|
|
ครั้งที่ 208 15 มีนาคม 2552 20:58 น.
|
ครั้งที่ 208
สำหรับวันจันทร์ที่ 16 มีนาคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคม 2552
จะปฏิรูปการเมืองกันอีกแล้ว!!!
สองสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้จะมีข่าวสำคัญหลายข่าวเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่สำหรับนักกฎหมายมหาชนแล้วคงไม่มีข่าวใดมีความสำคัญยิ่งไปกว่าข่าวของการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 3 ในรอบ 12 ปีครับ !!!
หากจะว่ากันไปตามความเป็นจริงแล้ว ผมเข้าใจว่าหลายๆ คนคงมีความรู้สึกไม่แตกต่างไปจากผมเท่าไรนัก คือเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายกับเรื่องของการปฏิรูปการเมือง เพราะเราเพิ่งจะผ่านการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ว่ากันว่าดีที่สุดเพราะส่งผลทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองไปเมื่อปี พ.ศ. 2540 นี่เอง เพียงแต่ว่าในตอนนั้น เราลืมปฏิรูปคนอื่นและองค์กรอื่นที่อยู่ นอกวงการเมือง ให้เข้าใจถึงระบอบประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้ ก็เลยเกิดการรัฐประหารขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองทิ้งและสร้างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองขึ้นมาใหม่อย่างไร้จุดเด่น ด้วยเหตุนี้เอง ปัญหาทางการเมืองแบบเดิมๆ จึงเกิดขึ้นต่อไป โดยที่การรัฐประหารและรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง 2 ก็ไม่สามารถแก้ไขเยียวยาได้ เมื่อเกิดการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 นักการเมืองที่เข้ามาสู่อำนาจจึงยังเป็นคนหน้าเดิม คิดแบบเดิม มีพฤติกรรมแบบเดิม ผมจึงไม่เข้าใจและเบื่อหน่ายกับการปฏิรูปการเมืองพร้อมทั้งตั้งคำถามไว้กับตัวเองว่า เรามีความจำเป็นมากน้อยเพียงใดที่จะต้องปฏิรูปการเมืองกันอีกครั้งและจะปฏิรูปการเมืองไปเพื่ออะไรครับ!
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ กระแสการปฏิรูปการเมืองครั้งที่ 3 ในรอบ 12 ปีได้เริ่มต้นขึ้นมาแล้วจากการที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือลงวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงประธานสภาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อขอให้พิจารณาเรื่องการปฏิรูปการเมืองโดยการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาและขอให้สภาสถาบันพระปกเกล้าที่เป็นหน่วยงานในสังกัดรัฐสภาและมีความเป็นกลางทางการเมืองเป็นผู้พิจารณากำหนดแนวทางและรูปแบบการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปการเมือง รวมทั้งกำหนดระยะเวลาในการทำงานของคณะกรรมการปฏิรูปการเมืองด้วย ซึ่งต่อมาสภาสถาบันพระปกเกล้าในการประชุมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ก็ได้มีมติให้รับดำเนินการ โดยจะมีการแต่งตั้ง คณะกรรมการอิสระเพื่อศึกษา รับฟังความคิดเห็น และเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง ขึ้นมา มีจำนวนไม่เกิน 50 คน ประกอบด้วย ตัวแทน นปช. ตัวแทนพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นักการเมือง ตัวแทนกองทัพ ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตัวแทนภาคเอกชนจากสภาหอการค้า NGO และตัวแทนฝ่ายวิชาการจากคณบดีคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ และจากอธิการบดีทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน ซึ่งคนเหล่านี้จะเป็นใครบ้างนั้นก็คงต้องรอดูกันต่อไปครับ ส่วนระยะเวลาในการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้คือ 8 เดือนครับ
หลังจากที่มีการนำเสนอรูปแบบข้างต้นต่อสาธารณชน ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านกันอยู่มากในหลายเรื่องด้วยกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วก็มีอยู่ 2 เรื่องสำคัญๆ ที่ถูกคัดค้านมากคือ องค์ประกอบของคณะกรรมการและระยะเวลาในการทำงานของคณะกรรมการซึ่งในความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว ผมเข้าใจว่าคงจะต้องรอกันอีกสักนิดหนึ่งให้เกิดความชัดเจนทางด้านตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นกรรมการมากกว่านี้จึงค่อยมานั่งพิจารณาดูกันว่า การทำงานของคณะกรรมการจะประสบความสำเร็จและมีความเป็นกลางหรือไม่ เพราะเท่าที่พิจารณาจากข้อมูลที่กล่าวไปแล้วก็ยังมองไม่เห็นฝั่งเลยครับ!
ปัญหาการเมืองอันเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทยวันนี้จะแก้ไขได้ด้วยการปฏิรูปการเมืองหรือไม่ เป็นคำถามที่ ท้าทาย ความสามารถของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ต้องมี คำตอบ ล่วงหน้าเอาไว้ก่อนการตั้งคณะกรรมการอิสระตามแนวทางของสภาสถาบันพระปกเกล้า หาไม่แล้วก็จะเสียเวลาและเสียงบประมาณของประเทศโดยไม่สมควรเช่นที่เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่มีการตั้ง สสร.ขึ้นมาเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2550 ครับ ซึ่งปัญหาการเมืองของประเทศที่จะต้อง รีบเร่ง หาคำตอบนั้น มีอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกนั้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้ว และส่วนที่สองที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นครับ
ในส่วนของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้วนั้น เราจะพบว่า จุดเริ่มต้นของความผิดปกติทางกฎหมาย อยู่ที่การรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ยอมรับอย่างต้องตรงกันแล้วว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและผิดหลักการของการปกครองประเทศในระบอบประชาธิปไตย จากนั้นต่อมา กระบวนการตามล้างระบอบทักษิณก็เกิดขึ้นท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของกลุ่มคนประเภทต่างๆ รวมทั้งนักวิชาการด้วย จนกระทั่งในที่สุดเมื่อไม่นานมานี้เอง เมื่อพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาเป็นรัฐบาลอันถือว่าเป็นการ อวสานของระบอบทักษิณ ก็มีเสียงเรียกร้องให้ดำเนินการ จับตัว คุณทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ในต่างประเทศมาลงโทษ หากเราพิจารณาด้วยใจเป็นธรรมและด้วยสายตาของบุคคลที่มีความเป็นกลางจริงๆ แล้วเราก็จะพบว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาภายหลังการรัฐประหารจนกระทั่งถึงทุกวันนี้ล้วนแล้วแต่มีความผิดปกติทางกฎหมายแทรกอยู่ทุกเรื่องซึ่งผมคงไม่สามารถนำมาพูดเล่าให้ฟังที่นี่ได้ทั้งหมด เพียงแต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า หากความผิดปกติทางกฎหมายยังคงมีอยู่ การแก้ปัญหาของประเทศก็คงเป็นไปได้ยาก ท่ามกลางการตอบโต้ของรัฐบาลที่มีต่อคุณทักษิณฯ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ต้องการให้นำคุณทักษิณฯ กลับมาลงโทษ เรากลับละเลยการดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลอื่น ๆ ที่มีชื่อเสียงและอยู่ในระหว่างหนีคดีเช่นเดียวกับคุณทักษิณฯ เช่น คุณวัฒนา อัศวเหม กำนันเป๊าะ หรือ พ่อมดการเงิน อย่างคุณราเกซ สักเสนา ที่สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศเมื่อปี พ.ศ. 2540 หรือแม้กระทั่งการดำเนินการตามกฎหมายกับพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในกรณีบุกยึดสถานที่ราชการ และสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งสร้างความเสียหายทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรมและชื่อเสียงของประเทศเป็นอย่างมาก แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายแต่อย่างใดกับบุคคลทั้งหลายที่กล่าวไป เพราะฉะนั้นความผิดปกติทางกฎหมายที่ว่าไปย่อมมีส่วนในการสร้างความรู้สึกที่ เลือกปฏิบัติ และ ไม่เป็นธรรม กับบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องและกับผู้ที่เป็น แฟนคลับ ของคุณทักษิณฯ ซึ่งหากเหตุการณ์ยังคงดำเนินต่อไปเช่นนี้ ในวันข้างหน้าคงจะเป็นที่ชัดเจนว่า แฟนคลับ ของคุณทักษิณฯ คงจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ก็คนไทยนะครับ นิสัยเราส่วนใหญ่สงสารผู้แพ้อยู่แล้ว ยิ่งผู้แพ้ถูกแกล้ง ถูกโจมตี ถูกเหยียบย่ำทุกวัน ก็ยิ่งมีคนสงสารและเห็นใจมากขึ้นครับ หากรัฐบาลสามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ว่า การแก้ปัญหาของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นไปแล้วจะสามารถทำได้ด้วยการปฏิรูปการเมืองหรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็คงต้องรีบเร่งพิจารณานะครับ ผมคงไม่เสนอแนวคิดอะไรทั้งนั้น ก็ขนาดผู้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ยังเขียนอะไรที่แย่ ๆ แบบมาตรา 309 มาคุ้มครองการกระทำของคณะรัฐประหารและการกระทำต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องได้ เพราะฉะนั้นวันนี้จะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้เกิดผลอะไรขึ้นก็คงทำได้ทั้งนั้นครับ!!!
สำหรับในส่วนของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่น่าจะเกิดขึ้นนั้น แม้กรอบการศึกษาทำงานของคณะกรรมการอิสระฯ ของสภาสถาบันพระปกเกล้าจะจำกัดอยู่ที่การศึกษาสภาพการณ์อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในระบอบการเมืองร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียในระบบการเมือง กับการจัดทำข้อเสนอสำหรับการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครองโดยความสมานฉันท์และเห็นพ้องต้องกันของสาธารณชนก็ตาม แต่หากจะให้ เดา แล้ว ข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระฯ น่าจะไปสู่จุดมุ่งหมายสำคัญคือการ แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นแน่ครับ
ทำไมผมจึงคิดว่าข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระฯ จะอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ? คำถามดังกล่าวมาจากการที่ผมพิจารณาองค์ประกอบของคณะกรรมการอิสระฯ ที่คิดกันไว้ในเบื้องต้นครับ เพราะอย่างน้อยในคณะกรรมการอิสระฯ ก็มีนักการเมืองอยู่ด้วยและในวันนี้นักการเมืองส่วนหนึ่งแล้ว ปฏิเสธ บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 อยู่หลายมาตราโดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรา 237 อันลือลั่น ที่ถูกนำมาใช้เป็นฐานในการยุบพรรคการเมืองไปแล้ว 3 พรรคครับ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ อีกมากมายที่ไม่ได้กล่าวในที่นี้และเหตุผลสำคัญที่กล่าวไปแล้วข้างต้นทำให้ผมค่อนข้างแน่ใจว่า คณะกรรมการอิสระฯ คงจะต้องเสนอขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตราต่าง ๆ ที่ สร้างปัญหา ให้กับนักการเมืองครับ
อย่าเพิ่งวิจารณ์ว่าแนวคิดของผมค่อนข้าง คับแคบ นะครับ ก็จะให้ผมคิดเป็นอย่างอื่นได้อย่างไรเพราะหากเราตั้งคนที่มีส่วนได้เสียเข้าไปทำการศึกษาเพื่อหาข้อเสนอแนะ ข้อเสนอแนะก็คงไม่พ้นข้อเสนอแนะที่ไม่สร้างปัญหาให้กับตนเองและพวกพ้องหรืออาจเป็นข้อเสนอแนะที่สร้างประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้องก็ได้ เพราะฉะนั้นบทสุดท้ายก็คงจบลงด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั่นเอง ส่วนกรรมการที่มาจากส่วนอื่น ๆ นั้นขอวิพากษ์ไว้ ณ ที่นี้แต่เพียงเล็กน้อยโดยในเบื้องต้นเมื่อพิจารณาดูแล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีการกำหนดตัวบุคคลที่มีความชำนาญเชี่ยวชาญเฉพาะตัวด้านต่าง ๆ เอาไว้เลย ผมไม่คิดว่าผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีหรือคณบดีทุกคนจะมีความรู้ความสามารถถึงขนาดมาศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะที่มีผลเป็นการปฏิรูปทางการเมืองได้นะครับ ความเก่ง ของคนในมหาวิทยาลัยน่าจะวัดกันที่ ตำแหน่งทางวิชาการ มากกว่า ตำแหน่งบริหาร ครับ
พูดถึงเรื่องกระบวนการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ผมได้เคยเสนอไปแล้วหลายครั้งถึงประสบการณ์ของประเทศฝรั่งเศสที่มีการตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาศึกษาบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และปัญหาทางการเมืองการปกครองที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน แม้ข้อเสนอของผมจะไม่ได้รับความสนใจทั้งจากรัฐบาลของคุณสมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ แต่เมื่อผมได้พิจารณาดูข้อเสนอของสภาสถาบันพระปกเกล้าที่เล่าให้ฟังไปแล้วข้างต้นก็มีความรู้สึกว่าทั้งชื่อคณะกรรมการและวิธีการในการทำงานของคณะกรรมการมีส่วนคล้ายคลึงกับของฝรั่งเศสอยู่บ้าง แต่จะแตกต่างกันที่ตัวบุคคลที่ของฝรั่งเศสมีน้อยกว่าและทั้งหมดก็เป็นนักวิชาการด้านกฎหมายมหาชนและรัฐศาสตร์ระดับแนวหน้าของประเทศครับและระยะเวลาในการดำเนินการศึกษาของฝรั่งเศสก็สั้นกว่าของเรา คือใช้เวลาเพียง 3 เดือนเศษครับ เรื่องเหล่านี้ผมได้เล่าให้ฟังไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งก่อน ๆ ครับว่าปัจจุบันจากข้อเสนอของคณะกรรมการอิสระของฝรั่งเศสก็ได้นำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เป็นเหตุเป็นผล เพราะเหตุผลในการเสนอขอแก้ไขมาตราต่าง ๆ ในรัฐธรรมนูญของนักวิชาการที่เป็นคนกลางและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเป็นเหตุผลที่บริสุทธิ์ครับ
สำหรับประเทศไทยเรานั้น แม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังมาไม่ถึง แต่ก็เป็นที่แน่นอนชัดเจนแล้วว่าอย่างไรเสียเราก็ต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแน่ ก็ต้องขอ ฝาก การบ้านสัก 1 ข้อ เอาไว้ให้ คณะกรรมการอิสระ ของไทยช่วยคิดด้วยว่า สมควรที่จะศึกษารายละเอียดของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคประชาภิวัตน์ไว้ด้วยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบและวิธีการในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครับ โดยหากเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่เพียงเล็กน้อย แก้ไขปานกลาง แก้ไขมาก หรือแก้ไขทั้งระบบที่เรียกว่าการปฏิรูปการเมืองนั้น ควรจะมีวิธีการอย่างไร เช่น แก้ไขน้อย อาจแก้ได้โดยใช้กระบวนการทางรัฐสภาตามปกติ แก้ไขปานกลางและแก้ไขมาก อาจใช้วิธีตั้งคณะกรรมการพิเศษที่มีผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกรัฐสภาเข้าไปร่วมด้วย ส่วนการแก้ไขทั้งระบบที่เรียกว่าการปฏิรูปการเมืองนั้น ควรจะต้องกำหนดโครงสร้างขององค์กรที่จะมาทำการปฏิรูปการเมืองว่าจะต้องประกอบด้วยใครบ้าง ถ้าทำได้เช่นนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวต่อ ๆ ไปก็คงจะง่ายขึ้นและไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่าจะเอาใครมาเป็นกรรมการในองค์กรแก้ไขรัฐธรรมนูญครับ
ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความ 3 บทความ บทความแรกเป็นบทความเรื่อง "การรื้อทิ้งอาคารศาลฎีกาที่สนามหลวง" ที่เขียนโดย คุณอธึก อัศวานันท์ บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง "ประสิทธิภาพและภาระคดีของคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ทางปกครองแห่งออสเตรเลียประจำปี2008" ที่เขียนโดย คุณไพรัตน์ แก้วสาร และบทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง "ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มหลากหลายทางเพศ ในมุมมองของนักกฎหมาย" ซึ่งผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ และนอกจากนี้เราก็ยังมีการแนะนำหนังสือใหม่ที่น่าสนใจหลายเล่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังสือ กฎหมายรัฐธรรมนูญ: แนวคิดและประสบการณ์ของต่างประเทศ ของ ดร.ชาญชัย แสวงศักดิ์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุดครับ
พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2552 ครับ
ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1345
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 04:40 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|