สัมภาษณ์ ดร.วรรณภา ติระสังขะ เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′

14 มีนาคม 2553 22:06 น.

       วันที่ 03 มีนาคม พ.ศ. 2553 เวลา 16:36:44 น. ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
       
       เจาะโมเดลตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จาก"ฝรั่งเศส"ถึง กฟผ. .′ความ(ไม่)เท่าเทียมกันของอาวุธ′กับ"ดร.วรรณภา"
       
       นักวิชาการเลือดใหม่จากคณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ หลังลงพื้นที่พบความไม่โปร่งใสของการให้ข้อมูลข่าวสารเรื่องโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่เปิดข้อมูลด้านดีด้านเดียว ??
       
       ดร.วรรณภา ติระสังขะ นักวิชาการเลือดใหม่จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ถึงงานวิจัยชิ้นที่ทำอยู่ในเวลานี้ ภายใต้หัวข้อ "กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนเพื่อสุขภาวะที่ดีของสังคม" ซึ่งเธอทำให้ สสส. โดยมี มสช. เป็นแม่งานให้
       ดร.วรรณภา ได้เชื่อมโยงหัวข้อดังกล่าวเข้ากับเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และจากการลงพื้นที่ๆ ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ๆ จะมีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เธอจึงพบว่า การให้ข้อมูลด้านดีเพียงด้านเดียว เมื่อสังเกตข่าวของ กฟผ. ที่ผ่านมา ซึ่งตอกย้ำการเป็นพลังงานสะอาด เป็นพลังงานทางเลือก
       แต่ไม่มีการกล่าวถึงข้อเสียที่มีต่อสังคมส่วนรวม โดยเฉพาะกับคนในพื้นที่
       ข้อมูลอย่างสถิติอุบัติเหตุ การป้องกันเมื่อมีการรั่วไหล สถิติการรั่วไหล ชาวบ้านควรจะอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้ารัศมีเท่าไร เป็นข้อมูลที่ไม่มีการพูดถึง
       
นอกจากนี้ กระบวนการจัดรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ก็เป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เพราะมีการติดประกาศเล็กๆ น้อยๆ การจัดสัมมนาก็จัดที่โรงแรม ไม่ได้จัดในพื้นที่ ชาวบ้านต้องนั่งรถไปเพื่อไปประชุมซึ่งก็ไม่สะดวก
       ดังนั้น เมื่อถามว่า เอาเข้าจริงแล้ว ก็แทบจะเป็นการล็อบบี้ เพราะมีการเลือกกลุ่มคนที่เห็นด้วยมาอยู่แล้ว เช่น พื้นที่โคราช คือเห็นได้ชัดเลยว่าเป็นชาวบ้านที่ถูกจัดตั้งเข้ามา
       ดร.วรรณภา เล่าให้ฟังต่อว่า ตามหลักแล้ว ชาวบ้านควรจะรู้ตั้งแต่เลือกพื้นที่ด้วยซ้ำไป เพราะเป็นเรื่องใหญ่ ไม่เหมือนการสร้างโรงเผาขยะ ซึ่งคนได้ประโยชน์คือคนในพื้นที่ แต่กรณีนี้เป็นประโยชน์ของคนทั้งชาติ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ตอกย้ำความบกพร่องของกระบวนการรับฟังความคิดเห็น เหมือนการสร้างเขื่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ถามว่ารับรู้หรือไม่ ประชาชนรับรู้จากมุมเดียวคือจาก กฟผ.
       "ศาสตราจารย์ ฝรั่งเศสท่านหนึ่ง (Professeur René Hostiou) เคยกล่าวถึง ′ความเท่าเทียมกันของอาวุธ′ หมายความว่า กระบวนการการมีส่วนร่วมจะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อคุณมีอาวุธที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย ในกรณีนี้คือฝ่ายรัฐกับฝ่ายประชาชน อาวุธที่ว่าคือข้อมูลข่าวสาร เพราะฉะนั้น กระบวนการการมีส่วนร่วมต้องมาพร้อมกับข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยให้รู้ครบถ้วน"
       
อย่างในเวลานี้ ประเทศฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศซึ่งใช้เทคโนโลยีดังกล่าวมากที่สุด ก็กำลังมีปัญหากับการจัดตั้งโรงไฟฟ้าโรงใหม่ คือมีคนประท้วง ซึ่งก็รุนแรง แต่เป็นความรุนแรงทางความคิด เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้ว สิ่งหนึ่งที่ฝรั่งเศสทำก็คือ จัดสัมมนา
       ประเทศฝรั่งเศสมีการรับฟังความคิดเห็นแบบระดับชาติ ไม่ว่าจะกรณีโรงไฟฟ้า ทางรถไฟ แม้ว่าผลลัพธ์ในท้ายที่สุดจะถูกเซ็ตไว้แล้ว แต่ก็ถูกทำให้มีความชอบธรรมตามกฎหมาย คือฝ่ายรัฐเอาข้อมูลกองโตสู่การรับรู้ของสาธารณะ ประเด็นใดที่ภาคประชาชนไม่มีความเชื่อมั่น ก็ถูกทำให้เชื่อมั่นด้วยข้อมูล จนประชาชนเห็นชอบในที่สุด โดยทั้งหมดมวลอยู่ภายใต้กรอบใหญ่ของกฎหมาย
       อีกปัญหาหนึ่งที่ฝรั่งเศสกำลังเผชิญอยู่ คือกากนิวเคลียร์ หลังมีการตั้งกระทู้ถามในสภาของฝรั่งเศสว่า คุณผลิตไฟฟ้าเยอะขนาดนี้ คุณเอากากไปเก็บไว้ในไหน ไปไว้ในแอฟริกาใต้หรือเปล่า ขณะที่ ประเทศยุโรปอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมัน ก็กำลังเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ เหมือนเขาไปจนถึงจุดอิ่มตัว ชั่งน้ำหนักถึงผลได้ผลเสียแล้วอาจคิดว่าไม่คุ้ม
       เพราะฉะนั้น รัฐต้องมีวิธีการที่โปร่งใสกว่าที่ทำอยู่ เห็นได้จากการที่ กฟผ. เลือกที่จะเข้าดำเนินการกับพวกสภาหอการค้า กับพวกสภาอุตสาหกรรม ดึงเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกันแล้วไปรณรงค์กับตามต่างจังหวัดต่างๆ ซึ่งกลุ่มนี้มีประโยชน์ด้วยทั้งสิ้น
       อย่าลืมว่าคนที่ได้ประโยชน์จากการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คือ คนในเมือง และภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของผู้ใช้พลังงาน คนในพื้นที่ ถามว่า สร้างขึ้นมาพวกเขาได้อะไร เพราะทุกวันนี้พวกเขามีความสุขดีอยู่แล้ว
       โดยผลจากการศึกษา ค้นคว้า และการลงพื้นที่จริง ดร.วรรณภา และทีมวิจัยจะประมวล คิดวิเคราะห์ออกมาเป็น ร่างกฎหมาย(ในฝัน)ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
       ดร.วรรณภา ให้เหตุผลว่า ที่เรียกว่าร่างกฎหมายในฝัน ก็เพราะร่างนี้จะเป็นตุ๊กตาหนึ่ง ให้ผู้ที่สนใจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เห็นประโยชน์ได้หยิบยกนำไปต่อยอด แต่เหนือสิ่งอื่นใด ในความคาดหวังขั้นสุด นักวิชาการปริญญาเอก ด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม จากประเทศฝรั่งเศสท่านนี้ ก็หวังจะได้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่โปร่งใส และเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
       "เหมือนกับ ถ้าถามว่ามีรัฐธรรมนูญดีไหม ตอบคือดี แต่กระบวนการต้องถูกควรกว่านี้ กระบวนการนี่ต้องยังไง ยอมรับได้หรือไม่ เนื้อหาสาระยังไม่ต้องพูดถึง"
       
นอกเหนือจากนี้ ดร. วรรณภา ยังมีแผนจัดสัมมนาในเดือนมีนาคมนี้ เชิญนักวิชาการที่ศึกษาด้านพลังงานนิวเคลียร์มาคุยกัน มาเปิดข้อมูลใช้เหตุใช้ผล รวมถึงเชิญสื่อมาให้ช่วยเผยแพร่ บอกกับประชาชนอีกที ซึ่งก็ไม่ทราบว่าจะเป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใดเพราะเวลานี้ กฟผ. เดินแผน 2 เล็งหาผู้ผลิตเตาปฏิกรณ์แล้ว
       
       http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1267609320


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1447
เวลา 10 ธันวาคม 2567 09:11 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)