ครั้งที่ 236

10 เมษายน 2553 20:37 น.

       ครั้งที่ 236
       สำหรับวันจันทร์ที่ 12 เมษายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2553
       
       “จะออกจากสถานการณ์นี้ได้อย่างไร ?”
       
       ก่อนที่จะเข้าไปสู่เนื้อหาสาระของบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมขอแสดงความ “ไม่พอใจอย่างมาก” ต่อผู้ที่นำเอา “สีชมพู” ซึ่งเป็นสีประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเข้าไปวุ่นวายกับการเมือง จนในวันนี้ นอกจากสีเหลือง สีแดงแล้ว สีชมพูก็เลยกลายเป็นสีอีกสีหนึ่งที่ผู้ใส่อาจต้องระมัดระวังและพยายามไม่เดินเข้าไปใกล้ “สีแดง” !!! จริง ๆ แล้วเราเคยมีตัวอย่างทำนองนี้เกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง คงจำกันได้ว่าการใส่เสื้อสีเหลืองเป็นสิ่งที่ประชาชนคนไทยใส่กันอยู่ทั้งประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง ผมจำได้ว่าแม้ข้าราชการเองก็สามารถใส่เสื้อโปโลสีเหลืองไปทำงานได้ แต่พอมีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้นและมีการนำเอาเสื้อสีเหลืองไปใช้เป็นสัญญลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุม ในวันนี้ การใส่เสื้อสีเหลืองของประชาชนตามปกติหรือของข้าราชการก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ต้องพึงระมัดระวังเพราะอาจถูกเข้าใจได้ว่าเป็นพวกเสื้อเหลืองครับ!!! คราวนี้ก็มาถึงเสื้อชมพูอีกแล้ว ปกติผมเองจะใส่เสื้อโปโลสีชมพูเป็นประจำเวลาอยู่ที่คณะและไม่มีประชุมข้างนอก คนในจุฬาฯ เองก็ใส่เสื้อสีชมพูมาทำงานกันเป็นจำนวนมาก พอมีกรณีการชุมนุมของพวก “เสื้อชมพู” เกิดขึ้นก็คงสร้างความลำบากใจให้กับการใส่เสื้อชมพูไปเดินตามถนนหนทางเพราะไม่มั่นใจว่าจะมีปัญหาอะไรหรือไม่กับคนที่ไม่ชอบ “เสื้อชมพู” จริง ๆ แล้ว หากคนในจุฬาฯ หรือศิษย์เก่าที่รักและหวังดีต่อประเทศชาติอยากประท้วง คัดค้าน แสดงความคิดเห็นทางการเมืองหรือเล่นการเมือง ก็ย่อมทำได้ ไม่มีใครว่า แต่ไม่สมควรดึงเอา “สี” ที่เป็น “สีประจำมหาวิทยาลัย” ไปเกี่ยวข้อง เพราะจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะที่เป็น “มหาวิทยาลัย” คงไม่เข้าไปร่วมแสดงความคิดเห็นดังกล่าวด้วยได้อย่างแน่นอนครับ การเอา “สีประจำมหาวิทยาลัย” เข้าไปเกี่ยวข้องจึงเกิดเรื่องต่าง ๆ ตามมามากมาย รวมไปถึงการที่มีคนเอาระเบิดมาวางไว้หน้าประตูมหาวิทยาลัยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ด้วยครับ เพราะฉะนั้น ถ้าคนในจุฬาฯ หรือศิษย์เก่าอยากแสดงความคิดเห็น อยากประท้วง หรืออยากอะไรก็ตาม ควรหา “สีใหม่” ที่เป็นสีสัญญลักษณ์เหมือนกับที่รองอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์คนหนึ่งเคยทำมาแล้วกับการใช้ “สีขาว” โดยไม่ดึงเอา “สีเหลืองแดง” เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ถ้าจะให้ผมเสนอแนะ “สีดำ” น่าจะเป็นสีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการแสดงความเห็นทางการเมืองในปัจจุบัน เราคงต้อง “ไว้ทุกข์” ให้กับ “ระบอบประชาธิปไตย” ของเราที่แม้เวลาจะผ่านมาเกือบ 80 ปีแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังไม่รู้จัก “ระบอบประชาธิปไตย” ดีพอ เราในที่นี้หมายถึงทั้งนักการเมืองและประชาชนนะครับ นอกจากนี้ “สีดำ” ยังเหมาะสำหรับแสดงออกถึง “ความโชคร้ายของประเทศไทย” ที่ได้ “คนแบบนั้น” มาอยู่เต็มไปหมด คนแบบนั้นในที่นี้หมายถึง พวกที่พยายามทำเพื่อตัวเอง ทำเพื่อนาย ทำเพื่อพรรคการเมือง โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นอันดับแรก “คนแบบนั้น” จึงนำมาซึ่งปัญหา ข้อขัดแย้ง การทะเลาะ การเอาชนะซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมาครับ!!!
       เข้ามาสู่เนื้อหาของบทบรรณาธิการครั้งนี้กันดีกว่าครับ การชุมนุมปิดถนนสาธารณะของ “กลุ่มคนเสื้อแดง” สร้างความวุ่นวายและความลำบากให้กับคนกรุงเทพฯ มาเป็นเวลาติดต่อกันหลายวันแล้ว ในวันนี้ผมไม่แน่ใจแล้วว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจนนำมาสู่ความวุ่นวายคืออะไรกันแน่เพราะเท่าที่ได้ยินมา ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกโยงไปเป็นการต่อสู้ระหว่าง “ไพร่” กับ “อำมาตย์” ไปเสียแล้ว ผมไม่ทราบว่า “ไพร่” และ “อำมาตย์” ในที่นี้ หมายถึงใคร ? แต่ถ้าจะให้คาดเดา ก็คงคาดเดาไว้ว่า หมายถึงการต่อสู้ระหว่าง “ชนชั้น” ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว “ในอดีต” ในหลาย ๆ ประเทศ คือเป็นการต่อสู้ระหว่าง “คนธรรมดา” กับ “ชนชั้นนำผู้มีอำนาจในสังคม” ครับ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ เราจึงพบ “คนชนบทผู้ยากจน” เดินทางเข้ามาสู่เมืองหลวงเพื่อ “เรียกร้อง” สิ่งที่พวกเขา “ไม่เคยได้” เช่นเดียวกับคนเมืองหลวง เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม เพราะตลอดเวลา คนชนบทผู้ยากจนต้องตกอยู่ในสถานะของ “พลเมืองชั้นสอง” ของประเทศมาตลอดครับ!!!
       จริง ๆ แล้ว หากมองย้อนกลับไปในอดีต เราก็จะพบว่ารัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาลแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ให้ประโยชน์แก่คนชนบทผู้ยากจน รัฐบาลได้รับความนิยมจากนโยบายประชานิยมที่ให้ความช่วยเหลือแก่คนยากจนหลาย ๆ อย่าง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ออกไปพบปะและคลุกคลีกับชาวบ้านบ่อยครั้ง รวมทั้งให้ความสนใจกับตัวผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในต่างจังหวัด การกระทำทั้งหลายจึงทำให้คนชนบทผู้ยากจน “ชอบ” รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพราะทำให้พวกเขา “มีตัวตน” ขึ้นมาในสังคม แต่ในเวลาเดียวกัน พรรคการเมืองอื่นอีกหลายพรรคการเมืองก็ยัง “ไม่เข้าใจ” คนชนบทผู้ยากจนอยู่ ในบางครั้ง สิ่งที่พูดหรือแสดงออกมาทำให้คิดได้ว่า เกิดการมองว่าคนชนบทผู้ยากจนยัง “โง่” อยู่ สามารถซื้อเสียงขายเสียงได้ ไม่เหมือนคนเมืองหลวงและพรรคการเมืองของคนเมืองหลวงที่ไม่มีการซื้อเสียงขายเสียง การมองคนชนบทผู้ยากจนเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ความรู้สึกว่าตนเอง “ถูกกด” หรือ “เป็นพลเมืองชั้นสอง” ทับถมทวีคูณขึ้นในใจ ประกอบกับการปฏิบัติต่อคนจำนวนหนึ่งมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เหมือนกัน (ดังอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นล่าสุดก็คือ กรณีเขายายเที่ยงของอดีตนายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่พอ “คืนที่” ให้กับทางราชการแล้วเรื่องก็จบ เปรียบเทียบกับการบุกรุกที่ป่าสงวนของชาวบ้านธรรมดา ๆ ที่ต้องรับโทษตามกฎหมาย!!! หรือกรณีปิดสถานีโทรทัศน์ของ “เสื้อแดง” แต่ไม่เคยคิดจะปิดสถานีโทรทัศน์ของ “เสื้อเหลือง” เลย) ทำให้คนชนบทผู้ยากไร้มีความรู้สึกว่ากฎหมายมีไว้ใช้เล่นงานพวกตนในขณะที่ชนชั้นนำผู้มีอำนาจกลับหลุดรอดไปได้ทุกกรณี ดังนั้น เมื่อรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำนโยบายประชานิยมซึ่งเป็นนโยบายที่ “เห็นหัว” คนชนบทผู้ยากจนมาใช้ ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่คนเหล่านั้นจะต้องแสดงความ “ศรัทธา” ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ครับ นี่ก็คงเป็น “เหตุผลหนึ่ง” ในหลาย ๆ เหตุผลที่ทำให้เกิดวิกฤติเสื้อแดงในวันนี้ครับ
       กลับมาสู่เรื่องร้อนของประเทศในวันนี้กันดีกว่าครับ หลังจากการอาละวาดสาดเลือดจนเหม็นคลุ้งไปทั่วกรุงเทพมหานครก็มาถึงการปิดการจราจรสี่แยกราชประสงค์ซึ่งผมเข้าใจว่าเป็นจุดเริ่มต้นของหลักกิโลเมตรที่ 0 ของถนนสุขุมวิท อันเป็นถนนที่ยาวที่สุดสายหนึ่งของประเทศไทยและก็เป็นแหล่งที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก เนื่องจากมีศูนย์การค้าและโรงแรมหลายแห่งอยู่ในย่านดังกล่าวครับ การปิดสี่แยกราชประสงค์กระทบกับการใช้ชีวิตตามปกติของผู้คนในกรุงเทพมหานครเป็นอย่างมากซึ่งผมเองในฐานะพลเมืองคนหนึ่งก็ต้องขอแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวเพราะเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิของผู้อื่นและเกิดความเสียหายกับผู้อื่นเป็นอย่างมากครับ ส่วนข้อต่อรองที่ว่า การปิดการจราจรที่สี่แยกราชประสงค์จะหมดไปได้หากรัฐบาลยอมยุบสภานั้น เรื่องนี้ผมก็ได้กล่าวไว้แล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ก่อน นายกรัฐมนตรียังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะยุบสภาได้ในขณะนี้เพราะสภาผู้แทนราษฎรยังคงทำงานได้ตามปกติและสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้ทำความผิดอะไรที่จะต้องไป “ลงโทษ” สภาผู้แทนราษฎรด้วยการยุบสภาครับ!!!
       ก่อนหน้าที่จะมีการปิดการจราจรที่สี่แยกราชประสงค์ เกิดการเจรจาขึ้นระหว่างรัฐบาลและตัวแทนของคนเสื้อแดง การเจรจาจบลงตรงที่ว่า ฝ่ายรัฐบาลยอมที่จะยุบสภาภายใน 9 เดือน ในขณะที่ฝ่ายเสื้อแดงต้องการให้นายกรัฐมนตรียุบสภาภายใน 15 วัน ดังนั้น การเจรจา 2 ครั้งที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้ข้อยุติ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลก็ได้นำเสนอแผนงานของรัฐบาลออกมาเพื่อสนับสนุนตัวเลข 9 เดือนคือ วันที่ 19 กรกฎาคม ออกเสียงประชามติประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 28 กรกฎาคม รัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 20 พฤศจิกายน ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ วันที่ 21 พฤศจิกายน ยุบสภา และเลือกตั้งใหม่ในเดือนมกราคมปีหน้าครับ
       ก็ไม่ทราบว่า ในที่สุดแล้ว ฝ่ายเสื้อแดงจะยอมรับตัวเลข 9 เดือนตามแผนงานของรัฐบาลข้างต้นหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ก็คงไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเราเท่าไรนัก เพราะในสายตาของนักกฎหมายมหาชน สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ หากจะต้องแก้รัฐธรรมนูญจะแก้ในประเด็นใดและโดยใครครับ!!!
       รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 เป็นรัฐธรรมนูญที่สร้างความขัดแย้งในสังคมมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติเพื่อ “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาในวันนี้ส่วนหนึ่งก็มาจากประเด็นของการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกัน ผมคงไม่ต้องอรรถาธิบายเรื่องดังกล่าวเพราะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลที่ผ่านมา 2 รัฐบาลพยายามที่จะเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จเพราะถูกคัดค้าน “ทั้งในและนอกสภา” ครับ ในสมัยรัฐบาลปัจจุบัน คณะกรรมาธิการของรัฐสภาเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น แต่พรรคการเมืองฝ่ายค้านก็ไม่ร่วมด้วย เรื่องก็เลยเงียบไป วันนี้ รัฐบาลยกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาโดยบอกว่า หากจะยุบสภาก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนครับ ก็ไม่ทราบแน่ชัดว่า การยกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาจะเป็นการ “ซื้อเวลา” หรือเป็นการ “มองเห็นความจำเป็น” ที่จะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแน่ แต่ในส่วนตัวนั้น ผมเคยเสนอเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเอาไว้หลายครั้งแล้วเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีข้อบกพร่องอยู่มากมายหลายประการและไม่เหมาะที่จะถูกนำมาใช้ในระยะยาว แต่ในครั้งนี้ ผมคิดว่าเราจำเป็นที่จะต้อง “ยกเครื่อง” รัฐธรรมนูญกันใหม่ หากเราต้องการที่จะ “ออกจากสถานการณ์” แบบนี้ได้อย่างถาวรครับ!!
       ทำไมเราถึงต้องทำการยกเครื่องรัฐธรรมนูญใหม่ ?? ผมให้คำตอบได้ครับ ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การชุมนุมของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ได้แสดงให้เราเห็นได้ชัดว่า สภาพสังคมที่เป็นอยู่ในประเทศไทยมีความ “เหลื่อมล้ำ” อยู่มาก คำว่า “ไพร่” และ “อำมาตย์” ถูกนำมาใช้ใน “สงคราม” ครั้งล่าสุดที่แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในสังคมซึ่งจริง ๆ แล้วความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้น ระหว่างคนเมืองหลวงกับคนในชนบทมีมานานแล้วและรอวันระเบิดมานานเช่นกัน เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปสร้างงานและให้สวัสดิการกับคนชนบทผู้ยากจนและทำให้คนเหล่านั้น “มีตัวตน” ขึ้นมาอันเป็นการกระทำที่ “แตกต่าง” ไปจากรัฐบาลก่อน ๆ ที่ทุกอย่างรวมอยู่ที่ส่วนกลางและให้ความสำคัญกับชาวบ้านน้อย คนชนบทผู้ยากจนจึงเหมือนกับถูกต้อนให้เข้าไปอยู่ในมุมที่มืดอับ สกปรก เพราะฉะนั้น หากจะแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมดังกล่าวได้ก็ต้องแก้ที่ “ระบบ” และนำคนชนบทผู้ยากจนออกมายืนคู่กับคนเมืองหลวงในระดับที่เท่าเทียมกันครับ!!!
       มีเสียงพูดถึงการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน แนวทางนี้คงจะแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เป็นอยู่ในวันนี้เวลานี้ไม่ได้ เพราะจะให้คนเสื้อแดงรอไปอีกเป็นปีคงไม่ไหวเป็นแน่ แต่อย่างไรก็ตาม หากจะต้องคิดเผื่อไว้ว่า ถ้าคนเสื้อแดงแพ้ และรัฐบาลต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม หรือรัฐบาลตกลงกับคนเสื้อแดงได้ว่าจะยุบสภาภายใต้เงื่อนเวลาที่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ก็คงมีอยู่ 2 เรื่องที่ต้องทำสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่ เรื่องแรกก็คือ เนื้อหาของรัฐธรรมนูญกับเรื่องที่สองคือ องค์กรที่จะเข้ามาปฏิรูปการเมืองครับ
       เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่จะต้องแก้ไขเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมมีอยู่หลายเรื่อง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเกิดขึ้นมาในบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจนักการเมือง จึงมีบทบัญญัติที่มุ่งเน้นในการจัดโครงสร้างของรัฐและกระบวนการตรวจสอบการใช้อำนาจอยู่มาก ก่อนหน้าที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะใช้บังคับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ใช้นโยบายประชานิยมจนชนะใจคนจำนวนมาก เนื่องจากคนเหล่านั้น “ขาด” สิ่งที่ควรจะต้องได้เป็นเวลานาน การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการ “ให้” ประชาชนทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันจึงเป็นสิ่งจำเป็นและสามารถทำได้โดยผ่าน “ผู้แทน” ที่มาจากประชาชนจริง ๆ ไม่ใช่ “ผู้แทน” ที่เป็น “ตัวแทน” หรือ “เป็นสมบัติ” ของหัวหน้าพรรคการเมืองหรือนายทุนทางการเมือง เพราะผู้แทนราษฎรที่เป็นของพรรคการเมืองก็ย่อมต้องเข้าไปเขียนกฎหมายเพื่อพรรคการเมืองและนายทุนทางการเมือง ดังนั้น โจทย์แรกที่ต้องการคำตอบก็คือ ทำอย่างไรที่จะได้ผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรอย่างแท้จริง เพราะหากเราได้คนที่เป็นผู้แทนของราษฎรอย่างแท้จริง คนเหล่านี้ก็ย่อมจะต้องคำนึงถึงราษฎรเป็นหลัก เข้าไปเขียนกฎหมายเพื่อแก้ไขความเหลื่อมล้ำในสังคม เข้าไปเขียนกฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรของประเทศและประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ราษฎรทุกคนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน หากทำได้ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมก็จะค่อย ๆ หายไป เพราะฉะนั้น หากจะแก้รัฐธรรมนูญใหม่ ผู้ที่จะเข้าไปทำการยกร่างรัฐธรรมนูญก็จะต้องคิดค้นหาวิธีการได้มาซึ่งสมาชิกรัฐสภาใหม่ทั้งระบบ เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ผู้แทนของราษฎรอย่างแท้จริง” โดยส่วนหนึ่งแล้วคงต้องพิจารณาถึงการกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมืองเพื่อที่จะให้ “หลุด” ออกจากการครอบงำของพรรคการเมืองและนายทุนของพรรคการเมือง ส่วนสมาชิกวุฒิสภานั้นมีแบบอย่างจากหลายประเทศที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามาจากตัวแทนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือมาจากตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ผมมองว่าการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาด้วยวิธีการเลือกตั้งไม่ได้เป็นสิ่งที่ดีเลย เพราะจากที่เคยเกิดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 พรรคการเมืองก็ได้เข้าไป “ครอบงำ” สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้งจำนวนหนึ่งจนทำให้วุฒิสภาไม่สามารถทำงานได้สมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
       เมื่อเรา “หาวิธี” ที่จะทำให้สมาชิกรัฐสภามาจากประชาชนทุกระดับได้อย่างจริงจังแล้ว ก็ควรที่จะต้องมองในเรื่องต่อไปที่สำคัญคือ การสร้างความเท่าเทียมกันในสังคม ดังนั้น สิ่งต่อมาที่รัฐธรรมนูญควรกำหนดเอาไว้ก็คือ กำหนดประเภทของการจัดสรรทรัพยากรและผลประโยชน์ต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนประชานิยมที่ทำโดยพรรคการเมืองให้กลายมาเป็นสวัสดิการประเภทต่าง ๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจนเพื่อป้องกันมิให้พรรคการเมืองนำเรื่องดังกล่าวไปใช้ประโยชน์แต่เพียงพรรคหนึ่งพรรคใด ซึ่งก็คือพยายามทำนโยบายประชานิยมให้เป็นสวัสดิการของประชาชนที่มีรัฐธรรมนูญรองรับ รัฐธรรมนูญใหม่ควรกำหนดเอาไว้เลยว่า รัฐบาลต้องให้อะไรกับประชาชนบ้างและจะเอาเงินมาจากไหน ซึ่งในประเด็นหลังนี้ รัฐธรรมนูญจะต้องมีบทบัญญัติที่มีผลเป็นการปรับระบบภาษีใหม่ทั้งหมดโดยกำหนดประเภทของภาษีอากรสำคัญ ๆ ที่รัฐจำต้องเก็บจากประชาชน เช่น ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน รวมทั้งยังต้องทำให้มีสภาพบังคับ เช่น กำหนดไว้ว่าต้องทำเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญและจะต้องทำกฎหมายดังกล่าวให้เสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดครับ
       นอกจากนี้แล้ว ควรทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นใหม่ โดยลดความสำคัญของส่วนภูมิภาคลงและสนับสนุนการปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้คนชนบทผู้ยากจนได้มีสิทธิมีเสียงและมีโอกาสในสังคมมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันครับ
       ส่วนที่ว่าองค์กรใดจะเป็นผู้เข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผมเคยเสนอเอาไว้หลายครั้งแล้ว ขอได้โปรดย้อนกลับไปดูบทบรรณาธิการเก่า ๆ โดยเฉพาะบทบรรณาธิการ ครั้งที่ 197 ซึ่งผมได้เสนอให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่งเพื่อทำเรื่องดังกล่าว ลองไปอ่านดูแล้วกันครับ
       ในวันนี้ แม้คนเสื้อแดงจะ “แพ้” แต่ประเทศไทยก็ได้เปลี่ยนโฉมไปแล้ว ผมเข้าใจว่าคนเสื้อแดงไม่ได้ต้องการตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่ต้องการ คนแบบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เห็นคนชนบทผู้ยากจน ในฐานะที่เป็น “ไพร่” มีตัวตน มีสติ ปัญญา มีสถานะ และมีความเสมอภาคเทียบเท่ากับชนชั้นนำผู้มีอำนาจในสังคมหรือที่เรียกกันในวันนี้ว่า “อำมาตย์” ครับ!!!
       ถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้ ก็พอมองเห็น “ทางออก” จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในวันนี้ได้ครับ!!!
       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอสองบทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของอาจารย์ ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่เขียนเรื่อง “ถึงเวลาวิพากษ์ พรบ.ความมั่นคงฯ อย่างจริงจังกันเสียที” บทความที่สองเป็นบทความที่เขียนเป็นภาษาอังกฤษของ คุณปีดิเทพ อยู่ยืนยง นักศึกษาปริญญาโทหลักสูตร LLM Business Law 2009, De Montfort University, Leicester ประเทศอังกฤษ ที่เขียนเรื่อง “Light Pollution Effects and Legal Problems in England” ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 26 เมษายน 2553
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1453
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:09 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)