ครั้งที่ 204

18 มกราคม 2552 21:31 น.

       ครั้งที่ 204
       สำหรับวันจันทร์ที่ 19 มกราคม ถึงวันอาทิตย์ที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552
       
       “ระบบการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบ”
       
       เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม 2552 ที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพมหานครก็ได้มีโอกาสเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร “อีกครั้งหนึ่ง” ทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะเลือกผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนก่อนหน้านี้ไปเมื่อไม่กี่วันนี่เองครับ
       การเลือกตั้งผู้ว่าราชการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้มีผู้ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวน 2,210,803 คน จากจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด 4,150,103 คน คิดเป็นร้อยละ 51.10 โดยผู้ได้คะแนนลำดับที่ 1 ได้คะแนน 934,602 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 45.41 ลำดับที่ 2 ได้คะแนน 611,669 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 29.72 และลำดับที่ 3 ได้คะแนน 334,846 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 16.27
       เมื่อพิจารณาดูตัวเลขข้างต้นทั้งหมดจะพบว่า การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้มีผู้มาออกเสียงเลือกตั้งเพียงแค่ร้อยละ 51.10 เกินจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดไปเพียงร้อยละ 1.10 เท่านั้นเองครับและนอกจากนี้ “ผู้ชนะ” การเลือกตั้งในครั้งนี้ก็ได้คะแนนแค่ร้อยละ 45.41 ยังไม่ถึงครึ่งของจำนวนผู้มาออกเสียงทั้งหมดและไม่ถึงร้อยละ 25 ของชาวกรุงเทพมหานครที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดด้วยครับ ซึ่งจากตัวเลขดังกล่าว หากมีผู้ประสงค์จะ “ก่อกวน” ก็คงสามารถกล่าวได้ว่าผู้ชนะการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครั้งนี้ไม่ได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครของชาวกรุงเทพมหานครอย่างแท้จริง เพราะอย่างน้อยก็ได้รับเสียงจากผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งไม่ถึงครึ่งหนึ่ง
       ปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “เสียง” ของผู้ชนะที่ได้ไม่เกินครึ่งของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นในบ้านเรา ในการเลือกตั้งทุกระดับไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น รวมไปถึงกระบวนการ “สรรหา” บุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ ๆ ที่ต้องมีการ “ออกเสียง” โดยวุฒิสภาหรือโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างก็เคยเกิดปัญหาลักษณะนี้มาแล้วทั้งนั้น เท่าที่ผ่านมาเคยมีคนพูด มีคนเสนอถึงการนำระบบเลือกตั้งอื่นมาใช้กับการเลือกตั้งในประเทศไทยแต่ก็เป็นเสียงที่ “เบา” จนไม่มีผู้สนองรับ เพราะฉะนั้นเราจึงยังคงต้องอยู่กับระบบเลือกตั้งแบบเดิมที่แม้ผู้ชนะการเลือกตั้งจะได้คะแนนไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งแต่ก็สามารถเป็น “ผู้ชนะ” ได้ครับ
       ในบรรดา “ระบบการเลือกตั้ง” ทั้งหมดที่ใช้กันอยู่ทั่วโลก ผมชอบ “ระบบการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบ” เพราะผมเห็นว่าเป็นระบบที่ทำให้ “ผู้ชนะการเลือกตั้ง” เป็น “ผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างแท้จริง” เนื่องจากได้รับเสียงจากผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งเกินกว่าครึ่งหนึ่งครับ ระบบการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบนี้ใช้กันอยู่ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศส โปรตุเกส ฟินแลนด์ รัสเซีย ออสเตรีย ประเทศส่วนใหญ่ในอาฟริกาและในอเมริกาใต้ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประเทศที่นำเอาระบบการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบมาใช้เป็นประเทศที่ได้รับอิทธิพลจากระบบการเมืองการปกครองและระบบกฎหมายของฝรั่งเศสรวมถึงบรรดาประเทศที่เคยเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ระบบการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบนี้ไม่ได้มีความยุ่งยากอะไรมากมายนักและสามารถนำมาใช้ได้กับการเลือกตั้งทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยในประเทศฝรั่งเศสนั้นมีการนำระบบการเลือกตั้ง 2 รอบไปใช้กับการเลือกตั้งประธานาธิบดีและการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นการเลือกตั้งระดับชาติ และใช้กับการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นด้วย
       สาระสำคัญของระบบการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบก็มีอยู่ไม่มาก ในการเลือกตั้งแต่ละครั้ง หากผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้รับคะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด ก็ให้ถือว่าผู้นั้นเป็น “ผู้ชนะการเลือกตั้ง” แต่ถ้าในการเลือกตั้งครั้งใดปรากฏว่าไม่มีผู้สมัครรับเลือกตั้งรายใดได้คะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดก็ต้องถือว่าในการเลือกตั้งครั้งนั้นไม่มีผู้ชนะการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่อีกรอบหนึ่งภายในระยะเวลา 8 – 15 วัน หลังจากวันออกเสียงเลือกตั้งครั้งแรกเพื่อทำการออกเสียงเลือกตั้งรอบที่ 2
       การออกเสียงเลือกตั้งในรอบที่ 2 นั้น จะทำกันโดยนำเอาผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุดในการเลือกตั้งรอบแรก จำนวน 2 คน มาให้ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ทำการออกเสียงใหม่อีกครั้งหนึ่งว่าในระหว่างผู้ที่ได้คะแนนเสียงสูงสุด 2 คน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกจะเลือกใคร ด้วยวิธีการนี้เองที่ทำให้ผู้ที่ได้ผ่านการออกเสียงเลือกตั้งรอบ 2 เป็น “ผู้ชนะอย่างแท้จริง” เพราะจะต้องได้คะแนนเสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมดครับ
       การออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบเป็นระบบที่เปิดโอกาสให้ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้แสดงความประสงค์ของตนเองอย่างแท้จริงถึง 2 ครั้ง เชื่อกันว่า ส่วนใหญ่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งในรอบแรกจะออกเสียงให้กับบุคคลที่ตนชื่นชอบหรือศรัทธาหรือเชื่อมั่นซึ่งก็ว่ากันอีกว่าเป็นการออกเสียงโดยเชื่อมโยงกับ “ความรู้สึกส่วนตัว” ในขณะนี้การออกเสียงเลือกตั้งส่วนใหญ่มักจะใช้ “เหตุผล” มากกว่าความรู้สึกส่วนตัวโดยดูว่าผู้ใดเหมาะสมที่สุดที่จะเลือกให้เข้ามาทำงานในตำแหน่งที่สมัคร
       ข้อดีของระบบการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบ ที่นอกจากจะทำให้ได้ “ผู้ชนะอย่างแท้จริง” ที่ได้คะแนนเสียงเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งแล้ว ระบบการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบยังมีส่วนช่วยในการลดปัญหาของคะแนนเสียงที่กระจัดกระจายไปยังผู้สมัครรายอื่น ๆ ที่ในที่สุดทำให้เราไม่สามารถหาตัวผู้ชนะอย่างแท้จริงได้อีกด้วย ทำให้พรรคการเมืองที่มีนโยบายทางการเมืองคล้าย ๆ กันต้อง “ตกลง” กันก่อนว่าจะส่งผู้สมัครของพรรคการเมืองของตนลงเลือกตั้งในครั้งนั้นหรือไม่ ส่วนผู้สมัครอิสระที่ไม่สังกัดพรรคพรรคการเมืองก็จะต้องใช้ความระมัดระวังและวิจารณญาณมากว่าจะสามารถผ่านเข้าไปในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ได้หรือไม่หากในการเลือกตั้งรอบแรกไม่มีผู้ใดโดดเด่นพอที่จะได้รับเสียงข้างมากเกินกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มาออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนข้อเสียของระบบเลือกตั้ง 2 รอบก็คือ การที่ทั้งผู้สมัครรับเลือกตั้งและรัฐต้องใช้จ่ายเงินจำนวนมากเพราะมีการเลือกตั้ง 2 ครั้งในเวลาไล่เลี่ยกัน นอกจากนี้แล้วในบางครั้งประชาชนก็อาจ “เบื่อ” ไม่ออกไปออกเสียงเลือกตั้งในรอบที่ 2 ได้หากผู้ที่ตนเองต้องการเลือกไม่ได้เข้ามาในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ซึ่งก็มีโอกาสสูงที่จะทำให้มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งหมด ส่วนผลที่เกิดจากการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบ ก็มีอยู่หลายประการด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเรื่อง “ความสมานฉันท์” ที่จะเกิดขึ้นในระหว่างบรรดาผู้สมัครรับเลือกตั้งด้วยกันเองและระหว่างบรรดาพรรคการเมืองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเลือกตั้งรอบที่ 2 นั้น ที่พบบ่อยในประเทศฝรั่งเศสก็คือ พรรคการเมืองที่มีนโยบายใกล้เคียงกันหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ไม่มีโอกาสเข้าไปในการเลือกตั้งรอบที่ 2 ก็จะพากันออกมาให้การ “สนับสนุน” พรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่มีโอกาสเข้าไปแข่งขันกันในการเลือกตั้งรอบที่ 2 โดยพรรคการเมืองหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งเหล่านั้นจะออกมา “ร้องขอ” และ “ชักชวน” ให้ผู้ที่เคยลงคะแนนเสียงสนับสนุนตนในการออกเสียงเลือกตั้งรอบแรกหันไปให้ความสนับสนุนผู้ที่เข้าไปอยู่ในการเลือกตั้งรอบที่ 2 คนหนึ่งคนใด ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการสร้างความสมานฉันท์และความเป็นปึกแผ่นให้กับระบบการเมืองต่อไปครับ
       ใครจะได้เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในครั้งที่ผ่านมา หากระบบการเลือกตั้งของเราเป็นระบบการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบ? คำถามนี้ผมคงไม่สามารถตอบได้เพราะไม่รู้ว่า “คนกรุงเทพฯ” คิดอย่างไรกับบรรดาผู้สมัครทั้งหมด แต่ที่อาจคาดเดาได้แน่ ๆ ก็คือน่าจะ “มีลุ้น” มากกว่านี้ เพราะเมื่อพิจารณาคะแนนของผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 1 แล้วดูจะน้อยกว่าคะแนนรวมของผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 2 และ 3 ซึ่งหากเรามีการออกเสียงเลือกตั้ง 2 รอบ และผู้ที่ออกเสียงลงคะแนนให้กับผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 3 และลำดับอื่น ๆ หันมา “เทคะแนน” ให้กับผู้ที่ได้คะแนนลำดับที่ 2 โอกาสที่ผู้ที่ได้รับคะแนนลำดับที่ 2 จะได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานครก็มีอยู่มากเหมือนกันนะครับ!!!
       ท้ายที่สุด ระบบการเลือกตั้งก็คือระบบเลือกตั้ง เป็นเพียงวิธีการอย่างหนึ่งที่ทำให้เราได้คนเข้ามาทำงานเท่านั้น ความสำคัญของการเลือกตั้งทุกครั้งคงไม่ได้อยู่ที่ใครจะเป็น “ผู้ชนะ” แต่จะอยู่ที่ผู้ชนะนั้นมีความสามารถเพียงพอที่จะทำงานในตำแหน่งที่ตนครองอยู่หรือไม่ ก็ต้องจับตาดูกันต่อไปนะครับว่าในที่สุดแล้ว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนนี้จะเหมือน ๆ กับทุกคนที่ผ่านมาหรือไม่ คือไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรให้กับชาวกรุงเทพมหานครได้เลยครับ กี่ปีมาแล้วที่เราต้องผจญกับปัญหารถติด มลพิษ มลภาวะ ความไร้ระเบียบของเมือง และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่ยังไม่เคยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใดแก้ไขได้สักทีครับ
       คงยังจำกันได้ว่าเมื่อเทอมต้นของปีการศึกษานี้ คือ ระหว่างเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายน 2551 ผมได้นำเอาคำบรรยายวิชากฎหมายปกครองที่ผมใช้สอนให้กับนิสิตปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาลงเผยแพร่ใน www.pub-law.net เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจและนักศึกษาที่อื่นได้ใช้ประโยชน์จากคำบรรยายดังกล่าว และก็เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย e-learning ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้มาเล่าให้ผมฟังว่าคำบรรยายดังกล่าวถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะคือ มี “มือใหม่” บางคนนำไปใช้ในการสอนวิชากฎหมายปกครองของตนโดยไม่อ้างอิงที่มาว่ามาจากคำบรรยายของผมที่เผยแพร่ใน www.pub-law.net ด้วยเหตุนี้เอง แม้เอกสารคำบรรยายดังกล่าวยังไม่สมบูรณ์แต่เมื่อสำนักพิมพ์วิญญูชนแสดงความประสงค์ที่จะพิมพ์เป็นเล่มเพื่อจำหน่าย ผมจึงได้ดำเนินการปรับปรุงให้สมบรูณ์และอนุญาตให้จัดพิมพ์คำบรรยายดังกล่าวในชื่อว่า “กฎหมายปกครอง” ครับ ใครสนใจก็ลองไปหาอ่านดูได้ครับ


       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอด้วยกัน 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความของอาจารย์ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ที่เขียนเรื่อง "หลักการเบื้องต้นในการตีความกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา" บทความที่สองเป็นบทความเรื่อง "การดำเนินคดีกับผู้ที่ยึดสนามบิน คือการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทยที่ดีที่สุด" โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง และบทความสุดท้ายเป็นบทความเรื่อง "ชุมนุมอย่างไรจึงจะเป็นการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย" โดย อาจารย์พัชร์ นิยมศิลป แห่งคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผมขอขอบคุณผู้เขียนบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1319
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:29 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)