ครั้งที่ 201

7 ธันวาคม 2551 17:31 น.

       ครั้งที่ 201
       สำหรับวันจันทร์ที่ 8 ถึงวันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม 2551
       
       “ต้องมีผู้รับผิดชอบ”
       

       ในที่สุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมที่ผ่านมา พรรคการเมืองของประเทศไทยอีก 3 พรรคการเมืองก็ต้องมีอันเป็นไป รวมกันแล้ววันนี้เรามีพรรคการเมืองรวม 4 พรรคที่ถูกยุบ ก็ไม่ทราบว่าการยุบพรรคการเมืองที่หลาย ๆ คนดีใจกันหนักหนาจะก่อให้เกิดผลดีต่อระบอบประชาธิปไตยหรือจะสามารถแก้ปัญหาทางการเมืองอะไรได้บ้าง เพราะก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า เมื่อเกิดการยุบพรรคไทยรักไทย สมาชิกพรรคไทยรักไทยก็พากันไปตั้งพรรคพลังประชาชน เมื่อพรรคพลังประชาชนถูกยุบ ก็เกิดพรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 พรรคการเมืองประกอบด้วยคนหน้าเดิม นโยบายเดิม พูด ทำและคิดแบบเดิม เพราะฉะนั้นผมจึงไม่สามารถตอบตัวเองได้ว่าเราได้อะไรจากการยุบพรรคการเมือง ก็ต้องขอฝากไปถามผู้ที่เป็นเจ้าของแนวคิดเรื่องการยุบพรรคการเมืองที่ปรากฏอยู่ทั้งในรัฐธรรมนูญละกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่า บทบัญญัติดังกล่าวแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติได้หรือไม่ หรือกลับไปสร้างความแตกแยกให้กับสังคม เพราะอย่างน้อยในวันนี้คำว่าพรรคการเมืองนอมินีก็กลายมาเป็นคำที่หลาย ๆ ฝ่ายนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างความสับสนวุ่นวายทางการเมืองอยู่ตลอดเวลาครับ
       ผมมานั่งตรองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแล้วก็รู้สึกแปลก ๆ นะครับ ทหารทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เพราะต้องการ “คว่ำ” รัฐบาล ทั้ง ๆ ที่หากรอสักนิดรัฐบาลก็ต้องไปเองโดยสภาพ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบุกยึดสถานที่ราชการสำคัญเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก ทั้ง ๆ ที่หากรอสักนิดนายกรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะ “ชิมไปบ่นไป” เช่นเดียวกับการบุกยึดสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อกดดันให้นายกรัฐมนตรีลาออก ทั้ง ๆ ที่ถ้าหากรอไปอีกไม่กี่วัน นายกรัฐมนตรีก็ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะพรรคการเมือง “ถูกยุบ” จริง ๆ แล้วหากพิจารณาดูเหตุผลของเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น การดำเนินการ “นอกระบบ” ดูแทบจะไม่มีความจำเป็นเลย เพราะจากที่ฟังการอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคพลังประชาชน ก็ได้ยินตรงกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญยึดเอาคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลักและศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการทบทวนคำพิพากษาศาลฎีกา จากเหตุผลดังกล่าวทำให้เข้าใจได้ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะมีการบุกยึดสนามบินหรือไม่ก็ตาม ยังไง ๆ พรรคพลังประชาชนก็ต้องถูกยุบอยู่ดี ฉะนั้น “ในทางทฤษฎี” การบุกยึดสนามบินของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึง “ไม่น่าจะ” มีส่วนเกี่ยวข้องและ “ไม่มีอิทธิพล” ต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครับ!!!
       ผมคงยังไม่กล่าวถึงการยุบพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค เพราะนอกจากผมยังไม่ได้อ่านคำวินิจฉัยฉบับสมบูรณ์แล้ว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ที่ผ่านมาที่ผมได้ฟังการอ่านคำวินิจฉัยทางวิทยุก็ไม่ค่อยเข้าใจชัดแจ้ง เพราะมีการอ่านผิดอ่านถูกอยู่หลายตอนทำให้ต้องแก้คำวินิจฉัยในขณะอ่าน!!! ผมเองก็คงเหมือนกับคนส่วนใหญ่ที่ “ไม่ได้เตรียมตัว” ที่จะฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเพราะไม่คิดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยได้ “รวดเร็ว” ขนาดนั้น ก็ตอนที่แกนนำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยประกาศก้องผ่านสื่อต่าง ๆ ว่าวันที่ 2 ธันวาคมจะมีข่าวดี (ของพันธมิตรฯ) ประธาน กกต. ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ในเวลาไล่เลี่ยกันว่าคาดว่าศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้วินิจฉัยยุบพรรคในวันแถลงปิดคดี ซึ่งผมก็เลือกที่จะเชื่อ “ข่าวหลัง” มากกว่าเพราะผู้ให้ข่าวคือประธาน กกต. นั้นเป็นอดีตผู้พิพากษาระดับสูงมาก่อน ย่อมจะรู้กระบวนพิจารณาคดีของศาลเป็นอย่างดี ฉะนั้น พูดอะไรออกมาก็ควรจะต้องรับฟัง แต่ที่ไหนได้ผมประเมินผิดไป จริง ๆ แล้วควรจะให้น้ำหนักกับคำพูดที่มาจากฝ่ายพันธมิตรฯ มาก กว่าเพราะ “ทายแม่นเหลือเกิน” เรื่องนี้เราคงมีโอกาสได้พูดคุยกันในวันข้างหน้าครับ
       บทบรรณาธิการครั้งนี้ผมขอให้ความสำคัญกับ “ความเสียหาย” ที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่แม้วันนี้จะยุติการชุมนุมไปแล้วก็ตาม แต่คำถามที่ต้องมีการตอบและต้องดำเนินการโดยเร็วก็คือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม!! ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นหากจะประเมินกันแล้วคงจะประเมินได้จากสถานที่ 3 แห่งเป็นหลักคือ ทำเนียบรัฐบาล สนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งหน่วยงานที่ดูแลสถานที่สำคัญทั้ง 3 แห่งคงต้องรีบเร่งประเมินความเสียหาย “ทางด้านวัตถุ” ที่เกิดขึ้นก่อน จากนั้นก็ต้องประเมินความเสียหาย “ทางด้านอื่น ๆ” โดยเฉพาะการขาดประโยชน์ต่าง ๆ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิมีเครื่องบินขึ้นลงวันละ 700 เที่ยว ผู้โดยสารผ่านเข้าออกวันละกว่า 120,000 คน ร้านค้าปลอดภาษีมีรายได้วันละประมาณ 70 ล้านบาท สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคำนวณออกมาและนำตัวเลขออกมาเสนอให้ประชาชนทราบว่า โดยสรุปแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีมูลค่าเท่าไร ส่วนความเสียหายด้านอื่น ๆ เช่น ภาพพจน์ของประเทศ ความมั่นใจในการแก้ไขวิกฤตของประเทศ ความสูญเสียด้านการท่องเที่ยวที่จะพึงมีต่อไปในอนาคต รวมไปถึงความเสียหายของภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศที่ได้รับด้วยครับ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องต้องรวบรวมและนำออกมาเผยแพร่อย่างเป็นทางการให้ประชาชนทั่วไปได้ทราบ จากนั้นจึงต้องมาดูกันต่อไปว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุม?
       
คำถามดังกล่าวในเบื้องต้นผมเคยได้ยินคำตอบมาแล้วเพราะมีแกนนำคนหนึ่งประกาศก้องว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียว ซึ่งผมก็ไม่ทราบ “เหตุผล” ของผู้นั้นว่าที่พูดไปต้องการอะไร หรือว่า “มีปัญญา” รับผิดชอบจริง ๆ ก็ไม่ทราบได้ แต่ต่อมาอีกไม่กี่วัน แกนนำคนดังกล่าวก็ทำหนังสือ “ต่อรอง” ไปยังส่วนราชการที่ดูแลทำเนียบรัฐบาลขอให้ยกเว้นไม่เอาผิดทางอาญากรณีการบุกรุกทำเนียบรัฐบาลและขอไม่ให้เอาผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญากับกลุ่มผู้ชุมนุมที่ทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย ฟังดูแล้วรู้สึกอย่างไรกับ “ข้อต่อรอง” ดังกล่าวครับ!!!
       สิ่งที่แทบจะเรียกได้ว่า “ไม่ต้องคิด” เลยก็คือ การหาตัวคนรับผิดชอบ หากเป็นประเทศที่มีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะหรือการเดินขบวน เป็นที่แน่นอนว่าผู้นำในการชุมนุมหรือการเดินขบวนย่อมมีหน้าที่ต้องดูแล “ฝูงชน” ของตนให้ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพราะหากมีความเสียหายเกิดขึ้น ผู้นำในการชุมนุมจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ แม้ในประเทศไทยเราจะไม่มีกฎหมายลักษณะดังกล่าวก็ตาม แต่ตรรกะของความรับผิดชอบคงจะไม่แตกต่างกันเพราะผู้นำในการชุมนุมเป็นผู้กำหนดทิศทางของการชุมนุม ยิ่งในกรณีของประเทศไทยเรา ผู้นำในการชุมนุมเป็นผู้นำพาฝูงชนเข้าไปยึดสถานที่ราชการทุกแห่งด้วยตนเอง ดังนั้น ผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงต้องเป็นผู้นำของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยครับ
       เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเมื่อครั้งเกิดรัฐประหารปี พ.ศ. 2549 ที่ในตอนนั้น คณะรัฐประหารมองว่ารัฐบาลของคุณทักษิณ ชินวัตร บริหารประเทศจนเกิดความเสียหาย จึงได้ตั้งองค์กรพิเศษเฉพาะกิจ คือ “คตส.” ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบว่ารัฐได้รับความเสียหายอย่างไรบ้าง และเสียหายเท่าไรจากการดำเนินงานของรัฐบาลคุณทักษิณ ชินวัตร ในวันนี้ผมขอเสนอให้รัฐบาลใหม่ ซึ่งไม่ว่าเป็นใครหรือพรรคการเมืองใดก็ตาม ตั้งคณะกรรมการลักษณะเดียวกับ “คตส.” ขึ้นมาเพื่อตรวจสอบดูว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นมานั้น สร้างความเสียหายให้กับรัฐและเอกชนมากน้อยแค่ไหนและจะต้องดำเนินการหาตัวผู้รับผิดชอบมาดำเนินการต่อไป เพราะอย่างที่เราทราบกันอยู่ว่า การดำเนินการส่วนใหญ่ของผู้ชุมนุมนอกจากจะสร้างความลำบากและเดือดร้อนให้กับผู้คนจำนวนมากแล้วก็ยังมีการกระทำผิด ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนกฎหมาย ฝ่าฝืนคำสั่งศาล มีการบุกยึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ทำให้ทรัพย์สินของทางราชการและทรัพย์สินส่วนบุคคลได้รับความเสียหาย ซึ่งในด้านความเสียหายของส่วนราชการนั้นผมคิดว่าคงไม่สามารถ “ยอมความ” กันได้เพราะทรัพย์สินของทางราชการไม่ใช่สมบัติส่วนตัวของหน่วยงานที่จะมาขอยกเว้นไม่ต้องเอาผิดกันง่าย ๆ ส่วนการทำผิดกฎหมายอาญาก็ยิ่งจะยอมความไม่ได้เช่นกัน ส่วนในด้านความเสียหายของเอกชนก็มีอยู่มาก เพราะฉะนั้นเพื่อให้เป็นระบบ สมควรที่จะมีคณะกรรมการกลางขึ้นมาตรวจสอบความเสียหายทั้งหมด โดยแยกเป็นความเสียหายภาครัฐ ความเสียหายของเอกชน และความเสียหายต่อภาพรวมของประเทศ เมื่อทราบรายละเอียดและรายการความเสียหายที่ถูกต้องและเป็นจริงทั้งหมดแล้วก็ต้องเผยแพร่ให้ประชาชนทั่วไปทราบและก็คงต้องมาดูกันต่อไปว่า ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับความเสียหายดังกล่าว แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในวันนี้คือ คนไทยทุกคนต้องรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมที่ผ่านมาเพื่อประกอบการตัดสินใจในการดำเนินการทางการเมืองในลักษณะดังกล่าวต่อไปในอนาคตครับ
       ก่อนจะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมมีข้อสังเกตอีก 2 ประการที่ได้จากวิกฤตของประเทศในช่วงเวลา 2 – 3 เดือนที่ผ่านมา ที่ผมคิดว่าเป็นเรื่อง “ร้ายแรง” และต้องหาทาง “เตรียมการ” เอาไว้ก่อนที่จะมี “วิกฤต” รอบใหม่ที่ “น่าจะ” เกิดขึ้นไม่ช้าก็เร็ว โดยข้อสังเกตประการแรกของผมก็คือทำอย่างไรที่จะทำให้ผู้คนเคารพต่อกฎหมายและเคารพกติกาของสังคม ที่ผ่านมาระหว่างการชุมนุม เราพบการกระทำที่ไม่เคารพกฎหมายมากมายหลายกรณี เริ่มตั้งแต่เบาไปหาหนัก ไล่มาได้ตั้งแต่ขึ้นทางด่วนไม่จ่ายค่าทางด่วน ปิดแผ่นป้ายทะเบียน พกอาวุธ กีดขวางทางสาธารณะ ทำร้ายร่างกาย หมิ่นประมาท ยึดสถานที่ราชการ ทำลายทรัพย์สินของทางราชการ ไม่เคารพคำสั่งศาล ท้ายที่สุดไปไกลถึงขนาดปิดประเทศ ตัดระบบการจราจรทางอากาศซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบเศรษฐกิจและชื่อเสียงของประเทศและยังมีผลกระทบโดยตรงต่อต่างประเทศด้วย การทำผิดกฎหมายทั้งหมดอยู่ภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อ “กู้ชาติ” ซึ่งผมเห็นว่าหากจะกู้ชาติ ผู้กู้ชาติก็ต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายก่อน หาไม่แล้วในวันข้างหน้าหากใครต้องการแย่งอำนาจ คัดค้านหรือประท้วงอะไร ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นทหาร ประชาชน หรือคู่แข่งทางการเมือง ก็จะใช้วิธีตั้งโจทย์ให้รุนแรงเข้าไว้ก่อน เช่น เพื่อ “กู้ชาติ” แล้วก็รวมกลุ่มกันเข้า ปฏิเสธอำนาจรัฐ ใช้ความรุนแรงเพื่อให้รัฐยอมและทำตาม เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นก็ไม่รับผิดชอบ เช่นนี้แล้วประเทศจะอยู่ได้อย่างไรครับ เพราะฉะนั้นเราคงต้องเริ่มหาทางวางระบบของการดำเนินการให้ผู้คนกลับมาให้ความเคารพต่อกฎหมายและกติกาของสังคมกันใหม่แล้วครับ ซึ่งก็จะมาโยงกับข้อสังเกตประการที่สองของผม คือ ข้อเสนอให้มีการแก้ปัญหาด้วยสันติวิธีและห้ามใช้ความรุนแรง เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่อีกเช่นกันในการแก้ปัญหาของประเทศ ที่ผ่านมาผมไม่แน่ใจว่าจุดเริ่มต้นมาจากไหน แต่ทุกคนท่องคาถาเหมือนกันหมดว่าไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา คาถาดังกล่าวกลายมาเป็นเกราะกำบังให้ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่ง “กล้า” ที่จะทำอะไรที่ผิดกฎหมายและทำอะไรที่ร้ายแรงโดยไม่มีใครเข้าไป “จัดการ” ได้ แม้ผู้ชุมนุมจะบุกเข้าไปยึดสถานที่ราชการที่เป็นสัญลักษณ์ของประเทศเช่นทำเนียบรัฐบาล แต่ก็ไม่มีใครเอาผู้คนเหล่านั้นออกมาจากทำเนียบรัฐบาลได้ ตำรวจก็ไม่สามารถทำอะไรได้ แม้จะพกอาวุธก็ยังไม่ได้ ส่วนทหารยิ่งแล้วใหญ่ ไม่ทราบท่องคาถาอะไรถึงได้เงียบไปหมด ผมเพิ่งมาเห็นทหารออกโรงแถมพกอาวุธเต็มอัตราศึกก็ตอนที่ “คุ้มกัน” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในการอ่านคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 2 ธันวาคมนี่เอง ที่ผมก็ยังไม่สามารถตอบคำถามตัวเองได้ว่ามีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องใช้ทหารมาทำหน้าที่เช่นนั้นครับ!!! หากทหาร “เข้มแข็ง” ในแบบวันที่ 2 ธันวาคมกับการยึดสนามบิน หรือกับการยึดทำเนียบรัฐบาลแล้ว ประเทศไทยเราคงจะไม่พบกับความสูญเสียมากเท่านี้ครับ เจ้าหน้าที่ของรัฐให้ความสำคัญกับบางเรื่องน้อยเกินไปและกับบางเรื่องก็มากเกินไป ในข้อสังเกตประการที่สองนี้ถ้าจะให้ได้คำตอบที่ชัดเจนรัฐบาลไทยน่าจะเป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาระดับโลกเรื่องการแก้ปัญหาจลาจลหรือหัวข้ออะไรก็ได้ทำนองนั้น โดยเชิญ “ผู้รู้” และ “ผู้เชี่ยวชาญ” จากประเทศต่าง ๆ มาอธิบายว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ในประเทศเหล่านั้น เขาจะแก้ปัญหากันด้วยวิธีการอย่างไร และจะท่องคาถาไม่ใช้ความรุนแรงหรือสันติวิธีแบบบ้านเราจนทำให้รัฐไม่สามารถเข้าไปควบคุมสถานการณ์หรือแก้ปัญหาได้หรือไม่ ได้คำตอบอย่างไรก็เก็บเอาไว้ใช้ในการเป่านกหวีดงวดหน้าครับ จะได้มี “ฐาน” ในการแก้ปัญหาตามแบบอย่างสากลประเทศกันครับ
       ก่อนจะจบบทบรรณาธิการครั้งนี้ ผมขอแสดงความ “ชื่นชม” กับอดีตนายกรัฐมนตรีผู้ที่ไม่เคยเข้าไปทำงานในห้องทำงานที่ทำเนียบรัฐบาลกันหน่อย ไม่ว่าจะถูกหรือจะผิดอย่างไรก็ตาม การยืนยันว่าจะแก้ปัญหาด้วยกฎหมาย การยืนยันว่าจะไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของผู้ทำผิดกฎหมายหรือไม่ยอมทำตาม “คำขู่” ของข้าราชการใต้บังคับบัญชาบางพวกบางกลุ่มบางคน เป็นสิ่งที่นักกฎหมายพึงทำครับ ก็ต้องขอแสดงความชื่นชมต่อการยึดมั่นใน “หลักกฎหมาย” และ “หลักนิติรัฐ” ของอดีตนายกรัฐมนตรี (นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์) ไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       ผมมีหนังสือมาแนะนำ “ด่วน” 1 เล่มครับ คงจำกันได้ถึง “วิวาทะ” ของนักกฎหมายมหาชนเกี่ยวกับกรณีคำสั่งศาลปกครองที่กำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร ที่ผมได้เปิดประเด็นไว้ในบทบรรณาธิการครั้งที่ 190 และ รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิด “วิวาทะ” ทางวิชาการเกี่ยวกับทฤษฎี “การกระทำทางรัฐบาล” ระหว่างรองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ กับศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ นักกฎหมายมหาชนระดับแนวหน้าของประเทศไทย ซึ่งการตอบโต้ทั้งหมดก็ได้ดำเนินการโดยผ่าน www.pub-law.net ของเราครับ ปัจจุบันสำนักพิมพ์มติชนได้นำเอาบทบรรณาธิการของผม บทความตอบโต้ระหว่าง ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ กับ รองศาสตราจารย์ ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ และยังมีบทความเรื่องดังกล่าวของ ศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อีก1 บทความ มารวมเล่มใช้ชื่อว่า “วิวาทะกูรู” ใครสนใจก็ลองไปหาไว้เป็นเจ้าของนะครับ เพราะทุกความเห็นของทางวิชาการในหนังสือเล่มนี้ เป็นสิ่งที่ยังรู้และพูดกันน้อยมากในประเทศไทยครับ


       ในสัปดาห์นี้ เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นบทความภาษาอังกฤษของคุณWanchai Yiamsamatha และ คุณ April Rungsang เรื่อง A HUA HIN CONDOMINIUM CASE:OWNERSHIP CERTIFICATE REVOKED BY ADMINISTRATIVE COURT ส่วนบทความที่สองเป็นบทความของคุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์ เรื่องสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป และบทความสุดท้ายเป็นบทความของคุณทศพล เชี่ยวชาญประพันธ์ เรื่อง กระบวนการพิจารณาคดียุบพรรค: ความไม่เป็นธรรมของรัฐธรรมนูญ ผมขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามบทความไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1307
เวลา 29 เมษายน 2567 04:41 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)