|
|
สภาวะสูญญากาศของการบังคับใช้กฎหมายในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมือง 23 พฤษภาคม 2553 19:52 น.
|
หลังเหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน เป็นต้นมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศอย่างชัดเจนถึงหลักการที่ว่า จะต้องบังคับกฎหมายอย่างเคร่งครัด กับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง นอกจากนี้ ยังมีการเน้นย้ำอยู่เสมอว่า ทุกอย่างต้องกระทำไปตาม หลักนิติรัฐ ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของอดีตนายกฯ อย่างคุณชวน หลีกภัย และบุคคลอื่นๆ ของรัฐบาล
ฟังแล้วราวกับว่า สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ว่า ท้ายที่สุดหากยึดหลักการข้างต้นแล้วจะนำพาประเทศชาติไปสู่ความสงบสุขได้ !!
แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว ภายหลังจากการพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติการของภาครัฐกลับเห็นว่า เป็นการประกาศหลักการด้วยความไม่เข้าใจที่ดีพอว่าอะไรคือ หลักนิติรัฐโดยแท้จริง และอะไรคือภาวะการณ์ทางการเมืองที่มีลักษณะพิเศษในช่วง เปลี่ยนผ่านทางการเมือง อันนำไปสู่ความรุนแรงในขณะนี้
เมื่อปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอันส่งผลให้สังคมมีความเปราะบางทางด้านความรู้สึกทางการเมืองเป็นอย่างมาก เราจะพบเห็นตัวละครหลักที่เป็นมวลชนอย่างน้อย 2 กลุ่มคือ 1.กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลเดิมซึ่งผู้นำตัวจริงของเขายังคงมีบทบาทในทางการเมืองและมีอิทธิพลต่อกลุ่มมวลชน และ2.กลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลปัจจุบัน ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงของการปะทะกันระหว่างทั้งสองกลุ่ม ซึ่งการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดกับกลุ่มที่สนุบสนุนรัฐบาลเดิม จึงต้องคำนึงถึง ลักษณะพิเศษ ข้างต้นเป็นอย่างมาก และต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นทวีคูณ
ผู้เขียนเห็นว่า รัฐบาลของนายกฯ อภิสิทธิ์ ยังมิได้ให้ความสำคัญและระมัดระวังถึงสภาวะทางการเมืองที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมืองอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะคำพูดที่ว่า จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะหากเข้าใจถึงสภาพข้อเท็จจริงของสังคมที่มีลักษณะของการขัดแย้งกันในทางความคิดและความแตกต่างของการสนับสนุนกลุ่มก้อนทางการเมือง ภาครัฐย่อมรู้ว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดอาจไม่สามารถนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคม หากแต่อาจเป็นปัจจัยในการเร่งให้เกิดความตรึงเครียดและความรุนแรงในทางการเมืองได้ ยังไม่รวมถึงคำถามที่ว่า จะไปบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กับใคร และทำอย่างไร
รัฐบาลต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า ไม่ใช่ว่ามีกฎหมายให้อำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้โดยไม่ต้องพินิจพิเคราะห์ หรือระมัดระวังอะไรเป็นพิเศษ ในช่วงเวลาที่มีความเปราะบางมากเช่นนี้ รัฐบาลไม่อาจที่จะอ้างตัวบทกฎหมายอย่างเดียว แต่พึงต้องตระหนักถึง หลักนิติรัฐแท้ และรับรู้ถึงการบังคับใช้มันในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่มีความแตกต่างจากหลักการในช่วงเวลาปกติ
ในช่วงเวลาปกติ อารมณ์ความรู้สึก การสนับสนุน การแบ่งออกอย่างชัดเจนของผู้สนับสนุนทางการเมืองอาจไม่รุนแรงและชัดเจนมากนัก ฉะนั้น การบังคับใช้กฎหมายจึงมีปัญหาน้อยกว่าช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความรู้สึกของประชาชนที่แบ่งแยกออกเป็นหลายฝักหลายฝ่าย
ฉะนั้น ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง การบังคับใช้กฎหมาย จึงไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับในภาวะปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว หากปรากฏว่า การบังคับใช้กฎหมายสะท้อนถึงการ ไม่มีความเป็นธรรมเพียงพอในสายตาของประชาชนผู้ถูกบังคับใช้ ประชาชนก็จะเกิดการต่อต้านกฎหมายที่ประกาศใช้โดยรัฐทันทีอันส่งผลให้เกิด สภาวะสูญญากาศของการบังคับใช้กฎหมาย อย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วสมัยการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ กับกลุ่มคนเสื้อเหลืองโดยอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช
เพราะนิยามของความเป็นธรรมในบริบทนี้คือ ความเท่าเทียมกันทางด้านสิทธิเสรีภาพประการหนึ่งและความเท่าเทียมกันทางโอกาส อาทิ โอกาสในการมีส่วรร่วมทางการเมือง โอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร ฯลฯ อีกประการหนึ่ง
จากประเด็นข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจในคำว่า กฎหมาย แตกต่างกันออกไประหว่างฝ่ายผู้ใช้กฎหมายและฝ่ายผู้ถูกบังคับใช้ เนื่องจาก ฝ่ายรัฐมองกฎหมายเพียงในแง่ รูปแบบ เท่านั้นในขณะที่ประชาชนไม่ได้มองแค่นั้น หากแต่มองลึกเข้าไปใน เนื้อหา ของมันด้วยว่า สามารถนำมาซึ่งความเป็นธรรมให้พวกเขาได้หรือไม่ อย่างไร
ทั้งหมดนี้หากพินิจพิเคราะห์ให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่า รัฐมองกฎหมายเป็นเพียงเครื่องมือในการใช้เพื่อบริหารราชการแผ่นดิน (Rule by Law) อันถือเป็นเพียงหลัก นิติรัฐเทียม แต่ประชาชนผู้ถูกกฎหมายบังคับใช้กลับมองลึกเข้าไปทำความเข้าใจนอกเหนือไปจากตัวอักษรที่ปรากฏอยู่ในเบื้องหน้าของกฎหมาย ได้มีการคำนึงถึง หลักกฎหมายที่สถิตย์อยู่ในกฎหมายที่ใช้ปกครองประเทศ อันถือได้ว่าเป็น นิติรัฐแท้ (Rule of Law)
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ได้จะบอกว่า รัฐไม่ควรบังคับใช้กฎหมายกับสภาวะการณ์ในปัจจุบันที่สังคมไทยโกลาหลเพิ่มขึ้น เพราะมิฉะนั้นแล้วประเทศจะกลายสภาพเป็นอนาธิปไตยและส่งผลให้เกิดภาวะรัฐล้มเหลว (Failed State) ได้ แต่รัฐพึงต้อง เข้าใจหลักกฎหมายมิใช่เพียงแค่รู้จักตัวกฎหมาย และพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะบังคับใช้กฎหมายกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น บางกรณีหากบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดแล้ว อาจเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่ความรุนแรงได้ กรณีดังกล่าวรัฐก็ไม่พึงที่จะกระทำ เป็นต้น
อีกประเด็นหนึ่งคือ การทำความเข้าใจและยอมรับใน ความเป็นพลวัตรของการเมือง ที่เกิดขึ้นอย่างเสมออันเป็นปกติวิสัย ซึ่งอาจารย์เกษียร เตชะพีระ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยอธิบายสภาพสังคมการเมืองไทยในขณะนี้ว่า เป็นช่วงการเปลี่ยนผ่านอำนาจ (Power Shift) ครั้งที่ 3 แต่ปรากฏว่า ชนชั้นนำ ชนชั้นกลางระดับสูงและระดับกลางบางส่วนพยายามที่จะปฏิเสธการเปลี่ยนแปลงข้างต้น กลุ่มคนเหล่านี้พยายามที่จะ ฝืนธรรมชาติของปรากฎการณ์การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งนี้ โดยไม่ยอมที่จะปรับตัวเองกับการเปลี่ยนแปลง
กรณีจึงนำไปสู่การพยายามที่จะ ใช้ตัวบทกฎหมาย หรือ หลักนิติรัฐในเชิงรูปแบบ (นิติรัฐเทียม) เพื่อหยุดยั้งปรากฏการณ์ดังกล่าวในการรักษาไว้ซึ่งอำนาจทางการเมืองของตนเองจนนำไปสู่การต่อต้านของประชาชนและความรุนแรงต่างๆ ที่ผ่านมาทั้งหมด ซึ่งในยุคเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเช่นนี้ บางครั้งการยึดหลัก ความชอบด้วยกฎหมายเชิงรูปแบบ คงไม่เพียงพอและถูกต้องนัก หากแต่พึงต้องคำนึงถึง ความชอบด้วยกฎหมายในเชิงเนื้อหาอันมีเนื้อความที่ลึกซึ้งเกินกว่าความเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่ให้อำนาจรัฐตามที่รัฐบาลรู้และเข้าใจ
รัฐจำต้องเข้าใจด้วยว่า การอ้างตัวบทกฎหมายในการให้อำนาจรัฐกระทำการใดๆ นั้นไม่เพียงพอ รัฐต้องคำนึงและปฏิบัติตาม หลักกฎหมายทั่วไป เช่น หลักความสมอภาคในการใช้บังคับกฎหมายกับบุคคลทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ เป็นต้น ที่แม้ไม่ปรากฏในรูปแบบลายลักษณ์อักษรแต่ก็มีบทบาทในการควบคุมการกระทำของรัฐด้วย เพราะหากรัฐไม่เข้าใจและไม่ยึดหลักการนี้แล้ว คงมิอาจกล่าวได้ว่า รัฐนั้นกระทำตามหลักนิติรัฐโดยแท้จริง หากแต่เป็นเพียงแค่การปกครองโดยตัวบทกฎหมายเท่านั้น (Rule by Law not of Law) อันแสดงถึงความแข็งกระด้างของนักกฎหมายแบบปฏิฐานนิยม (Positivism) ที่เน้นเพียงแค่มิติทางด้านอำนาจรัฐ และถือเป็นปัญหาหนึ่งของนักกฎหมายกระแสหลักของประเทศไทย
เพราะท้ายที่สุดแล้วก็จะนำมาซึ่งความชอบด้วยกฎหมายในแง่รูปแบบที่มีลักษณะเป็นรัฐบาลอำนาจนิยมมากกว่าจะเป็นการนำมาซึ่งความยุติธรรมที่แท้จริง (Legality not Justice) เยี่ยงรัฐบาลของประเทศเสรีประชาธิปไตยที่ปกครองโดยยึดหลักนิติรัฐโดยแท้จริง (Limited Government) อันเป็นหลักการที่เข้ามาประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน
นอกจากปัญหาว่าด้วยความเป็นธรรมที่รับรู้โดยประชาชนอันเป็นการแตกต่างกับภาครัฐใน แง่ของตัวบทกฎหมาย และการบังคับใช้กฎหมายของรัฐแล้ว อีกประเด็นที่ทำให้ประชาชนปฏิเสธการบังคับใช้กฎหมายและนำไปสู่สภาวะสูญญากาศทางกฎหมายได้ก็คือ แง่ของตัวสถาบัน (Institution) ที่ประกาศและบังคับใช้กฎหมาย กล่าวคือ หากจะกล่าวถึงปรากฏการณ์ของการชุมนุมเพื่อเรียกร้องทางการเมืองในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนนั้นมีการพิจารณาถึง รัฐบาล ด้วยว่ามีความชอบธรรมในสายตาของพวกเขาหรือไม่ โดยจะพิจารณาถึงในแง่ที่มาของการเข้ามาถือครองอำนาจ นโยบายที่ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน การบังคับใช้กฎหมายที่อาจจะส่งผลต่อการใช้สิทธิเสรีภาพและโอกาสในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง ทางสังคม ทางเศรษฐกิจของประชาชน ฯลฯ
เมื่อเขาเห็นว่าไม่ชอบธรรม เพราะรู้สึกว่าตนเองถูกล่วงละเมิดเสรีภาพที่ได้รับการรับรองและคุ้มครองภายใต้รัฐธรรมนูญโดยรัฐบาล จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องยอมรับสภาพบังคับของกฎหมายที่ถูกประกาศใช้โดยองค์กรที่เขาเห็นว่าไม่ชอบธรรมนั่นเอง นั่นจึงเป็นที่มาของการปฏิเสธการประกาศและบังคับใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ และพรก.ฉุกเฉินฯ ของผู้ชุมนุมทางการเมือง
เมื่อความเปราะบางเป็นพิเศษของช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง สัมพันธ์อย่างยิ่งยวดกับหลักนิติรัฐและการบังคับใช้กฎหมายซึ่งมีนัยที่ผิดแผกแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับช่วงเวลาปกติ การบังคับใช้กฎหมายบนฐานคิดที่ถูกต้อง และใช้อย่างเหมาะสมในสถานการณ์การเมืองที่ดุเดือดเลือดพล่าน จึงสำคัญยิ่ง การที่รัฐบาลพยายามพูดว่า คำนึงถึงความสันติ ก็ต้องหลีกเลี่ยงวิธีการสร้างความเกลียดชังและความแตกแยกในสังคมในทุกรูปโดยเฉพาะวิธีการเลือกใช้กฎหมายแบบใดๆ เป็นเครื่องมือ เพราะมิฉะนั้นแล้ว ประเทศชาติคงต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เลวร้าย รุนแรง และนำไปสู่การนองเลือดในท้ายที่สุด
..............................................................................................................................
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1461
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:00 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|