|
|
ประชาธิปไตยกับการเมืองภาคประชาชน 1 กุมภาพันธ์ 2552 21:43 น.
|
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องมีการเลือกตั้ง แต่ก็มิได้หมายความว่าประเทศใดที่มีการเลือกตั้งแล้วประเทศนั้นจะเป็นประชาธิปไตยเสมอไป เพราะการปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นประกอบไปด้วย
๑) การเลือกตั้ง(Election) คือการคัดสรรบุคคลเข้าไปทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อใช้อำนาจรัฐโดยการผ่านการออกเสียงของประชาชน ซึ่งในประเทศเผด็จการบางประเทศก็อาจมีการเลือกตั้งเช่นกัน แต่เป็นการบังคับเลือก เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เป็นแต่เพียงรูปแบบเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงที่จะต้องมีลักษณะที่เป็นการทั่วไป(in general) เป็นอิสระ(free voting) มีระยะเวลาที่แน่นอน(periodic election) การลงคะแนนลับ(secret voting) หนึ่งคนหนึ่งเสียง(one man one vote) และมีความบริสุทธิ์ยุติธรรม(fair election)
๒) การออกเสียงลงประชามติ(Referendum) คือการที่ประชาชนมีสิทธิ์ออกเสียงรับรองหรือไม่รับรองในกฎหมายหรือมีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ๓) การตรวจสอบ(Monitor) คือการที่ประชาชนสามารถมีส่วนใน การตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐได้ อาทิ การใช้สิทธิ์ผ่าน พรบ.ข้อมูลข่าวสารฯ หรือการติดตามการทำงานของนักการเมืองหรือหน่วยงานราชการ ฯลฯ
๔) การถอดถอน(Recall) คือการที่ประชาชนสามารถใช้สิทธิถอดถอนนักการเมืองหรือข้าราชการได้ อาทิ การเข้าชื่อถอดถอนตามรัฐธรรมนูญ หรือการใช้สิทธิทางศาลฟ้องร้องต่อผู้ที่ใช้อำนาจรัฐโดยมิชอบ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหายโดยตรงเท่านั้น ฯลฯ
จึงจะเห็นได้ว่าความเป็น ประชาธิปไตยมิได้มีเฉพาะแต่การเลือกตั้ง ที่เป็นรูปแบบของประชาธิปไตยแบบตัวแทน(Representative Democracy)เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่จะต้องเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม(Participatory Democracy)หรือ ประชาธิปไตยทางตรง(Direct Democracy) ซึ่งก็คือการเมืองภาคประชาชนนั่นเอง
การเมืองภาคประชาชนคืออะไร
การเมืองภาคประชาชน(Civil or People Politics)เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนโดยไม่ผ่านทางตัวแทนของพรรคการเมือง หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบไปด้วยการออกเสียงลงประชามติหรือการมีส่วนในการกำหนดนโยบายสาธารณะ การตรวจสอบการใช้อำนาจ และการถอดถอนโดยภาคประชาชนนอกเหนือจากการมีการเลือกตั้ง เพราะประชาธิปไตยจะไม่มีความหมายอันใดและการเลือกตั้งจะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากประชาชนไม่สามารถกำหนดนโยบายหรือตรวจสอบการใช้อำนาจและไม่สามารถถอดถอนผู้ใช้อำนาจ ที่มิชอบได้
การที่บางกลุ่มบางคนคิดว่าประชาชนคนชั้นรากหญ้าที่ดูเหมือนว่าจะ ไร้การศึกษานั้นกลับเข้าใจและมีจิตสำนึกทางการเมืองมากว่าชนชั้นกลางเสียอีก เพราะชนชั้นรากหญ้านั้นสามารถค้นคว้าสภาพปัญหาที่ตนเองเผชิญได้อย่างชัดเจนและลึกซึ้งรวมทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง(ผ่านทางที่ปรึกษาหรือเอ็นจีโอ) เพราะตัวเขาเป็นผู้ประสบปัญหาเหล่านั้นด้วยตนเอง
การเคลื่อนไหวของชนชั้นรากหญ้าจะมีการดำเนินการเป็นขั้นตอนอย่างสันติ ต่อเมื่อไม่มีทางเลือกเป็นอื่นแล้วเท่านั้นจึงจะใช้วิธีการชุมนุมประท้วง กอปรกับการเติบโตของเอ็นจีโอและการเข้าไปคลุกคลีกับประชาชน ทำให้เกิดความร่วมมือในการต่อต้านอิทธิพลของฝ่ายรัฐและฝ่ายทุน อาทิ สมัชชาคนจน สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ฯลฯ เป็นต้น
ปัญหาการเมืองภาคประชาชนของไทยอยู่ที่ไหน
ประเด็นแรกที่มีมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็คือแนวความคิดของผู้นำของรัฐบาลที่ไม่เคยยอมรับการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน โดยมองว่าเป็นเสียงนกเสียงกา มิหนำซ้ำยังซ้ำเติมประชาชนด้วยการใช้นโยบายประชานิยมที่มุ่งเร้าให้ประชาชนใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ซึ่งเป็นการดึงประชาชนให้พึ่งพารัฐมากกว่าที่จะทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้นด้วยการใช้จ่ายอย่างประหยัดและมัธยัสถ์ดังเช่นพ่อแม่และตัวเองที่พร่ำสอนลูกหลานมาโดยตลอด แต่กลับกระโจนใส่หุบเหวแห่งหายนะด้วยการใช้จ่ายเกินตัวทั้งที่มีบทเรียนอันแสนเจ็บปวดมาแล้วในลาตินอเมริกา หรือแม้กระทั่งล่าสุดในอเมริกาซึ่งถือว่าเป็นเมืองหลวงของทุนนิยมเอง
ปัญหาที่สำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือความไม่เข้าใจและวางเฉยของสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นกลางที่มีฐานะและมีการศึกษาสูงเสียเปล่าแต่กลับเป็นฝ่ายที่ไม่เอาธุระต่อประโยชน์ส่วนรวม โลเล เช่น เดี๋ยวเอาเดี๋ยวไม่เอานายกฯที่มาจากการเลือกตั้งฯลฯ และมิหนำซ้ำกลับเป็นเสมือนวัวลืมตีนที่ลืมรากเหง้าของตนเองที่หลายๆคนเติบโตมาจากชนบทแต่กลับไม่นึกถึงคนจนที่มีมากกว่าครึ่งประเทศ สนใจแต่ปัญหาของตนเอง เช่น ปัญหารถติด น้ำมันแพง แก๊สขึ้นราคา เงินเฟ้อ ตลาดหุ้นขึ้นหรือลง ฯลฯ แต่ปัญหาทางการเมือง เช่น ปัญหาการ ซื้อสิทธิ์ขายเสียงขายเก้าอี้ทางการเมือง ปัญหาการคอร์รัปชันทางนโยบาย ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ กลับถูกมองว่าธุระไม่ใช่
ประเด็นสุดท้ายของปัญหาการเมืองภาคประชาชนของไทยในปัจจุบันที่ ดูเหมือนว่าจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆก็คือ การออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีผู้คนจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นของกลุ่มเสื้อเหลืองเสื้อแดง นักวิชาการ พระสงฆ์ แพทย์ นิสิตนักศึกษา(บ้าง) ฯลฯ การเมืองภาคประชาชนของไทยมีความพยายามปรับโครงสร้างของระบอบประชาธิปไตย โดยการขยายฐานจากชนชั้นนำ นักวิชาการ กลุ่มทหาร กลุ่มนักธุรกิจเพื่อขยายมาสู่ภาคประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งดูเหมือนว่าจะดำเนินไปได้ด้วยดี
แต่น่าเสียดายที่พัฒนาการเหล่านี้ถูกทำลายลงด้วยการรัฐประหาร ๑๙ กันยา ๔๙ และการกลับเข้าไปสู่การเป็นรัฐบาลอำมาตยาธิปไตยที่มีกลุ่มอำนาจและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆหนุนหลัง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนายทุน ขุนศึก ฯลฯ ที่ไม่เคยเชื่อในศักดิ์ศรีของความเท่าเทียมกันของมนุษย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นรากหญ้าหรือคนยากคนจนในชนบทว่าควรจะมีสิทธิ์ มีเสียงเท่ากับคนชั้นนำในเมือง
การถูกทำลายของการเมืองภาคประชาชนทำให้ประชาชนง่อยเปลี้ยเสียขา ไม่สามารถต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างเดิม เพราะต่างก็มีคดีเป็นชนักติดหลังไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงก็ตาม
ทำอย่างไรการเมืองภาคประชาชนของไทยจึงจะเคลื่อนไหวต่อไปได้
การเมืองภาคประชาชนของไทยจะเคลื่อนไหวต่อไปได้ต้องมองเห็นปัญหา ทั้งสามประเด็นดังกล่าวข้างต้นให้ได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้เกิดความเฉยเมยและเบื่อหน่ายต่อปัญหาทางการเมือง เพราะถึงอย่างไรเราก็หลีกหนีการเมืองไปไม่ได้ด้วยเหตุที่ว่าการเมืองคือเรื่องของการจัดสรรอำนาจ ซึ่งเราทุกคนต้องเกี่ยวข้องในการเมืองระดับชาติจนถึงในระดับชุมชนหรือสังคม ตั้งแต่เราเกิดจนกระทั่งตาย
ทำอย่างไรที่จะไม่ให้เรื่องของการเมืองเป็นแต่เพียงเรื่องของการเลือกตั้งหรือประชาธิปไตย ๔ วินาทีนับแต่เรารับบัตรเลือกตั้งแล้วไปหย่อนหีบลงคะแนนเท่านั้น เราต้องมีส่วนในการกำหนดนโยบาย การตรวจสอบและการถอดถอน ซึ่งก็คือการเมืองภาคประชาชนดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดนั่นเอง
-----------------------
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1324
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 10:01 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|