สองมาตรฐาน แนวโน้มความรุนแรงในสังคมไทย : กรณีศึกษาเขายายเที่ยง

31 มกราคม 2553 21:19 น.

       กรณีเขายายเที่ยงเป็นตัวสะท้อนระบบสองมาตรฐานอย่างหนึ่ง และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ที่อยู่ในสังคมไทยมาช้านาน นี่ไม่ใช่เรื่องที่ผิดไปจากความคาดหมาย ที่การทำผิดกฎหมายของคนใหญ่คนโตกับคนทั่วไปจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน คือ เมื่อคนใหญ่โตทำผิดก็มักจะไม่ผิด หรือแม้จะผิดและต้องรับโทษแต่กระบวนการในการนำตัวมาลงโทษ ก็ต้องใช้เวลานานกว่าคนธรรมดาสามัญ
       ระบบสองมาตรฐานคืออะไร พูดกันโดยภาษาชาวบ้าน ก็คือระบบที่จัดการกับปัญหาข้อเท็จจริงที่เหมือนกันให้แตกต่างกันออกไป ตามหลักมาตรฐานเดียวกันแล้ว ข้อเท็จจริงที่เหมือนกันต้องปฏิบัติอย่างเดียวกัน แต่หลักสองมาตรฐานเอาเรื่องอย่างเดียวกันมาปฏิบัติไม่ให้เหมือนกัน และที่มากไปกว่าปัญหาเขายายเที่ยงคือ เรื่องนี้มันเป็นปัญหาในทางโครงสร้างของกฎหมายด้วย
       ระบบสองมาตรฐานที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายไทย ก็อย่างเช่น บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 ที่รับรองความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของประกาศ คปค. คำสั่งของหัวหน้า คปค. และการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว ต้องเข้าใจว่ากฎหมายที่เราเรียกว่าพระราชบัญญัตินั้น ไม่ว่าจะออกมาตั้งแต่เมื่อไหร่ มันก็ตกอยู่ภายใต้การตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ตลอด แต่โดยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 มีกฎหมายประเภทหนึ่งคือประกาศ คปค. หรือคำสั่งของหัวหน้า คปค.จะไม่สามารถถูกตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้
       อาจมีผู้แย้งว่าตรวจสอบไม่ได้ได้อย่างไร เพราะมีการยื่นเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 และศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่ามันไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ผมยังยืนยันว่าพูดไม่ผิด คือ เมื่อมีการรับรองให้ประกาศ คปค. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว แม้จะมีการส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าเนื้อหาของประกาศ คปค. จะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญยังไง ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถจะชี้ได้ว่ามันไม่ชอบเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 309 รับรองความชอบให้มันแล้ว และหากศาลรัฐธรรมนูญกล้าบอกว่ามันไม่ชอบ ก็ถือว่าศาลจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลให้ถูกถอดถอนได้ เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นว่าในโครงสร้างบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ยังปรากฏหลักความไม่เสมอภาคของกฎหมายต่างชนิดในแง่มุมของการตรวจสอบ
       นอกจากประกาศ คปค. แล้ว กรณีจำนวนคะแนนเสียงเกี่ยวกับการผ่านร่างกฎหมายก็ดูจะสะท้อนถึงหลักสองมาตรฐานเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน แม้วุฒิสภาลงมติให้ผ่าน 70 ไม่ให้ผ่าน 53 ซึ่งเมื่อพิจารณาจากบททั่วไปของรัฐธรรมนูญแล้ว ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องถือว่าถูกคว่ำในชั้นวุฒิสภาเพราะคะแนนเสียงให้ผ่านมีไม่เกินกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา แต่เมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 302 วรรค 5 บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดินนั้น การผ่านหรือไม่ให้ผ่านกฎหมาย ให้นับจากคะแนนเสียงไม่ให้ผ่านเป็นหลัก คือ ถ้าคะแนนเสียงไม่ให้ผ่านมีไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา แม้คะแนนเสียงให้ผ่านจะน้อยกว่าคะแนนเสียงไม่ให้ผ่านก็ตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 302 วรรค 5 ก็ถือว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องแปลก เพราะขณะที่ร่างกฎหมายอื่นๆ การผ่านกฎหมายจะนับจากคะแนนเสียงให้ผ่าน แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวนี้ คะแนนเสียงไม่ให้ผ่านจะเป็นตัววัดว่าร่างกฎหมายนั้นผ่านความเห็นชอบแล้วหรือไม่ เรื่องนี้ ถ้ามองให้ลึกลงไป นี่เป็นเทคนิคการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อยื่นดาบอย่างไม่ลืมหูลืมตาให้กับบางองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในช่วงของการรัฐประหาร
       นี่เป็นเรื่องสองมาตรฐานที่ปรากฏอยู่ในโครงสร้างของกฎหมายอย่างตัวรัฐธรรมนูญเอง และหากท่านสงสัยว่ารัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติในลักษณะนี้ได้ยังไง ก็ต้องตามไปดูเอาเองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ใครเป็นผู้ยกร่าง
       นอกจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแล้ว ระบบสองมาตรฐานยังปรากฏร่องรอยอยู่ในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายด้วย
       กรณีของกองทัพ มีคนสองกลุ่มใหญ่ๆ ต่างใช้เสรีภาพการชุมนุมในลักษณะพอๆ กัน แต่ท่านเห็นบทบาทของกองทัพหรือไม่ว่าทำไมการชุมนุมของคนกลุ่มหนึ่งกองทัพจึงกระวีกระวาดจัดการ แต่พอการชุมนุมของคนอีกกลุ่มหนึ่งกองทัพกลับไม่ค่อยทำอะไร และเมื่อรัฐบาลพยายามจะทำแล้ว ผู้มีอำนาจในกองทัพกลับออกมาพูดให้ลาออกเสียอีก ความจริงแล้ว ถ้ากองทัพเป็นกลไกตัวหนึ่งของรัฐเทียบเคียงว่าเป็นเบรกรถ ไม่ว่าคนมาแตะเบรกจะเป็นใคร ใส่เสื้อสีอะไร รถต้องหยุด แต่การดำเนินการของกองทัพเสมือนว่าไม่รู้ว่าตัวเองเป็นเบรกหรือเป็นคันเร่ง พอคนหนึ่งมาเหยียบก็เป็นเบรก แต่อีกคนมาเหยียบดันกลายเป็นคันเร่ง สุดแท้แต่ว่าคนเหยียบใส่เสื้อสีอะไร นี่เป็นปัญหาใหญ่เชิงระบบ
       กรณี ปปช. น่าสงสัยว่าทำไมบางเรื่องหยิบมาพิจารณาเร็วมาก แต่บางเรื่องก็ช้าเสียจนแทบจะหาคำอธิบายที่สมเหตุสมผลไม่ค่อยได้ สำหรับ กกต.เอง ผมกำลังรอดูอยู่ว่าคดีบริจาคเงิน 258 ล้านให้กับพรรคประชาธิปัตย์ สุดท้ายจะออกมาอย่างไร ผมจะไม่พูดเรื่องปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับการตั้งคณะอนุกรรมการซ้ำไปซ้ำมา แต่อยากจะดูว่าตัวเนื้อหาของคดีเมื่อเอาไปเปรียบเทียบกับเรื่องอื่นๆ แล้ว มันจะมีระบบสองมาตรฐานหรือไม่
       อีกกรณีหนึ่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของอัยการ สิ่งที่ทุกท่านจะต้องไม่ลืมก็คือว่า วันนี้ข้อหาเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกพูดกันมากว่ามีการดำเนินคดีที่สอดคล้องกับความมุ่งหมายของกฎหมายจริงๆ หรือเพื่อการทำลายล้างทางการเมือง ทำไมคนกลุ่มหนึ่งถูกเร่งให้ดำเนินคดีและมีการฟ้องร้องไปบ้างแล้ว แต่กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง อัยการกลับสั่งไม่ฟ้องด้วยเหตุผลว่ามันไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ คำถามคือ เอาเกณฑ์ไหนมาวินิจฉัยว่าอะไรเป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ และเกณฑ์นั้นมีคำอธิบายบนพื้นฐานการไม่เลือกปฏิบัติหรือไม่
       นี่เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ปรากฏร่องรอยของระบบสองมาตรฐาน
       สำหรับระบบสองมาตรฐานในการวินิจฉัยคดีของศาล หากดูกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อศาลวินิจฉัยว่าประกาศ คปค.ฉบับที่ 30 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยมีเหตุผลอย่างหนึ่งว่า เพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 รับรองให้มันชอบ อย่างนี้ เมื่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 309 มันสร้างระบบสองมาตรฐานแล้วศาลเอามาใช้เป็นเหตุผลในคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยของศาลก็ถือว่าเป็นการรับรองระบบสองมาตรฐานไว้ด้วยเช่นกัน
       คำถามมีว่าระบบสองมาตรฐานที่สะท้อนผ่านบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ กระบวนการบังคับใช้กฎหมาย และคำวินิจฉัยของศาล มันเกิดมาได้ยังไง
       บทสรุปในชั้นนี้คือว่า วันนี้เราอยู่ในช่วงของการต่อสู้ทางการเมืองระหว่างคนสองกลุ่ม โดยคนกลุ่มหนึ่งมีความต้องการทำลายล้างทางการเมืองกับคนอีกกลุ่ม ซึ่งการทำลายล้างอย่างนี้จะไม่อาจสำเร็จขึ้นได้เลย ถ้าทุกอย่างดำเนินการไปบนพื้นฐานของความเสมอภาคและไม่เลือกปฏิบัติ เมื่อเป็นอย่างนี้ เป้าหมายจึงสำคัญกว่าวิธีการ และเมื่อเป้าหมายอย่างนี้ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ก่อนรัฐประหารและระหว่างรัฐประหาร ถึงวันนี้จึงไม่จำเป็นต้องเหนียมอายในการเลือกปฏิบัติอีกต่อไป เพราะเมื่อคนร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เหนียมอาย แล้วคนที่ใช้กฎหมายจะอายไปทำไม
       คำถามต่อไปก็คือ เมื่อระบบสองมาตรฐานมันปรากฏอยู่ ผลจากนี้จะเป็นอย่างไร ความรุนแรงจะเกิดขึ้นไหม
       วันนี้ผมเห็นว่าระบบสองมาตรฐานมีอยู่จริง และมันไม่ได้เป็นระบบที่เกิดมาจากความไม่ตั้งใจ มันเกิดมาจากความจงใจที่ทำให้ระบบนี้เกิดขึ้นมาเพื่อทำลายล้างทางการเมือง เมื่อระบบสองมาตรฐานมันเกิดมาจากความตั้งใจอย่างนี้ การจะหวังให้ทุกอย่างกลับมาสู่มาตรฐานเดียวจึงไม่ต้องหวัง และระบบสองมาตรฐานนี้จะยังคงดำเนินต่อไปและจะเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ตราบใดที่คู่ต่อสู้ทางการเมืองกลุ่มหนึ่งยังไม่ถูกทำลายล้างจนราบคาบ
       แล้วอะไรจะเกิดขึ้น ถ้ามองเหตุปัจจัยตามหลักอิทัปปัจจยตา กรณีแรก เมื่อการปฏิบัติในลักษณะสองมาตรฐานยังดำเนินการต่อ และฝ่ายที่ถูกกระทำยอมรับการกระทำนั้น ทุกอย่างก็จบ ระบบสองมาตรฐานก็จะดำเนินการต่อไปจนกว่าเป้าหมายสุดท้ายจะเสร็จสิ้น แต่ในกรณีที่สอง หากผู้ถูกกระทำเขาไม่ยอมรับ ซึ่งผมเชื่อว่าเขาคงจะยอมรับไม่ได้ มันจะเกิดการต่อสู้ครั้งใหญ่
       หากการต่อสู้กันยังอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้ ระบบสองมาตรฐานจะดำเนินไปเหมือนเดิม แต่หากควบคุมไม่ได้แล้ว รัฐประหารจะเกิดขึ้นภายใต้เหตุผลเพื่อรักษาความมั่นคงของประเทศ แต่ถามว่าแล้วจบไหม ผมคิดว่ามันไม่จบ การต่อสู้ที่เกิดขึ้นอีกต่อไปจะเป็นการต่อสู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และสังคมจะเกิดความวุ่นวายอย่างที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน พูดง่ายๆ คือมีโอกาสที่จะเกิดสงครามกลางเมือง
       โดยผลอย่างนี้ ทำไมฝ่ายหนึ่งถึงยังกล้าทำให้ระบบสองมาตรฐานนั้นคงอยู่ ผมเห็นว่าวันนี้ระบบการเมืองไทยมาถึงทางสองแพร่งสำคัญ และไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ คุณทักษิณถูกถือว่าเป็นจุดเชื่อมสำคัญจุดหนึ่งบนทางสองแพร่งนี้ว่าประเทศจะหักเหไปทางไหน ด้วยเหตุนี้ เพื่อทำลายล้างคุณทักษิณให้ได้ แม้จะใช้ระบบสองมาตรฐานก็จำเป็นต้องทำ แต่ผลของการทำอย่างนี้ ประเทศยิ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงมากขึ้นไปอีก และจะไม่ใช่ความรุนแรงชนิดที่ท่านเคยเห็นมาก่อนในประเทศไทยที่มีผลแค่เกิดการระเบิดตึกสักตึกหนึ่ง แต่มันจะเป็นความรุนแรงที่นำไปสู่การทำลายระบบโครงสร้างของประเทศ
       หากถามว่าจะป้องกันอย่างไร ผมเห็นว่าคงหาทางป้องกันได้ยากเพราะมีคนอยากให้เกิด ความรุนแรงย่อมไม่เกิดหากคนทั้งสองขั้วยินดีจะไม่ให้เกิด แต่เมื่อฝ่ายหนึ่งตั้งใจทำลายล้างอีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงวิธีการว่าชอบหรือไม่ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่อีกฝ่ายจะต้องสู้ และเมื่อถึงจุดๆหนึ่ง มันก็เลี่ยงไม่พ้นที่จะเกิดความรุนแรง
       ผมวางใจกับเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเมืองไทยแล้ว สถานการณ์ตอนนี้เหมือนมีสึนามิที่กำลังจะมาขึ้นฝั่ง เราทำได้เพียงอย่างเดียวคือดูว่าจุดจบจะเป็นอย่างไร และถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ เราจะสร้างบ้านสร้างเมืองกันใหม่แบบไหน ส่วนใครจะเป็นผู้รอดอยู่ อนาคตจะเป็นผู้ให้คำตอบ
       ..........................................................
       [ หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ปรับปรุงจากเนื้อหาคำอภิปรายของผู้เขียนเรื่อง ” สองมาตรฐาน แนวโน้มความรุนแรงในสังคมไทย : กรณีศึกษาเขายายเที่ยง ” ซึ่งจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2553 โดยผู้เขียนเพียงปรับปรุงถ้อยคำบางส่วน แต่เนื้อหาสาระยังคงเดิมตามคำอภิปราย ]


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1430
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 20:26 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)