|
|
ครั้งที่ 218 2 สิงหาคม 2552 21:47 น.
|
ครั้งที่ 218
สำหรับวันจันทร์ที่ 3 สิงหาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 16 สิงหาคม 2552
ประเทศชาติต้องมาก่อน
สืบเนื่องมาจากบทบรรณาธิการครั้งที่ผ่านมาเรื่อง อนุญาโตตุลาการในสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน ที่ผมได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับความพยายามของกระทรวงยุติธรรมที่จะเสนอร่างกฎหมายแก้ไขกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการเพื่อกำหนดห้ามใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชนนั้น เป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ที่ผ่านมาได้ คว่ำ ร่างกฎหมายดังกล่าวโดยเกรงว่าจะสร้างปัญหาความเชื่อมั่นในการลงทุนให้กับนักธุรกิจนานาชาติครับ ก็ดีนะครับที่ยังมี บางคน ในคณะรัฐมนตรีที่มองเห็นเรื่องดังกล่าวว่า อาจ สร้างปัญหาให้กับประเทศไทยในอนาคตได้ ก็ได้แต่หวังไว้ ณ ที่นี้ว่าก่อนที่กระทรวงยุติธรรมจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวกลับเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ควรจะศึกษากฎหมายของต่างประเทศให้ละเอียดรอบคอบและควรจะต้องพิจารณาดูข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในบ้านเราด้วยว่าบรรดา ค่าโง่ ทั้งหลายนั้นเกิดจากการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการหรือเกิดจากตัวบุคคลที่มาเป็นอนุญาโตตุลาการที่ไม่มีความเจนจัดด้าน กฎหมายมหาชน ที่มุ่งเน้นการรักษาประโยชน์สาธารณะ หรือเกิดจากวิธีการคำนวณค่าเสียหายให้เอกชนที่ไม่ใช่ ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงและมีอยู่จริงในวันที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้น กันแน่ครับ!!!
เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ของไทยแห่งหนึ่ง การให้สัมภาษณ์ดังกล่าวมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจมาก แม้ ผู้สัมภาษณ์ จะทำให้ผมรู้สึกหงุดหงิดอยู่บ้างก็ตาม!!!
นางฮิลลารีฯ ให้สัมภาษณ์หลายเรื่อง รวมทั้งเรื่องการเมืองไทยด้วย ผมชอบที่เธอเปรียบเทียบการเมืองไทยว่า เผ็ดร้อนยิ่งกว่าอาหารไทย ฟังแล้วเห็นภาพชัดเจน และนอกจากวลีดังกล่าวแล้ว ที่น่าสนใจที่สุดเห็นจะเป็นถ้อยคำที่ว่า ประเทศชาติต้องมาก่อน เพราะ การเมืองมาแล้วก็ไป คนแพ้และชนะการเลือกตั้งทันทีที่การเลือกตั้งจบลง คุณอาจยังมีความเห็นด้านนโยบายที่ไม่ตรงกันแต่ความพยายามเดินหน้าไปด้วยกันเพื่อประโยชน์ของชาติ
สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาพูดจริง ๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไรทั้งนั้น เพราะเราสามารถพบเห็นความคิดดังกล่าวได้จากนักการเมืองระดับสูงของประเทศมหาอำนาจ ในอดีตที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเคนเนดีก็ได้เคยกล่าว ประโยคอมตะ เอาไว้ที่ยัง กินใจ ประชาชนทั่วโลกจนกระทั่งทุกวันนี้คือ อย่าถามว่าประเทศชาติจะให้อะไรกับคุณได้บ้าง ให้ถามตัวเองก่อนว่าคุณจะทำอะไรให้กับประเทศชาติได้บ้าง ประโยคเหล่านี้ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นถึง วิสัยทัศน์ ของนักการเมืองที่ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามประเทศชาติต้องมาก่อนครับ!!!
คำว่า ประเทศชาติต้องมาก่อน เป็นคำที่มีความหมายมากและก็มีความหมายกว้าง ในสหรัฐอเมริกานั้น ประเทศชาติถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดลำดับแรกที่ทั้งนักการเมืองและประชาชนย่อมต้องคำนึงถึง ในขณะที่ฝรั่งเศส ประโยชน์มหาชน หรือ ประโยชน์สาธารณะ ก็เป็นสิ่งแรกที่ทั้งนักการเมือง ฝ่ายปกครองและประชาชนย่อมต้องคำนึงถึง แม้ถ้อยคำทั้งสองดูแล้วจะมีความแตกต่างกัน แต่ในที่สุด ผลก็เหมือนกันคือ ประโยชน์ส่วนตัวต้อง มาทีหลัง ประโยชน์ส่วนรวม นั่นเองครับ
ผมไม่ทราบว่า นักการเมืองไทย คิดเรื่องเหล่านี้อย่างไรบ้าง! ที่ผ่านมานั้น ตลอดระยะเวลาของ ระบอบประชาธิปไตย ของไทย เรายังไม่เคยเห็นนักการเมืองระดับ 5 ดาว ที่จะไปเทียบชั้นกับนักการเมืองต่างประเทศได้ จริงอยู่ที่เรามีนักการเมือง น้ำดี อยู่จำนวนหนึ่งแต่นักการเมืองน้ำดีเหล่านั้นก็ไม่สามารถ ปีนป่าย ไปถึงจุดที่จะแสดงความเป็นผู้นำที่นึกถึง ประเทศชาติ หรือ ประโยชน์มหาชน ก่อนได้ ด้วยเหตุนี้เองที่พัฒนาการทางการเมืองของเราในช่วงเวลา 70 กว่าปี ยังคงไปไม่ถึงไหน การทุจริตคอรัปชั่นเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง การใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องยังคงมีอยู่และนับวันก็จะมากขึ้น ๆ 70 กว่าปีของระบอบประชาธิปไตยที่ผ่านมานักการเมืองเคยเป็นอย่างไร ในวันนี้ก็ยังคงเป็นอย่างนั้นต่อไปครับ
ปัจจุบัน ประเทศไทยเรามีปัญหารุมเร้ามากเหลือเกิน รัฐบาลไม่ทราบว่ายังยืนอยู่ได้อย่างไรเพราะต้องผจญกับมรสุมทางการเมืองอยู่ตลอดเวลา ปัญหาของประเทศไทยมีทั้งที่เกิดขึ้นจากภายนอกและจากภายในรัฐบาลเอง โดยปัญหาที่เกิดขึ้นภายนอกรัฐบาล ได้แก่ ปัญหาสำคัญของประเทศที่ยังแก้ไขไม่ได้และนับวันก็จะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ คือ ปัญหาหวัด 2009 ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม แค่นี้ก็ทำให้รัฐบาลแทบจะไม่มีเวลาหายใจแล้ว แต่รัฐบาลก็ยังต้องมาเจอกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในรัฐบาลเองคือ ปัญหาที่พรรคร่วมรัฐบาลไม่ค่อยมีความเป็นเอกภาพ ด้วยปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวไปทำให้ในช่วงเวลา 6 เดือน ที่รัฐบาลเข้าบริหารประเทศ เราจึงไม่ค่อยเห็นผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอันเท่าไรนัก
ทำไม 6 เดือนที่ผ่านมาของรัฐบาลจึงไม่มีผลงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน!!! ในเรื่องนี้ผมวิเคราะห์ได้ว่ามาจาก 2 ปัจจัยหลักที่สำคัญ ปัจจัยแรกคือ เนื่องจากปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเป็นปัญหาที่ หนักหนาสาหัส และ สะสมมานาน รวมทั้งบางปัญหายังเป็นปัญหา ระดับโลก ดังนั้น ระยะเวลาเพียง 6 เดือน จึงยังทำให้การแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่เป็นรูปธรรม ประกอบกับ คนที่เข้ามาทำหน้าที่แก้ปัญหา ไม่ใช่คนที่มี ฝีมือ ระดับเดียวกับ ปัญหา ดังนั้น จึงทำให้ปัญหาต่าง ๆ ยังคงเป็นปัญหาค้างคาอยู่ในวันนี้และมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาไปในทางที่ยุ่งยากมากขึ้นกว่าขึ้นกว่าเดิมในระยะเวลาข้างหน้า ส่วนปัจจัยที่สองนั้น ผมมีความรู้สึกว่ารัฐบาลนี้มุ่งเน้นกับการ ตามล่าทักษิณฯ มากเกินไปจนกลายเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลไปแล้ว ทุกวันไม่ว่าจะดูข่าว ฟังข่าวหรืออ่านข่าว ก็จะต้องพบว่ามีการดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับ คุณทักษิณฯ ตลอดเวลาซึ่งผมก็พยายามถามตัวเองหลายต่อหลายครั้งว่าคืออะไร สิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ทุกวันนี้ดู ๆ แล้วไม่ต่างไปจากการดำเนินการของ คมช. ในช่วงที่เกิดการรัฐประหารที่ คมช. ตั้งหน้าที่จะพิฆาตฝ่ายคุณทักษิณฯ ให้หายไปจากสารบบการเมืองไทย เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นความพยายามที่จะไล่ปิดสื่อทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับ คุณทักษิณฯ การนำทุกเรื่องที่คุณทักษิณฯ พูด คุณทักษิณฯ คิด คุณทักษิณฯ ทำ ไปโยงกับเรื่องที่กระทบกับความรู้สึกของคน หรือแม้กระทั่งการที่รัฐมนตรีบางคนที่ทั้งพูดและทำเพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลพยายามทุกวิถีทางที่จะนำตัวคุณทักษิณฯ กลับมาลงโทษให้ได้ ความเข้าใจผิดในบทบาทของรัฐบาลจึงทำให้เรามองเห็นว่าการ ไล่ล่า คุณทักษิณฯ เป็น ภารกิจหลัก ของรัฐบาลนี้มากกว่าการเข้าไปแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศครับ
ผมมองดูแล้ว ถ้ายังคงปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างดำเนินไปเช่นปัจจุบันประเทศไทยก็ยังคงไม่มีอะไรใหม่และประเทศไทยก็จะเข้าสู้ยุคของการต่อสู้ที่รุนแรงขึ้นไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่รัฐบาลยังคงหมกมุ่นอยู่กับภารกิจไล่ล่าคุณทักษิณฯ รัฐบาลก็จะ เสีย มวลชนจำนวนหนึ่งไป เพราะก็อย่างที่เราเห็นว่า คนไทยจำนวนหนึ่งซึ่งก็มีจำนวนมากพอควรยังคง รักทักษิณ อยู่ การไล่ล่าคุณทักษิณฯ การสร้างข่าวต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดผลลบกับคุณทักษิณฯ ย่อมทำให้ประชาชนที่ยังรักคุณทักษิณฯ อยู่ตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะทำอะไรก็จะต้องมีหรือถูกคัดค้านอยู่ตลอด ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปอีก 6 เดือนข้างหน้ารัฐบาลก็ยังคงเป็นรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ปัญหาสำคัญของประเทศได้ และหากฝ่ายที่รักคุณทักษิณฯ สามารถ ตีตื้น ขึ้นมาได้และกลายเป็นเสียงสนับสนุนทางการเมืองที่มีจำนวนมากกว่าเสียงสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล โอกาสที่จะเกิดการรัฐประหารครั้งใหม่ก็เป็นไปได้ไม่ยากนักเช่นกันครับ
ในสภาวะบ้านเมืองเช่นนี้ สิ่งที่รัฐบาลต้องรีบเร่งทำที่สุดคือ การแก้ไขปัญหาสำคัญทุกปัญหาของประเทศดังที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นให้สำเร็จลุล่วงไปโดยเร็วที่สุด การแก้ปัญหาทุกปัญหารัฐบาลต้องนำคนที่เก่งที่สุดในด้านต่าง ๆ เข้ามาทำงาน ในวันนี้เรายังคงพบ รัฐมนตรี บางคนที่ ไม่รู้ว่าเป็นใคร มาจากไหน เก่งด้านใด แต่มีโอกาสเข้ามาทำงานในตำแหน่งดังกล่าวเพราะ สมาชิกพรรคการเมืองต้องมาก่อน ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วใน 2 รัฐบาลก่อนหน้านี้ เมื่อเรามีรัฐมนตรีที่ไม่มีความเจนจัดเข้ามาทำงาน ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นานวันเข้ารัฐบาลก็จะไม่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชน เพราะฉะนั้น สิ่งที่นายกรัฐมนตรี น่าจะ ลองทำดูคือการปรับคณะรัฐมนตรีใหม่และนำผู้ที่เก่งที่สุดในแต่ละด้านซึ่งคงไม่ใช่นักการเมืองอย่างแน่นอนเข้ามาช่วยแก้ปัญหาของประเทศเป็นวาระเร่งด่วนครับ ส่วนปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองนั้นคงต้องหยุดพักเอาไว้ก่อนเพราะไม่ใช่เรื่องสำคัญอะไรมากมาย การไล่ล่าคุณทักษิณฯ ที่ดูแล้วก็คงไม่เกิดประโยชน์อะไรกับประเทศชาติเท่าไรนักน่าจะเป็นสิ่งที่สร้างภาพลบให้กับรัฐบาลในเวทีต่างประเทศมากขึ้นเพราะอย่าลืมนะครับว่าคุณทักษิณฯ ต้องพ้นจากตำแหน่งไปเนื่องจากการรัฐประหารที่แทบจะเรียกได้ว่าเกือบจะทุกประเทศในโลกต่อต้านการรัฐประหารครับ
ส่วนปัญหาความแตกแยกของคนไทยที่แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันนั้น หากรัฐบาลจะแก้คงไม่ยาก อย่างแรกที่ต้องทำก็คือเลิกให้ความสนใจกับการเคลื่อนไหวของคุณทักษิณฯ และผู้สนับสนุน ตราบใดที่รัฐบาลยังออกมา เต้น ตราบนั้นเรื่องก็จะไม่มีวันสงบ เผลอ ๆ อาจรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้ การสั่งการให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของ ทั้ง 2 ฝ่าย รีบเร่งดำเนินการตามกฎหมายอย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมา มีเหตุผลประกอบจะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายไปได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ หากนายกรัฐมนตรีต้องการ ก้าวไปอีกขั้น ก็สามารถทำได้ด้วยการดึงมวลชนของทั้ง 2 ฝ่ายให้กลับมานึกถึง ประเทศชาติ ให้มากขึ้น ไม่ยากหรอกครับ ลองนำเอาตัวเลขความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจของประเทศในช่วงเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านมาที่เกิดจากการชุมนุม ประท้วง บุกยึดทำเนียบรัฐบาล บุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิ และเหตุการณ์เมื่อวันสงกรานต์ที่ผ่านมา ออกมาเปิดเผยให้ประชาชนทราบและเปรียบเทียบกับสิ่งที่ประชาชนจะได้จากตัวเลขดังกล่าวหากไม่เกิดการชุมนุมประท้วงขึ้น เช่น สามารถนำเงินดังกล่าวไปสร้างโรงเรียน โรงพยาบาลได้กี่แห่งเป็นต้น พยายามทำให้ประชาชนซึมซับกับข้อมูลเหล่านั้น ผมคิดว่าประชาชนส่วนหนึ่งคงหลีกเลี่ยงที่จะออกไปชุมนุมประท้วงหากทราบว่าประเทศไทยและประชาชนคนไทยต้อง สูญเสีย อะไรไปบ้างที่เกิดจากการชุมนุม ไม่นาน รัฐบาลก็จะสามารถแก้ปัญหาการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายได้ง่ายขึ้นเพราะมวลชนส่วนหนึ่งจะกลายเป็นมวลชนที่ปฏิเสธการเข้าร่วมชุมนุมเพราะทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสีย ส่วนทางด้านคุณทักษิณฯ นั้นเขาอยากจะทำอะไรก็ปล่อยให้ทำไปเพราะหากรัฐบาลไม่ไปตอบโต้ วันหนึ่งชื่อของคุณทักษิณฯ ก็คงจะค่อย ๆ หายไปเองครับ!! ทุกวันนี้ คุณทักษิณฯ และผู้สนับสนุนอาศัย การข่าว ทำให้ตนเองอยู่ในกระแสความทรงจำของประชาชนคนไทย แต่ข้อจำกัดของคุณทักษิณฯ อยู่ที่ไม่สามารถเดินทางกลับมายังประเทศไทยได้ ที่ทำได้จริง ๆ ก็แค่ ขายความฝัน ให้กับประชาชนเท่านั้นเอง ส่วนรัฐบาลซึ่งยังคงอยู่ใน พื้นที่ จึงน่าจะได้เปรียบกว่าเพราะสามารถ ทำให้ความฝัน ทั้งหลายเป็นจริงได้ ดังนั้น การรีบเร่งสร้างผลงานด้วยการแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศให้ลุล่วงไปได้อย่างดีและรวดเร็วจึงเป็นหนทางเดียวที่จะพิสูจน์ให้คนไทยเห็นว่า รัฐบาลนี้เก่งกว่ารัฐบาลคุณทักษิณฯ ครับ
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าฝ่ายใดจะทำอะไรก็อย่าลืมนึกไว้เสมอนะครับว่า ประเทศชาติต้องมาก่อน
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอเพียงบทความเดียว คือ บทความเรื่อง ความสับสนระหว่างการขาดคุณสมบัติกับลักษณะต้องห้าม ของคุณชำนาญ จันทร์เรือง ผมขอขอบคุณคุณชำนาญฯ ไว้ ณ โอกาสนี้ครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1377
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:33 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|