ประเด็นปัญหากฎหมายที่น่าสนใจกรณีที่ดินคุณยายเนื่อม

27 กันยายน 2552 21:14 น.

       เรื่องราวของที่ดินที่คุณยายเนื่อมยกเป็นมรดกให้วัดแต่ถูกเล่นแร่แปรธาตุกลายเป็นสนามกอล์ฟและบ้านจัดสรรได้กลับมาเป็นประเด็นขึ้นมาอีกหลังจากที่เงียบหายไปพักใหญ่ หลายๆคนอาจจะลืมไปแล้ว หลายๆคนอาจจะสงสัยในปัญหาข้อกฎหมายว่าจริงๆแล้วเป็นอย่างไร ใครจะต้องรับผิดชอบบ้าง ผมเห็นว่าในกรณีนี้มีประเด็นทางกฎหมายที่สนใจและน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำมาเสนอ ดังนี้
       แรกเริ่มเดิมทีนั้น คุณยายเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ผู้เป็นอุปัฏฐายิกาของเจ้าอาวาสวัดธรรมิการามวรวิหาร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้ทำพินัยกรรม ณ ที่ว่าการอำเภอดุสิต ต่อหน้าว่าที่ร้อยตรีเสมอใจ พุ่มพวงนายอำเภอดุสิตในขณะนั้น เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๑๒ ยกกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๐ ตำบลคลองซอยที่ที่ ๕ ฝั่งตะวันออก(บึงตะเคียน) อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เนื้อที่ ๗๓๐ ไร่ ๑ งาน ๕๑ ตารางวา ถวายเป็นกรรมสิทธิ์ให้แก่วัดธรรมมิการามวรวิหาร
       ต่อมาคุณยายเนื่อมได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๑๔ จึงมีการตั้งผู้จัดการมรดก แต่การณ์ปรากฏว่าแทนที่ที่ดินดังกล่าวจะถูกจดทะเบียนโอนให้เป็นกรรมสิทธิ์ของวัด แต่พระราชเมธาภรณ์อดีตเจ้าอาวาส แสดงเจตจำนงจะขายที่ดินของวัด แต่ผู้จัดการมรดกเดิมที่มีจำนวน ๓ คนไม่ยอมจึงได้มีการตั้งผู้จัดการมรดกใหม่คือมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัยฯ ต่อมาก็ได้โอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่มูลนิธิมหามกุฏฯ แล้วจดทะเบียนขายในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๓๓ให้แก่บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท กับ บริษัท อัลไพน์ กอล์ฟแอนด์สปอร์ตคลับ โดยมีนางอุไรวรรณ เทียนทองและนายชูชีพ หาญสวัสดิ์เป็นผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มูลนิธิมหามงกุฎฯรับโอนที่ดินมาเป็นของตน โดยขายในราคาไร่ละ ๑.๕ แสนบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๑๓๐ ล้านบาท
       แต่เนื่องจากตามประมวลกฎหมายที่ดิน ผู้ใดจะถือครองที่ดินของวัดเกิน ๕๐ ไร่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะต้องอนุมัติก่อน ซึ่งในการนี้ผู้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นคือ นายเสนาะ เทียนทอง ก็ได้อนุมัติที่ดินแปลงดังกล่าว และต่อมาก็ได้มีการขายต่อให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในปี ๒๕๔๓
       จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้กรมการศาสนาได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา วินิจฉัยในข้อกฎหมายในวันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๔๓ และได้รับคำตอบตามหนังสือ ที่ นร ๐๖๐๑/๐๑๗๕ ลงวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ โดยสรุปว่าวัดฯได้กรรมสิทธิ์ทันทีที่นางเนื่อมถึงแก่กรรม ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นที่ธรณีสงฆ์ ตามมาตรา๓๓(๒)(๑๓) แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ พ.ศ.๒๕๐๕ ซึ่งการโอนที่ธรณีสงฆ์ต้องทำโดยพระราชบัญญัติ ตามมาตรา ๓๔(๑๔)แห่ง พรบ.คณะสงฆ์ โดยมาตรา ๘๔ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินที่ใช้อ้างในการโอนไม่ใช่บทบัญญัติยกเว้นการได้มาดังกล่าว
       มูลนิธิฯในฐานะผู้จัดการมรดกของนางเนื่อมจึงต้องโอนที่ดินมรดกตามพินัยกรรมที่ระบุไว้ให้ตกแก่วัดฯเท่านั้น จะโอนให้แกบุคคลอื่นนอกเหนือจากวัดฯไม่ได้ การโอนที่ดินมรดกให้แก่บุคคลอื่นนอกเหนือจากที่ระบุให้เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรม จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของเจ้ามรดก ซึ่งไม่ผูกพันทายาทและจะต้องรับผิดชอบต่อทายาท ตามมาตรา ๑๗๒๐(๒๑)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
       จากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าว กรมที่ดินจึงมีคำสั่งเพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและโฉนดที่ดินดังกล่าวซึ่งถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา ๕ แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ จากนั้นประชาชนเจ้าของบ้านจัดสรรในสนามกอล์ฟอัลไพน์จึงอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าวต่อผู้มีอำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งก็คือปลัดกระทรวงมหาดไทย
       นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รักษาการปลัดกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของกระทรวงมหาดไทยกลับมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของกรมที่ดิน(ที่ให้เพิกถอนรายการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและโฉนดที่ดิน) ก่อนเกษียณอายุราชการเพียงไม่กี่วัน จนมาถูกรื้อฟื้นเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๑ เมื่อมีการสั่งให้กรมที่ดินตรวจสอบใหม่
       จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมานั้นมีประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจสมควรที่จะพิจารณาเป็นอย่างยิ่งในหลายๆประเด็น
       ประเด็นแรก ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบันจะสามารถทบทวนคำวินิจฉัยอุธรณ์หรือเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ได้หรือไม่
       คำตอบก็คือ ได้อย่างแน่นอน เพราะมาตรา ๔๙ แห่ง พรบ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ บัญญัติให้เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้ตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๕๑ มาตรา ๕๒ และ มาตรา ๕๓ ไม่ว่าจะพ้นขั้นตอนการกำหนดให้อุทธรณ์หรือโต้แย้งตามกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นมาแล้วหรือไม่
       ประเด็นที่สอง หากมีการทบทวนโดยการกลับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายยงยุทธแล้วบริษัทฯหรือประชาชนจะใช้สิทธิเรียกร้องหรือเยียวยาความเสียหายได้หรือไม่ อย่างไร
       คำตอบก็คือ ถ้าเป็นผู้ซื้อโดยสุจริต(มิใช่มาจากกลฉ้อฉล)ย่อมมีสิทธิรับการชดใช้จากการไล่เบี้ยเอากับผู้ขายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
       ประเด็นที่สาม หากปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน(ไม่ว่าจะชื่อวิชัยหรือมานิตก็ตาม) ไม่ยอมกลับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของนายยงยุทธแล้วจะทำอย่างไร
       คำตอบก็คือ สำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(ทำหน้าที่แทนกรมศาสนาเดิม)ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล ซึ่งศาลในที่นี้คือศาลยุติธรรมเพื่อชี้ขาดกรรมสิทธิในที่ดิน ซึ่งกรณีการวินิจฉัยกรรมสิทธิในที่ดินนี้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเคยวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ ๔/๒๕๔๕ ว่า คดีพิพาทเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินอันเป็นสิทธิในทรัพย์สินของบุคคล ซึ่งจะต้องดำเนินการตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายที่ดินและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งผมเห็นว่ากรณีนี้ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นกรรมสิทธิของวัดอย่างแน่นอน
       ประเด็นสุดท้าย ใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบบ้างในกรณีนี้
       ๑) กระทรวงมหาดไทย ที่จะต้องรับผิดตาม พรบ.ว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. ๒๕๓๙ ที่เจ้าหน้าที่ของตนคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและปลัดกระทรวงมหาดไทยปฏิบัติหน้าที่แล้วทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น โดยกระทรวงมหาดไทยก็ไปไล่เบี้ยในภายหลังเอากับบุคคลทั้งสองว่าจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ หากไม่ได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงความเสียหายที่กระทรวงมหาดไทยชดเชยไปก็เป็นตกเป็นพับไป แต่ถ้า บุคคลทั้งสองจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงกระทรวงมหาดไทยก็ใช้มาตรการบังคับทางปกครองบังคับ เช่น การยึด อายัด เอากับบุคคลทั้งสองมาชดใช้คืนต่อไป
       ๒) มูลนิธิฯในฐานะผู้จัดการมรดกและผู้รับโอน ก็ต้องรับผิดทางอาญาหากมีการพิสูจน์ว่าเจตนาฉ้อโกงที่ดินของวัดจริง
       ๓) นายเสนาะ เทียนทอง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ ในฐานะเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ต้องรับผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๑๕๗ หากพิสูจน์ฯได้ว่าจงใจกระทำการหรือละเว้นกระทำการโดยทุจริตจริง
       
       ส่วนบุคคลอื่น เช่น อดีตเจ้าอาวาส หรือผู้ที่ตั้งบริษัทขึ้นมารองรับการโอนที่ดินดังกล่าวหรือซื้อขายที่ดินต่อๆมาทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป็นที่วัด กฎหมายอาจจะเอื้อมไปไม่ถึงเพราะเป็นการกระทำโดยอ้อมหรือห่างไกลจากพยานหลักฐาน แน่นอนว่าย่อมต้องตกนรกหมกไหม้อย่างแน่นอนเพราะโกงที่ธรณีสงฆ์ การตกนรกนี้ไม่ต้องรอให้ตายหรือร่างกายแตกดับล่วงพ้นโลกนี้ไปแล้วแต่อย่างใด หลายๆคนที่เกี่ยวข้องในกรณีนี้ย่อมรู้อยู่แก่ใจว่าขณะนี้ตนเองตกนรกทั้งเป็นอยู่ขุมไหนแล้ว ใช่ไหมครับ
       
------------------------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1388
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 07:42 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)