สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดย คุณปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์

7 ธันวาคม 2551 17:35 น.

       สิทธิในการมีรสนิยมรักร่วมเพศ เป็นสิทธิในข้อที่ว่าด้วยการใช้ชีวิตส่วนตัว หรือ droit de la vie privée ซึ่งได้รับการยอมรับตามมาตรา 8 แห่งปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนยุโรป ในทางกฎหมายภายใน กฎหมายแพ่งของฝรั่งเศสได้วางหลักยอมรับการครองคู่กันของคู่รักร่วมเพศโดยการยอมรับสัญญาการอยู่ร่วมกัน โดยมีการจดทะเบียนที่เรียกว่า pact(1) ซี่งเป็นการยอมรับความมีอยู่ในสังคมและสิทธิต่างๆของคู่รักร่วมเพศไปแล้วในประการหนึ่ง แต่สำหรับสิทธิในเรื่องการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศ(ชายโสดหรือหญิงโสดที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ)หรือคู่รักร่วมเพศ(มีการอยู่กินกัน) นั้น ได้มีการถกเถียงกันมาอยู่เสมอ โดยอ้างถึงความ”ไม่พร้อม”ในเชิงจิตวิทยาของผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศหรือคู่รักร่วมเพศในการที่จะดูแลเด็กซึ่งควรจะมีทั้งบิดาและมารดาอันเป็นส่วนประกอบโดยทั่วไปของครอบครัว มิใช่มีเพียงมารดาสองคนหรือบิดาสองคน บทความจึงขอเสนอมุมมองทางกฎหมายของสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศสและกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรป โดยจะแบ่งการพิจารณาออกเป็น 2 ส่วน คือ
       ส่วนที่หนึ่ง ความเดิมในประเด็นสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศส - ในส่วนนี้จะกล่าวถึง (1) ประมวลกฎหมายแพ่งเกี่ยวกับสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของฝรั่งเศส และ (2) คดี Fretté และการวางหลักของสภาแห่งรัฐ
       ส่วนที่สอง สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักร่วมเพศในมุมมองของกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรปและในประเทศอื่นๆ – ในส่วนนี้จะกล่าวถึง (1) คำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยนชนยุโรปในคดี Fretté และในคดีล่าสุด (2) สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศในประเทศต่างๆ และ ข้อสังเกตโดยผู้ขียน
       
       ส่วนที่หนึ่ง : ความเดิมในประเด็นการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักร่วมเพศในมุมมองกฎหมายฝรั่งเศส
       
ในส่วนนี้จะแยกการพิจารณาออกไปสองประการคือ (1) กฎหมายแพ่งเกี่ยวกับสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของฝรั่งเศส และ (2) คดี Fretté และการวางหลักของสภาแห่งรัฐ
       (1)ประมวลกฎหมายแพ่งเกี่ยวกับสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของฝรั่งเศส
       
มาตรา 343 ของประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส ได้วางหลักในเรื่องการรับบุตรบุญธรรมไว้ว่า
       - ในกรณีคู่สมรส : เป็นคู่สมรสที่ไม่ได้แยกกันอยู่ มีการสมรสกันแล้วเป็นเวลา 2 ปีขึ้นไป หรือ คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอายุมากกว่า 28 ปี
       - ในกรณีบุคคลที่ยังไม่มีการสมรส (คนโสด) : ต้องมีอายุ 28 ปีขึ้นไป
       ในทางปฎิบัติ การรับบุตรบุญธรรมภายในประเทศ กล่าวคือ รับเด็กสัญชาติฝรั่งเศสจากองค์กรดูและเด็กต่างๆในประเทศเป็นเรื่องยุ่งยากมาพอสมควร เพราะกฎหมายฝรั่งเศสมีบทบัญญัติที่ค่อนข้างเข้มงวดกับมาตรการดังกล่าว รวมทั้งมีการตรวจสอบอย่างละเอียดซึ่งกินเวลาประมาณสามปีขึ้นไป คู่สมรสชาวฝรั่งเศสที่มีความประสงค์ในการรับบัตรบุญธรรมจึงเลือกที่จะไปติดต่อรับบุตรบุญธรรมต่างชาติมากกว่า
       (2)คดี Fretté และการวางหลักของสภาแห่งรัฐ
       
ในเดือนตุลาคมปี 1991 นาย Fretté ได้ทำการยื่นคำร้องแสดงความจำนงขอรับบุตรบุญธรรมจากผู้อำนวยการศูนย์ความช่วยเหลือด้านสังคม เด็ก และ สุขภาพ (La direction de l’action sociale, de l’enfant et de la santé) ซึ่งขึ้นตรงกับจังหวัดปารีส (Département de Paris) ทางศูนย์ฯได้จัดให้นาย Fretté ตรวจสอบสภาพจิตในกรณีดังกล่าวและได้ผลออกมาว่า นาย Fretté เป็นบุคคลผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศ คำร้องแสดงความจำนงขอรับบุตรบุญธรรมดังกล่างจึงตกไป โดยทางศูนย์ฯ อ้างเหตุผลเรื่อง “การขาดหายไปซึ่งความเป็นมารดา” (l’absence du référence maternelle constante) ซึ่งถือเป็นข้อบกพร่องเพียงประการเดียวของนาย Fretté ผู้ซึ่งมีการศึกษาและมีรายได้ที่มั่นคง ตลอดจนมีความสามารถในการเลี้ยงดูและปลูกฝังบุตรบุญธรรมของตนในอนาคตให้เติบโตเป็นประชากรที่สมบูรณ์และมีคุณภาพของประเทศฝรั่งเศสได้
       ในเดือนพฤษภาคม 1993 นาย Fretté ได้ยื่นคำร้องในรูปของการร้องเรียนภายในหรือ recours gracieux(2) ร้องเรียนในประเด็นดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผลการพิจารณาในเดือนตุลาคมปีเดียวกันก็สรุปว่า ผู้ร้องมี “การเลือกใช้ชีวิต” หรือ choix de vie ที่ไม่มีเหตุผลในเพียงพอในการที่จะแสดงให้เห็นหลักประกันที่ไว้วางใจในด้านความสัมพันธ์ทางครอบครัว ทางการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอน และ ทางจิตวิทยาในการรับเลี้ยงดูบุตรบุญธรรม (3)
       ในวันเดียวกันกับที่คำวินิจฉัยของการร้องเรียนภายในดังกล่าวมีขึ้น นาย Fretté ก็ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการกระทำนอกอำนาจ (recours en excès de pouvoir) ต่อศาลปกครองแห่งปารีส เพื่อให้ศาลทำการยกเลิกเพิกถอนคำวินิจฉัยจากการร้องเรียนภายในดังกล่าว ต่อมาศาลปกครองได้มีคำพิพากษาลงวันที่ 25 มกราคม 1995 ยกเลิกเพิกถอนคำวินิจฉัยจากการร้องเรียนภายในตามที่นาย Fretté ร้องขอโดยศาลให้เหตุผลว่าคำปฎิเสธที่อ้างว่านาย Fretté มีความขาดหายไปทางความเป็นมารดาและจะก่อให้เกิดความสับสนและความยากลำบากในการดำเนินชีวิตต่อบุตรบุญธรรมในอนาคต นั้นเป็นเหตุผลที่ไม่เพียงพอในการปฎิเสธคำขอ
       แต่จังหวัดปารีส (Département de Paris) ก็ปฎิเสธไม่รับคำวินิจฉัยดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง นาย Fretté จึงยื่นอุทธรณ์ต่อสภาแห่งรัฐ
       ตุลาการผู้แถลงคดี (Commissaire du Gouvernement) ในคดีนี้เห็นว่า ขณะนี้มีประเด็นต้องพิจารณาคือความเป็นมนุษย์และความชาญฉลาดทางด้านสติปัญญาของนาย Fretté นั้นไม่เพียงพอกับการที่จะรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่ ทั้งนี้ จากข้อเท็จจริงจะเห็นได้ว่านาย Fretté ไม่ได้มีข้อด้อยในเรื่องใดๆอันจะถูกหยิบยกมาปฎิเสธสิทธิในการร้องขอเลี้ยงดูบุตรบุญธรรมแต่ประการใด เว้นแต่เพียงกรณีที่เป็นผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศเท่านั้น ดังนั้น หากนาย Fretté พิสูจน์ได้ว่าการที่ตนมีรสนิยมรักร่วมเพศ ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเลี้ยงดูเด็กตามธรรมชาติแล้ว คำขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมก็จะไม่ได้รับการโต้แย้ง
       ทั้งนี้ ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า การที่ Département de Paris ปฎิเสธคำขอของนาย Fretté นั้น เป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล 3 ประการ คือ
       1.นับจากการปฎิรูปกฎหมายการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมโดย loi du 11 juillet 1966 จะเห็นได้ว่าฝ่ายนิติบัญญัติยอมรับการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในกรณีผู้ยื่นคำขอเป็นชายโสดหรือหญิงโสดดังนั้น จากประเด็นนี้จะเห็นได้ว่า การที่ปฎิเสธชายรักร่วมเพศ ซึ่งมีสถานะทางกายภาพคือ”ชายโสด” จึงจะต้องอาศัยเหตุผลเดียวกับการปฎิเสธผู้ยื่นคำร้องที่มีสถานภาพเป็นโสดเป็นคำคัญ การอ้างเหตุการในการเป็นผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศ จึงถือเป็นเรื่องไม่ชอบด้วยกฎหมายและถือเป็นการเลือกปฎิบัติ และถือว่าเป็นการไม่เคารพสิทธิในการเลือกใช้ชีวิต หรือ choix de vie ของผู้ร้อง
       
       2.สิทธิในการมีรสนิยมทางเพศ หรือ la vie sexuelle เป็นสิ่งที่ไม่ควรได้รับการปฎิเสธ เพราะสิทธิดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในสิทธิในการดำรงชีวิตที่ได้รับการรับรองโดยมาตรา 8 แห่งปฎิญญาสากลสิทธิมนุษยชนยุโรป และ มาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งฝรั่งเศส และยิ่งไปกว่านั้น กฎหมายภายในประเทศเองก็กำหนดไว้ชัดเจนว่า การเป็นบุคคลรักร่วมเพศถือเป็นเรื่องที่ไม่ควรได้รับการเลือกปฎิบัติ
       
       3.เมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมในประเด็นสิทธิในการดูแลบุตรของคู่สมรสที่มีการหย่าร้างจากประเด็นที่ฝ่ายใดมีรสนิยมรักร่วมเพศแล้ว จะเห็นว่าศาลยุติธรรมเองก็ยังไม่ได้ห้ามที่บิดาหรือมารดาที่มีรสนิยมรักร่วมเพศในการเข้าพบปะเยี่ยมเยียนหรือดูแลบุตรได้ ทั้งที่พิจารณาแล้วว่าการพบปะเยี่ยมเยียนดังกล่าวอาจจะทำให้เด็กเกิดความสับสนจากสภาพแวดล้อมในบ้านของมารดา หรือ เป็นอันตรายทางกายภาพในบ้านของบิดาซึ่งปัจจุบันใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับชายอีกคน(4) ยิ่งไปกว่านั้น บิดาที่มีความสัมพันธ์รักร่วมเพศแบบไม่ถูกต้องตามศีลธรรมและไม่ถูกต้องตามหลักการของความเป็นพ่อแม่ (relations homosexuelles immorales et incompatibles avec l’exercice de l’autorité parental) กลับไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการในการพบปะเยี่ยมเยียนเด็ก(5) ในประเด็นเดียวกัน ศาลก็ได้ตัดสินว่าบิดาที่มีความฝักใฝ่ในด้านรักร่วมเพศ (moeur homosexuelle) นั้นเป็นอันตรายต่อสภาพจิตใจของเด็กในการใช้เวลาพักผ่อนตากอากาศด้วยกัน และถือเป็นเหตุร้ายแรงในการที่จะต้องปฎิเสธคำขอดังกล่าว(6) จึงจะเห็นได้ว่าผู้พิพากษาศาลยุติธรรมไม่ได้ปฎิเสธสิทธิของบิดามารดาที่มีรสนิยมรักร่วมเพศในการร้องขอสิทธิในการดูและหรือพบปะเยี่ยมเยียนบุตร กล่าวคือ ศาลไมได้เห็นว่าการที่บิดาหรือมารดาที่มีรสนิยมรักร่วมเพศเป็นประเด็นที่แสดงว่าบิดาหรือมารดาดังกล่าวไม่มีความสามารถในการดูแลบุตร แต่ศาลจะหยิบยกรสนิยมรักร่วมเพศดังกล่าวขึ้นมาถกเถียงในประเด็นประโยชน์ได้เสียของตัวเด็กเองและความเสี่ยงที่อาจจะส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมและสภาพจิตใจที่ไม่พึงประสงค์เท่านั้น
       แต่อย่างไรก็ดี จากข้อเท็จจริงทั้งสามประการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าการที่จังหวัดปารีสปฎิเสธไม่ยอมรับคำขอของนาย Fretté โดยอ้างว่านาย Fretté ไม่มีหลักประกันที่แน่นอนชัดเจนในการอบรมเลี้ยงดูเด็กนั้นไม่ถือเป็นการที่ฝ่ายปกครองสำคัญผิดในข้อเท็จจริงที่ฝ่ายปกครองนำมาเป็นเหตุในการออกคำสั่งทางปกครอง (erreur manifeste d’appréciation)(7) โดยมีเหตุผลประกอบดังนี้
       1.สิทธิในการเลือกใช้ชีวิตและการเลือกรสนิยมทางเพศจะต้องไม่ขัดการใช้สิทธิของเด็ก (droit de l’enfant)
       2.จากตัวอย่างข้อสังเกตของตุลาการผู้แถลงคดีตามข้อ 2 ที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องการร้องขอสิทธิในการดูแลหรือพบปะเยี่ยมเยียนบุตรของบิดาหรือมารดาที่มีรสนิยมรักร่วมเพศที่มีความเป็นบิดาหรือมารดาตามกฎหมายครอบครัวแต่แรก(แต่มีการหย่าร้างกันในภายหลัง) ซึ่งการหย่าร้างดังกล่าว ไม่ว่าจะมาจากเหตุที่บิดาหรือมารดาเป็นผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศหรือไม่ แต่การหย่าร้างในทุกกรณีย่อมไม่ควรถือเป็นเหตุที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตรจะต้องขาดไป ดังนั้น ศาลจึงพยายามคุ้มครองความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตรภายหลังการหย่าร้างเอาไว้ให้มากที่สุด
       3. ในประเด็นที่ว่า เด็กอาจจะมีความเสี่ยงในการที่จะมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนแปลงไปอันสืบเนื่องมาจากการมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ที่ไม่สามารถสร้างรูปแบบการอยู่ร่วมกันแบบชายหญิง รวมไปถึงความยากลำบากในการแยกแยะระหว่างการสับสนทางจิต(psychiatre) และ การวิเคราะห์ทางจิต (psyanalyse) ยิ่งไปกว่านั้นบุตรบุญธรรมดังกล่าวจึงควรได้รับการเลี้ยงดูในครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่มั่นคงและยั่งยืน แตกต่างจากครอบครัวเดิมที่ตนจากมาซึ่งทำให้เกิดความเจ็บปวดทรมานทางจิตใจ ดังนั้น การอุปการะบุตรบุญธรรมจึงไม่ควรให้เด็กได้รับเงื่อนไขใดๆที่จะทำให้เด็กมีความอึดอัดหรือลำบากใจในการเข้ามาอยู่ในครอบครัวอุปการะ
       จึงจะเห็นได้ว่า ในกรณีนี้เป็นการยากที่จะพิจารณาว่าสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของบุคคลผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศเป็นสิ่งที่ควรยอมรับหรือไม่ ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงสิทธิของเด็กเอง (droit à l’enfant) ควบคู่ไปกับการเสียประโยชน์ที่เด็กอาจจะได้รับในอนาคตในด้านศีลธรรม (éthique) และสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความจำเป็นมากกว่าความถูกต้องตามกฎหมายในการรับรองสิทธิในกรณีดังกล่าวของบุคคลผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศ จึงเป็นหน้าที่ของตุลาการที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาประเด็นนี้อย่างเหมาะสมและถี่ถ้วนควบคู่ไปกับความเห็นชอบของสังคม
       จากประเด็นดังกล่าวจึงสามารถตั้งข้อสังเกตประการที่ 4 ได้ว่า ปัญหาในการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศหรือคู่รักร่วมเพศเป็นปัญหาที่ยังไม่เคยได้รับการแก้ไขใดๆจากฝ่ายนิติบัญญัติ
       5.อย่างไรก็ดีในกรณีนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า ขึ้นตอนในการรับบุตรบุญธรรมในกรณีทั่วไปจะสามารถละเลยหรือลดหย่อนได้ แต่การพิจารณาคดีว่าบุคคลผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศนั้นมีสิทธิในการร้องขอการรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมหรือไม่นั้น เป็นเพียงขั้นตอนแรกในการรับรองสิทธิของผู้ร้องเท่านั้น ผู้ร้องต้องดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆที่กฎหมายกำหนดไว้ในการรับบุตรบุญธรรมอย่างเคร่งครัด
       จากกรณีสังเกตทั้ง 5 ประการสามารถทำให้ผู้ร้องเข้าใจไปได้ว่า สิทธิในการเลือกใช้ชีวิตของผู้ร้องเป็นอุปสรรคเพียงอย่างเดียวในการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาในเรื่องจำนวนเด็กที่จะมาเป็นบุตรบุญธรรมมีจำนวนน้อยกว่าปริมาณคำขอในกรณีนี้ ยิ่งไปกว่านั้น การรับบุตรบุญธรรมในกรณีปกติ (หมายถึงกรณีคู่สมรสมชายหญิง) ก็ยังมีขั้นตอนยุ่งยากอยู่แล้ว เนื่องจากคู่สมรสที่มีความประสงค์จะขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมนั้นจะต้องมีการทดสอบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะทางด้านจิตวิทยา รวมทั้งผ่านการตรวจสอบรายละเอียดในด้านอาชีพ ความสัมพันธ์ในครอบครัวและความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด ฯลฯ อย่างละเอียดและรวมแล้วเป็นระยะเวลาที่กินเวลานาน
       ต่อมาสภาแห่งรัฐได้มีคำวินิจฉัยลงวันที่ 9 ตุลาคม 1996 ยกเลิกคำตัดสินของศาลปกครองแห่งปารีสและยกเลิกคำขอของผู้ร้อง โดยให้เหตุผลว่า นาย Fretté ไม่ได้พิสูจน์ให้เห็นอย่างเพียงพอว่าการเลือกใช้ชีวิตแบบรักร่วมเพศของเขาจะไม่มีผลกับสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู และสภาพจิตใจของเด็กในอนาคต ดังนั้น การปฎิเสธคำร้องดังกล่างของศาลปกครองแห่งปารีสโดยอ้างเหตุการขาดไปซึ่งความเป็นมารดาและมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตของเด็กในอนาคตถือเป็นการอ้างเหตุผลที่ไม่ชอบ สภาแห่งรัฐจึงมีคำวินิจฉัยยกเลิกคำตัดสินของศาลปกครองแห่งปารีสและยกเลิกคำอุทธรณ์ของผู้ร้องในกรณีนี้
       
       ส่วนที่สอง : สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักร่วมเพศในมุมมองของกฎหมายสิทธิมนุษยชนยุโรปและในประเทศอื่นๆ
       
ในส่วนนี้จะกล่าวถึง (1) คำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยนชนยุโรปในคดี Fretté และในคดีล่าสุด (2) สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศในประเทศต่างๆ และ ข้อสังเกตโดยผู้ขียน
       (1)คำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยนชนยุโรปในคดี Fretté และในคดีล่าสุด
       ผู้ร้องที่ไม่พอใจจากการตัดสินของศาลภายในประเทศของตนสามารถยื่นคำร้องในกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเด็นต่างๆต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปได้ สำหรับการยื่นฟ้องคดีในประเด็นดังกล่าว ผู้ร้องมักจะอ้างว่าตนถูกละเมิดสิทธิตามมาตรา 8 แห่งปฎิญญาฯ ที่บัญญัติคุ้มครองสิทธิส่วนตัว(สิทธิในการใช้ชีวิต)และสิทธิในครอบครัว จึงทำให้ตนควรได้รับความคุ้มครองสิทธิดังกล่าวตามมาตรา 14 ที่บัญญัติว่าการใช้บุลคลทุกคนสามารถใช้สิทธิต่างๆที่ปฎิญญาฯ คุ้มครองได้เท่าเทีมมกัน ดังที่ปรากฎในคดี Salguerio (Salgueiro da Silva Mouta c/ Portugal(8) ) ผู้ร้องอ้างว่าตนได้รับการปฎิบัติที่ไม่เป็นธรรมโดยมีเหตุมีจากรสนิยมทางเพศ ซึ่งขัดกับมาตรา 8(9) โดยผู้ร้องอ้างการคุ้มครองสิทธิตามมาตรา 14(10) จึงจะเห็นได้ว่าศาลเองก็จะพิจารณามาตรา 14 ขึ้นมาเป็นการเสริมสิทธิตามมาตรา 8 ของผู้ร้องในประเด็นนี้เสมอ หรือจะเป็นกรณีคดี Petrovic c/ Autriche(11) ศาลเองก็ได้วางหลักไว้ในประเด็นเดียวกัน
       ในกรณีนาย Fretté นี้ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปให้เหตุผลว่า สิทธิในการเคารพชีวิตส่วนตัวและสิทธิในการใช้ชีวิตครอบครัวนั้น มิได้หมายความถึงกรณีที่บุคคลที่มีสถานะภาพโสดจะมีสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมเสมอไป ประเด็นในกรณีนี้คือการที่ผู้ร้องจะไม่ถูกปฎิเสธสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวโดยเหตุที่ตนมีรสนิยมรักร่วมเพศ แต่หากศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า การที่ผู้ร้องจะได้รับสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดผลเสียแก่บุตรบุญธรรมในอนาคตไม่ว่าในกรณีใดๆ ศาลก็มีสิทธิจะปฎิเสธคำร้องของผู้ร้องในกรณีดังกล่าวได้ ดังนั้น เหตุที่นาย Fretté จะถูกปฎิเสธสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าว จึงควรมาจากเหตุผลเดียวกับที่บุคคลที่มีสถานะภาพโสดได้รับปฎิเสธคำร้องในการขอรับบุตรบุญธรรม โดยอ้างถึงคุณภาพชีวิตและการอบรมสั่งสอนที่เด็กควรจะได้รับในอนาคต ทั้งนี้โดยวิเคราะห์จากสิทธิของเด็กเป็นสำคัญ
       นอกจากนั้น ศาลสิทธิมนุษชนยุโรปยังได้วางหลักไว้ในกรณีนี้อีกว่า สิทธิในการเคารพชีวิตส่วนตัวและสิทธิในการใช้ชีวิตครอบครัว นั้น เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นเมื่อความเป็นครอบครัวได้เกิดขึ้นแล้ว แต่มิได้หมายความรวมถึงสิทธิในการที่จะพยามยามสร้างครอบครัว (ที่จะทำให้ได้รับสิทธิดังกล่าวมาภายหลัง)(12)
       ศาลสิทธิมนุยชนยุโรปจึงมีความเห็นว่าคำตัดสินจากศาลภายในของประเทศฝรั่งเศสไม่ได้ทำการละเมิดสิทธิของผู้ร้องแต่อย่างใด
       แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเดือนมกราคมปี 2008 นี้ ศาลสิทธิมนุษชนยุโรปเองก็ได้มีคำวินิจฉัยว่าประเทศฝรั่งเศสมีคำตัดสินที่ละเมิดสิทธิมนุยชนของผู้ร้องขอรับบุตรบุญธรรมที่มีรสนิยมรักร่วมเพศ ในคดี E.B. (ซึ่งเป็นนามแฝงของผู้ร้องในคดีนี้ เนื่องจากผู้ร้องมีความประสงค์จะปิดบังชื่อตน) เป็นกรณีคล้ายกับนาย Fretté กล่าวคือเป็นกรณีที่ผู้ยื่นคำร้องขอรับบุตรบุญธรรมเป็นผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศ แต่ผู้ร้องในคดีนี้เป็นเพศหญิงอายุ 45 ปี ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งในเขต Jura ของฝรั่งเศส ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับจิตแพทย์หญิงอีกคนหนึ่งตั้งแต่ปี 1990 โดยคดี E.B. ได้รับเหตุผลในการปฎิเสธคำขอจากศาลภายในของฝรั่งเศสโดยอ้างเหตุผลการขาดไปซึ่งความเป็นบิดาและขาดไปซึ่งความดูแลเอาใจใส่ที่เพียงพอของคู่ชีวิตของผู้ร้อง ซึ่งในกรณีนี้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป (ในการลงคะแนน 10 :7 เสียง) เห็นว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้เป็นอุปสรรคในการรับบุตรบุญธรรมแม้ผู้ร้องจะเป็นผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศก็ตาม ในคดีนี้ผู้ร้องได้ยื่นคำขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (La Fédération nationale des ligues des Droits de l’Homme) องค์การพิทักษ์สิทธิของเกย์และเลสเบียนแห่งยุโรป (the European Region of International Lesbien and Gay Association) สมาคมผู้ปกครองและผู้ปกครองในอนาคตเกย์และเลสเบี้ยน (l’Association des Parents et futurs parents Gays et Lesbiens)และ องค์การรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมของประเทศอังกฤษ (British Agencies for Adoption and Forestering) เข้ามาเป็นคู่กรณีฝ่ายที่สามด้วย
       (2) สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศในประเทศต่างๆ และ ข้อสังเกตโดยผู้ขียน
       
สิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของผู้มีรสนิมรักร่วมเพศในยุโรปนั้น มีเพียงเก้าประเทศที่ยอมรับสิทธิดังกล่าว ได้แก่ เยอรมนี เบลเยี่ยม เดนมาร์ก เสปน ไอร์แลนด์ นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร และสวีเดน
       ประเทศสหรัฐอเมริกาได้วางหลักในคดีนี้คล้ายๆกับฝรั่งเศส กล่าวคือในคดี Palmore c. Sidoti วางหลักถึงการพิจารณาคดีดังกล่าวโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมในอนาคตเป็นสำคัญ โดยสิทธิของการขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมในกรณีใดๆไม่ควรที่จะถูกจำกัดเนื่องจากเสรีภาพความเป็นมนุษย์และการอบรมเลี้ยงดู แต่ในทางด้านนิติบัญญัติได้มีกฎหมายของมลรัฐออกมาเพียงมลรัฐเดียวคือ มลรัฐฟลอริดา ที่มีบทบัญญัติห้ามผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศในการยื่นคำขอรับบัตรบุญธรรม
       ประเทศแคนาดาได้ยอมรับสิทธิการรับของผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศในกรณีนี้ โดยอ้างจากพื้นฐานการยอมรับสิทธิของคนโสดในการรับบัตรบุญธรรม
       สำหรับประเทศฝรั่งเศสเองผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าบทบัญญัติในการรับบุตรบุญธรรมในกรณีบุคคลผู้มีสถานะภาพโสด นั้น เป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีขึ้นภายหลังการสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่สอง (จาก loi du 11 juillet 1966) ดังนั้น เจตนารมย์ของกฎหมายในขณะนั้นคือการพยายามแก้ปัญหาสังคมในการรับเลี้ยงดูเด็กกำพร้าจากสงคราม กฎหมายจึงเอื้ออำนวยความสะดวกโดยลดหย่อนความเข้มงวดในกรณีดังกล่าว ซึ่งเป็นคนละกรณีกับเหตุการณ์ในปัจจุบันซึ่งมีจำนวนเด็กกำพร้าภายในประเทศลดลงไปเป็นอันมาก แต่คำขอรับบุตรบุญธรรมกลับยังมีจำนวนมาก และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเองก็ได้กำหนดขั้นตอนที่ยุ่งยากมากขึ้นในการขอรับบุตรบุญธรรม ดังนั้นการที่บุคคลที่มีสถานภาพโสด(โดยมิได้พิจารณาว่าเป็นผู้มีรสนิยมรักร่วมเพศหรือไม่)มายื่นคำร้องในการขอรับบุตรบุญธรรมในกรณีดังกล่าว ย่อมจะได้รับการพิจาณาที่ด้อยกว่าผู้ยื่นคำร้องที่เป็นคู่สามีภรรยา โดยมิพักต้องคำนึงถึงรสนิยมทางเพศของผู้ยื่นคำร้องแค่ประการใด แต่อย่างไรก็ดี ในคดี E.B. ที่ศาลสิทธิมนุยชนยุโรปได้วินิจฉัยว่าประเทศฝรั่งเศสทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกรณีดังกล่าวนั้น ก็น่าจะเป็นที่จับตามองกฎหมายภายในประเทศในกรณีนี้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรในอนาคต
       
       เชิงอรรถ
       1.ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของความสัมพันธ์ทางครอบครัวประเภทนี้และประเภทอื่นๆ ใน ปาลีรัฐ ศรีวรรณพฤกษ์, การอยู่ร่วมกันของบุคคลในความสัมพันธ์ในด้านครอบครัวตามกฎหมายฝรั่งเศส, ลงเผยแพร่ใน นานาสาระจากนักเรียนไทยในต่างแดน www.pub-law.net วันที่ 18 ตุลาคม 2547
       2. Recours gracieux การร้องเรียนภายในฝ่ายปกครองด้วยวิธีการขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ออกคำสั่งนั้นแก้ไขหรือเพิกถอนคำสั่งใหม่ด้วยตนเอง, คำแปลโดย นันทวัฒน์ บรมานันท์, คำอธิบายศัพท์กฎหมายมหาชน ฝรั่งเศส-ไทย, สำนักพิพม์วิญญูชน, 2548
       3. ne semblaient pas de nature à presenter les guaranties suffisantes quand aux conditions d’accueil d’un enfant sur le plan familial, éducatif et pchychologique
       4. CA Pau, 25 avril 1991, n°91-40734
       5. CA Rennes, 27 sept. 1989, n° 89-48660
       6. Cass. Civ I, 13 janvier 1988, n°86-17784
       7. คำแปลโดย นันทวัฒน์ บรมานันท์
       8. N°33290/96, CEDH 1999-IX
       9. มาตรา 8 Toute personne a droit au respect de sa vie privée et familiale . (…) บุคคลทุกคนมีสิทธิในการยอมรับสิทธิส่วนตัวและสิทธิในครอบครัว
       10. มาตรา 14 La jouissance des droits et libertés reconnus dans la (…) Convention doit être assurée, sans distinction, fondée notamment sur le sexe (…) การใช้สิทธิที่ปฎิญญารับรองนี้ เป็นกรณีการใช้ได้กับทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเพศ...
       11. CEDH 27 mars 1998
       12. Marckx c/ Belgique 13 juin 1979 และ Abdulaziz, Cabales et Balkandali c/ Royaum-Uni 28 mai 1985


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1305
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 13:18 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)