|
|
บทบาทของรัฐในการก่อให้เกิดตลาดการค้าเสรี โดย นางสาว กิตยาภรณ์ ประยูรพรหม 16 ธันวาคม 2547 12:04 น.
|
ขณะนี้ ชาวฝรั่งเศสต่างรู้สึกว่า "กำลังซื้อ" ของตนเองลดลง อันจะเห็นได้จากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นจาก 0.5 % เมื่อปี 1999 เป็น 2.2 % ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราคาสินค้าและบริการมีการปรับตัวสูงขึ้นเริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนจากค่าเงินฟรังก์มาเป็นเงินยูโร เช่น จากเดิมสินค้าชิ้นละ 10 ฟรังก์ แต่เมื่อปรับมาเป็นยูโรกลับขายชิ้นละ 2 ยูโร ( 1 euro = 6.55957 Fr.) จนถึงปัจจุบันก็มีการขึ้นราคาสินค้าด้วยเหตุผลที่ว่าน้ำมันขึ้นราคา เมื่อรายรับยังเท่าเดิมแต่รายจ่ายกลับสูงขึ้นทำให้ผู้บริโภคชาวฝรั่งเศสจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ซึ่งพฤติกรรมนี้ย่อมส่งผลที่ไม่ดีต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ
เพื่อแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าว นาย Nicolas SARKOZI รมต.กระทรวงเศรษฐกิจและการคลัง (ผู้ซึ่งได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นผู้สมัครประธานาธิบดีคนใหม่ต่อจากนาย Jacques CHIRAC) ได้พยายามหานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจมากมาย แต่ภายใต้ประเทศที่ดูเหมือนว่าจะมีการแข่งขันเสรีอย่างฝรั่งเศสนั้น แท้จริงแล้วยังมีปัจจัยหนึ่งที่เป็นอุปสรรคในการกระตุ้นเศรษฐกิจ กล่าวคือ ตลาดเครื่องอุปโภคบริโภคถูกผูกขาดโดยกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่เพียง 5 กลุ่มและมีส่วนแบ่งในตลาดถึง 97 % (Auchan, Carrefour, Lucie/Leclerc, EMC/Geant และ Cora ) เมื่อกลไกของตลาดไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างเสรี ราคาสินค้าถูกกำหนดโดยกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มเล็กที่กุมส่วนแบ่งของตลาดไว้เกือบทั้งหมด รัฐจึงต้องเข้ามามีบทบาทแทรกแซงเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรม อันจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค,ผู้ค้าส่งและผู้ค้ารายย่อย
เหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่มีอำนาจในการกำหนดราคาสินค้า มีผลมาจาก "พฤติกรรมของผู้บริโภค" การที่ผู้บริโภคให้ความสนใจกับการขายแบบ one-step shopping (ซื้อครบทุกสิ่งในสถานที่เดียว) มากขึ้น บวกกับการที่ผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่สามารถจำหน่ายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าผู้ค้าปลีกรายย่อยอันเนื่องมาจากการที่มีต้นทุนต่ำ (ได้รับส่วนลดจากการจัดซื้อสินค้าจำนวนมาก) เมื่อราคาสินค้าถูก ลูกค้าสนใจมากขึ้น จึงมียอดขายที่เพิ่มขึ้น ทำให้ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่มีอำนาจในการต่อรองในการจัดซื้อต่อผู้ผลิตหรือ/และผู้ค้าส่ง ซึ่งจะมีผลให้ราคาลดลงไปได้อีก และหากร้านค้าย่อยไม่สามารถลดราคาสินค้าเพื่อแข่งกับห้างขนาดใหญ่ได้แล้ว ผู้บริโภคจึงมักจะสนใจไปซื้อสินค้าที่มีราคาถูกกว่า เมื่อร้านค้าย่อยไม่มีลูกค้า ผู้ค้าส่งจึงต้องส่งสินค้าให้กับผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่เท่านั้น สุดท้าย ตลาดจะถูกผูกขาดโดยผู้ประกอบการเพียงไม่กี่รายในระยะยาว
เพื่อคุ้มครองผู้ค้าปลีกรายย่อยและผู้ค้าส่งจากการกดราคาจากผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวงจรดังกล่าวข้างต้น "กฎหมายความเป็นธรรมและเสมอภาคทางการค้า (Loi sur la loyauté et l'équilibre des relations commerciales, ou Loi GALLAND 3 juillet 1996)" ได้ให้อำนาจแก่กลุ่มผู้ค้าส่งและ/หรือกลุ่มผู้ผลิตในการกำหนดราคาสินค้าเพื่อประกาศใช้ทั่วประเทศ และยังห้ามผู้ค้าปลีกขายสินค้าต่ำกว่าราคาที่ตนซื้อมาตามที่ปรากฎในหลักฐานการซื้อขาย ทั้งนี้โดยหลักการ กลุ่มผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่จึงไม่สามารถกดราคาสินค้ารวมถึงไม่สามารถขายสินค้าต่ำกว่าราคาที่ซื้อมาจากผู้ค้าส่งได้ แต่ในทางปฏิบัติ กลยุทธที่กลุ่มผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่นำมาใช้เพื่อทดแทนอำนาจกำหนดราคาของตนเองที่หายไป คือ "บีบบังคับ" ให้ผู้ค้าส่งจ่าย "ค่าความร่วมมือทางการค้า (des marges arrière, ou la rémuneration des services de coopération commerciale)" ให้แก่ตน " ค่าความร่วมมือทางการค้า" เป็นค่าตอบแทนที่ผู้ผลิต/ผู้ค้าส่งต้องจ่ายให้แก่ผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่เพื่อแลกกับการขอโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้า หรือเพื่อขอให้วางสินค้าในจุดใดจุดหนึ่งของห้าง หรือเพื่อนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย หากผู้ผลิต/ผู้ค้าส่งต้องการที่จะวางจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องนำ "ค่าความร่วมมือทางการค้า" ดังกล่าว มาคิดรวมในต้นทุนการผลิต ส่งผลให้ผู้ค้าส่งต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น และต้องตั้งราคาขายสินค้าให้สูงขึ้นเพื่อมิให้เกิดการขาดทุน สุดท้าย ภาระจึงตกแก่ผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าที่สูงกว่าต้นทุนการผลิตที่แท้จริง
ตามความเห็นของคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (Conseil de la concurrence) " ค่าความร่วมมือทางการค้า" ดังกล่าวคิดเป็น 15-35% ของราคาขายแก่ผู้บริโภค และพฤติกรรมของผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่เป็นการกระทำอันมีลักษณะการผูกขาดทางการค้า
ในความเป็นจริงแล้ว แม้ว่าการเรียกเก็บค่าความร่วมมือทางการค้าของผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่จะเป็นการผูกขาดทางการค้า แต่ก็มีผลดีต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ คือ เมื่อราคาสินค้าของผู้ค้าส่งมีราคาสูงขึ้น(อันเป็นผลมาจากต้นทุนที่สูงขึ้นจาก " ค่าความร่วมมือทางการค้า") ทำให้ผู้บริโภคสนใจในสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า และเพื่อรองรับพฤติกรรมการบริโภคดังกล่าว ห้างค้าปลีกจึงจ้าง SMEs ให้ผลิตสินค้าชนิดเดียวกันภายใต้ House brand(ยี่ห้อของทางห้างค้าปลีก) เพื่อวางขายประกบกับสินค้าของคู่ค้า โดยตั้งราคาขายต่ำกว่าเล็กน้อย ซึ่งการที่ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ได้ผลิตสินค้า House brand ทำให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น (นายจ้างเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในฝรั่งเศส คือ กลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกCarrefour ก่อให้เกิดงานถึง 128,000 ตำแหน่ง, 7,900 SMEs ผลิตสินค้ากว่า 90% ให้กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่) แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ก็กำลังประสบปัญหากับคู่แข่งรายใหม่ คือ ร้านค้าแบบ Hard-discount ( เช่น Ed, Mutant, Leader Price) ซึ่งสามารถจำหน่ายสินค้าชนิดและเกรดเดียวกันได้ในราคาที่ต่ำกว่าเพราะไม่มีการเก็บค่าความร่วมมือทางการค้า (หรือเก็บในอัตราที่น้อยกว่า) ดังนั้น จึงมีผู้ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่บางราย (Leclerc) เรียกร้องให้มีการแก้ไข Loi GALLAND คือขอให้รัฐอนุญาตให้มีการขายถูกกว่าราคาที่ซื้อสินค้ามาและปรากฏในหลักฐานการซื้อขายได้
ดังนั้น รมต.การคลังและเศรษฐกิจจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ที่จะแก้ไขและปรับปรุง Loi GALLAND 1996 ประธานคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ นาย Guy CANIVET ประธานศาลฏีกา รายงานของคณะกรรมการได้เสนอว่าควรให้มีการห้ามขายต่ำกว่าราคาซื้อ(ราคาทุน)เช่นเดิม แต่ให้มีการปรับ "ฐานการขายต่ำกว่าทุน (seuil de revente à perte)" เสียใหม่ กล่าวคือ ไม่ให้นำ " ค่าความร่วมมือทางการค้า" , ส่วนลดต่างๆ (remises ristournes, rabais) มาคิดรวมในราคาทุนด้วย เช่น หากต้นทุนการผลิตจริง(ราคาหน้าโรงงาน) คือ 60 ยูโร หากผู้ค้าส่งต้องการขอวางจำหน่ายสินค้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ผู้ค้าส่งต้องจ่าย " ค่าความร่วมมือทางการค้า" ให้แก่ทางห้าง 30 ยูโร ในขณะเดียวกันเมื่อสั่งซื้อสินค้าในจำนวนมาก ทางห้างก็จะได้รับส่วนลด (remises) จากโรงงานอีกชิ้นละ 10 ยูโร ดังนั้น ตามกฎหมายเดิม (Loi GALLAND) ผู้ค้าปลีกไม่สามารถขายสินค้าได้ต่ำกว่า 90 ยูโรและยังสามารถนำค่าส่วนลด(remises ristournes, rabais) มาคิดรวมในราคาขายได้ แต่หากกฎหมายดังกล่าวได้รับการแก้ไข ผู้ค้าปลีกจะสามารถปรับราคาขายให้ต่ำกว่า 90 ยูโรได้ แต่ไม่สามารถขายต่ำกว่าราคาทุนจริง คือ 60 ยูโร
หากรัฐบาลเลือกที่จะเข้ามาแทรกแซงเศรษฐกิจด้วยการแก้ไขกฎหมายฉบับดังกล่าวตามข้อเสนอของคณะกรรมการ CANIVET ผลที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ ราคาสินค้าจะลดลงเพราะไม่สามารถนำ " ค่าความร่วมมือทางการค้า" มารวมในราคาขายได้ อีกทั้งมีจะการแข่งขันลดราคาสินค้าระหว่างผู้ประกอบการค้าปลีก อันเป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่จะสามารถซื้อของได้ในราคาที่ถูกลง (อัตราเงินเฟ้ออาจลดลงได้ 0.1-0.2 %, กำลังการซื้อของประชาชนอาจเพิ่มขึ้น 3%) ทั้งนี้ ยังมีการ "ห้ามขายถูกกว่าราคาซื้อ" ต่อไปซึ่งจะทำให้ผู้ผลิต/ผู้ค้าส่งมีอำนาจในการกำหนดราคาเช่นเดิม แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการเปิดให้มีการแข่งขัน "กึ่ง"เสรีในการตั้งราคาสินค้า คือ ผู้ค้าปลีกรายย่อยที่ไม่สามารถลดราคาเพื่อสู้กับห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ได้ อาจต้องสูญเสียลูกค้าและปิดกิจการในที่สุด ซึ่งการปิดกิจการของผู้ค้ารายย่อยย่อมบีบบังคับให้ผู้ค้าส่งต้องส่งสินค้าให้แก่ผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่เท่านั้น ในส่วนของ SMEs ที่ผลิตสินค้าให้กับผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ภายใต้ House brand หากสินค้า Grandes marques มีการปรับราคาลดลง ผู้บริโภคอาจไม่สนใจสินค้า House brand ได้ และหากผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่ซึ่งดูท่าว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการแก้ไข Loi GALLAND ขาดรายได้ทั้งจากการที่ต้อง "แข่งลดราคาเพื่อเรียกลูกค้า" และจากการที่ขายสินค้า House brand ได้น้อยลง อาจจะนำมาซึ่งการจ้างงานที่ลดลง ซึ่ง "ลูกจ้าง" ของผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ส่วนหนึ่งก็คือ ผู้บริโภคและ SMEs นั่นเอง เพื่อคุ้มครองให้ SMEs ยังสามารถอยู่ในโลกของการแข่งขันเสรีได้ คณะกรรมการ CANIVET ได้เสนอมาตรการ คือ บังคับให้มีการนำสินค้าที่ผลิตโดย SMEs วางขายในห้างขายปลีกขนาดใหญ่มากขึ้น รวมถึงจะไม่ให้การหักลดภาษีแก่ห้างร้านที่ขายสินค้าแต่ละชนิดเพียงยี่ห้อเดียว(ไม่มีความหลากหลายของตัวสินค้า)
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีเสียงต่อต้านจากชมรมผู้ค้าปลีกรายย่อย รวมถึงกลุ่มบริษัท SMEs ซึ่งเปรียบดังผู้ที่อ่อนแอกว่าในโลกของตลาดการค้าเสรี และอีกหนึ่งเสียงซึ่งมีทีท่าว่าจะไม่เห็นด้วยของประธานาธิบดี J.CHIRAC แต่รมต.คลังและเศรษฐกิจก็ยังยืนยันว่าจะมีการผลักดันให้เกิดร่างกฏหมายว่าด้วยพฤติกรรมทางการค้าในร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ( Projet de loi sur les pratiques commerciales dans la grande distribution) อย่างช้าก่อนการปรับนาย SARKOZI ออกจากตำแหน่งรมต. เพื่อไปดำรงตำแหน่งประธานพรรค UMP ในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นจากการเข้าแทรกแซงตลาดของอำนาจรัฐ(เพื่อลดกระแส "วิกฤตศรัทธาขาลงของรัฐบาล") ในครั้งนี้จะเป็นเช่นไร กฎหมายที่จะออกมาเพื่อคุ้มครอง(และเอาใจ)ผู้บริโภคจะ "คลอด" เมื่อไหร่ คงต้องติดตามกันต่อไป
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=144
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:55 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|