ปัญหาของระบบรัฐสภาไทย โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง

21 ธันวาคม 2551 21:47 น.

       ในสังคมปัจจุบันที่ขยายตัวมากขึ้นกว่าสังคมในยุคบุพกาลที่ประชาชนสามารถมารวมกันเพื่อตัดสินใจร่วมกันโดยตรงซึ่งเราเรียกกันว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยทางตรง(Direct Democracy)นั้น ปัจจุบันเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ในระดับชาติซึ่งมีความสลับซับซ้อน ดังนั้น จึงเกิดความจำเป็นที่จะต้องมีการเลือกผุ้แทนของตนเพื่อไปออกเสียงแทนในเรื่องต่างๆ ซึ่งเป็นการแสดงถึงการใช้อำนาจอธิปไตยที่เป็นของปวงชน
       ในบรรดาของประเทศต่างๆที่ใช้ระบบของการมีผู้แทนอาจจำแนกได้เป็นรูปแบบหลักๆอยู่ ๒ รูปแบบ คือ
       ๑) รูปแบบการปกครองแบบประธานาธิบดี (Presidential System) มีหลักการที่สำคัญ คือ มีการแบ่งแยกอำนาจการใช้อำนาจอธิปไตยกันอย่างเด็ดขาด ประมุขของรัฐกับหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นคนๆเดียวกัน ฝ่ายบริหารเป็นอิสระต่อการควบคุมของรัฐสภา(ไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ) รัฐมนตรีรับผิดชอบโดยตรงต่อประธานาธิบดี (ไม่จำเป็นต้องไปร่วมประชุมรัฐสภา) และอำนาจในการแต่งตั้งตุลาการเป็นของประธานาธิบดีโดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา
       ๒) รูปแบบการปกครองแบบรัฐสภา (Parliamentary System) ซึ่งมีหลักการที่สำคัญ คือ ตำแหน่งประมุขของประเทศแยกออกจากตำแหน่งบริหาร ตัวแทนของประชาชนทำหน้าที่นิติบัญญัติ คณะรัฐบาลมาจากรัฐสภา และการคงอยู่ของรัฐบาลขึ้นอยู่กับความไว้วางใจของรัฐสภา
       คำว่ารัฐสภา หรือ Parliament มาจากคำว่า Parlor หมายถึง ห้องรับแขก เพราะเอาไว้คุยกันของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งในภาคพื้นยุโรปจะจัดเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ แต่เดิม ในยุคกรีกหรือโรมันนั้นจะไม่มีเก้าอี้ แต่จะเป็นขั้นบันไดยาวๆไปรอบห้อง คล้ายๆกับอัฒจันทร์ของสนามกีฬา พอถึงเวลาประชุมก็จับกลุ่มยืนคุยเป็นกลุ่มๆแล้วแต่จะชอบพอใครหรือเป็นพวกของใคร ส่วนอัฒจันทร์ก็เอาไว้นั่งเวลาเหนื่อยหรือเบื่อที่ฟังคนอื่นพูด
       ประเทศไทยเรานั้นจัดอยู่ในระบบการปกครองแบบรัฐสภา แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วสถานภาพของรัฐสภาไทยเราอาจเรียกได้ว่าเป็นเพียงตัวประกอบในระบบการเมืองเท่านั้น เพราะความสำคัญต่างๆกลับไปเน้นอยู่ที่คณะรัฐบาลเท่านั้น
       เราอาจเห็นการแสดงละครเรื่อง “การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี” ซึ่งมีครบทุกรสชาติ ไม่ว่าจะเป็นบทบู๊ล้างผลาญ คมคายเชือดเฉือน เงอะงะเลอะเลือน พร้อมทั้งบทตลกที่คอยแทรกเสริมด้วยการประท้วงเป็นระยะๆ แต่ในที่สุดเมื่อมีการลงคะแนนก็ไม่มีผลอันใดต่อสถานภาพของรัฐบาล เพราะรัฐบาลคุมมือไว้หมดแล้ว
       ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการบริหาราชการแผ่นดินของรัฐบาลในรัฐสภาที่ใช้ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรก็ดี การประชุมวุฒิสภาก็ดี การประชุมคณะกรรมาธิการก็ดี ไม่ต่างไปจากละครการเมืองน้ำเน่า ที่หาได้ส่งผลต่อการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างใดไม่
       
       ตั้งแต่เรามีระบบรัฐสภาเป็นต้นมา รัฐสภาไทยเต็มไปด้วยสมาชิกที่มาจาก ชนชั้นที่ได้เปรียบทางสังคม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจและนักการเมืองอาชีพตลอดจนอดีตข้าราชการที่โยงใยใกล้ชิดกัน โดยเฉพาะอย่างวุฒิสภาที่มีการกำหนดคุณสมบัติที่เอื้ออำนวยต่อชนชั้นนำมากกว่าชนชั้นล่าง มิหนำซ้ำยังมาจากการลากตั้งอีก ๗๔ จาก ๑๕๐ คน
       ทั้งนี้ เนื่องมาจากรัฐธรรมนูญที่ออกโดยชนชั้นนำและแนวทางการพัฒนาประเทศที่ขาดการสมดุล ทำให้คนส่วนใหญ่ถูกกันออกไปจากเวทีแข่งขันทางการเมือง โดยอัตโนมัติ คนส่วนใหญ่จึงไม่สามารถมีส่วนกำหนดนโยบายใดๆของรัฐ ตัวระบอบรัฐสภาเองจึงมีความจำกัดในการตอบสนองความต้องการของประชาชน
       ตัวรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มุ่งแต่กลั่นกรองตัวบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง ทางการเมือง มากกว่าการกระจายโอกาสทางการเมืองให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ดังจะเห็นได้จากสัดส่วนของสมาชิกรัฐสภาปัจจุบันที่ล้วนแล้วแต่เป็นชนชั้นนำที่ครอบงำรัฐสภาอยู่
       ในหลักการของระบบรัฐสภานั้นฝ่ายบริหารอาจถูกลงมติไม่ไว้วางใจหรือสภาผู้แทนอาจถูกยุบเพื่อให้ประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้แสดงบทบาทของผู้ตัดสิน ประชาชนจึงต้องพร้อมเสมอที่จะใช้สิทธินั้น ดังนั้น จึงมีความจำเป้นอย่างยิ่งที่ประชาชนจะต้อง ได้รับการศึกษาและได้รับโอกาสในการรับรู้ข่าวสารทางการเมือง ตลอดจนโอกาสในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นหลักการสำคัญของการกำหนดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการควบคุม การดำเนินงานขององค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตย และหากประเทศใดขาดหลักเกณฑ์ที่ว่านี้ ก็ย่อมกล่าวไม่ได้ว่าประเทศนั้นมีการปกครองในระบบรัฐสภาที่แท้จริง และประเทศที่ว่านี้ย่อมปฏิเสธไม่ได้ว่ารวมประเทศไทยของเราในปัจจุบันนี้เข้าไปด้วย
       นอกจากปัญหาสำคัญที่ได้ชี้ให้เห็นมาแล้วว่ารูปแบบการปกครองแบบรัฐสภา ซึ่งก็หมายความว่ารัฐสภาเป็นใหญ่หรือมีอำนาจสูงสุด แต่ระบบรัฐสภาของไทยในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ แต่กลับกลายเป็นรัฐบาลที่เป็นใหญ่กว่ารัฐสภา
       ในส่วนของพรรคการเมืองของไทยนั้น พรรคการเมืองต่างๆล้วนแล้วแต่ บกพร่องในบทบาทต่อสังคม เพราะทำตัวแปลกแยกจากสังคมมาโดยตลอด แสวงหาหรือ เล่นบทบาทเฉพาะบทบาททางการเมืองในสภาเท่านั้น
       มิหนำซ้ำเมื่อเกิดปรากฏการณ์พันธมิตรฯขึ้นมา พรรคการเมืองทั้งหลายก็กลับละทิ้งหน้าที่ในทางการเมืองในสภาไปเสียอีก หันไปเล่นทางลัดนอกสภาโดยคอยหนุนหลัง กลุ่มเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดงอย่างโจ๋งครึ่ม พรรคการเมืองจึงหมดความหมายจากประชาชนไปโดยสิ้นเชิงเพราะไม่ได้ทำหน้าที่ทั้งในทางสังคมและในทางการเมืองแต่อย่างใด โอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตยโดยพรรคการเมืองจึงเสื่อมสูญไปอย่างน่าเสียดาย กอปรกับการมีมาตรการยุบพรรคซ้ำเติมเข้าไปอีก ก็เป็นอันว่าสิ้นหวังได้เลยว่าพรรคการเมืองจะเป็นจักรกลที่จะขับเคลื่อนการเมืองในระบบรัฐสภาของเราให้พัฒนากว่านี้ไปได้
       
       ถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาไทยจะต้องปรับปรุงกันอย่างขนานใหญ่ ด้วยการ ยกร่างรัฐธรรมนูญเสียใหม่ เพราะพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่ารัฐสภาซึ่งใช้อำนาจนิติบัญญัตินั้นตกเป็นเบี้ยล่างของรัฐบาล ไม่ได้เป็นอิสระและไม่อาจถ่วงดุลเพื่อควบคุมตรวจสอบรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพเลย เป็นแต่เพียงการแสดงละครฉากใหญ่เท่านั้นเอง
       

       
       -------------------


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1312
เวลา 25 พฤศจิกายน 2567 15:43 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)