|
 |
หลักแห่งความเสมอภาคตามกฎหมายฝรั่งเศส 20 ธันวาคม 2547 16:15 น.
|
ความนำ
 
หลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายมหาชนฝรั่งเศสที่ได้รับการสร้างขึ้นโดยสภาแห่งรัฐ(Conseil d'Etat)ก็ดีหรือโดยตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส(Conseil Constitutionnel)ก็ดีมีจำนวนมากขึ้นๆทุกวัน ซึ่งสามารถสรุปได้สามหลักใหญ่ๆคือ การรับรองและคุ้มครองเสรีภาพ (la liberté) การคุ้มครองความมั่นคงทางกฎหมาย(la securité)และการรับรองและคุ้มครองความเสมอภาค(l'egalité) การรับรองและคุ้มครองความเสมอภาคถือได้ว่าเป็นหลักกฎหมายทั่วไปอันหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหลักกฎหมายทั่วไปอันอื่นและได้รับการอ้างถึงอย่างมากมายควบคู่กับการอ้างถึงการรับรองและคุ้มครองเสรีภาพที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในสังคมประชาธิปไตยของยุคปัจจุบัน อันที่จริงแล้วหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าด้วยความเสมอภาคดังกล่าวนั้นได้มีมานานแล้วและได้รับการกล่าวอ้างถึงมานานแล้วเช่นกันดังปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญหลายๆฉบับของอารยประเทศ บทความนี้ได้เสนอให้เห็นภาพกว้างๆของหลักแห่งความเสมอภาคของฝรั่งเศสในแง่ของแนวความคิดและในแง่ของตัวบทกฎหมายที่ปรากฏอยู่เป็นลายลักษณ์อักษรของฝรั่งเศส
ที่มาและแนวความคิดหลักแห่งความเสมอภาค
 
แนวคิดเรื่องหลักแห่งความเสมอภาคนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานว่าตามธรรมชาติมนุษย์ทุกคนเกิดมามีความเสมอภาคเท่าเทียมกันตามธรรมชาติและทุกคนจะต้องเคารพสิทธิและเสรีภาพของกันและกัน ถ้าพิจารณาจากแนวคิดดังกล่าวจะเห็นได้ว่าเป็นมุมมองของสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติที่มองว่าสิ่งเหล่านี้มีมาและติดตัวมาตั้งแต่เกิด และถ้าถึงแม้จะไม่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรมารับรองสิ่งเหล่านี้ก็ตามก็มีผลบังคับใช้ได้เพราะเป็นสิ่งธรรมชาติที่รัฐและทุกคนมิอาจปฏิเสธได้ นอกจากนี้ยังเห็นได้ว่าการยอมรับสิ่งเหล่านี้ก็แสดงให้เห็นถึงแนวความคิดในเรื่องปัจเจกชนนิยมอีกด้วย เพราะการที่รัฐหรือทุกคนต้องยอมรับและเคารพต่อหลักการดังกล่าวนั้นเท่ากับว่าเป็นการยอมรับสิทธิตามธรรมชาติของแต่ละคนด้วยเช่นกัน
 
ดังนั้นถ้าวิเคราะห์ตามแนวความคิดดังกล่าวจะเห็นว่าหลักแห่งความเสมอภาคมีที่มาดั้งเดิมจากแนวความคิดของสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติผนวกกับแนวความคิดปัจเจกชนนิยม ถ้ามองในแง่มุมดังกล่าวหลักแห่งความเสมอภาคก็เป็นเพียงนามธรรม ถึงแม้ว่าฝ่ายสำนักฎหมายธรรมชาติจะพยายามทำให้เป็นรูปธรรมโดยยอมรับบังคับให้ตามแนวคิดที่ว่าสิ่งที่เป็นกฎหมายนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตามแต่ในความเป็นจริงและทางปฏิบัติของอารยประเทศแล้วนั้นถือว่าสิ่งที่เป็นกฎหมายและมีสภาพบังคับได้นั้นต้องได้รับการบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ดังนั้นการที่จะทำให้หลักดังกล่าวมีสภาพบังคับได้อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมก็คือการที่จะต้องนำหลักการดังกล่าวมาบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรเสีย กล่าวอีกนัยหนึ่งเป็นการแปรสภาพที่มาของกฎหมายตามเนื้อหามาเป็นที่มาของกฎหมายตามรูปแบบ
  หลักแห่งความเสมอภาคเป็นหลักหนึ่งของสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับในรูปแบบที่เป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรโดยสำนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองกล่าวคือได้รับการพิจารณาในมุมมองทางกฎหมายมิใช่ในขอบเขตทางปรัชญาแต่เพียงอย่างเดียว ลักษณะการดังกล่าวนั้นก็มาจากการออมชอมทางความคิดของทั้งสองสำนักกฎหมาย คือสำนักกฎหมายฝ่ายบ้านเมืองและสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นการแปรสิทธิตามธรรมชาติของบุคคลมาเป็นสิทธิของบุคคลที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมาย
หลักแห่งความเสมอภาคในกฎหมายฝรั่งเศส
 
ในส่วนของหลักแห่งความเสมอภาคได้ปรากฏอยู่ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ลงวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ.1789 ดังนี้
 
"
สภานิติบัญญัติแห่งชาตินี้ จึงรับรองและประกาศสิทธิต่อไปนี้ของมนุษย์และพลเมืองแต่ละคนภายใต้การคุ้มครองของพระผู้เป็นเจ้า
 
มาตรา 1 มนุษย์ทุกคนเกิดมาและดำรงอยู่อย่างมีอิสระและเสมอภาคกันในสิทธิ การแบ่งแยกทางสังคมจะกระทำได้ก็แต่เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
 
มาตรา 2 วัตถุประสงค์ของสังคมการเมืองทุกสังคมย่อมเป็นไปเพื่อการคุ้มครองรักษาสิทธิตามธรรมชาติ ซึ่งไม่มีอายุความของมนุษย์ สิทธิเหล่านี้ได้แก่ เสรีภาพ กรรมสิทธิ์ ความมั่นคงปลอดภัยและการต่อต้านการกดขี่ข่มเหง
 
มาตรา 6
กฎหมายต้องเป็นสิ่งที่เหมือนกันสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองหรือการลงโทษ พลเมืองย่อมเสมอภาคเท่าเทียมกันตามกฎหมาย
" 2
 
จากบทบัญญัติดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าฝรั่งเศสในยุคนั้นได้ตระหนักถึงหลักสิทธิมนุษยชนของปัจเจกชนและนำมาบัญญัติเป็นตัวบทกฎหมาย ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าในช่วงนั้นของฝรั่งเศสเป็นยุคแห่งการปฏิวัติครั้งใหญ่ของฝรั่งเศสอันเกิดมาจากความไม่พึงพอในในการปกครองประเทศของผู้ปกครองประเทศที่กดขี่ ข่มเหง เอาเปรียบประชาชนและไม่สนใจความเป็นอยู่ของประชาชน เมื่อมีการปฏิวัติเกิดขึ้นในปี 1789 ผู้ก่อการปฏิวัติจึงต้องการประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรรับรองสิทธิ เสรีภาพของปัจเจกชนเพื่อก่อให้เกิดความมั่นคงและการรับประกันแก่ปัจเจกชนว่าจะไม่ได้รับการข่มเหงจากชนชั้นปกครองอีกต่อไปและถ้าสังเกตชื่อของคำประกาศดังกล่าวในภาษาฝรั่งเศสที่เขียนว่า"Déclaration des droits de l'homme et du citoyen"จะเห็นว่าเป็นการรับรองสิทธิมนุษยชนของประชาชนแต่ละคนและของพลเมืองแต่ละคน ดังที่Robespierre3 ที่กล่าวไว้ว่า"พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้ถูกทำลายลงแล้ว ชนชั้นขุนนาง ชนชั้นพระได้ปลาสการไปแล้ว ยุคแห่งความเสมอภาคได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว4" การประกาศรับรองดังกล่าวเป็นการยกเลิกกลุ่มอภิสิทธิ์ชนตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงประมุขแห่งประเทศและเป็นการประกาศรับรองความเสมอภาคของปัจเจกชนโดยกฎหมายซึ่งก็หมายความว่าทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมาย ผู้ปกครอง ผู้ใช้กฎหมายต้องปฏิบัติและใช้กฎหมายแก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน
 
ถ้าพิจารณาคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมืองค.ศ.1789ของฝรั่งเศส5 ได้แสดงให้เห็นถึงที่มาในส่วนที่เกี่ยวกับหลักแห่งความเสมอภาคอยู่ 2 ประการ คือ ประการแรกนั้นมาจากแนวความคิดทางปรัชญาแห่งสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติประกอบแนวความคิดปัจเจกชนนิยม ประการที่สองมาจากสภาพความกดดันของสังคมในยุคนั้นอันนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องมีการรับรองสิทธิมนุษยชนดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษรขึ้น จนถึงทุกวันนี้คำประกาศดังกล่าวเป็นเอกสารและหลักทางการเมืองสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของการปฏิวัติฝรั่งเศสและของโลก เป็นต้นแบบ เป็นคำสอนและหลักการทางการเมืองสมัยใหม่และทำให้ประเทศฝรั่งเศสได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งสิทธิมนุษยชนมาจนถึงทุกวันนี้
 
การประกาศรับรองหลักแห่งความเสมอภาคที่ปรากฏอยู่ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ค.ศ.1789 ได้เป็นต้นแบบของกฎหมายฝรั่งเศสที่ตามมาภายหลังว่าการบัญญัติตัวบทกฎหมายใดนั้นจะต้องคำนึงและเคารพหลักการแห่งความเสมอภาคที่ประกาศในคำประกาศดังกล่าวด้วยดังปรากฏอยู่ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 1946 วรรค 3 ที่บัญญัติว่า "กฎหมายให้หลักประกันว่าสิทธิของผู้หญิงเท่าเทียมกันกับสิทธิของผู้ชาย " และในคำปรารภของรัฐธรรมนูญปี 1958 วรรค 3 บัญญัติว่า"อาศัยอำนาจตามหลักการดังกล่าวและหลักเสรีภาพในการตัดสินใจของประชาชน สาธารณรัฐได้มอบดินแดนโพ้นทะเลแสดงเจตจำนงที่จะเข้าร่วมกับสาธารณรัฐสถาบันใหม่ได้จัดตั้งขึ้นบนพื้นฐานของอุดมคติร่วมกันแห่งเสรีภาพเสมอภาค และภราดรภาพ
" และในมาตรา 1 ถัดมาก็ได้บัญญัติรับรองหลักแห่งความเสมอภาคอีก"ฝรั่งเศส
รับรองถึงความเสมอภาคตามกฎหมายของประชาชน โดยไม่แบ่งแยกแหล่งกำเนิด เชื้อชาติหรือศาสนา
"
 
ด้วยเหตุนี้หลักแห่งความเสมอภาคจึงเป็นหลักการพื้นฐานที่สำคัญอันหนึ่งของกฎหมายมหาชนฝรั่งเศส เช่น ความเสมอภาคทางกฎหมาย ความเสมอภาคในการได้รับการบริการจากรัฐ ความเสมอภาคในการรับเข้าทำงานจากรัฐและถือว่าหลักแห่งความเสมอภาคเป็นหลักพื้นฐานของกฎหมายมหาชนฝรั่งเศส6 เป็นต้น ดังนั้นองค์กรของรัฐจึงรับรองและต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดด้วย เช่น ศาลปกครองฝรั่งเศสได้ตัดสินในคดี Sieur Roubeau ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 1913 โดยรับรอง"หลักแห่งความเสมอภาคของพลเมืองทุกคนต่อกฎเกณฑ์ของฝ่ายปกครอง" และในคำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสในวันที่ 27 ธันวาคม 1973 ได้กล่าวว่า "โดยพิจารณาจากบทบัญญัติสุดท้ายและวรรคที่เพิ่มเติมขึ้นโดยมาตรา 180 ของประมวลกฎหมายภาษีนั้น
มีความพยายามที่จะสร้างการแบ่งแยกระหว่างพลเมืองในส่วนที่เกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะนำพยานหักล้างคำตัดสินของสำนักภาษีของฝ่ายปกครอง บทบัญญัติมาตราดังกล่าวนั้นขัดกับหลักความเสมอภาคตามกฎหมายที่บัญญัติไว้ในคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ปี 1789และที่ได้รับการบัญญัติรับรองอย่างสมเกียรติในคำปรารภของรัฐธรรมนูญ
"และในวันที่ 22 มกราคม 1990 ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสได้ตัดสินรับรองหลักการดังกล่าวในคดีที่สำคัญอันเกี่ยวกับมาตรฐานขั้นต่ำที่สำคัญเกี่ยวกับบุคคลต่างชาติผู้สูงอายุว่า"พิจารณาเห็นว่าผู้บัญญัติกฎหมายสามารถบัญญัติกฎหมายลักษณะพิเศษที่เกี่ยวกับคนต่างชาติโดยมีเงื่อนไขที่ต้องเคารพ
เสรีภาพและสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีศักดิ์เทียบเท่ากับรัฐธรรมนูญอันเป็นที่ยอมรับนับถือโดยคนทุกคนที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรสาธารณรัฐ"
เกณฑ์ของหลักแห่งความเสมอภาค
 
หลักแห่งความเสมอภาคได้ปรากฏเป็นที่ยอมรับและผูกพันองค์กรของรัฐในอันที่จะต้องเคารพและปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ การใช้หลักแห่งความเสมอภาคดังกล่าวก็มีความหลากหลายแตกต่างกันไปแต่ก็เป็นความแตกต่างที่สามารถยอมรับได้ โดยมีหลักการกว้างๆดังนี้
 
1.ต้องใช้กฎเกณฑ์อันเดียวกันกับทุกคนเว้นแต่ว่าสถานการณ์แตกต่างกันไป ในกรณีดังกล่าวหมายความว่า ต้องใช้กฎเกณฑ์เดียวกันในสถานการณ์เดียวกันเว้นแต่ว่าสถานการณ์นั้นแตกต่างกันออกไป ดังนั้นจึงเป็นการต้องห้ามแก่ผู้บัญญัติกฎเกณฑ์จะต้องไม่ออกกฎเกณฑ์ให้มีผลปฏิบัติไม่เสมอภาคแก่บุคคลหรือเหตุการณ์ที่เหมือนกันหรือที่เหมือนกันในสาระสำคัญโดยคำนึงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยว่าเป็นสถานการณ์เดียวหรือสถานการณ์ใกล้เคียงกันกันหรือไม่ ถ้าเป็นสถานการณ์เดียวกันหรือใกล้เคียงกันแล้วก็ให้ใช้กฎเกณฑ์เดียวกัน เช่น ความเสมอภาคในการได้รับบริการสาธารณะจากรัฐ ประชาชนของรัฐทุกคนๆสามารถใช้บริการรถเมล์ของรัฐอย่างเสมอภาคทุกคนซึ่งเป็นความเสมอภาคในหลักการกว้างๆ อีกตัวอย่างหนึ่ง การที่รัฐกำหนดราคาตั๋วรถไฟเป็นชั้นหนึ่ง ชั้นสองและชั้นสามนั้นไม่ถือว่าเป็นการขัดต่อหลักแห่งความเสมอภาคเพราะถือว่าเป็นความเสมอภาคในสถานการณ์เดียวกัน กล่าวคือเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนมีความเสมอภาคในการเลือกที่จะโดยสารรถไฟในชั้นหนึ่ง ชั้นสอง หรือชั้นสาม ตามปัจจัยทางเศรษฐกิจของแต่ละคนที่แตกต่างกันไป
 
2.การใช้กฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันนั้นต้องมีความสัมพันธ์กับสาระสำคัญของกฎเกณฑ์นั้น ในกรณีนี้ ผู้ตรากฎเกณฑ์จะต้องคำนึงถึงสาระสำคัญของกฎเกณฑ์ ซึ่งหมายความว่า ความแตกต่างในการใช้กฎเกณฑ์นั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือสาระสำคัญของกฎเกณฑ์ต้องมีความสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นถึงแม้จะอยู่ในสถานะที่เหมือนกันแต่ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญนั้นแตกต่างกันแล้ว กฎเกณฑ์ที่นำมาใช้บังคับนั้นก็ต้องแตกต่างกันไปด้วย แต้ถ้าเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นสาระสำคัญและอยู่ในสถานะที่เหมือนกันแล้ว กฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับนั้นก็จะต้องเป็นกฎเกณฑ์เดียวกัน เช่น กฎหมายบำหน็จบำนาญกำหนดให้ข้าราชการต้องรับราชการ 10 ปี ขึ้นไปจึงจะมีสิทธิรับบำเหน็จบำนาญ ฝ่ายนิติบัญญัติจะออกกฎหมายบัญญัติให้ข้าราชการซึ่งรับราชการเพียง 2 ปีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นควรยกย่องให้ได้รับบำเหน็จบำนาญเท่ากับข้าราชการซึ่งได้บำนาญ 10 ปีเช่นนี้หาได้ไม่ เพราะเมื่อเหตุไม่เหมือนกันคือเวลาราชการไม่เท่ากันก็ควรได้รับผลปฏิบัติแตกต่างกันไม่ควรให้ได้รับผลปฏิบัติเสมอกันแม้ว่าจะอยู่ในสถานะที่เป็นข้าราชการเหมือนกันก็ตามที7
 
3.ถึงแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่เหมือนกันแต่ถ้าทำเพื่อประโยชน์สาธารณะแล้วก็สามารถใช้กฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันได้ ในกรณีดังกล่าวคำนึงถึงเรื่องประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญกว่าสิ่งอื่นใดถึงแม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็ตามแต่เหตุของประโยชน์ส่วนรวมนั้นย่อมอยู่เหนือกว่าประโยชน์ส่วนบุคคลหรือประโยชน์ของปัจเจกชน ดังนี้จะอ้างหลักความเสมอภาคในการใช้กฎเกณฑ์เพื่อมาคุ้มครองปัจเจกชนนั้นหาได้ไม่ เช่น ในกรณีที่มีความไม่สงบเกิดขึ้นในบ้านเมือง ทางการจำเป็นต้องใช้มาตรการบางอันเพื่อก่อให้เกิดความสงบสุขกลับคืนมาสู่บ้านเมืองอย่างเร็วที่สุดและการใช้มาตรการดังกล่าวนั้นสะท้อนให้เห็นถึงเป็นการเลือกปฏิบัติและเคารพต่อหลักแห่งความเสมอภาค ผู้ที่เดือดร้อนจากการกระทำดังกล่าวจะอ้างหลักแห่งความเสมอภาคต่อรัฐหาได้ไม่ เป็นต้น
 
4.การอ้างประโยชน์สาธารณะเพื่อไม่ต้องเคารพต่อหลักแห่งความเสมอภาคนั้น จะต้องไม่เป็นการก่อเกิดการแบ่งแยกอย่างที่ไม่สามารถยอมรับได้ ถึงแม้จะยอมรับได้ว่าถ้าเป็นการทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ แม้อยู่ในสถานการณ์เดียวกันก็สามารถใช้กฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันได้แม้ว่าจะเป็นการกระทบต่อหลักแห่งความเสมอภาคและก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติก็ตามที แต่อย่างไรก็ดีการกระทำดังกล่าวนั้นจะต้องไม่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกอย่างที่ไม่สามารถยอมรับได้ ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วก็ไม่สามารถใช้กฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ การแบ่งแยกอย่างที่ไม่สามารถยอมรับได้นั้นที่เห็นได้ชัดก็คือ การแบ่งแยกที่เป็นการต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เช่น การแบ่งแยกในเรื่อง แหล่งกำเนิด เชื้อชาติ ศาสนา เพศ เป็นต้น
บทสรุป
 
หลักแห่งความเสมอภาคซึ่งเป็นหลักกฎหมายทั่วไปของกฎหมายมหาชนของฝรั่งเศสนั้นมีพัฒนาการจากแนวความคิดของสำนักกฎหมายฝ่ายธรรมชาติกอปรกับความกดดันทางสังคม ทางเศรษฐกิจ ทางการเมืองที่ทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงและฝ่ายผู้ปกครองต้องบัญญัติหลักการดังกล่าวให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรและกล่าวได้ว่าประเทศฝรั่งเศสนอกจากได้เป็นแม่แบบของการปฏิวัติของโลกแล้วก็ยังได้เป็นแม่แบบของกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่นานาประเทศได้ให้การยอมรับและถือเป็นต้นแบบตามมา ถึงแม้ในปัจจุบันหลักการดังกล่าวได้เป็นที่ยอมรับกันในประชาคมโลกแล้วก็ตามแต่ก็ยังปรากฏอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่าหลักการดังกล่าวก็ยังได้รับการล่วงละเมิดอยู่อย่างสม่ำเสมอซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าในโลกแห่งความเป็นจริงกับหลักการที่ปรากฎเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษรนั้นไปด้วยกันได้ไม่ดีนักทั้งนี้ก็เกิดจากธรรมชาติของมนุษย์ที่ไม่ใคร่จะเคารพหลักการตามธรรมชาติที่ได้รับการแปรสภาพมาเป็นลายลักษณ์อักษรดังกล่าวนั้น.
เชิงอรรถ
1. นบ.(จุฬา)นม.(จุฬา),D.E.A.(droit public),Docteur de l'Université (Nouveau régime) mention très honorable (Strasbourg III),อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[กลับไปที่บทความ]
2. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ,กฎหมายมหาชน เล่ม 3,กรุงเทพ,สำนักพิมพ์นิติธรรม,2538,หน้า73-74[กลับไปที่บทความ]
3. โรเบสปิแอร์เป็นผู้นำกลุ่มมงตาญญารด์คนหนึ่งที่นิยมระบอบสาธารณรัฐ เป็นสมาชิกของคณะกรรมการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและเป็นผู้เสนอนโยบายก่อความสยดสยองอันนำไปสู่ยุคแห่งความสยดสยองของฝรั่งเศสที่นำพาความตายมาสู่ประชาชน นักการเมือง ผู้ก่อการปฏิวัติโดยการประหารชีวิตด้วยกิโยตินและในที่สุดโรเบสปิแอร์ก็ถูกประหารชีวิตด้วยกิโยตินเช่นกันในปี 1794
[กลับไปที่บทความ]
4. Olivier Duhamel,Le pouvoir politique en France,Paris,Edition du Seuil,p.359.
[กลับไปที่บทความ]
5. ถึงแม้คำประกาศดังกล่าวจะได้รับอิทธิพลแรงบันดาลใจและความคิดจากการประกาศอิสรภาพของอเมริกาในปี ค.ศ.1776ก็ตามแต่เนื้อหาและความหมายเต็มไปด้วยแนวคิดปรัชญาว่าด้วยสิทธิตามธรรมชาติโดยเฉพาะความคิดของรุสโซในหนังสือ"สัญญาประชาคม"
[กลับไปที่บทความ]
6. Jean Rivero,Les libertés publiques Tome 1 Les Droits de l'homme,Paris,PUF,1997,p.63. [กลับไปที่บทความ]
7. ตัวอย่างจาก สมยศ เชื้อไทย,หลักรัฐธรรมนูญทั่วไป,กรุงเทพ,สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์,2535,หน้า139
[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2544
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=137
เวลา 21 เมษายน 2568 21:16 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|