กว่าจะเป็นใบแดง

20 ธันวาคม 2547 16:01 น.

                   
       หลังจากมีการประชุมร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 โดยประเด็นที่มีการถกเถียงกันค่อนข้างมากคือ การให้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครว่าเป็นสิ่งที่ชอบหรือไม่
       
       
       เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญได้ตีความว่า กกต.ไม่มีอำนาจออกระเบียบมิให้ผู้สมัคร ส.ว.ที่ได้คะแนนในเกณฑ์ที่จะได้รับการประกาศเป็น ส.ว. แต่ กกต.ไม่ประกาศรับรองถึง 2 ครั้งเป็นผู้สมัคร ส.ว. ในการเลือกตั้งใหม่ การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวดูจะขัดกับเหตุผลในทางนิติศาสตร์ เพราะหากผู้สมัคร ส.ว.ที่ ปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ สุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่ง กกต. ไม่รับรองผลการเลือกตั้งถึง 2 ครั้งแล้วยังสามารถมาลงสมัครรับเลือกตั้งใหม่ได้ก็เท่ากับว่าไม่มีบทบัญญัติใดบังคับแก่ผู้สมัครดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องแก้ไขกฎหมายกันใหม่แต่ไม่ได้หมายความว่าแก้กฎหมายใหม่เพื่อให้ผู้ สมัครที่กระทำการทุจริตได้ลงสมัครใหม่ ข้อสรุปในเรื่องนี้ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุมิสภา พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2543 มาตรา 85/1 บัญญัติว่า ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งสืบสวนสอบสวนแล้วเห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใด กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ หรือมีพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครผู้ใดก่อให้ผู้อื่นกระทำ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าวหรือรู้ว่ามีการกระทำดังกล่าวแล้วไม่ ดำเนินการเพื่อระงับการกระทำนั้น ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง เห็นว่าการกระทำนั้นน่าจะมีผลให้การเลือกตั้ง มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครที่กระทำการเช่นนั้นทุกรายเป็นเวลาหนึ่งปี โดยให้มีผลนับแต่วันที่คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่ง
       ใบแดง
                   
       มาตรการการสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือที่เรียกกันว่า "ใบแดง" มี ผลบังคับใช้นับตั้งแต่มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเท่ากับว่า กกต.สามารถให้ใบแดงแก่ ผู้สมัครที่กระทำการทุจริตเลือกตั้งในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ด้วย โดยจากเดิมคนที่ได้รับคะแนนสูงสุดในการเลือกตั้งแต่มีหลักฐานที่เชื่อได้ว่ากระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งและ กกต. ไม่มีมติเอกฉันท์ที่จะประกาศให้ผู้สมัครผู้นั้นเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. และผู้สมัครผู้นั้นเป็นผู้กระทำความผิดกฎหมายเลือกตั้งโดยตัวเองหรือเป็นผู้ใช้เป็นผู้สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลอื่นกระทำการดังกล่าว กกต.ก็จะดำเนินการส่งดำเนินคดีอาญาตามมาตรา 85/1 วรรคสี่ บัญญัติว่า " เมื่อมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งผู้สมัครคนใดแล้วให้พิจารณาดำเนินการให้มีการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้สมัครผู้นั้นด้วย" ซึ่งถ้าถูกดำเนินคดีอาญาจะมีโทษจำคุก 1-10 ปี และต้องรับโทษคดีเลือกตั้งคือถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีก 10 ปี แต่ 10 ปีตรงนี้เป็นเรื่องที่ไม่แน่ใจว่า ศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลที่ลงโทษจำคุกจะนำไปบวกกับ 1 ปีที่ กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ถ้าบวกก็รวมแล้ว 11 ปี แต่ถ้าไม่บวกกับโทษที่ กกต.มีคำสั่งโดยให้นับแต่วันที่ศาลพิพากษาผู้สมัครดังกล่าวก็อาจจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปีกว่าหรือ 11 ก็ได้แล้วแต่กรณี
                   
       ในกรณีที่เขตเลือกตั้งนั้นต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ ผู้สมัครที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือได้รับใบแดงจะถือว่าไม่เป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเป็นผู้กระทำผิดและเป็นต้นเหตุ ของการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเป็นผู้กระทำความผิดและเป็นต้นเหตุของการเลือกตั้งใหม่ ทั้งนี้เพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ขัดกับที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการออกกฎห้ามไม่ให้ผู้สมัครไปเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งใหม่นั้นขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา จึงถูกแก้ไขโดยให้อำนาจ กกต.ใช้วิธีลงโทษด้วยการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งจะส่งผลให้สิทธิในการเป็นผู้สมัครหมดไป ด้วยเหตุที่ว่าเป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้งตามกฎหมายรัฐธรรมนูญที่กำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ไว้ คือ ผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย
                   
       ดังนั้น ถ้ามองในแง่ที่ว่าหากศาลรัฐธรรมนูญไม่ไปวินิจฉัยว่า ระเบียบของ กกต.ขัดกับ รัฐธรรมนูญแล้ว ผู้สมัครที่ได้รับใบแดงจะได้รับผลกระทบไม่มากนักคือ ไม่สามารถเป็นผู้สมัครในการการเลือกตั้งครั้งใหม่เท่านั้น แต่ก็ยังมีสิทธิเลือกตั้ง และเมื่อพ้นจากการเลือกตั้งครั้งนี้ไปก็ สามารถลงสมัครเลือกตั้งซ่อมได้ แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญตีความออกมาเช่นนั้น จนเป็นเหตุให้มี การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว เมื่อมีการเลือกตั้งซ่อมเกิดขึ้นผู้สมัครผู้นั้นไม่สามารถลงสมัคร เพราะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี นอกจากไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ได้แล้ว การที่จะไปดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นที่กำหนดสิทธิเลือกตั้งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานจึงไม่สามารถที่จะกระทำได้ด้วยเช่นกัน เช่น ลงสมัคร ส.ส. ส.ว. ส.จ. ส.ท.
                   
       ทั้งนี้หากเป็นระเบียบ กกต.เดิม ก่อนที่จะแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ฉบับนี้ แม้ กกต. จะไม่ให้ผู้สมัครผู้นั้นลงสมัครใหม่ แต่ผู้นั้นยังสามารถเป็นรัฐมนตรีได้อีก เพราะ กกต. เพียงแต่ไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้งเท่านั้น แต่พอถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะมีผลต่อเนื่องกันหมด ไม่สามารถดำรงตำแหน่งต่างๆทางการเมืองได้ เนื่องจากตำแหน่งสำคัญต่างๆจะกำหนดสิทธิเลือกตั้งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะรุนแรง
                   
       ผู้สมัครคนใดที่ได้รับใบแดงจะถูกดำเนินคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง กล่าวคือ ผู้สมัครรายใดที่ได้รับใบแดง นอกจากจะไม่ได้รับการประกาศผลการเลือกตั้ง และถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี ยังต้องคดีอาญา ซึ่งมีโทษอาญาและยังถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี ส่วนคดีแพ่ง คือ ถูกฟ้องเรียกค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่รัฐต้องจ่ายเพิ่ม
       กระบวนการพิจารณาการให้ใบแดง
                   
       การให้ใบแดงนั้นใช่ว่า กกต. จะมีอำนาจอิสระเกินขอบเขต แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะให้อำนาจ กกต.มาก แต่เพื่อให้เกิดความโปร่งใส กกต.จึงแต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองขึ้นมา 5 คณะ ประกอบด้วย อดีตผู้พิพากษาอาวุโส พนักงานอัยการ อาจารย์ ผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพิจารณากลั่นกรองก่อน แล้วจึงส่งให้ กกต.พิจารณา และหาก กกต.มีความเห็นเป็นเอกฉันท์จะเพิกถอนสิทธิ เลือกตั้งก็จะต้องส่งให้ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาทุกคณะเป็นคณะกรรมการตรวจสอบเพื่อพิจารณาตรวจสอบให้ความเห็นโดยหากเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ว่า กกต.พิจารณาชอบด้วยกฎหมายแล้ว จนถึงขั้นตอนที่ กกต.ทำคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ในกรณีที่คณะกรรมการตรวจสอบมิได้มีคะแนนเสียงเช่นว่านั้น กกต.ก็อาจมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีกได้ แต่ต้องให้เหตุผลประกอบคำสั่งด้วย เพราะฉะนั้นกระบวนการในการพิจารณาจึงโปร่งใส แม้หากยืนยัน 2 ใน 3 แล้ว ก็ใช่ว่าผู้สมัครผู้นั้นจะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในขั้นตอนนี้ เพราะ กกต. ต้องทำคำสั่งอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นการที่คณะกรรมการตรวจสอบส่งเรื่องกลับมา กกต. จะเปลี่ยนใจทีหลังก็ได้ไม่มีกฎหมายห้าม แต่หากเป็นใบแดงที่ กกต.เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งจะประกาศลงราชกิจจานุ เบกษาแล้วแจ้งให้ผู้สมัครผู้นั้นทราบด้วย
                   
       สำหรับกระบวนการในการพิจารณานั้นจะทำควบคู่กันไปโดยก่อนวันเลือกตั้งก็ส่งเจ้าพนักงานตำรวจลงพื้นที่เขตเลือกตั้งละ 3 คน เขตเลือกตั้งใดที่ไม่มีการร้องเรียนว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งมากนัก ก็สามารถช่วยเขตเลือกตั้งอื่นได้ กกต.จะรวบรวมข้อเท็จจริงที่มีการร้องเรียนมา เมื่อถึงวันเลือกตั้งก็นำมาสรุปรวมสำนวนเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนส่วนของส่วนกลางก็ รับประมวล หรืออาจลงไปสืบสวนสอบสวนด้วย และก่อนที่จะประกาศผลก็ดูว่าผู้สมัครที่มีพฤติ กรรมเข้าข่ายควรได้รับใบแดงจะรีบดำเนินการเพื่อออกใบแดงก่อน ทั้งนี้เพื่อไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ คือ พิจารณาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งทันทีก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง
                   
       ขณะเดียวกัน กกต. ส่วนกลางก็ยังฟังความเห็นของ กกต.จังหวัดและองค์การเอกชนที่ช่วยเหลือตรวจสอบการเลือกตั้ง เช่น ศูนย์ประสานงานองค์การเอกชนตรวจสอบการเลือกตั้ง (ศอต.) รวมทั้งเครือข่ายประชาชนเพื่อการเลือกตั้ง (พีเน็ต) ด้วย แต่หลักฐานส่วนใหญ่ที่องค์การเอกชนนำเสนอจะเป็นใบแจ้งเหตุมิใช่บันทึกสอบสวนจึงค่อนข้างมีน้ำหนักน้อย เนื่องจากจะใช้วิธีการโทรศัพท์เข้ามาแจ้งเป็นส่วนใหญ่โดยที่ไม่มีการสอบสวนหรือซักให้เห็นว่าพยานให้การขัดกันหรือไม่ ซึ่งการรับแจ้งทางโทรศัพท์นั้น ส่วนใหญ่น้ำหนักน้อยมากในเชิงคดีใช้การแทบจะไม่ได้ คงนำมาประกอบสำนวนหลักของ กกต.เท่านั้น เพราะแท้จริงแล้วการพิจารณาคดีต้องเข้าสำนวนไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครได้ เพียงแค่ลมปากจะนำมาลงโทษผู้สมัครเป็นสิ่งที่ ทำกันไม่ได้
                   
       "สมมติมีหลักฐาน เช่น สิ่งของและเขียนชื่อติดมาด้วย มาเปล่าๆเช่นนั้นไม่ได้ แต่จะต้องมีสำนวนมาด้วย เพราะทุกอย่างต้องเป็นสำนวนต้องบันทึกและมีการสอบสวน ขณะเดียวกันพิจารณาว่าการให้การขัดกันหรือไม่ เช่นใครเป็นผู้ให้ ใครเป็นผู้รับและเกิดขึ้นเมื่อใด พยานกล้ายืนยันไหม ถ้าพยานไม่กล้ายืนยันจะทำให้มีน้ำหนักน้อย ดังนั้นพยานจึงมีความสำคัญและต้องกล้ายืนยันพอสมควร เพราะ กกต.ต้องพิจารณาตามหลักฐานและสามารถนำมาประมวล เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้สมัครได้ หลักฐานใดมีน้ำหนักมากก็น่าเชื่อแล้วนำมากลั่นกรองอีกครั้ง จากนั้นจึงเรียกผู้สมัครมาฟังสรุปข้อกล่าวหาแล้วให้ชี้แจง ที่ผ่านมาผู้สมัครส่วนใหญ่ก็ยอมรับข้อเท็จจริง เพียงแต่เขามีข้อต่อสู้ในเชิงข้อกฎหมาย เพราะเมื่อมีสำนวนมา กกต.จะฟังความด้านเดียวคงไม่ได้ เช่น มีการจัดงานที่ลานบ้านเขาเขาก็ยอมรับว่าจริงแต่เขาไม่ได้จ่ายเงิน ดังนั้นเราต้องฟังจากเขา เพื่อให้เขาชี้แจง ทั้งนี้ตามมาตรา 19 วรรคสองพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541"
       ใบเหลือง
                   
       ตามมาตรา 85/7 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้ แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งแล้ว ถ้าปรากฏหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม คณะกรรมการการเลือกตั้งจะงดประกาศผลการเลือกตั้ง และจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตเลือกตั้งนั้นก็ได้" หรือที่เรียกกันว่าการให้ใบเหลือง คือการที่ กกต.ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด เนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการกระทำที่ไม่สุจริตและเที่ยงธรรม สรุปง่ายๆใบเหลืองก็คือ ผู้สมัครที่ชนะคะแนนเลือกตั้ง แต่ กกต.ไม่มีมติเอกฉันท์ที่จะประกาศผลการเลือกตั้งให้ผู้สมัครผู้นั้นเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. เพราะฉะนั้นเขตเลือกตั้งนั้นจึงต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่โดยอัตโนมัติ โดยที่ กกต.ไม่ต้องมีมติอื่นใดอีก แต่ผู้ สมัครที่ได้รับใบเหลืองไปแล้วนั้น เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ผู้สมัครผู้นั้นยังคงเป็นผู้สมัครที่อาจได้รับเลือกตั้งอีกได้ และหากได้รับคะแนนสูงสุดอีกในครั้งที่ 2 โดยสุจริตและเที่ยงธรรม กกต.สามารถประกาศผลรับรองให้ผู้สมัครผู้นั้นเป็น ส.ส. ได้ แม้ว่าจะเคยได้รับใบเหลืองมาครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม ผู้สมัครที่ได้รับใบเหลืองนอกจากจะเป็นผู้สมัครในการเลือกตั้งใหม่ได้แล้ว ผู้สมัครผู้นั้นจะไม่ถูกฟ้องร้องทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา
       การสอย หลังการเลือกตั้ง
                   
       หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งไปแล้ว กกต.สามารถสอย ส.ส. หรือ ส.ว. ที่ทุจริตเลือกตั้งได้ ซึ่งไม่ใช่การให้ใบแดง แต่เรียกว่า "การสอย" คือการที่ กกต.ใช้อำนาจตามมาตรา 147 (2) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่หรือการคัดค้านการเลือกตั้งตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 และต้องคัดค้านภายใน 30 วัน เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดว่าภายใน 30 วัน หลังจากประกาศผลการเลือกตั้งจะต้องประชุมรัฐสภา เพราะฉะนั้นในการเลือกตั้งครั้งที่สองในวันที่ 29 มกราคม 2544 กกต. จะประกาศผลการเลือกตั้งให้แก่ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ครบ 500 คน หาก ส.ส. คนใดกระทำผิดกฎหมายนับจากนี้ กกต.จะใช้วิธีสอยแล้วสั่งให้มีการเลือกตั้งซ่อมแต่เลือกตั้งครั้งนี้กับการเลือกตั้งใหม่เพื่อหา ส.ส. ให้ได้ 500 คนไม่เหมือนกัน กล่าวคือ เลือกตั้งใหม่ก่อนครบ 500 คน ใช้ผู้สมัครคนเดิมหมายเลขเดิมและผู้มีสิทธิเลือกตั้งเดิมเช่นกัน แต่การเลือกตั้งหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งให้ครบ 500 คนไปแล้วนั้น จะต้องมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งใหม่เพื่อเปิดรับสมัครกันใหม่ พรรคการเมืองใดที่ผู้สมัครเคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งก็เสนอผู้สมัครใหม่ได้ นอกจากนั้นผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อที่อยู่อันดับท้ายๆหากประสงค์จะสมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตก็มาสมัครครั้งนี้ได้ แต่ต้องลาออกเพื่อมาสมัครและได้รับความยินยอมของพรรคที่ตนสังกัดอยู่
       ข้อเปรียบเทียบผลของใบเหลืองและใบแดง
       ผู้ที่ได้รับใบเหลืองผู้ที่ได้รับใบแดง
       ผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งผู้สมัครที่ทุจริตก่อนการเลือกตั้ง ระหว่างเลือกตั้งอาจเป็นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในเขตเลือกตั้งหรือลำดับที่อื่นๆ
       มีหลักฐานเชื่อได้ว่าได้รับการเลือกตั้งโดยไม่สุจริตมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ากระทำการไม่ สุจริตมีพยานยืนยัน และมีหลักฐานชัดเจนว่าได้กระทำผิด ก่อให้ผู้อื่นกระทำผิด สนับสนุนหรือรู้เห็นเป็นใจให้ผู้อื่นกระทำผิด
       กกต.ไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งให้ เป็น ส.ส.และไม่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกกต.สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 1 ปี
       ลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งใหม่และเลือกตั้งซ่อมได้ ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งใหม่ และเลือกตั้งซ่อมภายใน 1 ปี ที่ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
       กกต.ไม่ฟ้องศาลกกต.ฟ้องคดีอาญา คดีแพ่ง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการเลือกตั้งใหม่
       ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ ไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งไม่ได้เพราะถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งแล้ว
       
       
       ตีพิมพ์ในวารสารการเลือกตั้ง ประจำเดือน ธันวาคม 2543 ปีที่ 3 ฉบับที่ 25 หน้า 10-13
       ลงเผยแพร่ครั้งแรกใน Public Law Net วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2544

       
       


พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=128
เวลา 21 เมษายน 2568 21:07 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)