การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอเฉพาะราย (ตอนที่ ๑)

7 ธันวาคม 2552 00:20 น.

       บทที่ ๑
       การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารพิจารณาในเชิงรูปแบบ

       
       หน่วยงานของรัฐและเจ้าหน้าที่ของรัฐนอกจากจะมีหน้าที่ส่งข้อมูลข่าวสารของราชการไปตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ และจัดให้มีข้อมูลข่าวสารของราชการ
       ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ตามมาตรา ๙ ของกฎหมายฉบับเดียวกัน หากประชาชนบุคคลหนึ่งบุคคลใดมีความประสงค์ที่จะขอข้อมูลข่าวสารอื่นนอกจากที่จัดตีพิมพ์
       ลงในราชกิจจานุเบกษาหรือจัดให้ประชาชนเข้าตรวจค้นได้แล้ว ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะขอต่อหน่วยงานของรัฐให้จัดข้อมูลข่าวสารอื่นซึ่งอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐนั้นๆ จัดให้กับประชาชนเป็นการเฉพาะรายได้ โดยพระราชบัญญัติของมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้บัญญัติถึงขั้นตอนและการพิจารณาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐจะจัดบริการข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนตามคำขอเป็นการเฉพาะรายดังต่อไปนี้
       ๑. ผู้ขอข้อมูลข่าวสาร
       
บุคคลที่จะยื่นขอตรวจดูข้อมูลข่าวสารกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐให้จัดข้อมูลข่าวสารให้เป็นการเฉพาะรายนั้นจะมีสิทธิอย่างใด
       และประชาชนผู้ขอข้อมูลข่าวสารนั้นมีหน้าที่ต้องปฏิบัติอย่างไรบ้างตามที่กฎหมายบัญญัติมีกรณีพิจารณาได้ดังต่อไปนี้
       ๑.๑ บุคคลผู้มีสิทธิขอข้อมูลข่าวสาร พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้มีหมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ “ในระบอบประชาธิปไตย การให้ประชาชนมีโอกาสกว้างขวางในการได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคิดเห็นและใช้สิทธิทางการเมืองได้โดยถูกต้องกับความเป็นจริง อันเป็นการส่งเสริมให้มีความเป็นรัฐบาลโดยประชาชนมากยิ่งขึ้น สมควรกำหนดให้ประชาชนมีสิทธิได้รู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ” ดังนั้น พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการจึงเป็นกฎหมายที่รับรองสิทธิของประชาชนที่จะได้รู้หรือเข้าถึงข้อมูลข่าวสารราชการ บุคคลผู้มีสิทธิขอข้อมูลข่าวสารตามกฎหมายฉบับนี้คือเอกชน ซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ แต่มิใช่หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีที่สถานีตำบลภูธรอำเภอเมืองลพบุรีขอเอกสารการร้องเรียนเพื่อประกอบการดำเนินคดีจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาลพบุรี เขต ๑ เป็นการขอข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ มิใช่เป็นเรื่องของการใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ เนื่องจาก พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ให้สิทธิแก่ประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ มิได้เป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิหน้าที่ระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกัน ในเรื่องของข้อมูลข่าวสารของราชการ(1) หรือ กรณีที่บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินของบุคคลจำนวน ๒๔ ราย แต่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครปฏิเสธ บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารดังกล่าว คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคำวินิจฉัยว่า บริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ผู้อุทธรณ์มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามบทนิยามของมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารระหว่าง
       หน่วยงานของรัฐด้วยกันย่อมเป็นไปตามระบบการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น การขอข้อมูลข่าวสารและการอุทธรณ์ของบริษัทบริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์
       ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมาย จึงมิใช่เป็นการใช้สิทธิขอข้อมูลในฐานะที่เป็นเอกชนตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐(2)
       
       ๑.๒ ผู้ขอข้อมูลข่าวสารต้องไม่เป็นบุคคลต่างด้าว ในความเข้าใจของประชาชนโดยทั่วไปบุคคลต่างด้าวหมายถึงบุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งตรงกับบทบัญญัติของกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔ ได้ให้ความหมายของคนต่างด้าวหมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ มาตรา ๔ ได้ให้ความหมาย คนต่างด้าวหมายความว่า ผู้ที่มิได้มีสัญชาติไทย แต่พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๔ ได้ให้ความหมาย คนต่างด้าวหมายความว่า บุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยและไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ดังนั้น คนต่างด้าวตามความหมายนี้ของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ จึงมีองค์ประกอบ ๒ ประการด้วยกันคือ ประการแรกเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทย และประการที่ ๒ ต้องเป็นบุคคลที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยประกอบกันจึงจะเป็นบุคคลต่างด้าวตามความหมายของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ดังนั้นบุคคลธรรมดาที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจึงไม่เป็นบุคคลต่างด้าวตามความหมายของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ เช่น คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ แม้ว่าบุคคลดังกล่าวไม่มีสัญชาติไทยและถือว่าเป็นคนต่างด้าวตามความหมายพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่เมื่อได้รับใบอนุญาตให้เข้ามามีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแล้วก็ถือว่าบุคคลนั้นมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยดังนั้นแม้จะเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย เป็นคนต่างด้าวตามความหมายของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ หรือเป็นคนต่างด้าวตามความหมายของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. ๒๕๐๘ ก็ตาม แต่ไม่เป็นคนต่างด้าวตามความหมายของพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ดังนั้นบุคคลดังกล่าวที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจึงเป็นผู้มีสิทธิขอข้อมูลข่าวสารเป็นการเฉพาะรายต่อหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้
       ในส่วนนิติบุคคล พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ
       พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้ให้ความหมายของนิติบุคคลเป็นคนต่างด้าว คือนิติบุคคลดังต่อไปนี้
       (๑) บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่มีทุนเกินกึ่งหนึ่งเป็นของคนต่างด้าว ใบหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือให้ถือว่าใบหุ้นนั้นคนต่างด้าวเป็นผู้ถือ
       (๒) สมาคมที่มีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งเป็นคนต่างด้าว
       (๓) สมาคมหรือมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ของคนต่างด้าว
       (๔) นิติบุคคลตาม (๑) (๒) (๓) หรือนิติบุคคลอื่นใดที่มีผู้จัดการหรือกรรมการเกินกึ่งหนึ่งเป็นคนต่างด้าว
       นิติบุคคลตาม (๑) – (๔) ถ้าเข้าไปเป็นผู้จัดการหรือกรรมการ สมาชิก หรือมีทุนในนิติบุคคลอื่น ให้ถือว่าผู้จัดการหรือกรรมการ หรือสมาชิก
       หรือเจ้าของทุนดังกล่าวเป็นคนต่างด้าว
       
       ๑.๓ ผู้ขอข้อมูลข่าวสารไม่ต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย บุคคลที่จะ
       ขอข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานของรัฐไม่จำเป็นต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสียในข้อมูลที่ตน
       ขอตรวจดูหรือมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใดๆ กับข้อมูลข่าวสารที่ตนขอเป็นการเฉพาะรายนั้น ดังนั้นบุคคลภายนอกทั่วไปแม้ว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเช่น ประชาชนในกรุงเทพมหานครอยากทราบแผนการอพยพผู้คนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตกรณีเกิดแผ่นดินไหวและเขื่อนในจังหวัดกาญจนบุรีเกิดเสียหายและมีน้ำท่วม แม้ประชาชนผู้ขอข้อมูลข่าวสารนั้นไม่อาศัยอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีหรือจังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหรือมีญาติหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่อาศัยแต่อย่างใดเพียงต้องการทราบเรื่องราวการอพยพหรือต้องการตรวจสอบแผนการอพยพของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตเท่านั้น บุคคลนั้นก็มีสิทธิขอข้อมูลข่าวสารแผนการอพยพดังกล่าวได้จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
       
       ๑.๔ คำขอไม่ต้องทำเป็นหนังสือ บทบัญญัติในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์หรือวิธีการอย่างใด ๆ ในกรณีที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดขอข้อมูลข่าวสารจากราชการเพียงแต่บัญญัติว่า นอกจากข้อมูลข่าวสารของราชการที่ลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาแล้วหรือที่จัดไว้ให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้แล้วหรือที่มีการจัดให้ประชาชนได้เข้าค้นคว้าตามมาตรา ๒๖ แล้ว ถ้าบุคคลใดขอข้อมูลข่าวสารอื่นใดของราชการ...ให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้แกผู้ขอภายในเวลาอันสมควร(3) ดังนั้น คำขอของประชาชน
       จึงไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือหรือต้องมีการกรอกแบบฟอร์มตามระเบียบหรือกฎเกณฑ์อย่างใดๆ ดังนั้น ในกรณีที่หน่วยงานของรัฐจัดแบบคำขอของหน่วยงานนั้น
       ให้ประชาชนผู้ขอข้อมูลข่าวสารทำการกรอกข้อมูลลงไปในแบบคำขอเพื่อยื่นต่อเจ้าหน้าที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่จัดข้อมูลข่าวสารให้ตามที่ขอหากประชาชนไม่ได้กรอกข้อมูลในแบบคำขอของหน่วยงานหรือประชาชนเขียนเป็นหนังสือปกติทั่วไปยื่นต่อหน่วยงาน หน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิเสธไม่ดำเนินการตามคำขอนั้นโดยให้เหตุผลว่าประชาชนผู้ขอข้อมูลข่าวสารไม่กรอกแบบฟอร์มในแบบคำขอ
       ของหน่วยงานอันเป็นการผิดระเบียบของหน่วยงานนั้นจึงไม่ดำเนินการให้ไม่ได้
       และแม้ว่าเมื่อประชาชนมาติดต่อขอข้อมูลข่าวสารกับหน่วยงานของรัฐแล้วเจ้าหน้าที่นำแบบคำขอของหน่วยงานให้ประชาชนกรอก ประชาชนมิได้กรอกข้อความตามแบบคำขอหรือปฏิเสธที่จะกรอกแบบคำขอหรือไม่อาจกรอกแบบคำขอได้ด้วยตนเองอย่างใดอย่างหนึ่งก็ตามเจ้าหน้าที่ก็ไม่อาจอ้างเหตุในกรณีที่ไม่มีการกรอกแบบคำขอของหน่วยงานนั้นมาปฏิเสธไม่ดำเนินการให้ตามคำขอของประชาชน แต่เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบของหน่วยงานเจ้าหน้าที่อาจสอบถามข้อมูลจากประชาชนแล้วเขียนลงในแบบฟอร์มเองเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานตามระเบียบ
       
       ๑.๕ ไม่ต้องให้เหตุผล เมื่อประชาชนขอข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ หากเจ้าหน้าที่ของรัฐสอบถามเหตุผลว่าต้องการข้อมูลข่าวสารตามที่ขอไปเพื่ออะไร หรือในแบบคำขอของหน่วยงานของรัฐมีช่องว่างให้กรอกข้อความว่าต้องการข้อมูลข่าวสารไปเพื่ออะไรหากประชาชนผู้ขอไม่กรอกเหตุผลไปในแบบคำขอ หรือไม่บอกเหตุผลกับเจ้าหน้าที่ว่าต้องการข้อมูลข่าวสารตามที่ขอไปนั้นเพื่อประสงค์อย่างไร เจ้าหน้าที่ของรัฐจะปฏิเสธที่จะไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้ตามที่ประชาชนขอโดยอ้างว่าประชาชนไม่ยอมให้เหตุผลไม่ได้ เนื่องจากไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ที่ระบุให้ประชาชนผู้ขอข้อมูลข่าวสารต้องให้เหตุผลกับเจ้าหน้าที่ เหตุที่ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายให้ประชาชนต้องให้เหตุผลเมื่อขอข้อมูลข่าวสารนั้นเนื่องมาจากว่าสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารของราชการเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนและหากให้ประชาชนต้องระบุเหตุผลแล้วบางครั้งเหตุผลดังกล่าวอาจจะสร้างปัญหาหรือสร้างความรู้สึกไม่พอใจให้กับหน่วยงานของรัฐนั้นๆ ที่ต้องมีหน้าที่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้ตามคำขอ จึงอาจทำให้มีผลกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นไม่จัดหาข้อมูลข่าวสารให้กับประชาชนตามที่ขอได้ และกฎหมายไม่ประสงค์ที่จะให้ประชาชนผู้ยื่นคำขอต้องให้เหตุผลโกหกกับเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐเพื่อที่จะได้ข้อมูลข่าวสารไปตามที่ตนต้องการ
       
       ๑.๖ ผู้ขอข้อมูลข่าวสารบอกแต่เพียงข้อมูลข่าวสารเท่าที่จะพอจะเข้าใจได้ ในการขอข้อมูลข่าวสารของประชาชน ผู้ขอไม่อาจรู้ได้ถึงรายละเอียดของข้อมูลข่าวสารตามที่ตนร้องขอ เช่น ไม่อาจรู้ได้ว่าหนังสือฉบับที่ตนขอข้อมูลข่าวสารนั้นเป็นหนังสือเลขรับที่เท่าใด ลงวันที่เท่าใด รายงานการประชุมของกรรมการที่พิจารณาเรื่องทางวินัยและมีผลลงโทษผู้ขอเป็นรายงานการประชุมครั้งที่เท่าใด วันที่เท่าใด ผู้ขอข้อมูลข่าวสารอาจไม่ทราบรายละเอียดของวันที่การประชุมครั้งที่เลขที่หนังสือหรือหัวข้อ หัวเรื่องของข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงว่าระบุไว้เช่นไร กฎหมายจึงบัญญัติแต่เพียงว่าคำขอของผู้ขอข้อมูลข่าวสารนั้น ให้ระบุข้อมูลข่าวสารที่ต้องการในลักษณะที่อาจเข้าใจได้ตามควรก็เพียงพอแล้ว เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องไปตรวจค้นหาข้อมูลข่าวสารตามคำขอเอง อีกทั้งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา ๒๗ วรรคสอง ยังได้บัญญัติว่าถ้าคำขอหรือคำแถลงมีข้อบกพร่อง หรือมีข้อความที่อ่านไม่เข้าใจ หรือผิดหลงได้ชัดว่าเกิดจากความไม่รู้หรือความเลินเล่อของคู่กรณี ให้เจ้าหน้าที่แนะนำให้คู่กรณีแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้อง พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ถือว่าเป็นบทบัญญัติกฎหมายทั่วไปซึ่งใช้ในการปฏิบัติราชการทางปกครองและการพิจารณาทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้นหากผู้ขอข้อมูลข่าวสารระบุข้อมูลข่าวสารโดยไม่สามารถทำให้เจ้าหน้าที่ของรัฐพอเข้าใจได้ตามควรแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งต้องให้คำแนะนำเพื่อให้ประชาชนผู้ขอสามารถระบุข้อมูลข่าวสารได้ชัดเจนขึ้นอีกด้วย
       
       ๒. หน่วยงานของรัฐ
       เจ้าหน้าที่ของรัฐเมื่อได้รับคำขอจากประชาชนผู้ขอข้อมูลข่าวสาร
       เป็นการเฉพาะรายแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องตรวจดูข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ยื่นคำขอเป็นการเฉพาะราย ดังต่อไปนี้
       
       ๒.๑ มีข้อมูลข่าวสารตามที่ขออยู่หรือไม่ พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๔ ได้ให้ความหมายของคำว่า ข้อมูลข่าวสาร
       หมายความว่า สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริงข้อมูล หรือสิ่งใดๆ ไม่ว่า
       การสื่อความหมายนั้นจะทำได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเอง หรือโดยผ่านวิธีการใดๆ
       และไม่ว่าจะได้กระทำไว้ในรูปของเอกสาร แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่
       ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏได้ และข้อมูลข่าวสารของราชการ หมายความว่า ข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับการดำเนินงานของรัฐหรือข้อมูลข่าวสา
       รเกี่ยวกับเอกชน จากความหมายของคำว่าข้อมูลข่าวสารของราชการตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงมีกรณีที่เมื่อมีประชาชนมายื่นคำขอข้อมูลข่าวสาร
       ที่อยู่ในความครอบครองของทางราชการนั้น ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนขอตรวจดูนั้นเป็นข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานของรัฐมีอยู่หรือไม่ เช่น
       นาย ก มีหนังสือขอข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติขอทราบผลการดำเนินการและสำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องว่า สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้ดำเนินการเรียกเงินจาก นาย ข และดำเนินการทางวินัยกับนาย ข กรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาค ที่ ๖
       จังหวัดนครสวรรค์ได้แจ้งให้ดำเนินการ คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ
       ได้มีหนังสือปฏิเสธไม่ยอมเปิดเผยผลดำเนินการ โดยสงวนไว้ให้ทราบเฉพาะบุคคล
       ที่มีหน้าที่ต้องทราบเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการเท่านั้น การเปิดเผยอาจเกิด
       ความเสียหายขึ้นได้จึงไม่เปิดเผย ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ นาย ก จึงได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้รับหนังสือชี้แจงจากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติว่า กรณีดังกล่าวสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาได้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงและอยู่ในระหว่าง
       การพิจารณาผลการสืบสวนข้อเท็จจริงอยู่ นาย ก ได้มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติม
       ถึงคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ถึงวัตถุประสงค์ในการขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร คือ
       ๑. ขอทราบผลการดำเนินการเรียกเงินคืนจากนาย ข นำส่งคลังคืนเป็นรายได้แผ่นดิน ได้มีการดำเนินการหรือไม่ หรือดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด
       ๒. การดำเนินการทางวินัย นาย ข ได้ดำเนินการไปถึงขั้นตอนใด และผลการดำเนินการเป็นประการใด
       คณะกรรมการวินิจการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม
       การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมายได้พิจารณาแล้วเห็นว่า
       ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐
       ที่บัญญัติไว้ว่าข้อมูลข่าวสาร หมายความว่า สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือสิ่งใดๆ ไม่ว่าการสื่อความหมายนั้นจะทำได้โดยการสภาพ
       ของสิ่งนั้นเอง หรือโดยผ่ายวิธีการใดๆ และไม่ว่าจะได้จัดทำไว้ในรูปของเอกสาร
       แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพ
       หรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือวิธีการอื่นใดที่ทำให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏได้ ฉะนั้น ที่นาย ก ขอทราบทราบขั้นตอนการปฏิบัติงานและผลการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ จึงมิใช่ขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ตามมาตรา ๔ ดังกล่าว แต่เป็นเพียงการขอทราบขั้นตอน
       การปฏิบัติงานและผลการดำเนินการเรื่องหนึ่งเรื่องใด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการ
       การประถมศึกษาแห่งชาติสามารถเปิดเผยและชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องทราบได้
       แต่ขั้นตอนการปฏิบัติงานและผลการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการ
       การประถมศึกษาแห่งชาติ กรณีเรียกเงินคืนและผลการดำเนินการทางวินัย ของนาย ข ที่นาย ก ผู้อุทธรณ์ต้องการ ไม่ใช่ข้อมูลข่าวสาร ตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงไม่อยู่ในข่ายที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต้องพิจารณาวินิจฉัยว่า สำนักงานคณะกรรมการ
       การประถมศึกษาแห่งชาติจะต้องเปิดเผยหรือไม่(4)
       ดังนั้น หากไม่มีข้อมูลข่าวสารตามที่ขออยู่ในความครอบครองของ
       หน่วยงานของรัฐแห่งนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิเสธแจ้งแก่ประชาชนผู้ขอว่าไม่มี
       ข้อมูลข่าวสารตามที่ขอมิใช่ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามมาตรา ๑๕ แห่ง
       พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ เพราะเมื่อคณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้ตรวจสอบและรับฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานของรัฐ (กรมธนารักษ์) แล้วไม่ปรากฏว่ามีข้อมูลข่าวสาร (คำสั่งของอดีตอธิบดีกรมธนารักษ์) จึงไม่มีข้อมูลข่าวสารที่จะให้เปิดเผย(5) และข้อมูลข่าวสารที่ขอแม้จะมีอยู่แต่จัดทำขึ้นโดยเจ้าหน้าที่เป็นการส่วนตัวไม่ได้อยู่ในความครอบครองหรือควบคุมดูแลของหน่วยงานที่รับผิดชอบแต่อย่างใด จึงไม่ใช่ข้อมูลข่าวสารที่หน่วยงานที่รับผิดชอบจะเปิดเผยได้(6) เพราะไม่มีข้อมูลข่าวสารอยู่ในครอบครอง ของหน่วยงานของรัฐแต่หากหน่วยงานของรัฐมีข้อมูลข่าวสารตามที่ขออยู่ในครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลข่าวสารของหน่วยงานนั้นเอง หรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนหรือบุคคลอื่นนำมายื่นไว้ให้อยู่ในความครอบครอง หรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่ได้มาจากหน่วยงานอื่นโดยมิได้จัดชั้นความลับมา ถือว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะให้ข้อมูลข่าวสารตามที่ขอหรือไม่ จะปฏิเสธให้ประชาชนผู้ขอไปติดต่อยื่นคำขอ ต่อหน่วยงานที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนี้โดยตรงไม่ได้(7)
       
       ๒.๒ ข้อมูลข่าวสารที่ขอมีอยู่ในสภาพพร้อมที่จะให้ ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนขอให้หน่วยงานของรัฐจัดหาให้นั้น ต้องเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีอยู่แล้ว
       และอยู่ในสภาพที่พร้อมจะให้ได้ โดยไม่จำเป็นต้องไปจัดทำ วิเคราะห์ จำแนก รวบรวม หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่าข้อมูลข่าวสารที่ขอนั้น
       มิใช่การแสวงหาผลประโยชน์ทางการค้า และเป็นเรื่องที่จำเป็นที่ปกป้องสิทธิเสรีภาพสำหรับผู้นั้นหรือเป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ หน่วยงานของรัฐจะจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้ก็ได้ เหตุที่กฎหมายบัญญัติให้หน่วยงานของรัฐไม่จำเป็นต้องไปจัดทำข้อมูลข่าวสารขึ้นใหม่ตามที่มีการร้องขอนั้นก็เพื่อไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่หน่วยงานของรัฐมากจนเกินสมควร แต่ถ้าหน่วยงานของรัฐเห็นว่าเป็นกรณีที่เป็นประโยชน์แก่ตัวผู้ขอเองหรือเป็นประโยชน์สาธารณะ หน่วยงานของรัฐย่อมสามารถที่จะดำเนินการให้แก่ประชาชนได้ แต่มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่า สิ่งใดที่เรียกว่าเป็นกรณีต้องจัดทำขึ้นใหม่ ตัวอย่างคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้วินิจฉัยไว้ คือ ผู้อุทธรณ์ได้มีหนังสือขอให้สำนักงานเทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประชาชนที่ย้ายสำมโนครัวจากนอกเขตเทศบาล ตำบลพิบูลมังสาหาร เข้ามาอยู่ในเขตเทศบาล ในช่วงระหว่างวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๑ ถึงวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๔๒ อันเป็นระยะเวลาก่อนมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล สำนักงานเทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร ได้ปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร โดยให้เหตุผลว่าเป็นข้อมูลข่าวสารที่มีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผยตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๑๕ วรรคหนึ่ง (๖) ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๑๗ บัญญัติว่า “ข้อมูลทะเบียนราษฎรต้องถือเป็นความลับและให้นายทะเบียนเป็นผู้เก็บรักษา และใช้เพื่อการปฏิบัติตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อความหรือตัวเลขนั้นแก่บุคคลใดๆ ซึ่งไม่มีหน้าที่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ หรือแก่สาธารณะชน เว้นแต่ผู้มีส่วนได้เสียขอทราบเกี่ยวกับสถานภาพทางครอบครัวของผู้ที่ตนจะมีนิติสัมพันธ์ด้วย หรือเมื่อมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แก่การสถิติ หรือเพื่อประโยชน์แก่การรักษาความมั่นของของรัฐหรือการดำเนินคดี และพิจารณาคดีหรือการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ว่ากรณีใดจะนำข้อมูลทะเบียนราษฎรไปใช้เพื่อเป็นหลักฐานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่เจ้าของข้อมูลมิได้” ผู้อุทธรณ์ได้ยื่นหนังสืออุทธรณ์ต่อคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ได้มีหนังสือแจ้งให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายชี้แจงและให้เหตุผลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาแล้ว มีเพียงสำนักงานเทศบาลตำบาลพิบูลมังสาหาร ได้มีหนังสือชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอนั้น มิได้มีการจัดเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ หากต้องการดูต้องค้นจากทะเบียนราษฎรคือใบแจ้งย้ายตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ โดยมีพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ กำหนดห้ามการเปิดเผยไว้ใน มาตรา ๑๗ จึงเป็นข้อมูลข่าวสาร ตามมาตรา ๑๕ วรรคแรก (๖) แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ จึงใช้ดุลพินิจไม่เปิดเผยดังกล่าว คณะกรรมการวินิจฉัยฯ ได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า ข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ร้องขอให้เปิดเผยนั้น เป็นข้อมูลข่าวสารที่ว่าบุคคลใดมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่ใด และย้ายมาจากไหน ซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ที่บุคคลทั่วไปย่อมมีสิทธิรับรู้ หาใช่ข้อมูลข่าวสารของราชการซึ่งมีกฎหมายคุ้มครองมิให้เปิดเผยตามที่เทศบาลตำบลพิบูลมังสาหารกล่าวอ้างไม่ อย่างไรก็ตามข้อมูลข่าวสารดังกล่าว เป็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่อยู่ในสภาพพร้อมที่จะให้ได้ เนื่องจากกระจัดกระจายอยู่ในเอกสารใบแจ้งย้ายและทะเบียนบ้านที่ลงรายการย้ายเข้าของบุคคลในใบแจ้งย้ายแล้ว ต้องไปจัดทำ วิเคราะห์ จำแนก รวบรวม หรือจัดให้มีขึ้นใหม่ตามความในมาตรา ๑๑ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าว หากหน่วยงานของรัฐเห็นว่ากรณีที่ขอนั้นมิใช่การแสวงหาประโยชน์ทางการค้า และเป็นเรื่องที่จำเป็นเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของผู้ขอ หรือเป็นเรื่องที่จะเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ หน่วยงานของรัฐจะจัดหาข้อมูลข่าวสารนั้นให้ก็ได้ ฉะนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมการบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายจึงมีมติให้สำนักงานเทศบาลตำบลพิบูลมังสาหาร พิจารณาคำขอของผู้อุทธรณ์เสียใหม่ และใช้ดุลพินิจให้เป็นไปตามมาตรา ๑๑ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยพิจารณาว่าข้อมูลข่าวสารที่ผู้อุทธรณ์ขอให้เปิดเผยนั้น ผู้อุทธรณ์
       มีความประสงค์จะใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้า และ หรือ เป็นข้อมูลข่าวสาร
       ที่ผู้อุทธรณ์จำเป็นต้องใช้เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตนหรือเป็นข้อมูลข่าวสาร
       ที่การเปิดเผยจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะหรือไม่(8)
       แต่หากข้อมูลข่าวสารข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนขอตรวจดูนั้น
       เป็นข้อมูลข่าวสารซึ่งเก็บไว้ในสภาพของข้อมูลข่าวสารที่บันทึกไว้ในระบบ
       การบันทึกภาพหรือเสียงระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบอื่นใด ซึ่งต้องมาดำเนินการ
       แปรสภาพอีกครั้งหนึ่งเพื่อจัดให้กับประชาชนผู้ขอนั้น ไม่ถือว่าเป็นการต้องไป
       จัดทำขึ้นใหม่แต่อย่างใด ดังตัวอย่างเช่น กรมศุลกากรจัดบันทึกข้อมูลการนำเข้า
       และส่งออกของผู้ประกอบการในระบบคอมพิวเตอร์โดยในแต่ละปีจะโอนถ่ายข้อมูลการนำเข้าและส่งออกของผู้ประกอบการไปเก็บรักษาไว้ในแถบแม่เหล็กแยกต่างหากจากเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน เนื่องจากมีข้อมูลเป็นจำนวนมาก เมื่อมีผู้ร้องขอข้อมูลข่าวสารระบบการนำเข้าหรือส่งออกของผู้ประกอบการ กรมศุลกากรจะปฏิเสธว่าข้อมูลข่าวสารที่จัดเก็บในปีก่อน ๆ อยู่ในระบบการบันทึกแถบแม่เหล็กซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ ณ ปัจจุบันหากจะจัดหาข้อมูลตามที่ขอจะต้องมีการดำเนินการถ่ายข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์ปัจจุบันเสียก่อนจึงจะสามารถเรียกข้อมูลต่างๆ เหล่านั้นมาให้แก่ผู้ขอข้อมูลได้นั้น การดำเนินการดังกล่าวมิใช่เป็นการต้องไปจัดทำวิเคราะห์จำแนกรวบรวมหรือจัดให้มีขึ้นใหม่แต่อย่างใด
       
       ๒.๓ ไม่ขอบ่อยครั้งหรือจำนวนมากโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
       
ผู้ขอข้อมูลข่าวสารนั้นจะต้องเป็นผู้ที่ใช้สิทธิของตนโดยสุจริต โดยมิได้มีเจตนา
       กลั่นแกล้งหรือสร้างภาระให้แก่หน่วยงานโดยขอข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมากหรือ
       มาขอเป็นการบ่อยครั้ง ซึ่งการมาขอข้อมูลข่าวสารเป็นจำนวนมากหรือบ่อยครั้ง
       จะทำให้หน่วยงานของรัฐมีภาระความรับผิดชอบที่ต้องบริการแก่ประชาชนผู้ขอข้อมูลข่าวสารนั้น จนอาจจะทำให้การบริการประชาชนในภาระหน้าที่โดยตรงของหน่วยงานนั้นบกพร่องหรือเสียหายได้ แต่อย่างไรก็ตามหากผู้ขอซึ่งขอจำนวนมากหรือบ่อยครั้งมีเหตุผลอันสมควรแล้ว หน่วยงานของรัฐจะต้องดำเนินการให้แก่ผู้ขอ ตัวอย่าง คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้วินิจฉัยไว้ คือ ผู้อุทธรณ์มีหนังสือลงวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๔๖ วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๔๖ และวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ ถึงเทศบาลเมืองปากพนัง ขอให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับภาษีโรงเรียน และการจัดซื้อจัดจ้างของเทศบาลเมืองปากพนัง ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ถึงปัจจุบัน สำนักงานเทศบาลเมืองปากพนังมีหนังสือ ที่ นศ ๕๒๑๐๑/๐๐๖๘ ลงวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๔๗ แจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบว่าไม่อนุญาตให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอโดยอ้างเหตุผลว่า “การเปิดเผยข้อมูลอาจจะเป็นคุณหรือโทษกับผู้สมัครเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีเมืองปากพนัง ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงจำเป็นที่จะต้องวางตัวเป็นกลางไม่สนับสนุนข้อมูลให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นการชั่วคราวจนกว่าการเลือกตั้งจะแล้วเสร็จ” ผู้อุทธรณ์มีหนังสือลงวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ ถึงคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการอุทธรณ์คำสั่งของเทศบาลเมืองปากพนังที่ไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามคำขอดังกล่าว คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคมการบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมายพิจารณาวินิจฉัยตามลำดับดังนี้ข้อมูลข่าวสารส่วนที่ ๑ คือ ข้อมูลข่าวสารตามหนังสือฉบับลงวันที่ ๕ มกราคม ๒๕๔๗ ซึ่งผู้อุทธรณ์ต้องการให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารว่ามีการเสียภาษีโรงเรียนของบ้านเลขที่ ๓๕ และ ๓๗ ถนนบางวัง ตำบลปากพนัง อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช หรือไม่ เป็นจำนวนเงินเท่าใด เห็นว่าข้อเท็จจริงที่มีการเสียภาษีโรงเรียนหรือไม่นั้นเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการปกติทั่วไป เพราะประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีให้กับรัฐ ข้อมูลข่าวสารในส่วนนี้จึงเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการที่เปิดเผยได้
       ข้อมูลข่าวสารส่วนที่ ๒ คือ ข้อมูลข่าวสารตามหนังสือฉบับลงวันที่
       ๕ มกราคม ๒๕๔๗ รายการที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖, ๗, ๙ และ ๑๐ เห็นว่า เป็นข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามอำนาจหน้าที่ของเทศบาลเมืองปากพนังซึ่งเป็นข้อมูลข่าวสารของราชการปกติทั่วไป จึงเป็นข้อมูลข่าวสารที่เปิดเผยได้ข้อมูลข่าวสารส่วนที่ ๓ ได้แก่ ข้อมูลข่าวสารการจัดซื้อวัสดุสิ้นเปลืองประเภท ปูน ทราย เหล็ก ก่อสร้าง ไม้แปรรูป ตั้งแต่ปี ๒๕๔๓ ถึงปัจจุบัน เห็นว่า คำขอของผู้อุทธรณ์เป็นคำขอที่มีขอบเขตกว้างขวางและมีปริมาณมากเกินสมควรจนอาจเป็นการรบกวนการทำงานของเจ้าหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงเห็นว่าผู้อุทธรณ์ควรจัดทำคำขอเสียใหม่ให้เป็นไปตามมาตรา ๑๑ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ กล่าวคือให้มีลักษณะที่เข้าใจได้และมีปริมาณข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสม
       ฉะนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารสาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย จึงมีมติให้สำนักงานเทศบาลเมืองปากพนังเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนที่ ๑ และส่วนที่ ๒
       พร้อมทั้งให้สำเนาที่มีคำรับรองถูกต้องแก่ผู้อุทธรณ์ สำหรับข้อมูลข่าวสารในส่วนที่ ๓ ให้ผู้อุทธรณ์ยื่นคำขอต่อเทศบาลเมืองปากพนังใหม่โดยให้ระบุข้อมูลข่าวสาร
       ที่ต้องการให้ชัดเจน(9)
       
       ๒.๔ ให้คำแนะนำว่าไปขอข้อมูลข่าวสารที่ใด ในกรณีที่มีผู้ยื่นคำขอ
       ข้อมูลข่าวสารของราชการต่อหน่วยงานของรัฐหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แม้ว่าข้อมูลข่าวสารที่ขอจะอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐหน่วยงานนั้น
       แต่อยู่กันต่างสถานที่ เช่น ข้อมูลข่าวสารที่ขออยู่ในความครอบครองดูแล
       ของหน่วยงานส่วนกลาง หรืออยู่ในความครอบครองของหน่วยงานซึ่งอยู่ในสังกัดเดียวกันแต่ตั้งอยู่ ณ สถานที่แห่งอื่น จังหวัดอื่น อำเภออื่น เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ประจำ
       ณ หน่วยงานของรัฐที่ประชาชนมายื่นคำขอไม่จำเป็นต้องไปติดต่อกับหน่วยงานรัฐแห่งอื่น หรือหน่วยงานรัฐที่ตั้งอยู่ ณ สถานที่อื่นและมีข้อมูลข่าวสารอยู่ในครอบครองให้จัดส่งข้อมูลข่าวสารมาให้ตามคำขอของประชาชนผู้ขอ แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐ
       ที่ได้รับคำขอมีหน้าที่ต้องแจ้งให้ประชาชนผู้ขอทราบว่าข้อมูลข่าวสารตามที่ขอจัดเก็บอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานรัฐแห่งใด และให้ประชาชนไปติดต่อขอ
       ข้อมูลข่าวสารต่อหน่วยงานของรัฐดังกล่าว(10) เช่น ประชาชนยื่นขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับแผนการอพยพประชาชน กรณีเขื่อนที่จังหวัดกาญจนบุรีเกิดเสียหายเนื่องจากแผ่นดินไหว โดยประชาชนไปยื่นคำขอที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตบางกรวย จังหวัดนนทบุรี แต่ข้อมูลข่าวสารเรื่องแผนการอพยพประชาชนดังกล่าวอยู่ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต จังหวัดกาญจนบุรี เจ้าหน้าที่ที่อยู่ ณ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เมื่อได้รับคำขอไม่จำต้องติดต่อประสานงานเอง เพื่อให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่จังหวัดกาญจนบุรี จัดส่งข้อมูลข่าวสารแผนการอพยพประชาชนมายังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่บางกรวยเพื่อมอบให้แก่ผู้ยื่นคำขอแต่อย่างใด แต่เจ้าหน้าที่ต้องแนะนำให้ผู้ยื่นคำขอไปยื่นคำขอต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นผู้ครอบครองดูแลข้อมูลข่าวสารดังกล่าวอยู่โดยไม่ชักช้า หรืออาจจะเป็นกรณีที่ข้อมูลข่าวสารที่ประชาชนยื่นคำขอนั้นอยู่ในความควบคุมดูแลของหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐที่ประชาชนมายื่นคำขอ หากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานซึ่งได้รับคำขอนั้นทราบว่าข้อมูลข่าวสารที่มีผู้ยื่นคำขอนั้นอยู่ในความควบคุมดูแลของส่วนงานใด เจ้าหน้าที่มีหน้าที่ต้องแนะนำไปยื่นคำขอต่อหน่วยงานที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนั้นโดยตรง
       
       ๒.๕ ข้อมูลที่ขอถูกจัดชั้นความลับโดยหน่วยงานอื่น หน่วยงานของรัฐอาจได้รับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐอื่นโดยหน่วยงานของรัฐที่จัดส่งข้อมูลข่าวสารมานั้นได้จัดชั้นความลับของข้อมูลข่าวสารที่ได้จัดส่งมาให้ โดยอาจจัดชั้นความลับว่าเป็นลับที่สุด ลับมาก หรือลับอย่างใดอย่างหนึ่งตามแต่กรณีของข้อมูลข่าวสารนั้น เมื่อข้อมูลข่าวสารที่ถูกจัดชั้นความลับอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐซึ่งได้รับข้อมูลข่าวสารนั้นแล้วมีประชาชนมายื่นคำขอข้อมูลข่าวสารที่ถูกจัดชั้นความลับ หน่วยงานของรัฐที่ครอบครองดูแลข้อมูลข่าวสารที่ถูกจัดชั้นความลับมาโดยหน่วยงานอื่นนั้น ไม่อาจตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งว่าจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารหรือไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารให้แก่ประชาชนผู้ขอได้ แต่เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐของผู้รับคำขอนั้นมีหน้าที่ต้องส่งคำขอให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลข่าวสารที่ได้กำหนดชั้นความลับว่าเป็นข้อมูลข่าวสารลับ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความลับของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นผู้พิจารณาเพื่อมีคำสั่งต่อไป(11)
       เมื่อประชาชนผู้ขอข้อมูลข่าวสารเป็นการเฉพาะราย เป็นผู้มีสิทธิขอ และมีข้อมูลข่าวสารอยู่ในความครอบครองของหน่วยงานของรัฐที่ได้รับคำขอ โดยข้อมูลข่าวสารนั้นไม่ถูกจัดชั้นความลับมาจากหน่วยงานอื่น เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องพิจารณาต่อไปว่า ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวมีเนื้อหาห้ามมิให้เปิดเผย ตามมาตรา ๑๔ แห่งพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ หรือเป็นข้อมูลข่าวสารที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจใช้ดุลพินิจอาจไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารตามที่ขอ ตามมาตรา ๑๕ แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน หรือไม่ หากมิใช่เป็นข้อมูลข่าวสารที่มีเนื้อหาในสองกรณีดังกล่าว เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่ต้องจัดหาข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้ขอโดยเร็ว มิใช่นิ่งเฉยโดยไม่ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งแต่ข้อมูลข่าวสารของราชการใดมีสภาพที่อาจบุบสลายง่าย หน่วยงานของรัฐจะขอขยายเวลาในการจัดหาให้หรือจะจัดทำสำเนาให้ในสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อมิให้เกิดความเสียหายแก่ข้อมูลข่าวสารนั้นก็ได้(12)
       
       เชิงอรรถ
       
(1)  หนังสือตอบข้อหารือของคณะอนุกรรมการตอบข้อหารือตามกฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ ที่ น.ร. ๐๑๐๘/๒๔๙๑
       ลงวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๐ ใน W.W.W.OIC.GO.TH.
       (2) โปรดดูคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๑/๒๕๕๒ และโปรดดูเปรียบเทียบกับคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีอุตสาหกรรมและการเกษตร ที่ วท. ๓/๒๕๕๑
       (3) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๑๑ วรรคหนึ่ง
       (4) คำวินิจฉัยคณะกรรมวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดินและการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๑๖/๒๕๔๓
       (5) คำวินิจฉัยคณะกรรมการ วินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมการบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๓๖/๒๕๔๔
       (6) คำวินิจฉัยคณะกรรมการ วินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมการบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๔/๒๕๔๔
       (7) คำวินิจฉัยคณะกรรมการ วินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมการบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๑๗/๒๕๔๓ “ผู้อุทธรณ์ขอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือ และสำเนาคำพิพากษาในคดีดังกล่าว กรมเจ้าท่าปฏิเสธ โดยใช้เหตุผลว่า เอกสารคำขออนุญาตสร้างท่าเทียบเรือเข้าลักษณะข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลการเปิดเผยจะเป็นการรุกล้ำสิทธิ
       ส่วนบุคคลเกินสมควร สำหรับสำเนาคำพิพากษาสามารถยื่นคำขอต่อศาลจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมดูแลข้อมูลข่าวสารนี้โดยตรง คณะกรรมการวินิจฉัยฯ เห็นว่า สำเนาแบบแปลนท่าเทียบเรือที่ขออนุญาต มิใช่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะตัวบุคคล แต่เป็นเรื่องการขออนุญาตคำเป็นการเรื่องหนึ่งเรื่องใด ตามขั้นตอนของกฎหมาย สำหรับสำเนาคำพิพากษาซึ่งอยู่ในครอบครองของกรมเจ้าท่า ปกติคำพิพากษาสามารถเปิดเผยเป็นการทั่วไปได้ จึงวินิจฉัยให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารแก่ผู้อุทธรณ์”
       
(8) คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมการบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย
       ที่ สค ๑/๒๕๔๓ และดูคำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมการบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค.๙๐/๒๕๔๖ “รายชื่อราษฎรผู้ย้ายเข้ามาในเขตเทศบาลในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ แต่การที่จะให้ทราบว่าคนใดย้ายมาจากที่ใด ต้องทำการประมวลอีกชั้นหนึ่ง ข้อมูลตามคำขอจึงมิใช่ข้อมูลที่มีอยู่แล้วในสภาพที่พร้อมจะใช้ได้”                                                         (9) คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมการบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค ๓๖/๒๕๔๗
       (10) โปรดดูคำวินิจฉัยคณะกรรมการ วินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมการบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค.๖๕/๒๕๔๖ “ผู้อุทธรณ์ขอดูคำสั่งที่ ๔๖๕/๒๕๔๖ จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่ที่สำนักงานฯ ไม่มีคำสั่งดังกล่าว ผู้อุทธรณ์ต้องไปขอจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีข้อมูลดังกล่าวอยู่ในครอบครอง”
       (11) คำวินิจฉัยคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารด้านสังคมการบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ สค.๓๓/๒๕๔๓ “ผู้อุทธรณ์มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอคัดถ่ายและรับรองสำเนาถูกต้องหนังสือโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ เกี่ยวกับเหตุผลในการรับนักเรียนที่มีความพร้อมปานกลางหรือต่ำ แต่เนื่องจากหนังสือฉบับดังกล่าวกำหนด
       ชั้นความลับไว้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ส่งคำขอของผู้อุทธรณ์ให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์พิจารณาและมหาวิทยาลัยฯ ได้มีหนังสือถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ปฏิเสธไม่เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเพราะเป็นการรุกล้ำสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่สมควร ผู้อุทธรณ์จึงได้ยื่นอุทธรณ์”
       (12) พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๑๑ วรรคสอง


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1409
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 08:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)