกันได้ข้อยุติที่ดี รัฐบาลก็เกิดขึ้นได้ ส่วนจะมีความมั่นคงเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับ “ผู้บริหารจัดการ” รัฐบาลว่าจะสามารถ “แบ่งผลประโยชน์” ต่าง ๆ ให้กับบรรดาพรรคร่วมรัฐบาลได้อย่างลงตัวหรือไม่
       รัฐบาลผสมอยู่ได้เท่าที่การแบ่งผลประโยชน์ลงตัวและไม่มีความขัดแย้งกัน โดยผู้ที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเป็นผู้รับบทบาทหนักที่สุดและเหนื่อยที่สุดและต้องเป็นนักประสานประโยชน์ที่ดีเพราะต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการไม่ว่าจะเป็นการแก่งแย่งตำแหน่ง การต่อรองต่าง ๆ ซึ่งก็จะนำมาสู่ความขัดแย้งในรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีส่วนมากก็จะต้อง “ยอม” เพราะถ้าไม่ยอมรัฐบาลก็ถึงจุดจบได้อย่างง่าย ๆ ครับ และนอกจากนี้ จุดจบของรัฐบาลอาจมาถึงได้ง่ายอีกเช่นกันดังที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งในบ้านเรา นั่นก็คือการทุจริตคอร์รัปชันของพรรคร่วมรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจทำอะไรได้เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบต่อสถานภาพของรัฐบาล ในที่สุดเมื่อเหตุการณ์สุกงอม การรัฐประหารจึงเกิดขึ้นตามมาครับ
       เมื่ออายุของรัฐบาลผสมขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่ “ไม่แน่นอน” พรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลจึงมักจะรีบเร่งที่จะ “สร้างงาน” ให้กับพรรคการเมืองของตนเอง ทำทุกอย่างโดยมีสมมติฐานว่าหากรัฐบาลต้องจบสิ้นลง พรรคการเมืองของตนก็จะยังคงมี “ปัจจัย” เพียงพอที่จะกลับมาได้อีก
       รัฐบาลผสมจึงเป็นสิ่งที่ “ไม่แน่นอน” สำหรับระบบการเมืองของไทยเพราะเท่าที่ผ่านมาและที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่เนือง ๆ การต่อรองต่าง ๆ ของพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้แสดงให้เห็นเลยว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง แต่ในทางกลับกัน ภาพที่ปรากฏออกมากลับเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนตัวหรือผลประโยชน์ของพรรคการเมืองของตนเสียมากกว่า เช่น การต่อรองกันเรื่องตำแหน่งด้วยการส่งภรรยาหรือน้องสาวไปเป็นรัฐมนตรีเนื่องจากตัวเองถูกตัดสิทธิทางการเมือง การรวบรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้เข้ามาอยู่ในกลุ่มของตัวเองเพื่อเอาจำนวนเสียงไปใช้ต่อรองให้ตัวเองได้เป็นรัฐมนตรี หรือแม้กระทั่งการที่พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อวางฐานอำนาจทางการเมืองให้กับพรรคการเมืองของตัวเอง รวมไปถึงการจัดให้มีโครงการต่าง ๆ เพื่อสะสม “ปัจจัย” เอาไว้สำหรับการเลือกตั้งครั้งต่อไป เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้แม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ แต่ก็เกิดขึ้นบ่อยครั้งภายใต้บรรยากาศของการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลของรัฐบาลผสมในที่สุด
       ที่กล่าวไปทั้งหมดข้างต้นนั้นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลผสมไม่ดีแล้วรัฐบาลพรรคเดียวจะเป็นรูปแบบของรัฐบาลที่ดีกว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลพรรคเดียวก็ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากรัฐบาลผสมเท่าไรนักในเรื่อง “ผลประโยชน์” เพราะแม้รัฐบาลจะประกอบด้วยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว แต่หัวหน้าพรรคการเมืองก็สามารถทำให้พรรคการเมืองของตนถึงจุดจบไปได้เช่นกันเพราะหากการดำเนินการต่าง ๆ ของหัวหน้าพรรคการเมืองเป็นไปในลักษณะ “ทุบโต๊ะ” ที่ลูกพรรคต้องยอมหรือไม่ก็หลับหูหลับตายอม การตรวจสอบการใช้อำนาจต่าง ๆ ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ วันหนึ่งพรรคการเมืองดังกล่าวก็ต้องถึงจุดจบไปเช่นกันดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ต้องการทำให้ระบบพรรคการเมืองแข็งแกร่ง ผลที่เกิดขึ้นทำให้มีพรรคการเมืองมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว แต่ต่อมารัฐบาลถึงจุดจบเพราะใช้อำนาจมากเกินไปและตรวจสอบไม่ได้ แต่เหตุดังกล่าวคงไม่ใช่เหตุเดียวที่ทำให้พรรคการเมืองดังกล่าวถึงจุดจบเพราะยังมีเหตุอื่น ๆ ประกอบอีกด้วย เช่น มีพรรคการเมืองบางพรรค “อิจฉา” ที่เลือกตั้งมาไม่รู้กี่หนไม่เคยได้เสียงข้างมากเสียที เลยงัดเอาข้อหา “เผด็จการทางรัฐสภา” มาใช้จนกลายเป็นปัญหาสำคัญของประเทศในเวลาต่อมา เป็นต้น
       ประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่มีรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียวมาตลอดซึ่งแตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ ในยุโรปที่มีแต่รัฐบาลผสม แต่อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศส่วนใหญ่ในยุโรปจะมีรัฐบาลผสมแต่รัฐบาลผสมของเขาก็ไม่ได้สร้างปัญหาและอุปสรรคให้กับการบริหารประเทศมากเช่นในบ้านเราเพราะเมื่อพรรคการเมืองต่าง ๆ ตัดสินใจเข้าร่วมงานกันแล้วก็จะต้องทำการบริหารประเทศให้ได้ ส่วนรัฐบาลผสมของอังกฤษในปัจจุบันนั้นเท่าที่ทราบข่าว พรรคการเมืองขนาดเล็กที่เข้าร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นเรื่องใหญ่ แต่กลับทำการต่อรองให้รัฐบาลเอานโยบายของพรรคการเมืองของตนไปเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาล ผมมีโอกาสได้อ่านบทวิเคราะห์วิจารณ์การจัดตั้งรัฐบาลผสมของอังกฤษในปัจจุบันจากหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสฉบับหนึ่ง ก็ได้พบสาระที่เกี่ยวกับ “ข้อดีของรัฐบาลผสม” ในต่างประเทศที่มีอยู่บ้าง ดังเช่นในการพิจารณากฎหมายสำคัญ ๆ ที่เสนอโดยรัฐบาลพรรคเดียวนั้น แม้กฎหมายจะสามารถผ่านการพิจารณาของสภาออกไปได้ง่ายแต่ผลก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะกว่าจะทำให้ประชาชนเข้าใจหรือยอมรับก็ต้องใช้เวลานาน แต่ถ้าหากเป็นกฎหมายที่เสนอโดยรัฐบาลผสม พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีฐานเสียงของประชาชนหลากหลายก็จะมีส่วนที่ทำให้ประชาชนที่เป็นฐานเสียงของตนเข้าใจในกฎหมายนั้นได้กว้างกว่าและมากกว่า ส่วนรูปแบบของรัฐบาลผสมเองก็มีข้อดีอยู่ในตัวเพราะสามารถนำเอาตัวแทนของกลุ่มต่าง ๆ เข้ามาอยู่ร่วมกันได้ เช่นพรรคเขียวหรือพรรคสังคมนิยม เป็นต้น เมื่อพรรคการเมืองเหล่านี้มารวมกันและทำงานร่วมกัน ความขัดแย้งในสังคมก็จะลดน้อยลงไปด้วย
       กลับมาดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในวันนี้กันบ้าง แน่นอนครับว่า ภาพของ “รัฐบาลผสม” ชุดปัจจุบันไม่ได้ให้ความมั่นใจ (อย่างน้อยก็กับผม) ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหนและจะทำอะไรให้กับประเทศไทยได้บ้าง คงไม่ต้องพูดถึง “ที่มา” และ “กระบวนการจัดตั้ง” รัฐบาลชุดนี้นะครับเพราะจะทำให้บทบรรณาธิการครั้งนี้ยาวเกินความจำเป็น แต่ผมอยากจะดูว่า รัฐบาลผสมชุดปัจจุบันจะทนอยู่ได้นานขนาดไหน การทนอยู่ได้นานขนาดไหนนั้นคงขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ประการด้วยกันคือ ปัจจัยที่เกิดจากภายในรัฐบาลและปัจจัยที่เกิดจากภายนอกรัฐบาล ปัจจัยทั้งสองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เพราะเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาหลายสิบครั้งแล้วในอดีตที่ผ่านมาครับ
       ปัจจัยภายในที่จะทำให้รัฐบาลผสมอยู่หรือไปคงได้แก่ “ความปรองดอง” ของพรรคร่วมรัฐบาลครับ ที่ผ่านมาเราคงได้เห็นภาพของการปรองดองอยู่บ้าง เช่นโครงการต่าง ๆ หลายโครงการรวมทั้งการเช่ารถเมล์ 4,000 คันด้วยราคาที่แพงกว่าซื้อของพรรคร่วมรัฐบาลที่แม้พรรคแกนนำจะ “วิตก” อยู่บ้างแต่ก็ไม่กล้า “ยกเลิก” ที่ทำได้ก็คือพยายาม “ถ่วงเวลา” เอาไว้เพื่อให้รัฐบาลอยู่ต่อไปได้ ดังนั้น ปัจจัยภายในที่สำคัญที่จะทำให้รัฐบาลอยู่หรือไปก็คงอยู่ที่การ “ยอม” ซึ่งกันและกันมากกว่าครับ เมื่อไรพรรคการเมืองหนึ่งไม่ยอมอีกพรรคการเมืองหนึ่ง รัฐบาลก็แตก แค่นั้นเองครับ
       แต่อย่างไรก็ตาม สภาพการเมืองในบ้านเราวันนี้คงไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการยอมกันระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ปัจจุบันเราพบว่าภายในพรรคการเมืองมีการแบ่งเป็นกลุ่ม เป็นก๊วน เป็นแก๊ง กันเต็มไปหมด บรรดากลุ่ม ก๊วนหรือแก๊งเหล่านี้พร้อมที่จะลุกขึ้นมามีปากมีเสียงกับพรรคของตัวเองและพรรคร่วมรัฐบาลอื่นหาก “ผลประโยชน์” ของกลุ่ม ก๊วนหรือแก๊งของตัวเองได้รับผลกระทบ คลื่นใต้น้ำภายในพรรคการเมืองจึงเกิดขึ้นและมากขึ้น ๆ ทุกทีครับ ดังนั้น ความมั่นคงของรัฐบาลผสมจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับประโยชน์ของพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะขึ้นอยู่กับประโยชน์ของกลุ่ม ก๊วน หรือแก๊งทางการเมืองที่อยู่ภายในพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมทั้งในพรรคการเมืองของตนเองด้วยครับ
       เห็นด้วยกับผมไหมครับว่า นายกรัฐมนตรี หากจะอยู่ในตำแหน่งได้นาน ๆ จะต้องมีคุณสมบัติที่ดีข้อหนึ่งคือ เป็นนักปรองดองที่ดีครับ !!!
       ส่วนปัจจัยภายนอกที่จะทำให้รัฐบาลผสมอยู่หรือไปนั้น จากการศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองของไทยพบว่า การปฏิวัติรัฐประหารเกือบทุกครั้งมักมีการหยิบยกเรื่องที่นักการเมืองทุจริตคอร์รัปชันและใช้อำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรมมาเป็น “ข้ออ้าง” ในการปฏิวัติรัฐประหาร นั่นหมายความว่า “ทหาร” กับ “การเมือง” ต้องมีข้อขัดแย้งกันด้วยนะครับ !!! แต่ถ้าหากพิจารณาดูจากสภาพการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งก็จะพบว่าเมื่อใดก็ตามที่ “ทหาร” กับ “การเมือง” ไปได้ด้วยดีด้วยกัน การปฏิวัติรัฐประหารก็ไม่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นจึงมาถึงโจทย์ที่สำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้ทหารลุกขึ้นมาปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลผสมที่ “อ่อนแอ” แล้วก็ “ไม่สามารถบริหารประเทศ” ได้อย่างดีเท่าที่ควรครับ !!!
       เป็นที่ปรากฏชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันเป็นรัฐบาลที่มีความสัมพันธ์อันดีกับทหาร เริ่มตั้งแต่การ “จัดตั้ง” การ “ให้ความสำคัญ” กับทหารในการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ การ “ยอม” อยู่ในความคุ้มครองของทหาร ฯลฯ เพราะฉะนั้น ทหารกับรัฐบาลชุดปัจจุบันจึงน่าจะ “ไปด้วยกันได้” ด้วยดี นอกจากความสัมพันธ์ดังกล่าวแล้ว เมื่อผมมองดูงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2554 จำนวน 2.07 ล้านล้านบาทก็จะพบว่า ในปีนี้ งบประมาณของกระทรวงกลาโหม(ซึ่งบรรดาสื่อต่าง ๆ กล่าวว่ารัฐบาลอัดฉีดงบประมาณจำนวนกว่าร้อยละ 8 ของยอดงบประมาณของประเทศโดยรวมให้กับทหาร) เป็นงบประมาณทางทหารที่มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาและมากกว่าในยุคของการรัฐประหารครั้งที่ผ่านมาเสียด้วยซ้ำไป ลองมาดูตัวอย่างบางกรณีกันเล่น ๆ ว่าทหารจะซื้ออะไรกันบ้างนะครับ ปืน 15,000 กระบอก ใช้งบประมาณ 1,500 ล้านบาท รถถัง 60 คันใช้งบประมาณ 7,2000 ล้านบาท เฮลิคอปเตอร์ 8 ลำ ใช้งบประมาณ 1,600 ล้านบาท รถวีโก้กันกระสุน 300 คัน ใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท รถหุ้มเกราะล้อยาง 121 คัน ใช้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท เป็นต้น
       งบประมาณจำนวนมากมายมหาศาลนี้ อย่างน้อยก็น่าจะเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่ในเมื่อรัฐบาล “ดูแล” ทหารเป็นอย่างดี ทหารก็น่าจะ “ดูแล” รัฐบาลเป็นอย่างดีด้วยเช่นกันครับ เพราะฉะนั้น ปัจจัยภายนอกซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่ “คว่ำ” รัฐบาลมาแล้วหลายรัฐบาล จึงไม่น่าที่จะเป็น “ปัจจัยเสี่ยง” ของรัฐบาลชุดนี้ตราบใดที่ “ทหาร” กับ “รัฐบาล” ยังไปด้วยกันได้อย่างดี
       จากปัจจัยทั้งสองประการข้างต้น รัฐบาลผสมชุดปัจจุบันจะอยู่หรือไปคง (น่าจะ) ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญเพียงปัจจัยเดียวคือ ปัจจัยภายใน ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองทำให้ทุกพรรคการเมืองที่เข้าร่วมรัฐบาลและทุกกลุ่ม ก๊วน หรือแก๊งที่อยู่ภายในพรรคการเมืองต้อง “รีบเร่ง” ทำทุกอย่างอย่างรวดเร็ว เมื่อเหตุการณ์เป็นดังนี้ หากมีความขัดแย้งเกิดขึ้นก็จะมีการกระทำต่าง ๆ ที่เป็น “ปฏิปักษ์” ตามมาไม่ว่าจะเป็นความไม่ร่วมมือในการบริหารประเทศ การไม่เข้าร่วมพิจารณาร่างกฎหมาย การไม่ออกเสียงหรือออกเสียงสวนทางกับรัฐบาลและก็แน่นอนที่สุดที่จะต้องมีเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันตามมาอีกด้วย วันหนึ่ง หากมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งพรรคใดถอนตัวออกจากรัฐบาลหรือหากนายกรัฐมนตรีตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎร ก็จะถึงจุดจบของรัฐบาลผสมครับ แต่ถ้าพรรคร่วมรัฐบาล “ปรองดอง” กันได้ รัฐบาลผสมชุดนี้ก็คงอยู่ครบวาระได้ไม่ยากครับ
       
แต่อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารัฐบาลผสมจะ “อยู่ได้” แต่ก็ยังมีสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ต้องคิดก็คือ ประเทศชาติและประชาชนจะ “อยู่ได้” อย่างดีด้วยหรือไม่เพราะการปรองดองภายในพรรคร่วมรัฐบาลอาจเป็นผลดีกับพรรคการเมือง แต่ในทางกลับกัน ผลกระทบก็อาจเกิดขึ้นกับประเทศชาติและประชาชนด้วยเพราะโครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนแต่พรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถ “ปรองดอง” กันได้ก็อาจถูก “เก็บ” เอาไว้ในลิ้นชัก เช่นเดียวกับข้อมูลที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของพรรคร่วมรัฐบาลก็ถูก “เก็บ” เอาไว้ในลิ้นชักเช่นกัน ปรองดองอย่างนี้เขาเรียกว่าเป็นการ “ปรองดองแบบขี้ขลาด” เพราะเป็นการปรองดองเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ปรองดองเพื่อให้ตัวเองและพรรคการเมืองของตนและพรรคการเมืองที่อยู่ร่วมกับตน “ได้” ในสิ่งที่ “ต้องการ” เป็นการปรองดองเพื่อประโยชน์ส่วนตัวมากกว่าประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน เป็นการปรองดองที่ไม่ได้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติและประชาชน ไม่กล้า “หักหาญ” ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า “ไม่ถูกต้อง” เพราะหาก “หักหาญ” เมื่อใด รัฐบาลก็จะถึงจุดจบทันทีครับ การปรองดองแบบขี้ขลาดจึงเป็นการปรองดองที่ไม่เกิดประโยชน์ใด ๆ ต่อประเทศชาติและประชาชนเลยครับ !!!
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความ 3 บทความ สองบทความแรกเป็นบทความของ ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่ใช้ในการประกอบการสัมมนาทางวิชาการของสถาบันพระปกเกล้าเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2553 เรื่อง “ปฏิรูปประเทศ : ปฏิรูประบบรัฐสภาเพื่อการพัฒนาคุณภาพประชาธิปไตย” และ “ร่างต้นแบบ” การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ส่วนบทความที่สามเป็นบทความของ คุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “ใบอนุญาตฆ่าคน (Licence to Kill)” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2553 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1495
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:04 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)