|
|
สหภาพยุโรป : กำเนิด พัฒนาการ และการเข้าร่วมของประเทศตุรกี โดย นางสาวปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ 16 ธันวาคม 2547 12:10 น.
|
บทความชิ้นนี้เขียนโดยมี "แรงบันดาลใจ" จากการเข้าเรียนวิชากฎหมายยุโรปในวันแรกและได้รับการเรียกให้ตอบคำถามเป็นจำนวนมากเกี่ยวกับการรวมกลุ่มกันของสหภาพยุโรป จึงมีความคิดว่าน่าจะเขียนบทความง่ายๆในหัวข้อดังกล่าวนี้เพื่อเป็นเกร็ดสำหรับนักศึกษากฎหมายไทย รวมทั้งผู้ที่มีความสนใจหรืออาจจะเคยได้ยินคำว่า "สหภาพยุโรป" มาบ้าง แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดต่างๆเกี่ยวกับสหภาพยุโรป รวมทั้งในวงการหนังสือตำราของไทยเอง ก็พบว่าหนังสือในหัวข้อดังกล่าวเป็นหนังสือวิชาการเล่มหนาซึ่งต้องใช้เวลาอ่านมากพอสมควร จึงขอถือเอาบทความนี้เป็นการ "ปูพื้น" ความเข้าใจเบื้องต้นในเรื่องดังกล่าว เพื่อเป็นการจุดประเด็นให้มีการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมต่อไป
สหภาพยุโรปและกฎหมายยุโรปในสายตาของวงการกฎหมายไทยดูจะเป็นอะไรที่ "แปลก"และ "ใหม่" ทั้งนี้ เนื่องมาจากประเทศไทยเป็นประเทศในแถบเอเชีย ซึ่งดูเหมือนว่าจะห่างไกลกับทวีปยุโรป ประการหนึ่ง กับอีกประการหนึ่งก็คือนักกฎหมายไทยบางส่วนยังคงมองไม่เห็นความสัมพันธ์และความเกี่ยวเนื่องของกฎหมายยุโรปและกฎหมายไทย ซึ่งจะว่าไปแล้วประเทศไทยของเราเองก็ได้ "สัมผัส"ความยิ่งใหญ่ของสหภาพยุโรปอย่าง "เต็มๆ" เมื่อตอนสหภาพยุโรปสั่งห้ามนำเข้าไก่ไทยเนื่องจากสาเหตุไข้หวัดนก ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วในวงการวิชาการกฎหมายก็ได้มีการเปิดการเรียนการสอนวิชากฎหมายยุโรปไปบ้างโดยการเปิดเป็นวิชาเลือก ซึ่งก็พบว่าจำนวนนิสิตนักศึกษากลุ่มใหญ่หันไปสนใจวิชาเลือกที่ "คุ้นเคย", สามารถใช้ในการเตรียมสอบเนติบัณฑิตไทย หรือการเตรียมตัวเข้าทำงานมากกว่าที่จะเลือกรายวิชาที่เน้นหนักไปในทางวิชาการอย่างเช่นกฎหมายยุโรป
บทความชิ้นนี้จะขอกล่าวถึงการรวมตัวของ "สถาบัน" ของสหภาพยุโรปเป็นการคร่าวๆเพื่อเป็นการ "ดึง" ผู้อ่านเข้าสู่รายละเอียดข่าวคราวความเคลื่อนไหวของสหภาพุโรป การรวมตัวกันของสภาพยุโรปมีจุดประสงค์หลักในครั้งแรกเพื่อเป็นการรวมตัวในทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นการ "คาน"อำนาจของสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น แต่ต่อมาจุดประสงค์เริ่มแรกนี้ก็ขยายไปเป็นการคุ้มครองในด้านอื่นๆ เข่น สิทธิมนุษยชน แนวคิดในการก่อตั้งสหภาพยุโรปมีขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง และได้มีการเจรจาและตกลงกันหลายครั้ง ตลอดจนมีการลงนามในสนธิสัญญาต่างๆที่เป็นความตกลงในภูมิภาค โดยการร่วมมือดังกล่าวมี "หัวหน้าใหญ่" คือ Robert Schuman ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของฝรั่งเศสในขณะนั้น (ปี 1950) ในการก่อตั้ง Commaunauté européenne de charbon et de l'acier ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างฝรั่งเศสและเยอรมัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมมือระดับภูมิภาคยุโรป ภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง
การเติบโตของสหภาพยุโรปเป็นไปอย่าง "ค่อยๆเป็นค่อยๆไป"ในปีถัดมา ประเทศผู้นำสมาชิก 6 ประเทศ หรือตามที่ศัพท์ในวงการสหภาพยุโรปเรียกว่า l'europe de six ซึ่งหมายถึง เบลเยี่ยม เยอรมัน อิตาลี ลักเซมเบอร์ก เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาปารีส ( Traité de Paris ) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ตกลงในการหมุนเวียนสินค้าจำพวกผลิตภัณฑ์คาร์บอน อย่างเสรีในภูมิภาค ทำให้การหมุนเวียนสินค้าดังกล่าวไม่ได้จำกัดอยู่แต่ในประเทศฝรั่งเศสและเยอรมันตามที่ทั้งสองประเทศลงนามในสัญญาเมื่อปี 1950 อีกต่อไป ต่อมาประเทศผู้นำสมาชิกทั้ง 6 ประเทศนี้ก็ได้มีการลงนามในสนธิสัญญาโรม ( Traité de Rome ) เพื่อเป็นการตกลงกันในด้านตลาดกลางยุโรป ซึ่งการลงนามในสนธิสัญญาโรมนี้ก็ได้ก่อให้เกิดสถาบันของยุโรปที่ควบคุมในด้านต่างๆ เช่น ด้านพลังงาน เศรษฐกิจ เป็นต้น ในปี 1973 สหภาพยุโรปฏ็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 9 ประเทศจากการเข้าร่วมของเดนมาร์ก สหราชอาณาจักร และไอร์แลนด์ ซึ่งในช่วงระหว่างปี 1973-1980 สหภาพยุโรปมีการตกลงกันในเรื่องของระบบการบริหารภายใน การประชุมของผู้นำรัฐ รวมทั้งระบบการเงิน ทำให้มีการเลือกตั้งสภายุโรปครั้งแรกในปี 1979 ซึ่งต่อมาอีกสองปีก็มีการเข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 10 ของกรีก และการเข้าร่วมเป็นลำดับที่ 11 และ 12 ของสเปนและโปรตุเกสในเวลาต่อมา
สนธิสัญญาฉบับล่าสุดที่อาจถือเป็นการ "ก่อตั้ง"สหภาพยุโรปคือ สนธิสัญญามาสทริชต์ ( Traité de Maastricht ) ในปี 1992 ซึ่งก็ได้รับการแก้โดยสนธิสัญญาอัมสเตอร์ดัม ( Traité d'Amsterdam ) ในปี 1997 สนธิสัญญามาสทริชต์เป็นสนธิสัญญาที่ "ดึง"ให้ประเทศที่ 13 14 และ 15 คือ ออสเตรีย ฟินแลนด์ และสวีเดน เข้าร่วมเป็นสมาชิกในสหภาพยุโรป ปัจจุบันสหภาพยุโรปมีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 25 ประเทศจากการ "เตรียมการ" ตั้งแต่ปี 2001 โดยลงนามในสนธิสัญญานีซ ( Traité de Nice ) โดยประเทศที่เข้าร่วมในภายหลังนี้จะเป็นประเทศในกลุ่มยุโรปตะวันออก เช่น สาธารณรัฐเชก เป็นต้น โดยปัจจุบันมีการถกเถียงกันมากถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 26 ของตุรกี
สถาบันหลักของสหภาพยุโรปมีอยู่ด้วยกัน 4 สถาบัน คือ คณะมนตรียุโรป ( Le Conseil Européene) คณะมนตรีสหภาพยุโรป ( Le Conseil de l'Union Européene) คณะกรรมาธิการยุโรป ( La Commission Européene) และ สภายุโรป (Le Parlement Européene) สำหรับสถาบันอื่นๆที่มีความสำคัญไม่แพ้กันอีก 7 สถาบัน คือ ธนาคารกลางยุโรป ( La Banque Centrale Européene) ธนาคารแห่งการลงทุนยุโรป (La Banque Européene d'Invertissement) ศาลยุโรป (La Cour de justice) คณะกรรมการบริหารด้านเศรษฐกิจและสังคม ( Le Comité économique et social ) ศาลบัญชี ( La Cour des compes) คณะกรรมการบริหารภูมิภาค (Le Comité des Régions) และผู้ตรวจการยุโรป (Le Médiateur Européene)
สำหรับหน้าที่ของสถาบันหลัก 4 สถาบันของยุโรปนั้น คณะมนตรียุโรป ( Le Conseil Européene) จะเป็นที่ที่ผู้นำรัฐมาประชุมกันทุก 6 เดือน ซึ่งต่างกับการประชุมกันของ คณะมนตรีสหภาพยุโรป ( Le Conseil de l'Union Européene) ซึ่งเป็นการประชุมกันของรัฐมนตรีแต่ละชาติโดยขึ้นอยู่กับประเด็นในการประชุมแต่ละครั้ง Le Conseil de l'Union Européene จะเป็นผู้ตัดสินใจในการปรับใช้กฎหมายยุโรป
ส่วนคณะกรรมาธิการยุโรป ( La Commission Européene) จะเป็นที่รวมกันของสมาชิกที่ได้รับเลือกมาจากรัฐสมาชิก มีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี La Commission Européene จะมีหน้าที่ในการเสนอร่างกฎหมาย การตกลงเจรจาระหว่างรัฐ รวมทั้งมีอำนาจในทางการบริหารซึ่งต้องรับผิดชอบต่อสภายุโรป หรือ Le Parlement Européene ซึ่งเป็นสถาบันที่มีสมาชิกในสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงตามสัดส่วนประชากรของประเทศสมาชิกในทุก 5 ปี (การเลือกตั้งครั้งล่าสุดคือ มิ.ย. 2004) สภายุโรปมีหน้าที่ในการควบคุมการกระทำของคณะกรรมาธิการยุโรป และเป็นสถาบันที่มีหน้าที่ตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวกับงบประมาณของยุโรป จึงถือได้ว่าสภายุโรปมีหน้าที่ในทางนิติบัญญัติเช่นเดียวกับคณะมนตรีสหภาพยุโรป
การแทรกแซงของสหภาพยุโรปในรัฐสมาชิกมีอยู่ด้วยกันหลายประการ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่าการรวมตัวกันของสหภาพยุโรปมีจุดประสงค์เบื้องต้นในการรวมตัวกันในด้านเศรษฐกิจ ดังนั้น การแทรกแซงของสหภาพยุโรปในรัฐสมาชิกจึงเน้นหนักไปในทางด้านเศรษฐกิจ เช่น การควบคุมด้านศุลกากร การแข่งขันทางการค้า การเงินและงบประมาณ สำหรับบทบาทของสหภาพยุโรปที่บ้านเรารู้จักดีนอกจากการห้ามนำเข้าไก่ไทยแล้ว ก็ยังมีการใช้เงินยูโร และการวีซ่าเชนเกน (Schengen) ซึงประการหลังนี้ถือเป็นการอำนวยความสะดวกสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งมีความประสงค์ในการท่องยุโรปโดยการขอวีซ่าแค่เพียงครั้งเดียวจากรัฐสมาชิกที่ตกลงในข้อตกลงเชนเกน
ดังนั้น จึงจะเห็นได้ว่าการรวมกลุ่มกันของสหภาพยุโรปทำให้ประเทศสมาชิกได้รับประโยชน์หลายอย่าง จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่าประเทศต่างๆในยุโรปจะมีความสนใจในการรวมกลุ่ม ดังนั้น สหภาพยุโรปจึงมีการ "กลั่น" และ "กรอง" การเข้าร่วมของประเทศสมาชิกค่อนข้างจะเข้มงวด จึงเป็นที่มาของประเด็นการถกเถียงถึงการเข้าร่วมของประเทศที่ 26 คือ ตุรกี
ก่อนหน้าการเข้าร่วมของตุรกีนั้น สหภาพยุโรปได้ "เปิดรับ"ประเทศทางยุโรปตะวันออก 10 ประเทศซึ่งมาจากการเตรียมตัวอยู่นาน สำหรับตุรกีเอง ก็ได้มีความสนใจในการเข้าร่วมกับสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 1963 และตุรกีเองก็ได้มีการทำข้อตกลงรวมทั้งทำตามเงื่อนไขที่สหภาพยุโรปวางไว้โดยตลอด เช่น การศุลกากร แต่สาเหตุที่ตุรกียังไม่ได้รับการยอมรับเข้ามาเป็นประเทศที่ 26 ของสหภาพยุโรปนั้นก็เนื่องมาจากว่า แม้ว่าประเทศตุรกีจะเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่และมีประวัติอันยาวนานในประวัติศาสตร์โลกก็ตาม แต่ตุรกีก็มีปัญหาที่ "แก้ไม่ตก" และ "ไม่เข้าตา"สหภาพยุโรปในหลายประการด้วยกัน
ในด้านเศรษฐกิจ ในสายตาของฝรั่งเศส ตุรกีได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ค่อนข้างยากจนหากเปรียบเทียบกับประเทศสมาชิกอื่นๆ การเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปของตุรกีจะทำให้ตุรกีได้รับประโยชน์ในด้านเงินช่วยเหลือ รวมไปถึงการหมุนเวียนสินค้าอย่างเสรี (liberté de circulation) ซึ่งจะส่งผลไปถึงการอพยพย้ายถิ่นในเวลาต่อมา ในทางด้านสังคม ประชากรมากกว่า 90% ของตุรกีนับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประเทศตุรกีเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรเป็นจำนวนมากกว่าสมาชิกหลายประเทศเป็นจำนวนเท่าตัว การเข้าร่วมสหภาพยุโรปของตุรกีนอกจากจะทำให้ "เสียง" ในสภายุโรปเปลี่ยนไปแล้ว การเข้าร่วมของตุรกียังมีผลทำให้สหภาพยุโรปซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์ กลายมาเป็นสัญลักษณ์ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามไปทันที นอกจากนั้น ในทางการเมือง ตุรกีมีประชากรเป็นจำนวนมากจะทำให้ตุรกีกลายเป็นรัฐที่ "ไม่สามารถปกครองได้"ของสหภาพยุโรปไปในทันที ท้ายสุด ในทางการทูต ตุรกีเป็น "ทางผ่าน" ที่ยากต่อการควบคุมของประเทศในตะวันออกกลางในการขนส่งน้ำมันและผลิตภัณฑ์คาร์บอน รวมทั้งเป็นทางผ่านในการขนส่งสินค้าของประเทศในเอเชีย เนื่องจากสภาวะทางภูมิศาสตร์
แม้ว่าตุรกีจะพยายามประกาศตัวถึงการเป็น "รัฐมุสลิมประชาธิปไตย" (musulman-démocrate) ก็ตาม แต่ปัญหาหนึ่งที่สหภาพยุโรปให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องก็คือ การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของชาว Kurd ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศ จริงอยู่ที่ว่าสหภาพยุโรปซึ่งเน้นหนักไปในทางความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจในระยะแรกก็ตาม แต่ปัญหาในด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในสายตาของสหภาพยุโรปก็ไม่ได้ถูกละเลย แต่กลับเป็นประเด็นที่ถูกยกขึ้นมาปกป้องและคุ้มครอง ดังที่จะเห็นได้ชัดจากการตั้งศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปในปี 1959 นอกจากนั้น แม้ว่าตุรกีจะพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการประกาศอย่างชัดเจนถึงการปฏิเสธการผ่านของกองทหารอเมริกันในสงครามอิรักที่ผ่านมาก็มา แต่สหภาพยุโรปเองก็ยังมีคำถามเสมอในเรื่องการเมืองภายในที่สหภาพยุโรปมองว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงและละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาว Kurd ก็ตาม ดังนั้น ถึงแม้ว่าสหภาพยุโรปจะมีข้ออ้างถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 26 ของตุรกีว่าควรจะรอให้ตุรกีมีความพร้อมในด้านเศรษฐกิจแบบสมดุลและยั่งยืน (équilibre durable) ก่อนก็ตาม แต่ลึกๆแล้วสหภาพยุโรปก็มีความหวั่นใจในประเด็นต่างๆในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นสิทธิมนุษยชน จึงเห็นได้ว่าสหภาพยุโรปในปัจจุบันไม่ได้มุ่งไปที่ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจดังที่เป็นจุดประสงค์หลักแต่แรกเริ่มเพียงอย่างเดียว แต่กลับไปสนใจและให้น้ำหนักในด้านสิทธิมนุษยชนด้วย ดังนั้นการที่ตุรกีจะเข้าร่วมสหภาพยุโรปได้หรือไม่นั้น จึงต้องเป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไปในอนาคต
จึงจะเห็นได้ว่าสหภาพยุโรปมีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ทั้งในด้านเศรษฐกิจ เช่น ในเรื่องการแข่งขันทางการค้า หรือในด้านสิทธิมนุษยชน นอกจากในสองประเด็นนี้แล้ว ขณะนี้สหภาพยุโรปยังเป็นที่น่าจับตามองในการจัดทำ"รัฐธรรมนูญยุโรป"อีกประการหนึ่งด้วย ซึ่งในเรื่องประการหลังนี้ก็ถือได้ว่าเป็นที่น่าสนใจอย่างมากในวงการวิชาการฝรั่งเศสในตอนนี้ เพราะจะเป็นการถกเถียงนับตั้งแต่ว่า เหตุใดต้องใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ"เหตุใดต้องมี "รัฐธรรมนูญ" ทั้งที่สหภาพยุโรปเองไม่ได้มีสถานะเป็น "รัฐ" แต่ประการใด ข้อถกเถียงดังกล่าวจึงส่งผลให้การศึกษาทฤษฎีการมีอยู่ของรัฐและทฤษฎีต่างๆตามกฎหมายรัฐธรรมนูญได้รับการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง จึงเห็นได้ว่า "พัฒนาการ" ของสหภาพยุโรปมีบทบาทที่สำคัญในรัฐสมาชิกอย่างมาก ทั้งในด้านการปฏิบัติของรัฐเอง และในด้านทางวิชาการศึกษากฎหมายในรัฐสมาชิก
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=145
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:18 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|