สถานะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบสัดส่วนเมื่อมีการยุบพรรคการเมือง โดย คุณพัชร์ นิยมศิลป

4 มกราคม 2552 21:01 น.

       การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการปกครองที่ใช้รูปแบบการปกครองระบบผู้แทนราษฎรเนื่องจากเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างผู้แทนราษฎรกับประชาชน การใช้อำนาจอธิปไตย อันได้แก่ อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร ในระบอบประชาธิปไตยนั้นผู้ที่เข้าสู่อำนาจทั้งสองประเภทดังกล่าวจะต้องมีส่วนเชื่อมโยงกับประชาชน เนื่องจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตยยึดถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน ปัจเจกชนแต่ละคนได้รวมตัวกันเป็นสังคมและถือว่าแต่ละคนต่างเป็นผู้ทรงสิทธิส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตย ด้วยเหตุฉะนี้ปัจเจกชนแต่ละคนจึงเป็นเจ้าของสิทธิในการเลือกตั้งและสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวนโยบายสาธารณะ(1) ดังนั้นไม่ว่าประชาชนคนใดคนหนึ่งนั้นจะยากดีมีจนหรือขาดไร้ซึ่งการศึกษาเพียงใด หากเพียงแต่เป็นประชาชนของประเทศนั้นแล้ว สิทธิในการลงคะแนนเสียงของเขาก็จะเท่ากับประชาชนคนอื่น ๆ ในประเทศนั้นเช่นกัน สิทธิในการลงคะแนนเสียงของพลเมืองไทยสามารถแสดงออกในการเลือกตั้งทั่วไปได้สองประเภท กล่าวคือ การเลือกผู้แทนราษฎรประเภทแบ่งเขตเลือกตั้งและการเลือกบัญชีรายชื่อผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง
       
       สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.)ประเภทสัดส่วน (บัญชีรายชื่อ) ปรากฎครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 (ฉบับประชาชน) โดยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว มาตรา 98 ได้กำหนดให้การเลือกตั้ง ส.ส. เป็นแบบผสมระหว่างการเลือกตั้งระบบสัดส่วนตามบัญชีรายชื่อของพรรคและการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต การปรับปรุงระบบการเลือกตั้งเป็นการเลือกตั้งแบบผสมนี้ได้นำตัวอย่างมาจากประเทศเยอรมันและประเทศญี่ปุ่น(2) โดยมุ่งหมายให้การเลือกตั้ง ส.ส. มีทั้งจากประชาชนซึ่งเป็นคนในพื้นที่มีความใกล้ชิดกับคนในท้องถิ่นและจากประชาชนทั้งประเทศที่แสดงถึงความต้องการของชาติโดยรวม(3) อนึ่งตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมาตรา 96 (1) ได้กำหนดให้ส.ส.แบบสัดส่วนมาจากแปดกลุ่มจังหวัด กล่าวคือมีจำนวนส.ส.สัดส่วนแปดบัญชีตามกลุ่มจังหวัด ส.ส.แต่ละบัญชีจึงสะท้อนความต้องการของกลุ่มจังหวัด แต่โดยเนื้อหาแล้วรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับดังกล่าวยังคงใช้ระบบการเลือกตั้งแบบผสมเหมือนกัน นอกจากนั้นในประเทศที่มีการเลือกตั้งระบบสัดส่วน เช่น เยอรมันและญี่ปุ่น ต่างก็ไม่ได้ใช้เขตประเทศเป็นเลือกตั้งเดียว หากแต่แบ่งเป็นหลายเขตเช่นเดียวกับประเทศไทยในปัจจุบัน(4) ดังนั้นการวิเคราะห์สถานะของส.ส.สัดส่วนต่อไปนี้จะยึดเจตนารมณ์ทั่วไปของระบบ ส.ส.สัดส่วน
       
       เมื่อพิจารณาเหตุผลที่จัดให้มี ส.ส.ประเภทสัดส่วนนั้นจะพบว่ามีเจตนาเพื่อส่งเสริมพรรคการเมืองโดยมุ่งให้ประชาชนเลือกพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งโดยพิจารณาจากนโยบายพรรคเป็นหลัก(5) มิใช่พิจารณาคุณสมบัติของบุคคลผู้อยู่ในบัญชีเป็นหลัก อันจะเห็นได้จากการที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถเลือกบุคคลในบัญชีเป็นคน ๆ ได้ ต้องเลือกทั้งบัญชีพรรคการเมืองบัญชีใดบัญชีหนึ่งเท่านั้น การจัดให้มีส.ส.ประเภทสัดส่วนนี้ยังเป็นการเสนอช่องทางเข้าสู่การเมืองของ นักการเมืองหน้าใหม่ที่มีความรู้ความสามารถแต่หาเสียงไม่เก่ง อีกทั้งเป็นทางเลือกที่พรรคการเมืองจะบรรจุหัวหน้าพรรคและผู้ที่คาดว่าจะเป็นรัฐมนตรีลงในบัญชีรายชื่อของพรรคให้ประชาชนพิจารณาก่อน ซึ่งกรณีนี้เป็นผลมาจากการที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และฉบับปัจจุบัน ได้กำหนดนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจาก ส.ส. และกำหนดให้สถานะรัฐมนตรีกับสถานะส.ส.แยกออกจากกัน เมื่อดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (ฝ่ายบริหาร) แล้วจะดำรงตำแหน่ง ส.ส. (ฝ่ายนิติบัญญัติ) ในขณะเดียวกันไม่ได้เนื่องจากเป็นการขัดแย้งกันระหว่างอำนาจสองฝ่าย ดังนั้นเมื่อนำส.ส.สัดส่วนมาร่วมคณะรัฐมนตรี ผู้ที่มีชื่อลำดับถัดไปในบัญชีรายชื่อก็จะเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน ไม่จำเป็นต้องจัดการเลือกตั้งซ่อมดังกรณีการนำส.ส.ประเภทแบ่งเขตเลือกตั้งมาเป็นรัฐมนตรี การจัดยุทธศาสตร์การเลือกตั้งจึงนิยมนำผู้ที่พรรคคาดว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีไปบรรจุในบัญชีรายชื่อ ดังนี้เมื่อถึงคราวเลือกตั้งประชาชนจึงมิเพียงแต่เลือกผู้แทนราษฎรที่จะเข้าไปทำหน้าที่ในสภานิติบัญญัติเท่านั้น ประชาชนยังมีโอกาสที่จะเลือกผู้ที่คาดว่าจะอยู่ในคณะรัฐมนตรีอีกด้วย เพราะฉะนั้นหากจะกล่าวว่าการเลือกตั้ง ส.ส. ระบบสัดส่วนนั้นเป็นการที่ “พรรคเลือกคน ประชาชนเลือกพรรค” ก็คงไม่ผิดนัก(6)
       
       นอกจากคุณสมบัติที่แตกต่างจากส.ส.ประเภทแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ข้อสนับสนุนประการถัดมาที่แสดงให้เห็นว่าการเลือกตั้งส.ส.แบบสัดส่วนเป็นการให้ประชาชนเลือกพรรคมิใช่เลือกตัวบุคคลจะสังเกตได้จากบัตรเลือกตั้งจะปรากฎแต่เพียงเบอร์ของพรรคการเมืองและชื่อหรือสัญลักษณ์ของพรรคเท่านั้น อีกทั้งวิธีคิดจำนวนส.ส.ที่พึงมีในแต่ละบัญชียังแสดงให้เห็นว่า จำนวนส.ส.ในแต่ละบัญชีสัมพันธ์กับคะแนนเสียงของพรรคในกลุ่มจังหวัดมิใช่ในแต่ละจังหวัด ดังนั้นผลลัพธ์ที่ได้จากการเลือกตั้งจึงควรเป็น “โควต้าตามบัญชีรายชื่อของพรรคการการเมือง” มิใช่ยึดติดกับตัวบุคคลผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ได้รับการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น ส.ส.ประเภทสัดส่วนจะนำสิทธิตามบัญชีรายชื่อนั้นไปใช้ดังสิทธิที่ติดกับตัวบุคคลเหมือนส.ส.ประเภทแบ่งเขตหาได้ไม่
       
       เมื่อผลการเลือกตั้งประเภทส.ส.สัดส่วนเป็น “โควต้าตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง” แล้ว ส.ส.ประเภทสัดส่วนนี้จึงไม่สามารถนำตำแหน่งของตนไปย้ายพรรคเข้าพรรคการเมืองใหม่หรือหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ได้เนื่องจากเป็นการนำโควต้าตามบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองเดิมไปเพิ่มให้กับพรรคการเมืองที่เข้าไปสังกัดใหม่ หากอนุญาตให้ทำเช่นนั้นได้ก็จะเป็นการไม่ยุติธรรมต่อผู้ลงคะแนนเสียง โดยเฉพาะผู้ลงคะแนนที่เป็นปฏิปักษ์กับพรรคการเมืองที่รับส.ส.สัดส่วนเข้ามาเพิ่ม อีกทั้งไม่เป็นธรรมต่อผู้ที่มีชื่อในลำดับถัดไปของบัญชีรายชื่อ (Waiting List) ซึ่งก็จะเกิดปัญหาว่าผู้ที่อยู่ใน Waiting List จะสิ้นสุดไปหรือโอนติดตามกันไปหรือไม่ และหากโอนได้สถานะของ Waiting List จะติดตามกันไปอย่างไร
       
       น่าสังเกตว่ารัฐธรรมนูญทั้งฉบับ พ.ศ. 2540 และฉบับปัจจุบันต่างก็มุ่งกำจัดการซื้อขายเสียงและกำหนดบทลงโทษการซื้อขายเสียง แต่กระนั้นกลับไม่มีการห้ามการซื้อขายนักการเมืองและไม่มีบทลงโทษนักการเมืองที่ขายตัวและพรรคการเมืองที่ขายตัวนักการเมือง(7) ดังนั้นการให้ส.ส.แบบสัดส่วนที่ถูกยุบพรรคสามารถหาพรรคการเมืองใหม่สังกัดได้โดยอิสระจะก่อให้เกิดปัญหาการซื้อขายตัวส.ส.ภายหลังจากมีการยุบพรรค กรณีเช่นนี้หากพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่าเป็นการทุจริตการเลือกตั้งรุนแรงยิ่งกว่าการซื้อสิทธิขายเสียงกับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเสียอีก ทั้งนี้เนื่องจากเป็นการซื้อผลสำเร็จของการเลือกตั้ง คะแนนที่ซื้อได้ก็สามารถนำมาใช้การได้ทันทีไม่ต้องรอคณะกรรมการเลือกตั้งประกาศผลการเลือกตั้ง นายทุนพรรคการเมืองสามารถอาศัยช่องว่างของกฎหมายข้อนี้เป็นช่องทางสร้างฐานอำนาจทางการเมืองโดยมิชอบซึ่งการนี้จะเป็นการทำลายระบบพรรคการเมืองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อรัฐธรรมนูญมีเจตนารมณ์ให้การเมืองมีเสถียรภาพโดยเฉพาะในระบบพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ ส.ส.นั้นต้องสังกัดพรรคการเมืองส่งผลให้ความเป็นส.ส.ก็จะยึดติดกับพรรคไม่ใช่ยึดติดกับตัวบุคคล(8) พรรคการเมืองจะต้องมีความแข็งแรงและมีเสถียรภาพ ทั้งนี้เนื่องจากพรรคการเมืองเป็นองค์กรทางการเมืองที่กำหนดตัวผู้ที่จะมีสิทธิเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเพียงองค์กรเดียวเท่านั้น หากปล่อยให้พรรคการเมืองขาดเสถียรภาพรัฐบาลก็จะขาดเสถียรภาพเช่นกัน ดังนั้นจากเหตุผลทั้งหมดที่ได้กล่าวมาข้างต้นผู้เขียนจึงเห็นว่าเมื่อพรรคการเมืองถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค สมาชิกภาพของ ส.ส. สัดส่วนก็ควรที่จะสิ้นสุดลงไปด้วย ไม่ควรให้ส.ส.ประเภทสัดส่วนหาพรรคใหม่สังกัดภายในหกสิบวันหลังจากมีคำสั่งยุบพรรคได้เหมือนดังส.ส.ประเภทแบ่งเขต
       
       เชิงอรรถ
       1. เกรียงไกร เจริญธนาวัฒน์, หลักพื้นฐานกฎหมายมหาชนว่าด้วยรัฐ รัฐธรรมนูญและกฎหมาย, กรุงเทพ, วิญญูชน, 2550, หน้า 192
       2. บวรศักดิ์ อุวรรณโณ, รัฐธรรมนูญน่ารู้, กรุงเทพ, วิญญูชน, 2542, หน้า 282
       3. จำนงค์ ถาวรวิสิทธิ์, ศึกษาเปรียบเทียบระบบและวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ของไทยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. 2540) กับระบบและวีธีการเลือกตั้ง ส.ส.ตามกฎหมายของเยอรมัน, วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2542, หน้า 35
       4. เรื่องเดียวกัน,หน้า 160
       5. นรนิติ เศรษฐบุตร, รัฐธรรมนูญกับการเมืองไทย, กรุงเทพ, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2550, หน้า 328
       6. คณิน บุญสุวรรณ, รวมสาระรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน, กรุงเทพ, สำนักพิมพ์มติชน, 2541, หน้า 234
       7. รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์, เศรษฐศาสตร์รัฐธรรมนูญ: บทวิเคราะห์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 เล่ม 2, กรุงเทพ, มติชน, 2546, หน้า 54
       8. บุศรา เข็มทอง, การรวมพรรคการเมือง:ศึกษาผลกระทบต่อการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ, วิทยานิพนธ์ปริญญมหาบัณฑิต คณะนิติศาสาตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2546, หน้า 108


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1316
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:59 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)