|
|
ข้อสงสัยในวิธีพิจารณาคดีแบบไต่สวนกรณีคดีที่ดินรัชดาฯ โดย คุณชำนาญ จันทร์เรือง 27 ตุลาคม 2551 03:59 น.
|
ผมไม่ติดใจต่อผลของคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาฯที่พิพากษาจำคุกคุณทักษิณด้วยมติ 5 ต่อ 4 เห็นว่าคุณทักษิณเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำผิดตาม พรบ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ มาตรา 100 (1) วรรคสาม และต้องรับโทษตามมาตรา 122 เป็นกำหนดระยะเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา เพราะคำพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มาตรา 278 วรรคแรกแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้ให้ถือเสียงข้างมาก โดยผู้พิพากษาซึ่งเป็นองค์คณะทุกคนต้องทำความเห็นในการวินิจฉัยคดีเป็นหนังสือพร้อมทั้งแถลงด้วยวาจาต่อที่ประชุมก่อนการลงมติ
แต่ผมติดใจในวิธีพิจรณาคดีแบบไต่สวนของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ปรากฏในคำพิพากษาที่ว่า ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าการลงชื่อยินยอมเป็นการทำตามระเบียบราชการ แต่จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการซื้อขาย องค์คณะจึงมีมติ 5 ต่อ 4 .... ซึ่งหากเป็นถ้อยคำในระบบกล่าวหาผมจะไม่ติดใจหรือสงสัยแต่ประการใดในถ้อยคำที่ว่าจำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็นต่อการซื้อขาย แต่เมื่อเป็นการดำเนินวิธีพิจารณาแบบไต่สวนผมจึงเกิดความสงสัยเป็นอันมาก
ระบบวิธีพิจารณาคดีในศาลที่ใช้กันนั้น มีระบบวิธีพิจารณาคดีอยู่ ๒ ระบบ เรียกว่า ระบบกล่าวหา(Accusatiorial System) กับระบบไต่สวน(Inquisitorial System)ซึ่งศาสตราจารย์ ดร.หยุด แสงอุทัย ได้อธิบายไว้ในหนังสือบทบัณฑิต เล่มที่ ๑๒ พอที่จะสรุปได้ว่า
ระบบกล่าวหานั้น มีที่มาจากประเทศอังกฤษและกลุ่มประเทศที่ใช้กฎหมาย
ระบบคอมมอนลอว์ (Common Law) เช่นสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ แคนาดา รวมทั้งกลุ่มประเทศอาณานิคมของอังกฤษ หลักการของระบบกล่าวหา มีวิวัฒนาการจากการแก้แค้นกันระหว่างผู้กระทำผิดกับผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วยตนเอง แล้วรวบรวมพยานหลักฐานมานำสืบความผิดของจำเลยในศาล ส่วนศาลหรือผู้พิพากษาจะวางตัวเป็นกลางโดยเคร่งครัด เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะมีแนวความคิดมาจากการพิจารณาคดีในสมัยโบราณ ซึ่งใช้วิธีทรมาน (trial by ordeal) และทำให้ทั้งสองฝ่ายต่อสู้คดีกันเอง (trial by battle) ส่วนศาลจะทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือกรรมการ ต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็นการเอาพยานมาพิสูจน์ความผิดของจำเลย โดยฝ่ายโจทก์จะเอาพยานที่เป็นพรรคพวกของตนมาเบิกความกล่าวหาจำเลย ส่วนจำเลยก็เอาพวกของตนมาเบิกความรับรองความบริสุทธิ์ของตนให้ศาลฟังแล้วตัดสินคดีไปตามน้ำหนักพยานของแต่ละฝ่าย จากการที่ใช้วิธีการต่อสู้คดีกันนั้นเอง ระบบกล่าวหาจึงให้ความสำคัญอย่างสูงต่อหลักเกณฑ์ต่อไปนี้คือ
๑. หลักการสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ให้ศาลเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดจริง
๒.. ถือหลักสำคัญว่าโจทก์และจำเลยมีฐานะในศาลเท่าเทียมกัน
๓. ศาลจะวางตนเป็นกลางโดยเคร่งครัด ทำหน้าที่เหมือนกรรมการตัดสินกีฬาคอยควบคุมให้ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติตามกฎหมายลักษณะพยานโดยเคร่งครัดการปฏิบัติผิดหลักเกณฑ์อาจถูกศาลพิพากษายกฟ้องได้
๔. ศาลจะมีบทบาทค้นหาความจริงน้อยมาก เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของคู่กรณีหรือ คู่ความจะต้องแสวงหาพยานมาแสดงต่อศาลด้วยตนเอง
ส่วนระบบไต่สวนนั้นในทางทฤษฎียอมรับกันว่าระบบไต่สวนมีที่มาจากศาลทางศาสนาของคริสต์ศาสนา นิกายคาทอลิคในสมัยกลาง ซึ่งทางศาสนจักรโดยเฉพาะอย่างยิ่งสันตปาปาแห่งกรุงโรม มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักรคือ กษัตริย์หรือเจ้าผู้ครองนครต่าง ๆ ในสมัยกลาง ศาลศาสนาของยุโรปมีวิธีการพิจารณาคดีผู้กระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายของทางศาสนาด้วยวิธีการซักฟอกพยาน
ในรูปของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับคดีโดยตรง คือ พระผู้ทำการไต่สวนกับผู้กระทำผิดที่เป็นผู้ถูกไต่สวน โดยไม่ต้องมีผู้พิพากษาเป็นคนกลาง ดังนั้น ในศาลศาสนา ผู้ไต่สวนจึงต้องทำหน้าที่แสวงหาพยานหลักฐาน ซักถามพยานและชำระความโดยไต่สวนคดีด้วยตนเองตลอด และด้วยที่ศาสนจักร์มีอิทธิพลเหนือฝ่ายอาณาจักร ระบบศาลของฝ่ายอาณาจักร์จึงได้รับอิทธิพลและได้วิวัฒนาการมาเป็นระบบไต่สวนในปัจจุบัน
ตามระบบไต่สวน ศาลไม่ได้ทำหน้าที่วางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัดเหมือนระบบกล่าวหาแต่จะทำหน้าที่ค้นหาความจริงด้วยตนเอง ศาลจะมีบทบาทในการดำเนินคดีอย่างสูง ผิดกับในระบบกล่าวที่ศาลมีบทบาทน้อยมากเพราะต้องวางตัวเป็นกลาง โดยที่ระบบไต่สวนเน้นในเรื่องการค้นหาความจริงเป็นหลัก ดังนั้น กฎเกณฑ์ในการดำเนินคดี เช่น การสืบพยาน การดำเนินการต่างๆ ในศาลจึงยืดหยุ่นกว่าระบบกล่าวหา
จากที่มาของระบบกล่าวหากับระบบไต่สวนที่ ศ.ดร.หยุด แสงอุทัย ได้กล่าวไว้ ข้างต้นจะทำให้เราเห็นหลักการสำคัญที่ว่าเมื่อใดที่คู่ความหรือคู่กรณีมีสถานะเท่าเทียมกันแล้วการใช้ระบบกล่าวหาจะเกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่ายเพราะเป็นเรื่องที่ต่างฝ่ายต่างต้องปกป้องรักษาสิทธิของตนเอง แต่ถ้าเมื่อใดที่คู่กรณีหรือคู่ความมีสถานะไม่เท่าเทียมกันแล้ว การใช้ระบบไต่สวนย่อมจะเหมาะสมและเป็นธรรมแก่คู่กรณีฝ่ายหนึ่งอยู่ในสถานะเสียเปรียบ เช่นกรณีพิพาทระหว่างราษฎรหรือเอกชนกับรัฐ เป็นต้น เพราะพยานหลักฐานต่างๆมักจะอยู่ในการครอบครองของฝ่ายรัฐเสียเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นการยากที่ฝ่ายราษฎรจะนำสืบหรืออ้างพยานหลักฐานตามระบบกล่าวหาที่มีหลักว่า ผู้ใดกล่าวอ้าง ผู้นั้นนำสืบ โอกาสที่จะชนะคดีสำหรับราษฎรหรือเอกชนจึงเป็นไปได้ยาก
สำหรับประเทศไทยเรานั้นได้มีการใช้ระบบกล่าวหาสำหรับคดีแพ่งและคดีอาญา(เว้นในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง) และใช้ระบบ ไต่สวนในคดีที่ใช้อำนาจตามกฎหมายมหาชนในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้งและศาลฎีกาแผนกคดีอาญาสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ฉะนั้น การที่ศาลวิจฉัยว่าจำเลยไม่มีหลักฐานมาแสดงให้เห็นได้ว่าไม่มีส่วน รู้เห็นต่อการซื้อขายนั้นจึงไม่น่าจะถูกต้องด้วยหลักวิธีพิจารณาคดีแบบไต่สวน แต่หากเป็นวิธีพิจารณาแบบกล่าวหาที่จำเลยมีภาระต้องนำพิสูจน์หลักฐานเพื่อหักล้างข้อกล่าวหาก็ไม่ว่ากัน
แต่หากศาลได้อธิบายว่าได้แสวงหาข้อเท็จจริงจนเป็นที่สิ้นสงสัยหรือเป็นที่ยุติแล้วว่าจำเลยมีส่วน รู้เห็นจริง จึงจะเป็นการชอบด้วยระบบวิธีพิจารณาคดีแบบ ไต่สวนที่ศาลไม่จำต้องฟังเฉพาะพยานหลักฐานที่คู่ความหรือคู่กรณียกขึ้นต่อสู้เท่านั้น เพราะศาลในระบบไต่สวนมีอำนาจในการแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจนเป็นที่ยุติหรือสิ้นสงสัยแล้วจึงพิจารณาพิพากษาคดี ดังที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างต้นนั่นเอง
----------------------
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1295
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 18:50 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|