|
 |
บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ:ศึกษากรณีปัญหาความขัดแย้งเรื่องเขตอำนาจศาลระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครอง ตอนแรก 20 ธันวาคม 2547 16:12 น.
|
บทนำ
โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ได้บัญญัติให้มีองค์กรตรวจสอบองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐขึ้นหลายองค์กร ทั้งองค์กรที่เป็นองค์กรตุลาการ และองค์กรที่ไม่ใช่องค์กรตุลาการ เช่น คณะกรรมการ ป.ป.ช. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา เป็นต้น โดยที่มีองค์กรตรวจสอบองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐหลายองค์กร ดังนั้น การที่เกิดปัญหาเรื่องความขัดแย้งกันในเรื่องเขตอำนาจ จึงเป็นปัญหาพื้นฐานที่อาจเกิดขึ้นได้ในส่วนขององค์กรตุลาการด้วยกันนั้น รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ในการชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร หรือศาลอื่น ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตาม คำว่า "ศาลอื่น" ตามมาตรา 248 ของรัฐธรรมนูญ ไม่รวมถึงกรณีที่ศาลต่างมีความขัดแย้งกับศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น โดยหลักพื้นฐานแล้ว กรณี
ที่มีปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเขตอำนาจระหว่างศาลรัฐธรรมนูญกับศาลอื่น ๆ องค์กรที่มีอำนาจ
ในการชี้ขาดเรื่องดังกล่าวคือ ศาลรัฐธรรมนูญเอง หากมีปัญหาดังกล่าวขึ้นมาสู่การพิจารณาของ
ศาลรัฐธรรมนูญโดยเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรผ็มีอำนาจชี้ขาดกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ
มีปัญหาความขัดแย้งกับเขตอำนาจศาลอื่นนี้เอง ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องระมัดระวังในการ
ชี้ขาดเรื่องดังกล่าว โดยศาลรัฐธรรมนูญจะต้องคำนึงถึงการไม่ขยายขอบเขตอำนาจของตนเอง
หรือจะต้องไม่ตีความไปในทิศทางที่ขยายเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ และโดยเหตุที่ไม่มี
องค์กรสามารถควบคุมตรวจสอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ บทความในทางวิชาการชิ้นนี้
จึงทำหน้าที่ในการศึกษาวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเฉพาะในส่วนที่มีความสัมพันธ์
เกี่ยวกับเขตอำนาจของศาลปกครองเท่านั้น โดยอาจแบ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผล
กระทบต่อเขตอำนาจศาลปกครองอยู่ 2 ฉบับ ดังนี้ คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2541
เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับวาระการ
ดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาล และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 24/2543
เรื่อง ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผล
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
1. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2541 เรื่อง ประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ
พิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภา
เทศบาล
1.1 ข้อเท็จจริงโดยสรุปและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ในเรื่องนี้มีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย ขอให้
ประธานรัฐสภาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับวาระ
การดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาล ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 16
วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติให้สมาชิกสภาเทศบาลอยู่ในตำแหน่งได้คราวละห้าปี แต่รัฐธรรมนูญ
มาตรา 285 วรรคห้า บัญญัติให้สมาชิกสภาท้องถิ่น คณะผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น
มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปี เรื่องนี้คณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นว่า เป็นกรณีที่
พระราชบัญญัติดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติดังกล่าวจึงใช้บังคับมิได้
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 วาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาลที่ได้รับเลือกตั้งก่อน
รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 285 วรรคห้า แต่สมาคมสันนิบาต
แห่งประเทศไทยเห็นว่า ถ้ากฎหมายใดมีผลย้อนหลังเป็นโทษย่อมไม่มีผลใช้บังคับ สมาชิกสภา
เทศบาลที่ได้รับเลือกตั้งก่อนรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ จึงควรมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ
ห้าปี
ในการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณา 2 ประเด็น ประเด็นแรกเกี่ยวกับ
ความเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญของเทศบาล และประเด็นที่สอง สมาชิกสภาเทศบาลซึ่งได้รับ
การเลือกตั้งก่อนวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับจะมีวาระการดำรงตำแหน่งกี่ปี สำหรับประเด็น
ที่หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่าพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
พ.ศ. 2534 มาตรา 70 ได้บัญญัติให้เทศบาลเป็นการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ดังนั้น เทศบาลจึงเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามหมวด 9 ของรัฐธรรมนูญ เมื่อมีปัญหา
เกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่งของสมาชิกสภาเทศบาลว่าจะมีวาระตามที่กำหนดในมาตรา 16
วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 หรือจะมีวาระตามที่กำหนดในมาตรา 285
วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และ
โดยที่ปัญหาดังกล่าวประธานรัฐสภาได้เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 266
ของรัฐธรรมนูญ จึงรับไว้พิจารณา สำหรับประเด็นที่สอง ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า
พระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้สมาชิกสภาเทศบาล
อยู่ในตำแหน่งได้คราวละห้าปี จึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและไม่มีผลใช้บังคับ
ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับกรณีนี้มิใช่เป็นเรื่องกฎหมายที่มีผลย้อนหลัง แต่เป็น
เรื่องกฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
1.2 ผลกระทบจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2541
จากการที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เทศบาล เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตาม
มาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ ก่อให้เกิดผลกระทบดังนี้
(1) เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล สภาตำบล ฯลฯ) เป็นองค์กรตาม
รัฐธรรมนูญตามมาตรา 266 และต่อไปภายหน้าเมื่อได้มีการจัดตั้งศาลปกครองขึ้นจะก่อให้เกิด
ปัญหาเรื่องเขตอำนาจระหว่างศาลปกครองกับศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ เพราะตามมาตรา 276
ของรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า "ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง
หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับ
บัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแล
ของรัฐบาลด้วยกัน ..." ดังนั้น กรณีตามมาตรา 276 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหนึ่งอาจมี
ความขัดแย้งกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกแห่งหนึ่งได้ ถ้าถือตามหลักคำวินิจฉัยของศาล
รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว จะต้องถือว่าเป็นกรณีที่เป็นความขัดแย้งระหว่างองค์กรตาม
รัฐธรรมนูญกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 266 ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
กรณีจึงก่อให้เกิดความขัดแย้งในเรื่องเขตอำนาจศาลกับศาลปกครองตามที่บัญญัติไว้ใน
มาตรา 276 ของรัฐธรรมนูญ
(2) หากตีความว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ นอกจาก
จะไม่สอดคล้องกับระบบศาลคู่ที่ให้ศาลปกครองมีอำนาจวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อพิพาททางปกครอง
ซึ่งรวมถึงกรณีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นด้วย การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ยังทำให้หลักเรื่องอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญนั้นเข้าใกล้หลัก Gerneralkfousel หรือหลัก
ที่ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญเป็นการทั่วไป ซึ่งขัดกับหลักพื้นฐานในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่
ของศาลรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีการระบุไว้โดยชัดแจ้ง (Enumerationsprinzip) เพราะเมื่อศาล
รัฐธรรมนูญตีความว่า องค์กรที่รัฐธรรมนูญกล่าวถึงในรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
จึงเท่ากับทำให้เขตอำนาจศาลครอบคลุมอย่างกว้างขวาง การตีความดังกล่าวจึงเป็นการตีความ
ที่มีผลทำให้เป็นการขยายเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
1.3 บทวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2541
โดยที่ผู้เขียนได้เคยวิเคราะห์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาแล้ว1 ดังนั้น
จึงไม่ขอกล่าวรายละเอียด แต่ขอกล่าวโดยสรุปว่า หากพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของการเป็น
องค์กรตามรัฐธรรมนูญแล้ว เทศบาลอาจจะเข้าเงื่อนไขในการเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ
เฉพาะในแง่รูปแบบ (foruelle Kriterien) เท่านั้น กล่าวคือ การก่อตั้งและอำนาจหน้าที่นั้นได้มี
การบัญญัติรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากพิจารณาเกณฑ์ในทางเนื้อหา (substantielle
Kriterien) แล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่เข้าเงื่อนไขของหลักเกณฑ์ในทางเนื้อหา เพราะ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรทางพื้นที่ที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการใช้อำนาจของรัฐ
ในลักษณะที่เป็นการควบคุมตรวจสอบองค์กรอื่นใดทั้งสิ้น และในแง่ความสัมพันธ์กับองค์กร
อื่นนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้การควบคุมกำกับของกระทรวง
มหาดไทย ดังนั้น ในแง่ของหลักเกณฑ์ในทางเนื้อหาแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจึงไม่ใช่
องค์กรตามรัฐธรรมนูญ
แต่อย่างไรก็ตาม ต่อมาองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด และ
เทศบาล เสนอเรื่องพร้อมความเห็นรวมห้าคำร้องเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม
รัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า2 ประเด็นแห่งคำร้องตามคำร้อง
ทั้งห้า มีความเกี่ยวเนื่องกัน จึงรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน และมีประเด็นเบื้องต้นที่ศาล
รัฐธรรมนูญต้องพิจารณา คือ ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องทั้งห้าไว้พิจารณาวินิจฉัยตาม
รัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ได้หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า องค์กรตาม
รัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ที่จะเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้นั้น
หมายถึง องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญและกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญยังได้วินิจฉัยต่อไปว่า สำหรับองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การ
บริหารส่วนจังหวัด และเทศบาล มีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยรัฐธรรมนูญ
มาตรา 283 บัญญัติให้ท้องถิ่นที่ปกครองตนเองได้ย่อมมีสิทธิได้รับจัดตั้งเป็นองค์กรปกครอง
ส่วนท้องถิ่นตามที่กฎหมายบัญญัติ เห็นได้ว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น
จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติต่างๆ มิได้จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ของ
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ย่อมเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด
อำนาจหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้นไว้โดยตรง ทั้งองค์กรดังกล่าวอาจยุบเลิกหรือเปลี่ยนแปลง
ได้เสมอตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติ เมื่อองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด
และเทศบาล มิใช่องค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญ อีกทั้งมิได้มีบทบาทและอำนาจหน้าที่หลัก
ตามรัฐธรรมนูญ จึงไม่อาจเสนอเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตาม
รัฐธรรมนูญ มาตรา 266 ได้
2. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 24/2543 เรื่อง ระเบียบคณะกรรมการเลือกตั้ง
ว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
2.1 สรุปข้อเท็จจริงและคำวินิจฉัยของศาลรัธรรมนูญ
ในเรื่องนี้มีข้อเท็จจริงสรุปได้ว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาได้รับหนังสือร้องเรียน
จากผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุดรธานีว่า การที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง
(ก.ก.ต.) ออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศ
ผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2543 ข้อ 3
เพิ่มความเป็น ข้อ 6 ทวิ ของระเบียบดังกล่าว ความว่า "ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง
ไม่ประกาศผลการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ใดเกินกว่าหนึ่งครั้ง คณะกรรมการ
การเลือกตั้งอาจวินิจฉัยโดยใช้คะแนนเสียงเอกฉันท์ให้ถือว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้นั้นมิได้เป็น
ผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งใหม่อีก" และ ก.ก.ต. ได้อาศัยระเบียบดังกล่าวสั่งให้ผู้สมัคร
รับเลือกตั้งดังกล่าวไม่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่ ซึ่งผู้สมัครรับเลือกตั้งดังกล่าว
เห็นว่าระเบียบดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 โดยชัดแจ้ง จึงมีหนังสือร้องเรียนมายัง
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเพื่อขอให้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 198 เสนอเรื่อง
พร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ไม่ปรากฏว่ารัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใดให้อำนาจ ก.ก.ต. ตัดสิทธิ
ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น การที่ ก.ก.ต. อาศัย พระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 10 (7) ออกระเบียบ
คณะกรรมการการเลือกตั้งฯ จึงน่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในเบื้องต้นว่า การที่
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย
เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ในประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ
วินิจฉัยว่า ระเบียบ ก.ก.ต. ฉบับดังกล่าว เป็นระเบียบที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2541 มาตรา 10 (7)
และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 3
ได้นิยามคำว่า "กฎ" หมายความว่า "พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง
ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่
มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ" ดังนั้น เมื่อระเบียบ ก.ก.ต.
ดังกล่าว เป็นบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด
หรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ จึงย่อมถือได้ว่า เป็น "กฎ" หรือ "ข้อบังคับ" ตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา 198 ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจเสนอเรื่องให้พิจารณาวินิจฉัยความชอบ
ด้วยรัฐธรรมนูญได้
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยต่อมาว่า แม้ว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 198 วรรคหนึ่ง มิได้
บัญญัติโดยชัดแจ้งว่า ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครององค์กรใดเป็นองค์กรที่มีอำนาจในการ
ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหรือข้อบังคับที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
เสนอให้พิจารณาวินิจฉัย แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 2763 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติทั่วไปในเรื่อง
อำนาจหน้าที่ของศาลปกครอง บัญญัติว่า "ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็น
ข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ
เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่าง
หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ... ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"
โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลปกครองในการ
พิจารณาวินิจฉัย "ความชอบด้วยกฎหมาย"4 ของการกระทำของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแล
ของรัฐบาล ดังนั้น อำนาจหน้าที่ของศาลปกครองในการพิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการ
แผ่นดินของรัฐสภาเสนอตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 วรรคหนึ่ง จึงต้องหมายความถึง เรื่องของ
หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่
ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลเท่านั้น
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ก.ก.ต. เป็นองค์กรที่มีขึ้นตามรัฐธรรมนูญ หมวด 6 ส่วนที่ 4
มิใช่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาล ดังนั้น
ระเบียบ ก.ก.ต. ซึ่งออกโดย ก.ก.ต. จึงไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยของศาลปกครอง
การพิจารณา "ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" ของระเบียบ ก.ก.ต. ที่ออกโดย ก.ก.ต. จึงเป็นอำนาจ
ของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็น
เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของระเบียบ
ก.ก.ต. ดังกล่าวนั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมี
อำนาจพิจารณาวินิจฉัยเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอมาได้
ประเด็นต่อมา ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาว่า ระเบียบ ก.ก.ต. ดังกล่าวมีปัญหา
เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ระเบียบคณะกรรมการ
การเลือกตั้ง ว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29
วรรคหนึ่ง5 มาตรา 1266 และต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 67
2.2 ผลกระทบจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543
จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543 ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างน้อย
2 ประการ ดังนี้ (1) ส่งผลให้องค์กรอิสระตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจ
ของศาลปกครอง (2) ทำให้ระบบการควบคุมเกี่ยวกับข้อพิพาทในทางปกครองอยู่ภายใต้ระบบ
ของศาล 2 ระบบ โดยมีข้อพิจารณาดังนี้
(1) องค์กรอิสระตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของ
ศาลปกครอง
จากผลคำวินิจฉัยนของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้องค์กรอิสระ
ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ทั้งนี้ เพราะ
ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน่วยงานของรัฐที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง หมายเฉพาะ
หน่วยงานของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลเท่านั้น ดังนั้น หากจะ
พิจารณาถึงองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญประเภทต่าง ๆ อาจแบ่งประเภทขององค์กรอิสระ
ตามรัฐธรรมนูญออกได้ 4 กลุ่ม ดังนี้ (1.1) สำนักงานศาลและสำนักงานขององค์กรอิสระต่าง ๆ
(1.2) องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ (1.3) องค์กรควบคุมตรวจสอบการเลือกตั้ง และ
(1.4) องค์กรอิสระอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
(1.1) สำนักงานศาลและสำนักงานขององค์กรอิสระต่าง ๆ
ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้มีสำนักงานศาลและสำนักงาน
ขององค์กรอิสระต่าง ๆ โดยให้สำนักงานดังกล่าวเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคล
การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น โดยอาจแบ่งองค์กรดังกล่าวได้ 5 องค์กร ดังนี้
ก. สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
มาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน่วยธุรการ
ของศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้บังคับบัญชา
ขึ้นตรงต่อประธานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญมีอิสระในการบริหารงานบุคคล
การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ข. สำนักงานศาลยุติธรรม
มาตรา 275 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลยุติธรรมมีหน่วยธุรการ
ของศาลยุติธรรมที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานยุติธรรมเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อ
ประธานศาลฎีกา สำนักงานศาลยุติธรรมมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และ
การดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ค. สำนักงานศาลปกครอง
มาตรา 280 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ศาลปกครองมีหน่วยธุรการ
ที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองเป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธาน
ศาลปกครองสูงสุด สำนักงานศาลปกครองมีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ
และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
ง. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
(ป.ป.ช.)
มาตรา 302 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ป.ป.ช. มีหน่วยงานธุรการ
ที่เป็นอิสระ โดยมีเลขาธิการของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธาน
ป.ป.ช. สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ
และการดำเนินการอื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
จ. สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
มาตรา 312 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
มีหน่วยธุรการของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระ โดยมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
เป็นผู้บังคับบัญชาขึ้นตรงต่อประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
(1.2) องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐ
องค์กรที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
แบ่งออกได้ 3 องค์กร ดังนี้ ก. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ข. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และ ค. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ก. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)8
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่สำคัญในการป้องกันและ
ปราบปรามการทุจริต โดยให้ ป.ป.ช. เป็นองค์กรที่มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้น
เพื่อให้มีการดำเนินการต่อไม่ว่าจะเป็นกรณีการถอดถอนออกจากตำแหน่ง (มาตรา 305) หรือ
เพื่อส่งความเห็นไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (มาตรา 308)
นอกจากนี้ ป.ป.ช. ยังมีอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ
กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิด
ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม และมีอำนาจในการตรวจสอบความถูกต้องและความมีอยู่จริง
รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่
ของรัฐ
ข. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน9
รัฐธรรมนูญได้กำหนดเรื่องการตรวจเงินแผ่นดินไว้ในหมวด 11
(มาตรา 312) และต่อมาได้มีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงิน
แผ่นดิน พ.ศ. 2542 โดยกำหนดให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับ
การวางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดิน การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาในเรื่องวินัยทาง
งบประมาณและการคลัง การให้คำปรึกษาและแนะนำการเสนอแนะให้มีการแก้ไขข้อบกพร่อง
เกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน การกำหนดโทษปรับทางปกครอง การพิจารณาวินิจฉัยความผิด
ทางวินัย ทางงบประมาณ และการคลังในฐานะที่เป็นองค์กรสูงสุด
ค. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา 10
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเป็นองค์กร
ที่เข้ามาร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจขององค์กรของรัฐ ได้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน
ของรัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีที่การ
ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ
พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการ
ส่วนท้องถิ่น หรือในกรณีที่การปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ พนักงาน ลูกจ้างของ
หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือในกรณีที่การ
ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชน
โดยไม่เป็นธรรมไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(1.3) องค์กรควบคุมตรวจสอบการเลือกตั้ง 11(ก.ก.ต.)
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรควบคุม
ตรวจสอบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น และ
ผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดย
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ ก.ก.ต. มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและ
วินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมายตามมาตรา 144 วรรคสอง (กฎหมาย
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมาย
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียง
ประชามติและกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น)
(1.4) องค์กรอิสระอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
องค์กรอิสระอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญอาจแบ่งออกได้เป็น 2 องค์กร ดังนี้
ก. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ข. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (มาตรา 40)
ก. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 12
รัฐธรรมนูญกำหนดให้มี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็น
การละเมิดสิทธิมนุษยชน และเสนอมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำ
หรือละเลยการกระทำดังกล่าว เสนอแนะนโยบายและข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมาย กฎ หรือ
ข้อบังคับต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จัดทำรายงาน
ประจำปี เพื่อประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนภายในประเทศและเสนอต่อรัฐสภา
ข. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่
มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ
ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์
และกิจการโทรคมนาคม
ผลจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลทำให้องค์กรอิสระตามที่กล่าวแล้ว
ข้างต้นย่อมไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง กรณีจึงก่อให้เกิดผลประการที่สองดังจะได้กล่าว
ต่อไป
(2) ทำให้ระบบการควบคุมเกี่ยวกับข้อพิพาทในทางปกครองอยู่ภายใต้ระบบ
ของศาล 2 ระบบ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อพิพาทประการที่หนึ่งว่า มีองค์กรอิสระอย่างน้อย
4 กลุ่ม ที่ไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจของศาลปกครอง ทั้งที่โดยแท้จริงแล้ว องค์กรอิสระดังกล่าว
ต่างก็ใช้อำนาจในทางปกครองทั้งสิ้น อย่างน้อยที่สุด อำนาจในการบริหารงานบุคคลของ
องค์กรนั้น ๆ เช่น การแต่งตั้ง ถอดถอน เจ้าหน้าที่ขององค์กรนั้น ๆ หรือการลงโทษทางวินัย
ต่อเจ้าหน้าที่ขององค์กรนั้น ๆ ในกรณีดังกล่าวหากเป็นข้อพิพาทโต้แย้งย่อมถือว่าเป็นข้อพิพาท
ในทางคดีปกครอง ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพิจารณาถึงการใช้อำนาจขององค์กรดังกล่าวที่ส่งผลกระทบ
ต่อบุคคลภายนอก ปัญหาที่จะต้องพิจารณาประการต่อมา คือ หากมีข้อพิพาทที่มีลักษณะเป็น
ข้อพิพาทในทางปกครองดังกล่าว หากบุคคลผู้ได้รับผลกระทบประสงค์จะฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล
ในกรณีนี้บุคคลดังกล่าวจะฟ้องคดีต่อศาลใด ในเมื่อองค์กรดังกล่าวไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาล
รัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามเหตุผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 24/2543 เมื่อข้อพิพาท
อันเกิดจากองค์กรดังกล่าวไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง หากพิจารณาตามบทบัญญัติของ
รัฐธรรมนูญ มาตรา 271 ซึ่งบัญญัติว่า ศาลยุติธรรมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง
เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น เมื่อพิจารณาตาม
บทบัญญัติของมาตรา 271 ของรัฐธรรมนูญ ข้อพิพาทกรณีดังกล่าวย่อมอยู่ในเขตอำนาจของ
ศาลยุติธรรม ทั้งนี้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้ข้อพิพาทอันเกิดจากองค์กร
ดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจของศาลใด ด้วยเหตุนี้คดีข้อพิพาทอันเกิดจากองค์กรดังกล่าวย่อมตก
อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ซึ่งเป็นเขตอำนาจศาลที่มีเขตอำนาจทั่วไป
ประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไป คือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งได้บัญญัติ
ให้จัดตั้งศาลปกครองนั้น มีเจตนารมณ์ที่จะให้แยกคดีปกครองออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้อยู่
ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งให้อยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม รัฐธรรมนูญ
มีเจตนารมณ์เช่นนั้นจริงๆ หรือ หรือการก่อให้เกิดผลเช่นนั้นเกิดจากคำวินิจฉัยของศาล
รัฐธรรมนูญที่มิได้คาดหมายว่าจะเกิดผลเช่นนี้ขึ้น ทั้งนี้ หากพิจารณาจากบทบัญญัติของ
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ตามที่บัญญัติไว้ใน
มาตรา 9 วรรค 213 ซึ่งได้บัญญัติถึงข้อยกเว้นของคดีปกครองที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจของ
ศาลปกครองไว้อย่างชัดแจ้งแล้ว ซึ่งจากบทบัญญัติของมาตรา 9 วรรค 2 นี้เอง ย่อมสะท้อน
ให้เห็นชัดเจนว่า ศาลปกครองเป็นศาลที่มีเขตอำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาท
ในทางปกครองเป็นการทั่วไป และเฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะเท่านั้น ว่าให้อยู่ใน
เขตอำนาจของศาลอื่น กรณีดังกล่าวจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้น หาก
ข้อพิพาทใดเป็นข้อพิพาทในทางปกครอง และไม่มีกฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของ
ศาลอื่น กรณีจึงไม่อาจพิจารณาเป็นอื่นไปได้ นอกจากจะให้ข้อพิพาทในทางปกครองดังกล่าว
อยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบโดยศาลปกครอง
2.3. ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญประเภทต่าง ๆ กับศาลปกครอง
ในการพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญประเภทต่าง ๆ
กับศาลปกครองจะแยกพิจารณาตามประเภทขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแต่ละประเภท
ตามลำดับ
2.3.1 สำนักงานศาลและองค์กรอิสระต่าง ๆ
ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญประเภทนี้ ได้แก่
สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงาน
คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
สำหรับข้อพิจารณาของการกระทำทั้งหลายขององค์กรประเภทที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของศาลปกครอง เช่น การกระทำที่เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลทั้งหลายของ
องค์กรดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง โยกย้าย การลงโทษทางวินัย โดยหลักพื้นฐานและการ
กระทำดังกล่าวย่อมอยู่ภายใต้การควบคุมตรวจสอบของศาลปกรอง
2.3.2 องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ (ป.ป.ช.คณะกรรมการ
ตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา) กับศาลปกครอง ในกรณีขององค์กร
ประเภทนี้มีข้อพิจารณาดังนี้
2.3.2.1 องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจดังกล่าวข้างต้นกับศาลปกครอง
ต่างก็เป็นองค์กรในระดับองค์กรตามรัฐธรรมนูญตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างองค์กรดังกล่าวกับศาลปกครอง กรณี
ย่อมอยู่ในเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องดังกล่าว
2.3.2.2 ความสัมพันธ์ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรดังกล่าว
กับศาลปกครอง
(1) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ก. ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 9 (1) กำหนด
ให้ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาในคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือ
เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการออกกฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใด เนื่องจากกระทำโดยไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจหน้าที่ หรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือโดยไม่สุจริต ในขณะที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ
ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (3) กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีอำนาจ
ไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตหรือกระทำ
ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ดังที่
การกระทำเดียวอาจจะอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง และอยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ
ป.ป.ช.ได้
ข. ระเบียบหรือข้อบังคับของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นระเบียบ
หรือข้อบังคับที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือไม่ (ดูมาตรา 321 ของรัฐธรรมนูญ
ประกอบ)
ค. การใช้อำนาจสั่งการบางประการของคณะกรรมการ ป.ป.ช.
เป็นคำสั่งที่อาจถูกโต้แย้งได้หรือไม่ หากอาจถูกโต้แย้งได้องค์กรใดจะเป็นผู้มีอำนาจในการ
ตรวจสอบ เช่น มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว กำหนดให้
คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ของรัฐตำแหน่งอื่น ๆ นอกจากมาตรา 39 และ
มาตรา 40 ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน ในกรณีนี้หากเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ดังกล่าวจะโต้แย้งคำสั่งของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่
ง. กรณีที่บุคคลผู้ถูกร้องเรียนจะโต้แย้งว่ากระบวนการไต่สวน
ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีการแต่งตั้งบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 46
แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว กรณีดังกล่าวนี้หากบุคคลดังกล่าวได้เสนอข้อโต้แย้งต่อ
คณะกรรมการ ป.ป.ช.แล้วไม่เป็นผล บุคคลดังกล่าวจะมีสิทธิโต้แย้งเรื่องดังกล่าวต่อองค์กรอื่น
หรือไม่
(2) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
รวมทั้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินกับศาลปกครองมีข้อสังเกตดังนี้
ก. ระเบียบข้อบังคับหรือประกาศของคณะกรรมการตรวจเงิน
แผ่นดินอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองหรือไม่
ข. ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้มี
คณะกรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลัง โดยให้คณะกรรมการดังกล่าวมีอำนาจในการ
พิจารณาและกำหนดโทษปรับทางปกครองเบื้องต้นแก่เจ้าหน้าที่หรือพนักงานของหน่วยรับตรวจ
ที่ฝ่าฝืนมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมการเงินของรัฐที่คณะกรรมการกำหนด และตามมาตรา 23
กำหนดให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด และมาตรา 24 กำหนดว่าเพื่อประโยชน์
ในการชำระเงินที่เป็นโทษปรับทางปกครองตามที่คณะกรรมการกำหนด ให้วินิจฉัยลงโทษ
ทางวินัยของคณะกรรมการมีผลทางปกครองเช่นเดียวกับคำสั่งลงโทษตัดเงินเดือนที่สั่งโดย
ผู้บังคับบัญชา
กรณีจึงมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า คำวินิจฉัยของคณะ
กรรมการวินัยทางงบประมาณและการคลังดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจการควบคุมตรวจสอบของ
ศาลปกครองหรือไม่
ค. ตามมาตรา 63 กำหนดให้ผู้รับตรวจหรือผู้บังคับบัญชาหรือ
ผู้ควบคุมกำกับหรือรับผิดชอบของหน่วยรับตรวจผู้ใดละเลยไม่ดำเนินการตามมาตรา 44 มาตรา
45 หรือมาตรา 46 ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัย ในกรณีนี้จะโต้แย้งคำสั่งดังกล่าวต่อ
ศาลปกครองได้หรือไม่
(3) ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ในส่วนของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีข้อสังเกตที่เกี่ยวกับ
เขตอำนาจของศาลปกครองดังนี้
ก. ตามรัฐธรรมนูญมิได้กำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
มีหน่วยธุรการของผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาที่เป็นอิสระ แต่อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา พ.ศ. 2542 ได้กำหนดไว้ในหมวด 3
เกี่ยวกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา ซึ่งมีอำนาจในการบริหารงานบุคคลโดยมี
เลขาธิการเป็นผู้บังคับบัญชา พนักงานและลูกจ้างของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
ดังนั้น กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษ
ทางวินัยพนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กรณีดังกล่าวย่อมอยู่
ในเขตอำนาจศาลปกครอง
ข. ตามมาตรา 197 และมาตรา 198 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบกับ
มาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภามีอำนาจหน้าที่
ในการพิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณี
- การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจ
หน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ
หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
- การไม่ปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ
พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วน
ท้องถิ่นที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนหรือประชาชนโดยไม่เป็นธรรม ไม่ว่าการนั้น
จะชอบหรือไม่ชอบด้วยอำนาจหน้าที่ก็ตาม
ตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวยังกำหนดให้
ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของ
บุคคลใดตามมาตรา 16 (1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน
ของรัฐสภาเสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แล้วแต่กรณี เพื่อ
พิจารณาวินิจฉัยกรณีจึงมีข้อสังเกตดังนี้
ข.1) ทั้งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาฯ ต่างก็กำหนดให้
องค์กรทั้งสองมีอำนาจในการกระทำอันเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือปฏิบัตินอกเหนือ
อำนาจหน้าที่ และการปฏิบัติหรือละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของ
หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น กรณีจึงทำให้มี
ข้อพิจารณาว่าแต่ละองค์กรมีขอบเขตแค่ไหน เพียงใด และการพิจารณาขององค์กรใดองค์กร
หนึ่งผูกพันอีกองค์กรหนึ่งแค่ไหน เพียงใด
ข.2) โดยที่มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการฯ ได้กำหนดว่าในกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่า
บทบัญญัติแห่งกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใดตามมาตรา 16 (1)
มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอเรื่อง
พร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครอง แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาวินิจฉัย กรณีจึงมี
ปัญหาว่าหากผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเห็นว่า กฎ ข้อบังคับ หรือการกระทำใดของบุคคลใด
ตามมาตรา 16 (1) มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย (มิใช่ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ)
กรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาจะมีอำนาจดำเนินการอย่างไร มีอำนาจพิจารณาไปได้เอง
หรือจะต้องส่งเรื่องให้ศาลปกครองเช่นกัน
2.3.3 องค์กรควบคุมตรวจสอบการเลือกตั้ง
รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้ควบคุมและ
ดำเนินการจัดหรือจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภา
ท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น รวมทั้งการออกเสียงประชามติ ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
โดยให้มีอำนาจที่สำคัญคือ สืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาหรือ
ข้อโต้แย้งที่เกิดขึ้นตามกฎหมาย มาตรา 144 วรรคสอง (กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
พรรคการเมือง กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วย
การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น) (ตามมาตรา 144 (3)) และสั่งให้มีการ
เลือกตั้งใหม่หรือออกเสียงประชามติใหม่ในหน่วยเลือกตั้งใดหน่วยเลือกตั้งหนึ่งหรือทุกหน่วย
เลือกตั้ง เมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งหรือการออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้ง
นั้น ๆ มิได้เป็นโดยสุจริตและเที่ยงธรรม
ข้อพิจารณาในส่วนของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่อาจเกี่ยวพันกับเขต
อำนาจศาลปกครองอาจแบ่งการพิจารณาออกเป็น 3.3.1 คณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะ
องค์กรกลุ่มและ 3.3.2 ประธานกรรมการการเลือกตั้งในฐานะเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายต่าง ๆ
2.3.3.1 คณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะองค์กรกลุ่ม มีข้อสังเกตดังนี้
ถึงแม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า14 ศาลปกครองมีอำนาจ
พิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ
ราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับ
เอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ
เจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ดังนั้น อำนาจหน้าที่
ของศาลปกครองในการพิจารณาเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาเสนอตามรัฐธรรมนูญ
มาตรา 198 วรรคหนึ่งจึงต้องหมายถึงเรื่องของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือ
ราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลเท่านั้น
สำหรับคณะกรรมการการเลือกตั้งเป็นองค์กรที่มีขึ้นตามรัฐธรรมนูญ หมวด 6 ส่วนที่ 4 มิใช่
หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลดังเช่นที่กล่าว
ดังนั้น ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งฯซึ่งออกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงไม่อยู่ใน
อำนาจการพิจารณาของศาลปกครองการพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของระเบียบ
คณะกรรมการการเลือกตั้งฯที่ออกโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งจึงเป็นอำนาจของศาล
รัฐธรรมนูญ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวมิได้แยกแยะอย่างชัดเจนว่าการใช้อำนาจ
ส่วนใดบ้างที่อาจจะอยู่หรือไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง เพียงแต่วินิจฉัยว่า "คณะกรรมการ
การเลือกตั้ง" มิใช่องค์กรที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาล ซึ่งผลของคำวินิจฉัย
ดังกล่าวย่อมมีผลทำให้ "คณะกรรมการการเลือกตั้ง" อยู่นอกเขตอำนาจศาลปกครองทั้งหมด
ไม่ว่าจะกระทำในฐานะใด ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้งในกรณี
ดังต่อไปนี้มีข้อพิจารณาว่าอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองหรือไม่
(1) ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการ
การเลือกตั้ง พ.ศ. 2540 ได้กำหนดให้มีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง โดยมีเลขาธิการ
เป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้มีอำนาจ
บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานหรือลูกจ้างของ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (มาตรา 30 (1)) ดังนั้น ปัญหาข้อพิพาทที่เกี่ยวกับเรื่อง
ดังกล่าวย่อมอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
(2) ตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
คณะกรรมการการเลือกตั้งฯ ได้กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจแต่งตั้ง
คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด บุคคล
คณะบุคคลหรือผู้แทนองค์การเอกชน เพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง
มอบหมาย การโต้แย้งว่าการแต่งตั้งหรือถอดถอนบุคคลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 กรณี
ดังกล่าวมีปัญหาว่าเรื่องดังกล่าวอยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองที่จะควบคุมตรวจสอบความมิชอบ
ด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวหรือไม่
(3) กรณีตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2540 หากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่ง
ให้บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่กฎหมายกำหนดก็ดี หรือกรณีที่
คณะกรรมการการเลือกตั้งไม่รับสมัครผู้สมัครเลือกตั้งรายใดรายหนึ่ง โดยเห็นว่าขาดคุณสมบัติ
ก็ดี หรือกรณีที่พรรคการเมืองประสงค์จะโต้แย้งประกาศผลการตรวจสอบรายการค่าใช้จ่าย
(มาตรา 43) หรือผู้สมัครพรรคการเมืองจะโต้แย้งการที่รัฐกำหนดที่ติดแผ่นประกาศ หรือการ
จัดสรรเวลาออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กรณีดังกล่าวนี้ หากบุคคล
ผู้มีสิทธิจะโต้แย้งจะโต้แย้งต่อองค์กรใด
2.3.3.2 ประธานกรรมการการเลือกตั้งในฐานะเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย
ต่าง ๆ
ตามมาตรา 144 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้ประธาน
กรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น และเป็นนายทะเบียนพรรคการเมือง
กรณีจึงมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาว่าการใช้อำนาจของประธาน
กรรมการการเลือกตั้งโดยเฉพาะเป็นนายทะเบียนพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบ
รัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 เช่น กรณีตามมาตรา 14 หากนายทะเบียนสั่ง
ไม่รับจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง ในกรณีนี้ผู้จัดตั้งพรรคการเมืองจะโต้แย้งคำสั่งนายทะเบียน
ต่อองค์กรใด ซึ่งในเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย
พรรคการเมืองฯ ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยวินิจฉัยตามคำวินิจฉัยที่ 3/2541 เรื่อง คณะกรรมการ
การเลือกตั้งขอให้วินิจฉัยเกี่ยวกับขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง
โดยศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เมื่อพรรคประชากรไทยขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการ
บริหารพรรคต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง และมีกรรมการบริหารพรรคบางคนโต้แย้งคัดค้าน
จึงเป็นปัญหาหรือข้อโต้แย้งที่อยู่ในอำนาจวินิจฉัยของคณะกรรมการการเลือกตั้ง การที่ศาลแพ่ง
มีคำสั่งห้ามนายธีรศักดิ์ กรรณสูต ประธานกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรค
การเมืองจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงการเป็นกรรมการบริหารของพรรคประชากรไทยของ
นายวัฒนา อัศวเหม กับคณะรวม 12 คน ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ
ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2541 มีผลใช้บังคับแล้ว จึงเป็นคำสั่งที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติ
ตามมาตรา 145 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเหตุผลที่กล่าวมาศาล
รัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่า คำสั่งห้ามนายธีรศักดิ์ กรรณสูต ประธานกรรมการการเลือกตั้งในฐานะ
นายทะเบียนพรรคการเมือง จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงการเป็นกรรมการบริหารพรรคประชากร
ไทยของนายวัฒนา อัศวเหม กับคณะ รวม 12 คน ตามหมายห้ามชั่วคราวของศาลแพ่ง
ลงวันที่ 26 มิถุนายน 2541 ไม่มีผลผูกพันต่อการปฏิบัติหน้าที่ของนายธีรศักดิ์ กรรณสูต
ประธรรมกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง
ถึงแม้ในขณะที่ศาลวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวยังไม่มีการจัดตั้งศาลปกครอง
ขึ้นก็ตาม แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่าการวินิจฉัยปัญหาในเรื่องดังกล่าวตามที่บัญญัติ
ไว้ในมาตรา 145 (3) ของรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งย่อมมีผลว่า
มิอาจถูกตรวจสอบโดยองค์กรศาลได้ ในกรณีนี้ถึงแม้จะมีการจัดตั้งศาลปกครองแล้วก็ตาม
ปัญหาในเรื่องดังกล่าวก็ไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองเช่นกัน กรณีจึงเป็นเรื่องที่น่าสงสัย
เป็นอย่างยิ่ง เพราะประธานกรรมการการเลือกตั้งทำหน้าที่เป็นทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ
ไปในขณะเดียวกัน และประการสำคัญคือ คำสั่งดังกล่าวมีผลเป็นที่สุดไม่อาจถูกตรวจสอบโดยองค์กรตุลาการอื่นใดได้อีก
2.3.4 องค์กรอิสระอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
องค์กรอิสระอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ได้แก่ 3.4.1 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน
แห่งชาติ 3.4.2 องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (มาตรา 40)
2.3.4.1 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
ส่วนที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กับศาลปกครองมีข้อสังเกตดังนี้
(1) ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับอำนาจในการบริหารงานบุคคลในสำนักงาน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวคือ อำนาจในการแต่งตั้ง โยกย้าย ถอดถอน ลงโทษ
ทางวินัย ปัญหาข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าวย่อมอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง
(2) การกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นการกระทำที่มีลักษณะ
เป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครองตามมาตรา 9 (1) แห่ง
พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯอาจเป็นการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งอยู่ในอำนาจตรวจสอบการกระทำดังกล่าวของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ กรณีจึงมี
ปัญหาว่าหากเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาขององค์กรทั้งสอง การพิจารณาขององค์กรใด
องค์กรหนึ่งจะมีผลผูกพันอีกองค์กรหนึ่งหรือไม่ เพียงใด
2.3.4.2 องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญ)
อำนาจหน้าที่ขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่กับศาลปกครองมีข้อสังเกต
ดังนี้
(1) ข้อพิพาทที่เกี่ยวกับอำนาจในการบริหารงานบุคคลขององค์กร
จัดสรรคลื่นความถี่ย่อมอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง
(2) การใช้อำนาจของคณะกรรมการจัดสรรคลื่นความถี่ไม่ว่าจะกระทำ
ในรูปของคำสั่ง คำวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติฯ มีประเด็นข้อพิจารณาว่าการโต้แย้งคำสั่งหรือ
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการฯดังกล่าวจะโต้แย้งต่อองค์กรใด จะโต้แย้งมายังศาลปกครองได้
หรือไม่
เชิงอรรถ
1. โปรดดู บรรเจิด สิงคะเนติ, วิเคราะห์ปัญหาเรื่องขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ, วารสารกฎหมายปกครอง เล่ม 17 ตอน 1 (เมษายน 2541), หน้า 157-165.
[กลับไปที่บทความ]
2. ดูคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 58-62/2543 เรื่องพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด
พ.ศ. 2540 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ [กลับไปที่บทความ]
3. มาตรา 276 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ศาลปกครองมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่เป็นข้อพิพาทระหว่าง
หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชา หรือในกำกับดูแลของรัฐบาลกับเอกชน หรือระหว่างหน่วยราชการหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือในกำกับดูแลของรัฐบาลด้วยกัน ซึ่งเป็นข้อพิพาทอันเนื่องมาจากการ
กระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือ
เจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย หรือเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำที่หน่วยราชการ
หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น ต้องรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ"[กลับไปที่บทความ]
4.ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การตรวจสอบ "ความชอบด้วยกฎหมาย" อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง
แต่การตรวจสอบ "ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ" อยู่ในเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
[กลับไปที่บทความ]
5.มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้จะกระทำ
มิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูยนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และจะกระทบกระเทือนสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพนั้นมิได้"
[กลับไปที่บทความ]
6.มาตรา 126 บัญญัติว่า "บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
(1) เป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมือง
(2) เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพ้นจากการเป็นสมาชิกสภา
ผู้แทนราษฎรแล้วยังไม่เกินหนึ่งปีนับถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง
(3) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ ในอายุของวุฒิสภาคราวก่อนการสมัครรับเลือกตั้ง
(4) เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามมาตรา 109 (1) (2) (3) (4) (5) (6) (7) (8) (9) (11) (12) (13) หรือ (14)"[กลับไปที่บทความ]
7. มาตรา 6 บัญญัติว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือ
ข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้"
[กลับไปที่บทความ]
8. รายละเอียดโปรดดูเชิงอรรถที่ 2, ข้างต้น [กลับไปที่บทความ]
9. รายละเอียดโปรดดูเชิงอรรถที่ 3, ข้างต้น[กลับไปที่บทความ]
10. รายละเอียดโปรดดูเชิงอรรถที่ 4, ข้างต้น[กลับไปที่บทความ]
11. รายละเอียดโปรดดูเชิงอรรถที่ 5, ข้างต้น[กลับไปที่บทความ]
12. รายละเอียดโปรดดูเชิงอรรถที่ 6, ข้างต้น[กลับไปที่บทความ]
13. มาตรา 9 วรรค 2 บัญญัติว่า
เรื่องดังต่อไปนี้ไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง
(1) การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร
(2) การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการ
(3) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย หรือศาลชำนัญพิเศษอื่น [กลับไปที่บทความ]
14. คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 24/2543 เรื่องระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยการสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2543 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ[กลับไปที่บทความ]
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2544
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=135
เวลา 21 เมษายน 2568 20:52 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|