|
|
สัมภาษณ์ ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!! 14 มีนาคม 2553 22:17 น.
|
วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 13:09:09 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
"ศ.ดร.นันทวัฒน์" อ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ ชำแหละ"รากแห่งความขัดแย้ง" ลากสังคมไทยสู่สงครามกลางเมือง !!!!
... ไม่น่าเชื่อว่า การเมือง ได้นำประเทศมาสู่ทางตันอีกครั้ง อะไรทำให้ สังคมไทย เดินมาถึงจุดนี้ แล้วคนไทยจะออกจากวิกฤตสงครามกลางเมืองได้อย่างไร ??
ประชาชาติธุรกิจ สัมภาษณ์พิเศษ ศ.ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ นักกฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ นักวิชาการที่ ไม่เหลือง ไม่แดง และไม่ใช่สีชมพู ในประเด็นสำคัญ ๆ ที่ถูกมองข้ามโดยสื่อกระแสหลัก เราเชื่อว่า บทสัมภาษณ์นี้ จะทำให้คนไทยคิดได้มากขึ้น ฉลาดมากขึ้น และมีสติมากขึ้น ยกเว้น คุณเป็นพวกชาล้นถ้วย !!!
@ อะไรคือ รากของความขัดแย้ง และความรุนแรงในสังคมไทย
โดยส่วนตัวผมเอง ผมเป็นคนที่บริโภคข่าว แล้วผมก็ได้ยินข่าวเรื่องความรุนแรงมาโดยตลอด มีการให้ข่าวโดยสื่อทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นสื่อของรัฐหรือสื่อของเอกชน ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ เมื่อวานผมไปทำฟันพยาบาลถามผมว่า จะตุนอาหารสำหรับ 1 อาทิตย์ หรือ 1 เดือนดี ผมก็ไปถามว่าไปเอาข่าว มาจากไหน เขาก็บอกว่ามีแต่คนเขาพูดกัน เสื้อแดงจะปิดกรุงเทพฯ ไม่ให้เข้าไม่ให้ออก ถามว่า ข่าวนี่มันมาจากไหน แล้วมันมีฐานหรือเปล่า เพราะฉะนั้นในวันนี้ผมเข้าใจว่า เราตกเป็นทาสของข่าว บริโภคข่าวมากเกินไป ผมไม่แน่ใจว่าข่าวจะเป็นยังไง บทสัมภาษณ์นี้ออกแล้วก็คงจะรู้ว่าเป็นยังไง แต่ถ้าถามผมตอนนี้ ผมไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์อะไรที่รุนแรงเกิดขึ้น เว้นแต่ว่าจะมีการแทรกแซงของมือที่ 3
@ ผลกระทบที่เกิดจากการเสนอข่าวของสื่อ นำสังคมไทยสู่ทางตัน
ตอนนี้ทุกคนแอยู่ในสภาพวิตกหมด ผมเจอผู้ช่วยทูตของสถานทูตแห่งหนึ่ง เขาถามผมว่า ผมสามารถอยู่ในประเทศที่การให้ข่าวเป็นแบบนี้ได้อย่างไร เขาบอกว่าในประเทศเขา รัฐบาลมีหน้าที่ๆ จะทำให้คนขวัญไม่กระเจิง คือเวลามีอะไร รัฐบาลจะเป็นคนบอก รัฐบาลพร้อมรับผิดชอบ แก้ปัญหา แต่ในวันนี้กลายเป็นว่าสื่อของรัฐทำให้เราขวัญกระเจิงด้วยส่วนหนึ่ง บอกว่าจะมีเหตุการณ์อย่างนี้ อย่างนั้น ผมฟังคนในรัฐบาลให้สัมภาษณ์แต่ละคนแล้วรู้สึกผิดหวังมาก เมื่อเช้ามีข่าว SMS บอกว่า รองนายกคนหนึ่งจัดหาเซฟเฮ้าส์ให้รัฐมนตรีทุกคนแล้ว ผมไม่แน่ใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นหนักหนาขนาดนี้
@ เหมือนช่วงก่อนที่จะมีการอ่านคำตัดสินคดียึดทรัพย์
ใช่ บอกว่ามีคนจ้องจะทำร้ายผู้พิพากษา ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้มันเกิดขึ้นทุกครั้ง เราเคยได้ยินข่าวการลอบสังหารองคมนตรี จนถึงวันนี้ยังไม่รู้เลยว่าเป็นเรื่องอะไร ตอนนั้นมีข่าวพาดหัวทุกฉบับ จนวันนี้เรื่องก็ยังเงียบอยู่ แล้วก็ไม่มีข่าวตามมาอีก ฉะนั้นวันนี้ผมเข้าใจว่า เราไปติดกับดักขององค์กรสื่อทั้งหมดได้อย่างไร
@ คิดว่าจะเกิดอะไรขึ้น เอาตั้งแต่นับจากวันศุกร์ที่ 12 มีนาคม เรื่อยไป
คำตอบของผมคือผมไม่ทราบว่าจะเกิดอะไร และผมไม่สามารถเชื่อมั่นในสิ่งที่ผมได้ยินได้ ผมจะตอบได้ก็ต่อเมื่อผมเห็นว่า มันเกิดอะไรขึ้น ในอีกส่วนหนึ่ง คนที่จะมาชุมนุม เขารับทราบอยู่แล้วว่า รัฐบาลเตรียมป้องกันอะไรไว้บ้าง ผมเชื่อว่า เรื่องความรุนแรงคงน้อยมาก ถ้าไม่ถูกมือที่ 3 แทรกแซง ทุกคนอยากมาแสดงสิทธิ์ แสดงความคิดเห็นทางการเมืองของตัวเอง ซึ่งในวันนี้ผมยังไม่รู้ว่า การแสดงความคิดเห็นของคนที่จะมาวันเสาร์ วันอาทิตย์นี้เป็นเรื่องอะไรแน่ ต่อต้านคำพิพากษาเรื่องยึดทรัพย์หรือเปล่า หรือว่าเรื่องอื่นผมไม่ทราบ ยังไม่มีจุดที่แน่นอนว่าจะทำอะไร แค่นั้นเอง
@ชั่วโมงนี้ อาจารย์ตำหนิการใช้สื่อของรัฐ ไม่เหมาะสม และไม่ควร อย่างไร
การใช้สื่อของรัฐ ผมเคยตำหนิไปแล้วตั้งแต่ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ ครั้ง ก่อนแล้วว่า ในเมื่อศาลจะพิพากษาคดียึดทรัพย์ ทำไมสื่อของรัฐจะต้องออกมาตลอดเวลา ว่าทักษิณไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เหมือนเป็นการชี้นำศาล เพราะในวันนี้มีเสียงตอบรับกลับมาส่วนหนึ่งว่า เฮ้ย คุณทักษิณไม่ดี ทำไมยึดไม่หมด ก็ต้องเป็นคำตอบที่สื่อเองจะต้องเป็นฝ่ายตอบบ้างแล้ว เพราะคุณบอกเองว่าเขาไม่ดีถึงขีดสุด อย่างนี้ผู้พิพากษาก็ไม่เที่ยง
ข่าวทุกกระแส ขาใหญ่ต่างๆ บอกว่าคุณทักษิณไม่ดี โกง โกง โกง แต่ทำไมศาลยึดแค่ครึ่งเดียว นี่คือข้อเสียของการที่เราใช้สื่อชี้นำ ถ้าในวันนี้ผมเป็นรัฐบาล ผมคงทำแค่เตรียมความพร้อม ให้พร้อมสรรพ มีเหตุการณ์เกิดก็จัดการแก้ไข วันนี้การให้ข่าวทำให้สังคมสับสนวุ่นวาย ภาพลักษณ์ประเทศไทยในต่างชาติก็ติดลบไป ความมั่นใจของนักลงทุนก็ยิ่งลด ความมั่นใจของคนที่จะเดินทางมาเที่ยวก็ลด คนในเมืองเองที่จะอยู่อย่างสงบก็ไม่มีความสงบ ทุกคนหวาดระแวงไปหมด เพราะข่าวแท้ๆ
@ขอให้อาจารย์ช่วยวิจารณ์คำพิพากษาคดียึดทรัพย์ 187 หน้า
ผมอาจจะมีคอมเมนต์เล็กน้อยนะครับเรื่องการอุทธรณ์ คือผมไม่ค่อยชัดเจนกับกระบวนการกฎหมาย ไม่แน่ใจว่าควรเรียกการอุทธรณ์ หรือการพิจารณาใหม่ ลองดูง่ายๆ ปกติเรื่องอุทธรณ์ ตามกฎหมายที่เราใช้ทั่วไป ยกตัวอย่างกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เวลามีคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เรามีสิทธิ์อุทธรณ์ภายใน 30 วัน และก็มีเรื่องการขอให้พิจารณาใหม่ การขอให้พิจารณาใหม่ก็คือมีหลักฐาน มีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น อันนั้นไม่มีระยะเวลา แต่วันนี้สำหรับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ ผมไม่แน่ใจว่าเขาเรียกว่าขอให้พิจารณาใหม่ แต่มีระยะเวลาเหมือนอุทธรณ์ ทั้งที่ถ้าเป็นขอให้พิจารณาใหม่มันต้องไม่มีระยะเวลา แต่ถ้าอุทธรณ์มันถึงจะมีระยะเวลา วันนี้ผมงงๆ ไปหมด
@เป็นที่วิธีพิจารณาไม่ชัดหรืออย่างไรครับ
รัฐธรรมนูญเขียนไว้ไม่ชัด เรื่องขอให้พิจารณาใหม่กับเรื่องอุทธรณ์อยู่ในรัฐธรรมนูญแก้ไขอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่จริงแล้วมันต้องมีกฎหมายประกอบออกมาใช่มั้ยหรือไง ผมไม่เข้าใจว่าทำไมเขาเพิ่มเรื่องนี้เข้ามาตอนเขียนรัฐธรรมนูญตอนปี 50 แต่ถ้าให้เดาก็คือว่า การพิจารณาพิพากษาโดยศาลเดียวนี่ไม่เป็นธรรม เขาก็เลยมีช่องโหว่ว่าให้อุทธรณ์ แล้วแถมในกฎหมายที่เขาเรียกว่าอุทธรณ์หรือพิจารณาใหม่ใน 30 วัน มันยังคนละองค์คณะอีกด้วย ไปศาลฎีกาปกติเลย ไม่ใช่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญา และเป็นคนละเรื่องกันอีกด้วย ผมถึงมานั่งดูตัวรัฐธรรมนูญ ผมว่ามันประหลาดๆ พิกล ปกติเราขึ้นศาลไหนก็ต้องไปศาลนั้น อุทธรณ์ก็ต้องอุทธรณ์ต่อศาลนั้น แต่นี่กระโดข้ามไปศาลฎีกาปกติซึ่งที่ประชุมใหญ่มีไม่รู้ตั้งกี่คน มีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ เป็นส่วนหนึ่ง
@แล้วโอกาสของคุณทักษิณมีมากน้อยแค่ไหน
ผมไม่รู้ว่า เขามีอะไรเป็นหลักฐานใหม่ อันนี้ก็ต้องรอ จริงๆ การให้ความเห็นทางวิชาการต่อเรื่องคำพิพากษาในตอนนี้ ผมว่ามันยังด่วนเกินไป ผมมีคนที่จะมาสัมภาษณ์ค่อนข้างเยอะ แต่ผมไม่เคยให้สัมภาษณ์ ประการที่ 1 คำพิพากษาตัวจริงเพิ่งออกมา ประการที่ 2 ความเห็นของผู้พิพากษาแต่ละคน ผมยังไม่ทราบ และประการที่ 3 ผมยังไม่รู้ว่าเขาอุทธรณ์หรือไม่ จริงๆ แล้วควรจะให้จบขั้นตอนเด็ดขาดจริงๆ ตอนนั้นผมว่าจะเหมาะกว่า เพราะวันนี้ไปเขียน ไปชี้อะไรต่อมิอะไร บางทีทีมทนายอาจจะดึงเอามาเป็นประเด็นว่า นี่คือเรื่องใหม่ ซึ่งนำไปสู่การขอให้พิจารณาใหม่ก็ได้ ซึ่งมันไม่ควร วันนี้ควรจะเป็นเรื่องของคุณทักษิณกับทนายคุณทักษิณที่จะดูว่ามีอะไรใหม่จริงหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าไปเชื่อความเห็นของนาย ก นาย ข ฉะนั้นวันนี้ โดยมารยาท ควรจะหยุด ถ้าเป็นผมนะ
@คำพิพากษาดูมีเหตุมีผลมากน้อยแค่ไหนครับ
คือยึดเท่าไร ผมไม่มีปัญหา แต่เหตุผลในการยึดต่างหากที่มีปัญหา เพราะเท่าที่ผมฟังคำพิพากษาอย่างคร่าวๆ มีประเด็นที่สงสัยหลายๆ เรื่อง เช่น มีการบอกว่าออกพระราชกำหนดมาเพื่อเอื้อประโยชน์ ต้องอย่าลืมว่า พระราชกำหนดต้องมีการลงพระปรมาภิไธย ผ่านสภาให้ความเห็นชอบ ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ เป็นกระบวนการที่เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยเหมือนกัน แต่วันนี้เรากำลังปฏิเสธกระบวนการที่เป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตยหรือเปล่าว่า ในการออกกฎหมาย มันสามารถเอื้อประโยชน์ได้ มันไปไกลหรือเปล่า ในความคิดผมนะ อันนี้ต้องย้ำว่าผมไม่ได้วิจารณ์นะ แต่ตั้งข้อสังเกต เพราะเกิดความสงสัยส่วนตัว ก็ต้องหาคำตอบว่าเรื่องการออกกฎหมายมันไปไกลถึงขนาดไหน เราจะเอาองค์กรที่มีหน้าที่มีความเห็นชอบในพระราชกำหนดนั้นไปไว้ที่ไหน ไล่ขึ้นไปจนกระทั่งถึงศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ ซึ่งบอกว่าถูกต้องแล้ว อันนี้ต้องมีคำตอบ การที่ศาลบอกว่าพระราชกำหนดออกมาแล้วเอื้อประโยชน์มันเป็นการก้าวข้ามกรอบของอำนาจอธิปไตยจากฝ่ายตุลาการเข้าไปสู่ฝ่ายนิติบัญญัติรึเปล่า
ในระบบกฎหมายมหาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศาลปกครองฝรั่งเศส ศาลจะไม่ยุ่งกับนโยบายการบริหารประเทศ ทั้งหมดเป็นเรื่องของสภา เป็นเรื่องขององค์กรตรวจสอบ ทางการเมือง เพราะเมื่อไรก็ตามที่ศาลเข้าไปยุ่ง ก็หมายความว่าศาลเข้าไปเป็นฝ่ายบริหาร เป็นรัฐบาลเสียเอง ศาลชี้ถูกผิดกับนโยบายได้ ข้อสังเกตของผมมีเท่านี้
@กลายเป็นไปทับกันระหว่างศาลฎีกากับศาลรัฐธรรมนูญ แล้ววันนี้ศาลไหนใหญ่กว่ากันครับ
ก็วันนี้ศาลฎีกาเป็นศาลสุดท้าย เพราะทุกวันนี้ศาลฎีกาไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญผูกพันกับทุกองค์กรเหมือนกัน ฉะนั้นในประเด็นนี้ผมก็ยังไม่แน่ใจ เพราะผมยังไม่ได้อ่านคำพิพากษากรณีคุณทักษิณอย่างละเอียด ผมเลยให้คำตอบไม่ได้ว่า ในคำพิพากษาเขาพูดถึงประเด็นนี้ว่ายังไงบ้าง แต่ว่ามันก็มีคำถามเกิดขึ้นในใจว่า ในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเขาว่าโอเคแล้ว ทำไมถึงจะไม่โอเค
ผมจะเขียนในบทบรรณาธิการ ที่จะลงเว็บไซต์ www.pub-law.net ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ ซึ่งจะเป็นคำถามเกี่ยวกับคดียึดทรัพย์
@ สถานการณ์การเมือง ถึงทางตัน ทางออก ยุบสภา เป็นช่องทางหนึ่ง หรือไม่
ผมไม่รู้จะพูดยังไงถูกแล้ว ในเบื้องต้นก่อน การยุบสภามันต้องมีเหตุ เหตุง่ายๆ ก็คือสภาไม่สามารถทำงานได้ หรือว่าฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหารทะเลาะกัน จนไม่สามารถออกกฎหมายตามความต้องการของฝ่ายบริหารได้ อันนี้ต้องยุบ แต่วันนี้มันคืออะไร ยุบสภา ผมไม่เข้าใจ ผมไม่ได้เข้าข้างคุณอภิสิทธิ์หรือไม่ได้เข้าข้างใครทั้งนั้น แต่ว่ายุบสภาไปทำไม ยุบเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เพื่อให้อีกฝ่ายขึ้นมา อาศัยการยุบสภาเป็นฐานของการแย่งชิงอำนาจ เพราะในเมื่อคุณไม่สามรถแย่งชิงได้ในระบบปกติ คุณก็ใช้ระบบไม่ปกติ แค่นั้นเอง
@แต่ก็ยังดีกว่ามีการตีกัน แล้วนองเลือดรึเปล่า
ถ้าเลือกตั้งใหม่ขึ้นมา ผมถามจริงๆ เหอะ ถ้าพรรคที่คุณทักษิณมีส่วนสนับสนุนได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แล้วจะไม่มีการเดินขบวน
@อาจารย์หมายถึงว่า พันธมิตรฯ จะออกมาอีก
อันนี้ผมไม่ทราบ แต่วันนี้เราจะเห็นได้ว่า สังคมในกรุงเทพฯ ร้อยละ 80 -90 ไม่เอาคุณทักษิณ ทุกคนเห็นด้วยกับคำพิพากษาหมด เพราะฉะนั้นในวันนี้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งไม่เห็นด้วยกับคุณทักษิณกับรัฐบาลทักษิณ คนที่บริโภคข่าวจนรู้ว่าคุณทักษิณทำอะไรไม่ดีบ้าง คนพวกนี้ก็จะไม่เอา ฉะนั้นเลือกเข้ามาก็เหมือนเดิม คือคนต่างจังหวัดเลือกเข้ามา คนกรุงเทพล้ม มันไม่ใช่ทางออก
@กลายเป็นคนรากหญ้าปะทะชนชั้นกลางอย่างนั้นหรือครับ
สำหรับผม พลเมืองไม่ว่าจะชนชั้นไหนก็ตาม ถูกจับเป็นตัวประกันของนักการเมือง ผมคิดอย่างนั้นนะ วันนี้พลเมืองเป็นเหมือนกับลูกฟุตบอลที่สองฝ่ายเตะไปเตะมา เราไม่รู้หรอกว่าใครจะชนะ
@อาจารย์อยากให้สู้กันไปตามกติกาของประชาธิปไตยใช่ไหมครับ
วันนี้ไม่ว่ารัฐบาลปัจจุบันจะเข้าสู่อำนาจโดยชอบหรือไม่ชอบตามที่ฝ่ายหนึ่งอ้าง ในเมื่อเขาเป็นรัฐบาลก็ต้องยอมรับ คุณอยากชุมนุม ทำได้ แต่ไม่ใช่กดดันเขาให้ยุบสภา เพราะว่าทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ สภายังไม่ขัดแย้งกันเลย ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารยังไม่ทะเลาะกัน แล้วคุณจะไปยุบทำไม
@หมอประเวศเขียนว่า ถ้าจะก้าวข้ามคุณทักษิณ รัฐต้องแก้ความเป็นธรรมในสังคม อาจารย์คิดยังไงครับ
คือถ้าดูประเด็นในด้านการเมือง ความยุติธรรม จะเห็นได้ว่าความเป็นธรรมในสังคมมีน้อยมาก ทุกคนพูดกันถึงกรณีพันธมิตรยึดทำเนียบรัฐบาล กรณียึดสนามบิน แต่ยังไม่มีการทำอะไรเลย ในขณะที่คนปาอุจจาระใส่พรรคประชาธปัตย์ ถูกจับไปแล้ว ถูกศาลลงโทษแล้ว ดังนั้นอะไรคือความยุติธรรม คดีไปช้าอยู่ตรงไหน ก็จะต้องรีบเร่งทำ แต่ถ้า อยู่ในชั้นศาล โอเค เรามีคำพิพากษาศาลตั้งเยอะแยะที่ตัดสินออกมาไวได้ ในเมื่อเรื่องพวกนี้มันเป็นเรื่องที่กระทบกับความมั่นคงของประเทศ มันต้องออกมาให้เร็ว เพื่อที่จะตอบคำถามกับสังคมว่านี่ไม่ใช่สองมาตรฐาน แต่ในวันนี้ เราทุกคนก็เห็นภาพแล้ว ว่าทุกอย่างมันยังคลุมเครืออยู่ มันเป็นเรื่องสองมาตรฐานเยอะมากในสังคมไทย
@รวมถึงกรณีเงินทีพีไอ 257 ล้าน ให้แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ด้วย
... แน่นอน ก็เห็นอยู่แล้วว่ากระบวนการเป็นไง ทุกวันนี้เรื่องที่เป็นประเด็นระหว่างสองพรรคเราจะเห็นความช้าความเร็ว ฉะนั้นถ้าเรื่องอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายบริหาร นายกฯต้องเป็นกลางที่สุด แล้วใช้อำนาจฝ่ายบริหารเร่งให้เสร็จเร็ว ถ้าเข้าไปอยู่ในมือของฝ่ายตุลาการ ถ้าจะเรียกว่าตุลาการภิวัตน์ มองเห็นปัญหาของประเทศก็จะต้องพิจารณาให้จบอย่างรวดเร็วและถูกต้องเป็นธรรม เพื่อที่จะได้มีคำตอบให้กับสังคมว่านี่คือถูก นี่คือผิด แล้วคนทำผิดก็ต้องได้รับการลงโทษ
ปัญหาประการต่อมา มันถึงเวลารึยังที่รัฐบาลจะต้องหันหลังให้กับเรื่องทักษิณ รัฐบาลควรจะหันไปหาการแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างจริงจัง ไม่ใช่ออกมาคอยที่จะพูดโจมตี หรือชี้ให้เห็นว่าเขาไม่ดียังไง สร้างปัญหายังไง เข้าใจว่า คนส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าคุณทักษิณมีปัญหา ผมเคยคุยกับคนจำนวนมากที่เขารับไม่ได้กับคุณทักษิณเลย คุยกับคนที่เห็นว่าคุณทักษิณเข้ามาช่วยเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ เรื่องรักษาพยาบาล ฉะนั้นถ้ารัฐบาลเป็นกลางก็คงไม่เสียมิตร และไม่มีศัตรู แต่ถ้ารัฐเลือกข้าง มันจะมีศัตรู และเป็นผลต่อการแก้ไขประเทศ มันจะพะวักพะวง
ผมเปิดหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศสเขาก็ลงเยอะแยะว่า คุณทักษิณมีปัญหายังไง รัฐบาลควรจะปล่อยให้กลไกดำเนินไป ไม่ต้องไปเร่ง ไม่ต้องทำอะไรเลย อาจจะเหมือนที่คุณหมอประเวศพูดก็ได้คือเร่งซื้อใจประชาชน เพื่อให้ประชาชนรักรัฐบาล
@ถ้าวันหนึ่งมีคนเสื้อแดงมาชวนอาจารย์ไปสู้ เพื่อล้มอำมาตย์ อาจารย์ไปไหม
วันนี้ ... ผมไม่แน่ใจว่าคำว่าระบอบอำมาตย์มาจากไหน และไม่รู้ว่าสิ่งที่เรียกว่าระบอบอำมาตย์เข้ามาแทรกแซงการเมืองการปกครองของเราจรึงรึเปล่า ต้องมีการพิสูจน์ ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน คือผมไม่ยุ่งกับการเมืองอยู่แล้ว ใครชวนผมก็ไม่ไป เพราะว่าทุกอย่างมันต้องอยู่ใต้หลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง
ถ้าจะล้มอำมาตย์ อะไรคืออำมาตย์ เช่นว่า คุณมีระบบองคมนตรี มีแล้วมีปัญหา คุณก็ต้องดูว่าจะทำยังไง เพราะองคมนตรีเป็นองค์กรที่อยู่ในรัฐธรรมนูญ มีกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเยอะ ไม่ใช่ว่าคุณจะไปล้ม มันไม่ได้ ในเมื่อเรามีเอกสารทางกฎหมายรองรับทั้งหมด ถ้าจะล้มแค่ระบบตัวบุคคล อันนี้ต้องดูว่าเขาทำผิดจริงหรือเปล่า และก็ต้องใช้วิธีที่ถูกต้อง ดูจากเหตุนั่นแหละ โดยหลักทั่วไป องคมนตรีก็เป็นที่ปรึกษาของกษัตริย์ คงไม่เกี่ยวข้องกับประชาชนเท่าไร เพียงแต่ว่าถ้าเราพิสูจน์ได้ว่ามีการใช้อำนาจแทรกแซง และทำให้เกิดปัญหาขึ้น อันนั้นค่อยมาดูกันอีกที
@ องค์กรสื่อ พันธมิตร ทั้งสภาหอฯ สภาอุตฯ ร่วมกันแถลงให้ต้านความรุนแรง
ผมยังไม่เห็นว่าอะไรคือความรุนแรง วันนี้ เราคิดว่าจะมีความรุนแรง คำถามคือมีความรุนแรงรึยัง ไม่ใช่ว่าผมคิดว่าต้องรอให้เกิดความรุนแรงก่อนเท่านั้น อย่างที่ผมเรียนให้ทราบในตอนต้นนี่ว่า ข่าวออกมาว่าจะมีความรุนแรง เพราะฉะนั้นทุกคนก็คิดว่าจะมีความรุนแรง แล้วจากภายใต้การคิดว่าจะมีความรุนแรง ทุกคนก็จะแก้ไข หาทางป้องกันล่วงหน้าไว้ ซึ่งการแก้ไขป้องกันล่วงหน้าผมไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรได้บ้าง แล้วมันจะสอดคล้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นหรือไม่ อาจจะไม่มีความรุนแรงเลยก็ได้ เพราะฉะนั้นดีที่สุดคือรัฐบาล ทำหน้าที่ของตัวเอง ถ้ารัฐบาลคิดว่าจะมีความรุนแรง รัฐบาลก็ให้กำลังทหาร กำลังตำรวจประจำการตั้งเตรียมพร้อมที่จะออกมาแก้ไขเหตุการณ์ได้
อย่างสองรัฐบาลก่อน การแก้ไขปัญหาด้วยกำลังเป็นเหตุที่ทำให้เกิดการฟ้อง สร้างความเดือดร้อนไปหมด เพราะฉะนั้นในวันนี้ คำถามคือว่า ทหาร ตำรวจที่รัฐบาลเอามาใช้จะกล้าแก้ปัญหา ด้วยความรุนแรงรึเปล่า
@สังคมไทยเสียเวลากับทักษิณมากเกินไปหรือเปล่า
ต้องบอกว่ารัฐบาลเสียเวลากับคุณทักษิณมากเกินไปรึเปล่า เพราะตามหลักแล้ว ผมไม่คิดเลยว่ารัฐบาลจะมีหน้าที่ในการไปเล่นงานใครคนใดคนหนึ่ง พยายามให้พรรคการเมืองอีกฝ่ายไม่ได้ผุดได้เกิด ผมว่ามันไม่ใช่แบบนั้น
@ถ้าอาจารย์เป็นเพื่อนของทักษิณ อาจารย์จะบอกเขาว่าอะไร
ผมจะบอกว่า คุณทักษิณมีเงินเยอะ มีครอบครัวที่อบอุ่น จากภาพที่เราเห็น คุณทักษิณมีเพื่อนเยอะ ทำไมคุณทักษิณไม่ใช้ชีวิตให้มันสบายมากๆ ในต่างประเทศ ขับรถเที่ยว เข้าพิพิธภัณฑ์ ฟังเพลง ดูหนัง ใช้ชีวิตอย่างนั้นดีกว่า ตัวอย่างเช่นท่านอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ท่านไปแล้วก็ไม่กลับ ท่านจะโต้แย้งก็ต่อเมื่อมีคนพาดพิงถึงท่านในแง่ลบ และท่านโต้แย้งผ่านกระบวนการทางศาล แล้วท่านก็ใช้ชีวิตอย่างสงบ คุณทักษิณมีเงินมากกว่าท่านอาจารย์ปรีดีตั้งเยอะ เป็นผมอยู่อย่างนั้นดีกว่า ผมถือว่า นั่นไม่ใช่เวทีของผมอีกต่อไปแล้ว
จริงอยู่ถูกยึดทรัพย์ เงินหายไปครึ่งกว่า แต่ถามว่าส่วนที่เหลือยังอยู่ได้ไหม คำตอบก็คือยังอยู่ได้ ก็น่าจะใช้ส่วนที่เหลือหาความสุขให้กับตัวเอง
@ถ้ามี พ.ร.บ. ชุมนุมสาธารณะ มันจะต่างกับวันนี้ไหม
ไม่ต่างกัน วันนี้พลเมืองส่วนหนึ่งซึ่งไม่เคารพกฎหมาย ตัวอย่างคือพันธมิตรยึดทำเนียบ จำได้ไหมที่ศาลสั่งให้เปิดถนนก็ไม่เปิด เพราะส่วนหนึ่งปฏิเสธกฎหมาย แถมจากวันนั้นถึงวันนี้จะ 2 ปีแล้ว แต่ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ เพราะฉะนั้นต่อให้มีกฎหมายอะไรมาก็ปฏิเสธ เพราะอาศัยความเป็นคนหมู่มากว่า จับได้จับไป คุกมีไม่พอหรอก ถามผม ผมไม่กลัวความรุนแรง แต่ผมกลัวการปฏิเสธกฎหมาย
@อาจารย์เชื่อว่า การใช้กฎหมายพิเศษของรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาได้ไหม
ลองเทียบดูกับสองรัฐบาลก่อน เขายังปล่อยให้ชุนนุม แล้วใช้กลไกที่มีอยู่ แต่รัฐบาลนี้กันไว้ก่อนเลย ไม่ใช่ว่าผมต้องรอให้เกิดก่นอ แต่มีแง่ที่ว่ามันขัดต่อการชุมนุม เริ่มมีเสียงออกมาในทางนี้บ้างเหมือนกัน เดี๋ยวก็เงียบทุกที
@แล้วปฏิวัติล่ะครับ จะเป็นการแก้ปัญหาหรือเปล่า
ถามว่าปฏิวัติคือการแก้ปัญหารึเปล่า ผมว่าไม่ใช่ เพราะปฏิวัติขึ้นมา นั่นหมายความว่าต้องมีการเลือกขาว เลือกดำ แล้วก็ต้องปราบพวกตรงข้าม ดังนั้นไม่ใช่คำตอบแน่นอน ปฏิวัติขึ้นมาจะทำให้ประเทศเดินต่อไปได้ไง ปฏิวัติขึ้นมาจะทำให้คนที่แบ่งเป็นหลายสีตอนนี้สมานฉันท์ได้ไง ถ้าแก้ไม่ได้ ก็ไม่ควรปฏิวัติ ถึงจะแก้ได้ ก็ไม่ควรปฏิวัติอยู่ดี เพราะไม่ใช่คำตอบ
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1268373038
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1448
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:21 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|