ตุลาการเทศนา โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง

4 มกราคม 2552 21:01 น.

       ในช่วงหลังๆนี้หากเราสังเกตให้ดีจะพบว่าในคำพิพากษา คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลในคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองจะพบว่ามีการแสดงความเห็นเพิ่มเติมลงไปในคำพิพากษา คำสั่งหรือคำวินิจฉัยในลักษณะของการอบรมสั่งสอนคู่ความหรือคู่กรณีในคดีในแง่ของหลักศีลธรรมจรรยานอกเหนือจากหลักกฎหมายที่ใช้การพิพากษาฯ ซึ่งหากดูเผินๆแล้วก็น่าจะดีเพราะโดยสมมุติฐานทั่วไปแล้วเรามักจะมองว่านักการเมืองนั้นควรที่จะต้องมีศีลธรรมจรรยามากกว่าที่เป็นอยู่ และหลายๆคนก็อาจรู้สึกสะใจเสียด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝ่ายตรงกันข้ามของคู่ความหรือคู่กรณีที่แพ้คดี
       
       อันที่จริงแล้วไม่ว่าในกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง วิธีพิจารณาความอาญา วิธีพิจารณาคดีปกครองหรือวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต่างก็บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า คำพิพากษา คำสั่งหรือคำวินิจฉัยของศาลประกอบไปด้วยอะไรบ้าง ดังนี้
       ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๑ วรรคหนึ่งบัญญัติไว้ว่า
       “คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดง
       (๑)ชื่อศาลที่พิพากษาคดีนั้น
       (๒)ชื่อคู่ความทุกฝ่ายและผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้แทนถ้าหากมี
       (๓)รายการแห่งคดี
       (๔)เหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวง
       (๕)คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดีตลอดทั้งค่าฤชาธรรมเนียม”
       ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๘๖ บัญญัติไว้ว่า
       “คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องมีข้อสำคัญเหล่านี้เป็นอย่างน้อย
       (๑)ชื่อศาลและวันเดือนปี
       (๒)คดีระหว่างใครโจทก์ใครจำเลย
       (๓)เรื่อง
       (๔)ข้อหาและคำให้การ
       (๕)ข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ
       (๖)เหตุผลในการตัดสินทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
       (๗)บทมาตราที่ยกขึ้นปรับ
       (๘)คำชี้ขาดให้ยกฟ้องหรือลงโทษ
       (๙)คำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง
       คำพิพากษาในคดีที่เกี่ยวกับความผิดลหุโทษ ไม่จำต้องมีอนุมาตรา(๔)(๕)และ(๖)”
       ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๖ ข้อ ๓๑ กำหนดไว้ว่า
       “คำวินิจฉัยหรือคำสั่งของศาลต้องประกอบด้วยความเป็นมาหรือคำกล่าวหา สรุปข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการพิจารณา เหตุผลในการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างอิง”
       พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ว่า
       “คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดคดีปกครองของศาลปกครองอย่างน้อยต้องระบุ
       (๑)ชื่อผู้ยื่นคำฟ้อง
       (๒)หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี
       (๓)เหตุแห่งการฟ้องคดี
       (๔)ข้อเท็จจริงของเรื่องที่ฟ้อง
       (๕)เหตุผลแห่งคำวินิจฉัย
       (๖)คำวินิจฉัยของศาลในประเด็นแห่งคดี
       (๗)คำบังคับ ถ้ามี โดยให้ระบุหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องปฏิบัติตามคำบังคับไว้ด้วย
       (๘)ข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางหรือวิธีการดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ถ้ามี”
       
       จากที่ยกมาแสดงทั้งหมดนี้จะเห็นได้ว่าจุดมุ่งหมายของคำพิพากษาฯก็คือการให้เหตุผลว่าเหตุใดมีคำพิพากษาฯเช่นนั้น มิได้มีจุดมุ่งหมายที่จะให้มีการอบรมสั่งสอนคู่ความในคดีแต่อย่างใด
       จริงอยู่การอบรมสั่งสอนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องเป็นการอบรมสั่งสอนของผู้ที่มีภาระหน้าที่และมีสถานะเหนือกว่าไม่ว่าจะเป็นโดยตำแหน่งหรือภาวการณ์ของเรื่องที่อบรมสั่งสอนนั้นว่าผู้อบรมฯอยู่ในภาวะที่สูงกว่าจนเป็นที่ยอมรับโดยปราศจากข้อสงสัย
       แต่ในเรื่องของการพิจารณาพิพากษาคดีนั้นมิใช่เรื่องของการอบรมสั่งสอน เพราะจะทำให้คู่ความหรือคู่กรณีฝ่ายที่แพ้คดีเข้าใจว่าศาลได้นำเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องของหลักกฎหมายเท่านั้นที่นำมาลงโทษตนเอง ซึ่งเรื่องอื่นที่ว่านั้นก็คือเรื่องของศีลธรรมจรรยานั่นเอง
       
       อนึ่ง การพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยอย่างหนึ่งคืออำนาจ ตุลาการ ซึ่งมิได้หมายความว่าอำนาจตุลาการจะมีสถานะเหนืออำนาจอธิปไตยอื่นจนสามารถทำหน้าที่อบรมสั่งสอนประมุขของฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติซึ่งก็คือนายกรัฐมนตรีหรือประธานรัฐสภานั่นเอง เพราะอำนาจตุลาการก็เป็นหนึ่งในสามของอำนาจอธิปไตยที่มีสถานะเท่าเทียมกัน
       ไม่มีใครปฏิเสธว่าสถานะของฝ่ายตุลาการนั้นอยู่ในสถานะที่ควรเคารพนับถือว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการดำรงตนในสังคมว่าเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นอาชีพที่มีมาตรฐานของความซื่อสัตย์สุจริตสูงกว่าอาชีพอื่น แต่ก็มิได้หมายความจะมีศีลธรรมจรรยาสูงส่งดังเช่นนักพรต นักบวช หรือมีศีลห้า ศีลแปดสูงกว่าบุคคลอื่นในสังคมเพราะยังเป็นปุถุชนอยู่
       
       การที่มีการเพิ่มเติมคำสั่งสอนเข้าไปในคำพิพากษาที่ถึงแม้ว่าจะได้อธิบาย หลักกฎหมายและเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยไว้จนสิ้นสงสัยแล้ว แต่ในช่วงหลังๆนี้หากเราสังเกตให้ดีว่าเราไม่ค่อยได้ยินคำกล่าวของคู่ความหรือคู่กรณีที่แพ้คดีออกมายอมรับผลแห่งการพิจารณาพิพากษาคดีอย่างชัดถ้อยชัดคำเพราะเหตุแห่งการที่ได้มีการเพิ่มเติมการอบรมสั่งสอนเข้าไปนั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามก็มิได้มีการวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาฯแต่อย่างใดด้วยเกรงว่าจะเข้าข่ายหมิ่นศาลนั่นเอง(ยกเว้นเสียแต่การโฟนอินเข้ามาจากต่างประเทศของอดีตนายกฯทักษิณที่ประกาศอย่างโจ่งแจ้งว่าไม่ยอมรับผลแห่งการตัดสินคดีของตนเอง)
       
       จากที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ผู้เขียนเพียงแต่ต้องการให้ทุกฝ่ายได้ยอมรับผลแห่ง คำพิพากษา คำสั่งหรือคำวินิจฉัยไม่ว่าจะเป็นของศาลใดก็ตามอย่างสนิทใจ แต่การที่จะทำให้คู่ความหรือคู่กรณีที่แพ้คดีหรือกองเชียร์ยอมรับผลแห่งคำพิพากษาฯอย่างสนิทใจนั้น นอกจากเหตุผลของหลักกฎหมายในคำวินิจฉัยแล้ว ไม่ควรที่จะมีการเพิ่มการอบรมสั่งสอนเข้าไปใน คำพิพากษาฯ เพราะจะทำให้เกิดความสงสัยในเหตุผลแห่งการวินิจฉัยว่าได้มีการใช้ หลักศีลธรรมจรรยาแทนหลักกฎหมายแล้วหรืออย่างไรนั่นเอง
       

       -------------------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1317
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 19:28 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)