|
|
ครั้งที่ 230 16 มกราคม 2553 21:25 น.
|
ครั้งที่ 230
สำหรับวันจันทร์ที่ 18 มกราคม ถึงวันอาทิตย์ 31 มกราคม 2553
รัฐอบายมุข
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการพูดถึงเรื่อง หวยออนไลน์ กันมากจนกลบข่าวการทุจริตในกระทรวงสาธารณสุขไปได้อย่างง่าย ก็คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าวที่ ชื่อเสียง ของคนเหล่านั้นยังไม่ถูกกระทบมากนัก เมื่อข่าวเงียบ (ดังเช่นเรื่องอื่น ๆ ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกรณีปลากระป๋องเน่า หรือกรณีชุมชนพอเพียง) ผู้เกี่ยวข้องก็คงออกมา แสดงตัว ต่อสังคมด้วยการดำรงตำแหน่ง ดีๆ กันต่อไปครับ !!!
ผมไม่ค่อยอยากเขียนเรื่องหวยออนไลน์เป็นบทบรรณาธิการเท่าไรนักเพราะข้อมูลหายากประกอบกับมีผู้คนออกมาแสดงความคิดเห็นกันตามสื่อประเภทต่าง ๆ อยู่มากแล้วด้วย แต่จากการประมวลข่าวของผมในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สังคมของเราให้ความสำคัญกันมากเหลือเกิน มากจนกลบข่าวทุจริตในกระทรวงสาธารณสุขได้ ก็เลยต้องมานั่งหาข้อมูลดูว่าพอจะเขียนอะไรได้บ้าง ประกอบกับเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในที่ประชุมของคณะกรรมการคณะหนึ่งซึ่งประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคนและมีผมร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย ได้มีข้าราชการระดับสูงพอสมควรคนหนึ่งเปิดประเด็นสนทนาก่อนการประชุมถึงเรื่องหวยออนไลน์โดยได้พูดให้ที่ประชุมฟังว่า การที่รัฐบาลจะไปเลิกสัญญาหวยออนไลน์ที่ทำกับเอกชนเอาไว้นั้น โอกาสที่จะถูกฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายมีอยู่มากและก็จะต้องเป็นค่าทดแทนความเสียหายที่มีจำนวนมากด้วยเช่นกันเพราะเป็นการเลิกสัญญาที่เอกชนไม่ได้ทำผิด นอกจากนี้ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่รัฐวิสาหกิจว่าจ้างเอกชนเข้ามาติดตั้งระบบ จึงเป็นสัญญาในระบบกฎหมายเอกชนซึ่งคู่สัญญาสามารถเรียกค่าทดแทนความเสียหายและค่าขาดประโยชน์ที่พึงมีพึงได้สำหรับอนาคตได้
ผมได้ฟังข้อวิจารณ์ดังกล่าวแล้วก็รู้สึกไม่สบายใจ ด้วยผู้พูดเป็นข้าราชการระดับสูง จึงน่าเชื่อได้ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ผมจึงคิดเลยเถิดไปว่า เอาอีกแล้วประเทศไทย เสีย ค่าโง่ ไปไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่แล้ว ไม่หายโง่ สักที ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ผมต้องไป ขวนขวาย หาสัญญาหวยออนไลน์มาดูให้เห็นกับตาไปเลยว่า หากรัฐเลิกสัญญาเราจะต้องเสีย ค่าโง่ อีกเท่าไหร่
ก่อนที่เราจะไปดูคำตอบที่ผมได้จากสัญญาหวยออนไลน์ ผมขอลำดับความเป็นมาของเรื่องดังกล่าวไว้เป็นเบื้องต้นก่อน ความเป็นมานี้ยังไม่สมบูรณ์นักเพราะมีขาดตอนไปช่วงเวลาหนึ่ง พยายามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบครับ
โครงการที่เรียกว่า หวยออนไลน์ นี้ มีที่มาจากโครงการเดิมคือ โครงการแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายเงินรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติ ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยที่นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีนายบดี จุณณานนท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายประพัตร โพธสุธน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในช่วงเวลาดังกล่าวได้มีการทำสัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายและจ่ายเงินรางวัลสลากบำรุงการกุศลแบบอัตโนมัติกับบริษัท จาโก้ จำกัด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2539 แต่ต่อมาเมื่อพลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี นายอำนวย วีรวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจาตุรนต์ฯ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ได้สั่งชะลอโครงการนี้ไว้ก่อนเนื่องจากมีการชุมนุมประท้วงของคนพิการที่ขายสลากกินแบ่งธรรมดา พร้อมกันนั้นก็ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) กับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำการศึกษาถึงผลกระทบของการนำเอาระบบหวยออนไลน์มาใช้ ซึ่งสถาบันวิจัยทั้งสองมีความเห็นว่า การนำเอาระบบหวยออนไลน์มาใช้จะช่วยแก้ปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคาได้เนื่องจากสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่า แต่ก็มีผลกระทบคือ เกิดการขยายกลุ่มผู้เล่นการพนันให้กว้างออกไป และกระทบผู้ขายสลากกินแบ่งเดิม นายจาตุรนต์ฯ มีดำริที่จะให้เลิกโครงการดังกล่าวแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคือ นายอำนวย วีรวรรณ เห็นควรให้ทำต่อเพราะการเลิกจะกระทบต่อชื่อเสียงของประเทศและต่อการลงทุน แต่ให้แก้สัญญาให้รัฐไม่เสียเปรียบและไม่กระทบต่อผู้ค้ารายย่อยเดิม ยังไม่มีการทำอะไรก็มีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังผู้กำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในช่วงเวลานั้น บริษัท จาโก้ จำกัดได้ใช้สิทธิตามสัญญาที่ยังไม่มีการดำเนินการยื่นร้องขอตั้งอนุญาโตตุลาการเรียกค่าเสียหายจำนวนประมาณ 1,500 ล้านบาท จากการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามสัญญา ทำให้บริษัทฯ เสียหายและขาดผลประโยชน์ กระทรวงการคลังจึงเดินหน้าโครงการดังกล่าวต่อไปเพราะเกรงว่าจะสร้างความเสียหายให้กับรัฐพร้อมกันนั้นได้ขยายระยะเวลาตามสัญญาออกไปอีก 15 ปีเพื่อ แลก กับการที่บริษัทฯ ยอมสละสิทธิ์เรียกค่าเสียหายจากรัฐ
ข้อมูลที่ผมหามาได้ขาดไปช่วงตรงนี้ครับ อีกทีก็พบว่า รัฐบาลไทยรักไทยโดย นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ยกเลิกสัญญาระหว่างสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลกับบริษัท จาโก้ จำกัด ซึ่งต่อมาบริษัทฯ ก็ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากศาลยุติธรรม และเท่าที่ทราบ ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจ่ายค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้กับบริษัท จาโก้ จำกัด เป็นจำนวนประมาณ 4,000 ล้านบาท ขณะนี้คดีดังกล่าวยังอยู่ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกาครับ
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ได้เริ่มคิดเรื่องหวยออนไลน์อีกครั้งหนึ่ง พอต้นปี พ.ศ. 2548 สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ก็เริ่มกระบวนการ หาคู่ ใหม่ คราวนี้ บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด ได้เข้ามาเป็นคู่สัญญากับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ตามสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลาก เลขที่ 119/2548 ที่ทำเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2548 ทุกอย่างตั้งท่าไปได้สวย แต่พอมีการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 รัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ จุลลานนท์ โดย มรว.ปรีดียาธร เทวกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เสนอคณะรัฐมนตรีให้ยกเลิกโครงการหวยออนไลน์ ซึ่งฝ่ายเอกชนคือ บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ ก็ยังไม่ได้ดำเนินการฟ้องร้องและพยายามหาทางแก้ปัญหา พอนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังผู้กำกับดูแลสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลก็ได้เริ่มศึกษาโครงการหวยออนไลน์ใหม่ ภายหลังการตรวจสอบความถูกต้องทางกฎหมายในการดำเนินโครงการดังกล่าวกับบรรดาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้วว่าทำได้ ไม่ขัดต่อกฎหมายและภายหลังจากที่มีการทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนประกอบ คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2552 อนุมัติให้เริ่มเปิดขายหวยออนไลน์ได้งวดแรก ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีก็ได้ออกมาประกาศว่าไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าวด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นการมอมเมาหรือส่งเสริมให้ประชาชนหันไปเล่นการพนันมากขึ้น จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อพิจารณาประเด็นข้อกฎหมายและทางเลือกต่าง ๆ หากรัฐบาลสั่งให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเลิกสัญญากับบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ
ข้อเท็จจริงทั้งหมดที่กล่าวมาก็เป็น ที่มา ของปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในเวลานี้ครับ!!!
คงต้องมาพิจารณากันสัก 2 เรื่อง ที่ไม่เกี่ยวข้องกับใครหรือผู้ใดเป็นการส่วนตัว ในเรื่องแรก ในฐานะนักกฎหมายคนหนึ่ง คงต้องดูว่า ในทางกฎหมาย นั้น รัฐบาลสามารถเลิกสัญญากับบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ ได้หรือไม่ และหากเลิกสัญญาในลักษณะนี้ รัฐบาลจะต้อง จ่ายค่าโง่ ให้กับบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ อีกหรือไม่ อย่างไร และเท่าไร ส่วนเรื่องที่สองนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องดูกันต่อไปว่า ในทางปฏิบัติ รัฐบาลควรเลิกสัญญาหรือไม่ควร โดยมีเหตุผลอย่างไรครับ
ในเรื่องแรกที่ว่ารัฐบาลสามารถเลิกสัญญากับบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ ได้หรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลากแล้ว คำตอบก็คือ ได้ ครับ เพราะสัญญาข้อ 12.1 เกี่ยวกับการบอกเลิกสัญญาได้เขียนไว้ชัดเจนว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดเวลาได้โดยบอกกล่าวเป็นหนังสือล่วงหน้าไปยังผู้รับจ้างไม่น้อยกว่า 12 (สิบสอง) เดือน ในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายล้มเลิกโครงการนี้หรือมีความจำเป็นต้องล้มเลิกโครงการนี้ ผู้ว่าจ้างจะชดเชยการลงทุนบางส่วนให้แก่ผู้รับจ้างเป็นจำนวนเงินเท่ากับค่าจ้างบริการเฉลี่ยต่อ 1 (หนึ่ง) เดือน นับแต่วันที่เริ่มจำหน่ายสลากจริง ถึงวันยกเลิกสัญญาจำนวนไม่เกิน 12 (สิบสอง) เดือน โดยผู้รับจ้างไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายหรือค่าชดเชยอย่างใดอีก จากข้อสัญญาดังกล่าว สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงสามารถบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดได้โดยอ้างเหตุที่รัฐบาลมีนโยบายล้มเลิกโครงการหวยออนไลน์ครับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาสัญญาข้อ 12.1 ดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผมมีข้อกังขาอยู่ว่า เนื่องจากวิธีการเขียนสัญญาข้อดังกล่าวเป็นการเขียนเรียงกันโดยไม่มีย่อหน้า ตามความเข้าใจของผม เนื้อความในข้อ 12.1 จึงเป็น เรื่องเดียวกันและเกี่ยวข้องกัน ทั้งหมด ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาดังกล่าวจึงต้องทำโดยการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องแจ้งเป็นหนังสือล่วงหน้าไปยังบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ ไม่น้อยกว่า 12 เดือน สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจึงจะได้อานิสงส์จากสัญญาข้อ 12.1 ในเรื่องการจ่ายค่าชดเชยการลงทุนบางส่วนตามจำนวน (ที่ไม่มาก) ที่กำหนดไว้ในสัญญาข้อ 12.1 ครับ ที่ผมเข้าใจอย่างนี้ก็เพราะการเขียนสัญญาดังกล่าวไว้ในข้อเดียวกัน จึง ควรจะ เป็นเรื่องเดียวกันครับ
อะไรจะเกิดขึ้นถ้าบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดโดยมิได้ทำการบอกกล่าวเป็นหนังสือล่วงหน้าไปยังบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ ไม่น้อยกว่า 12 เดือน คำตอบก็คงชัดเจนอยู่ในตัวเองแล้วนะครับว่า คงต้องจ่ายค่าทดแทน ค่าชดเชย ค่าขาดประโยชน์กันหัวโตเลยทีเดียวครับ!!!
กลับมาถึงเนื้อหาของสัญญาข้อ 12.1 กันเล็กน้อย ผมค่อนข้างประทับใจกับข้อความในสัญญาข้อดังกล่าวเป็นอย่างมากเพราะเป็นการเขียนสัญญาดังกล่าวให้มีลักษณะเป็น สัญญาทางปกครองโดยสภาพ เนื่องจากเป็นการกำหนดให้คู่สัญญาฝ่ายรัฐมีอำนาจเหนือกว่าคู่สัญญาฝ่ายเอกชน ซึ่งสอดคล้องกับการที่ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดได้วางหลักของการที่สัญญาใดจะเป็นสัญญาทางปกครองเอาไว้ในการประชุมครั้งที่ 6/2544 เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2544 ว่า ....เป็นสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ.... ด้วยเหตุดังกล่าว แม้ในสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลากจะไม่ได้กำหนดให้เป็นสัญญาทางปกครองและแม้ในข้อ 17 ของสัญญาที่กำหนดไว้แต่เพียง ในกรณีที่มีการโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญาเกี่ยวกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้ หรือเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญานี้และคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ ให้เสนอข้อโต้แย้งหรือข้อพิพาทนั้นต่อศาลเพื่อพิจารณา โดยมิได้กำหนดว่าศาลใดจะเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณา ศาลที่มีอำนาจพิจารณาข้อพิพาทดังกล่าวจึงควรเป็น ศาลปกครอง เนื่องจากสัญญาจ้างบริการระบบเกมสลากดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครองโดยสภาพครับ
นอกจากนี้แล้ว ในประเด็นเดียวกันผมยังมีข้อสังเกตเพิ่มเติมอีกประการหนึ่งเกี่ยวกับ ความเป็นอิสระ ของรัฐวิสาหกิจว่าควรมีมากน้อยเพียงใดด้วย เพราะโดยหลักแล้ว รัฐวิสาหกิจซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากออกมาจากส่วนราชการ ควรจะมี อิสระ ได้มากกว่านี้ในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ และรัฐบาลก็มีหน้าที่เพียงกำกับดูแล ไม่ใช่ควบคุมบังคับบัญชาเช่นหน่วยงานในระบบราชการ การเขียนสัญญาให้รัฐวิสาหกิจต้องล้มเลิกโครงการเนื่องจากรัฐบาลไม่เห็นด้วยในภายหลังจึงเป็นการกระทบต่อสภาพของรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างมากและขัดกับแนวคิดของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจที่ทั่วโลกมองเหมือน ๆ กันคือ ต้องมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบาย อิสระในการบริหารงานบุคคล อิสระในด้านการเงิน ในกรณีดังกล่าว เนื่องจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยข้าราชการและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งอยู่แล้ว หากรัฐบาลมีนโยบายอย่างไรก็สามารถทำได้โดย ผ่าน คณะกรรมการดังกล่าวซึ่งก็จะดูเหมาะสมกว่าปล่อยให้คณะกรรมการมีมติอนุมัติให้เอกชนดำเนินการแล้วรัฐบาลก็มาล้มเลิกในภายหลัง คณะกรรมการจะเอาหน้าไปไว้ที่ไหนกันได้ครับ!!!
กลับมาถึงข้อสรุปของเรื่องแรกที่ว่า รัฐบาลสามารถเลิกสัญญากับบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ ได้หรือไม่ และหากเลิกสัญญาในลักษณะนี้ รัฐบาลจะต้องจ่ายค่าโง่ให้กับบริษัท ล็อกซ์เล่ย์ฯ อีกหรือไม่ อย่างไร และเท่าไรนั้น คำตอบที่ผมพอจะให้ได้ก็คือ หากจะเลิกสัญญาและจ่ายเงินค่าทดแทนน้อย ก็ต้องทำตามข้อ 12.1 ของสัญญาก็คือ ต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นหนังสือไม่น้อยกว่า 12 เดือนครับ หากไม่ทำตามเงื่อนไขดังกล่าว ก็คงเกิดเรื่องยุ่งต่อไปซึ่งก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะยุ่งแค่ไหน ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่ผมนำเสนอไปแล้วข้างต้น ก็คงต้องฟ้องร้องกันที่ศาลปกครองด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้ว และหากศาลปกครองจะคำนวณค่าทดแทนความเสียหาย ก็คงต้องนำเอาหลักที่ศาลปกครองฝรั่งเศสใช้พิจารณากำหนดค่าทดแทนความเสียหายให้กับเอกชนมาใช้คือ รัฐจะจ่ายค่าทดแทนความเสียหายให้กับเอกชนเท่าที่มีอยู่จริงและเกิดขึ้นในวันเลิกสัญญา ซึ่งก็หมายความว่าค่าขาดประโยชน์หรือที่เรียกกันจนติดปากแล้วว่า ค่าโง่ นั้นรัฐจะไม่จ่ายให้กับเอกชนด้วยเหตุที่ว่าเอกชนไม่สามารถสร้างความร่ำรวยให้กับตัวเองได้จากเงินภาษีอากรของประชาชนครับ แต่ถ้าหากเรื่องดังกล่าวถูกฟ้องที่ศาลยุติธรรม แน่นอนอยู่แล้วและมีบรรทัดฐานอยู่แล้วว่าโอกาสที่ศาลจะให้ ค่าขาดประโยชน์ กับเอกชนมีอยู่มาก หากเป็นเช่นนั้นจริง กรณีหวยออนไลน์ก็จะเป็นกรณีที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องเสีย ค่าโง่ซ้ำซาก ให้กับทั้งบริษัท จาโก้ จำกัด คู่สัญญาเดิมที่เลิกสัญญาไปแล้วและบริษัท ล็อกซเล่ย์ จีเท็ค เทคโนโลยี จำกัด คู่สัญญาใหม่ รวม ๆ กันแล้วน่าจะหลาย ๆ พันล้านอยู่นะครับ น่าสงสารประเทศไทยนะครับ!!!
ส่วนในเรื่องที่สองที่ว่า รัฐบาลควรเลิกสัญญาดังกล่าวหรือไม่ควร โดยมีเหตุผลอย่างไร นั้น เหตุผลส่วนตัวผมคิดว่ายังไม่ควร น่าจะลองทำดูสักพักโดยอาจกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เหมาะสมขึ้นมารองรับครับ เหตุที่รัฐบาลต้องการให้ระงับโครงการดังกล่าวก็เพราะไม่ต้องการส่งเสริมประชาชนให้หันไปเล่นการพนันเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนว่า หากมีหวยออนไลน์แล้วประชาชนจะไปลุ่มหลงกับอบายมุขมากขึ้นหรือไม่ อย่างไรครับ
ข้อสังเกตที่สำคัญที่สุดในเรื่องที่สองนี้ก็คือ โครงการหวยออนไลน์มีที่มาจาก รัฐบาลเก่า แต่ถูกยกเลิกโดย รัฐบาลใหม่ ความไม่แน่นอนของนโยบายรัฐบาลในลักษณะนี้น่าจะเกิดผลกระทบต่อการลงทุนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกรณีที่มีอยู่ผู้ลงทุนต่างชาติเข้ามาเกี่ยวข้องเช่นกรณีหวยออนไลน์ในปัจจุบัน ในภายภาคหน้า ใครจะกล้าเข้ามาลงทุนกันครับ ยิ่งประเทศเราเสถียรภาพของรัฐบาลก็ไม่ค่อยมีอยู่ด้วย เปลี่ยนรัฐบาลครั้งหนึ่งก็เปลี่ยนนโยบายด้วย คนที่จะเข้ามาลงทุนก็ต้องแบกรับความเสี่ยงอย่างเต็มที่ ไม่นานต่างชาติคงจะหนีการลงทุนจากประเทศไทยไปประเทศอื่นกันหมด!!!
สำหรับเหตุที่จำต้องเลิกสัญญาที่ได้รับทราบจากการเสนอข่าวของสื่อก็คือเพราะหวยออนไลน์เป็น อบายมุข นั้น ลองหันมามองดูรอบ ๆ ตัวเราบ้าง มีสิ่งผิดกฎหมายอยู่เต็มไปหมดแต่ไม่มีใครแก้ปัญหาได้ ร้านเกมส์เปิดอยู่แทบจะเรียกได้ว่าทุกถนน เด็กเล็กเข้าไปเล่นเกมส์โดยไม่มีใครดูแล บางครั้งการพนันก็เกิดขึ้นที่นั่น เหล้าบุหรี่ขายกันเกลื่อนเมือง ยาเสพติด โสเภณี ทุกอย่างล้วนแล้วแต่อบายมุขทั้งนั้นไม่นับการทุจริตคอรัปชั่นที่มีขึ้นในทุกวงการ ไม่นับการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายซึ่งกลายเป็น เรื่องปกติ ไปแล้วของ คนไทย ในวันนี้ จริงอยู่ที่ในบางครั้งเราก็เห็นความพยายามจากภาครัฐในการ ปราบปราม แต่คำถามก็คือปราบปรามได้จริงหรือไม่ ทุกคนรู้คำตอบเหมือน ๆ กันครับ!!! สิ่งที่รัฐบาลต้องทำก็คือ ควรจะต้องหาทาง ควบคุม อบายมุขเหล่านั้นก่อนที่ประเทศไทยจะกลายเป็น รัฐอบายมุข ไป รัฐบาลต้องจริงจังในการแก้ปัญหาทั้งหมด กฎหมายต้องมีผลใช้บังคับกับทุกคนและทุกที่อย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ผู้รักษากฎหมายเองก็ต้องทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริตและตรงไปตรงมาจึงจะแก้ปัญหาเรื่องอบายมุขที่มีอยู่ได้ แต่ถ้าจะเคร่งครัดเรื่องดังกล่าวกันอย่างจริง ๆ จัง ๆ แล้วแค่เลิกหวยออนไลน์ยังไม่พอนะครับ เลิกการออกสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วยจะดีกว่าและทำได้ง่ายมาก ๆ ด้วยโดยเสนอกฎหมายยกเลิกพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ. 2517 เพื่อยุบเลิกสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเลยครับ ถ้าจะให้ดีไปกว่านี้อีกควรจะเลิกบุหรี่ด้วยเพราะอย่างที่ทราบกันอยู่แล้วว่าบุหรี่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและมีโทษมากกว่ามีคุณ น่าจะยุบเลิกโรงงานยาสูบไปเสียด้วยในคราวเดียวกัน รัฐไทยจะได้ปลอดอบายมุขและปลอดจากสิ่งที่เป็นโทษต่อประชาชน เช่น บุหรี่ ที่รัฐบาลยังคงผูกขาดการเป็นเจ้าของและผู้ผลิตอยู่ครับ!!!
เพื่อตอบคำถามในเรื่องที่สองคือรัฐบาลควรเลิกสัญญาดังกล่าวหรือไม่ควร โดยมีเหตุผลอย่างไรนั้น ผมคิดว่าในเบื้องต้นหากรัฐใช้เกณฑ์เดียวกับการขายเหล้า ขายบุหรี่ ก็คือ กำหนดสถานที่ขาย กำหนดอายุของคนซื้อ และผู้ขายกับผู้รักษากฎหมายร่วมมือกันอย่างเคร่งครัด แล้วให้คู่สัญญาฝ่ายเอกชนดำเนินการไปสัก 6 เดือน ถึง 1 ปีก่อน แล้วมาประเมินดูว่าเป็นอย่างที่นายกรัฐมนตรี วิตก หรือไม่ว่าจะทำให้ประชาชนหันไปเล่นการพนันเพิ่มมากขึ้น น่าจะเหมาะสมกว่านะครับ อย่างน้อยก็ยังไม่ต้องรีบเสีย ค่าโง่ ตั้งแต่ยังไม่เริ่มดำเนินการครับ!!!
คงไม่ใช่เรื่องเสียหายที่จะลองทำดูนะครับ ระหว่างนั้น หากพบว่ามีปัญหา ก็ใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยการบอกกล่าวล่วงหน้าตามสัญญา ข้อ 12.1 รัฐจะได้ไม่ต้องเสียเงินเยอะเกินไปครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 2 บทความด้วยกัน บทความแรกคือบทความเรื่อง ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ (Contempt Of Constitutional Court) ของคุณภาสพงษ์ เรณุมาศ แห่งสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ที่เขียนเรื่อง "ตะวันออก ตะวันตก...ใครกันแน่ที่สร้างอารยธรรม" ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสองไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1427
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 06:01 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|