การรับสนองพระบรมราชโองการ

17 ธันวาคม 2547 15:22 น.

                    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับได้กล่าวถึงรูปแบบในการปกครองประเทศเอาไว้เหมือนกันคือ "ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"1 ซึ่งมีความหมายยืนยันว่าการปกครองของประเทศไทยจะต้องเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศ
                    เป็นการยากที่จะระบุให้ชัดเจนว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อใด เพราะนับตั้งแต่ชาวไทยได้สร้างบ้านแปลงเมืองขึ้นมาเป็นหลักเป็นฐาน ชาวไทยก็มีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุขคู่กับความเป็นชาติสืบมาจนกระทั่งปัจจุบัน2 และแม้กระทั่งต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นระบบซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเป็นผู้มีอำนาจอย่างสมบูรณ์เด็ดขาดแต่เพียงพระองค์เดียวในการปกครองประเทศมาเป็นการปกครองในระบอบประชาธิปไตยซึ่งประชาชนเข้ามามีสิทธิมีส่วนในการปกครองประเทศโดยมีการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อเป็นกติการสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริญ์ทรงอยู่ในฐานะเป็นพระประมุขของประเทศ และมีการถวายความเคารพยกย่อง และถวายพระราชอำนาจไว้ในรัฐธรรมนูญโดยมีการบัญญัติไว้เป็นหมวดพิเศษหมวดหนึ่งเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ
                    ในมาตรา 8 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติถึงพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ไว้ว่า"องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆมิได้" การกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ย่อมเป็นการกำหนดโดยปริยายว่าพระมหากษัตริย์จะต้องทรงอยู่เหนือความรับผิดทางการเมือง กล่าวคือต้องทรงวางพระองค์เป็นกลางไม่เข้ากับพรรคการเมืองใด เพราะทรงเป็นประมุขของรัฐ การปรึกษาราชการแผ่นดินต้องทรางกระทำกับคณะรัฐมนตรีหรือคณะองค์มนตรีเท่านั้น และจะต้องทรงปลีกพะรองค์จากปัญหาขัดแย้งทางการเมืองคือไม่ทรงวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ทางการมืองในที่สาธารณะ ในทางกลับกันย่อมถือเป็นมารยาททางการเมืองว่านักการเมืองจะไม่อ้างถึงพระมหาษัตริย์ว่าทรงพระมหากรุณาแก่ตนเป็นพิเศษอย่างใด รวมทั้งไม่นำพระราชกระแสพระราชดำริทางการเมืองออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยเด็ดขาด3
                    ในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง การปกครอง และการบริหารราชการแผ่นดินนั้น พระมหากษัตริย์ย่อมทรงเกี่ยวข้องกับการบริหาราชการแผ่นดินได้น้อยและเป็นไปเท่าที่รัฐธรรมนูญอนุญาต4และดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือความรับผิดทางการเมือง ดังนั้น ในการบริหารราชการแผ่นดินทั้งมวลที่รัฐธรรมนูญอนุญาตให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจที่จะดำเนินการได้ จึงต้องมีมาตราการบางอย่างที่กำหนดใด้พระมหากษัตริย์ทรงพ้นจากความรับผิดชอบทั้งปวง ทั้งนี้เนื่องจากทางรัฐศาสตร์ที่ใช้กันมาตลอดทั้งในต่างประเทศและในประเทศไทย คือหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้ (The King can do no wrong)
                    หลักที่ว่พระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้นี้มีที่มาจากประเทศอังกฤษซึ่งในอดีต พระมหากษัตริย์ของอังกฤษเป็นประมุขของประเทศที่มีพระราชอำนาจทางการเมืองมาก แต่ต่อมาการเมืองของประเทศอังกฤษได้พัฒนาไปในแนวทางที่จำกัดพระราชอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ ทำให้พระราชอำนาจในการบริหารลดลงจนเกือบหมดสิ้นและพัฒนาจนกระทั่งทรงอยู่ "เหนือการเมือง" และ "ไม่ทรงรับผิดชอบทางการเมือง" อีกต่อไป หากแต่ทรงเป็นประมุขของประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าจะต้องทรงทำกิจกรรมใดๆทางการเมืองก็จะทรงทำไปตามตัวบทกฎหมาย และจารีตประเพณีทางการเมืองการปกครองหรือธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ และในบางเรื่องที่เป็นพระราชอำนาจเฉพาะตัวก็จะทรงใช้พระราชอำนาจนี้อย่างมีขั้นตอน มีการปรึกษากับผู้เกี่ยวข้องเพื่อไม่ให้เกิดเสียงทัดทานหรือความยุ่งยากและมีผู้รับสนองพระบรมมราชโองการคอยกำกับอยู่อีกชั้นหนึ่ง5
                   
       1. ความหมายในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

                   การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ (countersign) ได้แก่ การที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ได้
                   ทำการลงนามกำกับการลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ในรูปแบบการปกครองแบบประชาธิไไตยที่มีพระมหากษัตริย์ป็นประมุข6 ทั้งนี้ เพื่อเป็นผู้รับผิดชอบต่อกิจการที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยลงไป เพื่อให้เป็นไปตามหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้
                   2. เหตุผลในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
                    การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น กิจการที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองประเทศบางประการจะต้องได้รับการลงนามโดยพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของประเทศ ดังนั้น เหตุผลที่ต้องมีระบบการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจึงมีอยู่ด้วยกัน 2 ประการ7 คือ
                    ก. เพื่อเป็นการรับรองพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ว่าเป็นพระปรมาภิไธยอันแท้จริง
                    ข. เพื่อให้พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทรงรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงทำผิดไม่ได้
                    ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดให้มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการในกิจการซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงกระทำในฐานะประมุขของรัฐ อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการนั้นๆตามคำแนะนำและยินยอมของผู้รับสนองพระบรมราชโองการนั้นเอง และเมื่อเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองเกี่ยวกับราชการแผ่นดินที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระบรมราชโองการหรือทรงลงพระปรมาภิไธยนั้น ผู้รับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบและชี้แจงแสดงเหตุผลในการที่มีพระบรมราชโองการเช่นว่านั้น และถ้าผู้นั้นมิได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ การลงพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์ก็จะใช้ไม่ได้
                   3. สิ่งที่ต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
                    รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 231 ว่า "บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขาและพระบรมราชโองการ อันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้"
                    ดังนั้น สิ่งที่ต้องจำต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 231 จึงได้แก่
                    ก. บรรดากฎหมายต่างๆ ที่ตราขึ้นโดยรัฐสภาอันได้แก่ รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติ และที่ตราขึ้นโดยฝ่ายบริหารอันได้แก่พระราชกำหนดและพระราชกฤษฎีกา
                   
       ข. พระราชหัตถเลขา ได้แก่ เอกสารที่พระมหากษัตริย์มีไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
                   
       ค. พระบรมราชโองการ ได้แก่ คำสั่งของพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญหรือ
                   กฎหมายอื่นๆให้อำนาจไว้ เช่น พระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี เป็นต้น
                   นอกจากนี้ ยังมีเรื่องอื่นๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้โดยเฉพาะว่าต้องมีการลงนามรับสนองพระบรมบราชโองการ เช่น การแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆที่สำคัญ เป็นต้น
                   
       
       4. ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

                    โดยหลักแล้ว การที่ผู้ใดผู้หนึ่งจะเป็นผู้มีหน้าที่ในการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น มีข้อควรพิจารณาดังนี้ คือ8
                   
       ก. ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการนั้นๆ
                   โดยตรง เช่น นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งรัฐมนตรี
                    ข. ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องเป็นเจ้าของเรื่องหรือเป็นผู้ที่อยู่ในฐานะที่รู้เรื่องดังกล่าวดี
                    ค. ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการจะต้องไม่เป็นบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในทางการเมืองหรืออาจพาดพึงถึงเบื้องพระยุคลบาท เช่น ประธานองคมนตรี เป็นต้น
                   
       5. ผลของการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ
                    การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการมีผลทำให้บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใช้บังคับได้ตามกฎหาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใช้บังคับได้ตามกฎหมาย หากไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแล้วบรรดาตัวบทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการนั้นๆก็จะไม่มีผลเพราะมิได้ดำเนินการตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในมาตรา 231 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540
                    ส่วนในด้านตัวผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้น จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในกิจการที่ตนลงนามรับสนองพระบรมราชโองการนั้นเสมอ เพราะถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยตามคำแนะนำและยินยอมของบุคคลดังกล่าว ความรับผิดชอบดังกล่าวนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 ประการ 9 คือ
                   
       ก. รับผิดชอบในความถูกต้องของแบบพิธีหรือกระบวนการ โดยเรื่องที่จะขอให้ทรง
                   ลงพระปรมาภิไธยนั้นได้ผ่านแบบพิธีหรือกระบวนการมาโดยถูกต้องแล้ว เช่น กระบวนการตรากฎหมายหรือกระบวนการสรรหาผู้หนึ่งผู้ใดให้มาดำรงตำแหน่งหนึ่งตำแหน่งใด เป็นต้น
                   
       ข. รับผิดชอบในข้อความ หรือข้อความในเอกสารนั้นถูกต้อง
                   รับผิดชอบในสาระของข้อความ ซึ่งหมายความถึงการถวายคำแนะนำและยินยอมว่าจะทรงปฏิบัติอย่างไรในการบริหารราชการแผ่นดิน
       
       เชิงอรรถ
       
                   
       1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 2 [กลับไปที่บทความ]
                   
       2. ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา, สถาบันพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย, วารสาร ,นิติศาสตร์ศรีปทุม ,มกราคม-มิถุนายน 2531 , หน้า 93[กลับไปที่บทความ]
                   
       3. ทองต่อ กล้วยไม้ ณ อยุธยา , หนังสือที่อ้างถึงแล้วในเชิงอรรถที่ (2), หน้า 95
       [กลับไปที่บทความ]
                   
       4. วิษณุ เครืองาม , กฎหมายรัฐธรรมนูญ, สำนักพิมพ์นิติบรรณการ , พ.ศ.2530 , หน้า 316
       [กลับไปที่บทความ]
                   
       5. วิษณุ เครืองาม , หนังสือที่อ้างถึงแล้วในเชิงอรรถที่ (4) , หน้า 256-257
       [กลับไปที่บทความ]
       
                   
       6. ;วิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ , พระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร , วารสารกฎหมาย คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 พฤษภาคม-สิงหาคม 2520 ,หน้า 173 [กลับไปที่บทความ]
                   
       7. วิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ , หนังสือที่อ้างถึงแล้วในเชิงอรรถที่ (6),
       [กลับไปที่บทความ]
                   
       8. วิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ , หนังสือที่อ้างถึงแล้วในเชิงอรรถที่ (6),
       [กลับไปที่บทความ]
                   
       9. วิษณุ เครืองาม และบวรศักดิ์ อุวรรณโณ , หนังสือที่อ้างถึงแล้วในเชิงอรรถที่ (6), หน้า 177-178
       [กลับไปที่บทความ]
       
       
       
       
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2544

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=140
เวลา 12 พฤษภาคม 2567 19:45 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)