|
 |
การคัดค้านการเลือกตั้ง-สอย 20 ธันวาคม 2547 16:00 น.
|
หลังจากได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ครบถ้วนแล้ว และผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นหรือโดยผู้สมัครคัดค้านการเลือกตั้ง ซึ่งจะต้องคัดค้านภายใน 30 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง หรือโดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้รับข้อมูลมาภายหลังจากประกาศผลให้ผู้ได้รับเลือกตั้งผู้นั้นเป็น ส.ส. หรือ ส.ว.ไปแล้ว กกต.มีอำนาจที่จะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้
ถ้าพบว่ากระบวนการเลือกตั้งนั้นมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 145 (4) และมาตรา 147 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือในกรณีที่มีการคัดค้านการเลือกตั้งก็จะอาศัยอำนาจตามมาตรา 95 (1) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541
การคัดค้านการเลือกตั้ง
การคัดค้านการเลือกตั้งหรือที่เรียกกันว่า "การสอย" ในขณะนี้จะดำเนินการควบคู่กันไปทั้งการคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งสามารถคัดค้านได้ใน 2 ลักษณะ ประการแรก การคัดค้านตัวบุคคล คือ ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. ผู้นั้นกระทำการทุจริตเองหรือเป็นบุคคลอื่นที่กระทำการทุจริต เช่น ซื้อเสียงให้ ส.ส. หรือ ส.ว.ผู้นั้น ประการที่ 2 การคัดค้านกระบวนการเลือกตั้ง คือ คัดค้านว่ามีผู้กระทำการอันมิชอบด้วยกฎหมายในการจัดการเลือกตั้งนั้น ในกรณีที่ กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งใดเขตเลือกตั้งหนึ่ง ส่งผลให้สมาชิกภาพของ ส.ส. หรือ ส.ว. ผู้นั้นสิ้นสุดลงทันทีตามนัยมาตรา 97 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 96 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2541 และต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ภายใน 45 วัน ทั้งนี้ตามมาตรา 119 (2) และมาตรา 134 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
การสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว จะต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง คือ มีการเปิดรับสมัครใหม่เหมือนการเลือกตั้งทั่วไป ในกรณีของการเลือกตั้ง ส.ส. พรรคการเมืองสามารถส่งผู้สมัครได้พรรคละ 1 คนต่อเขตเลือกตั้ง ผู้สมัครคนเดิมอาจได้รับการเสนอมาได้ หากผู้สมัครผู้นั้นไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้งภายหลังการประกาศผลแตกต่างกับการเลือกตั้งใหม่ก่อนประกาศผลตรงที่ว่า ถ้ามีการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครคนใดก่อนการประกาศผลเลือกตั้ง ผู้สมัครของพรรคการเมืองนั้นๆจะขาดหายไป ผู้สมัครที่เหลือของพรรคอื่นจะแข่งขันกันต่อ โดยใช้ฐานของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเดิม แต่การเพิกถอนสิทธิ เลือกตั้งแล้วสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หลังประกาศผลเลือกตั้งนั้น ผู้สมัครอาจเป็นคนเดิมหรือคนใหม่ก็ได้ โดยพรรคการเมืองอาจส่งผู้สมัครคนใหม่ได้ หมายเลขผู้สมัครก็จะต้องดำเนินการจับสลากกันใหม่ต่อไป ฐานของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ถือเอาขณะที่มีการเลือกตั้งใหม่
ผู้สมัครซึ่งอยู่ในระบบบัญชีรายชื่อที่ยังไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ในลำดับถัดๆไป ก็ สามารถมาลงสมัครแบบแบ่งเขตได้ แต่ต้องลาออกจากระบบบัญชีรายชื่อก่อน ส่วนผู้สมัครของพรรคการเมืองที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงตามสัดส่วนตั้งแต่ต้น ก็สามารถมาลงสมัครแบบแบ่งเขตได้เช่นกันไม่ได้ถูกจำกัดสิทธิ ที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าคนที่ลงระบบบัญชีรายชื่อแล้ว จะลงแบบแบ่งเขตเลือกตั้งอีกไม่ได้ ตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ศ.2541 หมายถึงว่า ข้อจำกัดในการเลือกตั้งทั่วไปเท่านั้น แต่การเลือกตั้งใหม่นั้นกฎหมายไม่ได้บัญญัติไว้ จึงไม่อาจออกกฎระเบียบไปจำกัดสิทธิของผู้สมัครแบบบัญชี รายชื่อในการเลือกตั้งใหม่อันเนื่องมาจากการ "สอย"
ข้อพิจารณาการคัดค้านกระบวนการเลือกตั้ง
การคัดค้านกระบวนการเลือกตั้ง ต้องพิจารณาว่ากระบวนการเลือกตั้งนั้นมีผลกระทบต่อการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อหรือไม่ ถ้ากระบวนการเลือกตั้งกระทบตัวบุคคล เราจะต้องพิจารณาว่ากระบวนการนั้นมีผลกระทบอย่างไร ซึ่งเป็นดุลพินิจของ กกต. กกต.จึงต้องใช้ ดุลพินิจในการพิจารณาว่าจะสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่
สำหรับการคัดค้านการเลือกตั้งที่มีผลกระทบต่อคะแนนของพรรคการเมืองในแบบบัญชีรายชื่อเช่น มีการคัดค้านว่าบัตรเลือกตั้งของเขตเลือกตั้งใดไม่ถูกต้อง แต่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้งได้ ส.ส. ครบ 500 คนแล้วหากตรวจสอบว่าบัตรเลือกตั้งนั้นถูกต้องแล้วก็ไม่มีผลกระทบ แต่ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบัตรเลือกตั้งไม่ถูกต้องจริง อาจจะส่งผลกระทบทั้งแบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขตเลือกตั้งก็ได้ ในกรณีแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจะเป็นดุลพินิจของ กกต.ว่าสมควรจะสั่งให้ มีการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ในกรณีแบบบัญชีรายชื่อโดยข้อกฎหมายตีความว่าโดยหลักการแล้วแบบบัญชีรายชื่อเมื่อมีการประกาศได้ ส.ส.ครบ 100 คนแล้วก็จะไม่มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ทั้งนี้อาจมี ข้อยกเว้นที่จำกัดหากผลของการตรวจสอบบัตรเลือกตั้งภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้วกระทบต่อจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคการเมืองก็ต้องใช้วิธีการคิดคำนวณสัดส่วนกันใหม่ ถ้ามี การเลือกตั้งใหม่เพราะเหตุมีบัตรปลอม หรือนับคะแนนใหม่แล้วปรากฏว่ามีความผิดพลาดในเรื่องคะแนน การคำนวณสัดส่วนใหม่มีผลต่อจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ เช่นบางพรรคแทนที่จะได้ ส.ส.20 คน ก็ได้ ส.ส.21 คน หรือบางพรรคแทนที่จะได้ ส.ส.15 คนก็ได้ ส.ส.14 คน ดังนี้ คนที่ 15 ที่เคยประกาศผลรับรองเป็น ส.ส. ไปแล้วจะต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.ทันที เมื่อ กกต.มีคำสั่งประกาศสัดส่วนจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อใหม่ ส่วนพรรคที่ได้รับ ส.ส.เพิ่มขึ้น กกต.จะประกาศผู้สมัครในลำดับถัดไปให้เป็น ส.ส.จากนั้น กกต.จะส่งเรื่องไปยังประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อดำเนินการต่อไป
เรื่องที่คัดค้านการเลือกตั้ง อันเนื่องมาจากคุณสมบัติของ ส.ส. หรือ ส.ว.
มูลกรณีที่สามารถคัดค้านการเลือกตั้งได้ คือ การกระทำทุจริตเลือกตั้ง เช่น การซื้อเสียง และกระบวนการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม ส่วนการคัดค้านคุณสมบัติของผู้สมัครหลังประกาศผลรับรองเป็น ส.ส. และ ส.ว.ไปแล้ว ต้องไปแจ้งข้อเท็จจริงที่สภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสภาแล้วแต่กรณี เพื่อให้บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายทราบถึงมูลเหตุของสมาชิกภาพของ ส.ส. หรือ ส.ว.ผู้ใดสิ้นสุดลง และเมื่อ ส.ส. หรือ ส.ว. รับทราบแล้ว เห็นว่ากรณีมีมูล ส.ส. หรือ ส.ว. 1 ใน 10 ของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา มีสิทธิเข้าชื่อเสนอประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อนำเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่ก็มีการตีความอย่างกว้างว่า หาก กกต. ถือว่าการขาดคุณสมบัติเป็นเรื่องทุจริตเลือกตั้งโดยเจตนาด้วยการทำหลักฐานเท็จให้คุณสมบัติของตนครบถ้วนก็สามารถสอยแล้วสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้ แต่ถ้าการขาดคุณสมบัตินั้นเกิดขึ้นเพราะความไม่รู้ของผู้สมัครก็ไม่ใช่การทุจริตการเลือกตั้ง กกต.ก็จะดำเนินการในขั้นตอนนี้ไม่ได้
ผลการคัดค้านการเลือกตั้ง
เมื่อมีการคัดค้านการเลือกตั้งแล้ว กกต.อาจสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่อย่างเดียว หรือสั่งเลือกตั้งใหม่และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกคัดค้านด้วย ถ้าสั่งเลือกตั้งใหม่อย่างเดียวโดยไม่
เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกคัดค้านก็ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตรวจสอบของคณะประธานกรรมการกฤษฎีกา แต่ถ้า กกต.มีความเห็นว่าจะเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกคัดค้านด้วย ก็จะต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการตรวจสอบดังกล่าว ตามมาตรา 85/9 แห่งพระราชบัญญัติ
ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุมิสภา พ.ศ.2541 แก้ ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2543 บัญญัติว่า "ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าก่อนการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้ใด กระทำการใดๆโดยไม่สุจริตเพื่อให้ตนเองได้รับเลือกตั้ง หรือได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต โดยผลของการที่บุคคลหรือพรรคการเมืองใดได้กระทำ ทั้งนี้ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้งจะสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของสมาชิกผู้นั้น มีกำหนดเวลาหนึ่งปี
ก็ได้ แต่ต้องสั่งภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้ง แล้วแจ้งให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรและนายกรัฐมนตรีทราบ" บทบัญญัตินี้นำไปใช้บังคับแก่กรณีแก่สมาชิกวุฒิสภาด้วย ตามมาตรา 90 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หลังจากประกาศผลไปแล้ว และในกระบวนการเลือกตั้งยังมีการทุจริตอีก กกต.เห็นว่าคนที่ได้คะแนนอันดับที่ 1 ทุจริตการเลือกตั้งก็ไม่ประกาศผลรับรอง เมื่อไม่ได้ประกาศผลรับรองจะต้องจัดการเลือกตั้งใหม่เพื่อให้ได้ ส.ส. หรือ ส.ว. มาแทนตำแหน่งที่ว่างลง การเลือกตั้งใหม่ครั้งนี้จะเหมือนการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมา คือ ใช้ผู้สมัครคนเดิมและฐานของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเดิม ผู้สมัครคนใดที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็จะต้องออกจากสนามเลือกตั้งซ่อมนี้ไปตลอด ผู้สมัครที่เหลือก็แข่งขันกันไป หากเลือกตั้งใหม่ ทุจริตอีกก็เลือกตั้งเรื่อยไป จนว่าจะได้ คนที่ กกต.รับรองเป็น ส.ส. หรือ ส.ว.
ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2544
|
|
 |
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=129
เวลา 21 เมษายน 2568 21:04 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|