|
|
ศาลและวิธีพิจารณาคดีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในประเทศฝรั่งเศส 15 กุมภาพันธ์ 2553 00:47 น.
|
ในประเทศฝรั่งเศสการดำเนินคดีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติมีการดำเนินคดีที่มีขอบเขตกว้างมาก ทั้งนี้เพราะข้อพิพาทที่เกิดขึ้นเป็นได้ทั้งข้อพิพาทในทางปกครองและข้อพิพาทในทางเอกชนขึ้นอยู่กับเนื้อหาประเด็นแห่งคดีและผู้ถูกฟ้องเป็นสำคัญ
ในส่วนที่เกี่ยวกับความหมายและขอบเขตของ คดีสิ่งแวดล้อม ในประเทศฝรั่งเศส เราสามารถให้คำจำกัดความได้โดยพิจารณาเบื้องต้นจากความหมายของคำว่า สิ่งแวดล้อม เป็นสำคัญ ในที่นี้คำว่า สิ่งแวดล้อม เป็นไปตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งหมายถึงกฏหมายที่ว่าด้วยเรื่องเกี่ยวกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (และในที่นี้ถือว่ามนุษย์เป็นก็เป็นทรัพยากรธรรมชาติเช่นกัน) นอกจากนี้กฏหมายสิ่งแวดล้อมยังหมายถึงการบังคับใช้กฏระเบียบหรือวิธีการต่างๆ ที่เป็นการป้องกันภัยทางธรรมชาติและมลพิษต่างๆ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความหมายของคดีสิ่งแวดล้อมนั้นกว้างมาก ไม่จำกัดแต่เฉพาะข้อพิพาทในเรื่องความรับผิดต่อสิ่งของหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่รวมถึงข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการโต้แย้งของกฏเกณฑ์ต่างๆ หรือการบังคับใช้กฏหมายสิ่งแวดล้อมด้วย
วิวัฒนาการของคดีสิ่งแวดล้อมในประเทศฝรั่งเศสนั้นเกิดขึ้นจากการประสบปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษในด้านต่างๆ จึงก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาททางศาลขึ้น ทั้งนี้ศาลปกครองและศาลยุติธรรมจำเป็นต้องขยายขอบเขตในเรื่องเขตอำนาจศาลของตนในการตัดสินวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม โดยใช้หลักกฏหมายในเรื่องความรับผิดทางแพ่งทางอาญาและทางปกครองที่มีอยู่ประกอบกับหลักกฏหมายทั่วไปในเรื่องสิ่งแวดล้อมและกฏหมายสิ่งแวดล้อมต่างประเทศที่เข้ามามีอิทธิพลและเป็นที่มาของกฏหมายภายในของฝรั่งเศสในการวินิจฉัยคดีสิ่งแวดล้อมด้วย
อย่างไรก็ดี การขยายตัวและวิวัฒนาการของคดีสิ่งแวดล้อมในประเทศฝรั่งเศสนั้นก็เป็นไปอย่างค่อนข้างจำกัด ทั้งนี้ ดังจะเห็นได้จากปัญหาในเรื่องอำนาจในการรับฟ้องคดีของศาลโดยเฉพาะในศาลยุติธรรม ประเด็นในเรื่องความเสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมนั้น ศาลยุติธรรมกำหนดขอบเขตไว้อย่างจำกัด กล่าวคือ ในเรื่องของการมีความเสียหายตามหลักป้องกันล่วงหน้า(1) (L àgir à titre préventif) โดยกฏหมายแพ่งค่อนข้างจำกัดในการเปิดโอกาสให้มีการรับพิจารณาข้อพิพาทในกรณีของความเสียหายที่เป็นแค่การคาดการณ์ความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เช่นในกรณีของการก่อสร้างต่างๆ ศาลยุติธรรมจึงไม่สามารถให้มีการออกคำสั่งที่เป็นมาตรการฉุกเฉินในทางแพ่งเพื่อการป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า (Référé civil préventif) โดยเฉพาะในกรณีที่การก่อสร้างนั้นได้รับใบอนุญาตอย่างเป็นทางการ (จากฝ่ายปกครอง) แล้ว ดังนั้นความเสียหายที่สามารถนำมาเป็นข้อพิพาทในทางแพ่งนั้นได้นั้นจำต้องเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง มิใช่ความเสียหายในการคาดการณ์ล่วงหน้าตามหลักป้องกันล่วงหน้าในกฏหมายสิ่งแวดล้อมแต่อย่างใด
สำหรับคดีสิ่งแวดล้อมในศาลปกครองได้รับการพัฒนาและขยายขอบเขตไปมากกว่าคดีสิ่งแวดล้อมในศาลยุติธรรม ตัวอย่างเช่น ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาผลกระทบหรือในเรื่องของการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หรือกรณีของหลักในเรืองความรับผิดที่เกิดจากการปราศจากการป้องกันล่วงหน้า (Principe de prévention) เป็นต้น
นอกจากนี้ การวิวัฒนาการของคดีสิ่งแวดล้อมในประเทศฝรั่งเศสก็เป็นไปอย่างจำกัดโดยเฉพาะในกรณีของผู้พิพากษา การพิจารณาข้อพิพาทที่เกี่ยวกับเทคนิคซับซ้อนจำเป็นต้องเรียก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มาช่วยในการประเมินหลักฐานและข้อเท็จจริงด้วย รวมทั้งในกรณีของการประเมินค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทางด้านสิ่งแวดล้อมหรือการแก้ไขเยียวยา เหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องเทคนิคที่เป็นอุปสรรคในการพัฒนาคดีสิ่งแวดล้อมของประเทศฝรั่งเศสด้วยเช่นกัน
สิ่งที่เป็นข้อพิจารณาสำคัญต่อมาก็คือ หลักในการแบ่งแยกคดีของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ว่าข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจะตกอยู่ในอำนาจศาลใดที่พิจารณาวินิจฉัย ในการเลือกฟ้องร้องของผู้เสียหายในคดีสิ่งแวดล้อมนั้น อาจกล่าวได้ว่าผู้เสียหายมี เสรีภาพในการเลือกที่จำกัด เพราะจำเป็นต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาว่าข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้นกฏหมายได้กำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาของศาลปกครองหรือศาลยุติธรรม โดยผู้เสียหายหรือผู้ฟ้องจำต้องพิจารณาจากกฏหมายลายลักษณ์อักษรที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะและคำนึงถึงเขตอำนาจในการรับพิจารณาคดีของแต่ละศาลเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี กฏหมายลายลักษณ์อักษรที่บังคับใช้อยู่นั้นไม่สามารถกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของ ศาลคดีขัดกัน ที่เข้ามาทำหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องเขตอำนาจของศาลทั้งศาลยุติธรรมและศาลปกครอง คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลคดีขัดกัน(2) จึงเป็นเสมือนแนวทางในการกำหนดเขตอำนาจของศาลในข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย
ตัวอย่างคำวินิจฉัยของศาลคดีขัดกัน ในเรื่องเขตอำนาจของศาลที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
- ความเสียหายที่เกิดจากการสร้างบ่อน้ำแร่ใต้พื้นน้ำของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งโดยไม่เกี่ยวข้องกับการให้สัมปทานของรัฐ เป็นเขตอำนาจพิจารณาของศาลยุติธรรม (คำวินิจฉัยของศาลคดีขัดกัน nº 02870 ปี ค.ศ. 1993)
- ความเสียหายที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างสะพาน (Pont de l île de Ré) ซึ่งเป็นงานโยธาสาธารณะ (travaux publics) ศาลคดีขัดกันได้กำหนดให้เป็นอำนาจของศาลปกครองในการวินิจฉัยข้อพิพาท (คำวินิจฉัยของศาลคดีขัดกัน nº 02518 ปี ค.ศ. 1988)
- ข้อเรียกร้องเพื่อให้รัฐเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นของทาง (ในเขตชนบท) จากการเปิดทางให้รถบรรทุกสามารถใช้ทางได้ ศาลคดีขัดก็ได้กันกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาลปกครองในการกำหนดมาตรการเยียวยาความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น (คำวินิจฉัยของศาลคดีขัดกัน nº 02675 ปี ค.ศ. 1992)
จะเห็นได้ว่าการพิจารณาว่าคดีหรือข้อพิพาททางด้านสิ่งแวดล้อมใดขึ้นสู่ศาลใดนั้น จำเป็นต้องพิจารณาถึงกฏหมายลายลักษณ์อักษรที่มีอยู่หรือแนวคำพิพากษาของศาล
ดังนั้น ในบทความนี้จะทำการศึกษาคดีสิ่งแวดล้อมในประเทศฝรั่งเศส 2 ส่วนด้วยกัน คือ ส่วนที่ 1 คดีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม และ ส่วนที่ 2 คดีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
ส่วนที่ 1 คดีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม
คดีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมนั้น อาจกล่าวได้ง่ายๆได้ว่าเป็นคดีที่มีกฏหมายลายลักษณ์อักษรหรือแนวคำพิพากษากำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรมและเป็นคดีทางแพ่งที่มีประเด็นแห่งการพิจารณาไม่เกี่ยวข้องกับทางปกครอง ซึ่งหากมีประเด็นปัญหาในการรับข้อพิพาทไว้พิจารณาหรือไม่ ประเทศฝรั่งเศสกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลคดีขัดกันในการวินิจฉัยคดีความไม่แน่นอนเหล่านี้ต่อไป
ในส่วนที่หนึ่งนี้จะขอกล่าวถึงคดีสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรมโดยเฉพาะที่เป็นคดีทางแพ่ง โดยแบ่งหัวข้อออกเป็น (1) บทบาทของศาลยุติธรรมในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม (2) เงื่อนไขในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม (3) ประเด็นแห่งการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม (4) วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลยุติธรรม และ (5) อำนาจของศาลยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม
1.บทบาทของศาลยุติธรรมในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
ศาลยุติธรรมมีบทบาทที่สำคัญในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมสองบทบาทด้วยกันคือ ด้านหนึ่งมีบทบาทในการตัดสินข้อพิพาทในเรื่องการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและอีกด้านหนึ่ง ศาลยุติธรรมมีหน้าที่ในการเยียวยาความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยการใช้มาตรการก่อนการออกคำพิพากษา (Référé) เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น(3) อาจกล่าวได้ว่ามาตรการนี้ผู้เสียหายสามารถร้องขอต่อศาลได้ตลอดเวลาโดยไม่มีอายุความ อย่างไรก็ดีมาตรการฉุกเฉินที่ศาลสามารถออกได้นั้น ศาลจำเป็นต้องเห็นถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นหรือต้องมีการกระทบสิทธิของผู้เสียหาย เช่น ผู้พิพากษามีอำนาจในการออกคำสั่งระงับการก่อสร้างหากพบว่าการก่อสร้างของบริษัทใดบริษัทหนึ่งไม่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ การขอให้มีการหยุดการกระทำหรือดำเนินการใดๆที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ร้องซึ่งเป็นสิทธิโดยแท้ของผู้ได้รับความเสียหายที่ศาลยุติธรรมเป็นผู้มีอำนาจอย่างเสรีในการวินิจฉัยประเด็นดังกล่าว ผู้พิพากษามีหน้าที่ในการชั่งน้ำหนักระหว่างมาตรการที่จะออกมาเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับผลประโยชน์ได้เสียในการเยียวยาความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
ศาลยุติธรรมมีบทบาทหน้าที่ในคดีสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับคดีแพ่งทั่วไปคือพิจารณาในเรื่องความรับผิดทางแพ่งที่เกิดขึ้น ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฏหมายแพ่งมาตรา 1382 1384 โดยความรับผิดทางแพ่งที่เกิดขึ้น อาจเป็นความรับผิดที่เกิดจากการกระทำความผิด ความรับผิดที่ปราศจากความผิดหรือเกิดจากความเสี่ยงภัย หรือ ความรับผิดที่เกิดจากเพื่อนบ้านข้างเคียง (เช่น ในกรณีของเสียง ขยะ ควัน หรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นต้น) หรือความรับผิดที่เกิดจากการใช้สิทธิส่วนเกิน ซึ่งศาลยุติธรรมมีอำนาจในการสั่งหรือพิพากษาให้ผู้ก่อความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมชดใช้ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้เสียหายและชดใช้เพื่อจัดการให้สิ่งแวดล้อมนั้นกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือป้องกันมิให้มีความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอีกในอนาคต
ในคดีแพ่งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้น การรับพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมจะพิจารณาจากกฏหมายที่ให้อำนาจไว้ประการหนึ่งและประเด็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอีกประการหนึ่ง
โดยทั่วไปนั้น เขตอำนาจของศาลยุติธรรมจะเป็นไปตามที่กฏหมายกำหนด (ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น) โดยในกฏหมายแต่ละฉบับที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้กำหนดให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นให้อยู่ในอำนาจการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรม ศาลยุติธรรมจึงมีอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยคดีได้ แต่หากไม่มีกฏหมายกำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในการให้อำนาจศลายุติธรรมเป็นผู้วินิจฉัยคดีแล้ว ประเด็นดังกล่าวก็ต้องกลับไปพิจารณาจากแนวคำวินิจฉัยศาลทั้งของศาลยุติธรรม ศาลปกครองตลอดจนศาลคดีขัดกันซึ่งในทางปฏิบัติเป็นการยากที่จะจำแนกรายละเอียดของคำพิพากษาของศาลทั้งสามว่าประเด็นข้อเท็จจริงใดอยู่ในอำนาจของศาลนั้น
2.เงื่อนไขในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม
การฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมเป็นการให้ศาลได้พิจารณาถึงสิทธิและผลประโยชน์ที่ชอบด้วยกฏหมายของผู้ถูกฟ้องคดีกรณีถูกละเมิดหรือถูกกระทบสิทธิ และเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาเพื่อชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี การฟ้องต่อศาลยุติธรรมก็มีเงื่อนไขในการฟ้องที่จำกัด กล่าวคือ เงื่อนไขบางประการเป็นเงื่อนไขในทางรูปแบบซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามก็มีผลทำให้ศาลไม่รับฟ้องได้
เงื่อนไขที่ต้องการพิจารณาในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมต่อศาลยุติธรรม คือ
- อำนาจในการรับคำฟ้องของศาล ผู้ฟ้องคดีในคดีสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถเลือกฟ้องต่อศาลที่เกี่ยวข้องได้ ทั้งทางแพ่งและทางปกครอง ทั้งนี้จำเป็นต้องพิจารณาจากประเด็นแห่งคดีว่าเป็นประเด็นในทางกฏหมายปกครองหรือประเด็นทางแพ่ง โดยพิจารณาจากกฏหมายที่ให้อำนาจหรือแนวคำพิพากษาของศาลเป็นสำคัญ
- เขตอำนาจของศาล ในคดีสิ่งแวดล้อมทางแพ่งนั้น เช่นเดียวกับคดีแพ่งทั่วไปในเรื่องเงื่อนไขของเขตอำนาจศาลปกติ ศาลที่มีเขตอำนาจรับฟ้องคดีนั้นเป็นศาลยุติธรรมที่ตั้งอยู่ในเขตของผู้ถูกฟ้องหรือจำเลย (ตามประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 42) อย่างไรก็ตาม มาตรา 46 แห่งประมวลกฏหมายเดียวกันก็ได้กำหนดข้อยกเว้นว่า ผู้ฟ้องสามารถฟ้องต่อศาลในเขตที่ความเสียหายเกิดขึ้นได้ (ตัวอย่างเช่น ในกรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมลพิษทางทะเล ผู้เสียหายสามารถฟ้องต่อศาลที่ความเสียหายเกิดขึ้น)
- ความสามารถของผู้ฟ้อง ผู้มีสิทธิฟ้องร้องตามคดีจะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปที่เป็นเงื่อไขในการฟ้องร้องคือ ต้องเป็นผู้ทรงสิทธิในทางกฏหมาย และต้องมีความสามารถในการใช้สิทธิทางศาล รวมถึงการฟ้องร้องโดยบุคคลตามกฏหมายมหาชน (เช่น การฟ้องโดยเทศบาลหรือการฟ้องโดยจังหวัดโดยผ่านประธานสภาจังหวัด เป็นต้น) หรือการฟ้องโดยนิติบุคคลทางแพ่ง ทั้งนี้นิติบุคคลนั้นๆ ต้องมีการจัดตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฏหมาย (เช่น ตามกฏหมายการจัดตั้งสมาคมรัฐบัญญัติลงวันที่ 1 กรกฏาคม ค.ศ. 1901 หรือบริษัทตามาตรา 1832 แห่งประมวลกฏหมายแพ่ง หรือ สหวิชาชีพต่างๆ ตามมาตรา L.411 -1 แห่งประมวลกฏหมายแรงงาน) ซึ่งการฟ้องร้องโดยนิติบุคคลนี้ ต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งว่ามีความสอดคล้องกับประเด็นแห่งคดีหรือไม่อย่างไร
- การมีส่วนได้เสียของผู้ฟ้อง ในคดีแพ่งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้น เงื่อนไขที่สำคัญเงื่อนไขหนึ่งในการรับหรือไม่รับคำฟ้องก็คือ เรื่องการมีส่วนได้เสียของผู้ฟ้อง (Intérêt dagir) ซึ่งตามาตรา 31 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดไว้ว่า บุคคลทุกคนสามารถมีสิทธิที่จะใช้สิทธิทางศาลได้ เมื่อมีส่วนได้ส่วนเสียโดยชอบด้วยกฏหมาย (หากไม่มีส่วนได้เสีย ก็ย่อมไม่มีคำฟ้อง pas d intérêt, pas daction) การฟ้องคดีได้นั้นจำเป็นต้องมีส่วนได้เสียตามกฏหมาย หรือส่วนได้เสียโดยชอบด้วยกฏหมายที่ได้รับการคุ้มครองตามกฏหมาย ผู้ร้องมีหน้าที่ต้องแสดง ให้ศาลเห็นว่าตนนั้นมีส่วนได้ส่วนเสียในคดีหรือต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น และศาลมีหน้าที่ที่จะต้องพิจารณาถึงความเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคำฟ้องดังกล่าวโดยพิจารณาจากความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งต้องเป็นความเสียหายทางตรง (direct) เฉพาะตัว (personnel) และแน่นอน (certain) การมีส่วนได้ส่วนเสียในคดีนั้น ไม่ได้เป็นเงื่อนไขเฉพาะกับโจทย์ผู้ฟ้องคดีเท่านั้น แต่ยังใช้พิจารณากับบุคคลทุกคนที่เข้ามาดำเนินการฟ้องคดีด้วย เช่นผู้ร้องสอด
มาตรา 31 วรรคท้ายแห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิทางศาลว่า
ทั้งนี้ ภายใต้บังคับกรณีที่กฏหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะว่าบุคคลใดจะเป็นผู้ใช้สิทธิทางศาลเพียงผู้เดียวในการดำเนินคดีเพื่อปกป้องส่วนได้เสียตามที่มีการกำหนดไว้ จะเห็นได้ว่าเป็นกรณีกำหนดเงื่อนไขในการฟ้องร้องคดีตามที่มีกฏหมายกำหนด เช่น กรณีส่วนได้เสียทางครอบครัว หรือกรณีการใช้สิทธิทางศาลเพื่อปกป้องส่วนเสียของกลุ่มบุคคล
ในคดีสิ่งแวดล้อมผู้เสียหายหรือผู้ฟ้องจะต้องแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุที่ก่อให้เกิดการละเมิดตามกฏหมายและความเสียหายที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกรณีที่มีความเสียหายเกิดขึ้นกับผู้เสียหายทางด้านร่างกายหรือทรัพย์สินนั้น ก็เป็นการง่ายต่อการพิสูจน์ แต่ในทางตรงกันข้าม หากความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมหรือเป็นความเสียหายร่วม ศาลก็จะพิจารณาวินิจฉัยอย่างเคร่งครัด หากเป็นกรณีที่ปราศจากสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่เสียหายนั้นๆแล้ว บ่อยครั้งที่ศาลยุติธรรมจะทำการยกฟ้องคำร้องนั้น
- การฟ้องคดีของสมาคม (Action des associations) สามารถพิจารณาเป็นสองส่วนคือ สมาคมที่มีการจดทะเบียน (Associations déclarées) กับสมาคมที่ไม่ได้จดทะเบียน (Associations non déclarées) สำหรับสมาคมทางสิ่งแวดล้อมที่มีการจดทะเบียน (โดยมีการจดทะเบียนความมีอยู่ของสมาคม ณ ที่ว่าการจังหวัด ตามมาตรา 5 แห่งรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 1 กรกฏาคม 1901) โดยมีสภาพเป็นนิติบุคคลตามกฏหมายซึ่งสามารถเป็นผู้เสียหายและดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมได้ แต่สำหรับสมาคมที่ไม่ได้จดทะเบียนแล้วนั้น ตามปกติไม่สามารถเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีได้ เพราะไม่มีสภาพบุคคลตามกฏหมาย (อย่างไรก็ดีศาลก็ได้วินิจฉัยเป็นข้อยกเว้นให้มีความสามารถฟ้องคดีได้) (คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์แห่งเมือง Lyon ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1993)
การใช้สิทธิฟ้องคดีของสมาคมถือเป็นการใช้สิทธิเพื่อการปกป้องส่วนได้เสียของส่วนรวม โดยศาลยุติธรรมได้ยอมรับการใช้สิทธิเพื่อปกป้องส่วนได้เสียของส่วนรวมไว้ในคำพิพากษา ซึ่งสมาคมเหล่านั้นต้องดำเนินการฟ้องร้องให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของสมาคมในการมีหน้าที่เรียกร้องค่าเสียหายสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเป็นลักษณะส่วนรวมของสมาชิกสมาคมได้ แม้ว่าความเสียหายดังกล่าวจะไม่ได้เกิดกับสมาชิกทุกคนก็ตาม
กฏหมายที่เกี่ยวสิ่งแวดล้อมของประเทศฝรั่งเศสก็ได้ยอมรับและยืนยันความสามารถของสมาคมในการร้องเพื่อดำเนินกระบวนการยุติธรรมได้ เช่น รัฐบัญญัติที่ 95 - 101 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1995 เกี่ยวกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติก็ได้สนับสนุนสิทธิในการฟ้องร้องของสมาคมในการฟ้องที่เกี่ยวกับความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญาต่อบริษัทที่ทำให้สภาพแวดล้อมต้องเสื่อมสภาพลง
3.ประเด็นแห่งการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
ในคดีแพ่งที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถแบ่งประเด็นในการฟ้องคดีออกเป็นสองส่วนใหญ่ด้วยกันคือ การฟ้องที่เกี่ยวกับการละเมิดกฏหมาย (Action délictuelle) และการฟ้องในเรื่องความรับผิดต่อสัญญา (Responsabilité contractuelle)
สำหรับการฟ้องที่เป็นการละเมิดกฏหมายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนั้น สามารถแบ่งเป็นประเด็นการฟ้องได้เป็น 6 ประเภทด้วยกัน
- ความรับผิดที่มีความผิด (Responsabilité pour faute) เป็นความรับผิดที่เกิดจากการกระทำที่เป็นความผิดตามกฏหมาย ละเมิดต่อหน้าที่หรือปราศจากการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ความรับผิดรูปแบบนี้ได้รับการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 1382 และ 1383 แห่งประมวลกฏหมายแพ่ง ผู้เสียหายที่เกิดจากการกระทำดังกล่าวสามารถได้รับการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากความผิดดังกล่าวได้ หรือศาลสามารถสั่งให้มีการทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมหรือมีมาตรการใดๆ เพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีของโรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยของเสีย ศาลมีคำพิพากษาให้ออกมาตรการที่จำเป็นเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม (คำพิพากษาศาลยุติธรรมแห่งเมือง Senlis ลงวันที่ 11 มิถุนายน ค.ศ. 1991)
- ความรับผิดที่ปราศจากความผิด (Responsabilité sans faute) ความรับผิดที่เกิดจากการกระทำที่ปราศจากความผิดมีขึ้นเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นในกรณีไม่ปกติ หรือเกิดจากบุคคลที่สาม โดยเป็นความรับผิดที่อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้ถูกฟ้องในคดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่แล้วความรับผิดดังกล่าวมักเกิดจากการใช้สิทธิโดยก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่เพื่อนบ้าน หรือความรับผิดที่เกิดจากสิ่งของทำความเสียหายแก่ผู้อื่นโดยอยู่ภายใต้การดูแลหรือกรรมสิทธิ์ของผู้ที่ต้องรับผิดชอบ (ตามมาตรา 1384 วรรคแรกแห่งประมวลกฏหมายแพ่ง) นอกจากนี้ ยังรวมถึงความรับผิดที่เกิดจากความเสี่ยงภัย (Responsabilité pour risque) เช่นในเรื่องความรับผิดที่เกิดจากอุบัติเหตุของนิวเคลียร์ก็สามารถฟ้องชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ (ตามรัฐบัญญัติลงวันที่ 30 ตุลาคม ค.ศ. 1968 แก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1990)
- การก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่เพื่อนบ้าน (Troubles de voisinage) เป็นความรับผิดที่เกิดทั้งในศาลยุติธรรมและศาลปกครอง ซึ่งทั้งสองศาลก็ตีความรับผิดรูปแบบดังกล่าวอย่างกว้างในคำพิพากษาช่วง 10 ปีหลังที่ผ่านมา โดยศาลฏีกาได้วินิจฉัยว่า ความเป็นเจ้าของหรือกรรมสิทธิ์นั้นเป็นเด็ดขาด เว้นแต่มีกฏหมายจำกัดไว้ หรือไม่ไปกระทบสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นที่ก่อความไม่สะดวกแก่เพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลเข้าไปขยายความรับผิดที่เกิดจากการก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่เพื่อนบ้าน ในทางคดีสิ่งแวดล้อมโดยส่วนใหญ่มักเป็นเรื่องของความรับผิดที่เกิดจากมลพิษที่เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม หรือมลพิษทางเสียงที่เกิดจากสนามบิน
- ความรับผิดที่เกี่ยวกับมลพิษทางพื้นดิน (Responsabilité en matière de sols contaminés) เป็นความรับผิดที่เกิดจากเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ก่อให้เกิดมลพิษทางดินและก่อให้เกิดความเสียหายต่อการเพาะปลูกด้านเกษตรกรรม ความรับผิดที่เกิดขึ้นต้องมาจากเงื่อนไขที่สำคัญคือ ความเสียหายที่เกิดจากผู้ใช้ประโยชน์ที่ดิน (ในกรณีความเสียหายที่เกิดจากการใช้ที่ดินในเขตอุตสาหกรรม ผู้ดูแลหรือผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินที่มีความรับผิดต่อมลพิษที่เกิดขึ้นตามมาตรา 544 และ มาตรา 1384 วรรคแรกแห่งประมวลกฏหมายแพ่ง) ความเสียหายที่เกิดจากเจ้าของกรรมสิทธิ์เกิดจากการปราศจากการควบคุมหรือดูแลที่ดิน หรือความเสียหายที่เกิดจากที่ดินที่ปราศจากเจ้าของหรือเจ้าของตกเป็นผู้ล้มละลาย ในกรณีดังกล่าว ความรับผิดของฝ่ายปกครองอาจเกิดขึ้นได้ เพราะฝ่ายปกครองมีหน้าที่ในการดูแลตรวจตราที่ดินดังกล่าวทุกๆ 4 ปี
- ความรับผิดที่เกี่ยวกับเหมืองแร่ (Responsabilité en miniére) โดยหลักผู้ได้รับสัมปทานมีหน้าที่ต้องป้องกันดูแลมิให้เกิดความเสียหายเกิดขึ้น แต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้นผู้ได้รับสัมปทานมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการต่างๆที่เกิดขึ้นที่เป็นผลโดยตรง
- ความคุ้มกันในเรื่องความรับผิด (Exonération de responsabilité) เป็นกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นโดยมิได้คาดหมาย (Survenance de dommage) หรือเป็นความผิดที่เกิดจากผู้เสียหายเอง หรือเป็นเหตุสุดวิสัย (Force majeure) ในกรณีต่างๆนี้ศาลอาจมีคำพิพากษาให้ไม่ต้องรับผิดก็ได้
สำหรับการฟ้องในเรื่องความรับผิดต่อสัญญา (Responsabilité contractuelle) เป็นการฟ้องร้องที่มีมูลเหตุมาจากการไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ทำกันไว้โดยถือเป็นความรับผิดตามมาตรา 1147 แห่งประมวลกฏหมายแพ่ง นอกจากนี้ ยังรวมถึงการไม่ปฏิบัติตามสัญญาในเรื่องการส่งมอบสินค้าของผู้ขาย หรือส่งมอบสินค้าโดยไม่สมบูรณ์ เช่น กรณีผู้ขายที่ดินมีปัญหามลพิษถือว่าเป็นการส่งมอบทรัพย์ไม่สมบูรณ์ตามสัญญาที่ได้ตกลงไว้ศาลยุติธรรมแห่งเมือง Strasbourg (วันที่ 18 ตุลาคม ค.ศ. 1996) ได้พิพากษาให้สัญญาซื้อขายที่ดินนั้นตกเป็นโมฆะ
4.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลยุติธรรม
ในกระบวนการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลยุติธรรมนั้น โดยทั่วไปก็เป็นไปตามกระบวนวิธีพิจารณาความแพ่งทั่วไป อย่างไรก็ดีกระบวนการพิเศษที่น่าสนใจสำหรับคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม คือเรื่องผู้เชี่ยวชาญ (Expert) และเรื่องพยานหลักฐาน (Preuve)
- ในกรณีผู้เชี่ยวชาญ (Expert) หรือผู้ให้คำปรึกษา มาตรา 322 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้กำหนดให้เป็นอำนาจของศาลในการแต่งตั้งหรือเรียกให้ผู้เชี่ยวชาญ (ทั้งเอกชนหรือราชการ)(4) เข้ามาเพื่อให้ความเห็นในประเด็นข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ดี บทบาทของผู้เชี่ยวชาญถูกจำกัดตามมาตรา 238 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในกรณีที่สามารถให้ความเห็นหรือตอบคำถามอื่นนอกเหนือที่มอบหมายให้ได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากคู่ความและผู้เชี่ยวชาญไม่สามารถให้ความเห็นในประเด็นข้อกฏหมายได้ ซึ่งในกรณีเป็นคดีที่เกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดกับน้ำ อากาศ และพื้นดิน ผู้เชี่ยวชาญเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการให้ความเห็นและข้อเท็จจริง
- ในกรณีที่เกี่ยวกับการนำเสนอพยานหลักฐาน (la preuve) คดีสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นคดีที่มีความเป็นเทคนิคสูง ซึ่งบางกรณีก็เป็นการยากในการนำเสนอหรือในการพิสูจน์หลักฐานต่างๆ มาตรา 9 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณความแพ่งจึงได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของคู่ความแต่ละฝ่ายในการนำเสนอพยานหลักฐานต่างๆ รวมถึงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงในคดี ปัญหาที่ตามมาก็คือ การพิสูจน์หลักฐาน ซึ่งในบางกรณีเช่นมลพิษหรือสารพิษที่เกิดมิได้เกิดขึ้นทันทีทันใด อาจต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเกิดอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เงื่อนไขในเรื่องเวลาก็เป็นข้อจำกัดในการสืบพยานหลักฐานด้วย ดังนั้น ก็เป็นปัญหาในการนำสืบของคู่ความเพื่อแสดงให้ศาลเห็นถึงความเป็นไปได้ในรูปคดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลเป็นสำคัญ
5.อำนาจของศาลยุติธรรมในคดีสิ่งแวดล้อม
ศาลยุติธรรมมีอำนาจในการกำหนดมาตรการในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น โดยตามกฏหมายฝรั่งเศสนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นต้องได้รับการแก้ไขเยียวยา แม้แต่เป็นความเสียหายด้านจิตใจ ทางด้านศีลธรรมหรือแม้แต่ความเสียหายทางด้านการท่องเที่ยวก็ตาม ในเรื่องการกำหนดให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่เป็นตัวเงินนั้นเป็นไปตามกระบวนยุติธรรมตามปกติ แต่ในกรณีที่ศาลยุติธรรมมีคำสั่งในการออกมาตรการใดๆเพื่อเยียวยาความเสียหายอาจถูกจำกัดโดยเงื่อนไขทางปกครอง เช่น ในการสั่งปิดโรงงานหรือหยุดการดำเนินงานใดๆ ที่มีการอนุมัติให้ดำเนินการจากฝ่ายปกครองนั้นไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ดีศาลยุติธรรมก็มีอำนาจในการสั่งให้ผู้ก่อมลพิษจัดทำมาตรการใดๆที่จำเป็น (Mesures de prévention) เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อม
อำนาจของศาลยุติธรรมที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือ อำนาจในการออกมาตรการก่อนการพิพากษาคดี (Référé) ซึ่งกำหนดไว้ในมาตรา 482 -492 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยเป็นมาตรการฉุกเฉิน (Procédure durgence) ซึ่งออกโดยผู้พิพากษาเฉพาะ เนื่องจากหน้าที่ของศาลยุติธรรมมีหน้าที่ในการรักษาสิ่งแวดล้อมและยังมีหน้าที่ในการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้น หน้าที่ในเรื่องการป้องกันนี้ จึงนำมาซึ่งการออกมาตรการฉุกเฉินใดๆเพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อม
มาตรการ référé หรือมาตรการฉุกเฉินนี้มีลักษณะที่สำคัญ คือ เป็นมาตรการที่เป็นการชั่วคราว มีลักษณะเป็นมาตรการบังคับให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายปฏิบัติหรืองดเว้นกระทำการได้ คำพิพากษาในการออกมาตรการฉุกเฉิน (Ordanance de référé) ดังกล่าวนี้ไม่ได้เข้าไปพิจารณาถึงเนื้อหาแห่งคดี (Found du litige) และสามารถร้องขอต่อผู้พิพากษาให้ออกมาตรการฉุกเฉินได้ตลอดช่วงเวลาของกระบวนการพิจารณาคดีโดยเพียงแต่ผู้ร้องแสดงให้ศาลเห็นถึงความเสียหายที่กระทบต่อสิทธิของผู้ร้อง อย่างไรก็ดี มาตรการฉุกเฉินนี้มีข้อจำกัดคือ ศาลไม่สามารถให้มีการออกคำสั่งที่เป็นมาตรการฉุกเฉินในทางแพ่งเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า
ส่วนที่ 2 คดีสิ่งแวดล้อมที่อยู๋ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
ในข้อพิพาทที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมนี้ ไม่พียงแต่เฉพาะศาลยุติธรรมที่มีอำนาจในการตัดสินวินิจฉัยคดีเท่านั้น ศาลปกครองก็เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากในการวินิจฉัยคดีและพัฒนาคดีเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในประเทศฝรั่งเศส ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า ในกรณีที่มีกฏหมายให้อำนาจศาลใดศาลหนึ่งเป็นการเฉพาะในการวินิจฉัยข้อพิพาทที่เกิดขึ้นก็ให้เป็นไปตามกฏหมายเฉพาะที่บัญญัติไว้ หากไม่มีกฏหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะก็ต้องพิจารณาถึงขอบเขตอำนาจตามปกติของศาลนั้นๆ ซึ่งศาลปกครองเป็นศาลที่มีหน้าที่พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทที่เกี่ยวกับการกระทำทางปกครองทั้งหลายและมีอำนาจในการวินิจฉัยคดีอยู่สองส่วน คือ วินิจฉัยตัดสินข้อพิพาทที่เกี่ยวข้องกับการขอให้มีการยกเลิกเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครอง หรือการออกกฏต่างๆและมีอำนาจในการวินิจฉัยคดีเกี่ยวกับความรับผิดในการกระทำของรัฐหรือฝ่ายปกครองที่ก่อให้เกิดความเสียหาย
1.บทบาทของศาลปกครองในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม
ในการพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม ศาลปกครองเข้าไปมีบทบาทอย่างมากในการวินิจฉัยคดี ไม่เพียงแต่เฉพาะวินิจฉัยความชอบด้วยกฏหมายของการอออกคำสั่งทางปกครองเท่านั้น ยังมีบทบาทที่สำคัญในการวางกรอบ กฏเกณฑ์ในการปฏิบัติงานของฝ่ายปกครองด้วย ตัวอย่างเช่น ในกรณีของการอนุมัติ อนุญาตโครงการของรัฐที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และกฏหมายบังคับให้จัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในรูปแบบของการทำประชาพิจารณ์ซึ่งวิธีการและขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนในการออกคำสั่งทางปกครอง หากมีการกระทำที่ผิดขั้นตอนและไม่ชอบด้วยกฏหมาย คำสั่งทางปกครองดังกล่าวอาจถูกฟ้องขอให้ยกเลิกเพิกถอนได้ ซึ่งในกรณีนี้ศาลปกครองมีอำนาจในการเข้าไปพิจารณารูปแบบ วิธีการ และขั้นตอนต่างๆในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่าถูกต้องตามกฏหมายที่บัญญัติไว้หรือไม่ และในหลายๆกรณีที่ไม่มีกฏหมายกำหนดรายละเอียดไว้ชัดเจน ศาลปกครองก็เป็นผู้วางกฏเกณฑ์ต่างๆไว้ในคำพิพากษานั่นเอง จะเห็นได้ว่าในประเทศฝรั่งเศสคำวินิจฉัยของศาลปกครองถือเป็นที่มาสำคัญของกฏหมายด้วยอย่างหนึ่งโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่บางกรณีกฏหมายลายลักษณ์อักษรต้องอาศัยขั้นตอนในการตรากฏหมายเป็นระยะเวลานานกว่าจะประกาศใช้บังคับ
ศาลปกครองมีบทบาทหน้าที่ในการตัดสินวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในฐานะที่เป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลสูงสุด โดยใช้การพิจารณาถึงลำดับและโครงสร้างของศาลปกครองแล้วนั้นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิพากษาคดีทั่วไปลำดับต้น (หากไม่มีกฏหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ) คือ ศาลปกครองชั้นต้น อย่างไรก็ดีกฏหมายก็กำหนดเขตอำนาจเฉพาะไว้บางกรณี คือข้อพิพาทตามที่กฏหมายกำหนดให้สภาแห่งรัฐ (Conseil dEtat) หรือศาลปกครองสูงสุดทำหน้าที่วินิจฉัยคดีในชั้นแรกและชั้นสุดท้าย(5)
2.เงื่อนไขในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม
ประเด็นในเรื่องของเงื่อนในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมต่อศาลปกครองนั้น นับเป็นประเด็นที่สำคัญประเด็นหนึ่งในคดีสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากจะต้องพิจารณาถึงเงื่อนไขในการฟ้องคดีปกครองทั่วไปแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเงื่อนไขเฉพาะในการฟ้องคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย
เงื่อนไขทั่วไปที่ต้องพิจารณาถึงประการแรกในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม คือ
- เรื่องอายุความ โดยทั่วไปแล้ว การฟ้องคดีปกครองจะต้องกระทำภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่มีคำสั่งทางปกครองอันเป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี การนับอายุความหากเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่มีลักษณะเป็นกฏ อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประกาศกฏนั้น หากเป็นเรื่องการออกคำสั่งทางปกครองที่มีผลเฉพาะราย อายุความจะเริ่มนับตั้งแต่วันที่มีการแจ้งคำสั่งทางปกครองให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ ในกรณีที่เป็นการฟ้องศาลสำหรับเรียกให้ฝ่ายปกครองชดใช้หรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น จะต้องมีการร้องเรียนภายในต่อฝ่ายปกครองก่อนและมีคำสั่งปฏิเสธของฝ่ายปกครองหรือการปฏิเสธของฝ่ายปกครองโดยปริยาย (โดยการเพิกเฉย) การฟ้องประเภทนี้ไม่มีการกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ (เว้นแต่เป็นการฟ้องที่เกี่ยวกับการเรียกร้องความเสียหายที่เป็นเงิน ที่กำหนดอายุความ 4 ปี) และกรณีที่ฝ่ายปกครองตอบปฏิเสธโดยชัดแจ้งเท่านั้นที่มีอายุความ 2 เดือนนับแต่วันที่ฝ่ายปกครองมีการปฏิเสธโดยชัดแจ้ง
สำหรับเรื่องอายุความกรณีพิเศษในคดีสิ่งแวดล้อมที่กฏหมายกำหนดไว้พิเศษ เช่น ในการฟ้องร้องคดีที่เกี่ยวกับการสร้างพื้นที่ทางอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Installation classée) กฏหมายกำหนดอายุความ 4 ปี หรือในคดีที่เกี่ยวกับการฟ้องโต้แย้งต่อการอนุมัติให้ทำเหมืองหิน (ระเบิดหิน) กฏหมายกำหนดอายุความพิเศษไว้ 6 เดือน
เงื่อนไขประการเฉพาะต่อมาที่ต้องพิจารณาในการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อม คือเงื่อนไขเกี่ยวกับ
- ผู้ฟ้องคดี ตามกฏหมายฝรั่งเศส ผู้มีสิทธิฟ้องร้องคดีปกครองจะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปที่เป็นเงื่อนไขในการฟ้องร้องคือ ต้องมีความสามารถในการใช้สิทธิทางศาล รวมถึงการฟ้องร้องโดยนิติบุคคล โดยนิติบุคคลนั้นๆ ต้องจัดตั้งขึ้นตามกฏหมาย นอกจากนี้ยังต้องแสดงให้เห็นถึงความมีส่วนได้เสียในคดี (Intérêt pour agir) ความเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีเป็นหลักกฏหมายทั่วไปในการดำเนินคดีทางปกครอง หากไม่มีส่วนได้เสียก็ย่อมไม่มีคำฟ้อง (Pas dintérêt, pas daction) ความมีส่วนได้เสียที่เกิดขึ้นนั้นต้องชอบด้วยกฏหมาย (กรณีความเสียหายที่เกิดจากการกระทำที่มิชอบด้วยกฏหมาย เช่น การสร้างโรงงานทางอุตสาหกรรมโดยมิได้ขออนุญาตจากฝ่ายปกครอง หากเกิดความเสียหายขึ้นก็ไม่สามารถมาร้องต่อศาลได้) และส่วนได้เสียที่เกิดขึ้นต้องเป็นส่วนได้เสียที่แน่นอนและเกี่ยวเนื่องกับประเด็นแห่งคดี อย่างไรก็ดีศาลปกครองฝรั่งเศสได้พิจารณาความมีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีค่อนข้างเปิดกว้างในหลายๆกรณี คือ ส่วนได้เสียที่เกิดขึ้นที่สามารถนำมาเป็นประเด็นในการฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้นั้นอาจเป็นส่วนได้เสียทั้งในทางทรัพย์สินและจิตใจ นอกจากนี้ความเป็นผู้มีส่วนได้เสียไม่จำเป็นต้องเป็นเฉพาะตัวแต่อาจเป็นส่วนได้เสียร่วมหรือในทางมหาชนก็ได้ (เช่น ในเรื่องของการให้บริการสาธารณะ หรือ ในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม) หลักความเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่กล่าวมาข้างต้นนั้นใช้กับผู้ฟ้องคดีที่เป็นนิติบุคคลที่ก่อตั้งโดยชอบด้วยกฏหมาย นิติบุคคลเหล่านั้นย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีเพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนได้ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของทรัพย์สินหรือทางจิตใจ (สถานะของนิติบุคคล) หรือเพื่อปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวมที่ผู้ฟ้องมีหน้าที่ที่จะต้องปกป้อง เช่น ในกรณีของสมาคมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมก็เป็นผู้มีส่วนได้เสียร่วมในการดำเนินคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมได้ อย่างไรก็ตามในคำวินิจฉัยของศาลปกครองหลายคำวินิจฉัยก็จำกัดความเป็นผู้มีส่วนได้เสียของนิติบุคคลหรือสมาคมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อมว่า วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งของนิติบุคคลหรือสมาคมนั้นๆ ต้องสอดคล้องกับประเด็นในการฟ้องร้องด้วย
เงื่อนไขประการสุดท้ายที่ต้องพิจารณาคือ การฟ้องคดีจะฟ้องในลำดับศาลใด โดยศาลปกครองฝรั่งเศสแบ่งลำดับศาลออกเป็น 3 ระดับด้วยกัน คือ ศาลปกครองชั้นต้น ศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ ศาลปกครองชั้นสูงสุด
- ศาลปกครองชั้นต้น (Tribunal administratif) มีทั้งหมด 27 แห่ง ในเขตนครหลวงและเขตเมืองใหญ่ๆ ซึ่งแต่ละแห่งก็มีเขตอำนาจตลอดท้องที่หลายจังหวัด ศาลปกครองชั้นต้นมีเขตอำนาจในการพิจารณาพิพากษาในสาระแห่งคดีในฐานะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีปกครองโดยทั่วไป (รวมถึงคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม หากไม่มีกฏหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษ) สำหรับเขตอำนาจพื้นที่ของศาลสามารถพิจารณาได้ในหลายกรณี เช่น คดีที่ฟ้องเกี่ยวกับอาคารให้พิจารณาจากสถานที่ตั้งของอาคาร คดีที่เกี่ยวกับความรับผิดของฝ่ายปกครองให้พิจารณาจากเขตพื้นที่ที่ทำละเมิด หรือคดีที่เกี่ยวกับการออกคำสั่งทางปกครองให้พิจารณาถึงเขตพื้นที่ที่มีการออกคำสั่งทางปกครอง
- ศาลปกครองชั้นอุทธรณ์ (Cour administrative dappel) มีทั้งหมด 6 แห่ง โดยมีเขตอำนาจในการพิจารณาคดีและวินิจฉัยคำอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นซึ่งตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตน รวมตลอดถึงคดีอุทธรณ์ที่เกี่ยวกับผังเมือง การเวนคืน คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์สามารถฏีกาต่อไปได้ที่ศาลปกครองสูงสุด
- ศาลปกครองสูงสุด หรือสภาแห่งรัฐ (Conseil dEtat) นอกจากจะมีหน้าที่ในการให้คำปรึกษาแล้ว สภาแห่งรัฐยังมีหน้าที่ในการตัดสินคดีปกครองโดยแบ่งเป็น 3 สถานะ คือ สภาแห่งรัฐที่มีหน้าที่เป็นศาลชั้นต้นและศาลสุดท้าย (em premier et dernier ressort) (ตามรัฐกฤษฏีกาลงวันที่ 30 กันยายน ค.ศ. 1953) กล่าวคือ เป็นศาลที่มีหน้าที่วินิจฉัยข้อพิพาทที่มีความสำคัญเพียงศาลเดียว เช่น คดีที่ฟ้องขอให้เพิกถอนรัฐกฤษฏีกาที่ใช้เป็นการบังคับทั่วไปและที่ใช้บังคับเป็นการเฉพาะราย หรือคดีที่ฟ้องขอให้เพิกถอนรัฐกำหนด เป็นต้น สถานะต่อมาคือสภาแห่งรัฐในฐานะที่เป็นศาลอุทธรณ์ โดยสภาแห่งรัฐมีหน้าที่วินิจฉัยคดีที่ฟ้องอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นซึ่งไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองอุทธรณ์ใดๆ สถานะสุดท้าย คือ ฐานะที่เป็นศาลปกครองสูงสุดหรือศาลฏีกาที่ทำหน้าที่พิจารณาฏีกาที่คัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
3.รูปแบบของคดีสิ่งแวดล้อมและอำนาจของศาลปกครองในคดีสิ่งแวดล้อม
ในคดีสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนั้น รูปแบบของการฟ้องคดีก็เป็นไปตามรูปแบบของกฏหมายปกครองทั่วไป หากไม่มีกฏหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยการฟ้องร้องคดีปกครองทั่วไปนั้นเป็นการเปิดโอกาสให้บุคคลสามารถใช้สิทธิโต้แย้งคำสั่งทางปกครองโดยกระบวนการทางศาล โดยบุคคลผู้ฟ้องนั้นต้องดำเนินตามการฟ้องคดีตามที่กฏหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรูปแบบการฟ้องที่มีการกำหนดกฏเกณฑ์ไว้เป็นการเฉพาะและการยกข้อกล่าวอ้างทางกฏหมายเพื่อให้ศาลตัดสินวินิจฉัยคดีต่อไป ในระบบศาลปกครองฝรั่งเศส เราสามารถแบ่งประเภทของคดีปกครองออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองกับการฟ้องที่ศาลมีอำนาจเต็ม ซึ่งในข้อพิพาททางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นก็เป็นไปตามประเภทของคดีปกครองทั่วไปดังกล่าวด้วย แต่ในคดีสิ่งแวดล้อมบางประเภทก็มีรูปแบบคดีที่พิเศษขึ้น คือ คดีปกครองที่เกี่ยวกับเขตโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
- การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองเพราะเหตุกระทำเกินอำนาจ (Recours pour excès de pouvoir)
การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองนี้สอดคล้องกับพื้นฐานของการกระทำทางปกครองที่ว่าด้วย หลักความชอบด้วยกฏหมาย ซึ่งเป็นการฟ้องเพื่อขอให้มีการยกเลิกเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายและหากศาลพิจารณาถึงความไม่ชอบด้วยกฏหมายแล้วนิติกรรมทางปกครองดังกล่าวนั้นอาจมีผลสิ้นไปโดยมีผลย้อนหลังและมีผลต่อบุคคลทั่วไปด้วย และในหลายๆกรณีคดีที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มักเป็นคดีประเภทดังกล่าว เช่น การฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของผู้ว่าการจังหวัดเกี่ยวกับการอนุมัติและการออกกฏเกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม สิ่งปลูกสร้างเก่าที่เป็นอันตรายต่อชุมชน หรือการขอให้ยกเลิกการสัมปทานเหมืองแร่ หรือในกรณีที่ฝ่ายปกครองละเลยต่อหน้าที่ในการจัดการมลพิษในเมือง หรือคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น
การฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมในประเภทดังกล่าว สมาคมที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในประเทศฝรั่งเศสมักจะใช้การฟ้องคดีประเภทนี้เพื่อให้ฝ่ายปกครองยกเลิกการอนุมัติหรืออนุญาตการดำเนินการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือให้ฝ่ายปกครองหามาตรการในการจัดการสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้เนื่องจากการฟ้องคดีสิ่งแวดล้อมเพื่อขอให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองของสมาคมด้านสิ่งแวดล้อมนี้ศาลปกครองเปิดกว้างในเรื่องของผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดี ดังจะเห็นได้ว่าในกรณีที่มีการออกคำสั่งทางปกครองเพื่ออนุมัติให้สร้างโรงงานขยะใกล้กับแหล่งชุมชน ผู้มีส่วนได้เสียในคดีนอกจากจะเป็นคนในชุมชนแล้วก็ถือว่าสมาคมด้านสิ่งแวดล้อมที่รวมตัวกันเพื่อวัตถุประสงค์ในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชนย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีด้วย
- การฟ้องคดีที่ศาลมีอำนาจเต็ม (Recours de plein contentieux)
ในทางสิ่งแวดล้อมก็เช่นเดียวกับการปฏิบัติงานด้านอื่นๆ ของฝ่ายปกครองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นแก่บุคคลได้ ซึ่งผู้เสียหายสามารถได้รับการเยียวยาเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการฟ้องต่อศาลปกครอง การฟ้องคดีที่ศาลมีอำนาจเต็มนี้เป็นการฟ้องในกรณีของความรับผิดที่เกิดขึ้นของฝ่ายปกครอง คดีที่ศาลมีอำนาจเต็มเป็นกรณีที่ผู้ฟ้องขอให้ศาลวินิจฉัยว่าตนมีสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ และวินิจฉัยว่าฝ่ายปกครอง (รวมถึง รัฐ ภาค จังหวัด หรือเมือง) ได้กระทำการอันเป็นการละเมิดสิทธิดังกล่าวและให้ศาลพิพากษาเพื่อกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สิทธิที่ถูกละเมิดได้รับการเยียวยา จากวิธีพิจารณาคดีดังกล่าวทำให้การฟ้องคดีที่มีอำนาจเต็มนี้เปิดโอกาสให้เฉพาะผู้ถูกละเมิดสิทธิ (titulaire du droit voté) เท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดี ซึ่งแตกต่างกับการฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครอง เพราะผู้ที่มีส่วนได้เสียในคดี (intérêt à agir) ก็มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองได้
มีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับการฟ้องคดีที่มีอำนาจเต็มของสมาคมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครอง สมาคมสิ่งแวดล้อมสามารถเป็นผู้มีส่วนได้เสียในคดีรูปแบบนี้น้อยมาก อย่างไรก็ดีอในมาตรา 5 ของกฏหมายว่าด้วยสิ่งแวดล้อม (Loi du 2 février 1995 relative à renforcement de la protection de lenvironnement) ได้เปิดโอกาสให้สมาคมที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเข้ามาเป็นผู้เสียหายในคดีรูปแบบดังกล่าวได้ คือ ในกรณีที่บุคคลธรรมดาหลายคนได้รับความเสียหายจากการกระทำของฝ่ายปกครองที่เกิดจากบุคคลเดียวกันและมีเหตุผลอย่างเดียวกัน สมาคมสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการมอบอำนาจจากผู้เสียหายอย่างน้อยสองคนขึ้นไปสามารถดำเนินคดีเป็นผู้ฟ้องได้
- คดีปกครองที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมหรือเกษตรกรรม(6) (Contentieux des installations classées)
ในคดีปกครองประเภทดังกล่าวมิใช่เป็นคดีที่มีขึ้นเพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหายแต่มีขึ้นเพื่อโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง (ซึ่งเหมือนกับการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองเพราะเหตุกระทำเกินอำนาจ (Recours pour excès de pouvoir)) ในคดีปกครองที่เกี่ยวกับโรงงานอุตสาหกรรมนี้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาตัดสินที่กว้างกว่าคดีฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองทั่วไป โดยศาลปกครองมีอำนาจที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงยกเลิกทั้งหมดหรือบางส่วนของคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวกับเขตโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ (เช่น ขอให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขคำสั่งทางปกครองที่อนุญาตให้สร้างเขตอุตสาหกรรมในเมือง เป็นต้น)
ผลที่ตามมาของอำนาจศาลปกครองของคดีประเภทดังกล่าว ทำให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิที่จะขอในท้ายคำฟ้องให้ยกเลิกหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองบางส่วนหรือทั้งหมดที่มีผลกระทบต่อตนได้ อย่างไรก็ดี การฟ้องคดีปกครองดังกล่าวไม่ตัดสิทธิในการฟ้องคดีของผู้เสียหายในคดีประเภทการฟ้องที่ศาลมีอำนาจต็มเพื่อขอให้ศาลมีคำวินิจฉัยชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งการฟ้องรียกค่าเสียหายดังกล่าวนี้ผู้เสียหายแต่ละคนจำเป็นต้องยื่นคำฟ้องเฉพาะเป็นรายบุคคลไป ไม่สามารถร่วมกันฟ้องได้เหมือนการฟ้องเพื่อเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่สามารถร่วมกันฟ้องได้
ในประเทศฝรั่งเศสบทบาทของสมาคมด้านสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญอย่างยิ่ง ไม่เพียงแต่ในฐานะที่เป็นผู้สนับสนุนให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการอนุรักษ์ดูแลรักษาธรรมชาติและป้องกันมลพิษแล้ว ก็ยังมีบทบาทที่สำคัญในการเป็นผู้ฟ้องดำเนินคดีต่อศาลในคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วยดังจะเห็นได้จากหลายๆคดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีประเภทที่มีการขอให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครอง ในกรณีที่ฝ่ายปกครองออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นการขัดหรือก่อให้เกิดความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อม สมามด้านสิ่งแวดล้อมในฐานะผู้มีส่วนได้เสียก็สามารถฟ้องขอให้ศาลยกเลิกเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ ในทางตรงกันข้ามการฟ้องคดีของสมาคมด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อขอให้ศาลเยียวยาชดใช้ค่าเสียหายนั้นเป็นไปได้ยากกว่า ทั้งนี้เพราะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นถึงความเป็นผู้เสียหายที่สามารถได้รับการเยียวยาหรือมีขึ้นเฉพาะตามที่กฏหมายกำหนด ในกรณีการฟ้องเพื่อเรียกค่าเสียหายนี้ ศาลปกครองฝรั่งเศสให้คำจำกัดความในเรื่องผู้มีส่วนได้เสียแคบกว่าในคดีฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครอง นอกจากกรณีที่สมาคมด้านสิ่งแวดล้อมจะเป็นผู้ฟ้องคดีได้เองแล้ว สมาคมด้านสิ่งแวดล้อมอาจเข้ามาในกระบวนการพิจารณาคดีของศาลปกครองได้ โดยการเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดี (Requête en intervention) หากเห็นว่าผลหรือประเด็นแห่งคดีสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสมาคมของตน ดังนั้นการเข้ามาเป็นผู้ร้องในคดีนั้นจึงเป็นไปได้ในทุกขั้นตอนของกระบวนการพิจารณาคดีซึ่งการเข้ามาเป็นผู้ร้องสอดในคดีของสมาคมด้านสิ่งแวดล้อมนี้ส่วนใหญ่ก่อให้เกิดข้อได้เปรียบในการโต้แย้งการออกคำสั่งทางปกครองที่ดีกว่าผู้ฟ้องทั่วไป
4.วิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลปกครอง
โดยทั่วไปแล้ววิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อมของศาลปกครองก็ดำเนินเช่นเดียวกับวิธีพิจารณาทั่วไปของคดีปกครอง คือ เป็นวิธีการพิจารณาคดีที่มีลักษณะโต้แย้งและรับฟังคู่ความทั้งสองฝ่าย (Contradictoire) เป็นหลักการที่เปิดโอกาสให้คู่ความทั้งสองฝ่ายมาให้การในการใช้สิทธิคู่ความฝ่ายตรงข้ามยื่นคัดค้านเสมอ นอกจากนี้วิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองเป็นวิธีพิจารณาแบบไต่สวน (Inquisitoire) ซึ่งผู้พิพากษามีหน้าที่ในการดำเนินกระบวนการต่างๆเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริง วิธีพิจารณาคดีของศาลปกครองเป็นวิธีพิจารณาที่มีลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษร เป็นการแลกเปลี่ยนบันทึกคำให้การของคู่ความทั้งสองฝ่าย (แต่ไม่ตัดสิทธิในการให้คู่ความแถลงด้วยวาจา) และแถลงถึงข้อสรุปและข้อเรียกรองของทั้งสองฝ่ายและเหตุผลบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหลังจากนั้นจึงมีการจัดทำรายงานลับันทึกของตุลาการผู้แถลงคดีอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร
ในเรื่องการไต่สวนมูลฟ้องนั้นโดยทั่วไปเป็นไปตามกระบวนวิธีพิจารณาคดีปกครอง อย่างไรก็ดีในคดีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศาลปกครองมีอำนาจในการไต่สวนมูลฟ้องในกรณีพิเศษ เช่น ศาลมีอำนาจในการนำสืบพยานโดยไปตรวจดูสถานที่ (ตามมาตรา R.662 -1 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง) หรือมีอำนาจในการใช้วิธีพิจารณาไต่สวนและรับฟังพยาน (ตามมาตรา R.623 -1 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาคดีทางปกครอง) ซึ่งมีการใช้บ่อยครั้งในกรณีคดีที่เกี่ยวกับการกำหนดเขตอุตสาหกรรมที่มีผลต่อความสมดุลย์ของพื้นที่ตามธรรมชาติ (คดีศาลปกครองแห่งเมือง Nantes ลงวันที่ 5 ธันวาคม ค.ศ. 1979) สำหรับเรื่องการสืบพยานโดยผู้เชี่ยวชาญ (Expertise) ในคดีปกครองที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ใช้กันมากโดยศาลสามารถเรียกผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นในทุกๆขั้นตอนของการพิจารณาคดีรวมถึงการพิจารณาคดีในกรณีฉุกเฉินด้วย (ตามมาตรา R. 621 1 แห่งประมวลกฏหมายวิธีพิจารณาคดีปกครอง)
สำหรับกรณีการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมทางปกครองหรือฟ้องขอให้ศาลออกคำสั่งในการเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องเป็นกรณีที่มีคำสั่งทางปกครองก่อนเสมอ ดังนั้นการกระทำที่เป็นการเตรียมในการออกคำสั่งหรือขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อออกคำสั่งนั้น ไม่สามารถนำมาฟ้องศาลปกครองได้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่กฏหมายเปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการอนุมัติหรืออนุญาตโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่มีผลกระทบตอสิ่งแวดล้อม กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่มิชอบด้วยกฏหมายอาจเป็นเหตุให้คำสั่งทางปกครองที่ออกตามมาถูกยกเลิกเพิกถอนได้ จึงเป็นกรณีที่มีฟ้องการออกคำสั่งทางปกครองที่มิชอบด้วยกฏหมายเพราะเหตุมีกระบวนการในการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย
ในกระบวนการตรวจสอบความชอบของนิติกรรมทางปกครองที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยศาลปกครองนั้น ศาลปกครองจะใช้ขั้นตอนในการตรวจสอบเหมือนกรณินิติกรรมทั่วไปคือ
- การตรวจสอบความชอบด้วกฏหมายของกระบวนการหรือขั้นตอนในการออกคำสั่งทางปกครอง (Légalité exterme)
ในกรณีคดีสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับคดีปกครองทั่วไป ที่ศาลปกครองมีหน้าที่ที่ต้องเข้าไปตรวจสอบในเรื่องกระบวนการ หรือขั้นตอนในการออกคำสั่งทางปกครอง เช่น ในเรื่องการแจ้งข้อมูลข่าวสาร (Information du public) ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการออกคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เพราะการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนเป็นหลักการพื้นฐานในกฏหมายสิ่งแวดล้อมของประเทศฝรั่งเศส ที่มีกฏหมายรับรองในระดับรัฐบัญญัติ และในระดับกฏบัตรที่มีสถานะเทียบเท่ารัฐธรรมนูญ (Charte de lenvironnement) นอกจากนี้ยังรวมถึงขั้นตอนการออกคำสั่งทางปกครองตามที่กฏหมายกำหนด เช่น การศึกษาผลกระทบ (Etude dimpact) และการทำปราพิจารณ์ (Enquête publique) ซึ่งถือว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญสำหรับฝ่ายปกครองในการรวบรวมความเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ข้อมูลต่างๆและผลกระทบที่จะมีต่อสภาพแวดล้อมเพื่อนำมาพิจารณาในการออกคำสั่งทางปกครอง
- การตรวจสอบในเรื่องความชอบด้วยกฏหมายของเนื้อหาของคำสั่งทางปกครอง (Légalité interne)
เป็นกรณีที่ศาลเข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยกฏหมายในเนื้อหาของคำสั่งทางปกครอง คือ ตรวจสอบในเรื่องการใช้อำนาจละเมิดต่อกฏหมาย (violation de la loi) และ การบิดเบือนการใช้อำนาจ (détournement de pouvoir)
การใช้อำนาจละเมิดต่อกฏหมาย เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ศาลปกครองสามารถตัดสินยกเลิกเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ โดยตรวจสอบการใช้อำนาจละเมิดต่อกฏหมายนี้เป็นการตรวจสอบที่สำคัญเพื่อพิจารณาถึงสาระสำคัญของคำสั่งทางปกครองที่มีผลบังคับ รวมถึงเหตุผลทั้งทางด้านข้อเท็จจริงและข้อกฏหมายที่ฝ่ายปกครองกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นการควบคุมความชอบด้วยกฏหมายของการกระทำของฝ่ายปกครองได้เต็มรูปแบบ โดยการใช้อำนาจละเมิดต่อกฏหมายนี้ อาจเป็นกรณีของการละเมิดกฏหมายโดยตรงหรือเป็นกรณีการฝ่าฝืนกฏหมายโดยตีความผิด หรือขาดฐานกฏหมายที่กล่าวอ้างเป็นต้น
สำหรับการตรวจสอบเหตุแห่งการยกเลิกเพิกถอนำสั่งทางปกครองโดยเหตุการบิดเบือนการใช้อำนาจนี้ เป็นกรณีที่ฝ่ายปกครองกระทำการโดยผิดวัตถุประสงค์ที่กฏหมายกำหนดไว้ เช่น การออกใบอนุญาตก่อสร้างให้เป็นพิเศษแก่ญาติของตน เป็นต้น การตรวจสอบในเรื่องความชอบด้วยกฏหมายของเนื้อหาในคดีปกครองที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ก็เป็นไปเฉพาะเรื่องตามที่กฏหมายเฉพาะนั้นๆได้กำหนดเอาไว้ เช่น ในกรณีการวางผังเมือง เป็นกรณีที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งซึ่งศาลปกครองมีหน้าที่เข้าไปตรวจสอบความชอบด้วยกฏหมายของการออกคำสั่งอนุมัติหรืออนุญาตในการดำเนินการก่อสร้างหรือการเวนคืนที่ดินของฝ่ายปกครองว่าถูกต้องตามที่กฏหมายบัญญัติไว้หรือไม่ และมีการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือบิดเบือนหรือไม่
- การทุเลาบังคับตามคำสั่งทางปกครอง การพิจารณาคดีของศาลปกครองโดยทั่วไปแล้วอาจก่อให้เกิดความล่าช้าและอาจไม่ทันกับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความเสียหายด้านมลพิษและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นจึงมีการฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลออกมาตรการก่อนการพิพากษาและมาตรการฉุกเฉินต่างๆ เพราะโดยหลักแล้วการฟ้องคดีปกครองไม่เป็นเหตุให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่ออกไปแล้ว ฝ่ายปกครองสามารถดำเนินการตามคำสั่งทางปกครองได้อยู่ ซึ่งถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของในการดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง แต่อย่างไรก็ดีบางกรณีการดำเนินการตามคำสั่งต่อไปของฝ่ายปกครองอาจก่อให้เกิดผลเสียหายได้ เช่นกรณีของสิ่งแวดล้อม กฎหมายจึงกำหนดให้มีมาตรการก่อนพิพากษาและมาตรการฉุกเฉินต่างๆเพื่อขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองขึ้น การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลานี้มีขึ้นเพื่อให้ศาลออกคำสั่งไปยังฝ่ายปกครองให้ระงับการปฏิบัติงานไว้ก่อนจนกว่าศาลจะพิจารณาในเนื้อหาของคดี แม้จะมีกฏหมายให้อำนาจในการทุเลาบังคับตามคำสั่งทางปกครองก็ตาม ศาลปกครองเองก็ใช้อำนาจนี้อย่างเข้มงวดและจำกัด กล่าวคือ ศาลจะออกคำสั่งทุเลาบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้ก็ต่อเมื่อเห็นว่าการปฏิบัติงานของฝ่ายปกครองอาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากต่อการแก้ไขเยียวยา และการฟ้องคดีก็มีมูลเหตุเพียงพอที่แสดงให้ศาลเห็นว่าผู้ฟ้องมีโอกาสจะชนะคดี สำหรับในกรณีคดีสิ่งแวดล้อม พบว่ามีหลายๆกรณีที่กฏหมายบัญญัติเป็นพิเศษให้สามารถร้องขอต่อศาลเพื่อขอทุเลาบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้ เช่น ในกรณีที่เกี่ยวกับการวางผังเมือง โดยกฏหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของประธานศาลปกครองแต่ผู้เดียวในการพิจารณาออกคำสั่งมาตรการดังกล่าวเพื่อป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที (มาตรา L.600.5 แห่งประมวลกฏหมายว่าด้วยการผังเมือง) นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังใช้ในกรณีที่มีการร้องขอให้ศาลออกคำสั่งในกรณีของการขาด การศึกษาผลกระทบ ซึ่งมาตรา 2 ของรัฐบัญญัติว่าด้วยเรื่องการรักษาธรรมชาติได้กำหนดให้ในกรณีที่มีการขาดการศึกษาผลกระทบตามที่กฎหมายกำหนดให้มีการจัดทำไว้ ศาลปกครองสามารถออกมาตรการทุเลาบังคับตามคำสั่งทางปกครองได้ทันทีโดยไม่ต้องพิจารณาถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นตามคำสั่งทางปกครองหรือไม่
ในปี ค.ศ. 2000 ประเทศฝรั่งเศสได้ออกรัฐบัญญัติที่สำคัญเพื่อแก้ไขปรับปรุงวิธีพิจารณาคดีปกครองในส่วนที่เกี่ยวกับมาตรการก่อนการออกคำพิพากษาที่เรียกว่า เรเฟเร่ (Référé) เป็นมาตรการที่ให้อำนาจศาลปกครองในการออกมาตรการก่อนมีคำพิพากษาตามที่มีผู้ร้องขอเพื่อให้ศาลสั่งให้มีการระงับหรือหามาตรการต่างๆเพื่อป้องกันคสามเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับในส่วนที่เกี่ยวกับคดีสิ่งแวดล้อม มาตรการที่เรียกว่า Référé นั้นสามรถแบ่งเป็นสองส่วนใหญ่ด้วยกัน คือ ส่วนแรกในกรณีฉุกเฉิน (Référé durgence) และในกรณีปกติ (Référé ordinaires)
ในกรณีฉุกเฉิน (Référé durgence) เราสามารถแยกเป็น 3 มาตรการด้วยกัน คือ
- การทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฏไว้ชั่วคราว (Référé - suspension) ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา L.521 1 แห่งประมวลกฏหมายปกครองได้วางเงื่อนไขในการออกมาตรการทุเลาบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฏไว้ชั่วคราวไว้ 2 ประการ คือ หนึ่ง ต้องเป็นเรื่องฉุกเฉิน (lurgence) และ สอง ต้องมีข้อสงสัยที่หนักแน่นเพียงพอถึงความไม่ชอบด้วยกฏหมายของคำสั่งทางปกครองที่ขอให้เพิกถอน (le doute sérieux quant à la légalité de la décision attaqué) อย่างไรก็ตามแม้เงื่อนไขทั้งสองประการจะมีครบแต่ผู้พิพากษายังสามารถใช้ดุลยพินิจพิจารณาในการออกมาตรการทุเลาบังคับตามคำสั่งทางปกครองหรือกฏไว้ชั่วคราวหรือไม่ก็ได้ สำหรับคดีสิ่งแวดล้อมมาตรการดังกล่าวถือเป็นมาตรการที่เกี่ยวกับกระบวนการป้องกันล่วงหน้า (procedure préventive) ในกฏหมายสิ่งแวดล้อมเพราะสามารถทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมได้ ตัวอย่างเช่น ในกรณีคดีเกี่ยวกับผังเมือง ในเรื่องการอนุมัติและอนุญาตให้มีการก่อสร้างไม่ว่าจะเป็นสิ่งก่อสร้างทางราชการ โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น นอกจากนี้มาตรการดังกล่าวยังใช้กับคดีที่เกี่ยวกับเหมืองแร่หิน หรือ การอนุมัติสร้างโรงงานกำจัดขยะ รวมไปถึงการอนุมัติให้มีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรม
- มาตรการชั่วคราวเพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน (Référé - liberté)
ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา L.521 2 แห่งประมวลกฏหมายปกครอง ซึ่งได้วางเงื่อนไขการออกมาตรการชั่วคราวไว้หลายเงื่อนไข คือ ต้องเป็นเรื่องฉุกเฉิน และเป็นการกระทำที่ร้ายแรงที่ก่อให้เกิดการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพของผู้ฟ้องคดี หลังจากมีการบัญญัติสิทธิขั้นพื้นฐานในเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดี (le droit à un environnement sain) ได้รับการละเมิด ในกรณีดังกล่าวถือเป็นการกระทำที่ร้ายแรงที่ก่อให้เกิดการละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพด้วย
- มาตรการใดๆ เพื่อการฉุกเฉิน (Référé - conservatior)
ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา L.521 3 แห่งประมวลกฏหมายปกครอง เป็นมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองอย่างใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาซึ่งในกรณีที่ศาลเห็นว่ามีเหตุฉุกเฉินและเป็นประโยชน์ต่อคดีโดยไม่กระทบต่อการบังคับตามคำสั่งทางปกครองศาลก็สามารถออกมาตรการต่างๆที่จำเป็นและเป็นประโยชน์ได้ ยกตัวอย่างเช่น ในคดีที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ในแม่น้ำที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ
ในกรณีปกติ (Référé ordinaires) สามารถแยกเป็นสามมาตรการด้วยกันคือ
- การแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเพื่อค้นหาและพิสูจน์ข้อเท็จจริงรวมทั้งการสืบและเก็บรักษาพยานหลักฐานโดยเร่งด่วนก่อนเปิดกระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริง (Référé constat)
ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตราร R.531 1 แห่งประมวลกฏหมายปกครอง เป็นกรณีที่ผู้ร้องขอให้ศาลแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญในคดีเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดี โดยผู้พิพากษาสามารถแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นได้ (ในเงื่อนไขที่จำกัด) เช่น ในคดีที่เกี่ยวกับมลพิษทางดินผู้เชี่ยวชาญสามารถนำเสนอผลการศึกษาวิจัยหรือข้อมูลที่เป็นประโยชน์ที่เกี่ยวกับมลพิษ หรือให้ความเห็นว่าการกระทำทางปกครองดังกล่าวเป็นต้นเหตุที่ก่อให้เกิดมลพิษหรือไม่ (คำวินิจฉัยของศาลปกครองแห่งเมือง Poitiers ลงวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 2001)
- มาตรการใดๆเพื่อการแสวงหาข้อเท็จจริงให้สมบูรณ์ (Référé - instruction)
ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา R.532 -1 วรรคแรกแห่งกฏหมายปกครอง ในกรณีที่ผู้พิพากษาเห็นว่าควรมีมาตรการใดๆเพื่อเป็นประโยชน์ (lutilité) ให้ข้อเท็จจริงในคดีสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ศาลมีอำนาจในการออกมาตรการดังกล่าว เช่น ในคดีสิ่งแวดล้อมมาตการดังกล่าวศาลใช้ในทางปฏิบัติบ่อยครั้งเพื่อเรียกให้ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมเข้ามาให้ข้อมูลความเห็นแก่คดี โดยสามารถนำเสนอความเห็นต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อคดีไม่ว่าจะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดความเสียหายด้านมลพิษ หรือนำเสนอหนทางเยียวยาแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วย
- การวางเงินเพื่อประกันหนี้ก่อนมีคำพิพากษา (Référé - provision)
ได้รับการบัญญัติไว้ในมาตรา R.541 1 แห่งประมวลกฏหมายปกครอง โดยมีเงื่อไขว่าหนี้นั้นต้องมีลักษณะไม่สามารถโต้แย้งได้ เช่นกรณีของความเสียหายที่เกิดจากการสร้างสะพานข้ามแยก (คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์แห่ง Paris ลงวันที่ 14 ธันวาคม ค.ศ. 1993) เป็นต้น
5.การบังคับคดีและการเยียวยาความเสียหายของศาลปกครอง
คำพิพากษาของศาลปกครองก็เช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลทั่วไป คือมีอำนาจบังคับในฐานะที่เป็นคำพิพากษา ซึ่งโดยปกติคำพิพากษาของศาลมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเดียวกันหรือในคดีที่ฟ้องโดยอาศัยเหตุผลเดียวกัน แต่สำหรับคดีที่เกี่ยวกับการเพิกถอนนิติกรรมทางปกครองโดยมิชอบแล้ว สามารถใช้ยันกับบุคคลทุกๆคนไม่เฉพาะแต่ผู้ร้องเท่านั้น โดยมีรัฐกฤษฏีกาลงวันที่ 28 พฤษจิกายน ค.ศ. 1983 ได้ยืนยันหลักการดังกล่าวโดยกำหนดว่า เมื่อมีคำสั่งที่มีผลเป็นการเฉพาะรายถูกศาลเพิกถอนเนื่องจากเหตุมิชอบด้วยกฏหมายของกฏที่คำสั่งนั้นใช้เป็นฐาน หากมีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร้องขอฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่มีผลเป็นการเฉพาะรายที่ออกโดยอาศัยเหตุเดียวกันทั้งหมด ดังนั้นฝ่ายปกครองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาโดยเคร่งครัด ในกรณีที่มีการชดใช้ค่าเสียหายโดยการกำหนดจำนวนเงินเมื่อศาลพิพากษาให้ฝ่ายปกครองชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ฝ่ายปกครองต้องจ่ายภายใน 4 เดือน หากระยะเวลาดังกล่าวยังไม่มีการออกคำสั่งจ่ายเงิน สมุห์บัญชีของหน่วยงายที่เกี่ยวของจะต้องดำเนินการจ่ายเงินชดใช้โดยไม่ต้องมีคำสั่งแต่อาศัยเฉพาะการแสดงคำพิพากษาเท่านั้น
เชิงอรรถ
1. หลักดังกล่าวเป็นหลักในกฏหมายทั่วไปในด้านสิ่งแวดล้อมและได้รับการบัญญัติไว้ในประมวลกฏหมายสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส หลักป้องกันล่วงหน้า เป็นการกำหนดหรือหามาตรการ โดยใช้เทคโนโลยีที่จำเป็น เหมาะสมเพื่อป้องกันมิให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายที่ สามารถคาดหมายได้ล่วงหน้า หรือให้เกิดผลกระทบ หรือความเสียหายน้อยที่สุดในด้านสิ่งแวดล้อม
ในทางปฏิบัติ หลักการดังกล่าวนี้ถูกนำมาใช้โดยอาศัยวิธีการดำเนินการสี่ประการด้วยกัน
(1) การศึกษาผลกระทบ (létude dimpact) กำหนดในรัฐบัญญัติว่าด้วยการคุ้มครองธรรมชาติ ลงวันที่ 10 มราคม ค.ศ. 1979 การศึกษาผลกระทบนี้ มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เพื่อศึกษาผลกระทบล่วงหน้าที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการหรือการดำเนินการใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือทำลายสภาพแวดล้อมได้ และตลอดจนเพื่อหามาตรการป้องกันล่วงหน้าโดยมิให้ความเสียหายนั้นเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้นน้อยที่สุด อนึ่ง การศึกษาผลกระทบในประเทศฝรั่งเศสนี้ ได้มีการกำหนดรายละเอียดในหลายรูปแบบ เช่น การศึกษาผลกระทบของโครงการที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อม และ ด้านอนามัย เป็นต้น
(2) การอนุมัติก่อนล่วงหน้า (l autorisation préalable) เป็นกรณีที่จะมีการจัดตั้งโรงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่นผลิตสารเคมี หรือ วัตถุอันตรายที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญต่อสภาพแวดล้อม ในกรณีดังกล่าวนี้ รัฐหรือฝ่ายปกครองอาจจะมีการอนุมัติการจัดตั้งเป็นการชั่วคราวล่วงหน้าได้โดยผู้ที่จะขอใบอนุญาตจัดตั้งต้องเสนอหรือหาวิธีการหรือ มาตรการในการบำบัดป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า มาตรการดังกล่าวนี้ถือได้ว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของรัฐหรือฝ่ายปกครองที่นำมาตรการป้องกันล่วงหน้ามาใช้เพื่ออนุมัติโครงการที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
(3) การทำให้สิ่งแวดล้อมกลับสู่สภาพเดิม (la correction à la source) เป็นการกำหนดมาตรการในการทำให้สภาพแวดล้อมกลับคืนสู่สภาพเดิมหรือให้มีการใช้โดยให้เสื่อมสภาพน้อยที่สุด ในรูปวิธีการจำกัดหรือลดมลพิษที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น สร้างเครืองจักที่ลดการผลิตของเสีย หรือใช้เครื่องจักรที่ลดการผลิตของเสีย หรือใช้เครื่องจักรที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียงน้อยที่สุด หรือใช้วัตถุดิบที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่ เป็นต้น
(4) การกำหนดมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (les éco audits et le management environnemental) เป็นการจัดการหรือตรวจสองลักษณะของโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละแห่งให้มีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ในแต่ละกลุ่มโดยอาจเป็นการจัดรวมกลุ่มในระดับ สมาคมภายในประเทศ หรือเป็นการกำหนดค่ามาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมให้มีค่ามาตรฐานสากล เรียกว่า ISO (International Standard Organization) 14001 เป็นต้น
2. ศาลคดีขัดกันของประเทศฝรั่งเศสจัดตั้งขึ้นตามรัฐบัญญัติ ลงวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1872 ที่กำหนดให้ศาลคดีขัดกันเป็นศาลทวิภาคี มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยประเด็นในเรื่องเขตอำนาจของศาลยุติธรรมและศาลปกครอง
3. ตามมาตรา 809 แห่งประมวลกฏหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง
4. ในประเทศฝรั่งเศสไม่มีการจัดทำรายชื่อของผู้เชี่ยวชาญทางด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นทางการ ซึ่งถือว่าเป็นจุดอ่อนสำหรับเรื่องผู้เชี่ยวชาญที่จะมาให้ความเห็นด้านสิ่งแวดล้อม (ตามความเห็นของ HUGLO Christian >Jusri Classeur (Environnement) Fascicule 1010 , 1997 )
5. คดีที่กฏหมายกำหนดให้สามารถฟ้องต้อสภาแห่งรัฐหรือศาลปกครองสูงสุดได้โดยตรงนั้น โดยทั่งไปแล้วคดีที่มีความสำคัญเช่น คดีที่ขอให้มีการเพิกถอนรัฐกฤษฏีกาที่ใช้บังคับเป็นการทั่วไปและที่ใช้บังคับเป็นการเฉพาะรายเป็นต้น
6. Installation claséé หมายถึง โรงงานอุตสาหกรรม หรือ เกษตรกรรมที่มีความเสี่ยงในการก่อให้เกิดมลพิษต่างๆหรือปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชนโดยในประเทศฝรั่งเศส มีการจัดแบ่งกลุ่มประเภทของโรงงานเหล่านี้ หากเป็นโรงงานที่ไม่มีหรือผลิตมลพิษน้อยก็เพียงแต่แจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่โรงงานนั้นๆตั้งอยู่ทราบ หากเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีกฏหมายกำหนดระดับของการปล่อยมลพิษไว้จะเป็นต้องขออนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดก่อน
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1432
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:51 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|