|
|
การเมือง และการต่อสู้เรื่อง "การุณยฆาต" (l'euthanasie) ในประเทศฝรั่งเศส โดยอาจารย์ปิยบุตร แสงกนกกุล 16 ธันวาคม 2547 12:01 น.
|
สวัสดีครับ พบกับผมเป็นครั้งที่สอง ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ฝ่ายขวาก็ยังครองเสียงข้างมากเหมือนเดิม, การพิจารณารับตุรกีเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (L'adhé sion de la Turquie à l'Union europé en) ประเด็นนี้ยังเถียงกันอยู่แต่มีแนวโน้มว่าตุรกีคงได้เข้าร่วมอย่างเต็มตัวในปี 2015 ภายใต้เงื่อนไขบางประการที่ตุรกีต้องรับไปปฏิบัติ เช่น การเคารพสิทธิมนุษยชนของชาวเคิร์ด การประกันเสรีภาพในการนับถือศาสนา การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและวิธีพิจารณาความอาญาให้สอดคล้องกับรัฐเสรีประชาธิปไตย เป็นต้น บรรดานักการเมืองฝรั่งเศสเองก็มีความเห็นต่างกันไปครับ ฝ่ายขวาก็เสียงแตกกันเอง ผู้ที่เห็นด้วยว่าควรให้ตุรกีเข้าร่วมก็มี ฌาคส์ ชีรัค (Jacques Chirac) ประธานาธิบดี มิเชล บาร์นิเยร์ (Michel Barnier) รมต.ต่างประเทศ โดมินิก เดอวิลล์แปง (Dominique de Villepin) รมต.มหาดไทย ฌอง หลุยส์ บอร์โล (Jean-Louis Borloo) รมต.แรงงาน ผู้ที่คัดค้านก็มีเยอะไล่จาก ฌอง ปิแอร์ ราฟฟาแร็ง (Jean-Pierre Raffarin) นายกรัฐมนตรี นิโกล่าส์ ซาร์โกซี่ (Nicolas Sarkozy) รมต.คลังและเศรษฐกิจ ฟร็องซัวส์ บายรู (François Bayrou) หัวหน้าพรรค UDF ฟิลิป เดอวิลลิเยร์ (Philippe de Villier) หัวหน้ากลุ่มขวาจัดที่ยึดมั่นอธิปไตยของฝรั่งเศส ทางด้านฝ่ายซ้ายก็เสียงแตกเช่นกัน ฝ่ายที่เห็นด้วยนำโดย ลีโอเนล จอสแปง (Lionel Jospin) อดีตนายกฯ ฟร็องซัวส์ ฮอลลองด์ (François Hollande) เบอร์ 1 ของพรรคสังคมนิยม นางมารี จอร์จ บุฟเฟต์ (Marie-George Buffet) เบอร์ 1 ของพรรคคอมมิวนิสต์ ฝ่ายที่ค้านมี โลร็องต์ ฟาบิอุส (Laurent Fabius) เบอร์ 2 ของพรรคสังคมนิยม อองรี เอ็มมานูเอลลี่ (Henri Emmanuelli) ส.ส.พรรคสังคมนิยม อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และมานูเอล วาลส์ (Manuel Valls) ส.ส.พรรคสังคมนิยม (สังเกตให้ดีครับว่า ในฝรั่งเศส เมื่อมีประเด็นสำคัญที่กระทบต่อผลประโยชน์ของชาติ นักการเมืองของเขาจะมีอิสระในการแสดงจุดยืนของตนเองอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงกลัวหัวหน้าพรรคหรือหัวหน้ามุ้งแต่อย่างใด กรณีนี้จะต่างกับบ้านเราชัดเจนที่บรรดาสมาชิกผู้ทรงเกียรตินี่ยกมือลงมติกันแต่ละทีไม่ต่างกับฝักถั่ว บางทีแค่ลงมติไม่ไว้วางใจแล้วเสียงหายไป 2-3 เสียงนี่ต้องวิ่งพล่านเช็คกันจ้าหละหวั่นว่าเป็นใครที่หาญกล้ามายกมือสวนกระแสพรรค หนำซ้ำยังขู่ฟอดๆอีกว่าจะไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้งต่อไปอีกด้วย) ประเด็นตุรกีนี้เป็นที่กังวลใจของพี่เบิ้มในสหภาพยุโรปเพราะจำนวนประชากรของตุรกีปัจจุบันมีถึง 70 ล้านคน หากเข้าสหภาพยุโรปในปี 2015 จำนวนประชากรอาจเพิ่มเป็น 100 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลให้จำนวนประชากรของตุรกีมาเป็นอันดับหนึ่งของสหภาพยุโรปนำหน้าเยอรมันและฝรั่งเศสอันทำให้น้ำหนักของเสียงในการลงมติในสหภาพยุโรปเพิ่มตามไปด้วย ไหนจะมีประเด็นความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนาอีก ตอนนี้ก็มีเสียงเรียกร้องกันว่าต้องเปิดสภาเถียงกันในเรื่องนี้ และชีรัคไม่ควรถือสิทธิไปลงนามตกลงด้วยตัวเองแต่ควรจัดให้มีการลงประชามติทั่วประเทศว่าชาวฝรั่งเศสจะเอาด้วยกับตุรกีหรือไม่ คงต้องติดตามกันอีกยาวครับเรื่องตุรกีกับสหภาพยุโรป
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการประกาศบังคับใช้รัฐบัญญัติ( Perben II) (ฝรั่งเศสนิยมเรียกชื่อกฎหมายตามชื่อคนที่เป็นต้นเรื่อง กรณีนี้เป็นชื่อของ Dominique Perben รมต.ยุติธรรม) จริงๆแล้วรัฐบัญญัตินี้ออกมาเมื่อวันที่ 9 มี.ค.2004 แต่กำหนดให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายอาญา ซึ่งผมยอมรับว่าไม่มีความรู้ทางด้านนี้จริงๆจึงยังไม่ได้ตามรายละเอียดเท่าที่ควร ไว้ผมจะลองถาม อ.ปกป้อง ศรีสนิท ที่ทำปริญญาเอกทางกฎหมายอาญาอยู่ที่ฝรั่งเศสอีกที ส่วนประเด็นการลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญยุโรปก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันในวงกว้าง ตอนนี้ได้ขยายผลไปถึงขนาดว่าเสียงในพรรคสังคมนิยมได้แตกออกเป็น 2 ส่วนอย่างชัดเจน ผู้สันทัดกรณีบางคนกล่าวว่า จริงๆเป็นสงครามเย็นระหว่าง นายฟร็องซัวส์ ฮอลลองด์ (François Hollande) เบอร์1 ของพรรคที่จะลงมติรับ กับนายโลร็องต์ ฟาบิอุส (Laurent Fabius) เบอร์ 2 ที่จะรับก็ต่อเมื่อดำเนินการตามเงื่อนไข 4 ประการตามที่ผมเล่าให้ฟังไปคราวที่แล้ว ทั้งคู่มีทีท่าว่าจะแย่งกันเป็นผู้สมัครในนามพรรคสังคมนิยมเพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีปี 2007 ครับ แต่ที่ผมจะเล่าให้ฟังกันคราวนี้นับว่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากโดยเฉพาะกับวงการกฎหมายไทยในอนาคต นั่นคือ การจัดทำข้อเสนอให้ออกรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิของผู้ป่วยและการสิ้นชีวิต ส่วนเรื่องของนายนิโกล่าส์ ซาร์โกซี่ (Nicolas Sarkozy) ตามที่ผมสัญญาไว้คราวก่อนว่าจะเล่าให้ฟังนั้น ผมต้องขอข้ามไปก่อน ถ้ามีโอกาสในคราวต่อๆไปผมจะทยอยเล่าแทรกให้ฟัง
ถ้าเรายังจำกันได้เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว อ.นันทวัฒน์ได้เขียนบทบรรณาธิการเกี่ยวกับเรื่องของ นายแวงซองต์ อัมแบร์ (Vincent Humbert) ที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จนกลายเป็นผู้ป่วยขั้นโคม่า ร่างกายหลายส่วนใช้การไม่ได้ (ประมาณเดียวกับกรณีของบิ๊ก ดีทูบีนั่นแหละครับ) นายอัมแบร์ได้เขียนจดหมายเพื่อร้องขอสิทธิในการตาย (Droit à la mort) จากประธานาธิบดี ฌาคส์ ชีรัค (Jacques Chirac) ด้วยการใช้สัญญาณทางกายสื่อให้เพื่อนเขียนให้ ซึ่งชีรัคได้ตอบกลับมาว่าตนเข้าใจตัวนายอัมแบร์ดี แต่ระบบกฎหมายฝรั่งเศสไม่เอื้ออำนวยให้ทำเช่นนั้น ในท้ายที่สุด หมอและแม่ของนายอัมแบร์ก็ตัดสินใจหยุดการรักษา นายอัมแบร์เสียชีวิตในวันที่ 26 ก.ย.ปีที่แล้ว ส่วนหมอและแม่ของอัมแบร์ก็ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายซึ่งเรื่องกำลังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม ใครสนใจลองอ่านหนังสือที่เขียนโดยนายอัมแบร์เรื่อง Je vous demande le droit de mourir ตอนนี้แปลเป็นภาษาไทยแล้วครับ
กรณีการตายของอัมแบร์ส่งผลไปอย่างกว้างขวาง เกิดประเด็นถกเถียงกันว่าถึงเวลาหรือยังที่ฝรั่งเศสสมควรมีกฎหมายรับรองการุณยฆาต (l'euthanasie) รัฐสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการเฉพาะกิจขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อศึกษาแนวทางแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการสิ้นชีวิต คณะกรรมาธิการชุดนี้มีทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย มีนายฌอง ลีโอเน็ตติ (Jean Leonetti) ส.ส.จากพรรค UMP เป็นประธาน วันที่ 21 ก.ค.คณะกรรมาธิการได้จัดทำข้อเสนอให้ออกรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิของผู้ป่วยและการสิ้นชีวิต (la proposition de loi relative aux droits des malades et à la fin de vie) เพื่อแก้ไขบทบัญญัติในประมวลกฎหมายสาธารณสุข และประมวลกฎหมายจรรยาบรรณทางการแพทย์ ร่างรัฐบัญญัตินี้อนุญาตให้แพทย์จำกัดหรือหยุดการรักษาผู้ป่วยในระยะสุดท้ายได้หากผู้ป่วยนั้นร้องขอ ในกรณีที่ผู้ป่วยนั้นไม่รู้สึกตัวให้เป็นการตัดสินใจของบุคคลที่ผู้ป่วยไว้วางใจ (La personne de confiance) หรือปฏิบัติตามหนังสือแสดงเจตจำนงของผู้ป่วยที่ได้ทำไว้ล่วงหน้า (Directives anticipées) อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวยังไม่ใช่การรับรองการุณยฆาตให้ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเพียงแต่ทางเลือกที่ 3 ระหว่างการไม่ให้มีการุณยฆาตเลยกับการอนุญาตให้มีการุณยฆาตได้ จะเห็นได้ว่าคณะกรรมาธิการไม่ได้ตอบคำถามที่ว่า สมควรมีการุณยฆาตในฝรั่งเศสหรือไม่ แต่กลับมุ่งไปที่ผู้ป่วยขั้นโคม่าดังเช่นกรณีของอัมแบร์เท่านั้น เป็นเรื่องน่าหนักใจไม่ใช่น้อยครับในการตัดสินใจเลือกทางใดทางหนึ่ง ถ้าคณะกรรมาธิการเลือกการออกกฎหมายรับรองให้มีการฉีดยาให้ตาย (l'euthanasie active) ได้ ก็จะถูกพวกอนุรักษ์นิยมและเคร่งศาสนาคริสต์ต่อต้าน แต่ถ้าเพิกเฉยปล่อยให้เป็นแบบเดิมต่อไป บรรดาสมาคม ภาคประชาชน และแพทย์บางส่วนก็ไม่ยอม อย่ากระนั้นเลยคณะกรรมาธิการจึงเดินทางสายกลางด้วย "การเลือกทางที่ 3 โดยพิจารณาจากบริบททางสังคมและการแพทย์ในฝรั่งเศส" เป็นสำคัญ นี่เป็นสูตรสำเร็จของฝรั่งเศสล่ะครับ เมื่อมีประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวางและหมิ่นเหม่แบบ 50-50ทีไร ฝรั่งเศสก็จะออกลูกกั๊กแบบนี้ทุกที จะเห็นได้จากลีลาทางการทูตของฝรั่งเศสที่พวกอเมริกาเอาไปล้อเลียนว่าแทงกั๊กตลอด หรือกรณีการอนุญาตจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกัน ฝรั่งเศสก็ไม่กล้าแต่หนีไปใช้ PACSแทน (ย่อมาจาก Pacte civil de solidarité เป็นการให้คนสองคนทำสัญญาตกลงอยู่ร่วมกันโดยไม่ใช่สมรส แต่มีผลในการแบ่งทรัพย์สิน)
เมื่อข้อเสนอนี้ออกสู่สาธารณะ บรรดาสมาคมที่สนับสนุน l'euthanasie ทั้งหลายยังคงไม่เห็นด้วยในหลายประการ สมาคมเพื่อสิทธิในการตายอย่างมีศักดิ์ศรี (Association pour le droit de mourir dans la dignité ; ADMD) โดยนายแพทย์ ฌอง โกเฮน (Jean Cohen) ประธานสมาคมออกมากล่าวว่า ร่างรัฐบัญญัติที่เสนอโดยคณะกรรมาธิการชุดนายลีโอเน็ตตินี้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ ดูเหมือนกับว่าร่างรัฐบัญญัตินี้ให้อะไรบางอย่างใหม่ๆแก่เรา แต่ความจริงแล้วชะตากรรมของผู้ป่วยยังคงขึ้นกับการตัดสินใจของนายแพทย์อยู่ดี ไม่ได้หมายความว่าแพทย์จะต้องทำตามเจตนาของผู้ป่วยเสมอไป แพทย์ยังคงมีดุลพินิจในการตัดสินใจว่าจะหยุดการรักษาหรือไม่ก็ได้ อย่างไรก็ตามทางสมาคมจะรอฟังการถกเถียงกันในที่ประชุมรัฐสภาอีกครั้ง พร้อมกับเตรียมจัดทำข้อเสนอแนะเพิ่มเติมต่อไป สมาคมหวังว่าน่าจะมีความเป็นไปได้ว่า การแสดงเจตจำนงขอสิ้นชีวิตของผู้ป่วยนั้นจะมีผลบังคับผูกมัดนายแพทย์อย่างเด็ดขาด ทางด้านสมาคม "เราต้องเร่งเร้า ! (Faut qu'on s'active !)" โดยนายแวงซองต์ เลน่า (Vincent Léna) โฆษกสมาคมและรองนายกเทศมนตรี Boulogne-sur-mer สังกัดพรรคสังคมนิยมออกมาแถลงว่า ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการก้าวหน้าไปมากกว่าแต่ก่อน แต่ก็ยังไม่มากพอ การทำงานของคณะกรรมาธิการชุดนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของนายฟิลิป ดูสท์ บลาซี่ (Philippe Douste-Blazy) รมต.กระทรวงสาธารณสุข รัฐสภาและรัฐบาลร่วมมือกันปกป้องบรรดาแพทย์จากความผิดในการหยุดรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น ร่างนี้ไม่ได้รับรองให้ l'euthanasie ชอบด้วยกฎหมาย เป็นแต่เพียงการการยกเว้นความผิดทางอาญาในกรณีการปล่อยให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายสิ้นชีวิตอย่างสงบภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวด ด้วยเหตุนี้ "สมาคมเราต้องเร่งเร้า !" ภายใต้การสนับสนุนของนายแจ็ค ลอง (Jack Lang) อดีตรมต.กระทรวงศึกษาธิการและวัฒนธรรมสมัยรัฐบาลนายลีโอเนล จอสแปง (นายลองเป็นด็อกเตอร์ทางกฎหมายมหาชนด้วย) จึงถือโอกาสเนื่องในวันครบรอบ 1 ปีการตายของนายอัมแบร์ จัดทำร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิในการตายอย่างมีศักดิ์ศรี (Proposition de loi relative au droit de se retirer dans la dignité) หรือเรียกกันว่าร่างรัฐบัญญัติ "แวงซองต์ อัมแบร์"( loi Vincent Humber) เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะและล่ารายชื่อให้ครบ 100,000 ชื่อก่อนเสนอต่อรัฐสภาให้พิจารณาต่อไป สาระสำคัญของร่างรัฐบัญญัติที่สมาคมนี้เสนอคือ การยอมรับให้มี l'euthanasie อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ภายใต้แนวคิดที่ว่า ชีวิตของแต่ละคนต้องให้เจ้าของชีวิตตัดสินใจเอง แพทย์ ผู้พิพากษาหรือบุคคลใดก็ตามไม่มีสิทธิมากำหนดชะตาชีวิตของเขา จุดที่แตกต่างกันก็คือ ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเป็นการปล่อยให้ตายไปเองด้วยการหยุดการรักษาแต่ข้อเสนอของสมาคมเป็นการช่วยเหลือหรือทำให้ตาย หรือที่เรียกว่า( L'aide active à mourir)
ทางด้านนายลีโอเน็ตติ ประธานคณะกรรมาธิการออกมาตอบโต้ว่า ข้อเสนอนี้ไปไกลมากเพียงพอแล้วและตั้งอยู่ในความสมดุลของทั้งฝ่ายที่สนับสนุนและต่อต้านการุณยฆาต เขาเน้นว่า มีความแตกต่างกันระหว่าง "การปล่อยให้ตาย" กับ "การทำให้ตาย" เขายังบอกอีกว่าคงเป็นเรื่องที่กระทบกับศีลธรรมและกฎหมายอย่างมากหากมีผู้ป่วยคนหนึ่งกลับไปบ้าน อาบน้ำอาบท่า กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตาแล้วนัดหมอมาฉีดยาตัวเองให้ตายไปตอน 6 โมงเช้าของวันรุ่งขึ้น สอดคล้องกับฝ่ายศาสนจักรที่ออกมาประกาศว่า พวกเขาพอจะยอมรับได้กับการปล่อยให้ตายไปเอง แต่การทำให้ผู้ป่วยตายด้วยการฉีดยาให้นั้นขัดกับหลักการของศาสนาคริสต์อย่างมิอาจจะยอมรับได้
ผมสรุปกันให้ฟังกันอีกทีคือ เรื่อง l'euthanasie มีอยู่ 2 แนวทางใหญ่ๆ คือ การปล่อยให้ตายไปเอง (l'euthanasie passive) กรณีนี้ ในฝรั่งเศสเดิมแพทย์จะมีความผิดฐานฆ่าคนตายแม้ว่าตัวแพทย์เองนั้นจะไม่ได้กระทำอะไรก็ตาม แต่การละเว้นการกระทำ (ในที่นี้คือการละเว้นไม่ยอมรักษาคนไข้) ดังกล่าวก็ถือเป็นการกระทำด้วยอย่างหนึ่ง จึงเสนอให้มีการออกกฎหมายอนุญาตให้แพทย์สามารถหยุดการรักษาได้ตามแนวทางของคณะกรรมาธิการชุดนายลีโอเน็ตตินี้ ซึ่งมีผู้เห็นว่า จุดประสงค์หลักคือมุ่งคุ้มครองแพทย์ให้พ้นจากความผิดทางอาญา แต่ไม่ได้คุ้มครองผู้ป่วยเพราะผู้ป่วยต้องทนทรมานจนกว่าจะตายไปเองอยู่ดี อีกแนวทางหนึ่ง คือ การให้แพทย์ช่วยทำให้ผู้ป่วยตาย (l'euthanasie active) อาจเป็นการฉีดยาให้ผู้ป่วยตายไปอย่างสงบ แนวทางนี้จะมุ่งไปที่สิทธิของผู้ป่วยเป็นสำคัญ แพทย์เป็นเพียงขั้นตอนที่เข้ามาช่วยให้ผู้ป่วยได้ตายสมดังเจตนาของตนเท่านั้น แต่ก็เป็นที่ถกเถียงกันในแง่กฎหมายและศีลธรรมว่าเป็นการไปเร่งให้ตาย รศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส เห็นว่า "กรณีของ Passive euthanasia นั้น เห็นว่าแพทย์ที่ดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยกระทำเพียงเพื่อระงับความเจ็บปวดและให้ผู้ที่ใกล้ตายนั้นถึงความตายด้วยความสงบโดยไม่ใช้เครื่องมือจากเทคโนโลยีสมัยใหม่นั้น ไม่มีความผิดใดๆ เพราะแพทย์ไม่มีหน้าที่ที่จะชะลอชีวิตของผู้ที่จะต้องถึงแก่ความตายตามธรรมชาติให้ยาวนานออกไปอีก กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ แพทย์มีหน้าที่ต้องรักษาผู้ป่วยให้ดีที่สุดก็จริงอยู่ แต่ไม่ใช่จะถึงขนาดที่จะฝืนกฎธรรมชาติไปได้ ฉะนั้นการแสดงเจตนาของผู้ป่วยที่จะขอตายตามภาวะของธรรมชาติโดยปฏิเสธการใช้เครื่องมือจากเทคโนโลยีสมัยใหม่จึงเป็นเรื่องที่แพทย์ต้องรับฟัง สำหรับกรณีของ Active euthanasia เป็นกรณีที่ยังหาข้อสรุปได้ยาก เพราะการใช้ยาก็ดีหรือการหยุดเครื่องช่วยเพื่อให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตายก็ดี ถือเป็นการเร่งการตายและเป็นการกระทำโดยตรง เหตุผลที่จะยกมาสนับสนุนว่าการกระทำดังกล่าวไม่ผิดจึงยังมีข้อโต้แย้งอยู่ ปัญหา Active euthanasia หากอธิบายตามหลักกฎหมายที่มีอยู่แล้ว คงต้องถือว่าเป็นเรื่องที่มิอาจกระทำได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายอนุญาตโดยเฉพาะ" (แสวง บุญเฉลิมวิภาส, "ความเจ็บป่วย ความแก่ ความตาย : ธรรมชาติหรือใครกำหนด", วารสารนิติศาสตร์ ปีที่ 33 เล่มที่ 2 หน้า 323.)
คาดหมายกันว่าข้อเสนอของคณะกรรมาธิการจะเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติได้ก่อนสิ้นปีนี้ ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าในท้ายที่สุดรัฐสภาฝรั่งเศสจะตกลงยอมรับได้ในระดับใด แต่มีแนวโน้มว่าคงไม่ต่างกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการเท่าไรนัก เพราะเอาเข้าจริงๆแล้วสังคมฝรั่งเศสเองก็ออกจะมีทัศนคติที่อนุรักษ์นิยมกับเรื่อง l'euthanasie อยู่มากพอควร วันก่อนผมดูรายการโทรทัศน์ที่นี่เชิญนางมารี อัมแบร์แม่ของแวงซองต์มาสนทนากัน มีการให้ผู้ชมทั่วไปลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับ ปรากฏว่าเสียงที่ไม่เห็นด้วยกลับมีมากกว่า
มาดูกฎหมายของประเทศอื่นกันบ้างครับ มีเพียงฮอลแลนด์กับเบลเยียมเท่านั้นที่ยอมรับ l'euthanasie active อย่างเต็มที่ ส่วนประเทศอื่นๆก็มักจะเป็นการให้ผู้ป่วยแสดงเจตจำนงไว้ล่วงหน้าว่าหากถึงระยะสุดท้ายแล้วจะขอปฏิเสธการรักษา ฮอลแลนด์เป็นประเทศแรกในโลกที่ออกกฎหมายมารับรองความชอบด้วยกฎหมายของ l'euthanasie เดิมฮอลแลนด์อนุญาตให้มี l'euthanasie ได้แต่ไม่มีกฎหมายเฉพาะมารองรับเป็นแต่เพียงแนวคำพิพากษาบรรทัดฐานที่วางเงื่อนไขในกรณีที่สามารถทำการุณยฆาตได้เท่านั้น จนกระทั่งปี 2000 ก็เริ่มมีการถกเถียงกันว่าสมควรมีกฎหมายเฉพาะมากำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ในที่สุดวันที่ 10 เม.ย.2001 วุฒิสภาของฮอลแลนด์ก็เห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 40 ต่อ 28 หลังจากก่อนหน้านี้ในวันที่ 28 พ.ย.2000 สภาผู้แทนฯได้เห็นชอบมาแล้วด้วยคะแนนเสียง 104 ต่อ 40 กฎหมายดังกล่าวได้วางเงื่อนไขไว้ดังนี้
1. คำร้องขอของผู้ป่วยเกิดจากความสมัครใจ ผ่านการไตร่ตรอง และได้รับการยืนยันซ้ำ
2. ผู้ป่วยได้รับความทุกข์ทรมานสาหัสและหมดหนทางเยียวยารักษา
3. มีการแจ้งข้อมูลแก่ผู้ป่วยให้ทราบถึงอาการของตนในปัจจุบันและการวินิจฉัยอาการของโรค
4. ได้ข้อสรุปต้องตรงกันว่าไม่มีวิธีการอื่นใดอีกแล้ว
5. ผู้ป่วยได้ปรึกษาหารือกับแพทย์อิสระอื่น
6. กระบวนการจบชีวิตต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ทางการแพทย์
การปฏิบัติการการุณยฆาตนี้ต้องแจ้งแก่ตำรวจในท้องที่เพื่อตั้งคณะกรรมการตรวจสอบซึ่งประกอบไปด้วยกรรมการ 5 คนที่เป็นแพทย์ นักกฎหมาย ผู้เชี่ยวชาญทางศีลธรรม เพื่อตรวจสอบว่าการการุณยฆาตนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ในกรณีที่ตรวจสอบพบว่าไม่ถูกต้องตามเงื่อนไข คณะกรรมการต้องยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมต่อไป แพทย์ที่กระทำการุณยฆาตโดยฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวมีโทษจำคุกไม่เกิน 12 ปี สถิติที่ผ่านมาทั้งหมดพบว่าในปี 1990 มีผู้ร้องขอจำนวน 25,100 ราย มีการการุณยฆาตรวม 3,100 กรณี ในปี 1995 มีผู้ร้องขอจำนวน 34,500 ราย มีการการุณยฆาตรวม 3,600 กรณี ในปี 2001 มีผู้ร้องขอจำนวน 34,700 ราย มีการการุณยฆาตรวม 3,780 กรณี
ในส่วนของเบลเยียมซึ่งเป็นประเทศที่สองที่ได้ออกกฎหมายมารองรับ l'euthanasie ไล่หลังฮอลแลนด์ประมาณหนึ่งปีนั้น พระราชบัญญัติว่าด้วยการุณยฆาตลงวันที่ 28 พ.ค. 2002 ได้วางเงื่อนไขไว้ว่า
1. ผู้ป่วยต้องบรรลุนิติภาวะ มีความสามารถ และรู้สำนึกมีสติสัมปชัญญะในขณะที่ร้องขอ
2. การร้องขอต้องเกิดจากความสมัครใจ การไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่ และมีการยืนยันซ้ำ การร้องขอต้องไม่เกิดจากความกดดันภายนอก
3. อาการของผู้ป่วยต้องร้ายแรง ไร้ทางรักษา และก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานทางร่างกายหรือจิตใจอย่างแสนสาหัสแก่ผู้ป่วย
4. แพทย์ต้องแจ้งแก่ผู้ป่วยถึงอาการ สภาพร่างกาย ความหวังในชีวิต การรักษาที่พอจะเป็นไปได้ ตลอดจนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรักษานั้น จนกระทั่งได้ข้อสรุปต้องตรงกันกับผู้ป่วยว่า ไม่มีหนทางอื่นใดที่เหมาะสมอีกแล้ว
5. ต้องมีการพูดคุยกันหลายครั้งระหว่างแพทย์กับผู้ป่วยในระยะเวลาที่เหมาะสม
6. ผู้ป่วยต้องได้ปรึกษาหารือกับแพทย์อิสระอื่นด้วย
การแสดงเจตจำนงไว้ล่วงหน้านี้ ผู้ป่วยต้องทำเป็นลายลักษณ์อักษรต่อหน้าพยานที่บรรลุนิติภาวะ 2 คน การแสดงเจตจำนงอาจทำโดยบุคคลที่ผู้ป่วยไว้วางใจได้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถแสดงเจตนาได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้มีคณะกรรมการชุดหนึ่งทำหน้าที่ควบคุมการการุณยฆาตประกอบไปด้วยกรรมการ 16 คนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่เสียง 2 ใน 3 ของคณะกรรมการเห็นว่าการการุณยฆาตไม่เป็นไปตามกฎหมาย ให้ส่งเรื่องต่อไปยังพนักงานอัยการเพื่อดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป ในส่วนของแพทย์นั้นหากแพทย์คนไหนไม่ต้องการทำหน้าที่การุณยฆาตก็สามารถแสดงความจำนงของตนเองได้เพื่อให้แพทย์รายอื่นทำแทนแต่ต้องแจ้งให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า ส่วนบุคคลอื่นๆนั้น จะไม่มีใครได้เข้ามามีส่วนร่วมในการการุณยฆาตเป็นอันขาด
นับแต่กฎหมายมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2002 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2003 มีการการุณยฆาตรวมทั้งสิ้น 259 กรณี เฉลี่ย 17 รายต่อเดือน 8 ใน 10 เป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย 1 ใน 10 เป็นอัมพาต ทางด้านสถิติเกี่ยวกับอายุพบว่า 16 เปอร์เซนต์มีอายุเกิน 80 ปี 80 เปอร์เซนต์มีอายุระหว่าง 40 ปีถึง 79 ปี และ 4 เปอร์เซนต์มีอายุต่ำกว่า 40 ปี จากสถิติยังพบอีกว่า 41 เปอร์เซนต์ขอให้มีการการุณยฆาตที่บ้านตนเอง 5 เปอร์เซนต์ในบ้านพักคนชรา และที่เหลือให้ทำในโรงพยาบาล ผมเคยดูข่าวที่นี่ นักข่าวเขาเดินทางไปเบลเยียมเพื่อสัมภาษณ์หญิงชราคนหนึ่งที่ร้องขอให้การุณยฆาตตนเอง นักข่าวไปที่บ้านของหญิงคนนั้น เธอได้ให้สัมภาษณ์อย่างมีความสุขด้วยใบหน้าเปี่ยมไปด้วยรอยยิ้มพร้อมเผชิญหน้ากับความตายที่เธอร้องขอด้วยตนเองอย่างไม่สะทกสะท้าน วันรุ่งขึ้นแพทย์ก็มาปฏิบัติหน้าที่ตามที่เธอต้องการ
สำหรับประเทศไทยเรานั้นมีการถกเถียงเช่นกันว่าสมควรหรือยังที่จะมี l'euthanasie และควรมีได้ในระดับใด ในช่วงรณรงค์ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติที่เปรียบเสมือนกฎหมายแม่บทในเรื่องการสาธารณสุขของไทยนั้นก็มีการพูดถึงประเด็นนี้ ในที่สุดก็เห็นตรงกันออกมาเป็นมาตรา 24 ว่า
"บุคคลมีสิทธิในการแสดงความจำนงที่จะปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นไปเพียงเพื่อการยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตนเอง เพื่อการตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์
การแสดงความจำนงตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง"
แม้การรณรงค์ร่างกฎหมายนี้จะผ่านมา 3 ปีกว่าแต่ก็ยังไม่สำเร็จเป็นรูปร่าง เพราะรัฐบาลกลับไปเร่งเข็นเอาพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ออกมารองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคแทน คงต้องติดตามกันต่อไปครับสำหรับประเด็น l'euthanasie ว่าจะมีในบ้านเราหรือไม่ แต่ผมคิดว่าสังคมไทยคงยังรับไม่ได้ถึงขนาดฉีดยาให้ตายเหมือนในฮอลแลนด์หรือเบลเยียมแน่ๆ พบกันใหม่คราวหน้า แน่นอนว่าผมจะสรรหาเรื่องใหม่ๆที่พอจะเป็นประโยชน์แก่วงการกฎหมายมาเล่าให้ฟังเหมือนเคยครับ
หมายเหตุ หากผู้อ่านท่านใดอ่านภาษาฝรั่งเศสได้ ลองเข้าไปที่ www.admd.net เป็นเว็บไซต์ของสมาคมเพื่อสิทธิในการตายอย่างมีศักดิ์ศรี (Association pour le droit de mourir dans la dignité ; ADMD) ในนั้นจะมีข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฉบับเต็ม (la proposition de loi relative aux droits des malades et à la fin de vie) มีร่างรัฐบัญญัติว่าด้วยสิทธิในการตายอย่างมีศักดิ์ศรี (Proposition de loi relative au droit de se retirer dans la dignité) หรือเรียกกันว่าร่างรัฐบัญญัติ "แวงซองต์ อัมแบร์"( loi Vincent Humber) และมีข้อมูลกฎหมายของประเทศที่อนุญาตให้มี l'euthanasie อีกด้วย
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=143
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 15:39 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|