|
|
ครั้งที่ 12 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง 6 มิถุนายน 2553 16:22 น.
|
ครั้งที่ 1 การแบ่งแยกกฎหมายเอกชนและกฎหมายมหาชน และ แนวคิดและปรัชญาของกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 2 หลักพื้นฐานของกฎหมายปกครอง
ครั้งที่ 3 โครงสร้างของฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 4 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (1) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลาง
ครั้งที่ 5 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (2) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาค
ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (3) : วิวัฒนาการของการปกครองส่วนท้องถิ่น : ๑๐๐ ปีแห่งการรอคอย
ครั้งที่ 6 การจัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (4) : การจัดระเบียบบริหารราชการส่วนท้องถิ่น
ครั้งที่ 7 รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ
ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่1)
ครั้งที่ 8 การดำเนินกิจกรรมของฝ่ายปกครอง (หน้าที่ 2)
ครั้งที่ 9 เครื่องมือในการดำเนินงานของฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 10 การควบคุมฝ่ายปกครอง
ครั้งที่ 11 กฎหมายข้อมูลข่าวสารของราชการ
ครั้งที่ 12 กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เป็นกฎหมายที่วางหลักเกณฑ์ทั่วไปในการปฏิบัติราชการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการออกคำสั่งทางปกครองต่าง ๆ ว่าจะต้องเตรียมการและดำเนินการอย่างไรเพื่อให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใช้เป็นหลักในการปฏิบัติราชการของตน ขณะเดียวกันก็วางหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชนด้วยอันเป็นการยอมรับสถานะของประชาชนว่าเป็นผู้ทรงสิทธิ (subject) ในขอบเขตของกฎหมายมหาชน สถานะของประชาชนมิใช่เป็นผู้อยู่ภายใต้การปกครองที่ไร้สิทธิ (object) อีกต่อไปแล้ว ซึ่งเป็นการพัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้หลักนิติรัฐที่เรียกร้องให้การกระทำทุกอย่างของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองนั้นจะต้องทำโดยชอบด้วยกฎหมาย มีความถูกต้องเหมาะสมกับเงื่อนไขกรณีเฉพาะรายจะไม่ใช้อำนาจอย่างไร้เหตุผลหรือเกินสมควรแก่เหตุ หลักเกณฑ์ทั่วไปที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับบนี้จึงเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองใช้อำนาจตามอำเภอใจอันจะส่งผลให้คำสั่งทางปกครองต่าง ๆ มีความเป็นภาวะวิสัยมากที่สุด(1)
1. ความเป็นมาของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเริ่มมีขึ้นครั้งแรกในประเทศสเปนในปี คศ. 1889 แต่มีสาระที่ครอบคลุมกิจกรรมทางปกครองเพียงบางเรื่อง ต่อมาในประเทศออสเตเรียมีการจัดทำ Federal on General Administrative Procedure ในปี คศ. 1925 โดยรวมการจัดองค์กรทางปกครอง วิธีพิจารณากระบวนยุติธรรมทางปกครอง และการบังคับทางปกครองเข้าไว้ในฉบับเดียวกัน ส่วนประเทศเยอะมันระดับมลรัฐก็เคยมีกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองของมลรัฐมาตั้งแต่ปี คศ. 1926 และหลาย ๆ มลรัฐของเยอรมันก็สนใจในการจัดทำร่างกฎหมายประเภทนี้มาโดยตลอดแต่ไม่สำเร็จออกมาเป็นกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หลายประเทศในแถบยุโรปกลางได้จัดทำกฎหมายประเภทนี้ขึ้นมาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้มีการศึกษาปัญหาความไม่เป็นธรรมในการปกครองกันมากในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 และได้มีการจัดทำกฎหมาย Administrative Procedure Act ขึ้นในปี คศ. 1946 แนวคิดของสำนักกฎหมายเยอรมันในการจัดทำกฎหมายลักษณะนี้ได้แพร่หลายไปในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาที่เน้นการพัฒนาระบบกฎหมายปกครองด้วย ส่วนในประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันก็เพิ่งมีกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองของสหพันธ์ในปี คศ. 1976 นี้เอง(2)
ส่วนในประเทศไทยนั้นได้มีการเตรียมการที่จะมีกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีกฎหมายหลายฉบับที่มีหลักเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองอยู่บ้างแล้ว แต่ยังมีรายละเอียดที่ไม่เหมาะสม ต่อมาในรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้เสนอให้มีการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองโดยให้ใช้กฎหมายของเยอรมันเป็นแนวทาง กระบวนการจัดทำร่างกฎหมายและประมวลร่างกฎหมายใช้เวลาดำเนินการต่อเนื่องเรื่อยมาอีกหลายรัฐบาลจนกระทั่งในที่สุดในปี พ.ศ. 2539 รัฐบาลก็ได้ผ่านการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวและประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539(3) และมีผลใช้บังคับในวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2540
2. เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
เหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองปรากฎอยู่ในหมายเหตุท้ายพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยมีเนื้อหาดังนี้ คือ โดยที่การดำเนินการทางปกครองในปัจจุบันยังไม่มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่เหมาะสม จึงสมควรกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับการดำเนินการทางปกครองขึ้นเพื่อให้การดำเนินการเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมาย มีประสิทธิภาพในการใช้บังคับกฎหมายให้สามารถรักษาประโยชน์สาธารณะได้และอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ(4)
เมื่อพิจารณาเหตุผลในการประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยวิธีปฎิบัติราชการทางปกครองข้างต้น จะพบว่ากฎหมายดังกล่าวมีขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ที่สำคัญ 3 ประการ คือ
ก. เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนต่าง ๆ สำหรับการดำเนินการทางปกครอง
ข. เพื่อให้การดำเนินการทางปกครองเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและมีประสิทธิภาพในการใช้บังคับกฎหมาย
ค. เพื่อให้สามารถรักษาประโยชน์สาธารณะและอำนวยความเป็นธรรมแก่ประชาชน
อีกทั้งยังเป็นการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการอีกด้วย
3. ขอบเขตของการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
มาตรา 3 วรรคแรก แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง บัญญัติถึงการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองไว้ดังนี้ คือ
ก. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ข. ในกรณีที่กฎหมายใดกำหนดวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองในเรื่องใดไว้เป็นการเฉพาะและมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎหมายนั้น
บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงสถานะของความเป็น กฎหมายกลาง ของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองที่กำหนดให้มีการใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามกฎหมายทุกฉบับต้องเป็นไปตามกระบวนการและวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ทั้งนี้เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามบทบัญญัติในมาตรา 3 วรรคแรกดังกล่าวก็ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ต้องดำเนินการตามกระบวนการและวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้ หากการใช้อำนาจทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ในกฎหมายอื่นมีมาตรฐานไม่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
ส่วนคำว่า วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 5 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองก็ได้ให้คำนิยามว่า หมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองหรือกฎและรวมถึงการดำเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งหมายความว่า กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเป็นกฎหมายที่นำมาใช้กับ เจ้าหน้าที่ เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครองหรือกฎ และรวมไปถึงการดำเนินการใด ๆ ในทางปกครองตามกฎหมายดังกล่าวด้วย
4. ผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองเป็นกฎหมายที่กำหนดวิธีการทำงานของ เจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครองเพื่อความเป็นธรรมแก่เอกชนและเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพแก่การดำเนินงานของรัฐ ผู้ที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายดังกล่าวจึงได้แก่ เจ้าหน้าที่ และคู่กรณีของเจ้าหน้าที่
4.1 เจ้าหน้าที่ มาตรา 5 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้ให้คำนิยามของ เจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผู้อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายดังกล่าวไว้ว่าหมายถึง บุคคล คณะบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจหรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม
เจ้าหน้าที่ ตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงประกอบด้วยบุคคล 3 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา คณะบุคคล และนิติบุคคล
4.1.1 บุคคลธรรมดา หมายถึง ผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ปลัดกระทรวง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกเทศมนตรี ผู้ว่าการการประปานครหลวง เป็นต้น
4.1.2 คณะบุคคล หมายถึง คณะบุคคลในรูปแบบของคณะกรรมการที่ใช้อำนาจทางปกครอง เช่น คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน สภาเทศบาล คณะกรรมการอาหารและยา เป็นต้น
4.1.3 นิติบุคคล ได้แก่ นิติบุคคลในกฎหมายมหาชน จัดตั้งขึ้นโดยบทบัญญัติของกฎหมาย เช่น กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา 4 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองก็ได้กำหนดถึง ข้อยกเว้น การบังคับใช้กฎหมายตามประเภทขององค์กรและประเภทของการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ไว้ 9 กรณีด้วยกัน คือ
- รัฐสภาและคณะรัฐมนตรี
- องค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ
- การพิจารณาของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีในงานทางนโยบายโดยตรง
- การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคดี การบังคับคดีและการวางทรัพย์
- การพิจารณาวินิจฉัยเรื่องร้องทุกข์และการสั่งการตามกฎหมายว่าด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกา
- การดำเนินงานเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศ
- การดำเนินงานเกี่ยวกับราชการทหาร
- การดำเนินงานตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
- การดำเนินการขององค์กรทางศาสนา
ทั้ง 9 กรณีดังกล่าวข้างต้น เป็นข้อยกเว้นขององค์กรและการดำเนินการที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
4.2 คู่กรณี ได้แก่ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปฏิบัติราชการทางปกครองของเจ้าหน้าที่ โดยกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้ให้คำนิยามของคำว่า คู่กรณี ไว้ในมาตรา 5 ว่าหมายความว่า ผู้ยื่นคำขอหรือผู้คัดค้านคำขอ ผู้อยู่ในบังคับหรือจะอยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครอง และผู้ซึ่งได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองเนื่องจากสิทธิของผู้นั้นจะถูกกระทบกระเทือนจากผลของคำสั่งทางปกครอง และในมาตรา 21 แห่งกฎหมายดังกล่าวก็ได้ขยายความคำว่าคู่กรณีไว้ว่า บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล อาจเป็นคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครองได้ตามขอบเขตที่สิทธิของตนถูกกระทบกระเทือนหรืออาจถูกกระทบกระเทือนโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
5. สิ่งที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
จากคำนิยามของคำว่า วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 5 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง สิ่งที่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ได้แก่ คำสั่งทางปกครอง กฎ และการดำเนินการใด ๆ ในทางปกครอง
5.1 คำสั่งทางปกครอง มาตรา 5 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้ให้คำนิยามของ คำสั่งทางปกครอง ไว้ว่า ได้แก่ การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่รวมถึงการออกกฏ และนอกจากนี้ กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองยังกำหนดเอาไว้ว่า การขยายขอบเขตของคำสั่งทางปกครองสามารถนำได้โดยการออกเป็นกฏกระทรวงกำหนดการอื่นที่จะให้อยู่ในความหมายของคำสั่งทางปกครองได้
5.2 กฎ เช่นเดียวกับ คำสั่งทางปกครอง มาตรา 5 แห่งกฎหมายว่าวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้ให้คำนิยามของ กฎ ไว้ว่าได้แก่ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ประกาศกระทรวง ข้อบัญญัติท้องถิ่น ระเบียบ ข้อบังคับ หรือบทบัญญัติอื่นที่มีผลบังคับเป็นการทั่วไปโดยไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดหรือบุคคลใดเป็นการเฉพาะ
5.3 การดำเนินการใด ๆ ในทางปกครอง ได้แก่ การดำเนินการอื่นนอกเหนือจากการออกคำสั่งทางปกครองหรือการออกกฎ เช่น มาตรการบังคับทางปกครอง เป็นต้น
6. ผู้มีอำนาจทำการพิจารณาทางปกครอง
กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กล่าวถึงผู้มีอำนาจทำการพิจารณาทางปกครองไว้ว่ามีอยู่สองประเภภทด้วยกันคือ เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครอง
6.1 เจ้าหน้าที่ มาตรา 12 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองบัญญัติไว้ว่า คำสั่งทางปกครองจะต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนั้น
6.2 คณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครอง บทบัญญัติในหมวด 5 มาตรา 75 ถึงมาตรา 84 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้บัญญัติถึงเรื่องของคณะกรรมการที่มีอำนาจดำเนินการพิจารณาทางปกครองไว้ว่า มีอยู่สองประเภทคือ คณะกรรมการที่มีอำนาจวินิจฉับช้อพิพาท โดยบทบัญญัติดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องระบุตัวบุคคล (มาตรา 75) การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ (มาตรา 76) การตั้งกรรมการแทนกรรมการที่พ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ (มาตรา 77) เหตุในการให้กรรมการในคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ (มาตรา 78) องค์ประชุมของคณะกรรมการ (มาตรา 79) การประชุมของคณะกรรมการ (มาตรา 80) ประธานในที่ประชุม (มาตรา 81) การลงมติของที่ประชุม (มาตรา 82) รายงานการประชุม (มาตรา 83) และรูปแบบของคำวินิจฉัยชองคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท (มาตรา 84)
7. ความเป็นกลางของผู้ที่จะทำการพิจารณาทางปกครอง
มาตรา 13 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดถึง ข้อห้าม ของการที่เจ้าหน้าที่และกรรมการจะเข้ามาทำการพิจารณาทางปกครองว่า จะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคู่กรณี ในกรณีดังต่อไปนี้
- เป็นคู่กรณีเอง
- เป็นคู่หมั้นหรือคู่สมรสของคู่กรณี
- เป็นญาติของคู่กรณี คือเป็นบุพการีหรือผู้สืบสันดานไม่ว่าชั้นใดๆ หรือเป็นพี่น้องหรือลูกพี่ลูกน้องนับได้เพียงภายใน 3 ชั้น หรือเป็นญาติเกี่ยวพันทางแต่งงานนับได้เพียง 2 ชั้น
- เป็นหรือเคยเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมหรือผู้พิทักษ์หรือผู้แทนหรือตัวแทนของคู่กรณี
- เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ หรือเป็นนายจ้างของคู่กรณี
- กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
ความสัมพันธ์ดังกล่าว อาจเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้มีอำนาจในการพิจารณาทางปกครองมีความลำเอียงหรือมีอคติได้ กฎหมายจึงกำหนดห้ามมิให้เจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้มีอำนาจในการพิจารณาทางปกครองมีลักษณะดังกล่าวข้างต้น
นอกจากในมาตราดังกล่าวแล้ว มาตรา 16 วรรคหนึ่งแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองก็ได้บัญญัติเหตุอื่นที่ห้ามเจ้าหน้าที่หรือกรรมการทำการพิจารณาทางปกครองคือ เหตุอื่นใดนอกเหนือจากเหตุที่บัญญัติไว้ในมาตรา 13 ซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง
8. การคัดค้านที่จะทำการพิจารณาทางปกครอง
คู่กรณีหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาทางปกครอง สามารคัดค้านเจ้าหน้าที่หรือกรรมการผู้มีอำนาจในการพิจารณาทางปกครองได้ในกรณีที่มีเหตุตามมาตรา 13 และมาตรา 16 ดังกล่าวข้างต้นไว้ดังต่อไปนี้
8.1 การค้านเจ้าหน้าที่ เมื่อเจ้าหน้าที่พบว่าตนเองเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำการพิจารณาทางปกครองได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 13แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือเมื่อมีคู่กรณีคัดค้านว่าเจ้าหน้าที่ผู้ใดเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำการพิจารณาทางปกครองได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตราเดียวกันนั้น มาตรา 14 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง บัญญัติไว้ว่า ให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นหยุดการพิจารณาเรื่องไว้ก่อน และแจ้งให้ผู้บังคับบัญชาเหนือตนขึ้นไปชั้นหนึ่งทราบ เพื่อที่ผู้บังคับบัญชาจะได้มีคำสั่งต่อไป
8.2 การคัดค้านกรรมการ มาตรา 15 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง บัญญัติไว้ว่า เมื่อกรรมการผู้ใดพบว่าตนเป็นผู้ที่ไม่สามารถทำการพิจารณาทางปกครองได้ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 13 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือเมื่อมีคู่กรณีคัดค้านว่า กรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาทางปกครองผู้ใดมีลักษณะดังกล่าว ให้ประธานกรรมการเรียกประชุมเพื่อพิจารณาเหตุคัดค้านนั้นโดยต้องเปิดโอกาสให้กรรมการผู้ถูกคัดค้านำด้ชี้แจงข้อเท็จจริงและตอบข้อซักถาม หากที่ประชุมกรรมการมีมติให้กรรมการผู้ถูกคัดค้านปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการที่ไม่ถูกคัดค้าน ก็ให้กรรมการผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้
อนึ่ง มาตรา 17 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้บัญญัติรับรองการกระทำใดๆ ของเจ้าหน้าที่หรือกรรมการในคณะกรรมการที่มีอำนาจได้กระทำไปก่อนหยุดการพิจารณาว่าย่อมไม่เสียไป
9. คู่กรณี
กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ส่วนที่ 2 มาตรา 21 ถึงมาตรา 25 ได้บัญญัติถึงคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครองไว้ 3 กรณีใหญ่ๆ ด้วยกันคือ
9.1 บุคคลที่เป็นคู่กรณี มาตรา 21 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองบัญญัติไว้ว่า บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือนิติบุคคล อาจเป็นคู่กรณีในการพิจารณาทางปกครองได้ ตามขอบเขตที่สิทธิของตนถูกกระทบกระเทือนหรืออาจถูกกระทบกระเทือนโยมิอาจหลีกเลี่ยงได้
9.2 ความสามารถของคู่กรณี เป็นไปตามมาตรา 21 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง คือ บรรลุนิติภาวะในกรณีเป็นบุคคลธรรมดา โดยผู้แทนหรือตัวแทนในกรณีที่เป็นนิติบุคคลหรือคณะบุคคล ผู้ซึ่งมีบทกฎหมายเฉพาะกำหนดให้มีความสามารถกระทำการในเรื่องที่กำหนดได้ แม้ผู้นั้นจะยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือความสามารถถูกจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และผู้ซึ่งมีประกาศของนายกรัฐมนตรีหรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายในราชกิจจานุเบกษา กำหนดให้มีความสามารถกระทำการในเรื่องที่กำหนดได้แม้ผู้นั้นจะยังไม่บรรลุนิติภาวะหรือความสามารถถูกจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
9.3 ตัวแทนของคู่กรณี คู่กรณีสามารถตั้งตัวแทนเข้ามากระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดแทนตนได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ส่วนบทบัญญัติในมาตรา 25 แห่งกฎหมายฉบับเดียวกันก็ได้กล่าวถึงกรณีที่มีคู่กรณีเกิน 50 คนยื่นคำขอให้มีคำสั่งทางปกครองในเรื่องเดียวกันโดยไม่มีการกำหนดให้บุคคลใดเป็นตัวแทนร่วมของตนว่า ให้เจ้าหน้าที่ในเรื่องนั้นแต่งตั้งบุคคลที่คู่กรณีฝ่ายข้างมากเห็นชอบเป็นตัวแทนร่วมของบุคคลดังกล่าว
10. หลักในการพิจารณาทางปกครอง
กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้วางหลักสำคัญไว้สำหรับการพิจารณาทางปกครองในหลายกรณีด้วยกัน เช่น หลักความรวดเร็วและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน (มาตรา 33) หลักเอกสารต้องทำเป็นภาษาไทย (มาตรา 26) หลักในการพิสูจน์ความจริง (มาตรา 28) และหลักในการพิสูจน์พยานหลักฐาน (มาตรา 29)
11. สิทธิของคู่กรณี
กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดสิทธิของคู่กรณีไว้ว่า คู่กรณีมีสิทธิที่จะขอดูเอกสารพยานหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครอง(มาตรา31) สิทธิในการรับทราบข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐาน (มาตรา 30) สิทธิในกรณีทนายความและที่ปรึกษา (มาตรา 23) สิทธิในการแต่งตั้งผู้ทำการแทน (มาตรา 27) สิทธิในการได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว (มาตรา 33) สิทธิในการได้รับทราบเหตุผลของคำสั่งทางปกครอง (มาตรา 37) และสิทธิในการได้รับแจ้งวิธีการอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง (มาตรา 40)
12. รูปแบบของคำสั่งทางปกครอง
คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือวาจาหรือโดยการสื่อความหมายในรูปแบบอื่นก็ได้ แต่ต้องมีข้อความหรือความหมายที่ชัดเจนเพียงพอที่จะเข้าใจได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 34 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และสำหรับกรณีคำสั่งทางปกครองที่เป็นคำสั่งด้วยวาจานั้น มาตรา 35 แห่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่าถ้าผู้รับคำสั่งร้องขอและการร้องขอได้กระทำโดยมีเหตุอันสมควรภายใน 7 วันนับแต่วันที่มีคำสั่งดังกล่าว เจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งต้องยืนยันคำสั่งนั้นเป็นหนังสือ
ส่วนคำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือนั้น มาตรา 36 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองบัญญัติว่าอย่างน้อยต้องระบุ วัน เดือน ปีที่ทำคำสั่ง ชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง พร้อมทั้งมีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้น
13. การให้เหตุผลในคำสั่งทางปกครอง
คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือจะต้องมีการให้เหตุผลของการออกคำสั่งดังกล่าวเอาไว้ด้วยเพื่อให้คู่กรณีสามารถทราบได้ว่า เจ้าหน้าที่มีคำสั่งทางปกครองเพราะเหตุใด ถูกต้อง เหมาะสม ขัดหรือแย้งกับข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดหรือไม่ และการให้เหตุผลดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองดังกล่าวด้วยวิธีการอุทธรณ์ต่อไปได้
มาตรา 37 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดหลักของการให้เหตุผลในคำสั่งทางปกครองไว้ว่า คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยับยั้งคำสั่งเป็นหนังสือ เจ้าหน้าที่ต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ในคำสั่งทางปกครองนั้นด้วย โดยเหตุผลดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง และข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ในการออกคำสั่งทางปกครอง แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายมาตราดังกล่าวก็ได้กำหนดข้อยกเว้นของการที่ไม่ต้องแสดงเหตุผลในคำสั่งทางปกครองบางประเภทไว้ในกรณีที่
- ผลของคำสั่งทางปกครองตรงตามคำขอของคู่กรณีและไม่กระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอื่น
- เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำเป็นต้องระบุอีก
- เป็นกรณีที่ต้องรักษาเป็นความลับ การเปิดเผยจะส่งผลทำให้เป็นการเปิดเผยความลับ
- เป็นการออกคำสั่งด้วยวาจา
- เป็นกรณีเร่งด่วน
14. การกำหนดเงื่อนไขในคำสั่งทางปกครอง
คำสั่งทางปกครองบางประเภทอาจมีความจำเป็นที่ผู้ออกคำสั่งจะต้องกำหนดเงื่อนไขบางประการประกอบ ดังนั้นมาตรา 39 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองจึงได้บัญญัติเรื่องดังกล่าวเอาไว้ว่า ในการออกคำสั่งทางปกครองนั้น เจ้าหน้าที่อาจกำหนดเงื่อนไขใดๆ ได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมาย เว้นแต่กฎหมายจะกำหนดข้อจำกัดดุลพินิจเป็นอย่างอื่น โดยเงื่อนไขดังกล่าวหมายความรวมถึงการกำหนดเงื่อนไขในกรณีดังต่อไปนี้ตามความเหมาะสมแก่กรณีด้วยคือ
- การกำหนดให้สิทธิหรือภาระหน้าที่เริ่มมีผลหรือสิ้นผล ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
- การกำหนดให้การเริ่มมีผลหรือสิ้นผลของสิทธิหรือภาระหน้าที่ต้องขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ในอนาคตที่ไม่แน่นอน
- ข้อสงวนสิทธิที่จะยกเลิกคำสั่งทางปกครอง
- การกำหนดให้ผู้ได้รับประโยชน์ต้องกระทำหรืองดเว้นกระทำหรือต้องมีภาระหน้าที่หรือยอมรับภาระหน้าที่หรือความรับผิดชอบบางประการ หรือการกำหนดข้อความในการจัดให้มี เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มข้อกำหนดดังกล่าว
15. การแจ้งสิทธิอุทธรณ์
การโต้แย้งคำสั่งทางปกครองเป็นกระบวนการสำคัญที่นำมาใช้ควบคุมความชอบด้วยกฎหมายของการกระทำทางปกครอง ด้วยเหตุดังกล่าว มาตรา 40 วรรคหนึ่งแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองจึงบัญญัติไว้ว่า คำสั่งทางปกครองที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้งต่อไปได้ ให้ระบุกรณีที่อาจอุทธรณ์หรือโต้แย้ง การยื่นคำอุทธรณ์หรือคำโต้แย้ง และระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งดังกล่าวไว้ด้วย
ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนการแจ้งสิทธิอุทธรณ์คือผู้ออกคำสั่งมิได้แจ้งสิทธิอุทธรณ์ให้แก่คู่กรณีทราบ มาตรา 40 วรรคสองแห่งกฎหมายดังกล่าวก็ได้บัญญัติให้ระยะเวลาสำหรับการอุทธรณ์หรือการโต้แย้งเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองได้รับแจ้งหลักเกณฑ์การอุทธรณ์ แต่ถ้าไม่มีการแจ้งสิทธิในการอุทธรณ์ใหม่และระยะเวลาอุทธรณ์มีระยะเวลาสั้นกว่า 1 ปี ให้ขยายเป็น 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับคำสั่งทางปกครอง
16. ผลของคำสั่งทางปกครอง
เมื่อมีการออกคำสั่งทางปกครองมาแล้ว มาตรา 42 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองบัญญัติไว้ว่า ให้มีผลใช้ยันต่อบุคคลตั้งแต่ขณะที่ผู้นั้นได้รับแจ้งเป็นต้นไป และมีผลตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่น และเมื่อคำสั่งทางปกครองสิ้นผล ให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกผู้ซึ่งครอบครองเอกสารหรือวัตถุอื่นใดที่ได้จัดทำขึ้นจากกรณีมีคำสั่งทางปกครองดังกล่าวซึ่งมีข้อความหรือเครื่องหมายแสดงถึงการมีอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นให้ส่งคืนสิ่งของนั้นหรือให้นำส่งของดังกล่าวอันเป็นกรรมสิทธิของผู้นั้นมาให้เจ้าหน้าที่จัดทำเครื่องหมายแสดงการสิ้นผลของคำสั่งทางปกครองดังกล่าว
17. การทบทวนคำสั่งทางปกครอง
กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดกระบวนการในการเยียวยาคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสมที่ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่คู่กรณีไว้ 3 วิธีการด้วยกัน โดยวิธีการทั้ง 3 นี้เป็นวิธีการเยียวยาภายในฝ่ายปกครอง อันได้แก่ การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง และการขอให้พิจารณาใหม่
17.1 การอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง มาตรา 3 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้บัญญัติหลักการที่สำคัญของการอุทธรณ์ไว้ว่า ในกรณีที่มีกฎหมายเฉพาะบัญญัติให้คำสั่งทางปกครองใดมีขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งไว้แล้วเช่นใด คู่กรณีก็ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและระยะเวลาที่กฎหมายเฉพาะนั้นได้บัญญัติไว้ ถึงแม้ว่าหลักเกณฑ์และวิธีการอุทธรณ์จะมีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติราชการต่ำกว่าที่กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดไว้ก็ตาม เหตุที่กฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดเรื่องการอุทธรณ์ไว้เช่นนี้ก็เพราะการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายเฉพาะเป็นเรื่องพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการต่างๆตามกฎหมายนั้นเป็นการเฉพาะ การนำเอาหลักเกณฑ์กลางที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมาใช้จึงอาจไม่เหมาะสมและอาจก่อให้เกิดปัญหาบางประการตามมา ส่วนกรณีที่คำสั่งทางปกครองใดที่กฎหมายเฉพาะไม่ได้กำหนดขั้นตอนหรือระยะเวลาในการอุทธรณ์ไว้ก็ต้องบังคับตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
มีคำสั่งทางปกครองบางประเภทที่แม้จะมิได้มีกฎหมายเฉพาะกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการอุทธรณ์หรือโต้แย้งเอาไว้ แต่ก็ไม่อยู่ภายใต้บังคับให้ต้องอุทธรณ์ก่อนที่จะนำคดีไปสู่การพิจารณาขององค์กรวินิจฉัยคดีปกครอง คำสั่งทางปกครองที่ไม่ต้องอุทธรณ์ ได้แก่ คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยรัฐมนตรีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 วรรคหนึ่งแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและคำสั่งทางปกครองของบรรดาคณะกรรมการต่างๆ ไม่ว่าจะจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายหรือไม่ตามมาตรา 48 แห่งกฎหมายฉบับเดียวกัน
ขั้นตอนในการอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองนั้น มาตรา 44 บัญญัติว่า ผู้มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งทางปกครอง ได้แก่คู่กรณี โดยคู่กรณีจะต้องอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองต่อเจ้าหน้าที่ผู้ออกคำสั่งทางปกครองที่ระบุชื่อและตำแหน่งในคำสั่งทางปกครองนั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้นั้นเป็นผู้ที่รู้เรื่องคำสั่งทางปกครองดังกล่าวดีที่สุด โดยจะต้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งนั้น
เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับคำอุทธรณ์แล้ว มาตรา 45 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดให้เจ้าหน้าที่พิจารณาให้แล้วเสร็จและแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบว่าตนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับอุทธรณ์นั้นโดยไม่ชักช้าแต่ต้องไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ โดยกรณีที่เจ้าหน้าที่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ให้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงคำสั่งทางปกครองภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน เจ้าหน้าที่จะต้องรายงานความเห็นของตนพร้อมเหตุผลยังผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ซึ่งก็คือผู้บังคับบัญชาระดับเหนือขึ้นไป ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับคำอุทธรณ์ดังกล่าว ผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ต้องพิจารณาคำอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ตนได้รับรายงาน แต่ถ้ามีเหตุจำเป็นไม่อาจพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ ก็ต้องมีหนังสือแจ้งให้ผู้อุทธรณ์ทราบก่อนครบกำหนดเวลา 30 วันดังกล่าว ซึ่งผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์สามารถขยายระยะเวลาพิจารณาคำอุทธรณ์ออกไปได้อีกไม่เกิน 30 วันนับแต่วันที่ครบกำหนดระยะเวลา 30 วันแรก
สำหรับเกณฑ์ในการพิจารณาอุทธรณ์นั้น มาตรา 46 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ให้อำนาจเจ้าหน้าที่พิจารณาทบทวนคำสั่งทางปกครองได้ไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายหรือความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครองและอาจมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเดินหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งนั้นไปในทางใดไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มหรือลดภาระหรือใช้ดุลพินิจแทนในเรื่องความเหมาะสมของการทำคำสั่งทางปกครองหรือมีข้อกำหนดเป็นเงื่อนไขอย่างไรก็ได้
17.2 การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเกิดขึ้นได้ เมื่อฝ่ายปกครองได้มีคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือในบางกรณีคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายแต่ส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ก็อาจถูกเพิกถอนได้เช่นกัน โดยมาตรา 49 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดเป็นเกณฑ์ไว้ว่า เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองได้
การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเป็นไปตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้
17.2.1 การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บัญญัติไว้ในมาตรา 50 และ 51 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองว่ามี 2 กรณีด้วยกันคือ
ก. การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งทางปกครอง บัญญัติไว้ในมาตรา 50 ว่าคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอาจถูกเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วน โดยจะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ย้อนหลังหรือมีผลในอนาคตถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนดได้
ข. การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่เป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้แก่ผู้รับคำสั่งทางปกครอง บัญญัติไว้ในมาตรา 51 วรรคแรกว่า กรเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่อาจแบ่งแยกได้ ให้คำนึงถึงความเชื่อโดยสุจริตของผู้รับประโยชน์ในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้นกับประโยชน์สาธารณะประกอบกัน โดยการอ้างความเชื่อโดยสุจริตดังกล่าวจะได้รับความคุ้มครองต่อเมื่อผู้รับคำสั่งทางปกครองได้ใช้ประโยชน์อันเกิดจากคำสั่งทางปกครองหรือได้ดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินไปแล้วโดยไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หรือการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจะทำให้ผู้นั้นต้องเสียหายเกินควรแก่กรณี
อนึ่ง ได้มีการบัญญัติในมาตรา 51 วรรคสามถึงเหตุที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองจะอ้างความเชื่อโดยสุจริตไม่ได้ไว้ 3 ประการด้วยกันคือ
- ผู้นั้นได้แสดงข้อเท็จจริงอันเป็นเท็จหรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง/หรือข่มขู่/หรือชักจูงใจโดยการให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- ผู้นั้นได้ให้ข้อความซึ่งไม่ถูกต้องหรือไม่ครบถ้วนในสาระสำคัญ
- ผู้นั้นได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในขณะได้รับคำสั่งทางปกครองหรือการไม่รู้นั้นเป็นไปด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
17.2.2 การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย บัญญัติไว้ในมาตรา 53 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองว่ามี 3 กรณีด้วยกันคือ
ก.คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่ง บัญญัติไว้ในมาตรา 53 วรรคแรกว่า คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งไม่เป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งทางปกครองอาจเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนโดยให้มีผลตั้งแต่ขณะที่เพิกถอนหรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะใดขณะหนึ่งตามที่กำหนดได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่คงต้องทำคำสั่งทางปกครองที่มีเนื้อหาทำนองเดียวกันนั้นอีก หรือเป็นกรณีที่การเพิกถอนไม่อาจกระทำได้เพราะเหตุอื่น โดยการเพิกถอนนั้นต้องคำนึงถึงประโยชน์ของบุคคลภายนอกประกอบด้วย
ข. คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่ง บัญญัติไว้ในมาตรา 53 วรรคสองว่า คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่งนั้น เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่อาจเพิกถอนคำสั่งดังกล่าวทั้งหมดหรือบางส่วน โดยให้มีผลตั้งแต่ขณะที่เพิกถอนหรือมีผลในอนาคตได้ เมื่อเกิดกรณีดังต่อไปนี้
- เมื่อมีกฎหมายกำหนดให้เพิกถอนได้หรือมีข้อสงวนสิทธิให้เพิกถอนได้ในคำสั่งทางปกครองนั้นเอง
- คำสั่งทางปกครองนั้นมีข้อกำหนดให้ผู้รับประโยชน์ต้องปฏิบัติแต่ไม่มีการปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กำหนด
- มีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและหากมีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้ว เจ้าหน้าที่คงไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ส่วนรวม
- มีบทกฎหมายที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีบทกฎหมายดังกล่าวในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้ว เจ้าหน้าที่คงไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น แต่การเพิกถอนในกรณีนี้ให้ทำได้เท่าที่ผู้รับประโยชน์ยังไม่ได้ใช้หรือรับประโยชน์ตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์สาธารณะ
- อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชน
ค. คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงิน
ให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่แบ่งแยกได้ บัญญัติไว้ในมาตรา 53 วรรคสี่ว่า คำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นการให้เงินหรือให้ทรัพย์สินหรือให้ประโยชน์ที่แบ่งแยกได้ เจ้าหน้าที่หรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่นั้นอาจเพิกถอนทั้งหมดหรือบางส่วนได้ โดยให้มีผลย้อนหลังหรือมีผลในอนาคตไปถึงขณะไดขณะหนึ่งได้ ในกรณีดังต่อไปนี้
- มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในการดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครอง
- ผู้รับประโยชน์มิได้ปฏิบัติหรือปฏิบัติล่าช้าในการดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขของคำสั่งทางปกครอง
17.2.3 การเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง สามารถพิจารณาได้ 2 กรณีคือ กรณีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและกรณีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย
ก. กรณีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นไปตามมาตรา 51 วรรคสี่แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองคือ ในกรณีที่เป็นการเพิกถอนการให้ประโยชน์ที่แบ่งแยกได้ ผู้รับคำสั่งทางปกครองต้องคืนประโยชน์ที่ได้รับไปตามหลักลาภมิควรได้ แต่ถ้าผู้นั้นได้รู้ถึงความไม่ชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งทางปกครองในขณะได้รับคำสั่งหรือการไม่รู้นั้นเป็นไปด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ก็ต้องคืนประโยชน์ที่ได้รับไปเต็มจำนวน ส่วนในกรณีที่เป็นการเพิกถอนการให้ประโยชน์ที่แบ่งแยกมิได้ มาตรา 52 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองก็ได้กำหนดไว้ว่าผู้ได้รับผลกระทบจากการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองมีสิทธิที่จะได้รับค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากความเชื่อโดยสุจริตในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้น โดยค่าทดแทนความเสียหายจะต้องไม่สูงกว่าประโยชน์ที่ผู้นั้นอาจได้รับหากคำสั่งทางปกครองนั้นไม่ถูกเพิกถอน
ข. กรณีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นไปตามมาตรา 53 วรรคสาม แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง คือ
ในกรณีที่มีการเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 53 (3)-(5) คือ
- มีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เช่นนั้นในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้ว เจ้าหน้าที่คงไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้น และหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์ต่อสาธารณะได้
- มีตัวบทกฎหมายเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหากมีกฎหมายเช่นนั้นในขณะทำคำสั่งทางปกครองแล้ว เจ้าหน้าที่คงไม่ทำคำสั่งทางปกครองนั้นและหากไม่เพิกถอนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้
- อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะหรือต่อประชาชนอันจำเป็นต้องป้องกันหรือแจ้งเหตุดังกล่าว
ผู้ได้รับประโยชน์มีสิทธิได้รับค่าทดแทนความเสียหายอันเกิดจากความเชื่อโดยสุจริตในความคงอยู่ของคำสั่งทางปกครองนั้น
17.3 การขอให้พิจารณาใหม่ มาตรา 54 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดถึงกระบวนการขอให้พิจารณาคำสั่งทางปกครองใหม่เพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่คู่กรณีไว้ดังนี้คือ คู่กรณีอาจขอให้เจ้าหน้าที่เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งทางปกครองใหม่ได้แม้จะพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้นในส่วนของการอุทธรณ์ โดยมีเกณฑ์ดังต่อไปนี้คือ
ก. มีพยานหลักฐานใหม่อันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญ
ข. คู่กรณีที่แท้จริงมิได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาทางปกครองหรือได้เข้ามาในกระบวนการพิจารณาครั้งก่อนแล้วแต่ถูกตัดโอกาสโดยไม่เป็นธรรมในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาทางปกครอง
ค. เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจที่จะทำคำสั่งทางปกครองในเรื่องนั้น
ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวข้างต้น การขอให้พิจารณาจะทำได้ก็แต่เฉพาะเมื่อคู่กรณีไม่อาจทราบถึงเหตุดังกล่าวในการพิจารณาครั้งที่ผ่านมาก่อนโดยไม่ใช่ความผิดของคู่กรณี
นอกจากนี้ มาตรา 54(4) ยังได้บัญญัติถึงการขอให้พิจารณาใหม่อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีที่คำสั่งทางปกครองซึ่งได้ออกโดยอาศัยข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดและต่อมาข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายนั้นเปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่จะเป็นประโยชน์แก่คู่กรณี
คำขอให้พิจารณาใหม่ทั้ง 4 กรณีข้างต้น คู่กรณีต้องยื่นคำขอภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รู้ถึงเหตุอื่นซึ่งอาจขอให้พิจารณาใหม่ได้
18. การบังคับทางปกครอง
เมื่อเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองไปแล้ว หากผู้ได้รับคำสั่งทางปกครองไม่เห็นด้วยก็ต้องดำเนินกระบวนการโต้แย้งดังที่ได้กล่าวไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้านี้ เมื่อผ่านกระบวนการโต้แย้งไปแล้ว ผู้ได้รับคำสั่งทางปกครองก็ย่อมต้องปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว โดยคำสั่งทางปกครองบางประเภทซึ่งเป็นการให้ประโยชน์แก่ผู้รับคำสั่ง เช่น การอนุญาตต่างๆ เป็นต้น ไม่จำเป็นต้องมีการบังคับตามดังกล่าว แต่คำสั่งทางปกครองบางประเภท เช่น คำสั่งให้รื้อถอนอาคาร เป็นต้น หากผู้รับคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดในคำสั่งทางปกครองนั้น ก็ต้องมีมาตรการในการบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว โดยมาตรา 56 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กล่าวถึงความหมายของการบังคับทางปกครองไว้ว่า เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองมีอำนาจที่จะพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของตนได้ตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่จะมีการสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ก่อนโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นเอง ผู้มีอำนาจพิจารณาคำอุทธรณ์หรือผู้มีอำนาจพิจารณาความถูกต้องของคำสั่งทางปกครองดังกล่าว โดยบุคคลดังกล่าวอาจมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ซึ่งอยู่ใต้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่อื่นเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง และนอกจากนี้กฎหมายมาตราดังกล่าวยังกำหนดให้เจ้าหน้าที่ใช้มาตรการบังคับทางปกครองเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครองโดยกระทบกระเทือนผู้อยู่ใต้บังคับของคำสั่งทางปกครองน้อยที่สุด
การบังคับทางปกครองมีสาระสำคัญดังนี้ คือ
18.1 บุคคลที่จะถูกบังคับทางปกครอง ได้แก่ ผู้ที่ได้รับผลผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายปกครอง และนอกจากนี้มาตรา 55 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองยังกำหนดไว้ว่า การบังคับทางปกครองจะใช้กับเจ้าหน้าที่ด้วยกันไม่ได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
18.2 ขอบเขตของการนำมาตรการบังคับการปกครองมาใช้ มาตรา 63 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองกำหนดไว้ว่า ถ้าบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองไว้โดยเฉพาะแล้ว แต่เจ้าหน้าที่เห็นว่ามาตรการบังคับนั้นมีลักษณะที่จะเกิดผลน้อยกว่ามาตรการบังคับตามทีกำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการทางปกครองตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองแทนก็ได้
18.3 กระบวนการบังคับทางปกครอง ก่อนที่จะมีการบังคับทางปกครอง เจ้าหน้าที่จะต้องดำเนินการเตือนผู้ที่ได้รับผลผูกพันต้องปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองก่อน โดยมาตรา 59 และมาตรา 60 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้กำหนดรายละเอียดไว้ว่า ก่อนใช้มาตรการบังคับทางปกครอง เจ้าหน้าที่จะต้องมีคำเตือนเป็นหนังสือให้มีการกระทำหรือละเว้นกระทำการตามคำสั่งทางปกครองในระยะเวลาที่กำหนดตามสมควรแก่กรณี โดยคำเตือนดังกล่าวสามารถพร้อมกับคำสั่งทางปกครองก็ได้ และในคำเตือนจะต้องระบุถึงมาตรการบังคับทางปกครองที่จะใช้อย่างชัดแจ้ง แต่จะกำหนดมากกว่าหนึ่งมาตรการในคราวเดียวกันไม่ได้ และต้องระบุถึงค่าใช้จ่ายในการที่เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทน หรือจำนวนค่าปรับทางปกครอง ซึ่งค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่กำหนดไปล่วงหน้าดังกล่าว หากปรากฏในเวลาต่อมาว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายจริงมากกว่าที่กำหนดไว้ เจ้าหน้าที่ก็สามารถเรียกเพิ่มขึ้นได้
การเปลี่ยนแปลงมาตรการบังคับทางปกครองให้แตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในคำเตือนสามารถทำได้หากปรากฏวามาตรการที่กำหนดไว้ไม่บรรลุตามวัตถุประสงค์ ส่วนในกรณีของผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองต่อสู้ขัดขวางการบังคับทางปกครอง เจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้กำลังเข้าดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการบังคับทางปกครองได้ แต่ต้องกระทำโดยสมควรแก่เหตุ และในกรณีจำเป็น เจ้าหน้าที่อาจขอความช่วยเหลือจากตำรวจได้
18.4 มาตรการบังคับทางปกครองกรณีชำระเงิน เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 57 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยการบังคับให้ชำระเงินไม่ว่าจะเป็นเงินภาษีอากร ค่าบำรุง ค่าปรับ ค่าธรรมเนียมหรือการชำระค่าปรับทางปกครองนั้น ถ้าถึงกำหนดแล้วไม่มีการชำระโดยถูกต้องครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่มีหนังสือเตือนให้ผู้นั้นชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่า 7 วัน ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำเตือน เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้นั้นและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินให้ครบถ้วนได้ ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
18.5 มาตรการบังคับทางปกครองกรณีกำหนดให้กระทำหรือละเว้นกระทำ เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 58 แห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง กล่าวคือ เมื่อผู้ได้รับคำสั่งทางปกครองให้กระทำหรือละเว้นกระทำฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองดังต่อไปนี้
- เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นกระทำการแทน ผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองต้องชดใช้ค่าใช้จ่ายและเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 25 ต่อปีของค่าใช้จ่ายดังกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ หรือ
- ให้มีการชำระค่าปรับทางปกครองตามจำนวนที่สมควรแก่เหตุแต่ต้องไม่เกิน 20,000 บาทต่อวัน
ในกรณีที่จำเป็นที่จะต้องบังคับการโดยเร่งด่วนเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายที่มีโทษทางอาญาหรือมิให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ เจ้าหน้าที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยไม่ต้องออกคำสั่งให้กระทำหรือละเว้นกระทำก่อนก็ได้ แต่ต้องกระทำโดยสมควรแก่เหตุและภายในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของตน
เชืงอรรถ
1. รองศาสตราจารย์ ดร. กมลชัย รัตนสกาววงศ์ , สาระสำคัญและหลักกฎหมายพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 , สำนักพิมพ์นิติธรรม พ.ศ. 2539 , หน้า 7-8
2. ชาญชัย แสวงศักดิ์ ,คำอธิบายกฎหมายปกครอง , สำนักพิมพ์วิญญูชน , พิมพ์ครั้งที่ 13 พศ. 2551 , หน้า 298-299
3. เพิ่งอ้าง , หน้า 299
4. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 113 ตอนที่ 60 ก , 14 พฤศจิกายน 2539 , หน้า 24
อ่านต่อ
ครั้งที่ 13 กฎหมายจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
|
|
|
พิมพ์จาก http://public-law.net/view.aspx?ID=1278
เวลา 22 พฤศจิกายน 2567 01:55 น.
Pub Law Net (http://www.pub-law.net)
|
|