|
|
ความยุติธรรมกับการปฏิวัติรัฐประหาร: เมื่อแนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองกำลังถูกท้าทาย 3 มกราคม 2553 17:16 น.
|
"Whoever hath an ultimate authority to interpret any written or spoken laws, it is he who is truly the Law-giver to all intents and purposes, and not the person who first wrote or spoke them." Benjamin Hoadly (1676-1761) (1)
ใครก็ตามที่มีอำนาจในการตีความกฎหมายทั้งที่เป็นคำพูดและลายลักษณ์อักษร บุคคลนั้นคือผู้บัญญัติกฎหมายอย่างแท้จริงทั้งเจตนาและวัตถุประสงค์ ไม่ใช่ผู้ซึ่งเขียนหรือพูดมันเป็นครั้งแรก บิชอบ โอดลี (พ.ศ. 2219 2304)(2)
กฎหมายกับความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน นักกฎหมายไม่ว่าอยู่ที่ใดในโลกต่างยอมรับว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง แม้ว่าความยุติธรรมจะเป็นสิ่งที่ไม่สามารถให้นิยามตายตัวได้
แต่มันก็เป็นสิ่งที่นักกฎหมายทุกคนพึ่งระลึกถึงเมื่อยามที่ต้องใช้กฎหมาย การจะเข้าถึงความยุติธรรมได้นั้นมิใช่เรื่องง่าย ความยุติธรรมไม่สามารถได้มาโดยอาศัยเพียงสามัญสำนึกหรือ
สัญชาตญาณของมนุษย์ ทั้งนี้ก็เนื่องจากความยุติธรรมของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากันและก็เป็นเรื่องนานาจิตตัง ดังนั้นนักกฎหมายจึงได้ประดิษฐ์ศาสตร์แห่งการเข้าถึงความยุติธรรมซึ่งเรียกว่า นิติศาสตร์ ขึ้นมา
ประมวลกฎหมายของจักรพรรดิจัสติเนียนซึ่งมีอายุกว่า 1500 ปี ได้บัญญัติไว้ในบทแรกของมูลบท นิติศาสตร์ (Institute) ว่า Justice is the constant and perpetual wish to render everyone his due และ Jurisprudence is the knowledge of things devine and human; the science of the just and the unjust บทบัญญัติทั้งสองนี้ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี เกษมทรัพย์(3) ได้แปลไว้ว่า ความยุติธรรม คือ เจตจำนงอันแน่วแน่ตลอดกาลที่จะให้แก่ทุกคนในส่วนที่เขาพึงจะได้ และ วิชานิติศาสตร์เป็นวิชาที่ว่าด้วยความถูกต้องและความไม่ถูกต้อง เป็นวิชาที่ว่าด้วยความเป็นธรรมและความอยุติธรรม
ศาสตราจารย์ ดร.ปรีดี เกษมทรัพย์ได้อธิบายไว้ในหนังสือ นิติปรัชญา ของท่านว่า คนเราต่างจากสัตว์อยู่ตรงที่คนเรานั้นมีสติปัญญา สามารถคิดและวินิจฉัยถูกผิดได้ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคนเห็นสุนัขสองตัวแย่งกระดูกกัน มนุษย์ซึ่งเป็นผู้ยืนอยู่นอกวงย่อมสามารถวินิจฉัยได้ว่า สุนัขตัวไหนเป็นฝ่ายแย่ง สุนัขตัวไหนเป็นฝ่ายผิด มนุษย์สามารถพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฎขึ้นตามลำดับที่เกิดต่อหน้าได้ ฉันใดก็ฉันนั้นนักนิติศาสตร์หรือตุลาการผู้วินิจฉัยความขัดแย้งหรือข้อพิพาทระหว่างมนุษย์จะต้องมีจิตที่ยึดมั่นว่า ความยุติธรรม คือ เจตจำนงอันแนวแน่ตลอดกาลที่จะให้แก่คนในส่วนที่เขาพึงจะได้ ซึ่งนักกฎหมายยุโรปถือเป็นสรณะว่าประการนี้เป็นคุณธรรมของนักกฎหมายที่สำคัญยิ่ง
เมื่อหันมาพิจารณาแนวคิดเรื่องกฎหมายกับความยุติธรรมในประเทศไทยจะพบว่ามีแนวคิดที่สำคัญแบ่งแยกออกได้เป็นสองสำนักความคิด คือ สำนักกฎหมายธรรมชาติ (Natural Law) และสำนักกฎหมายบ้านเมือง (Positive Law)
สำนักกฎหมายธรรมชาติเชื่อว่ากฎหมายมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ คงทนอยู่ถาวรและเป็น
นิรันดร์ โดย ฮูโก โกรเชียส (Hugo Grotius 1583-1645) นักปราชญ์ชาวดัชท์ ได้พัฒนาแนวคิดของอาริสโตเติ้ลที่เชื่อว่า มนุษย์นั้นมีธรรมชาติเป็นสิ่งที่ต้องการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม ดังนั้นความถูกต้องเป็นธรรมในทัศนะของโกรเชียสก็คือ สภาวะที่สอดคล้องกับธรรมชาติของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมอย่างมีเหตุผล สิ่งใดที่ขัดแย้งรบกวนความกลมกลืนสงบสุขในสังคมสิ่งนั้นย่อมไม่ถูกต้องเป็นธรรม ดังนั้นโกรเชียสได้เสนอคำนิยามความหมายของกฎหมายธรรมชาติไว้ ดังนี้ Natural Law is a dictate of right reason which points out that an act, according as it is or is not in conformity with rational nature, has in it a quality of moral baseness or moral necessity- กฎหมายธรรมชาติ คือ บัญชาของเหตุผลอันถูกต้องที่ชี้ว่าการกระทำอันหนึ่งว่ามีความต่ำทรามในทางศีลธรรม หรือมีความจำเป็นในทางศีลธรรมทั้งนี้โดยดูจากว่าคุณภาพของการกระทำนั้นเป็นไปตามธรรมชาติ หรือขัดแย้งกับธรรมชาติที่มีเหตุผลของมนุษย์(4) โกรเชียสยืนยันว่า กฎหมายธรรมชาติคือเหตุผลที่ถูกต้องและเหตุผลที่ถูกต้องนี้เองจะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าการกระทำใดถูกหรือผิด สูงส่งหรือต่ำทราม สิ่งใดจะผิดถูกชั่วดีอย่างไรนั้นอยู่ที่คุณภาพของตัวมันเองไม่ขึ้นกับใคร ไม่ใช่แม้แต่พระผู้เป็นเจ้าที่จะกำหนด โดยย่อสาระสำคัญของแนวคิดสำนักกฎหมายธรรมชาติก็คือ กฎหมายที่มนุษย์สร้างขึ้นนั้นมิใช่กฎสูงสุดแต่เป็นกฎที่อยู่ภายใต้บังคับของกฎธรรมชาติซึ่งจะเป็นไปตามความยุติธรรมตามธรรมชาติ ดังนั้นการตีความกฎหมายจึงต้องให้ความสำคัญกับความยุติธรรมที่ถูกต้องแท้จริงสอดคล้องกับกฎธรรมชาติมากเสียยิ่งกว่าตัวบทลายลักษณ์อักษร(5)
ส่วนสำนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองนั้นเชื่อว่ากฎหมายเป็นสิ่งที่เป็นไปตามเจตจำนงของ
รัฏฐาธิปัตย์ เป็นการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดของฝ่ายสำนักกฎหมายธรรมชาติที่คิดว่าการบัญญัติกฎหมายนั้นเป็นการบัญญัติกฎหมายไปตามเหตุผลตามธรรมชาติ ดังนั้นสำหรับสำนักฎหมายฝ่ายบ้านเมืองแล้วกฎหมายก็คือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ พวกที่เชื่อเช่นนี้ถูกเรียกว่า Legal Positivism ชนเหล่านี้ถือว่ากฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในบ้านเมืองเท่านั้นที่เป็นกฎหมาย ส่วนศีลธรรม ความยุติธรรม คุณธรรมหรือที่เรียกว่ากฎหมายธรรมชาตินั้นไม่จัดว่าเป็นวัตถุ (Object) ที่ศึกษาในวิชานิติศาสตร์ กฎหมายจะเป็นกฎหมายได้ก็แต่การบัญญัติของผู้มีอำนาจอธิปไตยโดยดำเนินการบัญญัติไว้ตามวิธีการที่กำหนดไว้เท่านั้น เมื่อจำแนกลักษณะสำคัญของ Legal Positivism นั้นจะพบว่ามีอยู่ 2 ประการ(6) คือ
ประการแรก เชื่อว่ามีแต่กฎหมายที่ได้บัญญัติขึ้นโดยจงใจเท่านั้นที่เป็นกฎหมายที่แท้จริง (only deliberately made law is real law)
ประการที่สอง เชื่อว่าระบบกฎหมายในทางวิชาการนิติศาสตร์นั้นเป็นระบบที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัว (Self-Contained and Self Sufficient) และไม่ต้องอาศัยหลักการอื่นใดมาอธิบาย
ในยุคปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าแนวคิดของสำนักกฎหมายบ้านเมืองนั้นเป็นแนวทางหลักในการศึกษาวิชานิติศาสตร์ในประเทศไทย นิสิตนักศึกษาไม่ว่าจะในสถาบันการศึกษาของรัฐหรือเอกชนต่างถูกพร่ำสอนว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งเป็นคำสอนที่สอนกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งประเทศสยามปฏิรูปกฎหมาย ผู้พิพากษาตุลาการตลอดจนนักกฎหมายสยามก็ท่องกันมาตลอดว่า กฎหมายคือคำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามจะต้องถูกลงโทษ ดังที่ปรากฎในคำสอนของพระบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ อันมีความว่า
เราจะต้องระวังอย่าคิดเอากฎหมายไปปนกับความดี ความชั่ว ฤๅความยุติธรรม กฎหมายเป็นคำสั่งเป็นแบบที่เราจะต้องปฏิบัติตาม แต่กฎหมายนั้นบางทีก็จะชั่วได้ ฤๅไม่เป็นยุติธรรม อะไรไม่ยุติธรรมมีบ่อเกิดหลายแห่ง เช่น ตามศาสนาต่าง ๆ แต่ กฎหมายนั้นเกิดขึ้นได้แห่งเดียว คือ จากผู้ปกครองแผ่นดิน ฤๅที่ผู้ปกครองแผ่นดินอนุญาตเท่านั้น(7)
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะพบว่านักกฎหมายในประเทศไทยจะมีความเห็นว่าเมื่อมีกฎหมายบัญญติเรื่องใดไว้แล้ว หากเป็นกฎหมายที่บัญญัติโดยรัฏฐาธิปัตย์แล้วก็ถือว่ามีความยุติธรรมตามนั้น ตัวอย่างเช่น(8)
คำพิพากษาฎีกา ที่ 114/2459 ได้วินิจฉัยไว้ตอนหนึ่งว่า "ความยุติธรรม แปลว่า ความประพฤติอันชอบด้วยพระราชกำหนดกฎหมายเท่านั้น ความเห็นส่วนตัวของบุคคลย่อมแปรปรวนไปต่างๆ มียุติธรรมไม่ได้เลย"
คำพิพากษาฎีกาที่ 12/2521 วินิจฉัยเอาไว้ว่า "ข้ออ้างเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมนั้น จะต้องเป็นไปเพื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายมิใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องเป็นไปตามกฎหมายด้วย"
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 กับการปฏิวัติรัฐประหารนั้นจัดว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กัน นักรัฐศาสตร์ได้พยายามอธิบายปรากฏการณ์ที่อำนาจหมุนวนไปมาระหว่างพัฒนาการประชาธิปไตยกับการรัฐประหารในไทยโดยสร้างวาทกรรมที่เรียกว่า วงจรอุบาทว์
ในปัจจุบันผู้เขียนเห็นว่าวงจรอุบาทว์ของการเมืองไทยได้มีการพัฒนาไปจากอดีตบ้าง โดยเฉพาะการอาศัยกฎบัตรกฎหมาย นักกฎหมาย ตลอดจนกระบวนการยุติธรรมมาเป็นเครื่องมือในการสร้างความชอบธรรมมากขึ้น กล่าวคือ เริ่มจากฝ่ายทหารทำการรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งโดยอ้างความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง การฉ้อราษฎร์บังหลวงของนักการเมือง การที่องค์กรอิสระถูกแทรกแซงถูกครอบงำโดยฝ่ายการเมือง การพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ จนไปถึงการอ้างเหตุผลของการแตกความสามัคคีของคนในชาติ(9) ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเงื่อนไขของการรัฐประหารนั้นขยายวงกว้างมากขึ้น หลังจากที่ทหารเข้ามามีอำนาจแล้วก็จะใช้อำนาจเผด็จการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่พร้อม ๆ กับการยึดทรัพย์นักการเมืองหรือดำเนินกระบวนการล้างบางนักการเมืองผ่านองค์กรที่ตนตั้งขึ้น สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญนั้นทหารก็จะเข้าไปมีบทบาทไม่ว่าโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายในการกำหนดทิศทางของรัฐธรรมนูญ โดยตั้งพรรคพวกของตนเข้าไปนั่งในตำแหน่งสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผู้ตรวจสอบการทำงานภาครัฐ หรือผู้ใช้อำนาจในองค์กรรัฐ จากนั้นเมื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วก็จัดให้มีการเลือกตั้ง ทั้งนี้ทั้งนั้นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ก็จะมีข้อกำหนดให้ฝ่ายตนได้เปรียบที่สุดในการเลือกตั้ง อาจกล่าวได้ว่าระบบที่ทหารวางไว้ในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ไม่ว่าจะในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายต่างๆ เอื้อให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบได้ง่าย ต่อมาเมื่อมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้าไปใช้อำนาจ ด้วยเหตุที่รัฐธรรมนูญวางโครงสร้างไว้ไม่ดีการเมืองก็จะกลับมาวุ่นวายอีก(10) ส่งผลให้ทหารสามารถหาเหตุผลมาทำการปฏิวัติรัฐประหารได้ต่อไปเรื่อย ๆและวนกลับเข้าสู่วงจรเดิมอีกครั้ง
หาพิจารณาให้ดีจะเห็นว่าวงจรอุบาทว์นี้จะมีนักกฎหมายเป็นฟั่นเฟืองอยู่แทบทุกกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญก็ดี การสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ทำรัฐประหารก็ดี การล้างบางนักการเมืองที่ถูกกล่าวหาว่าฉ้อราษฎร์บังหลวงก็ดี การยุยงส่งเสริมและการยินยอมให้เกิดการรัฐประหารก็ดี ทั้งหมดนี้ต่างก็ส่งผลให้การเมืองไทยไม่สามารถพัฒนาไปสู่ประชาธิปไตยแบบสากลซึ่งในทัศนะของผู้เขียน นักกฎหมายไทยก็ไม่สามารถที่จะปฏิเสธความรับผิดชอบในส่วนนี้ไปได้เลย เพราะเราทุกคนก็มีส่วนในการขับเคลื่อนวงจรอุบาทว์นี้อยู่เรื่อยมา
ในการอธิบายวงจรอุบาทว์ในเชิงนิติศาสตร์ หากพิเคราะห์กันด้วยสำนักนิติปรัชญาตามที่ได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นจะพบว่าเป็นแนวคิดสำนักกฎหมายบ้านเมืองนี้เองที่ได้ส่งผลให้ศาลฎีกาไทยมีคำพิพากษาวางบรรทัดฐานว่าคำสั่งของคณะปฏิวัติมีสถานะเป็นกฎหมาย ตัวอย่างเช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ซึ่งวินิจฉัยฐานะทางกฎหมายของคณะรัฐประหารปี พ.ศ. 2501 ดังนี้
เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติได้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฎิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม
คำพิพากษานี้ได้ก่อให้เกิดการยอมรับกันว่า หากคณะปฏิวัติกระทำการสำเร็จก็จะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แต่หากคณะปฏิวัติกระทำการปฏิวัติไม่สำเร็จย่อมมีความผิดฐานกบฏ(11) การยอมรับเช่นนี้เป็นผลให้กฎหมายมหาชนในประเทศไทยเป็นกฎหมายที่ขาดอุดมการณ์เชิงคุณค่าและคุณธรรมของกฎหมายมหาชน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ชี้ว่า ถ้าปรัชญากฎหมายมหาชนของสังคมเป็นเช่นใด เทคนิคและกลไกของกฎหมายแต่ละเรื่องที่จะใช้ก็เป็นเพียงวิธีการ (means) ไปสู่เป้าหมายสุดท้ายของสังคม (ends) เท่านั้น การที่สอนและเชื่อกันในประเทศไทยมาตลอดว่า กฎหมาย คือ คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์ ผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ หรือ ความเป็นธรรมตามตัวบทกฎหมายที่ตราขึ้นเท่านั้นที่เป็นความเป็นธรรมที่ยอมรับได้ในสังคม ย่อมนำไปสู่ตรรกะที่ว่า เมื่อใดที่สามารถเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ได้แล้วก็สามารถใช้ อำนาจ สร้าง ธรรม ได้(12) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วก็คงจะไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ระบบกฎหมายไทยภายใต้การศึกษาอบรมแบบเดิมเป็นระบบกฎหมายที่เอื้ออำนวยต่อการรัฐประหารโดยใช้กำลัง(13)
จากคำสอนภายใต้อิทธิพลสำนักกฎหมายบ้านเมืองตลอดจนแนวคำพิพากษาเกี่ยวกับสถานะของคณะรัฐประหารและรัฏฐาธิปัตย์สะท้อนให้เห็นว่าสถาพของกฎหมายมหาชนไทยนั้นมีลักษณะเป็นเพียง เทคนิค ที่ผู้มีอำนาจบัญญัติกฎหมายกำหนดขึ้นเพื่อนบรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้อำนาจเท่านั้น กฎหมายมหาชนไทยหาได้สะท้อนอุดมการณ์เชิงปรัชญาแบบประชาธิปไตยและเสรีนิยมแต่อย่างใดไม่(14) ในทางกลับกัน กฎหมายมหาชนไทยกลับเป็นผลโดยตรงจากวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ วัฒนธรรมอำนาจนิยม จารีตในทางปกครองที่ปฎิบัติกันอยู่ในปัจจุบันจึงหันหลังให้กับหลักนิติศาสตร์และหลักความเป็นธรรม ตลอดจนหลักนิติรัฐที่นักกฎหมายทุกผู้ทุกนามมีหน้าที่โดยตรงที่จะพิทักษ์รักษาไว้
กระนั้น ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ได้ให้คำอธิบายถึงเหตุที่ผู้พิพากษาจำต้องยอมรับคำสั่งคำบัญชาของคณะปฎิวัติว่าเป็นกฎหมายก็เพราะว่า เมื่อมีผู้จับอาวุธขึ้นก่อนการปฏิวัติรัฐประหารจนยึดอำนาจไว้ได้ อำนาจนั้นก็เป็นอำนาจปกครองบ้านเมือง ใครฝ่าฝืนก็โดนลูกตะกั่ว ดังภาษิตกฎหมายโรมันที่ว่า Inter arma silent leges เมื่อได้เสียงปืนดังเมื่อนั้นกฎหมายหมดเสียง อย่างไรก็ตามคุณชายท่านก็ได้ตั้งคำถามแก่เหล่านักกฎหมายไว้ว่า เมื่อเสียงปืนสงบเงียบลงไปแล้วกฎหมายจะมีเสียงขึ้นมาบ้างไม่ได้หรืออย่างไร(15)
เป็นที่น่ายินดียิ่งว่าปัจจุบันมีนักกฎหมายผู้ที่กำลังทำให้เสียงของกฎหมายนั้นดังกว่าเสียงปืนของคณะปฏิวัติรัฐประหาร แนวคำพิพากษาเกี่ยวกับความชอบธรรมของคณะรัฐประหารกำลังถูกท้าทายโดยผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองคนหนึ่งที่เปี่ยมไปด้วยความกล้าหาญและคุณธรรมของนักกฎหมาย ท่านใช้ความยุติธรรมตามธรรมชาติผสานแนวคิดนิติรัฐมาอธิบายว่าการปฏิวัติรัฐประหารนั้นมิใช่เหตุผลที่จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ผู้ปกครองในการออกกฎหมาย อีกทั้งการก่อการปฏิวัติรัฐประหารสำเร็จก็มิใช่เหตุที่จะอ้างตัวเองว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์อีกด้วย ท่านผู้พิพากษาท่านนี้ คือ นายกีรติ กาญจนรินทร์
ท่านผู้พิพากษา กีรติ กาญจนรินทร์ ได้แสดงเหตุผลไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตัว คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ อม.9/2552 ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตคัดลอกมาบางส่วน ดังนี้ (ขีดเส้นใต้โดยผู้เขียน)
ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้หรือไม่ เห็นว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ศาลเป็นหนึ่งในอำนาจอธิปไตย ซึ่งเป็นของประชาชน ศาลจึงต้องใช้อำนาจดังกล่าวเพื่อประชาชนอย่างสร้างสรรค์ในการวินิจฉัยคดีเพื่อให้เกิดผลในทางที่ขยายขอบเขตการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และหากศาลไม่รับใช้ประชาชน ย่อมทำให้ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมถูกท้าทายและสั่นคลอน
นอกจากนี้ศาลควรมีบทบาทในการพิทักษ์ความชอบด้วยกฎหมายรวมถึงพันธกรณีในการ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจโดยมิชอบและพันธกรณีในการปกปักรักษาประชาธิปไตยด้วย
การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบ ประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย
หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็น รัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมา ข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ
ข้อเท็จจริงเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่า ปัจจุบันอยู่ในกระแสโลกาภิวัตน์ นานาอารยะประเทศส่วนใหญ่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งไม่ยอมรับอำนาจที่ได้มาจากการปฏิวัติหรือรัฐประหาร ฉะนั้นเมื่อกาละและเทศะในปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้วจากอดีต ศาลจึงไม่อาจที่จะรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐ ประหารว่าเป็นรัฎฐาธิปัตย์
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปเช่นกันว่า ผู้ร้องประกอบด้วยคณะกรรมการที่เป็นผลพวงของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบ ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) แต่ คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทาง ของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการ
นิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่าง
รัฏฐาธิปัตย์
ผู้ร้องประกอบด้วยคณะบุคคลที่เป็นผลพวงของ คปค. ย่อมไม่มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน ปราบปรามการทุจริต พุทธศักราช 2542 ด้วยเช่นกัน ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) คดีนี้ อำนาจฟ้อง (ยื่นคำร้อง) เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ปัญหาว่าผู้คัดค้านจงใจยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและเอกสารประกอบด้วยข้อ ความอันเป็นเท็จและปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
จากคำวินิจฉัยส่วนตัวข้างต้นทำให้ผู้เขียนระลึกถึงพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในพิธีพระราชทานประกาศนียบัตรแก่เนติบัณฑิตไทยสมัยที่ 33 ความตอนหนึ่งว่า
มีคำพูดที่พูดถึงนักกฎหมายอยู่อย่างหนึ่ง คนที่ทำงานกับกฎหมายมาก ๆ มักจะติดตัวบทกฎหมาย คำพูดอย่างนี้ดูจะไม่ใช่คำชม หากเป็นคำติติงนักกฎหมายบางคนที่ถือแต่ตัวบทกฎหมายเป็นหลักการ ในการธำรงรักษาความยุติธรรมหรือความเป็นธรรมจึงควรระมัดระวังให้มาก คือควรจะได้ทำความเข้าใจให้แน่ชัดว่ากฎหมายนั้นไม่ใช่ความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น การใช้กฎหมายจึงต้องมุ่งหมายใช้เพื่อรักษาความยุติธรรม ไม่ใช่เพื่อรักษาตัวบทกฎหมายเอง และการรักษาความยุติธรรมในแผ่นดินมิได้มีวงแคบอยู่แต่เพียงแค่ขอบเขตของกฎหมาย หากต้องขยายออกไปถึงศีลธรรมจรรยา ตลอดจนเหตุผลพอตามความเป็นจริงด้วย(16)
ดังนั้นผู้เขียนในฐานะนักวิชาการ ขอเชิญนักกฎหมายทั้งหลายปรับความเข้าใจให้ต้องตรงกันตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า กฎหมายนั้นไม่ใช่ความยุติธรรม เป็นแต่เพียงเครื่องมืออย่างหนึ่งสำหรับใช้ในการรักษาและอำนวยความยุติธรรมเท่านั้น ซึ่งความยุติธรรมในที่นี้คือความยุติธรรมตามธรรมชาติอันเป็นสากลและเป็นนิรันดร์ แม้ว่าคำวินิจฉัยส่วนตัวของท่านผู้พิพากษา กีรติ กาญจนรินทร์ จะมิได้ก่อให้เกิดผลทางคดีหรือเป็นแนวบรรทัดฐานของศาลฎีกาเฉกเช่นคำพิพากษาศาลฎีกาทั่วไป แต่ผู้เขียนขอชื่นชมและยกย่องท่านผู้พิพากษา กีรติ กาญจนรินทร์ ที่เป็นผู้ตีเกราะเคาะกฎหมายนำแสงสว่างมาสู่หมู่นักกฎหมายมหาชน แม้ว่าแสงเทียนที่ท่านได้จุดไว้จะเป็นเปลวไฟขนาดเล็ก แต่หากพวกเราเหล่านักกฎหมายนำเชื้อไฟของท่านไปขยายต่อให้เหมือนไฟป่าในฤดูแล้ง ผู้เขียนเชื่อว่า ในวันข้างหน้าประเทศไทยจะไม่ต้องมืดมนอยู่ในวงจรอุบาทว์อีกต่อไป ดังนั้นโปรดตรึกตรองให้ดีเถิดว่าเราจะก้มหน้ายอมรับอำนาจนอกระบบต่อไปเงียบ ๆ ฤๅจะช่วยกันป่าวร้องนำหลักนิติรัฐมาสู่สังคมไทย
เชิงอรรถ
1. Gray, John Chipman, "A Realist Conception of Law", The Philosophy of Law (eds. Feinberg & Gross), 3rd ed, 1986, page 12 cited in Waluchow, Wil, "Constitutionalism", The Stanford Encyclopedia of Philosophy (Fall 2008 Edition), Edward N. Zalta (ed.), URL = . Accessed on 27/12/2009
2. สมชาย ปรีชาศิลปกุล, นิติปรัชญาทางเลือก, กรุงเทพฯ: วิญญูชน, 2546 หน้า 23
3. ปรีดี เกษมทรัพย์, นิติปรัชญา, กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์เดือนตุลา, พิมพ์ครั้งที่ 3 , 2539, หน้า 320
4. ปรีดี เกษมทรัพย์, เรื่องเดิม, หน้า 184
5. โสต สุตานันท์, รัฐธรรมนูญฉบับวิถีพุทธ กฎหมายกับความยุติธรรม, มติชนออนไลน์ วันที่ 27/01/2009 URL:
http://www.matichon.co.th/matichon/v...day=2009-01-27
6. ปรีดี เกษมทรัพย์, เรื่องเดิม, หน้า 241-242.
7. พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์, กฎหมายเล่ม 1, กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์สำนักทำเนียบนายกรัฐมนตรี, 2513 หน้า 7 อ้างใน มานิตย์ จุมปา (บรรณาธิการ), ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย, โครงการตำราคณะนิติศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551, หน้า 25.
8. ปรีดี เกษมทรัพย์, เรื่องเดิม, หน้า 318
9. โปรดดู แถลงการณ์ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ ๑ ลงวันที่ 19 กันยายน 2549
10. ดังจะสังเกตได้ว่ายามใดที่รัฐบาลขาดเสถียรภาพหรือเมื่อมีความขัดแย้งทางการเมืองสูงก็จะมีข่าวเกี่ยวกับการก่อการปฏิวัติรัฐประหารเป็นระยะ ๆ หรือแม้กระทั้งปัญหาบางปัญหาเป็นเรื่องทางการเมืองโดยแท้แต่สื่อมวลชนกลับตั้งคำถามไปที่ผู้บัญชาการทหารบทแทนที่จะเป็นคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำกระทรวงนั้น ๆ
11. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 บัญญัติว่า มาตรา ๑๑๓ ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
(๑) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ
(๒) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ
(๓) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร
ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
12. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 2: การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชน และพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548, หน้า 221-222.
13. เสน่ห์ จามริก, การเมืองไทยกับพัฒนาการรัฐธรรมนูญ, ชุดศึกษาวิจัยพัฒนาสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย, กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์, 2529, หน้า 230-326 อ้างใน บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, กฎหมายมหาชน เล่ม 2: การแบ่งแยกกฎหมายมหาชน-เอกชน และพัฒนาการกฎหมายมหาชนในประเทศไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548, หน้า224.
14. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, เรื่องเดิม, หน้า 223-224
15. เสนีย์ ปราโมช, การกักตัวอันธพาลโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่, บทบัณฑิตย์ เล่ม 27, 2513, หน้า 623 อ้างใน มานิตย์ จุมปา (บรรณาธิการ), ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมาย, โครงการตำราคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2551, หน้า 27.
16. คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประมวลพระราชดำรัสและพระบรมราโชวาทที่พระราชทานในโอกาสต่าง ๆ อันเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายตั้งแต่พุทธศักราช 2489 จนถึง 2529, กรุงเทพฯ: หอรัตนชัยการพิมพ์, 2530, หน้า 85.
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1420
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:16 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|