ครั้งที่ 196

28 กันยายน 2551 21:54 น.

       ครั้งที่ 196
       สำหรับวันจันทร์ที่ 29 กันยายน ถึงวันอาทิตย์ที่ 13 ตุลาคม 2551
       
       “ประตูไปสู่การเมืองใหม่ (1)”
       
       เพียงช่วงเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์หลังจากที่นายกรัฐมนตรีคนเก่าพ้นจากตำแหน่ง เราก็มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่และมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งเมื่อพิจารณาดูตัวบุคคลแล้วก็มองไม่เห็นถึงความแตกต่างไปจากรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดที่ผ่านมาเพราะตัวละครเกือบจะทั้งหมดก็ยังคงเป็น “คนหน้าเดิม” ที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานสักเท่าไร คนเหล่านี้ก็ยังคงเวียนว่ายอยู่ใน “คลอง” การเมือง ครับ !
       วันที่ผมได้ทราบข่าวว่าพรรคพลังประชาชนมีมติให้เสนอคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็รู้สึกแปลกใจเอามาก ๆ ว่าเขากำลังคิดอะไรกันอยู่ ในวันนี้คงเป็นที่เข้าใจและเป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่ากระแส “ไม่เอาทักษิณฯ” นั้นรุนแรงมากและคาดว่าน่าจะรุนแรงแบบนี้ไปอีกนาน คงจำกันได้ว่าเมื่อพรรคพลังประชาชนตั้งขึ้นมาเพื่อ “แทนที่” พรรคไทยรักไทยที่ถูก “ศาลรัฐธรรมนูญชุดคณะรัฐประหาร” ยุบไป ก็เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วว่า พรรคพลังประชาชนเป็น “นอมินี” ของพรรคไทยรักไทย คุณสมัครฯ เป็น “นอมินี” ของคุณทักษิณฯ ข้อกล่าวหาดังกล่าวค่อย ๆ พัฒนาขึ้นมาจนกลายเป็น “พลัง” รวบรวมคนกลุ่มหนึ่งให้เข้ามาเป็นศัตรูทางการเมืองกับพรรคพลังประชาชน ซึ่งในปัจจุบันก็มี “แนวร่วม” ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมาย รวมทั้ง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ที่กลายมาเป็น “ผู้นำ” ของการ “ไม่เอาทักษิณฯ และบริวาร” ไปด้วย ดังนั้นเมื่อ “สมัครฯ ไป” แทนที่พรรคพลังประชาชนจะถือโอกาส “ล้างภาพ” ความเป็น “นอมินี” ของคุณทักษิณฯ พรรคพลังประชาชนก็กลับเอา “น้องเขย” ของคุณทักษิณฯ ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี จริงอยู่แม้คุณสมบัติส่วนตัว ความรู้ความสามารถ และประวัติการทำงานในอดีตที่ผ่านมาของ “น้องเขย” จะ “ดูดี” แต่ภาพของการเป็น “น้องเขย” ก็ทำให้ภาพของรัฐบาลดูไม่ดี และกลายมาเป็นจุดให้ทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือฝ่ายที่ “ไม่เอาทักษิณฯ” รวมทั้งนักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งเกิดข้อ “กังขา” ว่าพรรคพลังประชาชนกำลังทำอะไรกันอยู่และนอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจาก “เกณฑ์” ที่นำมาใช้ในการแต่งตั้งรัฐมนตรี “ตามโควตา” โดยยึดสส. ในสังกัดเป็นหลักด้วยแล้ว ก็ต้องนั่งวิตกกันต่อไปว่าเมื่อเราได้รัฐบาลและรัฐมนตรีที่มีคุณภาพ “แค่นี้” แล้วเราจะไปแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างไร วันนี้ปัญหาของประเทศมีมากไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการเมืองภายในประเทศ ปัญหาเศรษฐกิจภายในประเทศและปัญหาเศรษฐกิจโลกที่กำลังจะส่งผลกระทบอย่างแรงต่อประเทศในภูมิภาคนี้ในระยะเวลาอันใกล้ และถ้าหากมอง “ยาว” ไปกว่านั้น ก็คงจะมีคำถามเหมือนกันคือ “ประเทศชาติจะเดินต่อไปได้อย่างไร?” ผมว่าคงเป็น “เวรกรรม” ของประเทศไทยก็ว่าได้ เพราะว่าแม้เราจะ “โชคดี” ที่ได้ “อดีตผู้พิพากษาระดับสูง” มาเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ก็ “โชคร้าย” เพราะอดีตผู้พิพากษาระดับสูงผู้นั้นดันเป็น “น้องเขย” คุณทักษิณฯ ครับ
       อย่างไรก็ตาม หากเราพยายาม “ให้โอกาส” และ “ทำใจ” กันบ้าง ก็คงต้องแนะนำว่า เราคงต้องอยู่อย่างผู้ที่มีความ “เชื่อมั่น” ในระบบ เพราะเมื่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากได้เสนอชื่อบุคคลใดมาเป็นนายกรัฐมนตรี เราก็ต้อง “เคารพ” ความเห็นของบุคคลเหล่านั้นเพราะเป็นสิ่งที่กติกาสูงสุดของประเทศคือรัฐธรรมนูญ (ที่ห้ามแก้ !) กำหนดเอาไว้ ก็ต้องให้โอกาสนายกรัฐมนตรีคนใหม่และคณะรัฐมนตรีหน้าเก่าได้ทำงานกันก่อนสักพักหนึ่ง ที่จะพิสูจน์ฝีมือกันจริง ๆ ก็คือจะแก้ปัญหาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้อย่างไรครับ เพราะในวันนี้ดังที่ผมได้พูดไปแล้วในบทบรรณาธิการครั้งที่ผ่านมาว่า เราได้ใช้กลไกทุกอย่างเท่าที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาการชุมนุมอย่างยืดเยื้อของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมร่วมของฝ่ายนิติบัญญัติ ความพยายามต่าง ๆ ของฝ่ายบริหาร การออกหมายจับของฝ่ายตุลาการ ก็ไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้เลย คงต้องย้ำกันอีกครั้งหนึ่งว่า จะขอรอดูฝีมือนายกรัฐมนตรีคนใหม่ว่าจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไรครับ
       กลับมามองที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกันบ้าง ในวันนี้บทบาทของการเมืองภาคประชาชนดูจะ “เข้มแข็ง” และมี “พลัง” มากอย่างไม่น่าเชื่อ จริง ๆ แล้วการดำเนินการทางการเมืองของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยน่าจะเป็นสิ่งที่ประชาชนควรจะเข้าไปมีส่วนร่วมถ้ามี “เป้าหมาย” ที่ชัดเจน แน่นอน และถาวรมากกว่าการ “ไม่เอาทักษิณฯ” ถ้ายังจำกันได้ การชุมนุมของพันธมิตรมีจุดเริ่มต้นมาจากการไม่เอาทักษิณฯ ไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่เอารัฐบาลพลังประชาชน และในวันนี้ข้อเรียกร้องก็พัฒนาไปอีกจนกระทั่งมีการนำเสนอแนวคิดเรื่อง “การเมืองใหม่” ครับการนำเสนอแนวคิดเรื่อง “การเมืองใหม่” นั้นสอดคล้องกับการมองปัญหาประเทศของนักวิชาการจำนวนมาก เพียงแต่ “การเมืองใหม่” ของพันธมิตรฯ นั้นยังมีภาพที่ไม่ชัดเจนเท่าใดนัก ปัญหาของพันธมิตรฯ ในวันนี้คือการ “ไม่เชื่อมั่นในระบบ” แม้รัฐธรรมนูญจะมีกลไกในการแก้ปัญหาอย่างไรก็ไม่เชื่อมั่น จึงหันไปใช้วิธีที่อยู่นอกเหนือไปจากที่รัฐธรรมนูญกำหนด แถมบางวิธีการที่ใช้ยังเป็นวิธีการที่รัฐธรรมนูญ “ห้าม” เอาไว้เสียอีก วันนี้จึงไม่แปลกใจที่มีผู้ออกมาคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการกระทำของพันธมิตรฯ เพิ่มมากขึ้นทุกวัน นอกจากการไม่เชื่อมั่นในระบบของพันธมิตรแล้ว พรรคการเมืองฝ่ายค้านเองก็ยังมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาดมหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฝ่ายค้านเข้าไปร่วมเป็น “แกนนำ” ของพันธมิตรฯ และก็ถูก “หมายจับ” ข้อหา “กบฏ” รวมไปถึงการร่วมกันบุกรุกเข้ายึดสถานที่ราชการ การกระทำทั้งหลายของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคฝ่ายค้านผู้นั้นผิดกฎหมายสำคัญหลายฉบับซึ่งถ้าจะว่ากันไปแล้ว กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 18 ได้บัญญัติให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องควบคุมไม่ให้สมาชิกพรรคการเมืองกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ระเบียบ ฯลฯ แต่ถ้าหากมีผู้ใดฝ่าฝืน มาตรา 20 (4) แห่งกฎหมายดังกล่าวก็กำหนดให้พรรคการเมืองสามารถมีมติให้ออกจากพรรคการเมืองได้ หากพบว่าสมาชิกพรรคการเมืองผู้ใดกระทำผิดวินัยหรือจรรยาบรรณอย่างร้ายแรงหรือมีเหตุร้ายแรงอื่น นี่ล่ะครับที่ผมมองว่าเป็นเรื่องแปลกประหลาดมหัศจรรย์ที่พรรคการเมืองไม่ดำเนินการอะไรเลยกับสมาชิกพรรคที่เล่นการเมืองนอกสภาแบบผิดรัฐธรรมนูญ ผิดกฎหมาย เหตุผลนี้เองด้วยที่ทำให้มีคนจำนวนไม่น้อยเหมือนกันมองเห็นว่าเป็น “ความร่วมมือ” ระหว่างพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านที่ต้องการ “เปลี่ยน” รัฐบาลครับ! หากผู้คนยังมอง “ความเกี่ยวพัน” ดังกล่าวด้วยความ “หวาดระแวง” ว่าจะ “ถูกใช้” เป็นเครื่องมือเพื่อให้เกิดการ “เปลี่ยนแปลง” ทางการเมือง “นอกสภา” ความเข้มแข็งของการเมืองภาคประชาชนก็จะลดความสำคัญลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งในที่สุด หากไม่มีอะไร “ใหม่” เกิดขึ้นจริง การเมืองภาคประชาชนก็จะค่อย ๆ อ่อนแรงลงจนกระทั่งหายไปจากเวทีการเมืองครับ!
       กลับมามองที่จุดเริ่มต้นของการเมืองภาคประชาชนกันอีกครั้งหนึ่ง แรงขับดันที่ทำให้เกิดการเมืองภาคประชาชนที่เกิดขึ้นในวันนี้มีที่มาจากหลายส่วนด้วยกันซึ่งคงไม่ได้มาจากการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแต่เพียงอย่างเดียว ส่วนหนึ่งที่ต้องยอมรับและลืมไม่ได้เด็ดขาดก็คือ “ความล้มเหลว” ของระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่พาทุกสิ่งที่อย่างมาสู่ “ทางตัน” ในวันนี้ จริงอยู่ที่แม้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี มีกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่ก้าวหน้ากว่าที่ประเทศไทยเคยมีมา แต่เมื่อคนกลุ่มหนึ่งก้าวเข้าสู่อำนาจรัฐและสร้างสะพานทอดไปสู่การเข้าสู่องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ระบบก็เลยเกิดปัญหา การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐจึงไม่สามารถทำต่อไปได้ เมื่อระบบตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐล้มเหลวแต่ผู้ใช้อำนาจรัฐกลับมีพลังมากขึ้น การใช้อำนาจแบบ “อหังการ” จึงกลายมาเป็นแรงขับเคลื่อนให้คนที่ไม่พอใจผู้ใช้อำนาจรัฐเหล่านั้นต้องลุกขึ้นมาต่อสู้และกลายมาเป็น “การเมืองภาคประชาชน” ที่เข้าร่วมกันและในที่สุดก็เกิดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยขึ้น ต่อมาเมื่อเกิดการรัฐประหารและจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ไม่ได้แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างตรงจุด ทำให้นักการเมือง “แบบเดิม” กลับมาใช้อำนาจ “แบบเดิม” เราก็เลยได้ปัญหา “แบบเดิม” ตามมาด้วย ดังนั้นข้อเสนอเรื่อง “การเมืองใหม่” จึงเป็นสิ่งที่ “รับได้” หากการเมืองใหม่จะทำให้ระบบการเมืองเก่าหมดสิ้นไปและสร้างระบบใหม่ที่ดีกว่าระบบเก่ารวมทั้งยังต้องสามารถแก้ปัญหาของประเทศชาติได้
       อะไรคือ “การเมืองใหม่” นั้น ในวันนี้ก็ยังคงไม่มีใครตอบได้ ไม่ว่าข้อเสนอ 70/30 ของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ในวันนี้เปลี่ยนมาเป็น 50/50 แล้ว ในทางวิชาการก็ยังมองไม่เห็นว่าจะแก้ปัญหาของประเทศได้อย่างไร ข้อเสนอดังกล่าวน่าจะเป็นข้อเสนอประเภท “โยนหินถามทาง” ที่คงประเมินกันบ้างแล้วว่าหากประชาชนสนับสนุนมาก โอกาส “รื้อ” ระบบการเมืองแบบเก่าก็คงไม่ยาก ซึ่งหากจะว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว ข้อเสนอเรื่องการเมืองใหม่เป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจ ก็ดูเฉพาะแค่พันธมิตรฯ เสนอ 70/30 ก็ยังมีคนเอาไปพูดกันทั้งเมือง ขยายผลกันไปมากทั้ง ๆ ที่ตัวผู้เสนอเองก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า 70/30 คืออะไร และแน่ใจได้มากน้อยแค่ไหนว่าระบบใหม่จะแก้ปัญหาของประเทศได้ ไม่ใช่เป็นการลองผิดลองถูก !
       
ผมคงไม่สามารถเสนอแนะหรือคัดค้าน “การเมืองใหม่” ได้เพราะยังมองไม่เห็นภาพ แต่อยากจะเสนอไว้ที่นี้อย่างหนึ่งก็คือ การที่การเมืองใหม่จะเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญตามที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคย “ปักธง” เอาไว้แล้วว่า “ห้ามแก้” ก็ต้องมาจากสิ่งนี้ก่อนคือต้องทำการศึกษาวิเคราะห์ระบบการเมืองปัจจุบันที่เป็นระบบ โดยศึกษาปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ 2550 เพื่อหาข้อยุติว่า ปัญหาที่ชัดเจนของระบบการเมืองปัจจุบันคืออะไร จากนั้นก็ต้องมาดูว่าหากมีปัญหา ปัญหาเกิดจากความบกพร่องของระบบหรือกลไกตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือเป็นเพียง “โชคร้าย” ของประเทศที่ได้นักการเมืองบางคน บางกลุ่มเข้ามา เพื่อให้เกิดความสมานฉันท์ การศึกษาที่ว่านี้น่าจะเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะต้องรีบดำเนินการอย่าง “จริงใจ” โดยคงต้องตั้งคณะทำงานที่มีความเป็นกลางจากทุกฝ่ายรวมทั้งจากฝ่ายพันธมิตรฯ ด้วย เข้ามาทำการศึกษา ไม่ควรให้สมาชิกรัฐสภาและบุคคลผู้อยู่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญหรืออยู่ในหน่วยธุรการขององค์กรตามรัฐธรรมนูญเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานเพราะจากประสบการณ์ของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2550 ก็เห็นกันชัด ๆ แล้วว่าในบทเฉพาะกาล ผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่อยู่ในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ “โชคดีมาก ๆ” ที่สามารถอยู่ต่อไปในตำแหน่งเดิมได้อีกนาน เพราะมีการบัญญัติเอาไว้ในบทเฉพาะกาลให้ทำอย่างนั้นได้ ! นอกจากนี้เพื่อให้คณะทำงานประกอบด้วยคนที่ “รู้จริง” การคัดเลือกตัวบุคคลเข้ามาเป็นคณะทำงานควรต้องทำโดยเน้นความรู้และประสบการณ์เป็นหลักเช่น มาจากประชาชนที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการจริง ๆ ในแต่ละด้าน มาจากผู้ที่เคยทำงานการเมืองหรือมีประสบการณ์ด้านการเมืองมาแล้ว เช่น อดีตผู้นำประเทศ เป็นต้น เพื่อให้ได้ผู้ที่มีประสบการณ์ทางด้านการปฏิบัติเข้ามาด้วย คณะทำงานไม่ควรมีจำนวนมาก ควรทำงานอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยคณะทำงานควรศึกษาปัญหาที่เกิดจากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2540 และ 2550 อย่างละเอียด อาจต้องดูรัฐธรรมนูญของต่างประเทศประกอบว่าระบบการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของเขาเป็นอย่างไร การมีส่วนร่วมของประชาชน (Public Participation) ไปถึงไหนแล้ว เพราะการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ดีย่อมไม่ทำให้เกิดอุปสรรคต่อการบริหารงานภาครัฐหรือต่อการปกครองประเทศด้วยครับ เมื่อคณะทำงานศึกษาได้ความว่าอย่างไร ก็จะต้องจัดทำเป็นข้อสรุปที่มีความชัดเจนว่า ปัญหาของประเทศที่เกิดขึ้นมานั้นเนื่องมาจากอะไร มีหนทางใดบ้างที่จะแก้ไข หากจะต้องแก้ไขหรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การเมืองใหม่ที่เรียกร้องกันนั้นจะต้องทำอย่างไร มีกรอบสาระสำคัญอย่างไร ข้อสรุปดังกล่าวรัฐบาลต้องนำไปเผยแพร่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวาง
       ในที่สุด หากจำเป็นต้องแก้หรือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็คงต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีก 1 ชุด เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญ จะเอาแบบ ส.ส.ร. หรือไม่ก็ต้องไปตกลงกันอีกทีครับ
       “ประตูไปสู่การเมืองใหม่” ของผมก็คือต้องทราบ “ปัญหาของการเมืองปัจจุบัน” อย่างชัดเจนก่อน แล้วจึงมีข้อเสนอเพื่อเดินไปสู่การเมืองใหม่ ผมว่าลำพังการพูดว่าไม่เอาการเมืองเก่าแล้วจะเอาการเมืองใหม่ เป็น “ข้อเรียกร้อง” ที่ยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอนะครับ เรากำลังจะรื้อและสร้างระบบสำหรับคน 60 ล้านคน คงต้องทำกันอย่างละเอียด สุขุม รอบคอบ มีเหตุมีผลมากกว่าที่จะมาทำกันในลักษณะที่กำลังเป็นอยู่ทุกวันนี้ครับ
       
       ในสัปดาห์นี้เรามีบทความมานำเสนอ 3 บทความด้วยกัน บทความแรกเป็นของคุณชำนาญ จันทร์เรือง เรื่อง “ยูโธเปีย (Utopia)” บทความที่สองคือบทความของอาจารย์พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง “ผ่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 12-13/2551 (กรณีการจัดรายการโทรทัศน์ของนายสมัคร สุนทรเวช)” และบทความสุดท้ายเป็นของคุณศิระณัฐ วิทยาธรรมธัช เรื่อง “เสรีภาพในการประกอบอาชีพ : ศึกษาจากกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานบริการ” ผมต้องขอขอบคุณเจ้าของบทความทั้งสามไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ
       
       พบกันใหม่วันจันทร์ที่ 10 ตุลาคม 2551 ครับ
       
       ศาสตราจารย์ ดร. นันทวัฒน์ บรมานันท์


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1283
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 12:54 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)