|
 |
วุฒิสภากับอนาคตของประเทศไทย 20 ธันวาคม 2547 16:01 น.
|
ในรอบสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ข่าวคราวเกี่ยวกับสมาชิกวุฒิสภาในทางไม่ดีได้ปรากฏออกมาหลายเรื่องไม่ว่าจะเป็นเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ การรับสินบน หรือการ "สอย" สมาชิกวุฒิสภาบางคน ข่าวต่างๆเหล่านี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่งผลทำให้เกิดภาพลบต่อสถาบันวุฒิ สภาเป็นอย่างยิ่ง
ข้าพเจ้าคงกล่าวได้เพียงสั้นๆว่า เรื่องใดก็ตามที่เกิดขึ้นโดย "พฤติกรรมมนุษย์" นั้นมักจะเป็นเรื่องยากที่จะ "สร้าง" กฎเกณฑ์มาครอบคลุมให้ทั่วถึง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวุฒิสภาหรือสถาบันอื่นๆย่อมหนีไม่พ้นความเสียหายที่เกิดจาก "พฤติกรรมมนุษย์" ทั้งสิ้น ดังนั้น ในทางวิชาการคงเป็นการยากที่จะวางมาตรการใดๆที่จะป้องกันมิให้มนุษย์ประพฤติบางอย่างได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ "การซื้อเสียง" ในอดีตก่อนที่จะมี กกต. กับ "การซื้อเสียง" ในปัจจุบันที่มี กกต. แล้วจะเห็นได้ว่ามีความแยบยลและพิถีพิถันต่างกันมากและนับวันก็ยากที่จะตรวจสอบยิ่งขึ้นๆ
ประเด็นที่ข้าพเจ้าจะยกมากล่าวในที่นี้คงไม่เกี่ยวข้องกับ "พฤติกรรม" ต่างๆของสมาชิกวุฒิสภาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ข้าพเจ้าต้องการที่จะ "นำเสนอ" ปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับสถาบันวุฒิสภาและสถาบันต่างๆในอนาคต จุดเริ่มต้นของเรื่องก็คือ เมื่อเกิดปัญหาต่างๆขึ้นในวุฒิสภาดังกล่าวมาแล้วข้างต้น เราก็ได้เห็น "การรวมกลุ่ม" ของสมาชิกวุฒิสภาซึ่งข้าพเจ้าไม่ทราบและไม่แน่ใจว่า "การรวมกลุ่ม" ดังกล่าวนั้นเกิดขึ้นมาก่อนหน้าที่จะมีปัญหาในวุฒิสภาหรือไม่ แต่ อย่างไรก็ ตาม การรวมกลุ่มดังกล่าวก็ได้สะท้อนให้เห็นอะไรบางอย่างเช่นกัน
ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งที่จะจับตามอง "การรวมกลุ่ม" ดังกล่าวว่า อาจก่อให้ เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโครงสร้างการเมืองการปกครองประเทศได้ในอนาคต
ที่ว่า "การรวมกลุ่ม" ของวุฒิสภาอาจก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโครงสร้างทางการเมืองการปกครองไทยในอนาคตนั้น บางคนอาจคิดว่าเป็นคำกล่าวที่เลื่อนลอยหรือเป็นการมองโลกในแง่ร้าย
เรื่องดังกล่าว ข้าพเจ้าจะขอนำไปกล่าวชี้แจงข้อสนับสนุนความเห็นในย่อหน้าสุดท้ายของบทความนี้ ในส่วนต่อไปนี้ ข้าพเจ้าจะขอกล่าวถึง "ที่มา" ของวุฒิสภาเพื่อที่จะได้นำเสนอ "อำนาจ" ของวุฒิสภาในท้ายบทความ
ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน คณะทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญได้เสนอร่าง
รัฐธรรมนูญต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญโดยกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภามีจำนวนไม่เกิน 200 คน โดยมาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์ จำนวน 76 คน และมาจากสมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คน แต่เมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วก็ได้แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับอำนาจของสมาชิกวุฒิสภาแต่ละประเภทโดยกำหนดให้วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์มีจำนวนไม่เกิน 3 ใน 4 ของสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้ง แต่อย่างไรก็ตามต่อมา คณะ กรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก็ได้แก้ไขใหม่โดยกำหนดไว้ในร่างมาตรา 120 ให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการแต่งตั้งของพระมหากษัตริย์จากบุคคล 3 กลุ่มรวม 200 คน คือ
ก. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือมีประสบการณ์ประเภทผู้ชำนาญด้านวิชาการ ผู้มีประสบ
การณ์ทางวิชาชีพ ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดินหรือผู้แทนองค์การเอกชน จำนวน 60 คน
ข. ผู้มีประสบการณ์ซึ่งเป็นผู้แทนกลุ่มอาชีพประเภทต่างๆจำนวน 60 คน
ค. ผู้มีประสบการณ์ซึ่งเป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประเภทต่างๆจำนวน
80 คน
นอกเหนือจากการกำหนดที่มาของสมาชิกวุฒิสภาไว้ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ก็ได้มีการกำหนด อำนาจหน้าที่ ของวุฒิสภาไว้ด้วยโดยให้ทำหน้าที่สำคัญหลายประการทั้งทางด้านนิติ บัญญัติรวมทั้งการเป็นองค์กรตรวจสอบทางการเมืองด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม ในชั้นการพิจารณาของสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีการเสนอให้วุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน ซึ่งผลการลงมติปรากฏว่าที่ประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน จึงได้มีการดำเนินการแก้ไขบทบัญญัติต่างๆที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกัน และต่อมารัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็ได้ประกาศใช้ บังคับและมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2543
เนื่องจากสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้สมาชิกวุฒิสภาเป็นสภาของผู้ทรงคุณวุฒิและมีความเป็นอิสระปลอดจากการเมืองและเป็นกลาง จึงกำหนดให้การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา "ปลอด" จากการหาเสียง โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งสามารถทำได้เพียงการ "แนะนำตัว" ตามที่ กำหนดไว้ในมาตรา 129 แห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
เมื่อได้สมาชิกวุฒิสภาครบ 200 คนในวันที่ 27 กรกฎาคม 2543 วุฒิสภาก็ได้เริ่มปฏิบัติ งาน อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภานั้นมีหลายประการด้วยกันเพราะนอกจากจะทำหน้าที่ทางด้านนิติ บัญญัติ คือ กลั่นกรองกฎหมาย เสนอกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมอบหน้าที่อื่นให้กับวุฒิสภานั่นก็คือ อำนาจหน้าที่ในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน อันได้แก่ การตั้งกระทู้ถาม การอภิปรายทั่วไป การแต่งตั้งคณะกรรมาธิการ การควบคุมการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล การแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และการพิจารณาและมีมติถอดถอนข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำและเจ้าหน้าที่ในองค์กรตรวจสอบออกจากตำแหน่ง
อำนาจหน้าที่ของวุฒิสภาในส่วนที่ข้าพเจ้าจะนำมาวิเคราะห์ในที่นี้ก็คือ อำนาจในการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญสำหรับอนาคตของประเทศไทย เนื่องจากรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ให้วุฒิสภามีบทบาทและอำนาจหน้าที่ในการเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำหรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลต้องดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบหรือองค์กรอิสระต่างๆคือ
1. คณะกรรมการการเลือกตั้ง
2. ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
3. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
4. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
5. ตุลาการศาลปกครองสูงสุด
6. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)
7. คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.)
8. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนในคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.)
9. กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนในคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.)
นอกจากตำแหน่งต่างๆดังกล่าวมาแล้ว วุฒิสภายังมีอำนาจในการให้ความเห็นชอบ
บุคคลต่างๆให้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆตามที่กฎหมายอื่นกำหนด เช่น ตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เป็นต้น
เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งต่างๆเหล่านี้จะเห็นได้ว่า เป็นตำแหน่งสำคัญที่ "คุม" กลไกการดำเนินงานตามปกติของ "รัฐไทย" ไว้ทั้งสิ้น ตำแหน่งต่างๆเหล่านี้สามารถให้คุณให้โทษ ก่อให้เกิดผลดีผลเสียต่อการดำเนินการหรือการบริหารงานของประเทศได้ ซึ่งวุฒิสภาเป็นเพียงองค์กรเดียวที่ "คุม" การแต่งตั้งหรือการให้ความเห็นชอบบุคคลต่างๆเหล่านี้ไว้
ในย่อหน้าสุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าเพียงแต่อยากให้ข้อคิดไว้สั้นๆดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า หากวุฒิสภาที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาสามารถ "รวมกลุ่ม" กันได้ ไม่ว่าจะเป็นการรวมกลุ่มกันตามธรรมชาติ หรือเป็นการรวมกลุ่มกันทางการเมืองก็ตาม ก็อาจส่งผลต่อการแต่งตั้งบุคคลในองค์กรต่างๆดังกล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นอย่างมากเพราะจากประสบการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมา "การต่อรอง" ดูจะเป็นวิธีที่ใช้กันบ่อยในหลายๆด้านไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี การจัดทำกฎหมาย การตั้งกรรมาธิการและอื่นๆอีกหลายกรณี ดังนั้น ในอนาคตหาก "กลุ่ม" ต่างๆในวุฒิสภาสามารถ "ต่อรอง" ในการคัดเลือกบุคคลต่างๆให้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตรวจสอบหรือองค์กรอิสระต่างๆได้แล้ว ก็เป็นที่แน่นอนว่า อนาคตของประเทศไทยที่รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมืองได้คาดหวังไว้ คงจะจบสิ้นลงอย่างน่าเศร้าใจ
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2544
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=131
เวลา 21 เมษายน 2568 20:55 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|