สถาบันพระปกเกล้าได้จัดพิมพ์หนังสือใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งชุด จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้สนใจทราบ หากสนใจหนังสือเล่มใด กรุณาติดต่อได้โดยตรง ที่สถาบันพระปกเกล้า โทรศัพท์ 02527-7830 - 9 ในวันและเวลาราชการ
|
การเมืองภาคพลเมือง
แปลโดย ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์
หนังสือเล่มนี้ ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ได้แปลและเรียบเรียงจาก หนังสือ Politics for People ของ Dr. David Mathew
หนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนได้นำเสนอถึงการเสริมสร้างประชาธิปไตยของสาธารณชนแบบ สานเสวนาหาทางออก (deliberative public democracy) โดยชี้ให้เห็นว่า ในระบบการเมืองของสหรัฐอเมริกาเอง ประชาชนชาวอเมริกันก็เริ่มไม่ไว้วางใจการเมืองในระบบตัวแทน จึงทำให้เกิดแนวคิดที่ต้องการให้อำนาจกลับคืนไปสู่ประชาชนโดยใช้ประชาธิปไตยทางตรงและการลงประชามติ แต่ผู้เขียนเห็นว่าความไม่พึงพอใจในการเมืองระบบตัวแทนและหันมาขับเคลื่อนประชาธิปไตยทางตรงอาจไม่ใช่คำตอบ เพราะเท่ากับทำให้การเมืองในระบบกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามกับการเมืองภาคประชาชน แต่ผู้เขียนเสนอแนวคิด การเสริมสร้างประชาธิปไตยของสาธารณชนแบบสานเสวนาหาทางออก โดยเน้นว่า การปฏิรูปรัฐบาลอย่างเดียวไม่เพียงพอ พลเมืองอาจต้องปฏิรูปความเป็นสาธารณชนด้วย ซึ่งสาธารณชนคือพลเมืองที่ร่วมกันแสวงหาชีวิตที่ดีที่สุดที่เราสามารถอยู่รวมกันได้อย่างดี
หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งในท่ามกลางสถานการณ์ของความขัดแย้งของสังคมไทยในเวลานี้ ที่ยังไม่สามารถหาทางออกได้ แนวทางการสานเสวนาก็น่าจะเป็นทางออกที่ดี ที่น่าพิจารณา
|
รัฐสภาไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
ปัทมา สูบกำปัง
หนังสือเล่มนี้ได้นำเสนอข้อมูล สรุป เกี่ยวกับรัฐสภาของประเทศไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ โครงสร้าง องค์ประกอบ ที่มาและ อำนาจหน้าที่ ผู้เขียนได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจของผู้สนใจทั่วไปที่ไม่ใช่นักกฎหมายรวมทั้งเป็นพื้นฐานความรู้สำหรับผู้ที่จะศึกษาในเชิงลึกต่อไป
หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับประชาชนผู้สนใจใคร่รู้เรื่องราวของรัฐสภาไทยตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
|
รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการบริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ พ.ศ. 2551
โดย สถาบันพระปกเกล้า
หนังสือเล่มนี้เป็น ข้อมูลทางสถิติ ของการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความพึงพอใจต่อการบริการสาธารณะและการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2551 โดยแบ่งเป็น 6 ประเด็นได้แก่
- การทราบข่าวสารทางการเมือง
- ความคิดเห็นต่อรัฐบาล (แบ่งเป็น การติดตามการทำงานของรัฐบาล นโยบายรัฐบาลที่ประชาชนทราบและคะแนนเฉลี่ยความพึงพอใจ 5 อันดับแรก และผลกระทบของนโยบายและความสามารถในการแก้ไขปัญหาสังคมและเศรษฐกิจของรัฐบาล)
- ความเชื่อมั่นต่อการทำงานของคณะบุคคล สถาบันและหน่วยงานต่าง ๆ
- ความเชื่อมันต่อการทำงานขององค์กรอิสระ
- การบริการสาธารณะที่รัฐและท้องถิ่นจัดให้ประชาชน 10 อันดับแรกที่พึงพอใจ
- ความคิดเห็นเกี่ยวกับการคอรัปชัน
หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ต้องการข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับความเชื่อมั่นและความพึงพอใจของประชาชนต่อบริการสาธารณะที่รัฐจัดทำในรอบปี พ.ศ. 2551
|
จรรณยาบรรณสำหรับสมาชิกรัฐสภา การศึกษาเปรียบเทียบ
รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต และคณะ
หนังสือ จรรณยาบรรณสำหรับสมาชิกรัฐสภา การศึกษาเปรียบเทียบ เป็นหนังสือที่เกิดขึ้นจากการศึกษาวิจัยเรื่อง Comparative Study on Codes of Conduct for Parliamentarians in the Asia Pacific ซึ่งวัตถุประสงค์ของการศึกษาวิจัยคือ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบจรรยาบรรณสำหรับสมาชิกรัฐสภา พิจารณาถึงหน้าที่ของจรรยาบรรณในระบบความซื่อสัตย์สุจริต โดยมุ่งศึกษาเจาะจงภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ ประเทศออสเตรเลีย แคนาดา อินเดีย ญี่ปุ่น ลาว ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ศรีลังกา ไทย สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
หนังสือเล่มนี้แบ่งการนำเสนอเป็น 6 บท ได้แก่ บทที่ 1 บทนำ บทที่ 2 ภูมิหลังทางทฤษฎี ที่มาของจรรยาบรรณ บทที่ 3 การสำรวจจรรยาบรรณ แบบอย่างที่ได้ผลดีในทางปฏิบัติ บทที่ 4 ตัวอย่างการใช้จรรยาบรรณ บทที่ 5 ช่องว่างทางจรรยาบรรณในเอเชีย และบทที่ 6 ข้อสรุปและเสนอแนะ
หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้สนใจระบบจรรยาบรรณของสมาชิกรัฐสภาของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งยังเป็นการ เติมเต็ม องค์ความรู้เกี่ยวกับระบบจรรยาบรรณาสมาชิกรัฐสภา และสามารถนำมาพัฒนาปรับปรุงระบบจรรยาบรรณของไทยให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขอขอบคุณสถาบันพระปกเกล้าที่ส่งหนังสือเล่มนี้มาให้ครับ
|