ข้อควรคำนึงในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550

4 กรกฎาคม 2552 22:06 น.

       เมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2550 เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว “รัฐธรรมนูญฉบับ รับไปก่อน แก้ทีหลัง” ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขดั่งคำเชิญชวนให้ประชาชนออกเสียงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด ปัญหาอุปสรรคที่รัฐธรรมนูญยังไม่ได้รับการแก้ไข (ให้มีความเป็นประชาธิปไตย) นั้น ก็คงจะมีอยู่หลายเหตุปัจจัยด้วยกัน โดยประเด็นหลักก็น่าจะเป็นการที่กลุ่มพันธมิตรฯ ได้ออกมาเรียกร้องปกป้องรัฐธรรมนูญอย่างหัวชนฝา และเรียกร้องขับไล่รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่มีแนวความคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญตามที่ได้สัญญากับประชาชนในช่วงที่มีการหาเสียงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ 23 ธันวาคม 2550
       จนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคพลังประชาชน และตัดสิทธิ์ทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรค ส่งผลให้พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้มีการเสนอแก้ไขในประเด็นต่างๆ เช่น ประเด็นการยุบพรรค , ประเด็นของระบบเลือกตั้ง , ประเด็นที่มาของ ส.ว. , การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นต้น แต่ก็ดูเหมือนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยังคงไม่สามารถที่จะหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายพอใจได้ ผู้เขียนเองในฐานะที่ไม่เคยเห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 และเป็นผู้หนึ่งที่ได้ไปออกเสียงประชามติเพื่อไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ด้วยเหตุผลไม่ว่าจะเป็นทั้งที่มา และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ได้ทำลายคุณค่าของความเป็นนิติรัฐ และคุณค่าของระบอบประชาธิปไตยลงไปเสียสิ้น ผู้เขียนจึงไม่เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 นี้ จะยังคงเป็นกติกาสูงสุดของประเทศ (ที่อยากเป็น) เสรีประชาธิปไตยได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง รัฐธรรมนูญ 2550 เพราะมิเช่นนั้นแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับหน่อเนื้อเชื้อไขของการรัฐประหารนี้จะนำประเทศเดินไปบนหนทางที่เป็นคู่ขนานกับหลักนิติรัฐและประชาธิปไตย ผู้เขียนเองเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 มีข้อบกพร่องอยู่มากมาย บางประเด็นเป็นปัญหาและอุปสรรคกับการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งประเด็นที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นเรื่องที่ผู้เขียนเห็นว่าเป็นข้อสำคัญที่สุดที่ควรได้รับการพิจารณาก่อนประเด็นอื่นๆ ผู้เขียนเห็นว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไม่น่าจะสอดคล้องกับหลักนิติรัฐ อันจะส่งผลให้ประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะพัฒนาการได้ โดยจะได้นำเสนอเป็นลำดับ ดังนี้
       
       ความหมายและลักษณะของนิติรัฐ (legal state)
       
ภายหลังจากที่มีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เรามักจะได้ยินบุคคลชั้นนำกล่าวอ้างอยู่บ่อยครั้งว่า ประเทศจะต้องปกครองด้วยหลักนิติรัฐ (แม้บุคคลเหล่านั้นอาจจะไม่ได้เข้าใจในความหมายของคำนี้เลยก็ตาม) แท้จริงแล้วนิติรัฐนั้นมีพัฒนามาจากกลุ่มประเทศภาคพื้นยุโรป ซึ่งมีแนวความคิดว่า รัฐมีลักษณะเป็นนามธรรม อำนาจรัฐนั้นเป็นของทุกคนในสังคม ผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐนั้นไม่สามารถที่จะสืบทอดอำนาจทางตระกูลได้ ต่อมาเมื่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยพัฒนาขึ้น นิติรัฐจึงถูกอธิบายให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย โดยอธิบายว่านิติรัฐคือ การที่รัฐต้องอยู่ภายใต้กฎหมายมิใช่อยู่เหนือกฎหมาย ผู้ปกครองหรือผู้ใช้อำนาจเป็นเพียงผู้แทนเข้าไปใช้อำนาจรัฐ ทั้งผู้ใช้อำนาจและประชาชนทุกคนจึงต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ดังนั้น นิติรัฐจึงต้องเคารพทั้งกระบวนการในการตรากฎหมาย และกระบวนการที่จะบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งถือเป็นเจตจำนงร่วมของประชาชนทุกคนในระบอบประชาธิปไตย เพราะกฎหมายออกโดยสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หากรัฐใดไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ยึดมั่นในรัฐธรรมนูญ ไม่เคารพกระบวนการออกกฎหมายโดยสภาที่มาจากประชาชน ไม่บังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่แท้จริงของกฎหมาย ย่อมไม่ใช่นิติรัฐ หรือรัฐที่ทำอะไรก็ได้เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของผู้ใช้อำนาจอธิปไตยในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าในทางนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการ โดยไม่คำนึงถึงรูปแบบวิธีการและความเป็นธรรม แม้ว่ารัฐนั้นจะมีตัวบทกฎหมายแต่หากกฎหมายนั้นไม่มีความเป็นธรรมก็ไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นนิติรัฐ
       นิติรัฐ จึงไม่ได้มีความหมายหยุดอยู่ที่ว่าเป็นการที่รัฐปกครองด้วยกฎหมายเท่านั้น แต่นิติรัฐ ต้องเป็นรัฐที่ปกครองโดยกฎหมายที่เป็นธรรม ซึ่งตราออกมาโดยสภานิติบัญญัติที่เป็นตัวแทนของประชาชนเท่านั้น หากรัฐใดมีการปกครองโดยมีการบังคับใช้บทบังคับที่ออกโดยคณะปฏิวัติ หรือคณะรัฐประหาร ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่าบทบังคับเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากความยินยอมพร้อมใจของประชาชน หรือมีความเชื่อมโยงอำนาจจากประชาชนแต่อย่างใด รัฐดังกล่าวนั้นจะอ้างตนว่าปกครองโดยหลักนิติรัฐหาได้ไม่
       
ด้วยเหตุผลเช่นนี้ นิติรัฐ จึงเป็นหลักพื้นฐานของการปกครองที่ว่ารัฐ องค์กรของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และประชาชนของรัฐ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายที่ตราออกมาโดยสภาตัวแทนของประชาชนของรัฐนั้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรนิติบัญญัติ องค์กรบริหาร หรือองค์กรตุลาการ ต่างก็ต้องอยู่ภายใต้หลักดังกล่าวทั้งสิ้น หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว หลักนิติรัฐ จึงเรียกร้องให้การใช้อำนาจของรัฐจะต้องเป็นไปเพื่อปกป้อง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
       
       ลักษณะของรัฐที่มีความเป็นนิติรัฐ มีข้อพิจารณาดังนี้
       
       ประการแรก คือ ต้องมีหลักการแบ่งแยกอำนาจ (Separation of Power) เนื่องจากว่าอำนาจอธิปไตย (Sovereignty) นั้น เป็นอำนาจสูงสุดของรัฐทั้งในด้านการตรากฎหมาย ด้านการบริหารการบังคับใช้กฎหมาย และด้านการตัดสินชี้ขาดข้อพิพาทต่างๆ หากองค์กรใดองค์กรหนึ่งเพียงองค์กรเดียวมีเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสามอำนาจดังกล่าว ก็อาจจะมีการใช้อำนาจไปในทางการละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือประโยชน์ของประชาชนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลักการแบ่งแยกอำนาจนั้นจึงถือเป็นหลักการพื้นฐานของหลักนิติรัฐ เพราะหลักนิติรัฐไม่สามารถที่จะสถาปนาขึ้นได้ในระบบที่ไม่มีการแบ่งแยกอำนาจ เพราะฉะนั้น ประเทศที่ปกครองตามหลักนิติรัฐจะต้องเป็นประเทศที่มีการแบ่งแยกองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตยออกจากกัน ซึ่งองค์กรหลักทั้งสามองค์กรจะต้องสามารถที่จะควบคุมและตรวจสอบซึ่งกันและกันได้ (Check and balance)
       ประการที่สอง คือ ต้องมีหลักความสูงสุดของการเป็นกฎหมาย (supremacy of law) ซึ่งหมายถึงว่าการที่รัฐจะใช้อำนาจกระทำการใดๆ ที่มีผลกระทบกับประชาชนพลเมืองของตนได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายที่ตราออกมาโดยสภาที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ให้อำนาจเป็นสำคัญ
       ประการที่สาม คือ ต้องมีหลักการตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองโดยศาล ( judicial review ) โดยหมายถึงการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำของฝ่ายบริหารหรือฝ่ายปกครองโดยองค์กรตุลาการ และตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย โดยองค์กรตุลาการ
       ประการสุดท้าย คือ ตุลาการหรือศาลที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบต้องมีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่
       
       นิติรัฐกับรัฐธรรมนูญ 2550
       

       รัฐธรรมนูญ 2550 ได้มีบทบัญญัติที่เรียกได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่ทำลายหลักนิติรัฐลงคือมาตรา 309 ซึ่งบัญญัติว่า “บรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้”
       
การที่จะทราบว่ามาตรา 309 ได้รับรองสิ่งใดบ้างจึงต้องย้อนกลับไปดูในรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 ว่าได้รับรองสิ่งใดไว้บ้าง ซึ่งปรากฏในมาตรา 36 บัญญัติว่า “บรรดาประกาศและคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่ได้ประกาศหรือสั่งในระหว่างวันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 จนถึงวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ไม่ว่าจะเป็นในรูปใดและไม่ว่าจะประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้มีผลใช้บังคับต่อไปและให้ถือว่าประกาศหรือคำสั่ง ตลอดจนการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นไม่ว่าการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้นจะกระทำก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้เป็นประกาศหรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ”
       
ดังนั้น จึงสรุปได้ว่ามาตรา 309 ได้รับรองให้ 1.) ประกาศ คปค. 2.) คำสั่ง คปค. 3.) การปฏิบัติตามประกาศ หรือตามคำสั่ง คปค. ไม่ว่าก่อนหรือหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2550 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2550
       
ผลที่ตามก็คือ ประกาศ คปค. , คำสั่ง คปค. และการกระทำตามประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปทั้งหมด ซึ่งในเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ศาลทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง หรือศาลยุติธรรม จึงไม่อาจตรวจสอบ ประกาศ คปค. , คำสั่ง คปค. หรือการกระทำตามคำสั่งหรือประกาศนั้นได้ แม้โดยเนื้อหาของประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้นจะไม่ชอบ หรือการกระทำตามประกาศหรือคำสั่งจะไม่ชอบ แต่มาตรา 309 ได้รับรองไว้ก่อนแล้วว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ตามก็คือ แม้จะมีการฟ้องคดีไปที่ศาลว่ามีการกระทำตามประกาศ คปค. ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ แต่ศาลก็ไม่อาจจะตรวจสอบได้เลย นอกจากวินิจฉัยเป็นปัญหาข้อกฎหมายเบื้องต้นว่าไม่อาจรับคดีนี้ไว้ตรวจสอบ หรือวินิจฉัยว่าการกระทำนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว เพราะมีการรับรองเอาไว้แล้วว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ดังนั้น มาตรา 309 จึงเป็นบทบัญญัติที่มีผลเป็นการตัดอำนาจการตรวจสอบขององค์กรตุลาการ ( judicial review ) อันเป็นหลักการพื้นฐานของนิติรัฐ อันจะตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจอธิปไตยให้เกิดดุลยภาพ นอกจากนี้ ยังเป็นบทบัญญัติที่ปฏิเสธที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของบุคคลจากการใช้อำนาจอันมิชอบธรรมอีกด้วย ผู้เขียนจึงเห็นว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะมีจุดขายว่ามีการคุ้มครอง ส่งเสริมและการขยายสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเต็มที่ แต่หากสิทธิเสรีภาพของบุคคลถูกละเมิดจากการกระทำตามประกาศ หรือคำสั่งของ คปค. กลับไม่สามารถที่จะใช้สิทธิทางศาล หรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ทางศาลได้เลย เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 309 ได้รับรองไว้แล้วว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น แม้ว่ารัฐธรรมนูญ 2550 จะบัญญัติว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมีอยู่อย่างมากมายเพียงไร ก็คงเป็นเพียงตัวหนังสือที่อยู่ในกระดาษเท่านั้น หาได้มีความหมายอย่างใดไม่ เพียงเท่านี้ก็เพียงพอแล้วที่ผู้เขียนจะสรุปว่ารัฐธรรมนูญ2550 ไม่สอดคล้องกับหลักนิติรัฐแม้แต่น้อย
       ตัวอย่าง กรณีที่ศาลได้นำบทบัญญัติในมาตรา 309 มาเป็นข้อสนับสนุนในการวินิจฉัยคือ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2551 กรณีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ส่งคำโต้แย้งของจำเลย (พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ 1 กับพวกรวม 47 คน) ที่โต้แย้งกรณีการแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ(ค.ต.ส.) ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 และกรณีการขยายระยะเวลาดำเนินการของคณะกรรมการตรวจสอบออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 พ.ศ.2550 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่
       
       ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัย โดยมีเหตุผลสนับสนุนตอนหนึ่งว่า “....................นอกจากนี้มีมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัตินี้ยังได้บัญญัติรับรองไว้ในบทเฉพาะกาลอีกชั้นหนึ่งด้วยว่า “บรรดาการใด ๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว)พุทธศักราช 2549 ว่าเป็นการชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ให้ถือว่าการนั้นและการกระทำนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้” เมื่อประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 มาตรา 36 ว่าชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วการตราพระราชบัญญัติที่เป็นปัญหาในคดีนี้จึงเป็นเพียงการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกับกรณีดังกล่าว แม้พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครอง ฯ ฉบับนี้ได้ประกาศใช้บังคับภายหลังวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ต้องได้รับการรับรองตามบทเฉพาะกาลมาตรา 309 ของรัฐธรรมนูญนี้ว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเช่นกัน……..”
       

       “ดังนั้น จึงวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ลงวันที่ 30 กันยายน พุทธศักราช 2549 พ.ศ. 2550 ที่ขยายระยะเวลาดำเนินการของ คตส. ออกไปถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2551 มิได้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตราใดเลย”
       
       การที่ศาลรัฐธรรมนูญได้นำมาตรา 309 มาเป็นเหตุผลในการวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 ย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันแล้วว่ามาตรา 309 นั้นมีอิทธิฤทธิ์มากมายเพียงใด และยังเป็นเครื่องยืนยันอีกประการหนึ่งว่าหลักนิติรัฐนั้นยังคงมีอยู่หรือไม่ เพราะเพียงแค่อ้างถึงมาตรา 309 เท่านั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมีเหตุผลใดๆ อีกเลย หากจะกล่าวให้ถึงที่สุดและเข้าใจง่ายๆ ก็คือ “ในเมื่อมาตรา 309 บอกว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก็ต้องชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยไม่ต้องถามหาเหตุผลใดๆ อีกนั่นเอง”
       

       นอกจากนี้ยังมีผู้กังวลว่าการยกเลิกมาตรา 309 จะเป็นผลให้คดีของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ต้องหลุดพ้นไปหมด ย่อมเป็นความเข้าใจที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง เพราะการยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรานี้ จะทำให้ประกาศ คปค. ,คำสั่ง คปค. และการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งเหล่านั้นของเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกตรวจสอบถึงความชอบด้วยรัฐธรรมนูญโดยองค์กรตุลาการได้เท่านั้น ศาลจะวินิจฉัยให้การเหล่านี้ชอบหรือไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะสิ่งที่ควรจะคำนึงถึงเป็นประการแรกภายใต้หลักนิติรัฐ คือ การที่จะต้องทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างสามารถที่จะถูกตรวจสอบได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีกฎหมายใดหรือการกระทำใดมีเอกสิทธิ์ที่ไร้เหตุผลมาเป็นเกราะป้องกันเพื่อให้หลุดพ้นจากการตรวจสอบไปได้อย่างที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้
       
       สรุป ผู้เขียนจึงเห็นว่าไม่ว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญกี่มาตราก็ตาม หากมาตรา 309 ยังคงปรากฏอยู่ในกฎหมายสูงสุดของประเทศต่อไป ประเทศไทยก็ยังคงอยู่บนเส้นทางที่เป็นคู่ขนานกับหลักนิติรัฐ โดยไม่มีวันที่จะอยู่บนเส้นทางเดียวกันได้เลย และก็คงจะเป็นถ้อยคำที่สร้างให้ผู้พูดดูดีเพื่อสร้างความ ชอบธรรมให้แก่ตนเองในการทำลายอีกฝ่ายหนึ่งต่อไป
       
       02 /07/ 2552


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1372
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 16:53 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)