|
|
หลักกฎหมายเยอรมันเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง (ตอนที่ 1) 17 กรกฎาคม 2553 17:47 น.
|
หลักกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง แม้มิใช่เรื่องใหม่ในกฎหมายไทย แต่ในระยะ 4 5 ปีนี้มีหลายคดีบ่งชี้ว่า ความรู้ความเข้าใจของบรรดานักกฎหมายไทย ตั้งแต่ต้นน้ำคือผู้บัญญัติกฎหมาย จนถึงปลายน้ำคือผู้วินิจฉัยชี้ขาด ยังแตกต่างไปจากหลักกฎหมายของประเทศประชาธิปไตยต้นแบบและหลักกฎหมายที่ยอมรับในระดับสากล แต่ทั้งนี้ ไม่แน่ว่า ของฝรั่งมังค่าจะถูกต้องเสมอไป แต่อย่างน้อย ๆ การรู้เขา เพื่อจะเข้าใจเรา ก็น่าจะเป็นประโยชน์ และยิ่งแนวคิดว่าด้วยประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐเป็นสิ่งนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ยิ่งจำเป็นต้องศึกษาเปรียบเทียบประเทศต้นแบบต่าง ๆ ด้วย ในบทความนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอหลักกฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรคการเมืองของประเทศเยอรมนี ที่เป็นต้นแบบหลักประชาธิปไตยซึ่งพร้อมต่อสู้ป้องกันตนเอง (Militant Democracy) อันเป็นแม่แบบของบทบัญญัติหลายมาตราในรัฐธรรมนูญไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับ พ.ศ. 2550 และกฎหมายพรรคการเมืองไทยแทบทุกฉบับที่ผ่านมา
1. กฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองของเยอรมนี
ด้วยความที่รัฐธรรมนูญเยอรมันฉบับก่อน ๆ ไม่ปรากฏบทบัญญัติเกี่ยวกับพรรคการเมืองเลย ทั้ง ๆ ที่พรรคการเมืองมีบทบาทในระบบการเมืองเยอรมันอย่างมาก(1) ทั้งในด้านการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน ความมีเสถียรภาพของรัฐบาล และความอยู่รอดของระบอบประชาธิปไตย ประกอบกับการจำกัดเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมืองโดยระบบใบอนุญาตในช่วงที่เยอรมนีอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายสัมพันธมิตรหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเยอรมันฉบับปัจจุบันเห็นพ้องต้องกันในการประกันเสรีภาพในการจัดตั้งพรรคการเมือง อันเท่ากับเป็นการปฎิเสธหลักเกณฑ์เงื่อนไขการขออนุญาตต่อทางการก่อนมีการดำเนินการในฐานะพรรคการเมือง(2) ดังความปรากฏในรัฐธรรมนูญเยอรมัน (Grundgesetz Basic Law) มาตรา 21 ว่า
(1) พรรคการเมืองเข้าร่วมในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของประชาชน พรรคการเมืองย่อมถูกจัดตั้งได้โดยเสรี โครงสร้างภายในพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย และพรรคการเมืองต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของเงินทุนและการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สินต่อสาธารณะ
(2) พรรคการเมืองที่มีเป้าหมาย หรือที่สมาชิกของพรรคการเมืองดังกล่าวมีพฤติการณ์ มุ่งที่จะลิดรอนหรือล้มล้างหลักการพื้นฐานของการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตย หรือเป็นปฏิปักษ์ต่อการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ถือเป็นพรรคการเมืองที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดถึงความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญดังกล่าว
(3) รายละเอียดต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายของสหพันธ์
ด้วยเหตุนี้ พรรคการเมืองในเยอรมันจึงไม่ต้องขออนุญาต จดทะเบียน หรือจดแจ้งใด ๆ กับภาครัฐ ลำพังเพียงแค่การรวมกลุ่มของประชาชนเพื่อสร้างเจตจำนงทางการเมืองด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. มุ่งเข้าสู่อำนาจรัฐก็เพียงพอที่จะเป็นพรรคการเมืองได้แล้ว(3) อย่างไรก็ดี เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการและการจัดการทรัพย์สิน พรรคการเมืองขนาดใหญ่จึงจดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล(4) พรรคการเมืองในเยอรมันจึงอาจจำแนกคร่าว ๆ ได้เป็นสองกลุ่มได้แก่ พรรคการเมืองที่เป็นสมาคมจดทะเบียน (Registered Association) ซึ่งเป็นนิติบุคคล และพรรคการเมืองที่เป็นการรวมกลุ่ม (สมาคม) ที่ไม่จดทะเบียน (Unregistered Association) ซึ่งไม่เป็นนิติบุคคล แต่ทั้งนี้ ไม่ว่าพรรคการเมืองจะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ พรรคการเมืองต่างก็มีสิทธิฟ้องร้อง ถูกฟ้องร้อง และดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในชั้นศาลได้ตามที่กฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติรับรองไว้เป็นการเฉพาะ(5) และยังต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งเยอรมัน (BGB) ว่าด้วยสมาคมอีกด้วย(6)
ส่วนกฎหมายพรรคการเมืองเยอรมันฉบับปัจจุบันนั้น (Parteiengesetz PartG) ประกาศใช้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1967 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่อยมา โดยได้รับการปรับปรุงครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1994 และแก้ไขเพิ่มเติมครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี ค.ศ. 2004 แบ่งเนื้อหาออกเป็น 8 หมวด อันได้แก่ หมวดทั่วไปบัญญัติเกี่ยวกับสถานะและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง บทนิยามพรรคการเมือง สิทธิในการฟ้องคดีของพรรคการเมือง ชื่อพรรคการเมือง และความเสมอภาคของพรรคการเมือง หมวดที่สองว่าด้วยโครงสร้างภายในของพรรคการเมืองโดยมุ่งเน้นให้กระบวนการตัดสินใจต่าง ๆ ภายในพรรคสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง (Intra-party Democracy) หมวดสามเป็นเรื่องการเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ส. ของพรรคการเมือง หมวดสี่เกี่ยวกับการอุดหนุนพรรคการเมืองโดยรัฐ หมวดห้าว่าด้วยความรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมือง หมวดหกกำหนดกระบวนการในกรณีที่ตรวจพบความผิดปกติของบัญชีการเงินของพรรคการเมือง หมวดเจ็ดบัญญัติไว้เฉพาะในเรื่องการบังคับให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยที่ประกาศให้พรรคการเมืองมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และหมวดแปดบทส่งท้ายเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง บทเฉพาะกาล และวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ
อนึ่ง นอกเหนือจากกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว ยังมีกฎหมายเลือกตั้งแห่งสหพันธ์ที่กำหนดเกี่ยวกับการเสนอชื่อผู้สมัคร ส.ส. ในนามของพรรคการเมือง(7) และมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์อีกนับสิบฉบับที่วางหลักกฎหมายเกี่ยวกับพรรคการเมืองไว้ อาทิ สิทธิขั้นพื้นฐานทางรัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ความเสมอภาคทางโอกาสของพรรคการเมือง การเงินของพรรคการเมือง การอุดหนุนพรรคการเมือง ฯลฯ(8)
2. บทนิยาม เอกสิทธิ์ และการสิ้นสุดสถานะ พรรคการเมือง
ในบรรดาการรวมกลุ่มทางการเมืองทั้งหลาย ทั้งที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นสมาคมและที่ไม่เป็นสมาคม ไม่ว่าจะเรียกชื่อกลุ่มของตนว่า พรรค (Partei) หรือไม่ก็ตาม เฉพาะแต่การรวมกลุ่มของบุคคลที่มีลักษณะต้องด้วยบทนิยามคำว่า พรรคการเมือง ที่กำหนดไว้ในกฎหมายพรรคการเมืองเท่านั้นจึงจะมีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญในแง่ที่ว่าจะถูกยุบเลิกได้ก็แต่โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เท่านั้น(9) องค์กรอื่นไม่อาจสั่งยุบพรรคการเมืองได้(10) ดังนั้น ในชั้นนี้ จึงต้องศึกษาบทนิยามพรรคการเมืองดังกล่าวเสียก่อน
2.1 บทนิยามพรรคการเมือง
ประโยคแรกของมาตรา 2 (1) แห่งกฎหมายพรรคการเมืองบัญญัติไว้ว่า พรรคการเมือง คือ การรวมกลุ่มของพลเมืองอย่างถาวรหรือเป็นระยะเวลานาน ๆ เพื่อเข้าไปมีอิทธิพลต่อการสร้างเจตจำนงทางการเมือง ไม่ว่าจะดำเนินการในระดับสหพันธ์หรือในระดับมลรัฐ และประสงค์ที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์ หรือสภาแห่งมลรัฐ หากว่าเมื่อพิจารณาถึงภาพรวมตามสภาพความเป็นจริงทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่จำนวนสมาชิก และในแง่การปรากฏตัวต่อสาธารณชนแล้วชี้ชัดว่าการรวมกลุ่มนี้มีความตั้งใจจริงที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้(11) ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เคยวินิจฉัยรับรองแล้วว่า บทนิยามดังกล่าวสอดคล้องกับความในมาตรา 21 (1) ของรัฐธรรมนูญที่รับรองสถานะพรรคการเมือง(12)
อนึ่ง จากบทนิยามดังกล่าว อาจจำแนกองค์ประกอบของความเป็นพรรคการเมืองได้ 3 ข้อดังนี้(13)
(1) พรรคการเมืองเป็นการรวมกลุ่มของพลเมือง ซึ่งจำกัดไว้แต่เฉพาะบุคคลธรรมดาเท่านั้นที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้(14)
(2) พรรคการเมืองเป็นการรวมกลุ่มที่มีลักษณะถาวรหรือเป็นระยะเวลานาน ๆ โดยพิจารณาจากการจัดองค์กร กล่าวคือ ต้องมีคณะกรรมการบริหารพรรค มีข้อบังคับพรรค มีสาขาพรรค โดยในแต่ละสาขาก็ต้องมีกรรมการบริหารสาขา เพื่อประกันการดำเนินงานอย่างมีแบบแผนและเป็นรากฐานในการชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกพรรค(15)
(3) พรรคการเมืองต้องมีความตั้งใจจริงในอันที่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง อันได้แก่ การมีส่วนในการสร้างเจตจำนงทางการเมืองของปวงชนอย่างต่อเนื่อง และการเข้าสู่อำนาจรัฐด้วยการส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์หรือสภามลรัฐ
2.2 เอกสิทธิ์ของพรรคการเมือง
การรวมกลุ่มทางการเมืองใดเข้าด้วยองค์ประกอบทั้งสามประการตามบทนิยามพรรคการเมืองดังกล่าวแล้ว ย่อมถือเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง และได้รับเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และด้วยความที่รัฐธรรมนูญให้เอกสิทธิ์แก่พรรคการเมืองในแง่ที่ว่าจะถูกยุบเลิกได้ก็แต่โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เท่านั้น ศาลอื่นจึงไม่อาจประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองและสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นได้(16) และตราบใดที่ยังมิได้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองใด รัฐจะแทรกแซงหรือเลือกปฏิบัติแก่การกระทำหรือการใช้สิทธิประโยชน์โดยชอบของพรรคการเมือง กรรมการ เจ้าหน้าที่ และสมาชิกของพรรคโดยเฉพาะที่กระทำในนามของพรรคการเมืองนั้นมิได้(17) เช่น สถานีวิทยุและโทรทัศน์ของรัฐจะเลือกปฏิบัติต่อพรรคการเมืองที่ผู้บริหารของสถานีกังวลว่าอาจเป็นภยันตรายมิได้(18) อย่างไรก็ตาม ลำพังแค่การระบุไว้ในรายงานของกระทรวงมหาดไทยแห่งสหพันธ์ว่าพรรค NPD อาจเป็นภัยคุกคามต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเพียงเท่านี้ ยังไม่ถือเป็นการดำเนินการที่ละเมิดเอกสิทธิ์ของพรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญ เพราะรายงานดังกล่าวมิได้มีผลทางกฎหมาย (No legal rechtlich effect) ต่อพรรคการเมืองดังกล่าว แต่ประการใด(19)
นอกจากนี้ ในคดีหนึ่งเกี่ยวกับความผิดอาญาในฐานองค์กรที่มิชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยว่า เป้าหมายและกิจกรรมของพรรคการเมืองหนึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ และตัดสินลงโทษผู้กระทำผิด แต่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์กลับวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลใช้บังคับแก่คดีขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 21 (2) ที่รับรองเอกสิทธิ์ของพรรคการเมือง ถึงแม้ในกฎหมายดังกล่าวจะมีบทบัญญัติระบุว่า หากองค์กรที่ศาลได้วินิจฉัยไปนั้นคือ พรรคการเมือง จะดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดได้ ก็ต่อเมื่อหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ได้ประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองนั้นแล้วก็ตาม ก็ย่อมถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกัน เนื่องจากศาลชั้นต้นได้ตัดสินความผิดและพิพากษาให้ลงโทษไปแล้วก่อนวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย แม้ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญประกาศว่าพรรคการเมืองนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม แต่กรณีเช่นนั้นก็เท่ากับว่า มีการใช้บังคับกฎหมายย้อนหลังเพื่อเอาผิดในทางอาญา (ex post facto criminal law) นั่นเอง(20)
ในทางตรงกันข้าม หากเป็นความผิดอาญาในฐานที่มีองค์ประกอบความผิดครบถ้วนในตัวเอง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การประกาศว่าพรรคการเมืองมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมิใช่เงื่อนไขหรือองค์ประกอบความผิด เช่น ความผิดฐานกบฏ (Treason) เช่นนี้ อาจมีการดำเนินคดีและลงโทษผู้กระทำความผิดได้ แม้ว่าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นไปเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของพรรคการเมืองที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกก็ตาม และไม่ต้องคำนึงว่าได้มีการดำเนินคดีเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์สั่งยุบพรรคการเมืองนั้นหรือไม่(21) เช่นเดียวกันกับการพิจารณาทางปกครองบางอย่างเช่น การรับบุคคลเข้าเป็นข้ารัฐการ อาจนำสถานะความเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหัวรุนแรงมาประกอบการพิจารณารับเข้าทำงานได้ แม้ศาลยังมิได้ประกาศให้พรรคการเมืองนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็ตาม(22)
2.3 เหตุแห่งการสิ้นสุดสถานะพรรคการเมือง
เมื่อใดก็ตามที่พรรคการเมืองขาดคุณลักษณะประการหนึ่งประการใดตามข้อ 2.1 และอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์ต่อไปนี้ การรวมกลุ่มดังกล่าวย่อมสูญสิ้นสถานะพรรคการเมืองไป และไม่อยู่ภายใต้กฎหมายพรรคการเมือง รวมทั้งไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะสั่งยุบการรวมกลุ่ม (พรรค) ดังกล่าวอีกต่อไป
2.3.1 ไม่ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธ์และของมลรัฐเป็นเวลา 6 ปีติดต่อกัน
พรรคการเมืองต้องเสนอบัญชีผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือส่งคนลงสมัครในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสหพันธ์ (Bundestag) หรือของมลรัฐใดมลรัฐหนึ่ง (Landtag) ภายใน 6 ปี(23) มิเช่นนั้น ย่อมสูญสิ้นสถานะ พรรคการเมือง โดยศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ได้ยืนยันแล้วว่า หลักเกณฑ์ข้อนี้สอดคล้องและยังสามารถอนุมานได้จากความในมาตรา 21 (1) ของรัฐธรรมนูญ(24) อย่างไรก็ดี ผลสำเร็จของการเลือกตั้งและการมีที่นั่งในสภานั้นมิใช่ตัวชี้วัดสถานะความเป็นพรรคการเมืองแต่อย่างใด(25) แม้พรรคการเมืองนั้นจะไม่มีผู้สมัครชนะการเลือกตั้งเลยแม้แต่คนเดียว แต่ลำพังเพียงการส่งคนลงสมัครก็ถือว่าได้แสดงออกซึ่งความตั้งใจจริงในการเข้าสู่องค์กรการเมืองที่เป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยของรัฐแล้ว
อนึ่ง สำหรับพรรคการเมืองที่มิได้ส่งสมาชิกลงสมัคร ส.ส. ในระดับสหพันธ์และระดับมลรัฐตลอด 6 ปี แต่ส่งสมาชิกลงแข่งขันในการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือสมาชิกรัฐสภายุโรปเท่านั้น ก็ย่อมสิ้นสถานะพรรคการเมืองเช่นกัน ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เคยวินิจฉัยไว้ว่า กลุ่มการเมืองที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งคนเข้าสมัครรับเลือกตั้งเฉพาะในการเลือกตั้งองค์กรปกครองตนเองในระดับจังหวัดเท่านั้น ไม่ถือว่าเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง โดยไม่ต้องพิจารณาถึงสภาพของกลุ่มนั้น ๆ ว่ามีการจัดองค์กรอย่างไรหรือไม่ หรือมีบทบาทมากน้อยเพียงใด(26) เนื่องจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเพียงองค์กรที่ใช้อำนาจบริหาร การลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นจึงมิใช่การมุ่งเข้าสู่องค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในรัฐ และโดยตรรกะเดียวกัน กลุ่มการเมืองที่มุ่งส่งคนลงสมัครในการเลือกตั้งระดับเหนือรัฐ (Supra-national Level) เช่น การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรป (European Parliament) เท่านั้น ก็ไม่จัดว่าเป็นพรรคการเมืองตามบทนิยามกฎหมายพรรคการเมืองเยอรมัน(27) ตัวอย่างเช่น พรรคแรงงานเยอรมันเสรี หรือ FAP (The Free German Workers Party Freiheitliche Deutsche Arbeiterpartei) แม้ได้มีการทำกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างเช่น ออกวารสาร หาสมาชิกเข้าพรรค และส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปและสมาชิกสภาท้องถิ่นในหลายมลรัฐ แต่เมื่อมิได้เข้าสู่การเลือกตั้ง ส.ส. ระดับสหพันธ์และระดับมลรัฐนับแต่ปี ค.ศ. 1980 ก็ย่อมสูญสิ้นสถานะพรรคการเมืองไป(28)
2.3.2 กรรมการบริหารหรือสมาชิกพรรคการเมืองส่วนใหญ่เป็นคนต่างด้าว
กฎหมายพรรคการเมืองเยอรมันมิได้ห้ามคนต่างด้าวหรือชาวต่างชาติเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือแม้แต่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมือง อีกทั้งคนต่างด้าวยังอาจบริจาคให้แก่พรรคการเมืองได้ไม่เกิน 1,000 ยูโรด้วย อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองใดที่มีกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือสมาชิกพรรคเกินกว่ากึ่งหนึ่งเป็นคนต่างด้าว การรวมกลุ่มทางการเมือง-พรรคการเมืองดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็น พรรคการเมือง ตามบทนิยาม(29)
2.3.3 ไม่มีที่ตั้งสำนักงานของพรรคการเมืองอยู่ในเขตประเทศเยอรมนี
อันที่จริง กฎหมายพรรคการเมืองมาตรา 2 วรรคสาม อนุมาตราสองบัญญัติว่า การรวมกลุ่มทางการเมืองย่อมไม่ถือว่าเป็นพรรคการเมือง หาก ...ที่ตั้งสำนักงานที่จดทะเบียนหรือสำนักงานบริหารของพรรคการเมืองดังกล่าวอยู่ภายนอกขอบเขตดินแดนของการบังคับใช้กฎหมายนี้ หมายความว่า หากพรรคการเมืองไม่มีสาขาใด ๆ ในเขตประเทศเยอรมนี อันทำให้ไม่อาจบังคับใช้กฎหมายพรรคการเมืองแก่พรรคการเมืองดังกล่าวได้เลย การรวมกลุ่มทางการเมือง-พรรคการเมืองดังกล่าวย่อมไม่ถือเป็น พรรคการเมือง ตามบทนิยาม(30)
2.4 ขั้นตอนการพิจารณาสถานะพรรคการเมือง
กฎหมายพรรคการเมืองมิได้กำหนดขั้นตอนการพิจารณาว่า การรวมกลุ่มทางการเมืองใดมีสถานะเป็น พรรคการเมือง หรือไม่ หรือพรรคการเมืองใดสิ้นสุดสถานะ พรรคการเมือง แล้วหรือไม่ ไว้เป็นการเฉพาะ จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้รักษาการตามกฎหมายเฉพาะเรื่องที่จะนำบทนิยามตามมาตรา 2 (1) และเหตุสิ้นสุดสถานะตามมาตรา 2 (2) และ (3) ของกฎหมายพรรคการเมืองมาใช้พิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการรวมกลุ่มทางการเมืองหรือพรรคการเมืองนั้น ๆ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวนั้นเป็นรายกรณี ๆ ไป เป็นต้นว่า
- ในการพิจารณาจัดสรรเงินอุดหนุนพรรคการเมือง ประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์จะพิจารณาในเบื้องต้นว่า กลุ่มการเมืองหนึ่ง ๆ เป็นพรรคการเมืองที่มีสิทธิรับเงินอุดหนุนหรือไม่(31)
- ในการเลือกตั้งระดับสหพันธ์นั้น หากพรรคการเมืองใดมี ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์หรือของมลรัฐใดมลรัฐหนึ่งไม่ถึง 5 คน พรรคการเมืองนั้นจะส่งผู้สมัครในนาม พรรคการเมือง ได้ ก็ต่อเมื่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหพันธ์ (Federal Electoral Committee - Bundeswahlausschuß) ตรวจสอบแล้วเห็นว่ากลุ่มการเมืองดังกล่าวยังคงมีสถานะเป็น พรรคการเมือง(32)
- ในการพิจารณาคำร้องของรัฐบาลแห่งสหพันธ์ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ขอให้ประกาศว่า พรรค FAP ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและขอให้สั่งยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เพราะเหตุว่า ขณะที่รัฐบาลแห่งสหพันธ์ยื่นคำร้องนั้น พรรค FAP มิได้มีสถานะเป็น พรรคการเมือง อีกต่อไปแล้ว(33)
2.5 ผลของการสิ้นสุดสถานะ พรรคการเมือง
การรวมกลุ่มทางการเมืองใดมิได้มีสถานะเป็น พรรคการเมือง หรือพรรคการเมืองใดสิ้นสุดสถานะ พรรคการเมือง ตามกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว ย่อมไม่มีสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ย่อมไม่มีเอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญที่จะถูกยุบเลิกได้ก็แต่โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เท่านั้น หากแต่กรณีดังกล่าวย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 9 (2) ที่เกี่ยวกับเสรีภาพในการรวมกลุ่ม ดังที่บัญญัติว่า การรวมกลุ่มหรือสมาคมใดมีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมขัดต่อกฎหมายอาญาหรือมุ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการทางรัฐธรรมนูญหรือหลักการที่สากลยอมรับ ถือเป็นการรวมกลุ่มหรือสมาคมที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ก็เคยวินิจฉัยแล้วไว้ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของมลรัฐมีอำนาจประกาศว่า สมาคมใด ๆ ที่มิใช่พรรคการเมืองเป็นสมาคมที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญตามมาตรา 9 (2) ของรัฐธรรมนูญได้ เพราะมาตราดังกล่าวมิได้บัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวแต่เพียงองค์กรเดียว ดังเช่นกรณีพรรคการเมืองตามมาตรา 21 (2) ของรัฐธรรมนูญ(34) ดังนั้น หากกลุ่มทางการเมืองใดที่มีสถานะเป็น สมาคม ตามกฎหมายว่าด้วยสมาคม (Vereinsgesetz - Act on Associations) มีพฤติการณ์ในลักษณะต้องห้ามข้างต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวง มหาดไทยแห่งสหพันธ์หรือของมลรัฐอันเป็นที่ตั้งของสมาคม แล้วแต่กรณี ย่อมมีอำนาจสั่งยุบสมาคมดังกล่าวได้(35)
3. เหตุแห่งการยุบพรรคการเมือง
จุดอ่อนประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญไวมาร์ (Weimar Constitution) คือ มิได้กำหนดเกี่ยวกับการยุบเลิกพรรคการเมืองไว้(36) ส่งผลให้รัฐจะยุบเลิกพรรคการเมืองได้ก็ต่อเมื่อพรรคการเมืองนั้นกระทำผิดกฎหมายอาญาโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจรัฐเท่านั้น อันเป็นช่องทางให้ระบอบเผด็จการซึ่งแฝงตัวในคราบพรรคการเมืองใช้กระบวนการตามรัฐธรรมนูญคือการเลือกตั้งเป็นทางผ่านเข้าสู่กลไกอำนาจรัฐ(37) จากนั้น จึงใช้อำนาจรัฐทำลายระบอบประชาธิปไตยโดยยุบเลิกพรรคการเมืองอื่น ๆ และลิดรอนสิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน จนสถาปนาระบอบเผด็จการได้สำเร็จ เฉกเช่นที่พรรคนาซี (NSDAP Nazi Party) ภายใต้การนำของอด๊อฟ ฮิตเล่อร์ (Adolf Hitler) เคยทำสำเร็จมาแล้วในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง(38) ดังนั้น รัฐธรรมนูญเยอรมันฉบับปัจจุบันจึงกำหนดเหตุแห่งการยุบพรรคการเมืองไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 21 (2)(39) โดยมีรายละเอียดต่อไปนี้
3.1 เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย
หลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย (Free Democratic Basic Order) ตามแนวบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์นั้น ได้แก่ หลักการเคารพสิทธิมนุษยชนตามที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิในชีวิตและการพัฒนาตนเองอย่างเสรีของปัจเจกชน หลักอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน หลักการแบ่งแยกอำนาจ หลักความรับผิดชอบของรัฐบาล หลักความชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายปกครอง หลักความเป็นอิสระของตุลาการ และหลักระบบหลายพรรคการเมือง (Multi-party System) ซึ่งพรรคการเมืองทั้งหลายต่างมีโอกาสในการแข่งขันอย่างเท่าเทียม รวมทั้งสิทธิที่จะจัดตั้งและแสดงออกซึ่งการคัดค้านตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ(40) นี่คือ เนื้อหาที่เป็นกฎเกณฑ์ (Normative order) ของรัฐประชาธิปไตย (Demokratie Democracy) อันเป็น ระบบกฎหมายที่ปฏิเสธรัฐที่ใช้ความรุนแรงหรือที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ ยึดถือหลักนิติรัฐบนพื้นฐานของหลักการกำหนดชะตาอนาคตของประชาชนด้วยตนเอง (The Principle of Self-determination of the people) ดำเนินการตามหลักเสียงข้างมากอย่างเป็นประชาธิปไตย และคุ้มครองเสรีภาพและความเสมอภาค(41) การปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยจึงมิได้หมายถึงแต่เฉพาะ กระบวนการ (Process) หากแต่มี เนื้อหาสาระ (Substances) ที่เป็นองค์ประกอบพื้นฐานอยู่ด้วย(42) และยิ่งไปกว่านั้น โครงสร้างของรัฐและระบบกฎหมายที่ตั้งอยู่บนหลักการพื้นฐานเหล่านี้ไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ(43) ดังนั้น ความพยายามใด ๆ ที่จะล้มล้างการปกครองระบอบเสรีประชาธิปไตยลงทั้งหมด หรือทำลายหลักการพื้นฐานดังกล่าวแต่เพียงข้อหนึ่งข้อใดย่อมถือเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์และอาจถือเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองนั้นมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคได้(44)
อนึ่ง แม้รัฐธรรมนูญ มาตรา 21 (1) จะกำหนดให้โครงสร้างภายในของพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย แต่ลำพังเพียงการฝ่าฝืนมิได้จัดโครงสร้างภายในให้เป็นประชาธิปไตยแต่เพียงอย่างเดียวย่อมไม่เพียงพอที่จะถือเป็นเหตุให้ยุบพรรคการเมืองนั้นได้(45)
3.2 เป็นภัยคุกคามการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
หลักสหพันธรัฐ (Bundesstaat Federation) และหลักสาธารณรัฐ (Republik Republic) เป็นหลักการพื้นฐานที่ไม่อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ แม้โดยการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็มิอาจกระทำได้ การจะยกเลิกหลักการดังกล่าวกระทำได้เพียงวิธีการเดียวคือ ยกเลิกหรือล้มล้างรัฐธรรมนูญเดิมทั้งฉบับและจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่(46) หลักสหพันธรัฐนั้น เบื้องต้นคือ มีรูปของรัฐเป็นแบบรัฐรวม โดยต้องมีโครงสร้างของรัฐสองระดับได้แก่ สหพันธ์และมลรัฐ และมลรัฐต่าง ๆ ต้องมีส่วนร่วมในกระบวนการออกกฎหมายของสหพันธ์ผ่านสภาที่ปรึกษาแห่งสหพันธ์(47) (Bundesrat) ส่วนหลักสาธารณรัฐนั้น คือ มีประมุขแห่งรัฐเป็นประธานาธิบดีที่ดำรงตำแหน่งตามวาระ มิได้สืบทอดตำแหน่งโดยสายโลหิตหรือตามความประสงค์ของผู้ดำรงตำแหน่ง ณ ขณะนั้น(48) และต้องเป็นระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน (Representative Democracy) มิใช่ระบอบประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy)(49)
อนึ่ง ภัยคุกคามการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีนั้น อาจจะมาจากปัจจัยภายในประเทศเช่น พรรคการเมืองที่มีเป้าหมายในการแบ่งแยกดินแดนหรือสถาปนาระบอบกษัตริย์ หรือจากภายนอกประเทศเช่น พรรคการเมืองที่มุ่งสนับสนุนให้ต่างชาติเข้ายึดครองประเทศ โดยในเรื่องนี้ นักกฎหมายบางท่านเห็นว่า หลักการข้อนี้มุ่งที่จะคุ้มครองบูรณภาพแห่งดินแดน (Territorial Integrity) หรืออาณาเขตของประเทศเป็นหลัก เนื่องจากหลักการปลีกย่อยของหลักสหพันธรัฐก็ดี หรือหลักสาธารณรัฐก็ดี ล้วนแล้วแต่อยู่ภายใต้ความหมายของคำว่า หลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ตามข้อ 3.1 อยู่แล้ว(50)
3.3 การประเมินเหตุยุบพรรคการเมืองตามข้อ 3.1 และ 3.2
ในการวินิจฉัยว่าพรรคการเมืองใดสมควรถูกประกาศให้มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบไปหรือไม่นั้น ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์จะพิเคราะห์และประเมินเหตุยุบพรรคตามข้อ 3.1 และ 3.2 จากอุดมการณ์และเป้าหมายของพรรค และที่สำคัญ พฤติกรรมทั้งปวงของบรรดาสมาชิกทั้งหลายของพรรคการเมืองนั้น ๆ ทั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงในคดีพรรคนาซีใหม่หรือ SRP และคดีพรรคคอมมิวนิสต์ หรือ KPD ซึ่งศาลพิพากษาว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคไปแล้วนั้น(51) ทำให้พอที่จะประมวลหลักเกณฑ์การประเมินเหตุยุบพรรคได้ดังนี้
3.3.1 อุดมการณ์ของพรรคการเมืองขัดต่อหลักการพื้นฐาน
แม้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เคยวินิจฉัยในคดียุบพรรค SRP ว่า หลักเสรีประชาธิปไตยและหลักสหพันธ์สาธารณรัฐตามข้อ 3.1 และ 3.2 คือ เงื่อนไขเบื้องต้น (Prerequisite) ในการที่พรรคการเมืองหนึ่ง ๆ จะเข้าร่วมในกระบวนการสร้างเจตจำนงร่วมกันของปวงชน (52) แต่ลำพังเพียงแค่พรรคการเมืองใดยึดถืออุดมการณ์ที่แตกต่างจากหลักการพื้นฐานดังกล่าวก็หาเพียงพอให้ถือเป็นเหตุยุบพรรคการเมืองนั้นไม่(53) ดังเช่นที่ศาลรัฐธรรมนูญอธิบายไว้ในคดียุบพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศเยอรมนี (The Communist Party of Germany Kommunistische Partei Deutschlands) หรือพรรค KPD ซึ่งตัดสินใน 5 ปีต่อมาว่า แม้พรรคการเมืองใดจะมีความเชื่อในทฤษฎีมาร์กซิสต์และเลนินนิสต์(54) (Marxism and Leninism) ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ปฏิเสธระบอบการปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่มิได้หมายความว่าพรรคการเมืองนั้นเป็นพรรคที่มิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ตราบจนกระทั่งพรรคการเมืองดังกล่าวลงมือใช้กำลังเข้าต่อสู้ หรือกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ จึงจะถือว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ(55)
ตัวอย่างเช่น พรรค SPD อันพรรคการเมืองที่เก่าแก่ที่สุดในสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหพันธ์และเป็นพรรคฝ่ายค้านที่ใหญ่ที่สุด ณ ปัจจุบัน ณ ช่วงเวลาเริ่มต้นก่อตั้งพรรคขึ้นมานั้นก็ได้ยึดถืออุดมการณ์มาร์กซิสต์(56) เช่นเดียวกับพรรคคอมมิวนิสต์เยอรมัน (German Communist Party Deutsche Kommunistische Partei [DKP])(57) และพรรคแห่งสังคมประชาธิปไตย (Party of Democratic Socialism Partei des Demokratischen Sozialismus [PDS]) ที่กลายมาเป็นพรรคฝ่ายซ้าย (The Left Party Linkspartei) ในปัจจุบัน พรรคการเมืองเหล่านี้มิได้ถูกยุบไปเพราะเหตุที่เคยยึดถืออุดมการณ์มาร์กซิสต์แต่อย่างใด ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญเคยสั่งยุบพรรค KPD ซึ่งยึดถืออุดมการณ์เดียวกันไปก่อนหน้านั้นแล้วก็ตาม เนื่องจากได้มีการปรับเปลี่ยนเป้าหมายและวิธีการของพรรคให้สอดคล้องใกล้เคียงกับหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยมากขึ้น อีกทั้งสมาชิกพรรคก็มิได้มีพฤติกรรมในทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการดังกล่าวแต่อย่างใด(58)
3.3.2 เป้าหมายของพรรคการเมืองขัดต่อหลักการพื้นฐาน
การที่พรรคการเมืองมีเป้าหมายจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐโดยการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบางมาตราหรือแม้แต่หลายสิบมาตราเพียงเท่านี้ จะถือว่าพรรคการเมืองดังกล่าวมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญมิได้(59) มิเช่นนั้นแล้ว มาตรการยุบพรรคการเมืองจะกลายเป็นเครื่องมือในการปิดบังครอบงำความเห็นแย้งที่มีเหตุผลและชอบธรรม (Legitimate dissent) ไป(60) หากแต่เฉพาะพรรคการเมืองที่มีเป้าหมายจะเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของรัฐถึงระดับหลักการพื้นฐานตามข้อ 3.1 และ 3.2 เท่านั้นที่อาจถือว่ามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ(61) โดยไม่ต้องคำนึงว่า เป้าหมายดังกล่าวเป็นเป้าหมายปัจจุบัน ระยะสั้น หรือระยะยาว(62) หรือแม้แต่เป้าหมายดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ก็ไม่สำคัญ(63)
เป้าหมายที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เคยวินิจฉัยว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตยนั้น ได้แก่ การสร้างระบอบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ (Dictatorship of the Proletariat) ซึ่งจำเป็นต้องล้มล้างระบอบเสรีประชาธิปไตยลงเสียก่อน(64) การสถาปนาระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว(65) อันจะเป็นการทำลายระบบหลายพรรคการเมือง หัวใจของระบอบเสรีประชาธิปไตย(66) และนำไปสู่ระบอบเผด็จการพรรคคอมมิวนิสต์(67) หรือระบอบเผด็จการระบอบฟาสซิสต์/นาซิสต์ (Fascism/Nazism) ในท้ายที่สุด(68) นโยบายกดขี่-ประหัตประหารชาวยิว (Anti-Semitism) ซึ่งเท่ากับเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง(69) ทั้งนี้ ไม่ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเปิดเผยปรากฏชัดในเอกสารทางการของพรรค หรือเป็นเป้าหมายลับลวงพรางที่จำเป็นต้องพิเคราะห์พฤติการณ์ต่าง ๆ ของสมาชิกพรรคโดยละเอียดอีกชั้นหนึ่ง(70)
3.3.3 ปัจจัยชี้ขาด: พฤติกรรมของสมาชิกพรรคการเมือง
เบื้องต้น การจะพิสูจน์ได้ว่า พรรคการเมืองใดยึดถืออุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย หรือมีเป้าหมายที่จะล้มล้างหรือคุกคามหลักการพื้นฐานดังกล่าวตลอดจนการดำรงอยู่ของสหพันธ์สาธารณรัฐหรือไม่ จำเป็นต้องพิจารณาจากพยานหลักฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พฤติการณ์ของสมาชิกพรรคการเมือง และแม้ว่าพรรคการเมืองจะยึดถืออุดมการณ์หรือมีเป้าหมายดังกล่าวจริง แต่หากปราศจากการกระทำของบรรดาสมาชิกทั้งหลายของพรรคการเมืองเพื่อให้บรรลุซึ่งอุดมการณ์หรือเป้าหมายนั้น ๆ เสียแล้ว ก็ย่อมไม่อาจวินิจฉัยได้ว่า พรรคการเมืองดังกล่าวมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้(71)
(ก) การจัดโครงสร้างและการบริหารงานภายในพรรคการเมือง
โดยหลัก การที่พรรคการเมืองจัดโครงสร้างและมีระบบการบริหารงานภายในพรรคไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงเท่านั้นยังไม่เพียงพอที่จะให้ถือเป็นเหตุยุบพรรคการเมืองดังกล่าวได้(72) อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาประกอบกับอุดมการณ์และเป้าหมายของพรรคการเมืองนั้น ๆ แล้ว โครงสร้างภายในที่มิได้เปิดให้สมาชิกพรรคมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ หรือการตัดสินใจขึ้นอยู่กับตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใดในพรรค ก็สะท้อนลักษณะอำนาจนิยมที่ปกคลุมพรรคการเมือง อันนำไปสู่ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่า พรรคการเมืองดังกล่าวมุ่งที่จะนำโครงสร้างแบบอำนาจนิยมนี้ไปใช้ในโครงสร้างการบริหารรัฐด้วย(73) ตัวอย่างเช่น พรรค SRP ทั้งตามข้อบังคับพรรคและในทางปฏิบัติ การตัดสินใจต่าง ๆ เป็นแบบบนลงล่าง (Top-down) และตั้งอยู่บนหลักการเชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างถึงที่สุด (Absolute Obedience) สมาชิกไม่มีสิทธิคัดค้านหรือปฏิเสธ คล้าย ๆ กับเป็นสายการบังคับบัญชาของทหาร อีกทั้งยังการจัดตั้งกองกำลังของพรรคในทำนองเดียวกับ SA หรือ SS ของพรรคนาซี ฯลฯ(74) เช่นนี้ ย่อมเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญประกอบการพิจารณาสั่งยุบพรรคการเมือง
(ข) บุคคลที่เป็นสมาชิกและกรรมการบริหารพรรคการเมือง
บุคคลที่เป็นสมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแกนนำพรรค ไม่ว่าจะเป็นแกนนำหรือสมาชิกอย่างเปิดเผยเป็นทางการ หรือเป็นแบบลับ ๆ(75) ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญนำมาใช้ประเมินเหตุยุบพรรค ตัวอย่างเช่น แกนนำพรรคล้วนแล้วแต่เป็นอดีตสมาชิกกองกำลัง SS และ SA ข้อบังคับพรรคระบุว่า บุคคลที่จะเป็นสมาชิกพรรค SRP ได้นั้นต้องสาบานตนว่าจะต่อสู้เพื่อพรรคและสงวนไว้แต่เฉพาะผู้ที่จงรักภักดีต่อแนวชาติสังคมนิยมของฮิตเล่อร์เท่านั้น หรือความพยายามติดต่อชักชวนอดีตสมาชิกพรรคนาซีให้เข้าร่วมงานกับพรรค ฯลฯ(76)
(ค) กิจกรรมของพรรคและพฤติการณ์อื่น ๆ ของสมาชิกพรรค
เครื่องแบบ สัญลักษณ์ คำพูด คำปราศรัย หรือข้อความที่สื่อสารผ่านหนังสือเชิญชวน หนังสือพิมพ์ของพรรค แถลงการณ์ จดหมายข่าว โปสเตอร์ ใบปลิว การปาฐกถา การอภิปรายในสภา การประชุม งานหาทุน งานแถลงข่าว ฯลฯ กิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดโดยพรรคการเมืองทั้งที่เปิดเผยต่อสาธารณะและที่สงวนไว้ภายในพรรคล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์นำไปใช้เป็นพยานหลักฐานประกอบการประเมินเหตุยุบพรรค ตัวอย่างเช่น การเรียกอาชญากรต่อมวลมนุษยชาติ (Criminals Against Humanities) ในจดหมายข่าวว่าสหาย (Comrades) และเขียนสนับสนุนการต่อสู้คดีของอาชญากรสงครามในศาลอาชญากรสงคราม ณ เมือง Nuremburg ใช้สโลแกน เพื่อความยิ่งใหญ่ของจักรวรรดิเยอรมัน (Supremacy of German Reich Empire) เขียนข้อความที่มีเนื้อหาเหยียดหยามรัฐบาล เรียกร้องให้ประชาชนไม่ปฎิบัติตามกฎหมาย ให้แข็งข้อต่อสถาบันของรัฐ เหยียดหยามชาวยิวและชาวต่างชาติ ฯลฯ (77) การโฆษณาชวนเชื่อถึงความเท่าเทียมของชนชั้นกรรมาชีพ ยั่วยุให้โกรธแค้นชนชั้นนายทุน เหยียดหยามรัฐบาลและผู้นำรัฐบาล กล่าวหารัฐบาลว่าปกครองแบบฮิตเล่อร์ หรือฟาสซิสต์ (Fascism) รัฐบาลกำลังทรยศต่อชาติ (Treason) วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ว่าเป็นองค์กรที่ตัดสินตามอำเภอใจและมุ่งทำลายล้าง (terroristic) เพื่อประโยชน์ของชนชั้นปกครอง ยุยงให้มีการใช้กำลังล้มล้างการปกครองหรือประท้วงรัฐบาลโดยใช้ความรุนแรง วิจารณ์การออกกฎหมายมุ่งเน้นประณามองค์กรโดยมิได้กล่าวถึงความไม่เหมาะสมของเนื้อหากฎหมายเลยแม้แต่น้อย(78) ข้อความที่มีเนื้อหาในลักษณะนี้เห็นได้ชัดว่ามุ่งเป็นปฏิปักษ์และทำลายคุณค่าของหลักการพื้นฐานเสรีประชาธิปไตย(79) โดยศาลจะพิจารณาจากการกระทำหลาย ๆ อย่างของแกนนำและสมาชิกพรรคหลาย ๆ คนประกอบกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งต่าง ๆ ที่กระทำลงไปในนามของพรรค(80)
เชิงอรรถ
1. ยกเว้นรัฐธรรมนูญ ฉบับไวมาร์ (Weimar Imperial Constitution of 1919) ที่มีมาตรา 130 วรรคหนึ่งบัญญัติเกี่ยวกับพรรคการเมืองในเชิงปฏิเสธว่า ข้าราชการเป็นข้าราชการของประชาชนทั้งปวง ไม่ใช่ของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง; โปรดดู บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, การเลือกตั้งและพรรคการเมือง: บทเรียนจากเยอรมัน, (กรุงเทพฯ: สุขุมและบุตร, 2542) น. 65; Helmut Steinberger, Political Representation in Germany, ใน Paul Kirchhof and Donald P. Kommers, Germany and Its Basic Law, (Badan-Badan: Nomos Verlagsgesellschaft, 1993) น. 155; และ Donald P. Kommers, The Constitutional Jurisprudence of the Federal Republic of Germany, (Durham: Duke University Press, 2nd ed, 1997), น. 200 201.
2. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 65.
3. PartG, §2 [Section 2 of the Political Party Act - Gesetz über die politischen Parteien (Parteiengesetz)]; แต่กระนั้นก็ดี พรรคการเมืองยังคงมีหน้าที่ที่จะจัดส่งเอกสาร ซึ่งประกอบด้วย ข้อบังคับพรรค นโยบายและโครงการของพรรค และรายชื่อกรรมการบริหารพรรคทั้งระดับสหพันธ์และระดับมลรัฐให้แก่เจ้าหน้าที่จัดการเลือกตั้งแห่งสหพันธ์ (The Federal Returning Officer - Der Bundeswahlleiter); โปรดดู PartG, §6 (3).
4. BGB, §21 [Section 21 of the Civil Code - Bürgerliches Gesetzbuch (BGB)] และ บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 33.
5. PartG, §3.
6. เข้าถึง ณ วันที่ 8 เมษายน 2553; ยกเว้นมาตรา 54 วรรคสองของประมวลกฎหมายแพ่ง; PartG, §37; อย่างไรก็ดี แม้ศาสตราจารย์ ดร. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ อธิบายไว้ว่า พรรคการเมืองเยอรมัน ไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยสมาคม แต่ผู้วิจัยเข้าใจว่า ท่านหมายความถึงกฎหมายว่าด้วยสมาคม (Vereinsgesetz) หาใช่ประมวลกฎหมายแพ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสมาคมไม่ โปรดเทียบ บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 65.
7. BWG, §21 [Section 21 of the Federal Electoral Law - Bundewahlgesetz, BWG]; EuWG, §§ 8 9 [Section 8 and 9 of the European Elections Act Europawahlgesetz]
8. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 69 87. และ Jörn Ipsen, Political Parties and Constitutional Institutions, ใน Christian Starck (ed.), Studies in German Constitutionalism, (Munich: Nomos Verl.-Ges., 1995), น. 205 213.
9. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 65; Paul Franz, Unconstitutional and Outlawed Political Parties: A German American Comparison, Boston College International and Comparative Law Review, Vol. 5 No. 1 (1982), น. 63 66; Dan Gordon, Limits on Extremist Political Parties: A Comparison of Israeli Jurisprudence with that of the United States and West Germany, Hastings International and Comparative Law Review, Vol. 10 (1986 1987) น. 374; นอกจากนี้ เดิมศาลรัฐธรรมนูญเคยถือว่าพรรคการเมืองเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่เสนอคำร้องเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้ โปรดดู บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดียวกัน, น. 63 64, 69; Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 200, 211 213; และ Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 201.
10. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 65; Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 62 64; และ Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 374.
11. คำแปลนี้นำมาจาก บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิม, น. 66; ผู้สนใจเหตุผลว่าทำไมเฉพาะแต่บุคคลธรรมดาเท่านั้นที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ โปรดดู ณรงค์เดช สรุโฆษิต, ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทนิยามพรรคการเมือง, เว็บไซต์เครือข่ายกฎหมายมหาชนไทย [www.pub-law.net] วันอาทิตย์ที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553.
12. BVerfGE 24, 260 (263), อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 201.
13. อนึ่ง การมีอุดมการณ์และนโยบายสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ มิใช่องค์ประกอบของความเป็นพรรคการเมือง หากแต่เป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ประกาศว่าพรรคการเมืองดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบพรรคได้ โปรดดู บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 66.
14. PartG, §2 (1).
15. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 68; PartG, §§ 6 16.
16. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 65; Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 62 64; และ Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 374.
17. BVerfGE 13, 46 (52); BVerfGE 41, 399; BVerfGE 6, 84; อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 63 65.
18. BVerfGE 7, 99 (107) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 64; และ BVerfGE 47, 198 อ้างถึงใน Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 224 227.
19. BVerfGE 40, 287 (292 293); BVerfGE 39, 357 (360) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 64 65; และ Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 224.
20. BVerfGE 12, 296; อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 65 66.
21. BVerfGE 9, 162 (164 166) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 65 และ David P. Currie, The Constitution of the Federal Republic of Germany, (Chicago: University of Chicago Press, 1994), น. 219 ในเชิงอรรถที่ 204.
22. BVerfGE 39, 359 อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 65; อย่างไรก็ดี มีผู้โต้แย้งว่า การนำสถานะสมาชิกพรรคการเมืองเพียงอย่างเดียวมาถือเป็นเหตุตัดสิทธิ์ผู้สมัครเป็นข้ารัฐการถือเป็นการละเมิดเอกสิทธิ์ของพรรคการเมืองในลักษณะหนึ่ง.
23. PartG, §2 (2); องค์กรนิติบัญญัติในแต่ละมลรัฐเป็นแบบสภาเดียว (Unicameral Assembly).
24. BVerfGE 3, 383 (403); BVerfGE 24, 260 (265) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 201-202.
25. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 67-68.
26. BVerfGE 2, 1 (76) อ้างถึงใน บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 68.
27. โปรดดู Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 202. อย่างไรก็ดี ผู้เขียนบทความนี้ได้โต้แย้งแนวการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันที่ใช้ระดับการเลือกตั้งมาเป็นฐานในการจำแนกพรรคการเมืองออกจากกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ดังกล่าวด้วย
28. BVerfGE 91, 276; และเมื่อมิได้มีสถานะ พรรคการเมือง ตามกฎหมายพรรคการเมืองแล้ว พรรค FAP จึงถูกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแห่งสหพันธ์ใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยสมาคม (Vereinsgesetz - Act on Associations) สั่งยุบพรรคดังกล่าวเมื่อปี ค.ศ. 1995; GG, §9 (2) [Article 9 (2) of the Basic Law for the Federal Republic of Germany - Grundgesetz für die Bundesrepublik Deutschland] และ VereinsG, §§ 2 3; โปรดดู Judith Wise, Dissent and the Militant Democracy: the German Constitution and the Banning of the Free German Worker Party, University of Chicago Law School Roundtable, Vol.5, 1998, น. 312 316.
29. GG, §116 (1); PartG, §2 (3) No. 1; AuslG, §1 (2) [Section 1 paragraph 2 of the Aliens Act Ausländergesetz]
30. PartG, §2 (3) No. 2.
31. PartG, §19, §19a, และ §21; และ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, การอุดหนุนเงินให้พรรคการเมืองโดยรัฐและการควบคุมเงินบริจาค: การปรับปรุงระบบของ ประเทศไทยโดยศึกษาเปรียบเทียบกับระบบของประเทศเยอรมัน, วารสารนิติศาสตร์, ฉบับที่ 34 เล่มที่ 3 (กันยายน, 2547), น. 417 148.
32. BWG, §18 (2); และ บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 68 69.
33. BVerfGE 91, 276; เมื่อมิใช่พรรคการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ก็ย่อมไม่มีอำนาจประกาศความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและสั่งยุบการรวมกลุ่มดังกล่าว; Judith Wise, เรื่องเดิม, น. 316; และ Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 236.
34. BVerfGE 13, 174 (176-177) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 220.
35. VereinsG, §§ 2 3; รัฐมนตรีมหาดไทยของมลรัฐจะมีอำนาจสั่งยุบสมาคมเฉพาะแต่ในเขตมลรัฐของตนเท่านั้น บางครั้ง หากสมาคมดำเนินการในเขตพื้นที่ตั้งแต่สองมลรัฐขึ้นไป จะมีการใช้อำนาจสั่งยุบโดยทั้งรัฐมนตรีมหาดไทยแห่งสหพันธ์และของมลรัฐนั้น ๆ โปรดดู Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 236.
36. Donald P. Kommers, เรื่องเดิม, น. 218; อย่างไรก็ดี มีผู้โต้แย้งว่า ที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญไวมาร์มีบทบัญญัติว่าด้วยอำนาจของประธานาธิบดีในกรณีฉุกเฉินซึ่งอาจนำมาใช้เพื่อควบคุมหรือแม้แต่ยุบเลิกพรรคการเมืองได้ โปรดดู Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 372 ในเชิงอรรถที่ 175.
37. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 90; และ Thilo Rensmann, Procedural Fairness in a Militant Democracy: The Uprising of the Decent Fails Before the Federal Constitutional Court, German Law Journal, Vol. 4 Issue 11 (November, 2003), น. 1117.
38. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 55 56; อนึ่ง แท้ที่จริง พรรค Nazi ของฮิตเล่อร์เคยถูกสั่งห้ามและยุบไปแล้วในหลายมลรัฐในช่วงปี ค.ศ. 1922 1923 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังความพยายามก่อการรัฐประหารโดยกองกำลังนาซี เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 1993 และศาลก็ได้พิพากษาจำคุกฮิตเล่อร์ แต่เนื่องจากรัฐสภาแห่งสหพันธ์ (Reichstag) ผ่านมติเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ค.ศ. 1924 ให้ยกเลิกคำสั่งห้ามและยุบพรรคนาซี และต่อมามีการปล่อยตัวฮิตเล่อร์ ในเดือนธันวาคมของปีเดียวกัน พรรคนาซีและฮิตเล่อร์จึงกลับเข้าสู่วงจรการเมืองอีกครั้ง โปรดดู David Jablonsky, The Nazi Party in Dissolution: Hitler and the Verbotzeit 1923-1925, (Exeter: Frank Cass and Company, 1989), น. 4, 7 10, และ 109.
39. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญมุ่งหมายให้มาตรา 21 (2) เป็นเครื่องมือสกัดกั้นการรุกรานของรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์ในเยอรมันตะวันออกและป้องกันการกลับคืนมาของพรรคนาซี โปรดดู Peter Niesen, Anti-Extremism, Negative Republicanism, Civic Society: Three Paradigms for Banning Political Parties - Part I, German Law Journal Vol. 3 No. 7 (July 2002), น. 7.
40. BVerfGE 2, 1 (13) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 57; และ Helmut Steinberger, เรื่องเดิม, น. 137 138.
41. BVerfGE 2, 1 (12), BVerfGE 5, 85 (139) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 234;
42. ในคดียุบพรรค SRP พรรคผู้ถูกร้องได้แย้งว่า หลักการพื้นฐานของระบอบเสรีประชาธิปไตย ตามมาตรา 21 (2) ของรัฐธรรมนูญนั้น เป็นเพียงแบบต้นร่าง (Blueprint) ของโครงสร้างการปกครองรัฐเท่านั้น และสิ่งที่พรรค SRP เสนอต่อประชาชนก็เป็นแบบต้นร่างทางเลือกอีกทางหนึ่ง ซึ่งหากประชาชนส่วนมากเห็นชอบด้วยตามวิถีทางประชาธิปไตย ก็ย่อมเป็นความจริงขึ้นมาได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง พรรค SRP อ้างกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยเพื่อนำไปสู่การปกครองตามรูปแบบที่พรรคเสนอ แต่ศาลรัฐธรรมนูญปฏิเสธข้อโต้แย้งดังกล่าวอย่างสิ้นเชิง; โปรดดู Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 57
43. GG, §79 (3), และ §20; บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 2, น. 23 24, 28; และ David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 10 26.
44. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 234.
45. BVerfGE 2, 1 (14) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216.
46. GG, §79 (3), และ §20; BVerfGE 30, 1 (24 26) อ้างถึงใน Donald P. Kommers, Germany: Balancing Rights and Duties, in Jeffrey Goldsworthy (ed.), Interpreting Constitutions: A Comparative Study, (New York: Oxford University Press, 2007), น. 172, 167 168, และ 171 172; Samuel Issacharoff, Fragile Democracies, Harvard Law Review, Vol. 120 No. 6 (April 2007), น. 1429 1430.
47. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 2, น. 174 184.
48. บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 2, น. 71 76.
49. David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 102.
50. Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 234.
51. BVerfGE 2, 1 [SRP Decision of Oct. 23, 1952] และ BVerfGE 5, 85 [KPD Decision on Aug. 17, 1956]
52. BVerfGE 2, 1 (73) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 57.
53. BVerfGE 5, 85 (105, 134) อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 59 และ 62.
54. อาทิ การยกเลิกการแบ่งแยกชนชั้น การสร้างสังคมใหม่ที่ปลดปล่อยผู้ใช้แรงงานจากการกดขี่ของนายทุน ชุมชน (Commune) เป็นเจ้าของปัจจัยการผลิต ฯลฯ ผู้สนใจโปรดดู ธานินทร์ กรัยวิเชียร, การใช้กฎหมายป้องกันคอมมิวนิสต์, (กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์การศาสนา, พิมพ์ครั้งที่ 5, 2517), น. 6 21; และ ชาญชัย แสวงศักดิ์, กฎหมายรัฐธรรมนูญ แนวคิดและประสบการณ์ของต่างประเทศ, (กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2552), น. 172-179.
55. BVerfGE 5, 85 (141) อ้างถึงใน บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 91; และ Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 59.
56. Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, Comparative Constitutional Law: Cases and Commentaries, (New York: St. Martins Press, 1977), น. 621; หนังสือเล่มนี้แปลบางส่วนของคำวินิจฉัยคดียุบพรรค SRP และพรรค KPD เป็นภาษาอังกฤษ.
57. Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 63 ในเชิงอรรถที่ 68; Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 375 376, และ Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 626.
58. หรือแม้แต่มีพฤติกรรมในทางที่เป็นปฎิปักษ์แต่มิได้อยู่ในระดับร้ายแรง โปรดดู Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 376 377; Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 621; และ Samuel Issacharoff, เรื่องเดิม, น. 1433 - 1435.
59. BVerfGE 2, 1 (12) อ้างถึงใน บุญศรี มีวงศ์อุโฆษ, เรื่องเดิมเชิงอรรถที่ 20, น. 91 92.
60. BVerfGE 2, 1 (10 12) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 220.
61. BVerfGE 2, 1 (12 13) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216.
62. BVerfGE 5, 85 (235 236) อ้างถึงใน Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 375 ในเชิงอรรถที่ 195; และ BVerfGE 5, 85 (143, 235) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 233.
63. BVerfGE 5, 85 อ้างถึงใน Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 57; และ Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 624 625; อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ถูกวิจารณ์อย่างมากว่า ศาลควรต้องพิจารณาความน่าจะเป็นของภยันตรายที่แท้จริง (the likelihood of any real danger) บางท่านเสนอว่า ต้องเป็นภยันตรายที่ชัดเจนและใกล้จะถึง (Clear and present danger) ภยันตรายที่เป็นรูปธรรม (Concrete Danger) หรือ ภัยคุกคามต่อเสรีภาพ ณ ขณะปัจจุบัน (Immediate threat to Freedom) โปรดดู Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 373 375 และ 376 ในเชิงอรรถที่ 198; แต่ทั้งนี้ ต้องเข้าใจบริบทการเมืองในช่วงทศวรรษ 1950 ที่ศาลมีคำวินิจฉัยดังกล่าวด้วยว่า เป็นช่วงเวลาภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองและการล่มสลายของพรรคนาซี ประกอบกับสถานการณ์ภัยคุกคามของระบอบคอมมิวนิสต์โซเวียตที่ครอบครองพื้นที่เยอรมันตะวันออก โปรดดู Government Commits to Seeking a Ban of the Extreme Right-Wing National Democratic Party of Germany (NPD), German Law Journal, Vol. 1 Issue 2 (November, 2000), น. 5 7.
64. BVerfGE 5, 85 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 621 624; David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 218; และ Walter F. Murphy, Excluding Political Parties: Problems for Democratic and Constitutional Theory, Germany and Its Basic Law, (Badan-Badan: Nomos Verlagsgesellschaft, 1993), น. 181 182.
65. BVerfGE 2, 1 (60 62) อ้างถึงใน Dan Gordon, เรื่องเดิม, น. 372 373, 375; David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216 217; และ BVerfGE 5, 85 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 623.
66. Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 606; และ Samuel Issacharoff, เรื่องเดิม, น. 1434 - 1435.
67. เป็นการประยุกต์แนวคิดมาร์กซิสต์โดยเลนิน เพราะเชื่อว่า สภาพสังคมภายหลังการปฏิวัติ ชนชั้นกรรมาชีพยังขาดความรู้ความเข้าใจทางการเมือง จึงต้องอาศัยการชี้นำโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ก่อนจะเข้าสู่สังคมในอุดมคติ (Utopia) ที่ปราศจากการแบ่งชนชั้น โดยรัฐหมดความจำเป็นและสลายตัวไปในที่สุด โปรดดู ธานินทร์ กรัยวิเชียร, เรื่องเดิม, น. 6 21; และ ชาญชัย แสวงศักดิ์, เรื่องเดิม, น. 174 178.
68. เป็นระบอบอำนาจนิยมเบ็ดเสร็จ มิได้มีรากฐานวิชาการ หากแต่ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า สังคมจะเข็มแข็งเจริญก้าวหน้าได้ก็ต่อเมื่อมีการจัดตั้งและชี้นำโดยกลุ่มชนที่มีสติปัญญาและชาติพันธุ์แห่งความเป็นผู้นำเพื่อก่อให้เกิดความเป็นเอกฉันท์ในสังคม โปรดดู ชาญชัย แสวงศักดิ์, เรื่องเดิม, น. 214 222.
69. BVerfGE 2, 1 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 606;
70. BVerfGE 5, 85 (144, 336) อ้างถึงใน Jörn Ipsen, เรื่องเดิม, น. 233.
71. BVerfGE 5, 85 (142) อ้างถึงใน เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
72. BVerfGE 2, 1 (14) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216.
73. BVerfGE 2, 1 (14) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 216; และ Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 603.
74. SS (Schutzstaffel) และ SA (Sturmabteilung) เป็นชื่อเรียกกองกำลังและสมาชิกของกองกำลังของพรรคนาซี; นอกจากนี้ แม้ข้อบังคับพรรคระบุถึงกระบวนการไล่สมาชิกออกจากพรรคโดยสภากิตติมศักดิ์ของพรรค แต่ไม่ปรากฏหลักฐานใดที่ยืนยันได้ว่าการไล่สมาชิกออกจากพรรคตลอดมาเคยปฏิบัติตามกระบวนการดังกล่าว; BVerfGE 2, 1 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 604; และ Walter F. Murphy, เรื่องเดิม, น. 181.
75. BVerfGE 2, 1 (22) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 217.
76. เรื่องเดียวกัน, หน้าเดียวกัน.
77. BVerfGE 2, 1 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 604 607;
78. BVerfGE 5, 85 อ้างถึงใน Walter F. Murphy and Joseph Tanenhaus, เรื่องเดิม, น. 624 627;
79. Paul Franz, เรื่องเดิม, น. 62.
80. BVerfGE 2, 1 (22) อ้างถึงใน David P. Currie, เรื่องเดิม, น. 217.
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1482
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:15 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|