|
|
คำบรรยายพิเศษเรื่อง อุดมศึกษากับการปฏิรูปการเมือง 30 สิงหาคม 2552 23:24 น.
|
[หมายเหตุ : บรรยายใน การประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย ( ปอมท.) วันที่ 18 เมษายน 2552 ณ ห้องประชุมมหาวิทยาลัยมหิดล ; หนังสือ การประชุมวิชาการ ประจำปี 2552 จัดทำ โดย ปอมท. - สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เดือนสิงหาคม 2552 หน้า 79-109 ]
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญมาบรรยาย ใน ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย หรือ ปอมท และหัวข้อที่จะพูดในวันนี้ ก็เป็นหัวข้อที่สำคัญและทันต่อเหตุการณ์ คือ อุดมศึกษากับการปฏิรูปการเมือง
ผมไม่ทราบว่าในที่ประชุมนี้ มีท่านผู้แทนสภาคณาจารย์ท่านไหนบ้างที่สนใจ ปัญหาการเมือง และปัญหาการเมืองในขณะนี้ก็เป็นเรื่องร้อนแรง ซึ่งผมไม่คิดว่ารัฐบาลนี้หรือท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนี้จะแก้ปัญหาได้ และ ตามความเห็นของผม ผมเห็นว่าปัญหาการเมืองของเรา เป็นผลมาจาก ปัญหาในการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของเรา ดังจะเห็นได้จากบทความ ๒ ฉบับที่ผมแจกให้ท่านผู้ฟังในวันนี้
บทความทั้งสองฉบับนี้ เป็นบทความที่ผมได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับ ความรู้ในทางกฎหมายของประเทศไทย โดย ผมได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า ปัญหาการเมือง ที่ทำให้เราจะต้องคิดถึงการปฏิรูปการเมืองในขณะนี้ เกิดจากความล้มเหลวในการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ และกฎหมายมหาชนในคณะนิติศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ ของเราเอง
เนื่องจากท่านตัวแทนสภาคณาจารย์ที่มาประชุมที่นี้ อาจจะยังไม่มีเวลาอ่านบทความดังกล่าว ฉะนั้นก่อนที่ผมจะพูดถึงเรื่องที่จะบรรยายในวันนี้ ผมอยากจะขอสรุป สาระในเอกสารที่แจกในวันนี้เพื่อให้เป็นพื้นฐานของท่านผู้ฟังก่อน โดยขอให้ท่านพลิกอ่านบทความ ๒ ฉบับไปพร้อม ๆ กัน
สาระของเอกสาร ๒ ฉบับที่แจกให้ท่านผู้ฟังในวันนี้ เป็น ข้อความเบื้องต้นที่จะทำให้ท่านผู้ฟังได้มองเห็นสภาพ ปัญหาการเมืองของประเทศ และสิ่งที่ผมจะพูดบรรยายต่อไปในวันนี้ ก็จะเชื่อมปัญหาทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อเราจะได้ช่วยกันพิจารณาว่า เราจะหา ทางออก จากปัญหาการเมืองของประเทศในปัจจุบันได้อย่างไร
เอกสารที่ผมแจกไป จะมี หมายเลขเอกสารกำกับอยู่บนหัวกระดาษ เป็นเอกสารหมายเลข ๑ และหมายเลข ๒ และบรรทัดที่ ๒ ถัดลงไป ก็จะมี วันที่บอกไว้ว่าบทความนี้เขียนขึ้นเมื่อใด ที่ต้องขอให้ท่านสังเกตว่าบทความนี้เขียนขึ้นเมื่อไร ก็เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า ปัญหาการเมืองนี้ เป็นการวิเคราะห์และคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว
ผมจะขอเริ่มต้นจากเอกสารหมายเลข ๒ ที่ผมเขียนขึ้นเมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๑ ปีก่อน ; อันที่จริง ผมเขียนบทความเกี่ยวกับ ปัญหาการเมือง ของประเทศมาหลายเรื่องแล้ว และลงอยู่ในเว็บ www.pub-law.net ของท่านอาจารย์นันทวัฒน์ บรมานันท์ ; ก่อนหน้าที่ผมจะเขียนเอกสารหมายเลข ๒ นี้ ผมได้เขียนบทความที่วิเคราะห์ถึงการรัฐประหารของเรา เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ในหัวข้อเรื่อง ว่า เพราะเหตุใด การรัฐประหาร เมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ จึงล้มเหลว บทความดังกล่าวได้พิมพ์อยู่ใน วารสารของศาลปกครอง เล่มที่เท่าใดผมจำไม่ได้ ถ้าท่านผู้ฟังสนใจ ก็โปรดไปหาอ่านได้ ; และต่อจากนั้น ผมจึงได้มาเขียนเอกสารหมายเลข ๒ เกี่ยวกับ กรณีปราสาทพระวิหาร
บทความเรื่อง กรณีปราสาทพระวิหารที่ผมเขียนนี้ มีอยู่ ๒ ส่วน คือ มีทั้งส่วนที่เป็น ความเห็นที่เกี่ยวกับประสาทพระวิหาร และมีทั้งส่วนที่เป็น ความเห็นที่เกี่ยวกับสภาพการเมืองและสภาพวิชาการโดยทั่ว ๆไปของประเทศ แต่ในเอกสารหมายเลข ๒ ที่ผมคัดมาให้ท่านผู้ฟังอ่านสำหรับประกอบการบรรยายในวันนี้ ผมคัดลอกมาเฉพาะส่วนที่เป็นความเห็นของผมที่เกี่ยวกับสภาพการเมืองและสภาพวิชาการทั่ว ๆ ไป และตัดส่วนที่เกี่ยวกับประสาทพระวิหารออกไป
บทความเอกสารหมายเลขนี้ ผมถือว่าเป็นบทความสำคัญบทหนึ่งของผม เพราะเป็นบทความ ที่ผมเขียนขึ้นเพื่อวิเคราะห์ สภาพทางวิชาการของนักกฎหมาย ของประเทศ สำหรับใว้เป็น case study ; เมื่อท่านผู้ฟังได้อ่านแล้ว ท่านจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ แล้วแต่ท่านจะพิจารณาเอาเอง บทความเต็มในเรื่องนี้ จะมีอยู่ในเว็บไซต์ดังกล่าวข้างต้น
ข้อเท็จจริง มีอยู่ว่า เมื่อศาลปกครองกลางมี คำวินิจฉัยในกรณีปราสาทพระวิหาร กำหนดให้ใช้ มาตรการคุ้มครองชั่วคราวในกรณีที่มีการฟ้องขอให้เพิกถอนคำแถลงการณ์ร่วมไทย กัมพูชา ขึ้นทะเบียนประสาทพระวิหาร) ออกมา ตามที่ท่านผู้ฟังทราบกันอยู่แล้ว ปรากฎว่า ได้มีนักกฎหมายที่มีชื่อเสียงสำคัญ ๆ ของเราหลายท่าน ได้ออกมาเขียนบทความวิจารณ์และไม่เห็นด้วยกับแนวคำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลปกครองกลาง ; ในบรรดานักกฎหมายที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองมีอยู่หลายท่านที่มีชื่อเสียง ซึ่งผมเชื่อว่าท่านคงต้องรู้จัก เป็นต้นว่า ท่านอาจารย์บวรศักดิ์ (อุวรรณโณ) เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้าคนปัจจุบัน หรือ ท่านอาจารย์นันทวัฒน์ (ศ.ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์) แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กลุ่มอาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน ๕ ท่าน ซึ่งท่านหนึ่งในบรรดาคณาจารย์นี้ ก็คือ ท่านอาจารย์วรเจตน์ (รศ.ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์) ซึ่งท่านก็คงได้ยินชื่อเสียงมาเล้วเช่นเดียวกัน
ท่านอาจารย์เหล่านี้ รวม ๗ ท่าน ต่างให้ความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางทั้งสิ้น และทุกท่านต่างก็อ้างคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ กรณีการความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย ญี่ปุ่น มาเป็นบรรทัดฐาน ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องและควรยึอถือตาม เพราะ เป็นไปตาม ทฤษฎี acte de gouvernement ตามหลักกฎหมายมหาชนของต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ; ซึ่งต่อมา คุณสมัคร (นายกรัฐมนตรี สมัคร สุนทรเวช)ในขณะนั้น ได้นำความเห็นของท่านนักกฎหมายเหล่านี้ ไปกล่าวอ้างไว้ใน รายการ สนทนาประสาสมัครของท่าน เพื่อสนับสนุนการกระทำของรัฐบาลของท่าน
ผมบังเอิญมีความเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับ ความเห็นของท่านอาจารย์เหล่านี้ โดยผมเห็นด้วยกับแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง และผมมีความเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๘๗ / ๒๕๕๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น ไม่ตรงกับ ทฤษฎี acte de gouvernement ของต่างประเทศตามที่ท่านอาจารย์เหล่านั้นได้อ้างไว้ และผมเห็นว่า ท่านอาจารย์ที่ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ฯ ควรจะอ้าง คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๘๗ / ๒๕๕๐ หรือ อ้าง ทฤษฎี acte de gouvernement ตามหลักกฎหมายมหาชนของต่างประเทศ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว จะอ้างอะไรก็ได้ แต่ควรอ้างอย่างเดียว ทั้งนี้เพราะ เหตุผล ในคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๘๗ / ๒๕๕๐ ไม่ใช่ ทฤษฎี acte de gouvernement ; ดังนั้น ผมจึงได้เขียนบทความเรื่อง คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ที่ ๙๘๔ / ๒๕๕๑ ถูกต้องหรือไม่ ซึ่งก็คือ บทความที่คัดมาให้ท่านอ่าน ; ความจริง บทความเอกสารหมายเลข ๒นี้ เป็นบทความที่ค่อนข้างยาว โดย ผมได้นำเอาข้อวิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ของท่านอาจารย์ที่มีชื่อเสียงทั้ง ๗ ท่านนี้ มาย่อและวิเคราะห์ดูเพื่อตรวจสอบความเห็นในทางวิชาการ ; ถ้าหากท่านผู้ฟังอยากอ่านและตรวจสอบบทความต่าง ๆ ในรายละเอียด ท่านก็อาจไปหาซื้อหนังสือเรื่องนี้อ่านได้ เพราะได้มีการรวมพิมพ์เป็นหนังสืออยู่ ๒ เล่ม โดย ทางสำนักพิมพ์มติชน กับคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ในที่นี้ เราคงไม่มีเวลาพูดว่า ความเห็นของท่านอาจารย์เหล่านี้ในกรณีประสาทพระวิหาร มีว่าอย่างไร และความเห็นของผมมีว่าอย่างไร ; ในที่นี้ ผมขอพูดเพียงว่า เมื่อผมได้ให้ความเห็นผมไว้ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับท่านอาจารย์เหล่านี้เพราะเหตุผลอย่างไร และทำไมผมจึงเห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ไม่ตรงกับทฤษฎีของต่างประเทศ แล้ว ความสำคัญของบทความเอกสารหมายเลข ๒ อยู่ที่ว่า ผมเอาเรื่องนี้มาเป็น case study เพื่อวิเคราะห์และประเมิน สภาพวิชาการของนักกฎหมาย ของเรา
ผมได้ให้ความเห็นของผมอย่างตรงไปตรงมาในบทความดังกล่าวนี้ ว่า ถ้าหากนักกฎหมายไทยไม่สามารถมองเห็นความแตกต่าง ระหว่าง เหตุผลและหลักการ ที่ปรากฎในคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด พ.ศ. ๒๕๕๐ กับ คำอธิบายในตำราของต่างประเทศว่าด้วย ทฤษฎี acte de gouvernement ของต่างประเทศ แล้ว ก็ถือได้ว่า เป็นความล้มเหลวของการสอนกฎหมายของประเทศไทย เพราะผมเห็นว่า ความแตกต่างของเหตุผลในเรื่องนี้ สามารถเห็นได้ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร
และเมื่อผมได้ให้เหตุผลของผมไปแล้ว ผมก็ยังไม่พบว่า มีท่านอาจารย์ท่านใดที่ยืนยันว่า เหตุผล ที่เขียนอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๗๘ / ๒๕๕๐ นั้น ตรงกับ คำอธิบายทฤษฎีของต่างประเทศที่อยู่ในตำราของต่างประเทศ ผมเองก็อยากให้มีการโต้ตอบ เพื่อวิชาการกฎหมายของเรา จะได้พัฒนาไปได้ด้วยตรรกและเหตุผล ผมอาจจะถูกหรือผมอาจจะผิด แต่ดูจะเงียบกันไปหมด
และในตอนท้ายของหน้า ๒ ของบทความเอกสารหมายเลข ๒ ผมเขียนไว้ว่า ผู้เขียนต้องขอเรียนย้ำว่า ถ้าหากประเทศไทยไม่สามารถยกระดับมาตรฐานของวงการกฎหมายของเราให้เร็วที่สุด ประเทศไทยจะมีปัญหาอย่างยิ่งในการพัฒนาการบริหารประเทศ
เท่าที่กล่าวมาแล้ว เป็นความวิตกของผม ในส่วนเกี่ยวกับมาตรฐานการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์ เป็นการทั่ว ๆ ไป ; แต่ถ้าจะพิจารณาถึง ปัญหาการเมือง หรือปัญหาการปฏิรูปการเมืองโดยเฉพาะ เราคงจะต้องพิจารณากันให้กว้างกว่านี้
ดังนั้น ในบทความเอกสารหมายเลข ๒ ในหน้าที่ ๒ ผมจึงได้กำหนดหัวข้อที่จะพิจารณาเพิ่มเติมขึ้น คือ หัวข้อว่าด้วย สภาพการเมือง และสภาพวิชาการทางกฎหมายมหาชน ให้กว้างกว่าการพิจารณาเรื่องกรณีเขาพระวิหาร โดยจะ เป็นความเห็นทางกฎหมายอย่างกว้าง โดยอาศัยพื้นฐานจากกรณีปราสาทพระวิหารเป็นตัวอย่างมาวิเคราะห์ ; และในการเริ่มต้นพิจารณาหัวข้อนี้ ผมได้เขียนเป็นข้อสังเกตไว้ว่า ผู้เขียนขอเรียนว่า สิ่งที่ผู้เขียนกลัวมากที่สุด กลัวมานานแล้ว ก็คือ วงการวิชาการทางกฎหมายของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณาจารย์ในคณะนิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัย จะเป็นต้นเหตุที่ทำให้คนไทยหลงวนเวียนอยู่ในวงจรแห่งความเสื่อมทางการเมือง ซึ่งเป็นการแสดงความกังวลเกี่ยวกับ คุณภาพ ในการเรียนการสอนวิชานิติศาสตร์อย่างตรงไปตรงมา
ในการที่จะทำ ความเข้าใจ กับปัญหาการเมืองของประเทศไทยนั้น ผมได้กล่าวไว้ในบทความดังกล่าวว่า จะต้องพิจารณาเป็น ๓ ขั้นตอน คือ ประการแรก เราต้องรู้ถึง สาเหตุของปัญหา เสียก่อน ประการที่สอง เราต้องรู้ จุดหมายของการแก้ไข และประการที่สาม เราต้องรู้ วิธีการที่จะไปสู่ จุดหมาย
แต่ในที่นี้ เราคงไม่มีเวลาที่จะพิจารณาสรุปบทความเอกสารหมายเลข ๒ นี้ได้ทั้งหมด ดังนั้น ผมจะขอพูดสั้น ๆ ในประเด็นเพียงบางประเด็น โดยจะเริ่มต้น จากปัญหาที่ เกี่ยวกับ ดุลยภาพแห่งอำนาจ ขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการในระบบสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญของไทย ตามที่ปรากฏอยู่ในบทความเอกสารหมายเลข ๒ หน้า ๔ เพราะผมเห็นว่า สาเหตุ"ของปัญหาการเมืองของประเทศไทย ก็อยู่ที่ การมีหรือไม่มีดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรต่าง ๆใน ระบบสถาบันทางการเมืองนั่นเอง
คำว่า ดุลยภาพแห่งอำนาจ ขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ นี้ เป็นคำที่ ผมยืมมาจากบทความของคณาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวน ๕ ท่านนั่นเอง ; ท่านคณาจารย์ได้ยก หลักการดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ มาเป็นเหตุผลแย้งผมในกรณีคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลาง ที่ ๙๘๔ / ๒๕๕๑ ในกรณีปราสาทพระวิหาร โดยท่านคณาจารย์กล่าวว่า ขณะนี้ ประเทศไทยเรามีดุลยภาพแห่งอำนาจใน ๓ องค์กร คือ องค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ และดุลยภาพนี้ อาจจะต้องเสียไปเพราะคำวินิจฉัยของศาลปกครองกลางในคดีประสาทพระวิหาร ซึ่งเป็นองค์กรตุลาการ ได้ก้าวล่วงเข้าไปในอำนาจขององค์กรบริหาร คือ รัฐบาล ; แต่ถ้าท่านดูในหน้าต่อไปของบทความตามเอกสารหมายเลข ๒ นี้ ก็จะพบว่า ผมมีความเห็นว่า การที่ท่านคณาจารย์เข้าใจและสอนนักศึกษาว่า ประเทศไทยในขณะนี้ มีดุลยภาพแห่งอำนาจขององค์กรทั้งสาม นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการนั้น เป็นการสอนที่ผิดพลาด
ทำไมผมจึงมีความเห็นว่าผิดพลาด ผมขอเรียนว่า ถ้าท่านพิจารณาดูตัวบทรัฐธรรมนูญของเรา ท่านก็จะพบว่า ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทย เราจะมีบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส. (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ต้องสังกัดพรรคการเมือง แล้วเราก็มีบทบัญญัติให้พรรคการเมืองของเรามีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ถ้าไม่เชื่อฟังมติของพรรคการเมือง
ผมเห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญเขียนเช่นนี้ ได้ทำให้พรรคการเมืองของเรา กลายเป็นองค์กรที่มีอำนาจสูงสุด - super organ ในทางการเมือง คือ มีอำนาจเหนือกว่าทั้งสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี เพราะเราทราบอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญของเราใช้ ระบบรัฐสภา - parliamentary system และในระบบรัฐสภา ใครก็ตามที่คุม เสียงข้างมาในสภาผู้แทนราษฎร ผู้นั้นก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลไปด้วย ; ดังนั้น เมื่อเราบังคับให้ ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรต้องสังกัดพรรคการเมือง พรรคการเมือง (ไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรครวมกลุ่มกัน) ที่คุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎณ ก็จะเป็นองค์กรที่คุมทั้ง ส.ส. และคุมทั้งรัฐบาล(คณะรัฐมนตรี)
ด้วยเหตุนี้ ระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญของเราจึงไม่มี ดุลยภาพ ระหว่างองค์กรนิติบัญญัติ และองค์กรบริหาร แต่จะเป็น ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง และ ตามสภาพของสังคมไทยที่อ่อนแอ ที่อ่อนไหวต่อการใช้งินและอิทธิพลในการซื้อเสียงเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่มีอำนาจเผด็จการนี้ จะเป็นพรรคการเมืองของนายทุนธุรกิจ
ผมได้ยกตัวอย่างความเป็นจริงที่เป็นเหตุการณ์ในปัจจุบัน คือ ทำไมอดีตนักการเมืองของเราที่อยู่นอกประเทศ จึงมีอิทธิพลเหนือนักการเมืองที่เป็น ส.ส.และเป็นรัฐมนตรีในประเทศได้ ทำไมอดีตนายกทักษิณ (ชินวัตร) จึงสามารถสั่งการนักการเมืองที่อยู่ในประเทศได้ ทั้งที่ตัวเองอยู่นอกประเทศ คำตอบน่าจะชัดเจนว่า ที่เป็นเช่นนั้นได้ ก็เพราะอำนาจเงิน การให้เงิน และการแจกเงิน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม
รัฐธรรมนูญที่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส.พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ นั้น ในโลกนี้ มีเพียงรัฐธรรมนูญของประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้น แต่ไม่มีคณาจารย์คนใดมาบอกนักศึกษากฎหมายหรือกับเราว่า รัฐธรรมนูญของเราไม่เหมือนกับประเทศใด ๆ ในโลก และในขณะเดียวกัน อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจรวมทั้งอาจารย์คณะนิติศาสตร์ทั่วประเทศของเรา ต่างสอนนักศึกษาว่า ประเทศไทยมี ดุลยภาพแห่งอำนาจ ระหว่างองค์กรบริหารกับนิติบัญญัติ
ทำไมจึงสอนเช่นนี้ การสอนกฎหมายของเราผิดพลาดมาเป็นตลอดเวลานาน เพราะคณาจารย์ไม่ได้มองสภาพความจริงว่า รัฐธรรมนูญของเราเขียนแตกต่างกับรัฐธรรมนูญของประเทศต่าง ; สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเขา มีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. แต่ ส.ส. ของเราไม่มี แต่อาจารย์ของเราก็สอนไปเรื่อย ๆ ตามตำราของต่างประเทศ โดยไม่ทราบว่าสิ่งที่ตนเองสอนนั้น ไม่ตรงกับความจริงในประเทศไทย
แล้วใครเล่า เป็นคนสร้าง ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจนี้ขึ้นมา ในเอกสารบทความหมายเลข ๒ หน้า ๖ ๗ ก็จะบอกท่านว่า ระบบเผด็จการนี้ได้เริ่มต้นมา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วยการแก้ไข รัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. ๒๕๓๔
อันที่จริง ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจนี้ ค่อย ๆ เกิดขึ้นทีละขั้น ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๗ คือ ตั้งแต่ระยะที่นักกฎหมายของเราต้องการเอาใจ รัฐบาลทหาร โดยพยายามจัดระบบ ส.ส.ให้มีการสังกัดพรรคการเมือง เพื่อ ส.ส. จะได้เป็นกลุ่มเป็นก้อน ไม่กระจัดกระจาย และง่ายต่อการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลทหารกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง และต่อมา(หลังจาก พ.ศ. ๒๕๑๗) เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ก็ค่อย ๆ มีบทบัญญัคิเพิ่มอำนาจของพรรคการเมืองให้มากขึ้นตามลำดับ ซึ่งผมเคยเขียนบทความแสดงวิวัฒนาการของการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติที่สร้าง ระบบบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองนี้ ไว้ให้แล้ว ท่านคงอาจไปหาอ่านดูได้จากเว็บไซต์ ดังกล่าวข้างต้น ; และดังนั้น พอมาถึงรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๓๔ ระบบการบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง จึงมีอยู่บ้างแล้วในรัฐธรรมนูญ แต่ยังไม่สมบูรณ์พอที่จะทำให้เกิด ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ)
ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ และทหารเสื่อมอำนาจลง บรรดานักการเมืองที่เป็นเจ้าของพรรคการเมือง(ที่เรียกกันว่า พรรคเทพพรรคมาร)ในขณะนั้น ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นพรรคการเมืองของ นายทุนธุรกิจท้องถิ่น ได้มองเห็นประโยชน์ของการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคซึ่งตนเองเป็นหัวหน้าพรรค และไม่อยากให้บุคคลอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จึงได้เรียกร้องและขอเพิ่มเติมบทบัญญัติลงไปว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยอ้างว่าเพื่อ ความเป็นประชาธิปไตย และนับแต่เวลานั้น (พ.ศ. ๒๕๓๕) เป็นต้นมา ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ก็เกิดขึ้น
อันที่จริง การเพิ่มเติมบทมาตราเพียงมาตราเดียว ว่า ให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่สามารถทำให้เกิด ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ได้ ถ้าหากไม่มีบทบัญญัติบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมืองและไม่มีบทบัญญัติให้พรรคการเมืองมีอำนาจให้ ส.ส.พ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ ไว้ก่อนหน้านี้
ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) รัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก จึงเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งเป็นวันที่ถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา ของ รัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕
ระบบนี้ ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะขัดกับ หลักการสำคัญ ของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่กำหนดว่า ส.ส.จะต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรมของตน ; อันที่จริง ก่อนที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ(พ.ศ. ๒๕๓๔) ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ตามคำเรียกร้องของนักการเมืองและจะมี การยุบสภา หลังการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ผมได้เขียนบทความบทหนึ่งเตือนและขอให้ทำการวิจัยและมีการปฏิรูปการเมืองเสียก่อน แต่เป็นที่น่าเสียดาย ; ระบบเผด็จการนี้ ได้เกิดขึ้นโดยนักวิชาการและคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยของเรายังคงคิดว่า ระบบสถาบันการเมืองตามรัฐธรรมนูญของเรา เป็น ประชาธิปไตย และแม้แต่นายกรัฐมนตรีคนกลางของเรา ในขณะนั้น คือท่านอานันท์ ปันยารชุน ที่เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ก็คงไม่ได้คิดว่า ระบบนี้จะเป็นระบบที่สร้างปัญหาการเมืองที่ยุ่งยากให้แก่ประเทศไทย ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
โดยสรุป ในบทความเอกสารหมายเลข ๒ นี้ จะเห็นได้ว่า ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) เกิดขึ้นจากบรรดานักการเมืองนายทุนธุรกิจเจ้าของพรรคการเมืองในขณะนั้น( พ.ศ. ๒๕๓๕) และหลังจากนั้น พรรคการเมืองของนายทุนท้องถิ่น ต่างก็แย่งกันและสลับขั้วกันเข้ามาเป็นรัฐบาล และแสวงหาประโยชน์ได้ระยะหนึ่ง เป็นเวลาประมาณ ๗ ๘ ปี แต่นายทุนท้องถิ่นลืมไปว่า ยังมี นายทุนระดับชาติ ที่มีเงินมากกว่า ดังนั้น เมื่อนายทุนระดับชาติมองเห็นประโยชน์จากการลงทุนในการตั้งพรรคการเมืองในสภาพที่สังคมไทยมีความอ่อนแอ ก็เลยลงทุนตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาบ้าง โดย ซื้อ ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซื้อทั้ง ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งแล้ว และ ซื้อทั้งพรรคการเมืองทั้งพรรค จากนายทุนท้องถิ่น แล้วเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ เป็นทั้งรัฐบาลและคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร (ในการปกครอง ระบบรัฐสภา parliamentary system) และแสวงหาประโยชน์อย่างปราศจากขอบเขตภายไต้ความพิกลพิการและความล้าหลังของกฎหมายระบบบริหารของไทย และนี่ คือ สาเหตุของ ปัญหาการเมือง ของคนไทยในปัจจุบัน
ถ้าจะพูดไปแล้ว คงจะไปโทษหรืออ้างว่าเป็นความผิดของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณที่ทำการทุจริตคอร์รัปชั่นและสร้างความวุ่นวายทางการเมืองอยู่ในขณะนี้ ก็ดูจะไม่ตรงนัก เพราะอดีตนายกรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นเพียง ใช้ เครื่องมือ ที่บรรดานายทุนท้องถิ่นได้สร้างขึ้นไว้ เพื่อให้กลุ่มของตัวเองเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ เท่านั้น โดยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ไม่ได้มีส่วนในการสร้าง เครื่องมือนี้ขึ้นแต่อย่างใด
และในปัจจุบันนี้ เดือน เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ดูเหมือนว่า นักการเมืองเดิม ๆ และ พรรคการเมืองเดิม ๆ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ ก็ได้มี โอกาส กลับเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐอีกครั้งหนึ่ง โดยอาศัยให้พลังของคนไทยช่วยขับไล่นายทุนระดับชาติออกไป และขณะนี้ ผมก็ไม่ทราบว่า บรรดาพรรคการเมืองของนายทุนท้องถิ่นเหล่านี้ ยังจะต้องการผูกขาดอำนาจรัฐต่อไปอีกนานเท่าใด และคนไทยจะแก้ปัญหาการเมืองนี้ได้หรือไม่
แต่ก่อนที่ผ่านบทความเอกสารหมายเลข ๒ นี้ไป เอกสารนี้ยังมีสาระสำคัญอยู่อีกประการหนึ่งเป็นส่วนที่ ๒ ที่ผมตั้งใจเขียนเพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือไปจากกรณีประสาทพระวิหาร คือ ผมได้ให้ความเห็นว่า ถ้าเราจะปฏิรูปการเมืองหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เราจะนำ แนวทาง ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาใช้ สร้างเสถียรภาพให้รัฐบาลของเขา โดยไม่มีการบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค มาใช้ได้อย่างไร
แต่อย่างไรก็ตาม ขอเรียนว่า บทความเอกสารหมายเลข ๒ ส่วนที่ ๒ นี้ ผมเพียงแต่บอกว่า รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ควรจะเป็นอย่างไร แต่ผมยังไม่ได้บอกว่า ถ้าเราคิดจะปฏิรูปการเมืองหรือมีการเมืองใหม่กันจริง ๆ แล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ดังนั้น สาระในบทความเอกสารหมายเลข ๒ นี้ จึงยังไม่ใช่เป็นคำตอบ หรือเป็น solution ของปัญหาการเมืองของเราในปัจจุบัน ซึ่งในประเด็นนี้ ผมจะให้ความเห็นในการบรรยายในวันนี้ หลังจากที่ผมได้ สรุปบทความตามเอกสารที่ได้แจกไว้แล้ว
แนวทางหรือโครงสร้างของระบบสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาลได้โดยไม่มีการบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ที่ต่างประเทศใช้กันอยู่ ก็คือ การกำหนดให้มี ฝ่ายบริหาร เป็นผู้นำเดี่ยว - a single leader คือ มีคนคนเดียวรับผิดชอบงานบริหารประเทศ ; ตัวอย่าง ที่สามารถมองเห็นหลักการนี้ได้ง่ายและชัดเจน คือ ประธานาธิบดีของสหรัฐในรูปแบบการปกครองใน ระบอบประธานาธิบดี presidential system ซึ่งท่านจะเห็นได้ว่า ประธานาธิบดี (คนเดียว)ของเขา รับผิดชอบงานบริหารทั้งหมด และ ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นในการบริหารประเทศ รัฐมนตรีคนหนึ่งคนใดคอร์รัปชั่น ประธานาธิบดีจะหนีความรับผิดชอบไม่ได้; ซึ่งแตกต่างกับการบริหารประเทศแบบไทย ๆ ที่เมื่อรัฐมนตรีคนใดถูกเปิดอภิปรายและถูกเปิดเผยว่าคอร์รัปชั่น ก็ให้รัฐมนตรีคนนั้นลาออกไป นายกรัฐมนตรีลอยตัวไม่ต้องรับผิดชอบ ; หรือบางที นายกรัฐมนตรีก็เอารัฐมนตรีคนเดิมนั้นกลับมาเป็นรัฐมนตรีอีก แต่เปลี่ยนกระทรวง แล้วก็ตีความรัฐธรรมนูญว่า เมื่อเปลี่ยนกระทรวงแล้ว ก็ไม่ต้องรับผิดชอบงานที่ถูกกล่าวหาว่าคอร์รัปชั่นในกระทรวงเดิม
ผมได้ให้ แนวทางไว้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่จะเป็นการปฏิรูปการเมืองของเรา คงจะต้องใช้แนวทางที่นักวิชาการต่างประเทศเขา คิด มาแล้ว คือ ต้องสร้างปรับ rationalize ระบบบริหารของเราให้เป็น ระบบผู้นำคนเดียว - a single leader ; แต่พอผมพูดอย่างนี้ นักวิชาการหลายท่านก็ออกมาบอกว่า ถ้าเช่นนั้น ก็ควรให้นายกรัฐมนตรีของเรามาจากการเลือกตั้งโดยตรง ซึ่งผมก็ต้องขอบอกไว้ก่อนว่า ประเทศไทยใช้ระบบเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงไม่ได้ เพราะประเทศเรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐ ดังนั้น ถ้ามีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ซึ่งจะเหมือนกับระบบประธานาธิบดี และจะเปิด โอกาสให้มีการขัดแย้งระหว่างสถาบัน ; และผมก็ไม่ทราบว่า ทำไมนักวิชาการที่เสนอให้มีการเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง จึงไม่คิดว่า ถ้า การเลือกตั้ง ส.ส.ในสภาพที่สังคมไทยอ่อนแอ มีการซื้อเสียงได้ การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก็มีการซื้อเสียงได้ เช่นเดียวกัน
เป็นที่แน่นอน ก็คือ ผมเห็นว่า เราคงไม่สามารถใช้ ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ที่นักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้งในสภาพที่สังคมมีความอ่อนแอ)ของเรา ต่างคนต่างหาช่องทางแสวงหาความร่ำรวยให้แก่ตนเองด้วยการทุจริตคอร์รัปชั่น ต่อไปได้ และเราก็คงไม่สามารถกลับใช้ ระบบรัฐสภา parliamentary system แบบเดิม ๆ ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเขาเลิกใช้และปรับเปลี่ยน rationalize รูปแบบไปนานแล้วไม่ต่ำกว่ากึ่งศตวรรษ ได้อีกเช่นเดียวกัน ; ปัญหาของเรามีอยู่ว่า นักกฎหมายและนักวิชาการของไทย จะมี ความรู้พอที่จะปรับเปลี่ยน rationalize ระบบรัฐสภา ของเรา ให้มีประสิทธิภาพ ( คือ รัฐบาลมีเสถียรภาพ และ ควมคุมนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่ให้ทำการทุจริต) ได้หรือไม่ เพราะคงไม่มีนักวิชาการของประเทศอื่นมา คิดให้เรา และเราจะ ลอก แบบของเขามาใข้ก็ไม่ได้ เพราะรูปแบบการปกครองของเรามีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นเขา และสภาพสังคมของเราก็อ่อนแอ แตกต่างกับเขา เราคงต้องออกแบบรัฐธรรมนูญของเราเอง
ในตอนท้ายของบทความเอกสารหมายเลข ๒ ผมได้ให้ แนวความคิดไว้ว่า การออกแบบ - design ระบบผู้นำเดี่ยวของประเทศไทยในระดับนายกรัฐมนตรี จะสามารถสร้างขึ้นได้อย่างไร ; เราคงลอก แนวทางของประเทศอื่นมาใช้ไม่ได้ เพราะประเทศอื่นเขาเขียนรํฐธรรมนูญ เพิ่ม อำนาจ ให้แก่ประธานาธิบดี(ประมุขของรัฐ) ของเขาได้ แต่ของเราทำไม่ได้ เพราะประมุขของเราเป็นพระมหากษัตริย์
ผมขอสรุป บทความเอกสารหมายเลข ๒ไว้เพียงเท่านี้ สำหรับข้อความส่วนที่เหลือในบทความเอกสารหมายเลข ๒ ถ้าท่านสนใจ ก็ขอให้ท่านไปอ่านเอาเองเมื่อมีเวลาว่าง และขอย้ำอีกครั้งหนึ่วว่า บทความเอกสารหมายเลข ๒ นี้ เป็นบทความที่วางแนวไว้สำหรับ รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง เท่านั้น ถ้าหากเราจะมีการปฏิรูปการเมือง ; แต่ รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่มี รัฐธรรมนูญ ก่อนหน้านี้หนึ่งฉบับ ซึ่งจะเป็นรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดวิธีการ - process ในการยกร่าง รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ซึ่งจะเป็นหัวข้อของการบรรยายในวันนี้
ต่อไป ผมจะขอสรุปบทความเอกสารหมายเลข ๑ บทความเอกสารหมายเลข ๑ นี้ ผมเขียนในเดือนพฤศจิกายน คือ เขียนขึ้นทีหลังบทความเอกสารหมายเลข ๒ (วันที่ ๙ กันยายน ๒๕๕๑)ประมาณ ๓ เดือน และผมได้หมายเหตุไว้ในบรรทัดแรกของเอกสารว่า เป็นการเขียนขึ้นก่อนที่เราจะมีรัฐบาลชุดปัจจุบัน ที่มีการสลับ ขั้ว ของพรรคการเมือง ๔ ๕ พรรค และจัดตั้งรัฐบาลขึ้น เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๑ โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกน
บทความเอกสารหมายเลข ๑ ชื่อว่า การปฏิรูปการเมือง(ของคนไทย) ครั้งที่ ๓ จะสำเร็จหรือล้มเหลว (?) เขียนขึ้นหลังจาก ตุลาคมเลือด ในระยะที่ พรรคพลังประชาชน (พรรคไทยรักไทย เดิม) เป็นรัฐบาล โดยมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี (ก่อนที่จะศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑) ; ในเดือนตุลาคม ได้มีการใช้กำลังตำรวจสลายม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภาจนมีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน ซึ่งทำให้พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเรียกร้องให้มีการปฏิรุปการเมืองด้วยการสร้าง การเมืองใหม่ และทางรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร(พรรคพลังประชาชนและพรรคร่วมรัฐบาล รวม ๖ พรรค)ได้เสนอให้มีการจัดตั้ง ส.ส.ร. (๓) ขึ้น ; ผมจึงได้เขียนบทความเอกสารหมายเลข ๑ เพื่อเตือนและให้ข้อคิดเห็นแก่ท่านผู้อ่าน ว่า ทำไม นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง จึงมักจะอ้างการปฏิรูปการเมือง และอยากตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญ
ในบทความเอกสารหมายเลข ๑ ผมเริ่มต้น ด้วยการตั้งคำถาม ว่า การที่เราต้องการ การเมืองใหม่นั้น เราต้องการอะไรกันแน่ ; เราต้องการ รัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ที่เขียนอะไรมาก็ได้ หรือว่า เราต้องการรัฐธรรมนูญ ที่เป็น การเมืองใหม่จริง ๆ คือ เป็นรัฐธรรมนูญที่มี ระบบสถาบันการเมืองที่สามารถแก้ปัญหาการเมืองของประเทศได้
ผมได้ให้ความเห็นไว้ว่า การเสนอให้ตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการเล่นเกมการเมืองอย่างหนึ่งของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเราต้องรู้ว่า ในการร่างกฎหมายหรือในการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อวางระบบหรือกลไกในการบริหารประเทศ(ที่ดี)นั้น ตามเหตุผลแล้ว เราต้องการ ผู้เชี่ยวชาญ ที่ศึกษาปัญหาของการบริหารประเทศมาเป็นอย่างดี และมี ความรู้ในเรื่องการจัดองค์กรในระบบสถาบันการเมืองในระดับเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง มาเป็นผู้ออกแบบรัฐธรรมนูญ ; รัฐธรรมนูญ(ที่ดี)นั้น มิได้เกิดจากการให้ประชาชนทั้งหลาย(ที่พอมีความรู้บ้าง) มาร่วมกันยกร่าง และลงมติด้วยเสียงข้างมากว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร โดยอ้างว่า เพื่อความเป็นประชาธิปไตย
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด ก็เช่น บรรดาเครื่องยนต์กลไก นั้นมิได้เกิดมาจากการออกแบบของบุคคลธรรมดาซึ่งไม่รู้เรื่องเครื่องยนต์ เพราะคนทั่วไปคงไม่รู้ว่า จะเอาลูกสูบกี่สูบ หรือเอาหัวเทียนไปวางไว้ที่ไหน ถ้าให้คนธรรมดามาออกแบบเครื่องยนต์ เครื่องยนต์ก็ไม่เป็นเครื่องยนต์
การร่างรัฐธรรมนูญ โดยการตั้ง สภารัฐธรรมนูญ ก็เช่นเดียวกัน เราคงพอทราบกันอยู่แล้วว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญที่นักการเมืองเสนอให้จัดตั้งนั้น จะมีองค์ประกอบอย่างไร จะประกอบด้วยใครบ้าง ; สภาร่างรัฐธรรมนูญของนักการเมือง ก็จะประกอบด้วยสมาชิก ๓ ๔ ประเภท คือ สมาชิกส่วนใหญ่ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้แทนจากจังหวัดต่าง ๆ จำนวน ๗๐ กว่าจังหวัด สมาชิกที่เป็นผู้แทนจากองค์กรอาชีพและวิชาชีพตามที่จะกำหนดขึ้น และสมาชิกที่เป็นนักวิชาการจำนวนหนึ่งที่มาจากการแต่งตั้งของสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐสภา กับอาจมีผู้แทนจากพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ; และถ้าจะถามว่า ทำไมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จึงต้องประกอบด้วยสมาชิกที่หลากหลายเช่นนี้ แล้วจะร่างรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)ขึ้นมาได้อย่างไร ; คำตอบที่ท่านจะได้จากนักการเมือง ก็คือ องค์ประกอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นเช่นนั้น ก็เพื่อ ความเป็นประชาธิปไตย เพราะรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทุกคน ดังนั้น ก็ควรให้ ประชาชนมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด
ท่านผู้ฟังก็คงพิจารณาได้เองว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญที่มีองค์ประกอบเช่นนี้ คงไม่สามารถร่าง รัฐธรรมนูญ (ที่ดี) ที่สามารถแก้ปัญหาการเมืองของประเทศได้ เพราะสมาชิกส่วนมากหรือเกือบทั้งหมด ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และในขณะเดียวกันในการเลือกตั้งสมาชิกสภารัฐธรรมนูญจากจังหวัดต่าง ๆ นั้น พรรคการเมืองก็สามารถจะสอดแทรกคนของตนเข้าไปในสภาร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมาตามที่นักการเมืองต้องการได้
ท่านผู้ฟังก็คงตอบได้ด้วยตนเองว่า การที่นักการเมืองนายทุนธุรกิจที่มาจากการเลือกตั้ง เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญโดยอ้างความเป็นประชาธิปไตยนั้น ความในใจของนักการเมืองเหล่านี้ ก็คือ ไม่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญที่ดีนั่นเอง เพราะจะทำให้ตนเองต้องเสียอำนาจและเสียโอกาสในการแสวงหาประโยชน์ ; ปัญหาของเรา(คนไทย) ก็คือ จะโต้แย้งเหตุผลของนักการเมืองที่อ้างว่า องค์ประกอบของสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมีสมาชิกอย่างหลากหลาย เพื่อ ความเป็นประชาธิปไตย ได้ อย่างไร
ดังนั้น ในบทความเอกสารหมายเลข ๑นี้ ผมจึงเขียนขึ้นเพื่อ เตือนไว้ล่วงหน้าว่า การเขียนกฎหมาย ย่อมอยู่ใต้พื้นฐานของความเป็นจริง reality คือพฤติกรรมของคนตามสังคมวิทยา ; การเสนอให้จัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการเล่นเกมการเมืองอย่างหนึ่งของนักการเมือง ; การร่างรัฐธรรมนูญโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยอ้างความเป็นประชาธิปไตย ย่อมทำให้ทุกคนที่มีโอกาสจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ สนับสนุนความเห็นของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง) เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องย่อมประสงค์อยากจะมีตำแหน่งเป็นสมาชิกในสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยกันทุกคน โดยไม่คำนึงว่าตนเองจะมีคุณสมบัติและมีความรู้พอหรือไม่ ; เพราะฉะนั้นเมื่อนักการเมืองให้มีการจัดตั้งสภารัฐธรรมนูญ ก็จะมีคนสนับสนุนมากมาย ; ดังนั้น ยิ่งสภาร่างฐธรรมนูญประกอบด้วยจำนวนสมาชิกมากขึ้นเท่าได้ ก็จะได้รับการสนับสนุนมากขึ้นเท่านั้น ; ผู้ที่มีโอกาสจะได้เป็นสมาชิกของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมจะยังไม่คำนึงถึงความมุ่งหมายในการเขียนรัฐธรรมนูญว่า รัฐธรรมนูญที่เราจะร่างขึ้นมานั้น จะดีหรือไม่ดี จะแก้ปัญหาการเมืองของประเทศได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่คิดกันภายหลัง ขอให้ตนเองได้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญก่อนก็แล้วกัน
บทความเอกสารหมายเลข ๑ ได้เตือนไว้ว่า ใครก็ตามที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็ขอให้ท่านคิดชั่งน้ำหนักว่า ท่านต้องการจะเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือท่านต้องการจะให้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่ดี ; ถ้าหากท่านต้องการรัฐธรรมนูญที่ดีที่จะแก้ปัญหาให้ประเทศ ท่านอาจจะต้องคิดทบทวนดูว่า องค์ประกอบ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ที่รวมทั้งตัวท่านเองเป็นสมาชิกอยู่ด้วยนั้น จะเป็นองค์กรที่จะเขียนรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)ให้คนไทยได้หรือไม่ และ ถ้าท่านเห็นว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่สามารถเขียนรัฐธรรมนูญที่ดีได้ ท่านก็อาจต้องเสียสละ ที่จะไม่สนับสนุนข้อเสนอของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ให้จัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ ดังกล่าว
ขณะนี้ เดือนเมษายน ๒๕๕๒ ก็ดูเหมือนว่า รัฐบาลปัจจุบันของเรา ก็กำลังเล่น เกม กับสภาพสังคมอยู่เหมือนกัน บทความเอกสารหมายเลข ๑ นี้ผมยังเขียนไม่จบ เพราะยังไม่มีเวลาเขียนต่อ แต่ในตอนท้ายของเอกสารนี้ ในหน้าที่ ๑๐ บรรทัดที่ ๔ ผมสรุปไว้ว่า การปฏิรูปของประเทศไทย ประสบความล้มเหลว เพราะสาเหตุ ๒ สาเหตุ คือ ประการแรก ประเทศไทยขาด (ทั้ง) ความรู้ และประการที่สอง ประเทศไทยขาด(ทั้ง) Statesman ; และคำว่า Statesmanนี้ ผมขออนูญาตไม่ใช้คำภาษาไทย เพราะเรามักจะเข้าใจกัน ว่า รัฐบุรุษนั้นเป็นตำแหน่ง แต่ผมไม่ต้องการให้คำนี้มีความหมายถึงตำแหน่ง แต่ผมต้องการให้หมายถึง คุณภาพของคน คนที่มีตำแหน่งรัฐบุรุษ อาจจะใช่หรือไม่ใช่ Statesman ก็ได้
ผมได้สรุปสาระสำคัญ ของบทความ ๒ บทความ (ตามที่ได้แจกเอกสารให้ท่าน) ฟังแล้ว ซึ่งอาจค่อนข้างยาวไปสักหน่อยนะครับ แต่คงจะจำเป็น เพราะในวันนี้ ผมตั้งในก็จะพูด สาระที่ต่อเนื่องกันต่อไป โดย ผมจะขอแยกเป็น ๓ ส่วนนะครับ และจะพยายามพูดให้สั้นที่สุด เพราะได้ใช้เวลามามากแล้ว ; โดยส่วนแรก ผมจะพูดถึง สาเหตุของ ปัญหาการเมือง ของประเทศไทย ส่วนที่สอง จะพูดต่อไปว่า คนไทยเราจะหา ทางออกทางการเมือง ได้อย่างไร และ ส่วนที่สาม ก็จะ เป็นบทสรุปว่า Statesman คือ บุคคลอย่างไร เพราะในการปฏิรูปการเมือง ผมคิดว่า เรา(คนไทย)คงต้องการ statesman แต่ทำไม ประเทศไทยเราจึงไม่มี statesman เสียที
สำหรับในส่วนแรก สาเหตุ ของปัญหาการเมืองของไทย อยู่ที่ไหน โดยผมจะนำความในตอนท้ายที่เป็นบทสรุปข้อสุดท้าย ของบทความเอกสารหมายเลข ๑ ที่ผมเขียนค้างไว้ มาเป็น จุดเริ่มต้นของการพูดในวันนี้ คือ ผมขอเรียนว่า ปัญหาการเมืองของไทยมีอยู่ ๒ สาเหตุ ประการแรก เราขาด ความรู้ และประการที่สอง คือ เราขาด Statesman
เรามาดู สาเหตุประการแรก คือ เราขาดความรู้ ; ปัญหามีว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เราขาดความรู้ ผมคิดว่า วิธีที่ดีที่สุด คือ การทดสอบกับตัวท่านผู้ฟังเอง โดยผมจะตั้ง คำถาม และขอให้ท่านผู้ฟังคิดตอบคำถามด้วยตัวท่านเอง คำถามก็จะมีอยู่ ๓ คำถาม เรียงตามลำดับดังนี้ คำถามแรกมีว่า ท่านทราบหรือไม่ว่า ระบบสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเรา ( และในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วมา คือ ฉบับปี พ.ศ. ๒๕๔๐) เป็น รัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลกที่ไม่เหมือนใคร และท่านทราบหรือไม่ว่า บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่เป็นประเทศเดียวในโลกนี้ เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องอะไร ถ้าท่านไม่เคยทราบ ก็แสดงว่า การเรียนการสอนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญในระดับอุดมศึกษาของเรา ไม่ได้มาตรฐาน ; คำถามที่สอง มีว่า ท่านทราบหรือไม่ว่า คำว่า form of government มีความหมายว่าอย่างไร มีความสำคัญอย่างไร ท่านเคยได้ยิน คำนี้ มาก่อนหรือไม่ ; และคำถามที่สาม มีว่า เมื่อท่านได้ยินนักวิชาการคนหนึ่งพูดว่า ถ้าเราไม่บังคับให้ สส.สังกัดพรรคการเมืองแล้ว ก็จะทำให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ เหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา ถามว่า ท่านคิดว่าคำพูดของนักวิชาการคนนี้ จริงหรือไม่จริง เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้
นี่ คือ การทดสอบด้วยตัวท่านเอง ท่านผู้ฟังที่นั่งอยู่ ณ ที่นี้ เป็นคนไทยกลุ่มที่มีระดับการศึกษาที่สูงที่สุดของคนไทย ที่มีจำนวนถึง ๖๔ ล้านคน ผมไม่ทราบว่า ท่านจะตอบอย่างไร เพราะท่านจะตอบในใจ และท่านทราบด้วยตัวของท่านเองว่าท่านทราบหรือไม่ทราบ ตอบผิดหรือตอบถูก ก็แล้วแต่ ; แล้วท่านเองก็ลองคิดดูว่า คนไทยทั้ง ๖๔ ล้านคนจะมี ความรู้ หรือไม่มีความรู้ และคนไทยจะหา ทางออกจากสภาพการเมืองในปัจจุบัน ได้หรือไม่
ต่อไปนี้ ผมก็จะสรุปเฉลยคำถามทั้ง ๓ คำถาม อย่างสั้น ๆ ; ในคำถามแรกมีว่า ท่านทราบหรือไม่ว่า ระบบสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญไทย เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก และท่านทราบหรือไม่ว่า เป็นบทบัญญัติว่าด้วยเรื่องอะไร คำตอบ ก็คือ บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญของเราที่เป็นฉบับเดียวในโลก คือ บทบัญญัติที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง และบทบัญญัติที่ให้พรรคการเมืองของเรามีอำนาจให้ ส.ส.ของ พ้นจากการเป็น ส..ส. ได้ ฯลฯ ถ้าท่านพลิกดูบทความเอกสารหมายเลข ๒ หน้า ๙ ท่านก็จะพบว่ามีตัวบทของรัฐธรรมนูญของต่างประเทศอยู่ ๓ ประเทศ ที่ผมลอกให้มาดูเป็น ตัวอย่าง คือ ประเทศเยอรมันนี ประเทศฝรั่งเศส และประเทศเดนมาร์ก
รัฐธรรมนูญประเทศเยอรมันนี มาตรา ๓๘ บัญญํติว่า the Member of the German Bundestag shall be elected in general, direct, equal and secret elections. They shall be representatives of the whole people ; they shall not be bound by any instructions, only by their conscience. สรุปสั้น ๆ ได้ ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของประเทศเยอรมันนี ไม่อยู่ในอาณัติใด ๆ นอกจากมโนธรรมของตนเอง ; ส่วนมาตรา ๒๗ ของรัฐธรรมนูญประเทศฝรั่งเศสระบุว่า Any binding instruction is void , the right to vote of members is personal นี่ คือ บทบัญญัติที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญปัจจุบันของต่างประเทศ และทุกประเทศที่เป็นประชาธิปไตย ก็ถือเช่นนี้ ไม่ว่าจะมีบทบัญญัติชัดแจ้งหรือไม่
เราจะเห็นว่า บทบัญญัตินี้ เป็นบทบัญญัติที่เป็นมาตรฐานของ ความเป็นประชาธิปไตย ท่านเชื่อหรือไม่ว่านักวิชาการของเรา ไม่ว่าจะจบปริญญาจากมหาวิทยาลัยของเรา เช่น ธรรมศาสตร์ หรือจบจากต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศสหรือเยอรมันนี ไม่เคย เอา หลักการนี้มาสอนนักศึกษาว่า บทบัญญัติที่เป็นหลักประกันพื้นฐานของ ระบอบประชาธิปไตย คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส.
รัฐธรรมนูญของไทยบัญญัติว่า ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง และบัญญัติว่าพรรคการเมืองของเรามีอำนาจให้ ส.ส. พ้นจากการเป็นส.ส.ได้ถ้า ส.ส.ไม่ออกเสียงตามมติของพรรคการเมือง บทบัญญัติเหล่านี้ทำให้ ส.ส. ต้องอยู่ภายใต้อาณัติพรรคการเมือง ; ถ้าท่านอาจารย์ในมหาวิทยาลัยของเราไม่เคยนำหลักการนี้มาสอน ท่านก็ไม่ทราบ และท่านก็คงไม่ทราบว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไทย เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลก ที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ; ผมได้เขียนเรื่องนี้มาก่อนการเขียนบทความนี้ และได้พูดก่อนหน้านี้มานานแล้วว่า รัฐธรรมนูญของประเทศไทยไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ปรากฏว่า มีนักวิชาการท่านใดมาโต้แย้งผม เงียบกันไปหมด ; แต่บรรดาอาจารย์ที่จบปริญญาจากต่างประเทศที่สอนกันอยู่ในคณะนิติศาสตร์ ท่าน(อาจารย์)ก็ยังคงสอนนักศึกษาว่า ประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ที่ ส.ส.ของเราอยู่ได้อาณัติพรรคการเมือง
บทมาตราในรัฐธรรมนูญของต่างประเทศเหล่านี้ เป็นตัวบทจริงที่อยู่ในรัฐธรรมนูญที่ยังใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ผมคิดว่าท่านผู้ฟังคงตอบคำถามด้วยตัวของท่านเองได้ว่า ท่านเคยทราบบทบัญญัติเหล่านี้มาก่อนหรือไม่ และท่านคิดว่าคนไทย ๖๔ ล้านคนจะทราบหลักการของความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่
ศ.ระพี สาคริก
จุดนี้ท่านพูดตั้งแต่แรกเลยว่าการศึกษาต้องมีบทบาทแน่นอน แต่เราไม่คำนึงถึงกัน พูดกันแต่เรื่องปัญหาเฉพาะหน้า เราไม่ได้มองปัญหาที่ลึกซึ้ง แล้วเวลานี้อาจารย์พูดอะไรอยู่อย่างหนึ่งอิสรภาพ เรามองอิสรภาพในการศึกษาของเราไม่ถูก เรามองผิดไปจากความจริง ผมนึกถึงท่านพุทธทาสท่านพูดว่าอย่างไร เป็นอิสรภาพที่อยู่ในรากเหง้าของชีวิต ตรงนี้อาจารย์พูดได้ชัดเจนมาก ๆ มันเป็นจุดที่เชื่อมโยงการทำหน้าที่ของพวกเราที่จะต้องทำอย่างไรที่มีบทบาทต้องมีรื้อฟื้นต้องมาสร้างแนวคิดเรื่องการศึกษากันใหม่
ศ. ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
นี่คือคำถามที่หนึ่ง ถ้าท่านไม่ทราบ และโดยที่ท่านเป็นกลุ่มผู้ที่มีการศึกษาสูงที่สุดในบรรดาคนไทย ๖๔ ล้านคน ก็ย่อมหมายความว่า คนไทยทั้ง ๖๔ ล้านคนถูกหลอกทั้งหมด ว่าเราเป็นประชาธิปไตย
ถ้าท่านสังเกตให้ดี เมื่อไม่นานมานี้ ท่านอดีตนายกฯ (ทักษิณ ชินวัตร) ส่งโฟนอินเข้ามาและพยายามยืนยันว่า รัฐบาลของท่านเป็นรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย แต่ถูกล้มไปด้วย การรัฐประหาร ; แต่รัฐบาลของเราในปัจจุบันก็ไม่เคยโต้แย้งแม้แต่คำเดียวว่า รัฐบาลในระบบที่รัฐธรรมนูญบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ฯลฯ ไม่ใช่ ระบอบประชาธิปไตย ทั้ง ๆ ผมเขียนประเด็นนี้มาตั้งสิบปีแล้ว ; ข้อเท็จจริงนี้ แสดงว่ ารัฐบาลของเราในปัจจุบันก็ยอมรับว่าระบบการบังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรค เป็นประชาธิปไตย ; อดีตนายกฯทักษิน จะย้ำในเวลาพูดโฟนอินอยู่เสมอว่า รัฐบาลของท่านเป็นประชาธิปไตย แต่นักวิชาการและคณาจารย์ของเราก็ไม่เคยโต้แย้ง ; แสดงเช่นเดียวกันว่า นักวิชาการและคณาจารย์ของเราไม่รู้หลักการของ ระบอบประชาธิปไตย เราไม่รู้ว่า รากฐานของความเป็นประชาธิปไตย อยู่ที่ความเป็นอิสระของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ส. ; และเราคิดว่า ถ้ามี การเลือกตั้ง ส.ส. แล้ว ก็เป็นระบอบประชาธิปไตย แล้ว แม้ว่า ส.ส.ที่ไปรับเงินรับทองจากพรรคการเมือง และต้องทำตามที่หัวหน้าพรรคการเมืองสั่ง ก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตย ; เหตุการณ์เหล่านี้เคยเกิดขึ้นในอดีตของต่างประเทศมาแล้ว เขาจึงบัญญัติหลักการของระบอบประชาธิปไตยไว้ แต่อาจารย์ของเราไม่รู้ เลยไม่ได้สอนนักศึกษา
คำถามที่สอง มีว่า Form of Government คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ; Form of Government เป็นหลักว่าด้วยการจัด ระบบสถาบันการเมือง ในการบริหารประเทศ คือ เป็นเรื่องว่าด้วย รูปแบบ form ที่เป็นโครงสร้างของสถาบันการเมือง เช่น รัฐสภาจะเป็นอย่างไร ฝ่ายบริหารจะเป็นอย่างไร มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ ๆ อย่างไร
การศึกษา Form of Government จะทำให้เรารู้ว่า การบริหารประเทศ (ไม่ว่าของประเทศใด ๆ) อยู่ในระบบใด มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด จะเป็นเผด็จการหรือเป็นประชาธิปไตย ; การศึกษา Form of Government เป็นหลักการเบื้องต้นขั้นปฐมของการศึกษาวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ถ้าท่านไม่รู้จัก คนไทยทั้ง ๖๔ ล้านคนคงไม่มีโอกาสรู้จัก ; อันที่จริง Form of Government นั้นไม่ยุ่งยาก และ มีหลักพื้นฐานง่าย ๆ สำหรับการพิจารณาและการวิเคราะห์โครงสร้าง (structure) ของสถาบันการเมืองในรัฐธรรมนูญ
ท่านเชื่อหรือไม่ว่า ในขณะที่เราร่างรัฐธรรมนูญใน ปี ๒๕๕๐ คือก่อนที่จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันบังคับ เรามีนักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ที่ดีที่สุดของประเทศอยู่ในสภาร่างรัฐธรรมนูญและในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีทั้งนักวิชาการที่เป็นอาจารย์ที่มีชื่อเสียงและได้รับปริญญาสูงสุดหลายท่าน แต่ปรากฏว่า ตลอดเวลา ๑ ปีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี ๒๕๕๐ นั้น ไม่มีผู้ใดเอ่ยคำว่า Form of Government แม้แต่ครั้งเดียว ไม่มีเลย มีแต่พูดถึงแต่ สิทธิเสรีภาพของปัจเจกชน และในเอกสารที่เป็นทางการของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ก็กล่าวว่าว่าต้องการร่างรัฐธรรมนูญให้มีเสรีภาพให้มากที่สุด
ผมคิดว่า นี่คือ สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษา เพราะ Form of Government เป็นพื้นฐานขั้นต้นของการเรียนวิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ ; ในที่นี้ ผมจะพูดถึง Form of Government แบบง่าย ๆ ที่เป็นแบบมาตรฐาน โดยยังไม่ต้องพูดว่า รูปแบบใด จะเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตย
Form of Government มีรูปแบบมาตรฐานอยู่ ๓ ๔ แบบ ; ผมจะขออ้างพระราชดำรัส เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่ได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า บ้านเมืองมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ ที่ส่งเสริมคนดี ได้คนดีปกครองบ้านเมืองและควบคุมคนไม่ดีไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ; Form of Government ก็ไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เพราะ Form of Government ก็คือ การดูแลให้คนดี ได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง นั่นเอง
รูปแบบของ Form of Government ที่เป็นมาตรฐานมีอยู่ ๓ รูปแบบ โดยจะไม่พูดถึงระบบปลีกย่อย รูปแบบที่หนึ่ง คือ ระบบประธานาธิบดี หรือ presidential system ; รูปแบบที่สอง เป็นระบบของ ประเทศสังคมนิยม หรือ one party system ของประเทศคอมมิวนิสต์ ; รูปแบบที่สาม คือ ระบบรัฐสภา ที่เป็นรูปแบบที่เราใช้กันอยู่ คือ parliamentary system ; ในสามระบบนี้ จะมีรูปแบบใน การจัดระบบสถาบันการเมือง ต่างกัน และสร้างระบบความรับผิดชอบของนักการเมืองต่างกัน ; และถ้าเรารู้วิธีการศึกษา หลักการของ Form of Government เราก็จะสามารถรู้ได้เลยว่า โครงสร้างรัฐธรรมนูญของประเทศใด หรือโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับใด มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด เป็นเผด็จการหรือเป็นประชาธิปไตย ซึ่งหลักเกณฑ์นี้ก็ง่ายมาก ; แต่สิ่งที่แปลก ก็คือ ในช่วงเวลา ๑ ปีของการร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ นักกฎหมายและนักรัฐศาสตร์ที่ดีที่สุดของเรา ไม่มีใครเอ่ยคำว่า Form of Government แม้แต่ครั้งเดียว
Form of Government รูปแบบแรก ที่จะพูดถึง ก็คือ ระบบประธานาธิบดี - presidential system ซึ่งทุกท่านทราบดีว่าเป็นระบบที่สหรัฐอเมริกาใช้อยู่ ; หากจะดู ลักษณะเฉพาะของระบบประธานาธิบดี ระบบนี้ ประการแรก เราจะเห็นได้ว่า การใช้อำนาจบริหารจะมีความเป็นเอกภาพ คือ มีผู้นำเดี่ยว ( a single leader) โดยประชาชนจะเลือก ประธานาธิบดีให้มาเป็นฝ่ายบริหาร โดยมีความรับผิดชอบที่ชัดเจน และความรับผิดชอบในการบริหารจะอยู่ที่ประธานาธิบดีเพียงคนเดียว และประการที่สอง รัฐสภา (สภาผู้แทน และสภาสูง) ซึ่งเป็นองค์กรควบคุมและกำกับการใช้อำนาจบริหารของประธานาธิบดีจะมีความหลากหลาย (แม้ว่า ขณะนี้ สหรัฐอเมริกาจะมีพรรคการเมืองเพียง ๒ พรรคใหญ่ แต่สมาชิกของพรรคการเมืองของเขามีความอิสระจากพรรคการเมือง) ; สถาบันทั้งสองส่วนนี้ จะแยกการเลือกตั้ง(ที่มา)ออกจากกันเป็น ๒ ขั้ว ถ่วงดุลซึ่งกันและกัน
เมื่อสักครู่ ผมเรียนไว้แล้วว่า ในเมืองไทยนั้น องค์กรที่มีอำนาจสูงสุด (super organ) ตามรัฐธรรมนูญของไทย คือ พรรคการเมือง และ สิ่งที่เขียนอยู่ในตัวบทรัฐธรรมนูญที่ว่า ฝ่ายบริหารคือรัฐบาล และฝ่ายนิติบัญญํติ คือสภา เป็นสถาบันการเมือง ๒ สถาบันที่ใช้อำนาจรัฐสูงสุดของรัฐ ถ่วงดุลซึ่งกันและกันนั้น ไม่ตรงกับความเป็นจริง reality ; เพราะรัฐธรรมนูญของเราบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค และเราใช้ ระบบรัฐสภา ไม่ใช่ ระบบประธานาธิบดี ; ในระบบรัฐสภาของเรานั้น พรรคการเมือง ที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร(ไม่ว่าจะเป็นพรรคเดียวหรือจับกลุ่มกัน) เป็นรัฐบาล ดังนั้น รัฐบาลและสภาจึงเป็นขั้วเดียวกัน ไม่มีการถ่วงดถลกัน ; แต่ท่านคณาจารย์ทั้งหลายของเราก็ยังสอนนักศึกษาของเราอย่างผิด ๆ ว่า ระบบการเมืองของเรามี ดุลยภาพแห่งอำนาจ ขององค์กรนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ; ดังนั้น เมื่อแปรียบทียบ ระบบรัฐสภาของเรา กับระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาแล้ว จะเห็นความแตกต่างที่ชัดเจน เพราะในระบบประธานาธิบดีของเขา มีการถ่วงดุลอำนาจกันอย่างแท้จริง เพราะมีการแยกขั้วระหว่างประธานาธิบดีกับรัฐสภา
รูปแบบ Form of Government แบบที่สอง ได้แก่ ระบบสถาบันการเมืองของประเทศสังคมนิยม หรือระบบพรรคเดียว - one party system ; ในระบบนี้ องค์กรที่เป็น องค์กรที่มีอำนาจสูงสุด (super organ)ของรัฐ จะอยู่นอกบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ เพราะว่า โดยหลักการ ในรัฐธรรมนูญของเขา เขาไม่ได้เขียนว่าเขาจะมีพรรคการเมืองพรรคเดียว กล่าวคือ ในรัฐธรรมนูญของเขาเขียนแต่เพียงว่า ผู้ที่จะมาเข้าบริหารประเทศได้จะต้องมีอาชีพอยู่ ๓ อาชีพเท่านั้น คือ (๑) เกษตรกร (๒) แรงงาน และ(๓) อาจารย์ intellectual และเขาก็ไปจัดตั้งพรรคการเมืองของ ๓ อาชีพนี้ขึ้น ซึ่ง นายทุนไม่มีโอกาสจะเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนี้
ดังนั้น เราจะเห็นว่าในระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวอย่างระบบพรรคการเมืองของจีนนั้น พรรคการเมือง คือ กลไกการคัดกรอง (screen) คนที่ดี ที่เขาจำกัดไว้เฉพาะ ๓ อาชีพ และส่ง คนที่ดี ที่พรรคการเมืองของเขาคัดกรองแล้ว ให้เข้าไปดำรงตำแหน่งบริหารประเทศตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่ง ประธานาธิบดี หรือนายกรัฐมนตรี หรือประธานคณะกรรมาธิการทหาร หรือตำแหน่งอื่น ๆ
เพราะฉะนั้น กลไกในบทบัญญํติในรัฐธรรมนูญ (ของจีน) ก็เขียนไว้เท่าที่เขียน เพื่อให้เป็นโครงสร้างของการบริหารประเทศ แต่ความสำคัญจะอยู่ที่ คนที่ดีที่เขาคัดกรองให้เข้ามาดำรงตำแหน่ง โดยบุคคลเหล่านี้ จะต้องพิสูจน์ความเสียสละให้แก่ส่วนรวมมาแล้ว ซึ่งผมคิดว่าท่านผู้ฟังคงจะพอทราบแล้ว ; ผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กว่าที่จะมาเป็นเลขาธิการพรรคได้นั้น จะถูกคัดกรองขึ้นมาตามลำดับ ตั้งแต่ระดับตำบล หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด เขาคัดกรองกันมานาน และก่อนที่จะได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งสูงสุดในพรรค ก็จะมีการทดสอบในตำแหน่งระดับสูงและเปรียบเทียบกันเองสองสามคนอยู่อีกระยะหนึ่งประมาณ ๔ ๕ ปี ; ไม่ใช่นักธุรกิจนายทุนหรือใครก็ได้ ที่มีเงินใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ช่วยจ่ายเงินให้พรรคพวก(รวมทั้งนักวิชาการด้วย) แล้วก็มาเป็นหัวหน้าพรรคและมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เหมือนประเทศไทย
จริงอยู่ บางคนอาจบอกว่า ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวของประเทศคอมมิวนิสต์ ไม่ใช่ ระบอบประชาธิปไตย เพราะว่า นายทุน เป็นสมาชิกพรรคไม่ได้ แต่ระบบพรรคการเมืองพรรคเดียวของประเทศคอมมิวนิสต์ ก็เป็นระบบที่คัดกรองให้ คนดี ได้เข้ามาปกครองบ้านเมือง
Form of Government รูปแบบสุดท้าย ก็คือ ระบบรัฐสภา ซึ่งเป็นระบบที่มีปัญหาและมีจุดอ่อนมากที่สุด ; ผมจะพูดถึง ระบบรัฐสภา ตามที่สอนกันอยู่ในตำราของมหาวิทยาลัยของเราและตามที่ท่านผู้ฟังได้เรียนมา ก่อน และค่อยไปรู้จักกับ ระบบรัฐสภาที่อยู่ในตำราของต่างประเทศ ; อาจารย์ของเราสอนไว้ว่า ในระบบรัฐสภานั้น สภาผู้แทนราษฎร จะต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญ ๒ -๓ ข้อ ข้อที่หนึ่ง คือ นายกรัฐมนตรี และ คณะรัฐมนตรีจะต้องมาจาก เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร และข้อที่สอง คือ ประมุขของรัฐ พระมหากษัตริย์(หรือประธานาธิบดี) อยู่เหนือการเมือง ไม่อยู่ในฐานะที่จะใช้อำนาจได้ด้วยพระองค์เอง
ถ้าท่านจะ พิจารณาระบบรัฐสภาและคิดดูให้ดี ๆ และนาน ๆ แล้ว ท่านก็จะพบว่า ใน ระบบรัฐสภาที่กำหนดว่า รัฐบาลต้องมาจาก เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะทำให้ ประสิทธิภาพของการบริหารประเทศ(โดยสถาบันการเมือง) ของประเทศ (ที่ใช้ระบบรัฐสภา) แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมว่า ในประเทศนั้น มีพรรคการเมืองจำนวนมากพรรคหรือน้อยพรรค ; ถ้ามากพรรค ก็จะแย่งกันจับขั้วกันเข้ามาเป็นรัฐบาล รัฐบาลก็จะไม่มีเสถียรภาพ ; ถ้าน้อยพรรค รัฐบาลก็จะเป็นเผด็จการโดยพรรคการเมือง ถ้าพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร(ไม่ว่าเป็นพรรคเดียวหรือหลายพรรคจับกลุ่มกัน) เป็นรัฐบาล และ ในกรณีนี้ กลไกการถ่วงดุลระหว่างรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎร จะไม่มี ; ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศที่ใช้ ระบบรัฐสภาและสามารถดำรงอยู่ได้ (ด้วยดี) จะขึ้นอยู่กับระบบการปกครองท้องถิ่นที่เป็นพื้นฐานของสังคมมาโดยประวัติศาสตร์ และระบบการบริหารราชการที่เป็นงานประจำที่ได้รับการพัฒนาได้ทันเวลา ; และด้วยเหตุนี้ ระบบรัฐสภา จึง(เกือบ)จะไม่มีประเทศที่เกิดขึ้นใหม่ในระยะหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เอามาใช้
ทั้งนี้ โดยผมยังไม่พูดถึง ประเทศที่ใช้ ระบบรัฐสภา ที่มีการบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง และให้พรรคการเมืองมีอำนาจไห้ ส.ส.พ้นจากตำแหน่ง ส.ส.ได้ ที่มีเพียงประเทศเดียวในโลก คือ รัฐธรรมนูญของประเทศไทย ซึ่งจะกลายเป็น ระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) อย่างแน่นอน
คราวนี้ เราลองมาดู ระบบรัฐสภา ที่อยู่ตำรารัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ดูบ้าง ; ระบบรัฐสภาจะมีประวัติและความเป็นมา มากกว่าที่สอนกันอยู่ในมหาวิทยาลัยของไทย ; ระบบรัฐสภา เกิดขึ้นในยุโรป ต่อเนื่องกับระบบที่กษัตริย์มีพระราชอำนาจบริหารประเทศโดยสิทธิขาด (ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช) แยกได้เป็น ๓ ระยะ
ในระยะแรก ราว ๆ ศตวรรษที่ ๑๘ (สมัยมองเตสกีเออ ที่เราท่องจำกันมา) และในศตวรรษที่ ๑๙ ระบบรัฐสภาในยุคนั้น กษัตริย์จะเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารโดยตรง และกษัตริย์จะแต่งตั้งให้ผู้ใดเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นรัฐมนตรีได้ตามแต่พระราชอัธยาศัย และ สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นองค์กรที่มีอำนาจในทางนิติบัญญัติ ; ดังนั้น ระบบรัฐสภาในยุคแรก จึงมีการแบ่งแยกการใช้อำนาจ โดยกษัตริย์จะผู้ใช้อำนาจบริหารที่แท้จริง ไม่ใช่ให้ กษัตริย์ อยู่เหนือการเมือง ตามที่เราสอนกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ ; และถ้าท่านจะพิจารณาทบทวนให้ดี ท่านก็จะพบว่า ระบบประธานาธิบดี ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาในปลายศตวรรษที่ ๑๘ (ค.ศ. ๑๗๘๗) นั้น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกา ก็ได้เอาแบบอย่างไปจาก ระบบรัฐสภาในยุคนั้นนั่นเอง คือ ใช้หลักการการแบ่งแยกอำนาจ โดยกำหนดให้ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นผู้ใช้อำนาจบริหารแทนพระมหากษัตริย์
ระบบรัฐสภาในระยะที่ ๒ จะอยู่ราว ๆ ต้นศตวรรษที่ ๒๐ ระบบรัฐสภาในยุคนี้ จะไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ แต่จะเป็นระบบรัฐสภา ที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผูกขาดอำนาจทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและเป็นรัฐบาล ทั้งนี้ เนื่องจากกษัตริย์ได้ลดการใช้พระราชอำนาจของพระองค์ลงตามวิวัฒนาการของสภาพสังคม และสภาผู้แทนราษฎรได้เอาสมาชิกของตนเองมาเป็นรัฐบาลโดยอาศัยเสียงข้างมากเลือกนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ดังนั้น ในระยะนี้ จะเห็นได้ว่า ระบบรัฐสภาเป็นระบบที่ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ ; และ การบริหารประเทศใน ระบบรัฐสภาในระยะที่สองนี้ จึงมี จุดอ่อน และทำให้ประสิทธิภาพของการบริหารประเทศ ขึ้นอยู่กับ สภาพสังคมของแต่ละประเทศ ตามที่กล่าวมาแล้ว
ถ้าเราจะศึกษาประวัติศาสตร์ เราก็จะพบว่า เพราะ จุดอ่อนของระบบรัฐสภาและการไม่มีการถ่วงดุลหรือการแบ่งแยกอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัตินี้เอง ที่ ทำให้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ กล่าวคือ ในประเทศเยอรมันนี ฮิตเล่อร์ได้ปลุกปั่นประชาชนและใช้ พรรคการเมืองและ ระบบรัฐสภา เป็นเครื่องมือ จนกระทั่งพรรคการเมืองของตนได้เป็นพรรคที่มีเสียงมากที่สุดในสภาผู้แทนราษฎร และทำให้ฮิตเล่อรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี และฮิตเล่อรได้ใช้อำนาจเผด็จการในระบบรัฐสภา สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศเยอรมันนี และขยายอำนาจจนเกิดเป็นสงความโลกครั้งที่สองขึ้น ; [หมายเหตุ ซึ่งดูจะเหมือน ๆกับ อดีตนายกทักษิณ ที่ใช้ พรรคการเมือง ในระบบเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ในระบบรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญของไทย (ฉบับเดียวในโลก ) และอาศัยการเลือกตั้ง(ในสภาพสังคมไทยที่อ่อนแอ) เพื่อเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐนั่นเอง แตกต่างกันเพียงแต่ว่า อดีตนายกทักษิณใช้ประโยชน์จากการ ผูกขาดอำนาจรัฐ ไปในทางแสวงหาความร่ำรวยให้กับตนเอง ]
แต่ในทางตรงกันข้าม ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ ระบบรัฐสภา เช่นเดียวกัน แต่ประเทศฝรั่งเศสไม่มีนักการเมืองแบบฮิตเล่อร นักการเมืองในปร ะเทศฝรั่งเศส ต่างแก่งแย่งกันเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ทำให้รัฐบาลของประเทศฝรั่งเศสไม่มีเสถียรภาพ ; ผลของการบริหารประเทศใน ระบบรัฐสภาใน ๒ ประเทศนี้ จึงแตกต่างกันขาวกับดำ ประเทศเยอรมันกลายเป็นประเทศเผด็จการ ที่รัฐบาลมีความเข้มแข็ง แต่ประเทศฝรั่งเศส นักการเมืองต่างแย่งกันเป็นรัฐบาล จนประเทศอ่อนแอ
ระบบรัฐสภาในระยะที่ ๓ ; หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ระบบรัฐสภา ถูก statesman และนักวิชาการปรับเปลี่ยนกลไก จนมาเป็นระบบที่ทางวิชาการเรียกว่า rationalized system ซึ่งมีลักษณะเป็นระบบผสม hybrid ระหว่างระบบประธานาธิบดี กับ ระบบรัฐสภาแบบดั้งเดิม ; ผมคงไม่เวลาที่จะบอกรายละเอียดว่าระบบผสมนี้เป็นอย่างไร แต่ขอบอกสั้น ๆ ว่า เป็นการปรับเปลี่ยนระบบรัฐสภาแบบเดิม ๆ เพื่อให้เกิดภาวะผู้นำเดี่ยว ( a single leader)ขึ้น โดยประเทศฝรั่งเศสได้เพิ่มอำนาจของประธานาธิบดี ( ในฐานะ ประมุขของรัฐ) ให้มีอำนาจในการบริหารโดยตรง โดยยังคงให้มีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ตามระบบรัฐสภา และทำให้ วาระการดำรงตำแหน่ง ของประธานาธิบดี กับของนายกรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎร มีความเหลื่อมกัน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลซึ่งกันและกัน และรูปแบบของ ระบบรัฐสภา ที่เป็น rationalized system นี้ ได้กลายเป็นระบบที่ใช้กันอยู่อย่างกว้างขวางในประเทศต่าง ๆ ในขณะนี้
ผมอยากจะเรียนว่า สิ่งที่ผมพูดในวันนี้ ไม่มีอยู่ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศไทย สิ่งที่อยู่ในตำรา ของไทย ก็คือ หลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย ออกเป็น ๓ อำนาจ ของ Montesquieu ซึ่ง Montesquieu ได้ตายไปแล้วตั้งแต่ ศตวรรษที่ ๑๘ (ค.ศ. ๑๗๕๕) ; เราจะเห็นว่า ในบรรดา รูปแบบ Form of Government ๓ รูปแบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ระบบที่อ่อนแอที่สุด ก็คือ ระบบรัฐสภา และ ระบบรัฐสภา แบบเดิม ๆ ก็ได้มีการปรับเปลี่ยนไปแล้ว กว่า ๖๐ ปี หรือกว่าครึ่งศตวรรษ แต่ความรู้เหล่านี้ยังไม่มีอยู่ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ให้นักศึกษาและนักกฎหมายของเราได้เรียนรู้ และ นี่คือ จุดอีกจุดหนึ่ง ที่ผมขอพูดว่า เป็นความล้มเหลวในการเรียนการสอนในอุดมศึกษาของเรา
ขณะนี้ ผมคิดว่า ท่านผู้ฟัง คงพอทราบแล้วว่า Form of Government คือ อะไร มีความสำคัญอย่างไร ผมไม่ทราบว่า ท่านมี ความรู้มาก่อนหรือไม่ แต่ขอให้ท่านประเมินตนเอง และ ลองคิดดูว่า นักวิชาการไทยของเราขณะนี้ มี ความรู้ มากน้อยเพียงใด และพอที่จะออกแบบรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นการปฏิรูปการเมืองให้คนไทยหรือไม่ ซึ่งท่านคงต้องคิดตอบด้วยตัวท่านเอง
ต่อไปนี้ เป็นคำถามสุดท้าย คำถาม มีว่า เมื่อท่านได้ยินนักวิชาการคนหนึ่งพูดว่า ถ้าเราไม่บังคับให้ สส.สังกัดพรรคการเมืองแล้ว เราก็จะมีรัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ เหมือนอย่างในอดีตที่ผ่านมา คือ รัฐบาลต้องแจกซองเพื่อให้ ส.ส. ยกมือให้ มีคำถามว่า ท่านคิดว่าคำพูดของนักวิชาการนี้ จริงหรือไม่จริง เชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้
คำถามนี้ตอบได้ไม่ยาก ; เพื่อที่จะการตอบคำถามนี้ ผมจะลองตั้งคำถามท่าน โดยเรียงตามลำดับดังนี้ คำถามแรก มีว่า ท่านคิดว่า ในโลกนี้ มีรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นที่ไม่มีการบังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค แต่รัฐบาลของเขามีเสถียรภาพ มีหรือไม่มี ; เมื่อสักครู่ผมได้เรียนให้ท่านทราบแล้วว่า รัฐธรรมนูญฯของเราที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง ฯ เป็นรัฐธรรมนูญประเทศเดียวในโลก และดังนั้น คำตอบก็เป็นที่แน่นอนว่า ในโลกนี้ ย่อมต้องมีประเทศอื่นที่รัฐธรรมนูญของเขาไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค แต่รัฐบาลของเขาก็ยังมีเสถียรภาพ ; และถ้าจะถามต่อไปว่า ในประเทศเหล่านั้น ทำไมรัฐบาลของเขาจึงมีเสถียรภาพได้ นักวิชาการของเราจะตอบได้หรือไม่
ดังนั้น การที่นักวิชาการคนใดกล่าวว่า ถ้าไม่บังคับ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง รัฐบาลก็จะไม่มีเสถียรภาพ ก็ย่อมแสดงว่า นักวิชาการคนนั้นไม่มี ความรู้ พอที่จะบอกได้ว่า ทำไมประเทศอื่น เขาจึงสร้างเสถียรภาพของรัฐบาลได้ โดยไม่ต้องบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค ; ผมขอเรียนว่า มีหลาย ๆ ด้านที่สามารถสร้างเสถียรภาพให้แก่รัฐบาลได้ แต่ในที่นี้ ผมยังไม่พูดว่าทำอย่างไร ถ้าหากท่านไปดูบทความหมายเลข ๒ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ท่านก็พอจะเห็นแนวทางการแก้รัฐธรรมนูญได้
เมื่อท่านได้ฟังผมมาถึงช่วงนี้แล้ว ฟังคำถามและตอบคำถามด้วยตัวท่านเอง ผมคิดว่า ท่านคงประเมินได้ว่า ประเทศไทยขาด ความรู้ หรือไม่ เพราะก่อนที่จะคิด ออกแบบ ระบบสถาบันการเมืองในการปฏิรูปการเมืองหรือมีการเมืองใหม่นั้น นักวิชาการของเราจำต้องมีความรู้พื้นฐานมาก่อน ; ใน ปี ๒๕๕๐ ขณะที่เรายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันของเรา นักวิชาการที่ดีที่สุดของไทยในสภาร่างรัฐธรรมนูญและในคณะ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครแม้แต่คนเดียว ที่พูดถึง Form of Government และ นี่คือ ความล้มเหลวของการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาของเรา ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราพูดกันในวันนี้
ศ.ระพี สาคริก
ท่านอาจารย์ได้ลงเอยด้วยจุดที่เป็นหัวใจสำคัญมาก ๆ ผมตอนนี้ก็ ๘๗ ปีแล้ว ตอนปี ๒๔๗๕ ผมอายุ ๑๐ ปี ผมรู้อะไรมากมาย แล้วผมเอามาเขียนไว้หลายเรื่อง มีบทความอยู่เรื่องหนึ่งซึ่งเขียนว่า ชนักปักติดหลังการเมืองไทย ใครจะถอนออก เรื่องที่ท่านอาจารย์พูดมาทั้งหมดนี้ เป็นปมที่ผมคิดว่ามีคุณค่ามาก ๆ เลย แล้วเราในฐานะที่เป็นองค์กรหนึ่งซึ่งจะเรียกว่าเป็นสภาของนักวิชาการก็ได้ ถ้าหากว่าเอาตรงนี้มาพยายามแกะออกดึงออกมาทีละปม สองปม ผมว่าหน้าที่ของสภาฯ ตรงนี้มีมากเลย ถ้าเรารู้สึกว่าท้าทายที่เราจะทำ
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
ต่อไปนี้ ผมจะพูดถึง สาเหตุประการสอง คือ ประเทศไทย ขาด statesman ; ผมขออนุญาตว่า ผมคงไม่ย้อนไปกล่าวถึงว่า ทำไมสภาพการเมืองของไทย ถึงเป็นเช่นนี้ในขณะนี้ คือ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ จนถึงปัจจุบัน นักวิชาการและนักการเมืองของเรา (ไม่ว่าจะมาจากการปฏิวัติหรือการเลือกตั้ง) ได้ทำหรือไม่ได้ทำอะไรกันบ้าง ประเทศไทยจึงเสื่อมมาจนถึง จุดที่มีเหตุการณ์และคนไทยแตกแยกเป็นฝักเป็นฝ่าย ดังเช่นในขณะนี้ ; ผมคิดว่า เรามาพิจารณาดูเฉพาะปัญหาในช่วงระยะเวลาปัจจุบัน คือ ตั้งแต่ปลายธันวาคม ปีก่อน(พ.ศ. ๒๕๕๑) จนถึงเมษายนปีนี้ เป็นระยะเวลา ๔ เดือน เพื่อดูซิว่า รัฐบาลซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศและท่านนายกรัฐมนตรีของเรา ในปัจจุบัน มีคุณลักษณะที่จะเป็นหรือใกล้จะเป็น statesman ที่จะแก้ไขปัญหาการเมืองให้คนไทย ได้หรือไม่
โดยผมจะเอาเหตุการณ์ ใน ปัจจุบัน มาเป็น ตัวอย่างให้ท่านพิจารณาดู โดยจะแยกเป็น ๒ เรื่อง คือ เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศทั่ว ๆไปของรัฐบาล เรื่องหนึ่ง กับ เหตุการณ์ที่เกี่ยวกับความคิดเห็นของรัฐบาลในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการปฏิรูปการเมือง อีกเรื่องหนึ่ง
สำหรับ เหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับการบริหารประเทศทั่ว ๆ ไป ที่ผ่านมา ๔ เดือน เท่าที่ผมรวบรวมมาและจำได้ ก็จะมีดังต่อไปนี้ โดยผมจะขอพูดอย่างสั้น ๆ
- รัฐบาลปัจจุบัน ใช้นโยบายประชานิยม (populism) ลดแลกแจกแถม รวมทั้งการแจกเช็คช่วยชาติให้แก่ผู้ที่มีรายได้น้อย คนละ ๒๐๐๐ บาท ซึ่งก็ดูจะเหมือน ๆ กับรัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นที่สังเกตว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้พูดถึงการรั่วไหลของเงินงบประมาณ ว่าจะป้องกันได้อย่างไร
- รัฐบาลปัจจุบัน เป็นรัฐบาลไม่กี่วัน ก็มีเรื่องทุจริตเรื่องปลากระป๋องเน่าในถุงยังชีพที่แจกให้แก่ประชาชน นมที่ให้เด็กนักเรียนในโรงเรียนดื่ม เป็นนมด้อยคุณภาพ รัฐมนตรีการนำเงินแผ่นดินไปแจกให้แก่ประชาชนในลักษณะเป็นส่วนตัว โดยแนบนามบัตรของตนเอง และเป็นที่สังเกตว่า รัฐบาลไม่ได้สนใจที่จะแสวงหาตัวบุคคลที่ทำการทุจริต เมื่อรัฐมนตรีลาออกไปแล้ว เรื่องก็เงียบไป ไม่มีการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบให้เป็นกิจลักษณะ
- รัฐบาลนี้ มีโครงการเช่ารถเมล์ ๔,๐๐๐ - ๖,๐๐๐ คัน แต่เป็นที่สังเกตว่า รัฐบาลไม่ได้พิจาณาว่า ระบบการประมูลมีข้อบกพร่องหรือไม่ และมีการรั่วไหลได้อย่างไร เพราะเหตุใด จึงมีราคาแพงจนผิดปกติ
- รัฐบาลรับจำนำและรับซื้อผลิตผลการเกษตรหลายอย่างเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งก็เป็นการดำเนินการแบบเดิม ๆ ทั้ง ๆ ที่คดีคอรับชั่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ยังค้างอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เป็นที่สังเกตว่า รัฐบาลไม่ได้คิดที่จะปรับปรุงวิธีการให้มีความโปร่งใส และป้องกันการหาประโยชน์ให้แก่พรรคพวกของนักการเมือง
- รัฐบาลโยกย้ายข้าราชการหลายตำแหน่ง ไม่ว่ากระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และตำรวจ แต่เป็นที่สังเกตว่า รัฐบาลปัจจุบันก็ใช้อำนาจเหมือน ๆ รัฐบาลในอดีต โดยไม่คิดที่จะวางหลักเกณฑ์และปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารข้าราชการให้เกิดความเป็นธรรม นอกจากนั้น รัฐบาลก็ได้สับเปลี่ยน กรรมการในรัฐวิสาหกิจ ในลักษณะที่เป็น Spoils system เหมือน ๆ กับ รัฐบาล เดิม ๆ
คำถามในเรื่องของการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีปัจจุบัน มีว่า เหตุการณ์เท่าที่ผ่านมาเกือบ ๔ เดือนนี้ ท่านผู้ฟังคิดว่า รัฐบาลปัจจุบันกำลังบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หรือกำลังหาช่องโอกาสเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว
คำพูดของรัฐบาลและของนายกรัฐมนตรีของเราทั้งในอดีตและปัจจุบัน ก็ดูจะพูดเหมือน ๆ กัน คือ รัฐบาลทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม รัฐบาลทำเพื่อประชาชน รัฐบาลทำเพื่อคนยากจน ; และเมื่อรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ถูกซักถามในปัญหาต่าง ๆ รัฐบาลและท่านนายกรัฐมนตรีในปัจจุบันของเรา ก็จะพูดว่า ทุกอย่างต้องเป็นไปตาม กฎหมาย ซึ่งก็ดูจะเหมือนกับรัฐบาลก่อนและอดีตนายกรัฐมนตรีที่ผ่าน ๆ มา
คราวนี้ สำหรับ เหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือการปฏิรูปการเมือง ก็จะปรากฎว่า ในระยะที่เข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ ๆ ในต้นปี พ.ศ. ๒๕๕๒ รัฐบาลและ ท่านนายกรัฐมนตรีไม่ได้ให้ความสนใจกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมืองแต่อย่างใด และได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่าจะแก้ไขปัญหาประเทศเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ และ เพิ่งจะปรากฎในระยะหลังเมื่อไม่นานมานี้เอง คือ เมื่อกลุ่มเสื้อแดงเริ่มก่อตัวที่จะมีการชุมนุมใหญ่ ท่านนายกรัฐมนตรีจึงได้กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า จะมอบให้คนที่เป็นกลาง เช่น สถาบันพระปกเกล้า มาช่วยพิจารณาว่า จะแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง โดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง และรัฐบาลจะขอให้ทุกคนทุกฝ่าย รวมทั้งพรรคการเมืองทุกพรรคมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ใครต้องการแก้ไขอะไร เอามาวางไว้บนโต๊ะ แล้วมาพิจารณากัน ฯลฯ
ในประเด็นนี้ ผมไม่มีข้อเท็จจริงอื่นจะเพิ่มเติม เพราะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีกล่าวไว้เพียงเท่านี้ และผมขอตั้งคำถาม ๓ คำถาม เพื่อให้ท่านลองตอบคำถาม เรียงตามลำดับ ดังนี้
คำถามแรก มีว่า ท่านคิดว่า โดยพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ ผู้ที่จะต้องเสียประโยชน์จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้ตนเองได้เข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ผู้นั้นจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจะทำให้ตนเอง(อาจ)ต้องหมดอำนาจ หรือไม่ ;
คำถามที่สอง มีว่า ท่านคิดว่า บุคคลในรัฐบาลและท่านนายกรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ ทราบหรือไม่ทราบว่า โดยพฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์ คนส่วนใหญ่ย่อมเห็นแก่ตัว และรักษาประโยชน์และอำนาจของตน
และ คำถามสุดท้าย เป็นคำถามที่สาม มีว่า ถ้าท่านคิดว่า บุคคลในรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ ได้ทราบหรือควรทราบอยู่แล้วว่า พฤติกรรมของมนุษย์เป็นอย่างไร
การที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ กล่าวว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมือง จะมอบให้คนกลางมาดำเนินการโดยรัฐบาลจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง และขอให้พรรคการเมืองทุกพรรคและนักการเมือง มาช่วยกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ ท่านคิดว่า บุคคลในรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีที่ใช้อำนาจรัฐอยู่ปัจจุบันนี้ มี ความในใจ ที่ต้องการจะให้มีการปฏิรูปการเมือง หรือไม่
เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เพราะเป็นการวิเคราะห์สภาพของสังคมไทย คำถามข้างต้นเหล่านี้ ผมขอให้ท่านผู้ฟัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความรู้สูงสุดของคนไทย ๖๔ ล้านคน ตอบคำถามด้วยตัวท่านเอง เพื่อประเมินว่า ประเทศไทย ขาดความรู้ และ ประเทศไทยขาด statesman หรือไม่ และคำตอบก็เป็นคำตอบส่วนตัวของท่านแต่ละท่าน
สำหรับผม ผมมีความรู้สึกว่า สภาพการเมืองของประเทศไทยในขณะนี้ ดูเหมือนว่า เราจะมีนักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)อยู่ ๓-๔ กลุ่ม ต่างแย่งกันและสลับขั้วจับกลุ่มกัน เพื่อให้ได้เป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และเข้ามาเป็นรัฐบาล(ในระบบรัฐสภา) ภายไต้ชื่อพรรคการเมืองต่าง ๆ กัน ซึ่งแต่ละกลุ่มก็จะเปลึ่ยนชื่อพรรคฯ ไปตามโอกาส แต่ไม่ว่าพรรคการเมืองของเราจะมี ชื่อเรียกว่าอย่างไร แต่กลุ่มนักการเมืองของเราก็(เกือบ)จะไม่เปลี่ยนแปลง เราคงพบกลุ่มนักการเมืองเดิม ๆ ลูกเมียพี่น้องนามสกุลเดิม ๆ และพรรคพวกเดิม ๆ ที่ร่วมกันลงทุนตั้งพรรคการเมืองและเข้ามาผูกขาดอำนาจรัฐ ภายไต้ ระบบเผด็จการ โดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญของประเทศไทย (ประเทศเดียวในโลก)
ต่อไปนี้ มาถึง ส่วนที่ ๒ที่ผมจะพูดในวันนี้ คือ คนไทย จะหา ทางออก จากปัญหาการเมือง ได้อย่างไร ; ขณะนี้ ท่านผู้ฟังทราบแล้วว่า ประการแรก เรามี ความรู้ (หรือไม่) และประการที่สอง เรามี statesman ที่จะมาช่วยเรา (หรือไม่) ; ต่อไป เราลองมาพิจารณาดูว่า ถ้า คนไทยที่จะต้องหา ทางออกเอาเอง จะหา ทางออก ได้อย่างไร
โดยปกติ เวลาผมไปบรรยายในที่ต่าง ๆ ผมจะมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งที่ผมจะขอให้ท่านผู้ฟังตอบ เพื่อจะได้ทราบ วิธีคิดของท่านผู้ฟังว่ามีความลึกเพียงใด แต่วันนี้ ผมไม่มีเวลาถามท่านผู้ฟังในห้องนี้ เพราะเราใช้เวลามามากแล้ว แต่ผมจะขอเรียนให้ท่านผู้ฟังทราบคำถามและเฉลยคำตอบไปพร้อมกัน คำถามนั้น ก็คือ ถามว่า ท่านผู้ฟังคิดว่า ระบบ สำคัญกว่าคน หรือ คนสำคัญกว่าระบบ ; และ คำเฉลย ก็คือ ไม่ว่าท่านจะตอบว่า ระบบสำคัญกว่าคน หรือ คนสำคัญกว่าระบบ ท่านผู้ฟังก็จะตอบผิดด้วยกันทั้งหมด
เพราะในความเป็นจริง เราต้องการ คน(ดี) มาสร้างระบบ เพื่อให้ระบบควบคุม คน(ไม่ดี) ดังนั้น ระบบสำคัญกว่าคน ถ้า คน ในที่นี้ หมายถึงคนไม่ดี เพราะสังคมต้องการระบบเพื่อควบคุมคน(ไม่ดี) ; และในทางกลับกัน คนจะสำคัญกว่าระบบ ถ้า คน ในที่นี้ หมายถึงคนดี เพราะสังคมต้องการคน(ดี) มาสร้างระบบ ; คำตอบที่ถูกต้อง ของคำถามทั้งสอง จึงต้องเป็นคำตอบที่มี เงื่อนไข ที่อยู่ที่ความหมายของ คำว่า คน และจะไม่สามารถตอบให้ถูกได้ ถ้าไม่พิจารณาไปถึงคุณลักษณะของ คน ว่าเป็นคนดีหรือคนไม่ดี ซึ่งเป็น ความลึก ของวิธีคิด
ฉันใดก็ฉันนั้น ในการปฏิรูปการเมืองก็เช่นเดียวกัน คนไทยต้องการ คน(ดี) มาทำการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี มาควบคุมพฤติกรรมของ คน(ไม่ดี) ; ในการปฏิรูปการเมือง คำว่า คน(เฉย ๆ) จึงไม่มีความหมายอย่างใด จนกว่าท่านผู้ฟังจะหาวิธีการที่ทำให้สามารถทราบได้ว่า คนที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐ เป็นคน(ดี) หรือคน(ไม่ดี) และเราต้องการ statesman (คนดี) มาช่วยเราปฏิรูปการเมือง เพื่อควบคุมคน(ไม่ดี)
เมื่อสักครู่ ผมได้เรียนให้ทราบแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ควรมีแนวทางอย่างไร แต่ผมยังไม่ได้เรียนให้ท่านทราบว่า แล้วรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
ก่อนที่เราจะทราบว่า รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เราจำเป็นต้องทราบว่า เรามีเงื่อนไขที่เป็น สิ่งกำหนดให้ ที่อยู่นอกเหนืออำนาจของเราที่จะแก้ได้ (คือเราจำเป็นต้องยอมรับ) อยู่ ๒ ประการ ประการแรก เป็น ความเป็นจริงในด้านสังคมวิทยา คือ ผู้ที่เสียประโยชน์ซึ่งได้แก่นักการเมืองนายทุนธุรกิจที่จะต้องเสียอำนาจ เพราะการปฏิรูปการเมือง ย่อมไม่ต้องการปฏิรูปการเมือง ประการที่สอง เป็น ความเป็นจริงในด้านเทคนิคของการร่างกฎหมาย คือ การบริหารประเทศจะมีกลไกที่สลับซับซ้อนและมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับที่จะตั้งใจจะให้เป็นการปฏิรูปการเมืองนั้น จะปฏิรูปการเมืองและแก้ปัญหาประเทศได้จริงหรือไม่ จึงไม่มีผู้ใดบอกล่วงหน้าได้ จนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะยกร่างเสร็จ และสามารถอธิบายได้ด้วยตรรกและเหตุผล ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่สามารถแก้ปัญหาการเมืองของประเทศได้
จากหลักเกณฑ์พื้นฐานความเป็นจริงที่เป็น สิ่งที่กำหนดให้ ๒ ประการนี้ เราก็มาดูว่า ถ้าเราจะปฏิรูปการเมือง เราจะต้องทำอะไรบ้าง ; ผมคิดว่า ถ้าเรา(คนไทย) ต้องการให้ การปฎิรูปการเมือง หรือ การมีการเมืองใหม่ ประสบความสำเร็จ เราจะต้องพิจารณา ออกเป็น ๒ ขั้นตอน
คือ ขั้นตอนเรก เรา(คนไทย)ต้องตั้ง ปัญหา ถามตัวเอง ว่า เราจะได้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฎิรูปการเมือง (ที่สามารถแก้ ปัญหาการเมืองของประเทศไทยได้ ) นี้ มาจากไหน ใครจะเป็นผู้ เขียนหรือยกร่างรัฐธรรมนูญนี้ให้เรา ในเมื่อเราไม่มี statesman มาช่วยเรา ; คำตอบง่าย ๆ ตามสามัญสำนึก ก็คือ เราก็ต้องตั้ง องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้น และเราต้องรู้ว่า ร่างรัฐธรรมนูญ(ฉบับปฏิรูปการเมือง)ที่ดี ย่อมมาจากองค์กรที่ดี โดยมีวิธีการร่างที่ดี ; ถ้าจะพูดให้เป็นหลักเกณฑ์ทางวิชาการ ก็คือ เราจะต้องจัดตั้ง องค์กรขึ้นมา เพื่อ ให้ทำหน้าที่ยกร่าง(ออกแบบ)รัฐธรรมนูญฉบับปฎิรูปการเมือง โดยองค์กรนี้จะต้องมี องค์ประกอบที่มีความเชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ และเป็นกลาง ไม่มีการขัดแย้งในผลประโยชน์ ซึ่งทำให้คาดหมายได้ว่า องค์กรนี้จะสามารถออกแบบรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)ได้ อีกทั้งองค์กรนี้ จะต้องมี กระบวนการ - process ยกร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องและเหมาะสม ทั้งในด้านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน(การมีส่วนร่วมของประชาชน) และในด้านการตัดสินใจในการออกแบบ (การกำหนดกลไกการบริหาร) ที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลในทางวิชาการ เพื่อประโยชน์ส่วนรวม - public interest ซึ่งเป็นจุดหมาย ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ; ขั้นตอนที่สอง คือ เมื่อเราได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองมาแล้ว ปัญหามีว่า เรา(คนไทย) จะให้สถาบันใดหรือองค์กรใด ที่จะให้ ความเห็นชอบ เพื่อนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง (ที่เราได้มา) นั้น มาใช้บังคับ ซึ่งแน่นอน จะต้องเป็นไปตามหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย คือ เราจะให้ สภาผู้แทนราษฎร หรือ รัฐสภา (สภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภาประชุมร่วมกัน) หรือจะให้ ประชาชนทั้งประเทศ ออกเสียงเป็นประชามติ (โดยมีหรือไม่มีเงื่อนไขอย่างใด) เป็นผู้ให้ ความเห็นชอบ
ในเบื้องต้น เราจะเห็นได้ว่า ความสำเร็จใน การปฏิรูปการเมือง จะอยู่ที่ ขั้นตอนแรก คือ ขึ้นอยู่กับรูปแบบและองค์ประกอบของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะจัดตั้งขึ้น ว่า จะต้องเป็นองค์กรที่อยู่ใน ลักษณะที่สามารถออกแบบรัฐธรรมนูญ(ที่ดี)ได้ ด้วยความเป็นกลาง ประกอบกับกระบวนการและวิธีการในการยกร่างขององค์กรดังกล่าว ที่จะต้องเปิดเผย โปร่งใส มีการรับฟังปัญหาอย่างครบถ้วน เพราะ ถ้า ขั้นตอนแรก ของการปฏิรูปการเมืองถูกบิดเบือนแล้ว รัฐธรรมนูญ(ที่ดี) ก็จะเกิดไม่ได้ แม้ว่า ในขั้นที่สอง เราจะให้ ประชาชนทั้งประเทศ เป็นผู้ให้ความเห็นชอบด้วยการออกเสียงประชามติ ประชาชนก็จะอยู่ในสภาพที่ถูกใช้เป็น เครื่องมือของนักการเมือง โดยอ้าง ความเป็นประชาธิปไตย
การจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ไม่ว่าจะเป็น ส.ส.ร. ๓ หรือ ส.ส.ร ที่เท่าใด) ที่มีองค์ประกอบ(สมาชิก)ที่มีความหลากหลาย แต่ไม่มีความเชี่ยวชาญพอเพียง ตามที่นักการเมือง(นายทุนธุรกิจ)เสนอให้จัดตั้ง โดยอ้างความเป็นประชาธิปไตย ย่อมเป็นที่คาดหมายล่วงหน้าได้ว่า การปฏิรูปการเมืองโดย สภาร่างรัฐธรรมนูญ จะเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน ดังที่ปรากฏมาแล้วในอดีต ; นอกจากนั้น การให้ สภาผู้แทนราษฎร (ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง) เป็นผู้ให้ ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็เป็นที่คาดหมายได้ (ตามพฤติกรรมทางสังคมวิทยา)ว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะลงมติให้หรือไม่ให้ ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญ บนพื้นฐานของโดยคิดถึง โอกาส ของตนเองในการได้รับเลือกตั้ง และเข้ามาใช้อำนาจรัฐเพื่อแสวงหาประโยชน์ มากกว่าที่จะคิดถึง ประโยชน์ส่วนรวม
ปัญหาของเรา (คนไทย) ก็คือ เราจะจัดตั้ง องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่เหมาะสม และมีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้มั่นใจได้ว่า เรา(คนไทย)จะได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองที่ดีที่สุด ได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่มี statesman มาช่วยกำกับการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เรา คำตอบ ก็คือ เรา(คนไทย) สามารถทำได้ ด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ โดยเพิ่มบทบัญญัตินำเอาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่เรากล่าวถึงทั้งหมดที่เราคิดว่าดี ใส่ลงไป ตั้งแต่การจัดตั้ง องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งการให้ ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญที่จะได้ยกร่างขึ้น
ต่อไปนี้ จะเป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวของผม ในการที่จะสร้าง องค์กร และกำหนด กระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง โดย การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ซึ่งท่านผู้ฟังจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็เป็นความอิสระของท่าน
และโปรดสังเกตด้วยว่า ในการเสนอจัดตั้ง องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญนี้ ผมจะไม่พิจารณาเลยว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะได้มาจากองค์กรดังกล่าว จะมีสาระและมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เพราะการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะเป็น ภาระ- mission ขององค์กรที่จัดตั้งขึ้น ที่จะต้อง คิด และเป็น หน้าที่ขององค์กรนี้ จะต้องจัดทำเอกสารประกอบการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่ออธิบายให้เราฟังว่า ระบบสถาบันการเมืองและกลไกที่ตนเองได้ยกร่างขึ้นมานั้น จะสามารถแก้ปัญหาการเมืองของประเทศได้ครบถ้วนหรือไม่ และแก้ได้อย่างไร
ผมเชื่อว่า ถ้าเราสร้าง องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างถูกต้อง และมีกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ก็จะเกิดขึ้นเอง โดยเราไม่ต้องมาเถียงกันว่า ประเด็นใด ใครจะเอาอย่างไร พรรคการเมืองใดต้องการแก้ไขข้อไหนอย่างไร (เพื่อประโยชน์ของตนเอง) ; ผมคิดไม่เหมือนกับนักการเมืองบางท่านที่กล่าวว่าขอให้นักการเมืองและพรรคการเมืองเอา ข้อเสนอ (ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ) มาวางไว้บนโต๊ะ และตัดสินกันด้วยเสียงข้างมากบนพื้นฐานของผลประโยชน์ ทั้งที่เปิดเผยเห็นได้ และทั้งที่ซ่อนอยู่ในใจ
การแก้ไข รัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้ได้มาซึ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง จะมีหลักการสำคัญ ๓ ประการ ดังต่อไปนี้
หลักการที่หนึ่ง (การบริหารประเทศ) ฝ่ายบริหารคือรัฐบาล กับฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใดในช่วงระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ยกเว้นประการสำคัญ ใน ๒ ประการ
ประการที่ ๑ ปลดสภาพของ ส.ส. ที่ต้องตกอยู่ภายไต้อาณัติของพรรคการเมืองนายทุนธุรกิจ ด้วยการยกเลิกบทมาตราที่เกี่ยวกับการบังคับให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง ๒ - ๓ มาตรา โดย ส.ส.จะยังคงเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่เช่นเดิม ; ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักสากลของระบอบประชาธิปไตย ของทุกประเทศในโลก ที่ ส.ส.จะมีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ของ ส.ส.ได้ตามมโนธรรมของตนเอง
ประการที่ ๒ เพื่อสร้างเสถียรภาพให้ฝ่ายบริหาร(รัฐบาล) ให้เพิ่มบทบัญญัติว่า ในกรณีที่ส.ส. ลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีหรือทั้งคณะ ให้มี การยุบสภา(โดยอัตโนมัติ) ; เพราะโดยพฤติกรรม ส.ส. ย่อมไม่ประสงค์จะออกไปทำการเลือกตั้งใหม่ ดังนั้น มาตรการนี้จะทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพได้ตามสมควร ส่วนการลงมติไม่ไว้วางใจ รัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ให้เป็นไปเช่นปกติ
หลักการที่สอง (การปฏิรูปการเมือง) แก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยการจัดตั้ง องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริ งจำนวนไม่มากนัก กับอดีตนักการเมืองอาวุโสที่วางมือจากการเมืองแล้วจำนวนหนึ่ง ให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฎิรูปการเมือง โดยมีหลักการและกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องกำหนดไว้อย่างแน่ชัด ๔ ประการ ดังนี้
ประการที่ ๑ องค์กรนี้ ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง
ประการที่ ๒ มีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและเป็นระบบ ซึ่งจะต้องกำหนดระบุให้ชัดเจน และจะต้องเปิดโอกาสให้องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดทำ ประชามติเพื่อการปรึกษาหารือ - consultative referendumได้ เพื่อใช้ในกรณีมรามีทางเลือกที่ต้องการให้เป็นการตัดสินใจของประชาชนทั้งประเทศ หรือใช้ในกรณีที่ความเห็นของประชาชนที่เป็นกลุ่มผลประโยชน์มีการขัดแย้งกันสูง
ประการที่ ๓ เมื่อร่างเสร็จแล้ว จะต้องมี เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ที่อธิบายหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ในสาระสำคัญอย่าง ครบถ้วนและพอเพียง ได้แก่ การกำหนด ปัญหาทางการเมืองที่เกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน วิธีการและมาตรการในการแก้ปัญหาดังกล่าว อำนาจหน้าที่ ความสัมพันธ์และการถ่วงดุลระหว่างสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจน ผลดีผลเสียของมาตรการต่างๆ ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนุญ ; หลักการในการจัดทำเอกสารประกอบร่างกฎหมายนี้ เป็นวิธีปฏิบัติโดยปกติของประเทศที่พัฒนาแล้ว
ประการที่ ๔ รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง จะเป็นการ ขายตรง คือ ตรงไปยังประชาชนเพื่อให้ออกเสียงเป็นประชามติโดยไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร(หรือรัฐสภา) โดยให้ประชาชนเลือกว่า จะใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด ระหว่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กับ รัฐธรรมนูญปี ๒๕๔๐ ที่ ส.ส.ในปัจจุบันจำนวนหนึ่งเรียกร้องอยู่ในขณะนี้
ความสำเร็จของการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คาดหมายว่า จะได้จากการดำเนินการตามหลักการที่ ๒ จะมาจากเงื่อนไขสำคัญ ๒ ประการ คือ
ประการแรก มาจาก คุณสมบัติ และ กระบวนการการยกร่างฯ ของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ
คุณสมบัติขององค์กรยกร่างฯ จะต้องมีความเป็นกลาง(ไม่มีประโยชน์ส่วนได้เสียเกี่ยวข้อง) / มีความเชี่ยวชาญ(อย่างแท้จริง) / และมีประสบการณ์ที่พอเพียง
กระบวนการยกร่างที่กำหนดไว้อย่างแน่ชัด จะเป็นการบังคับให้องค์กรยกร่างฯ ต้องทำงานอย่างมีระบบและครบถ้วนสมบูรณ์ในทุกประเด็น(ที่สำคัญ) และการกำหนดให้องค์กรยกร่างฯ ต้องจัดทำ เอกสารประกอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีมาตรฐานที่แน่ชัด จะเป็นการกำกับการทำงานขององค์กรยกร่างฯ และสร้าง ความรับผิดชอบให้แก่องค์กรยกร่างฯ ที่นักวิชาการอื่นและประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบได้
ประการที่สอง การขายตรง(ต่อประชาชน) เป็นกุญแจของความสำเร็จของการปฏิรูปการเมือง เพราะเป็น เจตนาที่แท้จริง ของประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งจะแตกต่างกับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ได้รับเลือกตั้งมา(หรือรัฐสภา)ให้ความเห็นชอบ ซึ่งมิใช่เจตนาที่แท้จริงของประชาชน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (อาจ)พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยซ่อนผลประโยชน์ส่วนตัวไว้เบื้องหลังได้
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(และสมาชิกวุฒิสภา) จะมีสิทธิในการให้ความเห็นและวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่อำนาจในการวินิจฉัยในการเขียน(ออกแบบ)ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง จะเป็นขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ; แต่องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องอธิบายและให้เหตุผลในทางวิชาการอย่างชัดแจ้งไว้ในเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญว่า ประเด็นใด มีข้อดีข้อเสียอย่างใด และเพราะเหตุใดองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญจึงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(และสมาชิกวุฒิสภา)
การขายตรง(ต่อประชาชน) จะแก้ ปัญหาการบิดเบือนอำนาจ- abuse of powerของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อประโยชน์ส่วนตัว แต่อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการให้ประชาชนออกเสียงเป็น ประชามตินั้น ย่อมขึ้นอยู่กับ ความสมบูรณ์ และ คุณภาพของ เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ (และการประชาสัมพันธ์) ขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูณและผู้ที่เกี่ยวข้อง จะต้องให้ความเอาใจใส่และทำงานให้ได้ มาตรฐานของวงการวิชาการของประเทศที่พัฒนาแล้ว
หลักการที่ ๓ (อำนาจกำกับดูแลการปฏิรูปการเมือง กับอำนาจของรัฐบาล) ให้มีองค์กร (super organ)ที่กำกับดูแลการปฏิรูปการเมือง องค์กรนี้ อาจเรียกชื่อว่า คณะกรรมการความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ
หลักการสำคัญของคณะกรรมการนี้ ก็คือ จะต้องกำกับดูแลให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองขององค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นผลสำเร็จ และปราศจากการแทรกแซงจากนักการเมือง โดยจะต้องแยกอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคณะนี้ ออกจากอำนาจการบริหารประเทศของสถาบันการเมือง(รัฐบาลและรัฐสภา)อย่างชัดแจ้ง โดยคณะกรรมการฯ และกรรมการในคณะกรรมการฯ จะต้องไม่มีอำนาจในทางบริหารและจะต้องไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และคณะกรรมการคณะนี้จะมีอำนาจหน้าที่ เพียง ๓ ประการดังนี้ คือ
๑. ประสานงานระหว่างรัฐบาลกับองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ภารกิจในการปฎิรูปการเมือง มีผลสำเร็จ
๒. ตรวจสอบการคอร์รัปชันของนักการเมือง ด้วยการมี สิทธิริเริ่ม เพื่อส่งเรื่องผ่านไปให้กลไกของรัฐตามปกติ
๓. เป็นที่ปรึกษารัฐบาลในด้านความมั่นคงแห่งชาติ
และองค์กรนี้ จะมีอำนาจเพียง ๓ ประการนี้เท่านั้น ; การห้ามมิให้คณะกรรมการและกรรมการเข้าไปมีอำนาจในทางบริหาร ก็เพื่อให้ การบริหารประเทศ เป็นความรับผิดชอบของสถาบันทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นการป้องกัน ความเสื่อมของคณะกรรมการและกรรมการ ที่อาจเกิดจากการเข้าไปใช้ อำนาจในทางบริหาร และเสี่ยงต่อการถูกกล่าวอ้างว่ามีการแสวงหาประโยชน์จากการใช้อำนาจบริหาร ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่
ผมคิดว่า ข้อคิดนี้ อาจจะเป็น ทางออกของคนไทยในการแก้ปัญหาการเมืองในปัจจุบัน ; การบริหารประเทศในระหว่างการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง อาจจะยังมี ปัญหาอยู่บ้าง เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ ตามหลักการ ๓ ประการดังกล่าวข้างต้น ยังไม่ได้กำหนดมาตรการไว้ให้ครบถ้วน แต่ผมเชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ เท่าที่กล่าวมาแล้ว น่าจะพอเพียงสำหรับการทำให้ การบริหารประเทศ โดยสถาบันการเมือง(รัฐบาลและรัฐสภา)ในปัจจุบัน มีเสถียรภาพพอสมควร สำหรับในช่วงระยะเวลาสั้น เพียง ๑ ๒ ปีของการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง
ครับ สาเหตุของประเทศไทยที่ไม่สามารถปฏิรูปการเมืองได้ มีอยู่ ๒ สาเหตุตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ประเทศไทย เราขาด ความรู้ และเราขาด statesman ; เมื่อเราขาดความรู้ เราก็เอานักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเท่าที่เราจะหาได้ ไปรวมกันช่วยกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง ไว้ใน องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะต้องทำการยกร่างฯ ตามกระบวนการ process ที่กำหนดไว้ ; เมื่อเราขาด statesman เราก็เอา บุคคลที่มีความปรารถนาดีและมองเห็นปัญหาการเมืองของประเทศไปกำกับการปฏิรูปการเมือง ไว้ใน คณะกรรมการความมั่นคงและการพัฒนาการเมืองแห่งชาติ ; ส่วนการบริหารประเทศ ก็ยังคงเป็นอำนาจหน้าที่ของสถาบันการเมือง (รัฐบาลและรัฐสภา) ตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดย ส.ส. ไม่ต้องถูกบังคับให้สังกัดพรรคการเมือง(ของนายทุนธุรกิจ) ; และหลังจากนั้น เรา(คนไทย) ก็รอคอยผลของ การขายตรง คือการตัดสินของคนไทย ประชาชนทั้งประเทศในร่างรัฐธรรมนูญฉบับการปฏิรูปการเมือง ด้วยการออกเสียงเป็นประชามติ - referendum
ต่อไปนี้ เรามาถึงส่วนที่ ๓ ที่ผมตั้งใจจะบรรยายในวันนี้ คือ statesman คือ บุคคลอย่างไร ; แต่ผมคิดว่าผมใช้เวลาของที่ประชุม ปอมท. มามากแล้ว ผมจะขอจบสั้น ๆ เพียง ๒ ๓ ประโยค
Statesman คือ บุคคลที่มีวิสัยทัศน์ - vision แต่ไม่ใช่บุคคลที่บอกว่าตนเองมีวิสัยทัศน์ และบุคคลที่มี vision ย่อมสามารถคาดหมายและมองเห็นอนาคตได้ด้วยปัญญา ; statesman ได้แก่ บุคคลที่สามารถนำปัญญา wisdom ของตนเอง มาบอก มาอธิบาย และทำความเข้าใจกับประชาชนส่วนใหญ่ (ที่มีความจำเป็นจะต้องทำมาหากินและไม่มีเวลาพอที่จะมาสนใจและคิดแก้ไขปัญหาการเมือง) ได้ว่า ทางออก ของการแก้ปัญหาของประเทศ อยู่ที่ไหน ; และประการสุดท้าย statesman ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่ statesman ต้องรู้ว่า ทำอย่างไร จึงจะได้ รัฐธรรมนูญที่ดี
ขอบคุณครับ
ศ.ระพี สาคริก
ฟังท่านอาจารย์พูดแล้วก็มีข้อมูลอยู่ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีร่างกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ภาษีมรดกเข้าสภา เย็นวันนั้นเผอิญมีงานเฉลิมจักรพรรดิญี่ปุ่นที่สถานทูต ผมไปยืนอยู่ในงาน ข้างหน้าผมมี ๒-๓ คนยืนอยู่ เขาไม่รู้ว่าผมเป็นใคร เขาพูดกันว่าถ้ากฎหมายนี้ผ่านพวกเราตายเล เห็นหรือไม่นี่เป็นตัวอย่างที่เป็นจริงที่อาจารย์พูดเมื่อสักครู่นี้ แล้วท่านอาจารย์ก็เสนอจุดที่จะแก้ไขหลายช่องทาง ปัญหาเหล่านี้มีอยู่แล้วผมถึงบอกว่าไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นจากศูนย์ ถอยหลังเป็นสู่ลบด้วย
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
อุปสรรคของเรา คือ หนึ่ง เราไม่มีความรู้ และ สอง เราไม่มี statesman ที่มีอำนาจรัฐจะมาช่วยเรา ดังนั้น ถึงแม้เราพยายามหา ความรู้ และรู้วิธีที่จะแก้ปัญหา แต่ถ้าไม่มี statesman ที่มีอำนาจรัฐ เอา ความรู้นั้นมาทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติ การปฏิรูปการเมืองก็เกิดไม่ได้ ; ถามว่าในเวลานี้ ใคร คือ statesman ผมก็มองไม่เห็นตัว ; ในเวลาข้างหน้านี้ ที่เราพูด ๆ กันว่า จะให้ยุบสภาและ เลือกตั้งใหม่ เพื่อแก้ปัญหาการเมือง ผมคิดว่า ถ้าไม่มีการปฏิรูปการเมืองก่อนมี การเลือกตั้ง และโดยสภาพของสังคมไทยที่อ่อนแออย่างนี้ การใช้เงินจะยังเป็นปัจจัยสำคัญของการเลือกตั้ง ; อดีตนายกฯ ทักษินและพรรคพวกก็คงจะกลับเข้ามาเป็นเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึง่ เพราะบุคคลเหล่านี้มีเงินทองมหาศาลและพร้อมที่ทุ่มเงินโดยไม่จำกัดใน การเลือกตั้ง ; การยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่ เป็นวิถีทางเดียวที่บุคคลเหล่านี้ต้องการ เพราะเป็นวิถีทางเดียวที่สามารถจะกลับเข้ามา ผูกขาดอำนาจรัฐ เพื่อเอาทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้คืนได้ โดยอ้างว่าเป็นวิถีทางระบอบประชาธิปไตย
ดังนั้น ใครก็ตาม ที่บอกให้แก้ปัญหาด้วย การยุบสภา ผมเห็นว่าคงไม่ฉลาด เพราะจะทำให้เราเริ่มวงจร vicious circle ครั้งใหม่ เหมือนกับการเลือกตั้งครั้งหลังสุด หลังจากที่ใช้บังคับ รัฐธรรมนูญปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ ; ผมคิดว่า เราต้องแก้รัฐธรรมนูญยกเลิก บทบัญญัติที่บังคับให้ ส.ส. ต้องสังกัดพรรคการเมือง และบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง ที่เป็นสาเหตุของการเผด็จการโดยพรรคการเมือง(นายทุนธุรกิจ) ให้ได้ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ผมก็ยังมองไม่เห็นว่า ใคร ที่จะมาแก้รัฐธรรมนูญให้คนไทย
ผศ. ปฐม ปฐมธนพงศ์ ประธาน ปอมท.
ต้องขอบพระคุณอาจารย์อมร ที่ให้รูปแบบของการปฏิรูปการเมืองโดยการที่เราต้องมีความรู้ และต้องการรัฐบุรุษ พวกเรามีคำถามอะไรจะถาม ผมเรียนถามเลยว่ามีข้อเสนออะไรหรือไม่
คุณ เสริม ผู้ช่วยเลขานุการ ปอมท. และหัวหน้างานสภาอาจารย์ มธ.
ขออนุญาตเรียนถาม เพราะว่าเป็นที่สนใจ อาจารย์ได้ให้ความรู้ในทางวิชาการ ฟังอาจารย์มาโดยตลอด อาจารย์ได้ให้แนวทางที่ค่อนข้างกว้างขวางและพอจะมองเห็นว่าทางออกของประเทศไทยจะทำอย่างไร ฟังดูแล้วว่า ณ วันนี้รัฐบาลหรือ ครม.ก็รับหลักการที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญบางเรื่อง บางมาตรา ก็มีอยู่ประมาณสัก ๒๐ ประเด็นที่จะนำไปสู่การแก้ไข และยังมอบให้พรรคการเมืองต่างๆที่พรรคร่วมรัฐบาลนำประเด็นต่างๆที่จะแก้ไขมาปรึกษาหารือร่วมกัน ซึ่งฟังแค่นี้ก็ยังไม่เห็นทางออกที่จะนำไปสู่การแก้ไขที่ควรจะเป็นหรือรูปธรรมที่ควรจะมี ฟังอาจารย์แล้วว่าอาจารย์ต้องมีองค์กรที่จะเข้ามาสู่การแก้ไข ที่เป็นองค์กรกลางซึ่งอาจจะมาจากคนที่เป็น statesman ที่อาจารย์พูดถึง อยากจะถามอาจารย์ว่า ณ วันนี้ถ้ามองในรูปที่เป็นรูปธรรม ถ้าอาจารย์เป็นนายกรัฐมนตรี ลองอธิบายให้พวกเราเข้าใจว่าอาจารย์จะหยิบจากใครตรงไหน หรือจะสร้างองค์กรที่อาจารย์พูดถึงนี้อย่างไรให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งอาจารย์ก็พอจะทราบเหมือนกัน อาจารย์เป็นผู้บริหารตอนนี้ อยากจะเรียนเป็นความรู้ หรือเป็นตุ๊กตาที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาบ้านเมือง
ศ.ระพี สาคริก
ผมฟังมาตลอด แล้วในฐานะที่ผมเป็นคนหนึ่งที่ก่อตั้งองค์กรที่เราอยู่นี้ เมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมก็ไปบริหารมหาวิทยาลัย ผมก็เห็นว่ามีที่ประชุมอธิการบดี (ทปอ.) อยู่ แล้วผมก็เป็นเลขาธิการ ทปอ. ในช่วงนั้นมา ได้เห็นอะไรหลายอย่างแล้วทำไมเหตุผลที่ผมมาสนับสนุนการตั้ง ปอมท. ตรงนี้ เพื่ออะไร เพราะว่าปี ๒๔๗๕ เราพูดกันว่าอย่างไร เราบอกว่าเราต้องการประชาธิปไตย ต้องการ Bottom up ไม่ใช่ Top down เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมคิดว่าหน้าที่ของที่นี่ เราทำภาคประชาชนให้เข้มแข็ง เราทำได้ ถ้าไปเริ่มต้นจากข้างบนมาก่อนก็ผิดอย่างที่ท่านอาจารย์พูด นี่เป็นเหตุผลอันนี้ที่ผมอยู่ทุกวันนี้ ๘๗ ปี ผมลงข้างล่างตลอด ผมอยู่กับชาวบ้านตลอด อยู่ด้วยความหวังคิดว่าอย่างน้อยที่สุดวันหนึ่งข้างหน้าก็คงมีพวกท่านทั้งหลายลงมายืนอยู่ตรงนี้ด้วย เป็นเรื่องกุญแจดอกสำคัญเลย
ผมถึงบอกว่าไม่ใช่มองแต่เดี๋ยวนี้ ต้องมองย้อนกลับไปสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เรื่อยมาเลย เราเห็นอะไร วัฒนธรรมเราก็มี จารีตประเพณีเราก็มี แต่คนไม่ค่อยจะนึกถึง เรามองข้ามตรงนี้ไปหมดเลย พูดกันมานานแล้ว ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทำไมพระมหากษัตริย์สำคัญอย่างไร ถ้าเราเห็นจารีตประเพณีที่มีการพิสูจน์มาตั้งแต่กรุงศรีอยุธยา กรุงสุโขทัย แม้แต่สมเด็จพระนเรศวรกว่าจะมาถึงตรงนี้ นั่นเป็นจารีตประเพณีที่พิสูจน์ตัวเองแล้ว ว่าอะไรๆได้ทำให้แก้ปัญหาบ้านเมืองมาตลอด ในหลวงองค์นี้ก็เหมือนกัน บางคนบอกท่านโตมาในต่างประเทศ แต่พอมาถึงเมืองไทยท่านลงแผ่นดินเราตลอดเวลาจนกระทั่งถูกขนานนามว่าเป็นกษัตริย์เกษตร เห็นหรือไม่อยู่ที่จิตวิญญาณของคน อยู่ที่ตรงนี้หัวใจสำคัญ อยากจะฝากให้คิดกันตรงนี้ด้วย เห็นว่าองค์กรนี้ท้าท้ายอย่างที่สุด เมื่อสักครู่ก็มีท่านมาคุยกับผมเรื่องปฏิรูปที่ดิน ผมนึกท้าทายองค์กรนี้น่าจะได้ทำ
รศ.อดิศักดิ์ พงศ์พูนผลศักดิ์ ประธานสภาฯ มจธ.
ผมฟังท่านอาจารย์แล้วรู้สึกว่าท่านอาจารย์อยากให้องค์กรนี้ช่วยผลักดันในเรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้นประเด็นตอนนี้ ก็คือ เรื่องประชาธิปไตยที่เราขาดความรู้ ขาดความเข้าใจ และตั้งแต่เด็กเราสอนประชาธิปไตยบอกว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง แล้วเวลาเลือกตั้งเสร็จแล้วไปซื้อเสียงกัน เด็กๆก็ไปซื้อเสียงเพาะพันธุ์แล้วก็ยังไม่สอนความรู้ที่ถูกต้องให้แก่เด็ก จนมาถึงวันก่อนท่านธงทอง จันทรางสุข ท่านพูดว่าท่านไปอยู่สภาการศึกษาแห่งชาติแล้วต้องการปฏิรูปการศึกษา โดยการที่จะให้ตั้งเป็นคณะกรรมการแล้วมีการเลือกตั้งคณะกรรมการนั้นขึ้นมา เขาบอกว่าครูพวกนี้ก็ไปยืนแจกเงินที่หน้าคูหาเลือกตั้ง แล้วถามต่อไปว่าแล้วไม่มีใครตรวจสอบหรือ เขาบอกว่าไม่มี กกต. เมื่อไม่มี กกต.ก็ตรวจสอบกันไม่ได้ ผมมองว่าประเด็นขององค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ความเข้าใจตั้งแต่พื้นฐาน ตั้งเด็กจนถึงโต แล้วผมบอกว่าบ้านเราก็ยังไม่มีความรู้ ปอมท.เราควรจะเสนอแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกทาง แล้วสอนในเรื่องประชาธิปไตยไม่ยกเว้นแม้แต่ในอุดมศึกษา
เรายกเว้นอุดมศึกษา เราไม่มีเลย เพราะว่าประวัติศาสตร์ชาติไทยเราไม่เคยเรียน เราไม่รู้พื้นฐานที่มาของบ้านเรามากนัก เพราะว่าเดี๋ยวนี้เด็กไม่ได้เรียนแล้วประวัติศาสตร์ ไปเรียน สลน. เราต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก เมื่อก่อนผมจำได้ผมต้องไปนั่งเรียนประวัติศาสตร์ พระนเรศวรยกทัพไป พระเอกาทศรศ อะไรต่ออะไรเยอะแยะไปหมด เดี๋ยวนี้ลืมหมดแล้ว อันนั้นก็คือสิ่งที่ปลูกฝังมาแต่ในอดีตอย่างที่ท่านอาจารย์พูด แล้วเราคิดว่าองค์การที่นี่ คือองค์กร ปอมท.ควรจะมีบทบาทในช่วงนี้ซึ่งเป็นช่วงสำคัญ เป็นช่วงที่ผ่านวิกฤติมานี้ ว่าเราควรจะปลูกฝังในเรื่องประชาธิปไตยอย่างไร แนวคิดผมก็อยากจะได้เอาแนวคิดของท่านอาจารย์อมรมาหารือกันแล้วเป็นข้อเสนอหนึ่งที่จะผ่านไปทางสื่อต่างๆ ผมมองแล้วว่าเป็นทางตันทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นทางไหน อย่างที่ท่านอาจารย์ธรรมศาสตร์ได้ยกตัวอย่างถ้าท่านเป็นนายกท่านจะทำอย่างไร ผมเป็นนายกผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน เพราะว่าเราทำอะไรไม่ได้ นอกจากการผลักดันแล้วต้องใช้พลังของการเป็นมหาวิทยาลัยและการชี้นำสังคม ผลักดันในเรื่องต่างๆขึ้นไป
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
ผมอยากจะเรียนอย่างนี้ครับ เมื่อสักครู่ผมให้สูตรสำหรับการแก้รัฐธรรมนูญปี ๒๕๕๐ เพื่อจัดตั้ง องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองไว้แล้ว สาระในหลักการนั้นน่าจะครบถ้วนแล้ว ; สิ่งที่ statesman ควรจะทำ ถ้าเราจะบังเอิญมี statesman ก็คือ ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมตามสูตรนี้ขึ้นมา แล้วนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมนี้ไปเสนอต่อรัฐสภาเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๐ และเราก็จะรู้ว่านักการเมืองคนไหน ต้องการการปฏิรูปการเมือง จริงหรือไม่
ผมเห็นว่า คงจะต้องมีการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่อสภา คนไทยจึงจะรู้จัก พฤติกรรมที่แท้จริงของนักการเมืองปัจจุบัน เพราะประการแรก จะเห็นได้ว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดตั้งองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญนั้นนักการเมืองในขณะนี้จะไม่สูญเสียอำนาจ ณ ปัจจุบันแต่อย่างใด แต่เขาจะต้องสละอำนาจว่า ข้างหน้านี้จะมีองค์กรที่เป็นกลางมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง เพื่อนำมาให้ ประชาชนทั้งประเทศ เป็นผู้ที่ให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ด้วยการออกเสียงประชามติ referendum ซึ่งจะไม่ใช่อำนาจของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ; สิ่งที่ผมรออยู่ ก็คือ ใคร จะเป็นผู้นำร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน ตามหลักการทั้ง ๓ ประการตามที่กล่าวมาแล้ว เสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณา ; อาจจะเป็นท่านนายกรัฐมนตรีเอง หรือ ส.ส. คนใดคนหนึ่ง ผมไม่ทราบ ; ใครจะเป็น statesman
ศ.ระพี สาคริก
ท่านอาจารย์พูดเมื่อสักครู่นี้สำคัญมาก เป็นนักปฏิบัติ นี่หลักศาสนา สองทำแต่ถือขันติไม่ต้องพูด นี่แหละโดยเฉพาะถ้าเป็นครูยิ่งสำคัญมากๆเลย ปฏิบัติออกมาจากใจแต่ไม่ต้องไปพูดหลอก ถ้าไม่พูดไม่มีเรื่อง ท่านก็สอนมาแล้วว่าถือขันติ นึกถึงสมัยคุณเปรมเป็นนายกรัฐมนตรีได้มั้ย คนจะว่าบอกว่าเตมีย์ใบ้ใช่หรือไม่ คุณเปรมใช้ขันตินี้เป็นตัวหลัก ท่านรอดมาได้เพราะความไม่พูดของท่าน ฝากให้คิดตรงนี้ด้วย ผมก็ใช้ตรงนี้อยู่
(ผศ. กัณฑ์มนัส ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์ มทร. ?)
เป็นการเรียนรู้วิชาทางด้านหลักรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ที่ดีมากๆ ขอถามอาจารย์นิดหนึ่งว่าคณะกรรมการพัฒนาความมั่นคงแห่งชาติที่อาจารย์พูดถึง ถ้ามีขึ้นมา สมมติว่าวันนี้ Off record อยู่สิบคนที่ควรไปนั่งตรงนั้นตามความเห็นของอาจารย์น่าจะมีใครอยู่ตรงนั้นบ้าง สิบคนแรกๆที่น่าจะเป็นของประเทศนี้ เพราะว่าสิบคน นี้คือคนที่ไม่ใช่มีแต่ความรู้อย่างเดียว แต่จะต้องมีความรู้จริงที่อาจารย์พอจะเอ่ยเอื้อนได้
รศ. สุรพล ศรีบุญทรง เลขาธิการ ปอมท.
ขออนุญาตเสนอเลยว่า ในเมื่อเราเรียกร้องว่าอยากจะมีใครสักคน ผมเสนอว่า หากเป็นไปได้ ที่ปะชุมแห่งนี้ (ปอมท.) ภายใต้การให้คำปรึกษาของท่านอาจารย์อมร เสนอเป็น ปอมท.โมเดลเลย ว่ารัฐธรรมนูญที่เราเห็นว่าเหมาะสมรูปแบบควรจะเป็นอย่างไร มีทั้งเหตุ มีทั้งผลอ้างอิง ว่าทำไมข้อนี้ถึงต้องเป็นอย่างนี้ ทำยื่นเข้าไปเลยว่า นี่คือโมเดลที่ ปอมท.ศึกษาและคิดว่าเหมาะสม คือใครจะมาเป็นกรรมการไม่รู้ แต่อาจารย์บอกว่าต้องมี Form of Government มีอะไรต่างๆ เราก็เขียนโมเดลยื่นแบบไปก่อน แล้วถ้าคุณจะศึกษาหรือจะมีคณะกรรมการอะไรมาพิจารณา เราก็ยื่นไปแล้วว่ามีแบบอย่างนี้ว่าเป็นความเห็นของ ปอมท.อย่างนั้นจะดีหรือไม่
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
คือ เราอย่าสับสนระหว่าง รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง กับ รัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามหลักการ ๓ ประการดังกล่าวข้างต้น ; ผมเรียนแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับการปฏิรูปการเมือง จะยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไร จะดีหรือไม่ดี จนกว่าจะยกร่างเสร็จและอธิบายได้ ; แต่ การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันพ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อให้เกิดองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องมาก่อน ; แล้วองค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็จะไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองขึ้น
ดังนั้น การที่เราจะไปพูดว่า ข้างหน้า รัฐธรรมนูญ(ที่ดี)ควรเป็นอย่างไร จึงพูดไกลเกินไป เพราะยังไม่มีใครรู้ ; การที่จะสร้างระบบ - system ที่ดี ก็เหมือนกับสร้างเครื่องยนต์ คือ จะต้องทำเสร็จจนกระทั่งเป็นรูปร่างแล้ว จึงจะมองเห็น ; องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ ฯ จึงต้องเกิดขึ้นก่อน ซึ่งจะประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ ร่วมกับอดีตนักการเมืองที่มีประสบการณ์แต่วางมือทางการเมืองแล้ว มาช่วยกันยกร่าง และนำร่างรัฐธรรมนูญพร้อมทั้งคำอธิบาย มาให้ประชาชนออกเสียงประชามติ ; ส่วน คณะกรรมการเพื่อความมั่นคงกับการพัฒนาการเมือง ก็จะเป็น องค์กรที่จัดตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะกิจ และเป็นองค์กรที่จำเป็นต้องมี เพื่อดูแลการปฏิรูปการเมืองให้เป็นผลสำเร็จ เพราะการปฏิรูปการเมืองไม่ควรให้อยู่ในความดูแลของ รัฐบาล ที่เป็นนักการเมืองนายทุนธุรกิจที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและกำลังจะถูกเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผลประโยชน์ของนักการเมืองจึงขัดแย้งกันกับการปฏิรูปการเมือง conflict of interest ; คณะกรรมการเพื่อความมั่นคงกับการพัฒนาการเมือง ก็จะมีหน้าที่ดูแลการประสานงานระหว่างองค์กรยกร่างฯกับรัฐบาล ทำให้การทำงานขององค์กรยกร่างฯ ปลอดจากการแทรกแซงของนักการเมือง กับช่วยคอยดูแลมิให้มีการคอร์รัปชั่น และเพื่อความมั่นคงโดยทั่ว ๆ ไป ; โดยสรุป ก็คือ รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน พ.ศ. ๒๕๕๒ จะมี องค์กรใหม่ ๒ องค์กร องค์กรหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง กับอีกองค์กรหนึ่ง เป็น องค์กรที่เป็น super organ ที่คอยกำกับดูแลการปฏิรุปการเมืองให้สำเร็จ และไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญกฎหมาย
อาจารย์
ก็เหมือนกับอดีตที่ผ่านมาซึ่งมีหลายๆท่านเข้าไปเป็นสมัยที่เป็นปฏิวัติ มองแล้วว่าคนที่อยู่ตรงนี้ต้องเป็นคนดีจริงๆ เพราะซื้อกันได้ ขนาดอยู่ในสมัยปฏิรูปแผ่นดินหรือสมัยไหนก็ตามองค์กรนี้ก็ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลเท่าที่ควร เพราะว่าตัวคนยังไม่ได้เป็นคนดีทั้งหมด แล้วคนที่อยู่ในองค์กรนี้ต้องเป็นคนดีทั้งหมดซึ่งอาจจะเหลือไม่ดีไว้สักคนก็ยังดี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้นผมก็ไม่ว่าแต่เท่าที่ดูขาดอะไร เหมือนกับติดๆขัดๆ แล้วก็มีความไม่แน่นอนอยู่ในนั้นอยู่เยอะ แล้วการตัดสินที่ออกมาในสองมาตรฐาน หนึ่งมาตรฐาน จนกระทั่งเกิดปัญหาในปัจจุบันอันนั้นก็คือสิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่างมาก คือการนำเสนอพวกองค์กรต่างๆ ตัวโครงสร้างเป็นเรื่องสำคัญ คนที่ไปอยู่ในโครงสร้างนั้นจะต้องเป็นคนดีจริงเพื่อที่จะไปพัฒนาในรูปแบบต่างๆเพื่อให้มีประสิทธิภาพ คือความเห็นผม
ศ.ระพี สาคริก
เมื่อสักครู่พูดถึงเรื่องว่าคนเดี๋ยวนี้เงินซื้อกันได้ ทำให้ผมนึกถึงเมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลได้ตั้งกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง มีคุณหญิงสุพัตรา (มาศดิสถ์) เป็นประธาน แล้วมามอบให้ผมเป็นประธานที่ปรึกษาด้วย เรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้กับรากฐานคนในชุมชน ความจริงเราทำกันมานานแล้ว รัฐบาลถ้าไม่เจ็บก็คงไม่ลืมตามาดู เพราะฉะนั้นประชุมครั้งแรก ผมติดไปไม่ได้ผมฝากไว้ บอกเสนอเข้าไปด้วยบอกไม่ต้องไปมองข้างหน้า เหลียวมาดูข้างหลังบ้าง เวลานี้สถาบันต่างๆ เขาทำกัน มหิดลก็ทำ เพราะว่าเห็นอยู่แล้วว่ารากฐานคนเดี๋ยวนี้ไม่แข็ง ทนสิ่งเย้ายวนไม่ไหวเห็นหรือไม่ คอร์รัปชั่นก็เยอะ เป็นหนี้เป็นสินก็ยอม กระบวนการรู้ว่ายากแต่เราอยู่แวดวงการศึกษาต้องช่วยกันทำ การที่คนทุกวันนี้รากฐานไม่แข็งมากจากอะไร เราตีความเรื่องการศึกษาไม่ถูก ไม่ลึกพอ เวลานี้ผมกำลังมองเห็นด้วยว่าไม่ใช่แต่คฤหัสถ์ สงฆ์ก็เหมือนกันเวลานี้ เป็นทุกข์เข้าหน่อยเข้าวัดแล้วไปหาธรรมะ จริงๆไม่ต้องเข้าวัดก็หาได้อยู่ที่ตัวเราเอง เข้าไปจริงๆออกมาก็ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่กลายเป็นยาเสพติดแล้ว พอทุกข์ทีไรเข้าวัดทุกที ความเป็นตัวของตัวเองหายไป เป็นหน้าที่ของแวดวงการจัดการศึกษาที่จะต้องช่วยกัน สำคัญขอฝากไว้ด้วย แล้วที่นี้ท้าท้ายถ้าจะทำ
อาจารย์
สมมติว่าถ้าเราจัดฟอร์มเสร็จแล้ว บุคลากรก็คงเป็นคนในพรรคการเมืองเดิมๆเก่าๆ ในเรื่องของการร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมายต่างๆก็มาจากกลุ่มคนชั้นนำ ชั้นสูง มีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญร่างขึ้นมา อ้างอิงจากตรงนั้นตรงนี้ แล้วที่เราบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เกิดจากความต้องการของประชาชนจริงๆ เราได้ทำลงไปถึงตรงนั้นหรือยัง ตัวแทนเขาขึ้นมาทำบ้างหรือยัง แล้วเอาตรงนี้ไปถึงตรงไหนแล้ว เพราะที่ขึ้นมาบางทีอาจจะเป็นการเออออห่อหมกกันเองระหว่างผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ที่มีความรู้ทั้งหลายแล้วก็มากระจุกตรงนี้ ใช่หรือไม่ เหมือนกับคนส่วนน้อยมากำหนดทิศทางทั้งหมดของประเทศ เราจะทำให้ตรงนี้เขามีส่วนร่วมจริงๆอย่างไรบ้าง ที่ไม่ต้องเอาการเมืองเข้ามาข้องเกี่ยวหรือเกิดจากความต้องการของเขาจริง อย่างเช่นเมื่อสักครู่ผมเรียนถามอาจารย์รพีว่าเรื่องขอราคาข้าวโพดที่เขาบอกว่าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงราคา ชาวบ้านจะบอกว่าฉิบหายทุกครั้ง ทำอย่างไรถึงจะปล่อยให้เป็นกลไกทางตลาด เขาก็จะดีของเขาเอง แต่ตอนนี้ถ้าเผื่อเราไปแทรกแซงเขามากเกินไป ผมพูดเฉพาะเรื่องเกษตร แต่ถ้าเรื่องกฎหมายถ้าเกิดเราฟังจากเขามาบ้างหรือว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการบ้าง ผมว่าสิ่งนี้น่าจะสิ่งที่ดีสำหรับที่จะขับเคลื่อนต่อไป
ศ.ระพี สาคริก
เรื่องนี้ท่านอาจารย์อมรก็ได้พูดไว้แล้ว เมื่อพูดถึงเรื่องอะไรก็ตาม แวดวงการศึกษาต้องมองที่คน แล้วเวลานี้คนไทยเรารากฐานอ่อนมากๆเลย ผมเคยพูดระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ ผมพูดฝากไว้แล้วว่าวิทยาศาสตร์เราไม่รังเกียจหรอก แต่ถ้าทำอย่างไรสายวิทยาศาสตร์เขามีศิลปะเป็นพื้นฐาน ถ้าอย่างนี้ก็น่าจะดีขึ้น จำได้หรือไม่อดีตนายกทักษิณเคยพูดกับหมอประเวศ ว่าอย่างไร บอกว่าพวกนี้รู้น้อยแล้วผมก็ไม่รู้หรอก กรุงเทพธุรกิจโทรมาหาผม ผมบอกต้องขอบคุณคนรู้น้อย คนแต่ก่อนสอนไว้ไม่ให้รู้มาก หนังสือพิมพ์ก็เอาตรงนี้ไปพิมพ์ไว้เยอะเลย คนรู้มากก็คือคนเห็นแก่ตัว โบราณพูดเอาไว้จริงหมดทุกเรื่อง
อาจารย์
จริงๆแล้วประเทศไทยเราก็มีกฎหมายรัฐธรรมนูญมาหลายฉบับ ซึ่งหลายๆฉบับก็มีคนมาว่าเป็นฉบับที่ดีมาก คือผมก็ไม่แน่ใจว่าคงจะมีบางฉบับที่ไม่ได้บังคับ สส.ให้สังกัดพรรคการเมือง แต่ว่าปัญหาการเมืองไทยก็คงยังมีอยู่ ส่วนตัวแล้วผมมองว่าถึงเราจะได้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด โดยกระบวนการที่ดีอย่างเช่นที่อาจารย์ได้บรรยายให้ฟัง ก็ในที่สุดก็ไม่สามารถแก้การเมืองได้อยู่ดีเพราะว่าตราบใดที่ประเทศไทยยังเต็มไปด้วยนักการเมืองเลวๆอยู่ทุกวันนี้ก็ไม่มีทาง ผมกลับมองว่าการที่จะแก้ปัญหาต่างๆได้ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นนิติรัฐจริงๆ คือกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายเรื่องคอรัปชันเรื่องคนที่ทำผิด แต่คนทำผิดแล้วยังไม่ได้รับการลงโทษ ยังลอยนวลอยู่มันก็เข้าไปแทรกแซงในทุกๆองค์กร เพราะว่าถ้าคนที่บังคับใช้กฎหมายบังคับใช้อย่างจริงจัง แล้วถ้ากฎหมายไหนที่ล้าหลังก็ต้องมีการทำขึ้นมาใหม่ แล้วบังคับอย่างจริงจังผมมองว่าน่าจะเป็นทางออกที่ดี
อ.ประสิทธิ บุญไทย รองเลขาธิการ ปอมท. และรองประธานสภาฯ ม.รามคำแหง
ผมนั่งฟังแล้วผมก็มีคำถาม รวมทั้งคำถามที่ท่านอาจารย์ประมวลถามผมยอมรับตามตรงผมตอบไม่ได้ เพราะผมก็จนด้วยเกล้าจริงๆว่า ทางออกของประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร ปัญหาของพรรคการเมืองในประเทศไทยมีอยู่สามสี่พรรค ผมมองว่าเป็นพรรคเดียวคือพรรคนายทุนทั้งหมดเลย ถ้าเราพูดถึงพรรคการเมืองพรรคไหนก็จะมีนายทุนอยู่ข้างหลังหมดเลย แล้วอย่างนี้การเมืองของประเทศไทยจะแก้อย่างไร อาจารย์ให้โจทก์แล้วคำตอบมาอยู่ในตัวหลายเรื่อง แต่ว่าผมตอบคำถามที่อาจารย์ถามไม่ได้เลย อีกส่วนหนึ่งที่ผมอยากจะพูดไปถึงคือก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงการเมืองภาคประชาชน ตรงนี้ผมเรียนถามอาจารย์ว่าเราจะให้ประชาชนเหล่านั้นมากำหนดในภาคของการเมืองอย่างไร การมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองเราจะทำอย่างไร เพราะว่าจะนำไปสู่การมีการเมืองใหม่เกิดขึ้น
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
อย่างที่ผมได้เรียนไว้แล้วว่า การที่นายทุนเข้ามาร่วมทุนกันแล้วตั้งพรรคการเมือง ก็เพราะมี มูลเหตุชักจูงใจ ให้เขาลงทุน; รัฐธรรมนูญของเรา วางกลไกและระบบสถาบันการเมืองไว้ให้นายทุนมาแสวงหากำไรได้ คือ ลงทุนในการเลือกตั้งไปก่อน พอได้ สส.มีจำนวนมากพอ ก็มาแบ่งโควตาตำแหน่งให้ตนเองเป็นนายกรัฐมนตรีหรือเป็นรัฐมนตรีตามจำนวน ส.ส.ที่อยู่ในสังกัด แล้วแสวงหาประโยชน์ ; ปัญหาการเมืองของเรา จึงเกิดขึ้น ; ดังนั้น ถ้าหากว่าเราปรับแก้ระบบสถาบันการเมือง ที่ทำให้เขาไม่ได้ประโยชน์จากการลงทุน หรือให้มีความเสี่ยงสูงขึ้น คือ ลงทุนไปแล้วอาจไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี และเมื่อได้เป็นแล้ว ไม่มีโอกาสคอร์รัปชั่นหรือมีโอกาสน้อยลง เขาก็ไม่ลงทุน
การออกแบบรัฐธรรมนูญ จึงจะเน้นที่ การตัดประโยชน์ของนายทุนที่นายทุนคาดว่าจะได้มาจากการลงทุนในการเลือกตั้ง แต่ไม่ใช่เน้นที่การจับการทุจริตในการเลือกตั้ง ; ถ้าเราถามว่า ทำไมนักการเมืองจึงยอมเสียเงินเสียทองตนเองมาลงทุน ซื้อเสียง ทั้ง ๆ ที่เงินเดือน ส.ส. หรือเงินเดือนรัฐมนตรีก็ไม่มาก คำตอบก็คือ เป็นเรื่องของการคุ้มกับการลงทุน เพราะถ้าเขาได้เป็น รัฐบาลแล้ว ก็คอร์รัปชั่นได้ มีกำไรหลายเท่า ไม่มีขอบเขตจำกัด ; นี่ คือ วิธีคิด ครับ ; ดังนั้นถ้าหากเราสามารถสร้างระบบสถาบันการเมืองที่คอร์รัปชั่นได้ยาก นักการเมืองที่ลงทุนซื้อเสียง ก็จะน้อย ลงเอง เพราะว่าไม่คุ้มการลงทุน
ขณะนี้ เราจะได้ยินนักการเมืองและนักวิชาการพูดกันบ่อย ๆ ว่า ให้ประชาชนมีส่วนร่วม หรือ การเมืองภาคประชาชน ผมถือว่าอันนี้เป็นการลวงหรือไม่มีความรู้ เพราะคำว่า ประชาชนในที่นี้ จะต้องพิจารณาให้ได้ว่า หมายถึงประชาชนกลุ่มไหน กลุ่มผลประโยชน์ใด มีส่วนได้เสียอย่างไร และควรจะให้มีสิทธิและหน้าที่เพียงใด
เมื่อสักครู่นี้ ผมได้กล่าวถึงหลักการในการออกแบบจัดตั้งและกำหนดวิธีการในการยกร่างรัฐธรรมนูญของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ มาแล้วว่า จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางและมีระบบ ซึ่งผมมิได้หมายความว่า ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนจะมีสิทธิเหมือน ๆ กันทุกคน และ สิทธิของทุก ๆ คน นั้นจะเหมือน ๆ กันในทุกขั้นตอนของการยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ผมหมายความว่า จะต้องมีการจัดกลุ่ม ประชาชนว่า เป็นคน(ประชาชน)กลุ่มใด ประเภทใด มีผลประโยชน์ส่วนตัวอย่างไร และควรจะมีบทบาทในขั้นตอนใดของการยกร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไร ; แม้แต่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ก็จัดเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีส่วนได้เสีย ที่จะต้องมีการกำหนดบทบาทการมีส่วนร่วม เพราะสมาชิกสภาย่อมจะเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ จากวิธีการเลือกตั้งหรือการสรรหา ที่จะกำหนดขึ้นใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จะร่างขึ้น
อันที่จริงแล้ว คำว่า การมีส่วนร่วมของประชาชน หรือ การเมืองภาคประชาชน ควรจะเป็นคำที่นักการเมืองใช้ มากกว่าจะเป็นคำที่ นักวิชาการพูด เพราะเป็น คำที่ไม่มีความหมายในทางวิชาการ ; ในทางวิชาการ นักวิชาการจะต้องกำหนดกลุ่มประชาชนให้ได้ว่า ประชาชนนั้นหมายถึงกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใด มีส่วนได้เสียหรือไม่ อย่างไร ฯลฯ ทั้งนี้ เพื่อจะได้กำหนดบทบาทในการมีส่วนร่วม และกำหนดสิทธิและหน้าที่ได้อย่างถูกต้องตามความสมควร ด้วยเหตุด้วยผล ทั้งนี้ โดยมีจุดหมายปลายทาง คือ เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม - public interest อันเป็นเจตนารมณ์ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
รศ.อดิศักดิ์ พงศ์พูนผลศักดิ์ ประธานสภาฯ มจธ.
จะบอกว่าประชาธิปไตยเราไม่ได้พัฒนาการคงไม่ใช่ เพราะว่าผมว่าการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งการฉีกรัฐธรรมนูญแต่ละครั้ง ก็คือการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบกพร่องของรัฐธรรมนูญทุกครั้งไป เพียงแต่ว่าเรายังแก้ไขไปถึงจุดหมายที่เราต้องการไม่ได้ ครั้งหนึ่งก็บอกว่าประชาชนไม่มีสิทธิไม่มีเสียง ไม่มีสิทธิก็พยายามจะให้สิทธิให้เสียง พอให้สิทธิให้เสียงเสร็จพวกนักการเมืองก็ไปอ้างว่าฉันเป็นประชาชนคนหนึ่ง พอถึงคราวที่ฉันจะเป็นนักการเมืองฉันก็บอกว่าตอนร่างรัฐธรรมนูญก็บอกว่าฉันเป็นนักการเมืองฉันต้องมีส่วนร่วมในการร่าง พอพัฒนามาอีกยุคหนึ่งยุคของข้อมูลข่าวสารที่ดีขึ้นก็พยายามที่จะร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญแก้ไขข้อบกพร่องต่างๆ เกี่ยวกับยุบสภาบ่อยครั้งก็เกิดเป็นรัฐธรรมนูญปี ๔๐ ปี ๕๐ ปรากฏว่าทุกอย่างเป็นพัฒนาการของมัน
จนกระทั่งมาวันนี้ ผมได้ฟังในสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับที่มองในด้านของความดี เอาคนดี ไปสร้างระบบที่ดี แต่ว่าเราไม่ได้ฟังคำพูดนี้มาเยอะแล้วเรามีแต่บอกว่าคนโน้นจะต้องมีสิทธิ คนนี้จะต้องมีเสียง ทางด้านคนที่จะไปร่างพอเลือกขึ้นมาก็เลือกมาจากกลุ่มไหนๆก็กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทั้งสิ้น มันไม่ใช่กลุ่มอิสระ ตามที่ท่านอาจารย์บอกว่าความเป็นอิสระผมบอกว่าเป็นสิ่งที่ควรจะมองแล้วควรจะขายออกไปให้มาก แล้วระบบที่เอาคนดีไปสร้างรัฐธรรมนูญก็เป็นระบบที่เราควรจะขายออกไป เราไม่มีอำนาจเราเป็นประชาชนแต่เรามีสิทธิที่จะพูด แล้วเสียงเราคิดว่า ปอมท.เราก็เสียงดังพอสมควรในการที่จะชี้นำสังคมในเรื่องพวกนี้ออกไป
แล้วผมคิดว่าประเด็นพวกนี้เราน่าเก็บเกี่ยวและในกลุ่มของประชากรชาว ปอมท.ทั้งหลายควรจะสร้างระบอบประชาธิปไตยโดยเริ่มพื้นฐานจากการศึกษา เพราะว่ากระทั่งเด็กก็ยังไม่รู้ประชาธิปไตยที่แท้จริง ผมว่าผิดพลาดมาตั้งแต่ตอนปี ๒๕๒๐ ที่รัฐบาลที่ทำแกงไก่ใส่เหล้าไปสนับสนุนให้คนไปฟังดนตรีจนหมด ที่ท่านอาจารย์รพีบอกว่าเราขาดพื้นฐานทางสังคมค่อนข้างเยอะ เพราะไปสนับสนุนให้ไปนั่งฟังดนตรีจนกระทั่งทุกวันนี้ยังไม่เลิกดนตรี วัยรุ่นทั้งหลายก็ไปเต้น ทั้งหมดเป็นเรื่องของสภาพสังคมซึ่งไม่มีพื้นฐานทางความรู้ในด้านมากพอสมควร เพราะฉะนั้นเราปรับปรุงประชาธิปไตยไปอีกเท่าไหร่ก็ตามก็จะเป็นอย่างนี้ ก็จะล้มลุกคลุกคลานไปเรื่อยๆ เราต้องฉีกอีกไม่ต่ำกว่า ๔-๕ ฉบับแน่ จนกว่าจะได้รัฐธรรมนูญที่ถาวร
ประเด็นของพวกเราผมคิดว่าควรจะขายด้านความรู้ที่เกี่ยวกับทางด้านอาจารย์ที่มาถ่ายทอด แล้วขายในเรื่องของความเป็นจริงการสร้างระบบที่ดีขึ้นมา เมื่อสักครู่ท่านอาจารย์ถามระบบที่ดีหรือคนดี ผมยังบอกว่าผมเลือกระบบท่านอาจารย์เฉลยบอกว่าผิด ผิดก็ผิดเพราะว่าผมมองระบบ ระบบเป็นตัวสร้างอะไรต่างๆขึ้นมาเพื่อที่จะให้คนปฏิบัติ ถ้าคนไม่ดีเข้ามาในความคิดเห็นผมบอกว่าถ้าคนไม่ดีเข้ามาต้องทำตามระบบ ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องออกไปตามวงจร อาจจะต้องติดคุก อาจจะต้องอะไรต่ออะไร แต่พอท่านอาจารย์เฉลยว่าคนดีต้องทำระบบที่ดีก็ยิ่งดีไปใหญ่ แต่ผมมองระบบก่อนเพราะว่าเรายังมองสังคมปัจจุบันเป็นสังคมพื้นฐานที่ยังไม่แน่นในด้านความรู้พอสมควร เพราะฉะนั้นถ้าเรามีกลไกทางด้านระบบ กลไกตรวจสอบที่ดี ทำอย่างไรถึงไม่ให้คนมาซื้อคนตรวจสอบอีกทีหนึ่ง ปัญหาคือตอนนี้ไปซื้อคนตรวจสอบได้ แล้วมาซื้อกระทั่งอำนาจอีกอำนาจหนึ่ง หรือที่เขาเรียกว่าอำนาจตุลาการถ้าซื้อตรงนั้นแล้วก็คือประเทศไทยกำลังวิกฤต แต่แล้ววิกฤตอันนี้ก็คือโอกาส ต่อไปนี้ก็คือโอกาสการที่ไปเกิดเหตุการณ์เสื้อแดงกับรัฐบาล ต่อไปก็เป็นเรื่องโอกาส เพราะฉะนั้นผมคงเสนอความเห็นอย่างเดียวไม่มีคำถาม
อาจารย์
ผมขออีกนิดเดียว องค์การแก้รัฐธรรมนูญที่มีผู้เชี่ยวชาญ มีนักการเมืองอาวุโสที่วางมือแล้ว มีระบบที่แน่นอน ๔ ประการ มีความเป็นระบบ มีเอกสารอธิบายเหตุผลอย่างครบถ้วน มีการขายตรงต่อประชาชนโดยไม่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร ขายตรงเป็นคีย์ของความสำเร็จ และก็มี Super Organ ตัวขายตรง จะไปซ้ำรอยเดิมอีกหรือไม่ พอขายตรงปุ๊บ พวกที่มากลากไปจะไปอีกมั้ย
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
ในการออกแบบรัฐธรรมนูญ เพื่อจัดตั้ง องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ และกำหนดกระบวนการ process ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อเสร็จแล้ว ก็นำมาขายตรงให้ประชาชนออกเสียงประชามติ นั้น ผู้ออกแบบจะต้องคำนึงว่า การมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งหมายถึง การจัดให้กลุ่มผลประโยชน์(ประชาชน) มีบทบาท(ส่วนร่วม)ในขั้นตอนต่าง ๆ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะต้องคำนึงถึงสภาพความจริง เช่น อาชีพ ความรู้ การมีส่วนได้เสีย การขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตัวกับประโยชน์สาธารณะ ฯลฯ และในขั้นสุดท้าย ก็จะให้ ประชาชนทั้งประเทศ ลงมติออกเสียง ทั้งนี้ โดยก่อนที่จะมีการออกเสียงเป็นประชามติ จะต้องมีการให้ ความรู้และทำ ความเข้าใจกับประชาชนทั้งประเทศเกี่ยวกับกลไกต่าง ๆในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ให้มากที่สุด ด้วย เอกสารประกอบรัฐธรรมนูญ และการประชาสัมพันธ์ ; กล่าวโดยรวม ก็คือ เมื่อครบถ้วนกระบวนการแล้ว เราก็ขายตรงแก่ ประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชน(ทั้งประเทศ)จริง ๆ ตัดสินใจด้วยเสียงข้างมาก ; ไม่ใช่ ให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มาอ้างว่าเป็นผู้แทนของประชาชน และตัดสินใจเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองเอง
ดังนั้น เมื่อ ประชาชนทั้งประเทศ ตัดสินใจอย่างไรแล้ว ก็ย่อมเป็นไปตามนั้น เราไม่ควรต้องเป็นห่วง เพราะประเทศเป็นของ ประชาชนทั้งประเทศ และจะต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจของเขาเอง ; เราในฐานะที่เป็นนักวิชาการก็เพียงแต่หา วิธีการที่ทำให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียง มีความรู้และมีความเข้าใจใน สิ่งที่เขาจะต้องใช้สิทธิออกเสียงให้มากที่สุด และป้องกันมิให้มีการทุจริตหรือมีให้น้อยที่สุดในการออกเสียงลงคะแนนเท่านั้น
ผศ. ปฐม ปฐมธนพงศ์ ประธาน ปอมท.
ถ้าเราเทียบจากวิกฤตสมัยก่อน สส.ขายเสียงจนทำให้ยุบพรรคการเมือง นั่นคือแต่ละช่วงเวลาทำให้มีการแก้ปัญหาขึ้นมาเรื่อยๆในตรงนี้ จนก่อนปี ๔๐ มีแต่รัฐบาลผสมมาตลอด เลยไม่มีความเข้มแข็งของพรรคการเมืองที่เกิดขึ้น เลยทำให้มีคนๆ นึงมาใช้ระบบแฟรนไชล์ ซื้อ สส.เขาพรรคของตนเองแล้วก็เข้ามาตรงนั้น พอตรงนี้เสร็จในช่วงนั้นคือที่ผมบอกเงินหนึ่งบาทซื้อประเทศไทยได้ เพราะงบประมาณของเราประมาณ ๖ คือแต่ก่อนประมาณ ๔ ปี ๑ ล้าน อย่างที่อาจารย์ว่าในช่วงปี ๕๐ ที่อาจารย์บอกว่าก็มีการทำประชาพิจารณ์ มีการลงประชามติ
ในรัฐธรรมนูญปี ๕๐ นั้น ขั้นตอนประชาพิจารณ์ได้ทำหมด แต่ผิดตั้งแต่เริ่มต้น ตรงที่เขามีธงอะไรบางอย่าง ถ้าเรามาวิเคราะห์ ปี ๕๐ เขาเอาคนยี่สิบล้านคนออกไปจากระบบในการร่างรัฐธรรมนูญ คือคนที่อยู่ในสังกัดพรรคการเมือง คนยี่สิบล้านคนตรงนี้สังกัดพรรคการเมือง แต่เป็นคนที่มีความตื่นตัวในด้านการเมือง (Activities) เกินสองในสามของประชากรทั้งหมด ผมไม่แน่ใจว่าบางเรื่องผมถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญแต่ถูกดึงออกไปและเอาคนมาร่าง แล้วเขามีธงอะไรไม่รู้ ตอนที่มีการทำประชาพิจารณ์ที่เชียงใหม่ ผมได้ถูกเสนอชื่อว่าเข้าไปร่วมและมาเป็นหัวหน้ากลุ่มในการทำประชาพิจารณ์ตรงนั้น และในกลุ่มทั้งหมดและฟังเสียงจากหลายคนที่มาจากหลายที่ทั้งสี่ภาคก็มีแนวโน้มเป็นทางเดียวกันหมด แต่ปรากฏว่าออกมารัฐธรรมนูญอีกเรื่องหนึ่งเลย นี่คือต้นเหตุของรัฐธรรมนูญปี ๕๐ เพราะว่ามีธงอยู่
สิ่งที่อาจารย์นำเสนอมาให้พวกเรา ผมคิดว่าสุดยอดในตรงนี้ เริ่มต้นตั้งแต่การที่ว่ามีความอิสระของ ส.ส. ซึ่งเป็นไปได้ยากแต่ในช่วงปัจจุบันน่าเป็นไปได้ สมัยก่อนขายกันจริงๆ จนเขาบอกว่าเป็นอาชีพหนึ่ง แต่ตอนนี้ในลักษณะการสื่อสารที่กว้างขวางและพวกเรามีความเข้มแข็งของในด้านของประชาชนมากขึ้น ในความคิดเห็นของอาจารย์ที่ได้มาบอกพวกเราตรงนี้ก็น่าเป็นส่วนหนึ่งที่ว่าเป็นโมเดลหนึ่งของอาจารย์มาตรงนี้ที่เราจะนำเสนออะไรก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่าส่วนหนึ่งรัฐบาล มีคนกลางมาในร่างตรงนี้ คนที่มาบอกว่าคนสามคนบอกคนกลาง ห้าคนบอกไม่ใช่กลาง เพราะฉะนั้นถ้าหาคนกลางไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่างที่อาจารย์ว่าคือเราต้องหาคนทั้งสองฝ่ายมาคุยกันในสัดส่วนที่ยอมรับคนทั้งสองฝ่ายมากกว่า ในขณะที่การขับเคลื่อนไม่ผ่าน เพราะเริ่มต้นจากว่าเป็นพวกไม่ใช่กลาง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่าในขณะที่สังคมไม่ยอมรับความเป็นกลางเราจะทำอย่างไร ในการแก้ไขตรงนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราจะลงเป็นลักษณะเป็นระบบก่อน หรือในอำนาจของเราซึ่งการขาดความรู้ของประชากรเราใช้ลักษณะการใส่รายละเอียดบางจุดที่เราอยากจะได้เป็นตัวกระตุ้นเข้าไป
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
คนกลางย่อมถูก ค้าน ได้เสมอว่าไม่เป็นกลาง ถ้าหากว่าความเห็นของคนกลางไปขัดกับประโยชน์ของคนอื่น เพราะฉะนั้น กระบวนการ process ในการยกร่างรัฐธรรมนูญของ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในการ ขจัดการขัดแย้งเหล่านี้ คือ จะต้องเปิดวิธีการรับฟังความคิดเห็นให้กว้าง และในการรับหรือไม่รับความคิดเห็นเหล่านี้ไว้พิจารณาเพียงใด องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญจะต้องอธิบายให้ชัดเจนในทุกประเด็น ; ส่วนการตัดสินขั้นสุดท้าย ก็จะใช้การตัดสินใจของคนทั้งประเทศ นี่คือ กุญแจสำคัญของความสำเร็จ; แต่ถ้าจะมาบอกว่าคนนั้นคนนี้เป็นกลางหรือไม่เป็นกลาง คงเถียงกันไม่มีที่สิ้นสุด เพราะเมื่อผู้ใดไม่ได้ประโยชน์ ผู้นั้นก็อ้างว่าคนตัดสินไม่เป็นกลาง และไม่มีทางที่จะมีความเห็นตรงกันได้ เพราะฉะนั้น ในการยกร่างรัฐธรรมนูญ จีงต้องใช้ การให้เหตุผล และ ความโปร่งใส เป็นเครื่องมือ
กลุ่มผลประโยชน์ที่มีส่วนได้เสียกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ฯลฯ ประสงค์จะแก้รัฐธรรมนูญในประเด็นใด ก็ขอให้บอกมา แต่โดยที่ท่าน(นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง) มีประโยชน์ได้เสียในการแก้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ท่าน(นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง) จึงไม่ควรจะตัดสินเองและไม่ควรเขียนรัฐธรรมนูญเอง และควรให้ คนอื่น ตัดสิน ; ปัญหามีว่า คนอื่น นั้น คือ ใคร ; คนอื่นนั้น คือ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ กับ ประชาชนทั้งประเทศ กล่าวคือ องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญก็จะมาพิจารณาในทางวิชาการว่า ความประสงค์ของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ที่ขอแก้ไขนั้น เป็นไปเพื่อประสิทธิภาพของการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือไม่ หรือมีประโยชน์ส่วนตัวซ่อนอยู่ และจะรับข้อคิดเห็นของนักการเมือง(ที่มาจากการเลือกตั้ง)ไว้ในการเขียนรัฐธรรมนูญ หรือไม่เพียงใด โดยในการจะรับหรือไม่รับฯลฯ ไว้นั้น องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องอธิบายเหตุผล(ในการรับหรือไม่รับฯ)ไว้ใน เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดแจ้ง ว่า มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพื่อให้บุคคลภายนอกได้รับทราบ และแน่นอน ผู้ที่ตัดสินชี้ขาดขั้นสุดท้าย คือ ประชาชนทั้งประเทศ ในการออกเสียงประชามติ
อาจารย์
คนทั้งประเทศเวลามาชี้สรุปสุดท้ายเขาซื้อได้ตั้งสิบเจ็ดล้านคน
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
ถ้าคนทั้งประเทศส่วนใหญ่ถูกซื้อได้ เราก็ต้องยอม เพราะเป็นสภาพสังคมของเราตามความเป็นจริง แต่เราไม่มีวิธีอื่นที่จะตัดสินได้ดีกว่านี้ ; ถ้าคนทั้งประเทศส่วนใหญ่ซื้อได้ เขาตัดสินอนาคตของเขาเอง เพราะเราเองไม่สามารถอ้างได้ว่า ตัวเราเองแทน ประชาชนทั้งประเทศได้ ; ถ้าสงสัยร่างรัฐธรรมนูญว่า ข้อไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร เราในฐานะนักวิชาการก็จะอธิบายให้ ด้วยความเป็นกลางและครบถ้วน ไม่มี ผลประใยชน์ส่วนตัวที่จะต้องปกปิด และจะจบบทบาทเพียงเท่านี้ ; ประชาชนทั้งประเทศ เขาตัดสินอนาคตของเขาเองครับ
ผศ. ปฐม ปฐมธนพงศ์ ประธาน ปอมท.
ในปี ๕๐ ทำค่อนข้างจะเกือบครบ แต่มีธงอะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นทำให้พลิกหมด สิ่งที่วางแผนทั้งหมดจริงๆแล้วอยู่ภายใต้การว่าราชการหลังบ้านอยู่อันหนึ่ง
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
ผมคงจะไม่พูดว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปีพ.ศ. ๒๕๕๐ ครบหรือไม่ครบ เพราะเป็นเรื่องยาว ; แต่ผมขอเรียนเพียงว่า คำอธิบายหรือเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ นั้น ไม่ได้มาตรฐานของประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะมีเพียง ๑๕ หน้า และไม่ได้ ประเด็น ; ตามที่ผมได้เรียนแล้วว่า ประเทศไทยขาด ความรู้ การที่จะให้ประชาชนทั้งประเทศออกเสียงให้ความเห็นชอบในร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องมีเอกสารชี้แจงสาระสำคัญให้ครบถ้วน ไม่ใช่เรื่องไป ขอร้องกันว่าให้รับไปก่อน แล้วไปแก้กันภายหลัง ; ด้วยเหตุนี้ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๕๐ เพื่อการปฏิรูปการเมืองครั้งใหม่นี้ถ้าหากจะมี จึงจะต้องกำหนด มาตรฐานของการจัดทำเอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญไว้ให้ชัดเจน
ผศ. ปฐม ปฐมธนพงศ์ ประธาน ปอมท.
บังเอิญได้หนังสือฉบับที่การอธิบายทุกมาตรา จาก สสร.ท่านหนึ่งซึ่งท่านให้ผมอยู่ชุดหนึ่ง ผมคิดว่าในจุดๆนั้นประชาชนซึ่งจะต้องมานั่งอ่านตรงนั้นทั้งหมดค่อนข้างยาก เพียงแต่ว่าจะต้องมีองค์กรที่สามารถอธิบายที่เป็นกลางได้จริงให้ทุกคนรู้ก่อน
ศ.ดร. อมร จันทรสมบูรณ์
เอกสารของสภาร่างรัฐธรรมนูญและของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นการอธิบายทีละมาตรา และอธิบายตามมาตราเท่าที่จะได้แก้ไขมา ซึ่งเป็นการอธิบายที่ผิดหลักวิชาการ; อย่าว่าแต่ประชาชนจะอ่านไม่เข้าใจเลยครับ นักวิชาการเองก็อ่านไม่เข้าใจ ; ผมขอเรียนว่า ปัญหา(ในทางการเมือง) มีหลาย ประเด็น ในแต่ละ ประเด็นอาจมีการแก้ไขได้หลายมาตรการ ในแต่ละมาตรการเหล่านี้อาจเขียนไว้ใน บทมาตราหลายมาตรา ที่ไม่จำเป็นจะต้องเรียงกันอยู่แต่จะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ; ดังนั้น การอธิบายเป็น รายมาตราจึงอ่านไม่รู้เรื่อง และมองไม่เห็นจุดหมายโดยรวม ; เอกสารประกอบร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรฐานสากล จะต้องอธิบายโดยแยก ปัญหา และในแต่ละปัญหาจะ ต้องแยกประเด็นให้ถูกต้อง และจะต้องอธิบายให้เห็นได้ว่า ปัญหาเหล่านั้นสามารถแก้ไขได้ด้วยมาตรการใด ในประเด็นใด และอยู่ในบทมาตราใด ; ผมก็หวังอยู่ว่า องค์กรยกร่างรัฐธรรมนูญของเราหากจะมีขึ้น คงทำหน้าที่นี้ได้
ผศ. ปฐม ปฐมธนพงศ์ ประธาน ปอมท.
พวกเราคงจะได้รับอะไรเยอะมาก แต่สิ่งที่เราได้รับมากมายมหาศาล เทียบเวลาถ้าไปอ่านหนังสือต้องใช้เวลามากกว่าสิบเท่า และแนวคิดต่างๆที่ได้รับจะเปิดโลกทัศน์ ของพวกเราได้เห็นถึงความเป็นจริง ผมคิดว่าเป็นแนวทางที่เป็นกลาง แล้วมองประเทศชาติเป็นหลัก เราไม่ได้มองที่กลุ่มผลประโยชน์ เราจะถูกมองทุกครั้งว่าใครพูดอย่างไร แต่วันนี้เห็นชัดเจนเลยว่าไม่ได้มองถึงกลุ่มผลประโยชน์เลยเอาประเทศชาติเป็นหลัก ทางในนามของ ปอมท.ขอกราบของพระคุณท่านอาจารย์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1384
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|