|
|
60 ปี กฎหมายพื้นฐาน 60 Jahre Grundgesetz 24 พฤษภาคม 2552 22:54 น.
|
ในปี ค.ศ. 2009 นี้ เป็นปีที่มีความพิเศษต่อประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี Bundesrepublik Deutschland(ประเทศเยอรมนี) เนื่องจากในปีนี้เป็นปีครบรอบเหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 60 ปีก่อน และเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลสำคัญสองประการต่อประเทศเยอรมนี นั่นคือการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่มีผลใช้บังคับมาถึงปัจจุบันที่ถูกเรียกว่า Grundgesetz(กฎหมายพื้นฐาน) ที่ถูกประกาศใช้ในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 และนอกจากนั้นในวันดังกล่าวซึ่งเป็นวันที่กฎหมายพื้นฐานมีผลใช้บังคับยังถือกันว่าเป็นวันก่อตั้งประเทศเยอรมนีอีกด้วย ดังนั้นในปี ค.ศ. 2009 นี้จึงเป็นปีครบรอบ 60 ปีของกฎหมายพื้นฐาน และครบรอบ 60 ปีของประเทศเยอรมนี
เหตุที่ผู้เขียนมีความสนใจในส่วนของกฎหมายพื้นฐานนั้นก็เนื่องมาจากชื่อของกฎหมายพื้นฐาน เมื่อใดที่ชื่อของกฎหมายดังกล่าวคือ กฎหมายพื้นฐาน หรือ „Grundgesetz ผ่านเข้ามาในห้วงความคิดของผู้เขียน ผู้เขียนก็มักจะนึกถึงภาพของกฎหมายที่เป็นพื้นฐานของบรรดากฎหมายทั้งหลายที่ออกมาใช้บังคับภายในประเทศเยอรมนี และหากจะนึกถึงภาพลำดับชั้นของกฎหมายที่เป็นรูปปิรามิดในกรณีของกฎหมายพื้นฐานนั้นจะอยู่ตำแหน่งที่ไม่ได้อยู่ปลายยอดของแท่งปิรามิดของกฎเกณฑ์ทั้งหลายแต่อย่างใด ในมุมมองของผู้เขียนนั้นกลับมองว่ากฎหมายพื้นฐาน มีลักษณะตรงตามความหมายของถ้อยคำอย่างแท้จริงคือ เป็นกฎหมายที่เป็นพื้นฐานของกฎเกณฑ์ทางกฎหมายอื่นๆ ภายในรัฐ(ประเทศเยอรมนี) โดยกฎเกณฑ์ที่ออกมาใช้บังคับนั้นจะต้องไม่เกิน ขัด หรือแย้งต่อกรอบของกฎหมายพื้นฐาน หาไม่แล้วกฎเกณฑ์ทางกฎหมายนั้นย่อมหลุด ตก หรือใช้บังคับไม่ได้แต่อย่างใด ดังนั้นตำแหน่งของกฎหมายพื้นฐาน คือตำแหน่งฐานของปิรามิดนั่นเอง
เหตุอีกประการหนึ่งที่คือข้อสงสัยที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเปรียบเทียบ กฎหมายพื้นฐาน ของประเทศเยอรมนี กับ รัฐธรรมนูญ ของประเทศที่ ร่ำรวย ทาง รัฐธรรมนูญ อย่างประเทศไทย ที่มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกเมื่อปี ค.ศ. 1932 หากนับถึงปีนี้ก็เป็นระยะเวลา 77 ปีแล้วนั้น ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้งสิ้น 18 ฉบับ เท่ากับโดยเฉลี่ยแล้วทุกๆ 4 ปีประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับนั่นเอง ว่าเหตุใดประเทศไทยหากเปรียบเทียบกับประเทศเยอรมนีในปัจจุบันแล้วถึงมีความแตกต่างกันอย่างมากมาย ซึ่งข้อสงสัยนี้เป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะหาคำตอบเพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อกรณีดังกล่าวได้
หากกล่าวถึงประเทศเยอรมนีภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง นับว่าเป็นช่วงเวลาที่ชาวเยอรมันตกอยู่ในภาวะที่ตกต่ำที่สุด ต้องประสบต่อความยากลำบากอันเกิดขึ้นจากภัยสงคราม Konrad Adenauer กล่าวถึงประเทศเยอรมนีในช่วงระยะเวลาดังกล่าวไว้ว่า ถ้าหากว่าปาฏิหารย์ไม่เกิดขึ้น ชาวเยอรมันทั้งหลายจะก้าวไปสู่จุดสิ้นสุดอย่างช้าๆ แต่ว่าแน่นอน หากพิจารณาประเทศเยอรมนีในปัจจุบันประกอบกับคำกล่าวของ Adenauer จะเห็นได้ว่าปาฏิหารย์ได้เกิดขึ้นแล้วในประเทศเยอรมนี ด้วยสภาพบ้านเมืองภายหลังจากที่สงครามโลกครั้งที่สองได้สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ที่ถูกทำลายด้วยภัยสงคราม ก็ไม่มีใครสามารถคาดคิดได้ว่าประเทศเยอรมนีจะกลับมายืนอยู่ในระดับแถวหน้าของโลกทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อย่างรวดเร็วและมั่นคงได้ดังเช่นในปัจจุบัน
ปาฎิหารย์ประการหนึ่งที่ช่วยให้ประเทศเยอรมนี จากประเทศที่พ่ายแพ้สงครามอย่างยับเยินมาเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในสังคมโลกคือ กฎหมายพื้นฐาน อันถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนี ซึ่ง Hans-Jürgen Papier ประธานศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์คนปัจจุบันได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด ที่ประเทศเยอรมนีเคยมีมา และในโอกาสอันดีที่กฎหมายพื้นฐาน Grundgesetz หรือเรียกโดยย่อว่า GG ซึ่งถือเป็น รัฐธรรมนูญ ของประเทศเยอรมนี มีอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2552 นี้ เนื่องจากผู้เขียนพอจะได้มีโอกาสสัมผัสกับกฎหมายพื้นฐานดังกล่าวมาอยู่บ้าง จึงขออนุญาตนำเสนอแง่มุมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายพื้นฐานของประเทศเยอรมนีตามลำดับดังนี้
A. ที่มาของกฎหมายพื้นฐาน
หลังจากที่ประเทศเยอรมนีประกาศยอมรับความพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่สองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1945 ต่อมาในช่วงระยะเวลาระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 1948 ฝ่ายสัมพันธมิตรสามฝ่ายอันได้แก่ อังกฤษ, ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ประกอบกับกลุ่มประเทศเบเนลักซ์ ได้ร่วมประชุมกันที่กรุงลอนดอน ซึ่งการประชุมนี้ถูกเรียกว่า Londoner Sechsmächtekonferenz ผลของการประชุมนำไปสู่มติที่เรียกร้องให้รัฐเยอรมันตะวันตกก่อตั้งหรือสร้างรัฐที่เป็นสหพันธรัฐขึ้นมา และให้มีการริเริ่มการดำเนินการออกรัฐธรรมนูญเพื่อใช้บังคับในเขตปกครองของสัมพันธมิตรในภาคตะวันตกของประเทศเยอรมนี
ในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 1948 ผู้ว่าการมลรัฐที่อยู่ในพื้นที่ของเยอรมนีตะวันตก ได้รับมอบเอกสารจากผู้ว่าการปกครองทางทหารของสัมพันธมิตรโดยเอกสารดังกล่าวถูกเรียกว่า Frankfurter Dokumente เอกสารฉบับที่หนึ่งของเอกสารดังกล่าวมีเนื้อหาสาระสำคัญที่มอบหมายให้มีการเรียกประชุมสมัชชาแห่งชาติเพื่อให้ดำเนินการออกรัฐธรรมนูญสำหรับพื้นที่ในเขตตะวันตก ซึ่งในเอกสารดังกล่าวมีการกำหนดกรอบเนื้อหาสำหรับรัฐธรรมนูญ และเงื่อนไขการยอมรับรัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างขึ้นดังกล่าวด้วย โดยกรอบเนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่ถูกกำหนดมานั้นได้แก่หลักการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน และการกำหนดโครงสร้างของรัฐในรูปแบบของสหพันธรัฐ
ภายหลังจากการรับมอบ Frankfurter Dokumente ดังกล่าวแล้วก็นำไปสู่ขั้นตอนการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ โดยในระหว่างวันที่ 8 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1948 ผู้ว่าการมลรัฐทั้งหลายก็ได้ร่วมประชุม ณ โรงแรม Rittersturz ณ เมือง Koblenz และได้มีมติที่เรียกว่า „Koblenzer Beschlüsse ยอมรับการมอบอำนาจในการดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายสัมพันธมิตรภายใต้เงื่อนไขที่ว่าสมัชชาที่จะถูกเลือกให้ทำหน้าที่ในการดำเนินการดังกล่าวนั้นไม่ใช่องค์กรที่ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญที่มีลักษณะถาวรที่จะเป็นอุปสรรคต่อการรวมเยอรมนีตะวันตกและเยอรมนีตะวันออกในอนาคต แต่เป็นการดำเนินการออก รัฐธรรมนูญ ที่มีลักษณะ ชั่วคราว ที่เรียกว่า Grundgesetz ซึ่งชื่อเรียกดังกล่าวถูกเสนอโดย Max Brauer นายกเทศมนตรี Hamburg ทั้งนี้เพื่อมุ่งประสงค์ที่จะแสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญที่จะถูกร่างออกมาใช้บังคับนั้นเป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ชั่วคราว ซึ่งลักษณะชั่วคราวของกฎหมายพื้นฐานนั้นปรากฏในภายหลังในมาตรา 146 ของกฎหมายพื้นฐานที่มีเนื้อหาสาระว่ากฎหมายพื้นฐานนี้จะสิ้นสุดการใช้บังคับลงไปในวันที่รัฐธรรมนูญที่ถูกลงมติโดยอิสระของชาวเยอรมันมีผลใช้บังคับ
ในเดือน สิงหาคม ค.ศ. 1948 มีการเลือกตั้งสมาชิกสภา Parlamentarischer Rat โดยผ่านสภามลรัฐของทั้ง 11 มลรัฐของประเทศเยอรมนีตะวันตก ซึ่งสภาดังกล่าวมีสมาชิกทั้งสิ้น 65 คน มีสมาชิกที่เป็นผู้หญิงทั้งสิ้น 4 คน ซึ่งท่านเหล่านี้ถูกขนานนามในภายหลังว่าเป็น บิดา/มารดาของกฎหมายพื้นฐาน
ระหว่างวันที่ 10 - 23 สิงหาคม ค.ศ. 1948 ก็มีการประชุมของคณะกรรมการร่างกฎหมายพื้นฐานซึ่งกำหนดขึ้นโดยผู้ว่าการมลรัฐทั้งหลายซึ่งเรียกการประชุมนี้ว่า Verfassungskonvent von Herrenchiemsee ซึ่งเป็นเกาะในทะเลสาป Chiemsee ของมลรัฐ Bayern เพื่อดำเนินการร่างกฎหมายพื้นฐานขึ้น โดยใช้เวลาในการร่างทั้งสิ้น 13 วัน
วันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1948 Parlamentarischer Rat ก็ได้เปิดประชุมครั้งแรก ณ กรุงบอนน์ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายพื้นฐาน โดยมี Konrad Adenauer เป็นประธานสภา และด้วยประสบการณ์ความล้มเหลวของรัฐธรรมนูญแห่งไวร์มาร์ และความเลวร้ายในยุคจักรวรรดิที่สามในยุคของฮิตเลอร์ และสงครามโลกครั้งที่สอง สภาดังกล่าวก็ได้มีการอภิปรายร่างกฎหมายพื้นฐานดังกลาว และท้ายที่สุดก็มีมติด้วยเสียงข้างมากผ่านกฎหมายพื้นฐานในวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ดังนั้นกฎหมายพื้นฐานจึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญแห่งกรุงบอนน์ Bonner Verfassung และเมื่อผ่านมติการยอมรับของสัมพันธมิตรตะวันตก และสภาของมลรัฐทั้งหลายแล้วนั้น ในวันที่ 23 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ก็มีการประกาศใช้กฎหมายพื้นฐานโดยมีผลใช้บังคับ ในเวลา 00.00 น.ของวันที่ 24 พฤษภาคม ค.ศ. 1949 ซึ่งถือเป็นจุดกำหนดของกฎหมายพื้นฐาน และประเทศเยอรมนี ในปัจจุบันกฎหมายพื้นฐานมีเนื้อหาทั้งสิ้น 146 มาตรา ถูกแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วทั้งสิ้น 53 ครั้ง
B. ลักษณะสำคัญของกฎหมายพื้นฐาน
1. สิทธิขั้นพื้นฐาน ด้วยบทเรียนที่ได้รับจากช่วงการปกครองภายใต้ฮิตเล่อร์ และช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กฎหมายพื้นฐานได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับ สิทธิขั้นพื้นฐาน เห็นได้จากการนำเอาสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ มาจัดรวมไว้ในหมวดแรกของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในหมวดดังกล่าวประกอบด้วย 19 มาตราด้วยกัน(มาตรา 1 มาตรา 19) ซึ่งในหมวดนี้จะระบุถึงสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งหลายเอาไว้ด้วยกัน เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในมาตรา 1, เสรีภาพในการกระทำการ และสิทธิในชีวิตร่างกาย ในมาตรา 2, ความเสมอภาคเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย ในมาตรา 3 และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ในมาตรา 5 เป็นต้น หน่วยงานของรัฐไม่ว่าหน่วยงานนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จะต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานนี้เสมอ หลักการผูกพันต่อสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวถูกระบุไว้ในมาตรา 20 วรรคสามของกฎหมายพื้นฐาน ดังนั้นการตรากฎหมายโดยฝ่ายนิติบัญญัติ หรือใช้การตีความกฎหมายของฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการ จะต้องคำนึงถึงและให้ความสำคัญต่อสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะองค์การตุลาการอันได้แก่ศาลทั้งหลาย ดังนั้นแนวความคิดที่ว่าศาลยุติธรรมซึ่งมีอำนาจพิจารณาคดีแพ่ง และคดีอาญา ไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาไปถึงเรื่องสิทธิตามรัฐธรรมนูญนั้นย่อมเป็นเรื่องที่แปลกและยอมรับไม่ได้ในระบบกฎหมายเยอรมัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 1 ของกฎหมายพื้นฐานที่ ระบุถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์-Menschenwürde เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นเรื่องที่ไม่สามารถตั้งข้อสงสัยได้เลยว่าความสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นจะถูกละเมิดล่วงเกินได้แค่ไหนเพียงใด ถ้าจะกล่าวตามสำนวนของเยอรมันก็สามารถกล่าวได้ว่า ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ นั้นจะถูกเขียนเป็นตัวหนังสือตัวใหญ่ในระบบกฎหมายเยอรมัน(„Die Menschenwürde wird groß geschrieben.) นั่นหมายถึงความสำคัญของเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นเป็นเรื่องที่ถูกให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งก็เป็นผลที่มาจากสงครามโลกครั้งที่สอง นั่นคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้นไม่ใช่เพียงแค่รอยน้ำหมึกที่เปื้อนอยู่บนกระดาษเท่านั้น นั่นหมายถึงในทางปฏิบัติแล้วนั้นการใช้อำนาจรัฐไม่ว่าในสาขาใดต้องคำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าวอย่างแท้จริง ดังนั้น การนำผู้ต้องหาค้ายาบ้ามาแถลงข่าว แล้วยังไม่พอยังให้ผู้ต้องหาดังกล่าวคาบถุงยาบ้าระหว่างการแถลงข่าว และให้สัมภาษณ์สำทับภายหลังว่าพวกค้ายาไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นอมนุษย์นั้น จึงเป็นเรื่องที่เรียกได้ว่าด้วยสภาพของสังคมเยอรมันในปัจจุบันนั้นเหตุการณ์ดังกล่าวไม่อาจเป็นเรื่องที่จะนึกถึงได้แต่อย่างใด เพราะว่ากรณีตามตัวอย่างดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั่นเอง ทั้งนี้โดยไม่จำต้องไปพิจารณาถึงหลักที่ว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าที่ศาลจะมีคำพิพากษาว่าบุคคลนั้นๆ เป็นผู้กระทำความผิดแต่อย่างใด
ตัวอย่างในกรณีของการให้ความสำคัญต่อ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และ สิทธิขั้นพื้นฐาน ในระบบกฎหมายเยอรมันนั้นเห็นได้จากตัวอย่างของคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐดังต่อไปนี้
- การตีพิมพ์เผยแพร่รูปถ่ายของเจ้าหญิงแห่ง Monaco ท่านหนึ่งในนิตยสารฉบับหนึ่ง ซึ่งภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ถูกบันทึกในสถานที่ที่เป็นสถานที่เปิดเผยสาธารณะไม่ได้ถูกบันทึกในสถานที่ที่เป็นที่ส่วนตัว แต่อย่างใด ดังนั้นการเผยแพร่รูปดังกล่าวจึงไม่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของเจ้าของภาพแต่อย่างใด BVerfGE 101, 361
- กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางอากาศที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องสามารถยิงเครื่องบินโดยสารพลเรือนที่ถูกยึดโดยพวกก่อการร้ายได้นั้น ขัดต่อสิทธิในชีวิตตามมาตรา 2 วรรคสอง และขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 1 ของกฎหมายพื้นฐาน ของผู้โดยสารที่อยู่บนเครื่องบิน กฎหมายดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และไม่มีผลในทางกฎหมาย BVerfGE 115, 118
- การพิพากษาสามีของผู้ตายในฐานละเลยไม่ช่วยเหลือภรรยาเนื่องจากตนและภรรยานั้นมีความเชื่อในทางศาสนาอย่างเคร่งครัด โดยแทนที่จะเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามคำสั่งแพทย์ กลับดำเนินการสวดภาวนาตามพิธีการศาสนาของตนจนในท้ายที่สุดภรรยาของจำเลยถึงแก่ความตายในที่สุด ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีนี้มีว่าภรรยาของจำเลยได้ปฏิเสธการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล โดยที่จำเลยไม่ได้พูดคุยเกลี้ยกล่อมให้ภรรยาของตนเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแต่อย่างใด โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าคำพิพากษาศาลดังกล่าวไม่สอดคล้องกับเสรีภาพในความเชื่อของจำเลย ดังนั้นการกล่าวหาจำเลยว่าละเลยไม่ดำเนินการให้ภรรยาของจำเลยกระทำการใดๆ ซึ่งเป็นการขัดต่อความเชื่อของทั้งจำเลยและภรรยาเองนั้น จึงไม่ชอบ คำพิพากษาของศาลดังกล่าวละเมิดสิทธิในความเชื่อของจำเลยซึ่งรับรองไว้ในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง ของกฎหมายพื้นฐาน BVerfGE 32, 98
- ในระหว่างการพิจารณาคดีของศาลปกครองแห่งหนึ่งผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นสตรีชาวยิว ได้แสดงความไม่เห็นด้วยที่ในห้องพิจารณาคดีมีไม้กางเขนประดับอยู่ และเรียกร้องให้มีการปลดเอาไม้กางเขนออกไปจากห้องพิจารณาคดีดังกล่าว ซึ่งศาลก็ได้ปฏิเสธ ผู้ฟ้องคดีได้ใช้สิทธิร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการแขวนไม้กางเขนไว้ในห้องพิจารณาคดีในกรณีนี้นั้น(ไม่ใช่กรณีทั่วไป) อาจเป็นการทำให้ผู้ที่เข้าร่วมพิจารณาคดีมีความรู้สึกว่าถูกบังคับให้อยู่ภายใต้ไม้กางเขน ซึ่งนำไปสู่การละเมิดเสรีภาพในความเชื่อซึ่งรับรองไว้ในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง ของกฎหมายพื้นฐานได้ ดังนั้นจึงต้องมีการนำไม้กางเขนออกจากห้องพิจารณาคดี BVerfGE 35, 366
- การที่เจ้าหน้าที่ปฏิเสธคำร้องขอแก้ไขสูติบัตรของผู้ร้องทุกข์ที่ร้องขอให้เปลี่ยนคำระบุเพศของผู้ร้องทุกข์ที่ได้ผ่านขั้นตอนการผ่าตัดแปลงเพศจากเพศชายมาเป็นเพศหญิงนั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามมาตรา 1 ของกฎหมายพื้นฐาน เพราะเป็นการขัดต่อสิทธิของบุคคลในการที่บุคคลจะกำหนดเอกลักษณ์ และโชคชะตาของตนเอง BVerfGE 49, 286, BVerfGE 60, 123
- การดำเนินการก่อตั้งสถาบันทางกฎหมายที่เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนของคู่ชีวิตที่มีเพศเดียวกันนั้นไม่เป็นการละเมิดมาตรา 6 วรรคหนึ่งของกฎหมายพื้นฐานที่คุ้มครองการสมรส(ซึ่งในระบบกฎหมายเยอรมันหมายถึงระหว่างชายและหญิงเท่านั้น-ผู้เขียน) ดังนั้นมาตรา 6 วรรคหนึ่งดังกล่าวจึงไม่ห้ามฝ่ายนิติบัญญัติที่จะกำหนดสิทธิและหน้าที่ของคู่ชีวิตที่มีเพศเดียวกันแต่อย่างใด แม้ว่าการกำหนดสิทธิและหน้าที่ดังกล่าวจะมีความใกล้เคียงกับการสมรสก็ตามBVerfGE 105, 313
ตัวอย่างของคำพิพากษาดังกล่าวข้างต้นเป็นเพียงส่วนเล็กน้อยจากผลงานของคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ในการพิจารณาพิพากษาคดีที่เกี่ยวข้องกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ในกฎหมายพื้นฐาน
2. การคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยทางศาล ดังที่ได้กล่าวไว้แล้วใน 1. ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ดังนั้นในกฎหมายพื้นฐานจึงได้สร้างกลไกในการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยผ่านองค์กรตุลาการที่มีความเป็นอิสระในการพิจารณาตัดสินคดี หรือที่เรียกว่าหลัก Rechtsschutzgarantie ที่ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 19 วรรคสี่ของกฎหมายพื้นฐาน หลักดังกล่าวเป็นหลักประกันที่ให้ความคุ้มครองบุคคลต่อการกระทำที่เกิดจากการใช้อำนาจรัฐซึ่งในที่นี้หมายถึงการกระทำหรือการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารเท่านั้น หลักการดังกล่าวนี้ไม่ได้กำหนดให้ประกันเฉพาะแต่กรณีที่บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิจะต้องสามารถนำคดีขึ้นสู่ศาลได้เท่านั้น แต่หลักดังกล่าวยังเรียกร้องหรือมีเป้าหมายว่าการคุ้มครองสิทธิโดยศาลดังกล่าวนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ดังนั้นการออกกฎหมายหรือการตีความกฎหมายที่มีหรือเป็นไปในทางที่ส่งผลให้มีการตัดสิทธิของบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิในการที่จะนำคดีขึ้นสู่การพิจารณาคดีของศาลได้นั้น จึงเป็นกรณีที่ไม่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยองค์กรตุลาการแต่อย่างใด
ดังนั้นหากนำตัวอย่างในระบบกฎหมายไทยดังเช่นในกรณีของ มาตรา 239 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฯ ที่กำหนดว่า ใน กรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอน สิทธิเลือกตั้งก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิก วุฒิสภา ให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นที่สุด มาตีความประกอบกับหลักคุ้มครองสิทธิโดยศาลในกรณีนี้ย่อมถึงคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งไม่สามารถโต้แย้งใดๆ ได้อีกแล้วในขั้นตอนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือไม่สามารถโต้แย้งต่อองค์กรอื่นๆ ได้ แต่กรณีดังกล่าวไม่อาจตีความได้ว่าเป็นที่สุดจนถึงขั้นตัดสิทธิการใช้สิทธิทางศาลของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากคำวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่อย่างใด หรือกรณีของมาตรา 16 ของ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ที่มีเนื้อหาว่า ข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชกำหนดนี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติ ราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง นั้น ขณะที่ผู้เขียนได้อ่านมาตราดังกล่าวก็ ทึ่ง ในความคิดของคนที่ร่างมาตราดังกล่าว และเกิดคำถามตามมาต่อการกำหนดมาตราดังกล่าวไว้ในพระราชกำหนดฉบับนี้ว่า เพื่ออะไร ? หากคำตอบคือเพียงเพื่อที่จะตัดสิทธิของบุคคลที่ได้รับผลกระทบที่ไม่ให้เข้าสู่กระบวนการของศาลปกครองเท่านั้น ก็พอช่วยก่อให้เกิดความเข้าใจและยอมรับได้เพราะผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของตนสามารถไปใช้สิทธิต่อศาลอื่นได้เช่นศาลยุติธรรมอันเป็นศาลที่มีเขตอำนาจครอบคลุมกว้างกว่าศาลปกครองเป็นต้น แต่หากคำตอบคือเพื่อตัดสิทธิของบุคคลในการนำคดีไปสู่ศาลในทุกกรณีแล้วนั้นบทบัญญัติมาตรานี้ย่อมขัดกับหลักการคุ้มครองสิทธิของบุคคลโดยศาลอย่างแน่นอน
3. หลักความไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว? เจตนาเบื้องต้นในการร่างกฎหมายพื้นฐานนั้นก็เพื่อใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวของชาวเยอรมันจนกว่าที่ชาวเยอรมันจะมีมติให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวดังกล่าวนี้ได้มีบทมาตราที่ได้บัญญัติถึงความเป็นนิรันดรของบทมาตราของกฎหมายพื้นฐานบางมาตราที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งบทมาตราดังกล่าวได้แก่มาตรา 79 วรรคสามของกฎหมายพื้นฐานหรือที่เรียกว่า Ewigkeitsklausel/Ewigkeitsgarantie มาตราดังกล่าวกำหนดห้ามการเปลี่ยนแปลงไว้สามประการคือ ห้ามเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐที่เป็นสหพันธรัฐ ห้ามเปลี่ยนแปลงหลักการเข้ามามีส่วนร่วมของมลรัฐทั้งหลายในกระบวนการนิติบัญญัติในระดับสหพันธ์รัฐ และห้ามเปลี่ยนแปลงหลักการที่กำหนดไว้ในมาตรา 1 ถึงมาตรา 20 ของกฎหมายพื้นฐาน
จากบทบัญญัติมาตราดังกล่าวก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าสิทธิขั้นพื้นฐานทั้งหลายนั้นได้ถูกกำหนดรับรองไว้ตั้งแต่มาตรา 1 19 ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายพื้นฐานในส่วนนี้จึงไม่สามารถกระทำได้ นอกจากนั้นแล้วในมาตรา 20 ของกฎหมายพื้นฐานนั้น แม้ว่าจะเป็นมาตราเดียวแต่ก็เป็นมาตราที่สำคัญในระบบกฎหมายเยอรมัน ด้วยเหตุว่าในมาตราดังกล่าวนี้ได้บัญญัติรับรองหลักที่สำคัญๆ ไว้หลายประการอันได้แก่ 1)หลักประชาธิปไตย และหลักสาธารณรัฐ(Demokratieprinzip und Republik) 2)หลักสหพันธรัฐ(Bundesstaatsprinzip) 3)หลักการแบ่งแยกอำนาจ(Gewaltenteilungsprinzip) 4)หลักนิติรัฐ(Rechtsstaatsprinzip) 4)หลักรัฐสวัสดิการ(Sozialstaatsprinzip) 5)สิทธิในการต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญ(Widerstandrecht)
จะเห็นได้ว่าตรงจุดนี้ผู้ร่างกฎหมายพื้นฐานได้ให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานและหลักการสำคัญทั้งหลายที่กำหนดไว้ในมาตรา 20 ของกฎหมายพื้นฐานเป็นอย่างยิ่ง
4. กฎหมายพื้นฐานเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความกระชับได้ใจความ ด้วยบทบัญญัติทั้งสิ้น 146 มาตราของกฎหมายพื้นฐาน นั้นถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีความกระชับด้วยเนื้อหาและโครงสร้าง กฎหมายพื้นฐานเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาที่เรียกได้ว่าสั้น แต่ได้ใจความ ด้วยบทบัญญัติของกฎหมายพื้นฐานที่มีเพียง 146 มาตรา ก็สามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นมั่นคงได้ หากพิจารณาจากจำนวนมาตราของกฎหมายพื้นฐานเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญของบางประเทศนั้น แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญคือคุณภาพ และศิลปะในการร่างรัฐธรรมนูญหรืออกล่าวอีกนัยหนึ่งคือความสามารถของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ว่าจะร่างรัฐธรรมนูญได้ดีแค่ไหนเพียงใดหาได้ขึ้นอยู่กับจำนวนมาตราแต่อย่างใด ดังที่ศาสตราจารย์ Detlef Merten เคยได้กล่าวไว้ว่า ศิลปะอันยิ่งใหญ่ในการร่าง(ให้)รัฐธรรมนูญนั้นอยู่ที่การไม่เขียนมากเกินไป
ดังนั้นการที่มีกล่าวอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดเพราะมีหลายร้อยมาตราเช่นสามร้อยกว่ามาตราโดยมีการกำหนดรายละเอียดในบางเรื่องไว้อย่างถี่ถ้วน และหากได้อ่านรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้วบางท่านอาจคิดว่ากำลังอ่านพระราชบัญญัติ หรือ กฎหมายลำดับรองที่ออกโดยฝ่ายบริหารอยู่ ซึ่งลักษณะดังกล่าวแท้ที่จริงแล้วคือการสร้างความยุ่งยากในระบบกฎหมาย เพราะว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่ยากกว่าการแก้กฎหมายอื่นๆ ดังนั้นหากจะมีการปรับปรุงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องดังกล่าวก็จะต้องดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นเรื่องที่มีความยุ่งยากกว่าการแก้ไขกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ หรือกฎหมายลำดับรองของฝ่ายบริหาร นอกจากนั้นการร่างรัฐธรรมนูญในลักษณะดังกล่าวก็แสดงให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจรัฐสภาอันเป็นผู้แทนของประชาชนอย่างแท้จริง เพราะหาไม่แล้วผู้ร่างรัฐธรรมนูญย่อมปล่อยให้เรื่องที่เป็นรายละเอียดทั้งหลายเหล่านั้นอยู่ในอำนาจของรัฐสภาที่จะไปกำหนดรายละเอียดดังกล่าว ดังนั้นปริมาณจำนวนมาตราของรัฐธรรมนูญจึงไม่ใช่สิ่งที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพของรัฐธรรมนูญฉบับนั้นๆ แต่อย่างใด
5. ศาลรัฐธรรมนูญในฐานะเป็นองค์การตุลาการที่มีหน้าที่ในการพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์(Bundesverfassungsgericht-BVerfG) เปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1951 มีที่ทำการตั้งอยู่ที่เมือง Karlsruhe ในมลรัฐ Baden-Württemberg ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เป็นศาลที่มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในระบบกฎหมายของเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐาน ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ถูกขนานนามว่าเป็นผู้พิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญ(Die Hüter der Verfassung) แม้ว่าที่มาของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 16 คนจะมีที่มาจากการคัดเลือกของฝ่ายการเมืองอันได้แก่รัฐสภา(Bundestag) และสภาผู้แทนมลรัฐ(Bundesrat) แต่ในการปฏิบัติหน้าที่ของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญก็หาได้ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของฝ่ายการเมืองแต่ประการใด ในทางตรงกันข้ามกลับแสดงความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาคดีตามกฎหมายของตนได้อย่างเข้มแข็ง ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งของผู้พิพากษาแต่ละคนนั้นมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง 12 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งได้เพียงครั้งเดียว เขตอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ที่สำคัญๆ เช่น การพิจารณาคดีกรณีการใช้สิทธิร้องทุกข์ตามรัฐธรรมนูญ, การควบคุมกฎหมายที่ออกโดยฝ่ายนิติบัญญัติ, การพิจารณาข้อพิพาทระหว่างองค์กรตามรัฐะรรมนูญ, การพิจาณาข้อพิพาทระหว่างสหพันธรัฐและมลรัฐ, การสั่งห้ามพรรคการเมือง เป็นต้น
ด้วยผลงานในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ และบทบาทการวางตัวของผู้พิพากษาศาลรัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ในการพิจารณาพิพากษาคดี ทำให้คำพิพากษาจาก Karlsruhe เป็นคำวินิจฉัยที่ต้องรับฟังและให้ความสำคัญแต่ไม่ใช่เพราะว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายกำหนดให้องค์กรทั้งหลายผูกพันตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์เท่านั้น แต่ด้วยเหตุว่าเนื้อหาและเหตุผลประกอบคำพิพากษาที่เต็มไปด้วยหลักวิชาการที่ถูกนำมาปรับใช้กับข้อเท็จจริงได้อย่างแท้จริงก็เป็นเหตุหนึ่งที่ให้น้ำหนักแก่คำพิพากษาของสาลรัฐธรรมนูญ และก่อให้เกิดการยอมรับคำพิพากษานั้นอย่างแท้จริง
C. กฎหมายพื้นฐานปัจจุบัน อนาคต
60 ปีที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน คำถามที่เกิดขึ้นคือกฎหมายพื้นฐานในฐานะรัฐธรรมนูญชั่วคราวของประเทศเยอรมนีนั้นจะดำรงอีกนานแค่ไหน ? ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ชาวเยอรมันทั้งหลายภายหลังจากการรวมเยอรมันตะวันออก และเยอรมันตะวันตกเข้าด้วยกันภายหลังจากที่กำแพงเบอร์ลินล่มสลายลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1989 หากนับถึงปีนี้ก็เป็นระยะเวลา 20 ปีแล้วนั้น ถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ชาวเยอรมันจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่(ถาวร) ตามที่มาตรา 146 ของกฎหมายพื้นฐานได้เปิดช่องทางเอาไว้ คำถามดังกล่าวนี้ถูกตั้งหรือยกขึ้นมาเป็นประเด็นอยู่เสมอ แต่ด้วยความสำเร็จ และประสิทธิภาพของกฎหมายพื้นฐานที่ทำให้คำถามนี้ถูกลดความสำคัญลงไป เพราะหากจะกล่าวว่ากฎหมายพื้นฐานเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีและใช้บังคับได้อย่างทันยุคทันสมัยอยู่เสมอ ดังนั้นความจำเป็นที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วนเท่าใดนัก ก็ไม่ใช่การกล่าวที่เกินจริงแต่ประการใด
ประเด็นสำคัญที่เป็นเรื่องน่าพิจารณาคือบทบาทของกฎหมายพื้นฐานในฐานะประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ได้เคยมีคำวินิจฉัยที่สำคัญที่เกี่ยวข้องอันได้แก่คำวินิจฉัย BVerfGE 89, 155 อันเนื่องมาจากข้อพิพาทกรณีการให้สัตยาบันสนธิสัญญา Maastricht และการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญที่ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการถ่ายโอนอำนาจอธิปไตยของชาวเยอรมันไปให้ยังสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการลดอำนาจรัฐสภา(Bundestag) และขัดหลักประชาธิปไตย และทำให้สิทธิขั้นพื้นฐานได้รับผลกระทบเพราะว่าต่อไปนี้การตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับปัญหาที่เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญจะถูกนำไปตัดสินในระดับสหภาพยุโรป ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินในกรณีดังกล่าวโดยได้ยืนยันถึงมาตรฐานของสิทธิขั้นพื้นฐานที่กฎหมายพื้นฐานได้รับรองหรือให้การรับประกันเอาไว้ว่ามาตรฐานดังกล่าวนั้นใช้บังคับกับกฎหมายของประชาคมยุโรปด้วย และศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ก็สงวนสิทธิที่จะเป็นผู้ตัดสินในกรณีที่เกี่ยวกับสิทธิขั้นพื้นฐานดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามในกรณีปกติหากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานในกฎหมายของประชมคมยุโรปแล้วนั้นศาลยุติธรรมแห่งยุโรปย่อมมีอำนาจพิจารณา ต่อปัญหาเกี่ยวกับหลักประชาธิปไตยนั้นศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ยืนยันว่าการเข้าร่วมในสหภาพยุโรปอันเป็นองค์การระหว่างประเทศเหนือรัฐนั้นไม่เป็นการขัดหรือแย้งต่อหลักประชาธิปไตยตราบใดที่ภายในสหภาพยุโรปยึดมั่นรักษาหลักประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน จากคำวินิจฉัยนี้ศาลรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธ์ได้แสดงให้เห็นประการหนึ่งว่าตราบใดที่ในประชาคมยุโรปเป็นประชาคมที่เป็นประชาธิปไตยและมีการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานที่มีมาตรฐานเพียงพอเหมือนกับที่กำหนดไว้ในกฎหมายพื้นฐานแล้วนั้นย่อมเป็นการสอดคล้องกับหลักการประกันสิทธิขั้นพื้นฐานในกฎหมายพื้นฐานเช่นเดียวกัน สิ่งที่เป็นสิ่งที่ท้าทายในปัจจุบันคือสิ่งที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรป ที่ยังไม่มีผลใช้บังคับเพราะว่าประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปยังไม่ให้สัตยาบันครบถ้วนนั้น สิ่งที่น่าพิจารณาคือหากรัฐธรรมนูญแห่งสหภาพยุโรปดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้วนั้นจะส่งผลต่อ กฎหมายพื้นฐาน อย่างไรบ้าง
D. สรุป
ด้วยบทเรียนที่ชาวเยอรมันภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองได้เรียนรู้และได้สัมผัสถึงความยากลำบากอย่างแสนสาหัส เป็นบทเรียนที่ชาวเยอรมันได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้เกิดความแน่วแน่ของประชาชาติว่าความทรงจำร้ายๆ ในประวัติศาสตร์ดังกล่าวนั้น จะปล่อยให้เกิดขึ้นอีกไม่ได้ในอนาคต กฎหมายพื้นฐาน จึงเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยกอบกู้ ประคับประคอง และสร้างประเทศเยอรมนีและชาวเยอรมันให้มีความเข้มแข็ง และก้าวมายืนอยู่บนเวทีโลกได้อย่างมั่นคงและอย่างภาคภูมิ ในโอกาสที่ Grundgesetz (กฎหมายพื้นฐาน) ในฐานะรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมนีมีอายุครบ 60 ปี ในปีนี้และสามารถดำรงอยู่ได้โดยไม่ถูกกองกำลังหรือกลุ่มบุคคลที่อ้างว่ามีหัวใจประชาธิปไตยกลุ่มใดๆ มายกเลิกและล้มล้างโดยใช้วิธีการปฏิวัติ รัฐประหาร หรือวิถีทางอันไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตยเหมือนในบางประเทศ จึงขอกล่าวอวยพรว่า „Alles Gute zum sechzigjährigen Jubiläum!
อ้างอิง
1.Bommarius, Christian, Das Grundgesetz; Eine Biographie, Berlin 2009
2.Bönisch, Georg/Wiegrefe, Klaus (Hrsg.), Die 50er Jahre; Vom Trümmerland zum Wirtschaftswunder, München 2006.
3.Möllers, Christoph, Das Grundgesetz; Geschichte und Inhalt, München 2009.
4.Sodan, Helge(Hrsg.), Grundgesetz, München 2009.
5.Steinbeis, Maximilian/Detjen, Marion/Detjen, Stephan, Die Deutschen und das Grundgesetz, München 2009.
6.Weis, Hubert, Meine Grundrechte, München 2004.
7.Wesel, Uwe, Der Gang nach Karsruhe, München 2004.
8.http://www.faz.net/s/Rub594835B672714A1DB1A121534F010EE1/Doc~EC1E8A56C62F74B3E8E0FDC2803A1ECDC~ATpl~Ecommon~Scontent.html
9. http://de.wikipedia.org/wiki/Grundgesetz
10. http://de.wikipedia.org/wiki/Maastricht-Entscheidung
11.http://de.wikipedia.org/wiki/Bundesverfassungsgericht
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1362
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 16:53 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|