ครั้งที่ 229

3 มกราคม 2553 17:16 น.

       ครั้งที่ 229
       สำหรับวันจันทร์ที่ 4 มกราคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 17 มกราคม 2553
       
       “สิ่งที่รัฐบาลควรทำและไม่ควรทำในปี 2553”
       
       บทบรรณาธิการแรกของปีเป็นสิ่งที่เขียนยากมากเพราะยังอยู่ในช่วงเวลาของการเฉลิมฉลอง ภายใต้บรรยากาศของการเฉลิมฉลองขนาดมีข่าว “ทุจริต” ของนักการเมืองระดับสูงเกิดขึ้นก่อนเทศกาลขึ้นปีใหม่ไม่นาน คนก็ยังให้ความสนใจกันน้อยมาก จึงค่อนข้างลำบากสำหรับผมที่จะเขียนบทบรรณาธิการครั้งนี้
       ที่เหมาะสมที่สุดที่ผมคิดได้ก็คือ น่าจะเขียนถึง “สิ่งที่รัฐบาลควรทำและไม่ควรทำในปี 2553” แม้จะเป็น “หัวข้อ” ที่ใหญ่มากแต่ผมก็จะลองเขียนดู เพราะผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่นักวิชาการจะต้องมีความคิดเห็นในเชิงสร้างสรรค์และชี้แนะสิ่งที่นักวิชาการอย่างผมอยากเห็นในบ้างเมืองของเราครับ !
       บทบรรณาธิการครั้งที่ผ่านมา ผมได้นำเสนอปัญหาสำคัญของประเทศ 3 ประการที่เป็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2552 นั้นก็คือปัญหาเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ปัญหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปัญหาของการบังคับใช้กฎหมาย ในบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมคงไม่นำปัญหาทั้ง 3 มากล่าวอีก แค่อยากจะพูดถึงสิ่งที่รัฐบาลต้องทำ “คู่ขนาน” ไปกับการแก้ปัญหาทั้ง 3 เพื่อนำพาประเทศไปสู่จุดที่ควรจะเป็น เพราะปัจจุบันแม้เวลาผ่านไปกว่า 3 ปีแล้วก็ตาม แต่เรายังอยู่ในจุดที่คณะรัฐประหารจับวางไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 หรืออาจจะถอยหลังไปจากวันดังกล่าวก็ได้ !!! ความ “ล้าหลัง” ทั้งทางด้านประชาธิปไตย สังคม การเมือง วัฒนธรรมได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเป็นอย่างมากในช่วงเวลา 3 ปีที่ผ่านมา และก็ได้กลับมาเป็นประเด็นที่สร้างความขัดแย้งในสังคมเป็นอย่างมากด้วยครับ
       ในวันนี้ เราพูดถึง “คนรวย” และ “คนจน” กันมาก ผมไม่ทราบว่าเราจะใช้เกณฑ์ใดมาเป็นเกณฑ์วัดความรวยและความจนกัน แต่ที่แน่ๆวันนี้ในประเทศไทยมีคนจนมากขึ้น สืบเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งระดับโลกและระดับประเทศที่ส่งผลกระทบกิจกรรมและผู้ใช้แรงงาน รวมไปถึงปัญหาการเมืองในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวที่ในอดีตทำรายได้ให้กับประเทศไทยอย่างมากครับ
       เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลนี้เข้ามารับหน้าที่ใหม่ๆ ก็มีการประกาศว่าจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ แต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนจากหลายสำนักต่างก็ออกมาเป็นทำนองเดียวกันคือ รัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญๆของประเทศรวมถึงปัญหาเศรษฐกิจได้ ก็อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วในบทบรรณาธิการก่อนหน้านี้ว่า องค์ประกอบของรัฐบาลเป็นสิ่งสำคัญ นายกรัฐมนตรีต้องมีภาวะผู้นำ สามารถ “ทุบโต๊ะ” ได้ รัฐมนตรีต้องมีความรู้ความสามารถสูงในงานที่ตัวเองรับผิดชอบ จึงจะแก้ปัญหาสำคัญๆของประเทศได้ ซื่งรัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะการเป็นรัฐบาลผสมทำให้นายกรัฐมนตรีต้องสมานฉันท์กับพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ หาไม่แล้วคงได้ไปเป็นฝ่ายค้านเอาง่ายๆ ดังนั้น เราจึงมีรัฐมนตรีที่ “แปลกๆ” อยู่หลายคนที่จนถึงวันนี้ผู้คนก็ยังสงสัยว่า “มาได้ยังไง” และนอกจากนี้แล้ว รัฐบาลเราก็ยังมี “ผู้มีบารมีนอกรัฐบาล” อีกหลายๆคนที่คอย “ชี้แนะ” แนวทางในการบริหารประเทศที่รัฐบาลเองก็คงไม่สามารถปฎิเสธ “คำชี้แนะ” เหล่านั้นได้ ดังนั้น โดยภาพรวมเราจึงเห็นรัฐบาล “พยายาม” ประคองตัวเองให้อยู่รอด ถ้อยคำสวยหรูที่เคยบอกกับประชาชนว่า “ประชาชนต้องมาก่อน” จึงตามมาภายหลัง “ความอยู่รอด” ของรัฐบาล
       คงจำกันได้ว่า เมื่อรัฐบาลนี้เข้ารับหน้าที่ใหม่ๆ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ให้ข่าวว่าจะหาเงินเข้าประเทศด้วยการเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก ซึ่งว่ากันว่า น่าจะได้เงินมากมายมหาศาลจาก “คนรวย” เอามาช่วยพัฒนาประเทศและช่วย “คนจน” ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น วันนี้ 1 ปีผ่านไป ทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิมไม่มีอะไรดีขึ้น คนจนก็ยังจนอย่างต่อเนื่อง คนรวยก็ยังรวยอย่างสม่ำเสมอ และอาจรวยมากขึ้นไปอีกก็ได้ เพราะช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาเห็นรถป้ายแดงวิ่งกันเต็มเมือง คอนโดมิเนียมราคาแพงๆก็ขายหมดตั้งแต่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ร้านขายสินค้าแพงๆในห้างดังก็ขายดิบขายดี แต่พอโผล่หน้าออกมาจากห้างเหล่านั้นก็จะพบคนจนเต็มถนนไปหมด ทั้งขายของบนทางเท้าหน้าห้าง ทั้งขอทานบนทางเท้าหน้าห้าง ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนจึงอยู่แค่ประตูกระจกของห้างนั่นเองครับ
       ในทางวิชาการ การลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเป็นสิ่งที่สังคมต้องรับรู้ ต้องหาทางและต้องทำ เพราะช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนล้วนแล้วแต่เป็นเหตุให้เกิดปัญหาร้ายแรงภายในประเทศมาแล้วหลายครั้งหลายหน วิธีการหนึ่งที่จะลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนได้ก็คือ การปรับระบบของประเทศให้เป็น “รัฐสวัสดิการ” ซื่งผมได้เคยเขียนเรื่องดังกล่าวไปแล้วครั้งหนึ่งในบทบรรณาธิการครั้งที่ 219 เรื่อง “ประเทศไทยกับการเข้าสู่ความเป็นรัฐสวัสดิการ” เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ผมอยากขอเสนอให้เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรทำในปี พ.ศ. 2553 ก็คือ การนำเอาระบบรัฐสวัสดิอย่างสมบูรณ์มาใช้ในประเทศไทยครับ
       ใครที่สนใจว่ารัฐสวัสดิการคืออะไร และแตกต่างจากประชานิยมที่รัฐบาลนี้ใช้อยู่อย่างไร ก็คงต้องย้อนกลับไปอ่านบทบรรณาธิการครั้งที่ 219 นะครับ ในบทบรรณาธิการครั้งนี้คงเป็นเพียงการ “ยืนยัน” บทบรรณาธิการครั้งที่ 219 อีกครั้งหนึ่ง ทุกวันนี้ ในประเทศไทยเรามีสวัสดิการต่างๆที่ให้กับประชาชนอยู่แล้วทั้งตามที่รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ได้กำหนดเอาไว้และทั้งที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล แต่สวัสดิการต่างๆที่ให้กับประชาชนก็ไม่ได้ทำให้เราเป็นรัฐสวัสดิการอย่างแท้จริง เพราะสวัสดิการเหล่านั้นยังไม่ครบวงจรครับ !!!
       สวัสดิการที่รัฐให้กับประชาชนที่เรียกกันว่าครบวงจรนั้น คงต้องเริ่มตั้งแต่เกิดและไปจบลงที่ตาย ระหว่าง 2 ช่วงเวลาดังกล่าว ทุกคนมีสิทธิได้รับสวัสดิการทุกประเภทจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันและมีเพียงสวัสดิการระบบเดียวสำหรับประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ในภาคเอกชนหรือภาครัฐ แต่การที่รัฐจะให้สวัสดิการทั้งหมดแก่ประชาชนทุกคนได้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะรัฐต้องใช้เงินมาก รายได้จากการเก็บภาษีตามปกติไม่ว่าจะเป็นภาษีเงินได้ (ที่คนส่วนหนึ่งหาช่องทางที่จะหลีกเลี่ยง) หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม คงไม่เพียงพอที่จะนำมาจัดทำสวัสดิการทั้งหมดให้กับประชาชนได้ ด้วยเหตุนี้เองที่ประเทศที่นำระบบรัฐสวัสดิการไปใช้จึงได้เก็บภาษีจาก “คนรวย” มากขึ้น เช่น ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีที่ดิน ภาษีจากการขายหุ้น เป็นต้น ใครรวยมากก็ต้องจ่ายมาก หากรัฐเก็บภาษีได้มาก สวัสดิการต่างๆก็จะตามมา เจ็บไข้ได้ป่วย ตกงาน รัฐจ่ายให้หมด ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน รัฐก็เข้ามารับผิดชอบทั้งหมด แก่ตัวไปรัฐก็ดูแล ที่อยู่อาศัยรัฐก็สร้างให้ การคมนาคมขนส่งทุกประเภทรัฐเป็นผู้ดำเนินการ สวัสดิการทั้งหมดรัฐเป็นผู้ดำเนินการให้กับประชาชนโดยไม่คิดผลกำไรขาดทุน ถ้าทำได้เช่นนั้น ประชาชนก็จะมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนก็จะลดน้อยลง ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในประเทศก็คงจะค่อยๆลดลงตามไปด้วย
       ถามว่ารัฐบาลนี้ทำได้ไหม ผมไม่อยากตอบแต่อยากจะให้กลับไปทบทวนดูสิ่งที่รัฐบาลได้พยายามทำไปแล้วบางส่วน ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการบางอย่างที่ทำให้กับประชาชนไปแล้วและความพยายามที่จะเก็บภาษีจากคนรวยมาจัดสวัสดิการ สิ่งเหล่านี้ รัฐบาลต้องคิดอย่างเป็นระบบ ทำแผนระดับชาติออกมาเสนอให้ประชาชนทราบว่า หากรัฐบาลจะจัดสวัสดิการทุกอย่างให้กับประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันทุกคน ประชาชนต้องเสียอะไรบ้างและต้องทำอย่างไรบ้าง คำชี้แจงที่มีเหตุมีผลน่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการรับทราบและก็จะนำไปสู่การยอมรับในที่สุด เพราะฉะนั้นจึงอยากฝากข้อเสนอดังกล่าวไว้เป็นสิ่งแรกที่รัฐบาลต้องในปี 2553 ครับ
       สิ่งที่สองที่รัฐบาลต้องทำในปี 2553 คงหนีไม่พ้นการปฎิรูปการเมืองทั้งระบบ จริงๆแล้วเรื่องนี้ก็พูดกันมาหลายครั้งหลายรัฐบาลแล้วแต่ก็ไม่เห็นมีใครทำสักที การปฏิรูปการเมืองที่ว่านี้คงไม่ใช่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องยุบพรรคหรือมาตรา 190 เพราะคงไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรของประเทศได้ การปฏิรูปการเมืองที่ผ่านมาในปี พ.ศ. 2540 มีโจทย์ใหญ่อยู่ที่การแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยเรามาเป็นเวลาช้านานแล้วซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 ที่ว่าเยี่ยมแล้วก็ยังแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ ทหารสู้อุตสาห์ลงทุนทำรัฐประหารเพื่อแก้ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในปี พ.ศ. 2549 ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ และก็มีท่าทางว่าจะเป็นหนึ่งในผู้สร้างปัญหาด้วย (กรณีแก้สัญญาดอนเมืองโทลล์เวย์ที่กำลังเป็นที่กล่าวขวัญกันอยู่ในวันนี้!!!) รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่พยายามแก้ปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 คือรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเดิมๆของประเทศไทยได้ (ดูจากกรณีปลากระป๋องเน่า โครงการชุมชนพอเพียง และล่าสุดสดๆร้อนๆกรณีทุจริตงบไทยเข้มแข็งที่ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ “ร่วมมือ” กันอย่างดี !!!) เพราะฉะนั้น 1 ปีของรัฐบาลที่ผ่านมา น่าจะ “พอ” สมควรกับเวลาแล้วนะครับ ผมคิดว่าขณะนี้ถึงเวลาที่จะต้องหันมาทำสิ่งที่เป็นการปฏิรูปการเมืองทั้งระบบเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศกันได้แล้วนะครับ พอได้แล้วนะครับ !!!
       สิ่งที่รัฐบาลควรทำทั้งสองสิ่งที่เสนอไปนั้น หากทำได้ก็จะช่วยแก้ปัญหาของประเทศในระยะยาวได้
       อย่าไปคิดว่าต้องใช้เวลานานจึงจะทำได้นะครับ ความสำคัญอยู่ที่ “จุดเริ่มต้นที่ดี” มากกว่า รัฐบาลควรจะ “เริ่ม” ดำเนินการทั้งสองเรื่องอย่างเป็นรูปธรรม เป็นกลาง โปร่งใส คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลักครับ ไม่เสร็จในรัฐบาลนี้ก็ไม่เป็นไร วางรากฐานที่ดี ใครมามาเป็นรัฐบาลก็ต้องทำต่อให้สำเร็จจนได้ครับ !!!
       ส่วนสิ่งที่รัฐบาลไม่ควรทำอีกเลยในปี พ.ศ. 2553 ก็คือการไล่ล่าคุณทักษิณฯ ผมเบื่อกับการฟังข่าว ทั้งจริง ทั้งระบายสีในเรื่องเหล่านี้เต็มทนแล้วครับ หลายๆคนคงคิดเหมือนผมว่า ภารกิจหลักตลอดระยะเวลา 1 ปีที่รัฐบาลเข้ามาทำงานก็คือการไล่ล่าคุณทักษิณฯ ผมว่าที่รัฐบาลควรทำและจะได้คะแนนเสียงจากประชาชนมากกว่าก็คือ การทุ่มเททุกอย่างให้กับการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ถ้าไม่รู้ว่าจะทำไรเพื่อประชาชนก็ลองเอาข้อเสนอทั้ง 2 ประการข้างต้นของผมไปทำก็ได้ครับ รัฐบาลควรหยุดพูดถึงคุณทักษิณฯทุกรูปแบบ ไม่ต้องสนใจและไม่ควรให้ความสำคัญอีกต่อไปว่าคุณทักษิณฯจะเป็นอย่างไร จะทำอะไร จะคิดอะไร จะไปไหน ฯลฯ รัฐบาลควรใช้เวลาทั้งหมดและใช้สื่อทุกประเภทนำเสนอสิ่งดีๆให้กับประชาชนจะดีกว่าครับ ประชาชนต้องการเหมือนๆกันคืออยากรับทราบว่าจะมีอะไรดีๆเกิดขึ้นกับตัวเองและประเทศชาติมากกว่าทราบความ “ไม่ดี” ของคุณทักษิณฯนะครับ หันมาทุ่มเทเวลาและสติปัญหาให้กับการแก้ปัญหาของประเทศจะดีกว่าครับ !!! ระหว่างการ “ไล่ล่า” กับการ “ไม่พูด” ผมว่าอย่างหลังน่าจะได้ใจประชาชน “อีกฝ่ายหนึ่ง” มากขึ้น ซึ่งก็จะนำไปสู่ความสมานฉันท์อย่างที่ทุกๆคนต้องการในที่สุดครับ
       คงเป็นข้อเสนอ “ยามว่าง” ของนักวิชาการคนหนึ่งที่ใช้เวลาในช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่มาจัดทำข้อเสนอโดยมุ่งหวังที่จะให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากปัญหาต่างๆอย่างเป็นระบบครับ
       ในสัปดาห์นี้ เรามีนักวิชาการส่งบทความมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก แตด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ จึงสามารถ นำเสนอได้เพียง 3 บทความ บทความแรกเป็นบทความที่ “ตอบกันไปตอบกันมา” ระหว่างนักวิชาการสองคน ในคราวนี้ คุณนรินทร์ อิธิสาร เขียนบทความเรื่อง “ข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อบทความเรื่อง “ปัญหาการขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 เพิ่มเติม”” เพื่อตอบบทความของคุณนิธินันท์ สุขวงศ์ ที่ได้ลงไปในคราวที่แล้ว บทความต่อมาคือบทความเรื่อง “ข้อสงสัยบางประการเกี่ยวกับสภาพบังคับของประกาศหรือคำสั่งคณะรัฐประหาร ในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ที่เขียนโดยทนายความชื่อ คุณณัฐฎ์ณกฤช วงษ์ชอุ่มเครือ ส่วนบทความสุดท้าย “ความยุติธรรมกับการปฏิวัติรัฐประหาร: เมื่อแนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองกำลังถูกท้าทาย” เขียนโดย อาจารย์พัชร์ นิยมศิลป แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามครับ ส่วนบทความอื่นๆที่ส่งมาจะทยอยลงในคราวต่อไป
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 18 มกราคม 2553
       
       ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1424
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 11:42 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)