ถึงเวลาวิพากษ์ พรบ.ความมั่นคงฯ อย่างจริงจังกันเสียที

10 เมษายน 2553 20:54 น.

       ปรากฏการณ์การชุมนุมเรียกร้องให้คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ยุบสภาโดยกลุ่มคน “เสื้อแดง” ผู้เขียนเห็นว่า มีประเด็นหนึ่งที่พึงต้องนำมาวิพากษ์และถกเถียงกันอย่างจริงจัง นั่นคือ การประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กับการใช้เสรีภาพการชุมนุม (Freedom of Assembly) ของประชาชน
       ตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง รัฐมิอาจที่จะเข้าไปก้าวล่วงด้วยการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้เลย อย่างไรก็ตาม มีบางกรณีที่กฎหมายรัฐธรรมนูญได้ผ่อนคลายหลักการข้างต้นด้วยการอนุญาตให้รัฐสามารถดำเนินการจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้หากปรากฏว่า การเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพอยู่บนผลประโยชน์มหาชน เช่น เพื่อความมั่นคงของประเทศ (National Security) เพื่อความสงบเรียบร้อยสาธารณะ (Public Order) หรือเพื่อประโยชน์ทางด้านสาธารณสุข (Public Health) เป็นต้น การนี้เองจึงส่งผลให้ฝ่ายนิติบัญญัติสามารถดำเนินการตรากฎหมายขึ้นเพื่อจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพข้างต้นได้ ทั้งนี้ โดยผ่านการบังคับใช้ของฝ่ายบริหารนั่นเอง
       หลักการข้างต้นดูราวกับว่าจะไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะโดยหลักแล้วรัฐไม่สามารถเข้าไปขัดขวางการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ เว้นแต่จะต้องด้วยข้อยกเว้นที่ว่าการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนส่งผลกระทบต่อสาธารณะ
       
       แต่คำถามคือ แล้วเมื่อใดจะถือได้ว่าเป็นกรณีที่ประชาชนได้ใช้สิทธิเสรีภาพของตนไปเป็นการกระทบต่อสาธารณะอันส่งผลให้รัฐเข้ามาจำกัดการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้?
       
ประเด็นดังกล่าวควรพินิจพิเคราะห์เป็นอย่างมากหากนำมาพิจารณาควบคู่กับกรณีการใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะเพื่อเรียกร้องในทางการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเรียกร้องต่อรัฐบาล กล่าวคือ หากวิเคราะห์ในแง่มิติทางการเมืองจะเห็นได้ว่ากรณีเป็นการเผชิญหน้ากันของประชาชนในฐานะผู้ใช้เสรีภาพตามหลักการใหญ่ตามรัฐธรรมนูญ กับภาครัฐในฐานะของผู้จำกัดการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามข้อยกเว้น (Exception) กล่าวอีกนัยหนึ่ง ฝ่ายหนึ่งคือ ประชาชนที่ใช้เสรีภาพการชุมนุมด้วยการออกมาเดินขบวนประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งคือ รัฐบาลที่มี “กฎหมาย” ซึ่งตราขึ้นโดยรัฐสภาอยู่ในมืออันมีผลในการ “ตีกรอบ” การเรียกร้องดังกล่าวได้
       สำหรับผู้เขียนแล้วเห็นว่า ปัญหาในการจัดการการใช้เสรีภาพในการชุมนุมสาธารณะของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเสรีภาพในการชุมนุมถือเป็นกลไกในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชนอันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งของระบอบประชาธิปไตยที่รัฐธรรมนูญได้รับรองและคุ้มครองให้ แต่เสรีภาพดังกล่าวกลับถูกจำกัด “เกินสมควร” ไปโดยมิบังควรอย่างยิ่งด้วยการ “ประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ” โดยรัฐบาลด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อต้องการเข้ามาดูแลการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบเท่านั้น การบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวมิได้มีเจตนาที่จะเข้าไปทำการอันเป็นการกระทบต่อเสรีภาพของการชุมนุมแต่อย่างใด หากแต่เป็นเพียงมาตรการป้องกันและควบคุมมิให้เกิดความรุนแรง เช่น อาจมีการตรวจตราอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ที่เข้มข้น เป็นต้น เหตุผลดังกล่าวฟังไม่ขึ้นแต่อย่างใด
       ในทัศนะของผู้เขียน การประกาศใช้ พรบ. ความมั่นคงฯ ของรัฐบาลเพื่อจัดการกับการชุมนุมสาธารณะอาจจะขัดกับหลักการอย่างน้อย ๓ ประการ ด้วยกันคือ
       ๑. ขัดกับวัตถุประสงค์ของ พรบ. ความมั่นคงฯ
       
โดยธรรมชาติ “กฎหมายความมั่นคง” ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้ในการจัดการกับการชุมนุมสาธารณะ แต่มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในเรื่องของความมั่นคงภายในประเทศอันเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับภัยความรุนแรง เช่น เกิดการจราจลครั้งใหญ่เกิดขึ้น เป็นต้น เมื่อเป็นการชุมนุมสาธารณะเพื่อเรียกร้องทางการเมือง คงมิอาจกล่าวได้ว่า กรณีเป็นเรื่องภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ เว้นแต่ จะเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนเลยว่า การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองมีการใช้อาวุธยุทธโธปกรณ์ต่างๆ มีการเผาสถานที่ต่างๆ หรือกระทำใดๆ ทำนองดังกล่าว เป็นต้น
       คำถามคือ แล้วจะส่งผลอะไรหากรัฐบาลประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ กับการชุมนุมสาธารณะ? คำตอบคือ เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์ของ พรบ.ความมั่นคงฯ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อรับมือกับภัยที่ร้ายแรงภายในประเทศตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้างต้น จึงส่งผลให้โครงสร้างของกฎหมายดังกล่าวมีลักษณะของการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่มีความ “เข้มข้น” มากกว่ากฎหมายทั่วไปอันเป็นการไม่เหมาะสมอย่างยิ่งหากนำมาใช้กับการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามปกติ
       ทั้งนี้จะเห็นได้จากมาตรา ๑๘ ของ พรบ.ความมั่นคงฯ ที่ให้อำนาจรัฐสามารถห้ามบุคคลใดๆ ในการกระทำการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้า หรือออกอาคารสถานที่ต่างๆ หรือแม้กระทั่งสั่งห้ามใช้เส้นทางในการคมนาคมอันนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลปัจจุบันที่ประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ ในวันที่ ๒๓ มีนาคม ที่ผ่านมาซึ่งส่งผลให้ทั้งทหารและตำรวจจำนวนมากเข้ารักษาการณ์ ณ ถนนต่างๆ รวมทั้งด้านหน้ารัฐสภาพร้อมทั้งตั้งรั้วลวดหนามและเครื่องกั้นคอนกรีตไว้อย่างเพรียบพร้อม ซึ่งนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา ระบุว่า เป็นการทำให้กระทบต่อการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่? สมควรแล้วหรือ? เกินกว่าเหตุหรือไม่อย่างไร?
       ๒. ขัดกับหลักนิติรัฐ
       
หลักนิติรัฐ (Legal State) ถือเป็นหลักการที่สำคัญในประเทศเสรีประชาธิปไตย อีกทั้งในประเทศไทยเองก็ได้บัญญัติหลักการนี้ไว้แล้วโดยประจักษ์ชัดในรัฐธรรมนูญมาตรา ๓ ซึ่งเป็นหลักการที่ผูกพันกับ ๓ องค์กรหลักที่ใช้อำนาจอธิปไตยไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล รัฐสภา และศาล
       หลักนิติรัฐนี้ประกอบไปด้วยหลักการย่อยต่างๆ มากมายโดยหลักการย่อยหนึ่งที่สำคัญคือ หลักพอสมควรแก่เหตุ โดยหลักการดังกล่าวนี้มีความหมายว่า แม้ว่าจะมีกฎหมายในการให้อำนาจกับรัฐในการออกมาตรการใดๆ มาเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลก็ตาม แต่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพดังกล่าวจำต้องทำไปตราบเท่าที่ไม่เกินสมควรแก่เหตุ ซึ่งหากนำเอาการประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ เพื่อมารับมือกับการชุมนุมสาธารณะของประชาชนมาพิเคราะห์แล้ว ผู้เขียนเห็นว่าเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่เกินกว่าเหตุ
       ตามที่ได้อธิบายมาแล้วในข้อแรกที่ว่า โดยสภาพแล้วการประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงกับการชุมนุมสาธารณะนั้นเป็นกรณีการเลือกเครื่องมือที่มาจัดการแบบ “ฝิดฝาฝิดตัว” ดังนั้น จึงเห็นได้อย่างชัดแจ้งแล้วว่า มาตรการที่เกิดขึ้นเป็นการเลือกใช้มาตรการที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อรัฐบาลเลือกใช้เครื่องมือที่มีอนุภาพรุนแรงโดยสภาพแล้ว มาตรการที่เกิดมาจากเครื่องมือดังกล่าวย่อมไม่ได้สัดส่วน (Disproportionate) อันเหมาะสมกับการสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
       สามารถอธิบายให้ผู้อ่านเข้าใจได้โดยง่ายว่า เมื่อรัฐบาลนำเอาเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับการก่อการจราจลที่รุนแรงอันนำไปสู่ภัยต่อความมั่นคงภายในประเทศมาใช้จัดการกับการชุมนุมสาธารณะ อาจเปรียบได้กับเป็นการ “ขี่ช้างจับตั๊กแตน” อันเป็นการเกินกว่าเหตุอย่างเห็นได้ชัด การประกาศ พรบ.ความมั่นคงฯ อันนำไปสู่มาตรการการจำกัดเสรีภาพการชุมนุมที่เกินกว่าเหตุย่อมเป็นการขัดกับหลักนิติรัฐ และยิ่งเป็นการไม่เหมาะสมเลย หากปรากฏว่าการชุมนุมข้างต้นเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธอันได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ หาใช่กรณียกเว้นการบังคับใช้หลักนิติรัฐไม่
       ๓. ขัดกับหลัก “การขัดกันของผลประโยชน์ในแง่การใช้อำนาจทางการเมือง”
       แม้จะสมมติว่า พรบ.ความมั่นคงฯ ไม่มีปัญหาในเรื่องของวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกับการจัดการกับการชุมนุมสาธารณะตามข้อแรกก็ตามที อย่างไรก็ดี ก็ยังคงมีปัญหาในเรื่องของตรรกะที่ไร้เหตุผลอย่างมากอยู่หากมีการประกาศใช้กับการชุมนุมทางการเมือง
       กล่าวคือ เป็นเรื่องน่าขันหากมีกฎหมายใดๆ ที่ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารในการดำเนินการ “จำกัดการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจตนเอง” ซึ่งกรณีนี้คือ การชุมนุมสาธารณะเพื่อเรียกร้องของประชาชน กล่าวอีกนัยหนึ่ง รัฐบาลพึงต้องตระหนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นกรณีของการชุมนุมสาธารณะเพื่อเรียกร้องทางการเมืองต่อรัฐบาล ว่าตนเองถือเป็น “ผู้มีส่วนได้เสียทางการเมืองโดยตรง” เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเรียกร้องของประชาชน ดังนั้น จึงเกิดการตั้งคำถามจากบุคคลต่างๆ แน่นอนถึง “ความน่าเชื่อถือ” หรือ “ความชอบธรรม” ในการประกาศใช้กฎหมาย ว่ารัฐบาลพยายามที่จะใช้กฎหมายเพื่อปราบปราม หรือ “ทำหมันการชุมนุมของประชาชน” ที่กำลังตรวจสอบและต่อต้านตนเองอยู่หรือไม่อย่างไร ถึงแม้ว่ารัฐบาลอาจจะประกาศใช้ด้วยความบริสุทธิ์ใจจริงก็ตามที
       หากพิจารณาให้ดีแล้วจะเห็นได้ว่าในประเด็นดังกล่าวข้างต้นถือเป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงมากต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ทั้งนี้เนื่องจากว่า พรบ.ความมั่นคงฯ จะกลายเป็น “เครื่องมือในการขจัดศัตรูทางการเมือง” ด้วยการป้องกันการชุมนุมคัดค้านรัฐบาลโดย “เจ้าของอำนาจอธิปไตย” เอง เพราะโดยสภาพแล้ว กฎหมายดังกล่าวเอื้อต่อรัฐบาลในการประกาศใช้เพียงเพราะการใช้โวหารที่ว่า “กรณีรัฐบาลจำต้องรักษาความสงบเรียบร้อย” หรือ “กรณีรัฐบาลจำต้องรักษาความมั่นคงภายใน” อันเป็นเรื่องที่ตรวจสอบได้ยากอยู่แล้วว่าเมื่อใดเราจะถือได้ว่าเป็นกรณีกระทบกับความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของประเทศ จึงไม่แปลกประหลาดใจเลยที่กฎหมายดังกล่าวจะได้กลายสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญเสียอีก กล่าวคือ เป็นการทำลายเสรีภาพในการชุมนุมของประชาชนไป
       อนึ่ง นอกจากการประกาศใช้ พรบ. ความมั่นคงฯ กับการชุมุนมดังกล่าวจะถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ยังอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันผู้ชุมนุมและส่งผลให้เกิดความรุนแรงได้อีกด้วย ทั้งนี้เพราะผู้ชุมนุมอาจมีความคิดว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมในแง่ของการรับรองเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญโดยรัฐ
       ตามที่ผู้เขียนได้วิเคราะห์หลักการประกาศใช้ พรบ.ความมั่นคงฯ เพื่อมาจัดการกับการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งการชุมนุมเพื่อเรียกร้องในทางการเมืองต่อรัฐบาลข้างต้นนั้นมีปัญหาเป็นอันมาก เนื่องจากเป็นการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ถือเป็นการใช้กฎหมายเข้าจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินไป อีกทั้งโครงสร้างของกฎหมายดังกล่าวก็เอื้อต่อการใช้อำนาจของรัฐโดยปราศจากการถ่วงดุล เช่น การขยายเวลาในการบังคับใช้ก็เพียงแค่ขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ในขณะที่ต่างประเทศจำต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ฉะนั้น จึงเป็นการบั่นทอนต่อหลักนิติรัฐและระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยเป็นอย่างยิ่ง
       นอกจากนี้ แม้ว่าในอนาคตจะได้มีการตรากฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะมาบังคับใช้เป็นการเฉพาะก็ตามที แต่หากมิได้ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวแล้ว กฎหมายชุมนุมฯ ก็คงมิได้ถูกนำมาบังคับอย่างมีประสิทธิภาพนัก ทั้งนี้ เพียงเพราะหากรัฐบาลประกาศว่าการชุมนุมนั้นกระทบต่อความมั่นคงของรัฐจึงขอประกาศใช้ พรบ. ความมั่นคงฯ เพื่อจัดการกับการชุมนุมดังกล่าวก็เป็นอันจบกัน กรณีนี้เป็นการถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่อย่างไร? ในแง่นี้ กฎหมายความมั่นคงฯ ก็คงมีไว้เพื่อ “รักษาความมั่นคงของรัฐบาล” มากกว่าเป็นการ “รักษาความมั่นคงของรัฐ” นั่นเอง


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1451
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 23:03 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)